27 พ.ค.63- ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข  นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  เปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศมีค่อนข้างน้อย ผู้ป่วยที่พบจำแนกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มแรกเป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้วเข้าสู่สถานที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการตามที่รัฐกำหนด หากมีอาการจะพบในช่วง 14 วันที่กักตัว ซึ่งจะส่งเข้าระบบการรักษา ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยรายเดิม อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายวิชาการมีข้อมูลสนับสนุนทำให้เชื่อว่าในประเทศไทยยังมีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือแสดงอาการน้อยหลงเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยังต้องเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกต่อไป 


ขณะเดียวกัน จากผลการศึกษาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนักวิจัยชาวจีนจากศูนย์ควบคุมโรค มณฑลหูหนาน พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถแพร่กระจายได้ไกลถึง 4.5 เมตรบนรถโดยสารสาธารณะปรับอากาศ ทำให้ผู้โดยสารติดเชื้อได้หลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อในร้านอาหารช่วงแรกของการระบาดในประเทศจีนพบว่า การนั่งรับประทานอาหารในพื้นที่จำกัดที่มีระบบระบายอากาศแบบปิด และใช้เครื่องปรับอากาศที่อากาศไหลเวียนในพื้นที่จำกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะทุกคนต้องถอดหน้ากากขณะรับประทานอาหาร เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้นด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่จำกัดที่มีระบบอากาศปิด และใช้เครื่องปรับอากาศ เช่น บนรถโดยสารปรับอากาศ รถโดยสารสาธารณะ ทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างให้ได้ 1-2 เมตร บนโต๊ะอาหารอาจต้องมีฉากกั้นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของละอองฝอย จึงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ต้องนั่งแยกโต๊ะกันขณะรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ระบบถ่ายเทอากาศแบบปิด ที่ใช้เครื่องปรับอากาศ นโยบายการควบคุมโรคของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเหมาะสมแล้ว แต่การจะประสบความสำเร็จต่อไปนั้นต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดร่วมกัน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/67108

27 พ.ค.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ ประเด็นสระว่ายน้ำกับโรค COVID-19  ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สระว่ายน้ำนั้นเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ ไม่ว่าจะแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรืออื่นๆ

เหตุผลในการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เพราะหนึ่ง เป็นที่ที่มีคนมาใช้ร่วมกัน การติดเชื้อจึงเป็นได้ทั้งจากการใกล้ชิด สัมผัสตัวกัน สัมผัสละอองฝอยน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่งขณะพูดคุยเล่น หรือแม้แต่การเผลอกินน้ำในสระที่ปนเปื้อนน้ำลาย เสมหะ อาเจียน ปัสสาวะ อุจจาระที่เล็ดออกมา

สอง เป็นที่ที่คุณภาพและความปลอดภัยของคนมาใช้บริการต้องอาศัยการบำรุงดูแลรักษาตามมาตรฐานทางสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด หากละเลยเพิกเฉยหรือหย่อนยาน คนที่มาใช้บริการก็จะตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่รู้ตัว และยากต่อการตรวจสอบจนกว่าจะเกิดเรื่องใหญ่โตขึ้นมา

สาม "คลอรีน"ไม่ใช่ยาวิเศษที่ฆ่าเชื้อได้ทุกอย่าง มีเหตุการณ์ในอดีตหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลให้คนป่วยจากการไปว่ายน้ำ โดยเคยมีงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้คลอรีนอยู่ในระดับมาตรฐานก็อาจยังมีปนเปื้อนได้ ดังนั้นก็ต้องไปใช้บริการอย่างระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ

ไวรัสที่เคยระบาดในสระว่ายน้ำมีหลายต่อหลายชนิด เช่น Adenovirus, Norovirus, Enterovirus, Hepatitis A เป็นต้น

อย่าง Adenovirus ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดได้นั้น เคยมีคนวิจัยการระบาดในสระว่ายน้ำ และนำน้ำจากสระไปตรวจพบเชื้อ โดยพิสูจน์ว่าเป็นตัวที่เหมือนกับตัวที่ทำให้คนป่วยมากมาย เช่น จอร์เจีย กรีซ จีน เป็นต้น

สำหรับ COVID-19 นั้นก็เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง จึงต้องไม่ประมาท

ผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำควรเคร่งครัดในมาตรฐานสุขอนามัย ดูแลทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นอย่างสม่ำเสมอ วัดปริมาณคลอรีนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานและวัดบ่อยๆ จำกัดปริมาณคนใช้บริการ ตรวจวัดไข้ทุกคน ใครมีอาการไม่สบายไม่ว่าจะน้อยเพียงใดก็ต้องห้ามเข้าใช้บริการ และสำคัญไม่แพ้กันคือ ช่วงไหนใครไม่ลงน้ำก็ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ กัน

ส่วนประชาชนที่วางแผนจะใช้บริการสระว่ายน้ำก็ควรประเมินสุขภาพตนเอง ถ้าช่วงที่ยังมีโรคระบาดโดยยังไม่มียามาตรฐานรักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน เลี่ยงไปออกกำลังกายแบบอื่นจะปลอดภัยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าพูดตรงๆ หากไม่มีสระว่ายน้ำในบ้านเป็นส่วนตัวแล้ว น่าจะปล่อยให้เหล่านักกีฬาว่ายน้ำไปใช้บริการไปก่อนน่าจะดีกว่าครับ แต่สำหรับคนที่อยากเรียนว่ายน้ำ ควรนัดเรียนกับครูเค้าเป็นส่วนตัวก็น่าจะดีกว่าเป็นกลุ่มโดยควรแน่ใจว่าทั้งคุณครูและลูกศิษย์ได้ตรวจเช็คสุขภาพแล้วและสระที่นัดไปเรียนนั้นได้มาตรฐานและไม่แออัดจริงๆ

ด้วยรักต่อทุกคน...

