8 มิ.ย. 63 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "โควิด 19 วิกฤตยังไม่ผ่านพ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทย ไม่พบมีการระบาดในประเทศ

วิกฤตโควิด 19 ยังไม่ผ่านพ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีผู้ป่วยมากกว่าวันละแสนรายที่มีรายงาน และที่ไม่มีรายงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย

 

ถึงแม้ว่าการระบาดจุดใหญ่จะลงสู่ประเทศอเมริกาใต้ ประเทศที่ใกล้บ้านเรา อินเดียและบังคลาเทศ ยังมีการระบาดอย่างรุนแรง และอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรานัก มีพรมแดนธรรมชาติต่อเนื่องข้ามประเทศ โอกาสที่จะข้ามประเทศ แบบค่อยเป็นค่อยไป มีความเป็นไปได้

ในปีนี้ เราจะต้องมีความเคร่งครัด ในการควบคุม ดูแลป้องกันไม่ให้เข้ามาระบาดในบ้านเรา รวมทั้งทุกคนจะต้องดูแลสุขอนามัย ป้องกันตนเอง ช่วยกันเฝ้าระแวงระวัง 

เมื่อมีการเปิดเทอม โรคระบบทางเดินหายใจ โรคต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการวินิจฉัยแยกโรค เป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้มีการควบคุม ป้องกัน

ข้อมูลการระบาดในโรงเรียนของทั่วโลกยังมีน้อย โรงเรียนต่างๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่หยุดเรียน แล้วเพิ่งจะมาเริ่มเปิดเรียนในบางประเทศ ด้วยมาตรการต่างๆ กัน เราคงจะต้องใช้บทเรียนจากต่างประเทศ ที่มีการเปิดโรงเรียน หลายท่านบอกว่า จะไม่มีการระบาดในเด็กเล็ก ก็คงต้องรอข้อมูล เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีการปิดโรงเรียนกัน เด็กนักเรียน ทั่วไปเมื่อติดโรคจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ

การเฝ้าระวัง สุ่มตรวจ และการศึกษาอย่างละเอียด จะทำให้มีข้อมูล ในการใช้ในการป้องกัน เวลาผ่อนปรนกิจการ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะเป็นบทเรียน

การกำหนดระยะห่าง ตามวิถีชีวิตใหม่ การป้องกันเขาและป้องกันเราด้วยการใส่หน้ากากผ้า อนามัย ล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง วิกฤตนี้จะผ่านพ้นไป ก็ต่อเมื่อเรามียารักษาที่ดี หรือวัคซีนในการป้องกัน".

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68096

‘ปักกิ่ง’ ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินภาวะสงคราม พบติดโควิด 45 ราย

สื่อต่างประเทศรายงานว่า พื้นที่ "เขตเฟิงไถ" ในกรุงปักกิ่งถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินภาวะสงคราม และห้ามเดินทางท่องเที่ยวในวันนี้ หลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งคาดว่า มาจากตลาดค้าส่งแห่งใหญ่ที่เป็นต้นตอการระบาดระลอกสอง 

ชู จุนเว่ย เจ้าหน้าที่เขตเฟิงไถของกรุงปักกิ่ง กล่าวบรรยายสรุปสถานการณ์แพร่ระบาดโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในวันเสาร์ว่า เขตเฟิงไถซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง ได้ถูกประกาศให้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินภาวะสงคราม หลังจากที่ตรวจเจอผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในตลาดค้าส่งเนื้อสัตว์แห่งใหญ่

ทั้งนี้ จากการตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชาชนที่เดินทางไปตลาดแห่งนี้ จำนวน 517 คน พบว่า มีผลบวกติดโควิด-19 จำนวน 45 คน แต่ยังไม่มีใครแสดงอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 

ด้าน โฆษกกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า ผู้ป่วยใหม่ 6 คนที่ได้รับการยืนยันในวานนี้เป็นการติดเชื้อในชุมชนที่มีประวัติไปตลาดนี้มาก่อน ทำให้ทางการกรุงปักกิ่งสั่งระงับการท่องเที่ยวข้ามเมืองทันที จากเดิมที่เพียงแค่สั่งงดการค้าเนื้อวัวและเนื้อแกะที่ตลาดนี้ และจะให้คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดกว่า 10,000 คนต้องรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า จากการสันนิษฐานเบื้องต้นคาดว่า ผู้ป่วยใหม่อาจติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนในตลาด หรือติดเชื้อจากผู้ป่วยในตลาด