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/67037

 

  

26 พ.ค.63- รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ทีมวิจัยจากประเทศเยอรมันเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก The Lancet ฉบับ 21 พฤษภาคม 2563 นี้เอง

รายงานการตรวจหาไวรัสโรค COVID-19 ในมารดา 2 คน ที่ติดเชื้อโรค COVID-19 เพิ่งคลอดและเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

 
 

ผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR พบว่า มีมารดา 1 คนที่ตรวจพบไวรัสในน้ำนม ในช่วงที่มีอาการโรค COVID-19 อยู่ประมาณ 9 วัน ทั้งนี้สามารถตรวจพบถึง 3 วัน

เค้าทำการคาดประมาณว่ามีไวรัสอยู่ในน้ำนมประมาณ 94,800-132,000 ตัวต่อซีซี

และพบว่าลูกของมารดาคนนี้ก็ติดเชื้อ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าติดจากน้ำนมที่กิน หรือจากทางอื่นๆ

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้มีความระแวดระวัง และยังต้องการการวิจัยในกลุ่มประชากรจำนวนมากกว่านี้เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการให้นมลูกของมารดาที่ติดเชื้อโรค COVID-19 ต่อไป

แต่ในยุคนี้ที่เรายังไม่มียามาตรฐานและวัคซีนป้องกัน ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการอื่นๆ ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรค COVID-19 เช่น ตาแดง ดมแล้วไม่ได้กลิ่น กินอาหารไม่ได้รสชาติ เป็นต้น ก็น่าจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองให้ดีว่าติดเชื้อหรือไม่ จะได้วางแผนในการดูแลรักษาและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง
Rüdiger Groß et al. Detection of SARS-CoV-2 in human breastmilk. The Lancet. 21 May 2020.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/66951

 

เปิดคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญโรคอุบัติใหม่ ถึงสัญญาณการระบาดระลอกสอง เมื่อ 'โควิด-19' สามารถโจมตีอวัยวะในร่างกายได้หลายระบบ พร้อมคำแนะนำถึงมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกและวิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด

ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดในเมืองไทยและทั่วโลก เฟซบุ๊ก ‘ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา’ เป็นแหล่งความรู้อีกแห่งที่คนติดตามอ่าน เพราะเขียนในสิ่งที่คนอยากรู้  เนื่องจากศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัย ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน เป็นทั้งนักอ่าน นักค้นคว้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลก เรื่อง ‘การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค’,งานวิจัยเรื่องโรคสมองอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะจากเชื้อพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกันโรคและเชื้อไวรัสอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีผลงานร่วมกับ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ สร้าง ‘แผนที่สมองสุนัขและแผนที่สมองคนไทย’ รวมถึงมีผลงานบทความด้านสุขภาพที่เข้าใจง่าย โดยอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 

หลายเรื่องที่คุณหมอเขียนเกี่ยวกับโควิด-19 อาจทำให้คนอ่านรู้สึกหวาดกลัวและกังวล แต่รู้ไว้คงดีกว่าไม่รู้อะไรเลย และตอนนี้สิ่งที่คุณหมอห่วงมากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 แม้ปัจจุบัน(เดือนพฤษภาคม 2563) ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะน้อยมาก

"มีคนบอกว่า หมอพูดเยอะ ทำให้คนกลัว ผมอยากบอกว่า ถ้าเราไม่รู้เขา รู้เรา เราจะไม่รู้ว่าจะตั้งรับด้วยมาตรการอะไร ตราบใดที่เราไม่รู้ว่าโรคนี้ร้ายแรงเพียงใด เราจะวางแผนรับมือไม่ถูก ถ้าเราไม่รู้จักผู้ร้าย ก็จะไม่สามารถสู้กับผู้ร้าย เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องให้ความจริง เพื่อคนจะได้ป้องกันตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์" คุณหมอธีระวัฒน์ เล่า

และคุณหมอเองไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อไม่นานนำนวัตกรรมเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 มาใช้และตอนนี้ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังทำงานร่วมกับทีมแพทย์จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจคัดกรองภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในหมู่บ้านที่มีประชากรพันกว่าคน  

 20200521162142040

  • อยากให้ประเมินสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 (เดือนพฤษภาคม 2563) ตอนนี้สักนิด ?

ผมห่วงการแพร่ระบาดระลอก 2 ตามมาตรฐานคนติดเชื้อโควิด-19  มีไข้ เพลีย ไอ แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดจะมีอาการตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ผิวหนัง สมอง ตับ ไต หัวใจ ถ้าเราไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ คนป่วยก็สามารถมีอาการได้ทุกระบบที่แสดงออก  

ดังนั้นคนที่ไม่มีอาการตามมาตรฐาน ไม่ได้ป่วยวิกฤติ หรือแม้มีอาการมากเข้าโรงพยาบาลก็ไม่ทราบว่าเป็นโควิด-19 อาจแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว  ผมมองว่าการตรวจคัดกรองน่าจะเป็นเชิงรุก ตรวจคนที่ไม่มีอาการใดๆ ด้วย เพราะสามารถแพร่กระจายในวงกว้าง หนึ่งคนที่ติดเชื้อหากแพร่เชื้อภายในหนึ่งเดือน จะเป็นลูกโซ่ไปได้ถึงพันๆ คน

การคัดกรองคนไม่มีอาการ น่าจะเริ่มจากคนที่มีีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ อาจเริ่มจากกลุ่มคนขับรถสาธารณะ รถตู้ รถเมล์ รถประจำทาง คนเก็บตั๋ว โดยเฉพาะรถปรับอากาศ ชีวิตคนเหล่านี้พบปะคนมากมาย

ส่วนอีกเรื่องที่เป็นห่วง เมื่อเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม มีตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงมัธยม พ่อแม่พี่น้องอาจนำเชื้อมาติดเด็กๆ กลุ่มนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ยังรวมถึงครูและเจ้าหน้าที่สถานศึกษา ถ้าใช้วิธีการคัดกรองแบบเดิมอาจตกหล่น เพราะวิธีเดิมเป็นการหาผู้ติดเชื้อจากผู้มีอาการ

ดังนั้นก่อนเด็กๆ จะเริ่มไปโรงเรียน เป็นไปได้ไหมว่า 4 วันก่อนเข้าเรียนต้องมีการเข้มงวดไม่ให้คนในครอบครัว พ่อแม่ และเด็กนักเรียนไปรับเชื้อจากที่อื่น นอกจากนี้ยังมีวิธีตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือดปลายนิ้ว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทำ เพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อ ที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันระดับที่ 1 และระดับที่ 2

ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันระดับที่ 1 ที่เรียกว่า IgM antibody เมื่อติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการจะพบเชื้อในวันที่ 4-6 หมายถึงเพิ่งติดเชื้อ มีโอกาสแพร่เชื้อสูงมาก และต้องระวังอาจเสียชีวิต จึงต้องกักตัวและเฝ้าดูอาการค่อนข้างเข้มงวด

ส่วนการพบเชื้อภูมิคุ้มกันระดับที่ 2 ที่เรียกว่า IgG antibody หมายถึงได้รับเชื้อมาระดับหนึ่ง อาจจะ 12-14 วันหรือนานกว่านั้น คนที่มีภูมิคุ้มกันกลุ่มนี้ไม่น่าจะเสียชีวิต เพราะติดเชื้อมานานแล้ว คนที่มีภูมิคุ้มกันแบบนี้ ถ้ายับยั้งไวรัสได้เท่ากับมีพาสปอร์ตผ่านทาง มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ แต่คนที่มี IgG ก็มีโอกาสแพร่เชื้อ อาจต้องกักตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเข้มงวด มีระยะห่าง ไม่สุงสิงกับใคร ใส่หน้ากาก เข้าห้องน้ำคนสุดท้ายให้ล้างห้องน้ำด้วย  

ส่วนการคัดกรองระดับสุดท้าย คือ การประเมินสถานภาพทั้งประเทศ แท้จริงแล้วประเทศเรามีคนที่ติดเชื้อเยอะแค่ไหน ถ้ามีวัคซีนเข้ามา จะประเมินได้ว่า ต้องฉีดวัคซีนให้คนกี่ล้านคน คนที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว การฉีดวัคซีนอาจไม่ได้ประโยชน์ 

20200516133649287 

  • การคัดกรองโดยเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 สามารถนำมาใช้กับคนทั้งประเทศได้ไหม

ล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี เตรียมตรวจคัดกรองคนพันกว่าคน ปกติพบอัตราการความชุกในการติดเชื้อ 1.7 เปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน จะมีคนติดเชื้อมากกว่าที่เห็น 2.6 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจมากกว่านั้น

แท้จริงแล้วมีคนติดเชื้อมากกว่าที่เห็น เมื่อไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ก็แพร่เชื้อเงียบๆ ไปเรื่อยๆ พอไปเจอคนที่ใช่ เสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรงและเสียชีวิตก็จะปะทุ สิ่งที่เราเห็น คือ ยอดภูเขาน้ำแข็ง ถ้าเราไม่ทราบสถานการณ์จริง ดูตามระบาดวิทยาด้วยตาอย่างเดียว เราอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่

  • การตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 มีความเป็นไปได้แค่ไหน

อยู่ที่งบประมาณ ทางศูนย์ฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  'การเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกัน' ต่อคนใช้เงินหนึ่งพันบาท ถ้ามีการตรวจคัดกรองจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องทำครบสูตร ราคาจะถูกลง ถ้าพบตัว IgG ก็ดูอีกว่า ยับยั้งไวรัสตัวนั้นได้จริงไหม นอกจากนี้ยังมีชุดตรวจแบบรวดเร็วจิ้มปลายนิ้ว รู้ผลภายในสองนาที ใช้สารตรวจจับภูมิ ทำจากโปรตีนต้นใบยาในประเทศไทยและทำได้ปริมาณเยอะ ตอนนี้เปรียบเทียบกับชุดมาตรฐาน พบว่า ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน เราอาจใช้ชุดตรวจรวดเร็วของจุฬาฯเป็นตัวหลัก ตามด้วยการตรวจยืนยันภูมิคุ้มกันระดับสองบางรายที่จำเป็น

ยกตัวอย่างหมู่บ้านพันกว่าคนในจังหวัดปัตตานี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ,คุณหมอวิพุธ พูลเจริญ และอีกหลายคนลงไปทำงานสำรวจวางแผนคัดกรองแต่ละหมู่บ้าน แต่ละอำเภอ เนื่องจากมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน และการคัดกรองต้องทำโดยคนในพื้นที่ที่รู้ธรรมชาติของคนและกิจกรรม รวมถึงต้องมีความรู้ทางระบาดวิทยา

20200521162153104

  • แนวทางนี้ ตรวจแบบปูพรมทั้งประเทศได้ไหม

เป็นไปได้แน่นอน การตรวจคัดกรอง ทำเยอะราคาถูก เมื่อตรวจแล้วพบผลเลือดเป็นบวก เราสามารถแยกคนเหล่านี้ออกมา เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ถ้าทำแบบนี้ได้ เราสามารถประกาศเป็นประเทศสะอาดได้ การท่องเที่ยวจะสามารถทำได้ด้วยความสบายใจ  ส่วนคนที่มาจากต่างประเทศ ก็สามารถตรวจแบบเดียวกัน แต่อาจตรวจซ้ำหลังจาก 4 วันที่เข้ามาประเทศเราแล้ว แม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผลที่ทำขณะนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือเหตุผลว่า ต้องตรวจเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียน 4 วัน แนวทางนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับชัดเจน

  • ถ้าทำทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละเท่าไร

ประมาณคนละ 100-200 บาท

  • พื้นที่อื่นๆ จะทำแบบนี้ได้ไหม

ต้องมีโรงพยาบาลที่เป็นตัวกลางรับเลือด แล้วส่งมาตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯแต่ไม่สามารถเบิกสปสช.ได้ เราไปก้าวล่วงเรื่องนี้ไม่ได้ โชคดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเข้าใจเรื่องนี้ หากคนที่กลับมาจากประกอบพิธีทางศาสนา ต้องกักตัว 14 วัน ถ้าตรวจด้วยวิธีนี้แล้วไม่พบเชื้อก็กลับบ้านได้เลย แต่ถ้ามีผลเลือดบวก ก็สามารถคัดแยกออกมา ถ้าเทียบกับกักตัวเลี้ยงดู 14 วัน วิธีนี้จะได้กำไรมากกว่าขาดทุน และตอนนี้ใช้มาตรการคลายล็อคแล้ว ชุมชนไหนมีความเสี่ยง อย่างคลองเตย ท่าเรือ คลองจั่น โดยเฉพาะพวกพ่อค้าแม่ค้าเจอคนเยอะๆ หรือสถานที่ชุมนุม สามารถตรวจคัดกรองประเมินแบบนี้ได้เลย แต่ต้องวางแผน

  • มีเรื่องใดที่เราไม่รู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 บ้าง

ทีมเราทำเรื่องโรคอุบัติใหม่ เจอมาทั้งเรื่องซาร์ส เมอร์ส พิษสุนัขบ้าฯลฯ ส่วนโควิดเป็นไวรัสตัวเดียวที่รวมไวรัสทุกชนิดมาอยู่ในตัวมัน ตั้งแต่ติดต่อง่าย ติดแล้วไม่แสดงอาการทันที และยังทอดเวลาไปตั้ง 14 วันถึงจะแสดงอาการ บางคนอาจทอดเวลาไป 20 วัน และช่วงไม่แสดงอาการยังแพร่เชื้อได้อีก

เมื่อแสดงอาการออกมา อาการกลับนิดเดียว หรือแสดงอาการไขว้เขวกับโรคอื่น เหมือนเป็นโควิดแต่ไม่มีไข้ ไม่ไอ กลไกของมันไม่ได้อยู่ที่จมูก คอ อาจค่อยๆ เลื่อนไปที่ปอด บางคนไม่มีอาการไอเพราะเชื้อไปลงที่ปอด ทำให้คนๆ นั้นเดินไปเดินมาแพร่เชื้อได้ พอเริ่มเหนื่อยก็ปรากฏไวรัสเต็มไปหมดแล้ว แต่ในขณะเดียวกันไวรัสตัวนี้สามารถหาที่อยู่ของมันที่ไม่ใช่ทางเดินหายใจส่วนบนหรือส่วนล่าง บางทีไปที่ผนังเส้นเลือด เม็ดเลือดหรือลำไส้ อาการจึงแตกต่างกัน 

อีกอย่างคือ มันท้ารบกับร่างกายเรา พอส่งทหารไปทำลายไวรัสมากเกินควร ที่เราเรียกว่า มรสุมภูมิวิกฤต ไม่ใช่แค่เชื้ออย่างเดียว แต่มีการอักเสบที่รุนแรงเกินจำเป็นที่ทำให้เสียชีวิต ภูมิคุ้มกันทัพหน้า ถ้าเจอกับเชื้ออื่น การอักเสบไม่ได้มากมายเหมือนเจอโควิด-19

ส่วนภูมิคุ้มกันทัพหลังจะมีความเฉพาะเจาะจงกับโควิด-19 เชื้อตัวนี้มันจะไปหลอกลวงภูมิคุ้มกันทัพหลัง ล่อลวงให้ร่างกายเข้าใจผิดว่า เส้นประสาทหรือสมองเราเป็นโควิด-19 ก็จะเกิดลักษณะสมองอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบ

ทั้งหมดทั้งปวง คือ ทำให้เกิดการอักเสบมากมายของภูมิคุ้มกันทัพหน้า ทำให้เลือดข้นผิดปกติ มีลิ่มเลือดเล็กๆ ในเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดขนาดกลาง เกิดความผิดปกติเส้นเลือดที่ไปผิวหน้า เส้นเลือดสมองทุกจุดในร่างกาย เกิดอัมพฤกษ์ สามารถเหนี่ยวนำด้วยโควิด-19 ทำร้ายทุกระบบของร่างกาย ด้วยกลไกทุกชนิดที่ร่างกายมีอยู่

 20200521162140459

  • คนติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไม่ได้เยอะ เรื่องนี้มีคำอธิบายอย่างไร

คนติดเชื้อที่จะแสดงอาการหนักแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่แพร่เชื้อ 80 เปอร์เซ็นต์ เราศึกษาเรื่องนี้ เราไม่ได้ทำแค่การช่วยชีวิต แต่ดูว่าประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้เมื่อไหร่ ยกตัวอย่างมีคุณพ่อรายหนึ่งมาบอลลูนหัวใจ กำลังจะกลับบ้าน ปรากฏว่ามีอาการปอดบวม หาสาเหตุไม่เจอ จนมาพบว่าติดโควิด-19 จากลูกชายที่บ้าน

  • มีคำแนะนำอื่นๆ เกี่ยวกับไวรัสโควิดไหม

ไม่ว่าจะน่ากลัวแค่ไหน ถ้าครอบตา จมูก ปาก ล้างมือให้สะอาดและบ่อยๆ ไม่ว่าจะไวรัสโควิดหรือไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้หมด และต่อไปจะมีไวรัสตัวอื่นๆ มาแพร่พันธุ์แน่นอน มีไวรัสตระกูลโคโรน่าที่ไม่รู้จักชื่ออีกหลายตัว ตอนนี้มีคนป่วยที่พบว่า ตรวจเชื้ออะไรก็ไม่เจอ ตรวจโควิด-19 ก็ไม่เจอ  แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือในการตรวจเรียบร้อยแล้ว

  • แล้วจัดการกับไวรัสไม่มีชื่ออย่างไร

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่จะใช้เครื่องมือถอดรหัสพันธุกรรมชั้นสูง เพื่อหาเชื้อไม่มีชื่อ ค่าตรวจคงประมาณสองสามหมื่นบาท ถ้าคนกำลังจะเสียชีวิต แล้วทำให้เรารู้ว่าเป็นไวรัสไม่มีชื่อแบบไหนภายใน 24 ชั่วโมง ก็คงดีกว่าใช้ยาหมดกระเป๋า แล้วไม่รู้ว่าสู้กับอะไร และเราสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของโควิด-19 ได้และพบว่า โควิดที่แพร่เชื้อในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มีทั้งชนิดนิ่มนวลและดุร้ายเหมือนที่เกิดในอเมริกา อังกฤษ สเปน สายพันธุ์เหล่านี้ฝังตัวในประเทศไทยแล้ว มันอยู่กับเรามาหลายเดือน แต่คนทำงานสาธารณสุขบ้านเรายอดเยี่ยมมาก และต้องยอมรับว่า คนไทยกลัวตายอันดับหนึ่งของโลก จึงพยายามปกป้องตัวเอง

  • ข้อดีคือระบบสาธารณสุขบ้านเราอยู่ในขั้นดีมาก ?

สาธารณสุขบ้านเราสามารถลงไปถึงพื้นที่ในหมู่บ้าน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) กว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ สามารถช่วยคัดกรอง เพราะพวกเขาสามารถเดินไปเคาะประตูบ้านได้หมด  

  • ในอนาคตโรคอุบัติใหม่จะเป็นอย่างไร

ตอนนี้โรคพวกนี้คงไม่ได้มาทุก 4 ปี น่าจะมาเรื่อยๆ อย่างโรคติดเชื้อทางสมอง สามารถหาสาเหตุได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ยังมีโรคติดเชื้อรุนแรงหาสาเหตุไม่ได้อีก แต่คนไข้รอดชีวิตได้เพราะเราให้ยาครอบคลุมโรคที่น่าจะเป็น ประคบประหงมด้วยเครื่องช่วยชีวิต ที่ผ่านมาโรคอุบัติใหม่อาจอยู่กับเรามาระยะหนึ่ง แต่เราไม่รู้ชื่อ 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://judprakai.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://judprakai.bangkokbiznews.com/interview/2055

 

ส่องคืบหน้าการพัฒนา 'ยา-วัคซีน' ต้านโควิด
 

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อใด สหรัฐและจีนต่างแข่งกันพัฒนายาและวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของจีน ตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อได้

เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ค.) วารสารการแพทย์แลนเซต เปิดเผยว่า การทดลองวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ของจีน ซึ่งเป็นวัคซีนโรคโควิด-19 ตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ปรากฏผลว่าปลอดภัย ทนทาน และสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสฯ (SARS-COV-2) ในมนุษย์ได้

การทดลองแบบเปิดในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน พบผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะมีการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

“ผลลัพธ์เหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ การทดลองพบว่าวัคซีนโรคโควิด-19 ชนิดใช้อะดิโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นตัวนำพา (Ad5-nCoV) ผลิตแอนตี้บอดี้และเซลล์ที (T cell) แบบจำเพาะไวรัสภายใน 14 วัน จึงกลายเป็นวัคซีนที่มีศักยภาพต่อการตรวจสอบเพิ่มเติม” ศาสตราจารย์เฉิน  เว่ย สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง ซึ่งรับผิดชอบการศึกษาครั้งนี้ กล่าว

แต่ศาสตราจารย์เฉิน เว่ย ก็บอกว่า ควรตีความผลลัพธ์เหล่านี้อย่างรอบคอบ เพราะความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้มาก่อน การที่วัคซีนกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ได้บ่งชี้ว่าจะปกป้องมนุษย์จากโรคโควิด-19 เสมอไป ผลลัพธ์ที่ได้สะท้อนสัญญาณดีของการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 แต่ยังอีกนานกว่าจะได้วัคซีนที่พร้อมใช้กับทุกคน

ด้านสหรัฐ ประกาศวานนี้ (23 พ.ค.) ว่า วางแผนทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ครั้งใหญ่กับอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คน โดยจะทดสอบวัคซีนของบริษัทอย่างน้อย 6 แห่ง เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดภายในสิ้นปี 2563

 

คณะนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า โครงการทดลองวัคซีนครั้งใหญ่นี้เป็นการย่นระยะเวลาในการพัฒนาและทดสอบวัคซีนจากปกติที่ใช้เวลานับ 10 ปี ลงเหลือเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งบ่งชี้ถึงความเร่งด่วนที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 5 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 3.35 แสนรายแล้ว รวมทั้งยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกด้วย

คณะนักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูล และให้ยืมใช้เครือข่ายการทดลองทางคลินิกกับบรรดาคู่แข่ง หากวัคซีนของตนประสบความล้มเหลวในการทดลอง ส่วนวัคซีนที่แสดงว่ามีความปลอดภัยในการทดลองขนาดเล็กในขั้นต้นนั้น จะได้รับการทดสอบขั้นต่อไปในการทดลองขนาดใหญ่กับอาสาสมัครจำนวน 2-3 หมื่นรายสำหรับแต่ละวัคซีน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ค.นี้

ที่ผ่านมา บริษัทโมเดิร์นนา ของสหรัฐ ทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ผลดีน่าพอใจ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะผลิตวัคซีนได้พันล้านโดสในปี 2564 โดยโมเดิร์นนา ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐระบุว่า การทดลองทางคลินิกขั้นต้นในการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้กับผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมด 45 คน ให้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ

วัคซีนดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีในผู้เข้าร่วมทดลองทั้ง 45 ราย ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งมีอายุระหว่าง 18-55 ปี

เจ้าหน้าที่บริษัทโมเดิร์นนา เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมทดลองวัคซีนดังกล่าวได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กลุ่มละ 25, 100 และ 250 ไมโครกรัม ซึ่งผลการทดลองบ่งชี้ว่า ระดับของแอนติบอดีในผู้เข้าร่วมการทดลองมีความคล้ายคลึง หรือมากกว่าระดับของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งหายจากโรคดังกล่าวแล้ว

บริษัทจะดำเนินการทดลองเฟส 2 ต่อไป ซึ่งจะเป็นการทดลองวัคซีนกับอาสาสมัคร 600 คน หลังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ในเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะเริ่มการทดลองเฟส 3 ในเดือน ก.ค. หากการทดลองเฟส 2 ได้ผลดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/881983

 

    คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษาฯ  มหิดล จับมือซูเปอร์โพลสำรวจวิถีชีวิตใหม่กับระยะห่างทางสังคม ประชาชนร้อยละ 99.5 เห็นด้วยกับมาตการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ส่วนกรุงเทพโพลล์เผยประชาชนปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal หน้ากากกลายเป็นปัจจัยที่ 5 
    เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง วิถีชีวิตใหม่กับระยะห่างทางสังคม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,320 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดจากทั่วทุกภูมิภาค ดำเนินการในระหว่างวันที่ 10-22 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา   
    ถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าร้อยละ 99.5 เห็นด้วยต่อมาตรการการป้องกันโรค อาทิ การใส่หน้ากาก การล้างมือ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากันกับมาตรการการเว้นระยะห่าง อาทิ การทำเครื่องหมายที่พื้น การทำงานที่บ้าน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 98.6 เห็นด้วยต่อมาตรการการให้ข้อมูล อาทิ การแถลงข่าวรายวัน เป็นต้น, ร้อยละ 96.1 เห็นด้วยต่อมาตรการการลงโทษ, ร้อยละ 95.2 เห็นด้วยต่อมาตรการเยียวยา และร้อยละ 93.2 เห็นด้วยต่อการเสนอมาตรการผ่อนปรน ตามลำดับ        เมื่อถามถึงการออกนอกบ้านพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.2 ออกนอกบ้านไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ร้อยละ 17.4 ยังคงออกนอกบ้านตามปกติ ที่น่าสนใจคือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 44.5 มีการลดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รองลงมาคือร้อยละ 32.9 ไม่ได้ลดการใช้ขนส่งสาธารณะเลย
    นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการปฏิบัติตนเมื่ออยู่นอกบ้าน พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 60 มีการล้างมือด้วยน้ำหรือสบู่ ในขณะที่การเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์มากกว่า 5 ครั้งเป็นประจำทุกวัน อยู่ในระดับที่ไม่ถึงร้อยละ 50 การแยกรับประทานอาหารและการปรับที่นั่งให้ห่างจากผู้อื่น ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.3 มีการแยกทานอาหารเดี่ยวเป็นประจำ แต่มีถึงร้อยละ 15 ที่ไม่ได้ทำเลย และมีเพียงร้อยละ 42.9 ที่ปรับที่นั่งห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
    ในประเด็นของการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ผลการศึกษายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 38 ไม่มีการวัดไข้หรือสังเกตอาการผู้สูงอายุเลย และมีถึงร้อยละ 37.8 ที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้กับผู้สูงอายุ ในประเด็นของการทำงาน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 38.6 ไม่ได้ Work From Home และร้อยละ 45.9 ยังไม่มีมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ได้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างระดับมาก, ร้อยละ 29.2 ได้ปฏิบัติระดับปานกลาง และร้อยละ 1.1 ได้ปฏิบัติน้อย
    ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นหน่วยปฏิบัติการหลักของกระทรวง รวมทั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนาภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลในการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้มีการศึกษาติดตามการปฏิบัติตนของประชาชนตามมาตรการเว้นระยะห่างการใช้ชีวิตในสังคม (Social Distancing) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย และสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล
    “เมื่อพิจารณาจากผลการศึกษา พบว่ายังมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดความตระหนักรู้ และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ในการป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้างเพื่อร่วมกันยุติการแพร่ระบาดของโรค ผลการศึกษานี้จะช่วยสามารถสะท้อนในเชิงนโยบายได้ทั้งในแง่ของการสร้างการรับรู้ การเผยแพร่ข้อมูลความเข้าใจให้กับประชาชน รวมทั้งการขอความร่วมมือจากกิจการและผู้ประกอบการในการจัดหาและการกำหนดมาตรการของหน่วยงาน เพื่อร่วมกันสร้างสมดุลชีวิตวิถีใหม่ หรือ Balance in the New Normal ให้มีขึ้นในสังคมไทย” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าว
    ในขณะที่ รศ.ดร.ชะนวนทองกล่าวว่า ประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติค่อนข้างดี แต่เมื่อพิจารณาการปฏิบัติในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและเด็กยังมีการปฏิบัติที่มีความเสี่ยงอยู่ถึงร้อยละ 40-50 เรื่องการจัดพื้นที่การใช้ห้องน้ำ ดังนั้นจึงควรมีการให้ข้อมูลและเยี่ยมบ้าน เพื่อสนับสนุนความเป็นไปได้ในการลดโอกาสเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุและเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นการป้องกัน เริ่มมีการปฏิบัติน้อยลง เรื่องการใช้ห้องน้ำ การล้างมือ จึงควรเน้นย้ำให้มากขึ้นต่อไป
    ส่วนประเด็นการเว้นระยะห่างเมื่อไปทำงาน หรือในสถานที่ทำงาน พบว่า ประชาชนมีการออกนอกบ้าน เพื่อใช้เวลานอกบ้าน เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อซื้ออาหารและสิ่งจำเป็น ประมาณ 50% ต่อสัปดาห์ ส่วนการปฏิบัติตนเรื่องการทำงานจากบ้าน การเหลื่อมเวลา มีการปฏิบัติระหว่าง 40-50% ซึ่งปัจจุบันเมื่อมีการผ่อนปรนระยะที่ 2 จึงควรรีบสร้างการตระหนักในการปฏิบัติตัว เว้นระยะห่างทางกายภาพในที่ทำงานให้มากขึ้น สร้างความชัดเจนเรื่องการเหลื่อมเวลา และการจัดพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น
    วันเดียวกันนี้ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “New Normal ชีวิตวิถีใหม่ของคนไทย” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,201 คน พบว่า
    สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 พบว่าประชาชนได้ปรับการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยพบว่าสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 92.6 ปฏิบัติเป็นประจำคือ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน รองลงมาร้อยละ 73.5 คือ ล้างมือ กินร้อน ช้อนตัวเอง และร้อยละ 73.3 คือ งด/ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรม งานเลี้ยงสังสรรค์แบบหมู่คณะให้มีระยะห่าง
    ส่วนสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.0 ไม่ได้ปฏิบัติเลย คือ เรียนออนไลน์ ควบคู่ไปกับการไปเรียนที่โรงเรียน/มหาวิทยาลัย รองลงมาร้อยละ 47.4 คือการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์ จ่ายเงินแบบไร้เงินสด (Cashless) และร้อยละ 44.7 คือการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แทนการออกไปที่ร้าน
    ส่วนมาตรการที่ควรออกมารองรับ/สนับสนุนชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของประชาชนนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.8 ระบุว่าควรจัดอบรม ฝึกอาชีพ จัดหางาน สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจากการปรับรูปแบบการทำงาน รองลงมาร้อยละ 67.2 ระบุว่าควรขยายโอกาสให้เด็กที่มีฐานะยากจนมีสิทธิเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และร้อยละ 62.1 ระบุว่าหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ต้องหาซื้อง่าย ราคาถูก.

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/66739

 

องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปชี้ วัคซีนต้านโควิด-19 อาจรออย่างน้อย 1 ปี

องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) อาจต้องรออย่างน้อย 1 ปี กว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะพร้อมใช้

วันที่ 15 พ.ค. 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วานนี้(14 พ.ค. 63) องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะพร้อมใช้งาน

เว็บไซต์ขององค์การฯ ระบุว่า “เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์เวลาในการพัฒนาวัคซีนล่วงหน้า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่วัคซีนต้านโรคโควิด-19 จะพร้อมอนุมัติ และมีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้ในวงกว้าง”

องค์การฯ ได้หารือกับผู้พัฒนาวัคซีน 33 ชนิดที่อาจมีคุณสมบัติในการรักษาโรคโควิด-19 และหารือกับผู้พัฒนาวิธีการที่อาจรักษาโรคโควิด-19 ได้ประมาณ 115 วิธี

ทั้งนี้ ตัวอย่างวิธีการรักษาที่มีความเป็นไปได้ และกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิก ได้แก่การใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir) ซึ่งขณะนี้ใช้เป็นยาต้านเอชไอวี (HIV) , ยาคลอโรควิน (chloroquine) และไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ซึ่งขณะนี้ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียและโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเองบางชนิด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://today.line.me

เนื้อหาต้นฉบับ https://today.line.me/TH/pc/article/6nZvNv?utm_source=lineshare

 

ในฐานะที่ผมทำงานด้านวิศวโยธา....

ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงกล่าวคือ

ความชื้นที่หยุดการเคลื่อนตัวในท่อดัทท์จะสะสมเมื่อเทียบอายุการหยุดการทำงานกระทันหันเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน

เชื้อราอันประกอบด้วยความแห้งของอากาศที่ไม่มีการหมุนเวียน(ปิดเครื่องการทำงานมานาน)

จะสะสมในแนวท่อดัทท์เป็นแผ่นยางๆตลอดความยาวของท่อในทุกๆชั้นของห้าง....(อันตรายอยู่ตรงจุดนี้)....เมื่อห้างเปิดใช้งาน

(ให้สังเกตุผนังภายในร้านทุกร้านเลือกดูจุดที่สูงๆจะเห็นคราบของเชื้อราเกาะติดในผนังและพื้นทั่วไป)

สินค้าทุกชนิดจะขึ้นราย้ำทุกชนิด...แต่ทางห้างจะทำความสะอาดไม่ให้เรามองเห็นเพื่อเปิดห้าง....

ในจุดที่อันตรายที่สุดเมื่อห้างเปิด ทางห้สงจะเปิดแอร์ในห้างทุกชั้น เมื่อเครื่องเดินระบบการถ่ายเทหมุนเวียนภายในห้าง

คอยร้อนและคอยเย็นของระบบทำงานหมุนเวียนถ่ายเทความเย็นลงสู่พื้น อากาศภายในห้างจะมีการหมุนเวียนผ่านท่อดัทท์(ท่อส่งความเย็น)....

จังหวะนี้แหละที่เชื้อราที่จับภายในผิวท่อดัทท์จะถูกแรงลมภายในท่อดันให้เชื้อราลอยออกมาพร้อมๆกับความเย็นและส่งผ่านช่องแอร์

ลงสู่พื้นอย่างต่อเนื่องการหมุนเวียนของความเย็นจะปะปนกับเชื้อราลอยอยู่ในห้าง เราจะหายใจเอาเชื้อราเข้าสู่ปอดโดยไม่รู้ตัวครับ

อธิบายง่ายๆคงเข้าใจในระดับหนึ่งนะครับ....ถ้าเป็นผม....ผมแนะนำให้ห้างเปิดสัก 7 วัน แล้วค่อยเข้าไปภายในห้าง...

เพื่อปล่อยให้เชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในห้างให้เหลือน้อยที่สุดและเจือจางน้อยที่สุด...หวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน...

ขอบคุณบทความข้างต้นที่นำเสนอให้เห็นถึงภัยของเชื้อราหลังจากที่มีการสั่งปิดห้างฯกระทันหัน

(บทเรียนที่รัฐฯไม่ควรมองข้ามก่อนการสั่งการให้ยุติ....แบบกระทันหัน)


29พ.ค.63-นพ.ธีระ วรธนารัตน์  จากคณะ แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กThira Woratanarat  เบื้องหลังการหารือมาตรการปลดล็อกดาวน์  ความว่า  

 มีคนเสนอตัวเลขในวงประชุมหนึ่งกล่าวว่า รับได้ หากปลดล็อคแล้วมีคนติดเชื้อวันละ 50-100 คน

หากเป็นเช่นนั้น...ผมตีแผ่ให้พวกเราดูว่า

100 วัน คนจะติดเชื้อ 5,000-10,000 คน

คนจะอาการรุนแรง 750-1,500 คน (15%)

ต้องนอนไอซียูและใช้เครื่องช่วยหายใจ 250-500 คน (5%) ใน 100 วัน

และตาย 150-300 คน (3%) หรือ 50-100 คน (1%)

ถ้าเป็นเช่นนี้...

รับไม่ได้ครับ!!!

...ถ้าคนเสนอตัวเลข ติดเสียเอง จะเปลี่ยนใจ นั่งไทม์แมชชีนกลับมาล้มข้อเสนอไหม?...

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/67246