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 7.66 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตมากกว่า 420,000 ราย แม้ว่า หลายประเทศดูเหมือนจะสามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้แล้วก็ตาม

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884955

 12 มิ.ย.63 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีเนื้อหาดังนี้
โควิด -19 ควรเปิดโรงเรียน ก่อน เปิดโรงเรียนกวดวิชา
สภาพความเป็นจริง การผ่อนปรน การศึกษามีความสำคัญ
นักเรียนประถมในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในชนบท มีนักเรียนน้อยมาก
พร้อมที่จะเปิดได้ ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยดูแล
โรงเรียนใหญ่ในเมือง ควรจะต้องมีมาตรการเคร่งครัด กำหนดระยะห่างของนักเรียน
หรือลดจำนวนนักเรียนลงต่อหน่วยเวลา
เด็กโต หรือหนุ่มสาว จะมีโอกาสแพร่กระจายโรคได้มากกว่า
เพราะเดินทางไปได้ไกล สัมผัสคนได้มากกว่าเด็กเล็กมาก
โรงเรียนกวดวิชา จะมีเด็กหนาแน่นมาก และสถานที่ตั้งส่วนใหญ่ จะอยู่ในที่ชุมชนหนาแน่น
เช่นในห้าง บริเวณพื้นที่รวมกันหนาแน่น ห้องเรียนก็จะมีนักเรียนจำนวนมาก
เมื่อผ่อนปรนตามความเสี่ยงแล้ว โรงเรียนกวดวิชาจะมีความเสี่ยงมากกว่าโรงเรียนธรรมดา
การกำหนดระยะห่างของโรงเรียน และดูแลสุขอนามัย มีความจำเป็นมาก
ระเบียบวินัยต้องเคร่งครัด
เด็กโตหรือหรือนักศึกษา จะต้องฝึกให้เรียนออนไลน์ได้ แล้วสลับกันไปเรียนภาคปฏิบัติ
เรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน จะเหมาะสมในยุค โควิด -19

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68462


12 มิ.ย.63 -รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊ก เรื่องมาตรการที่เหมาะสมสำหรับคอนเสิร์ต

มีเนื้อหาดังนี้


เช้านี้เห็นข่าวในทีวี พูดถึงมาตรการที่รัฐกำลังจะพิจารณาสำหรับคอนเสิร์ตที่อาจอนุญาตให้สามารถจัดขึ้นได้หลังประกาศปลดล็อค
มาตรการที่ออกมา ควรเข้าใจธรรมชาติของกิจกรรมและธรรมชาติของคน
ตรงไปตรงมา...คอนเสิร์ต...ถ้าจะอนุญาตให้จัดแล้ว ขืนไปออกกฎห้ามตะโกน กรี๊ด ร้องเพลงกันดังๆ คงทำไม่ได้แน่นอน และขืนให้ใส่หน้ากาก ก็เชื่อขนมกินได้ว่า มีถอดกันแหงๆ
การจะไปให้รักษาระยะห่าง จะทำได้จริงหรือ
การจะให้กำหนดที่นั่งฟังคอนเสิร์ตห่างๆ กัน ใครจะทำตามได้จริง
การรักษาระยะห่างในคอนเสิร์ต คงจะทำได้ในลักษณะการฟังแบบดนตรีคลาสสิค โอเปร่า หรือการแสดงที่ชูเรื่องความสงบ
ดังนั้น การพิจารณากฎเกณฑ์นั้นสำคัญอย่างยิ่ง
อาศัยความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีอยู่คือ...
แค่การคุยกันระยะใกล้ โดยที่เค้าไม่มีไอ ไม่มีจาม การวิจัยพบว่าจะมีละอองน้ำลาย (aerosol) ขนาดราว 1 ไมครอนออกมาเวลาพูดคุยกันได้
แถมจำนวนละอองฝอยขนาดเล็กนี้ มีปริมาณถึง 10 ละอองต่อวินาที
นั่นคือ การคุยกันธรรมดา 10 นาที เรามีโอกาสสัมผัสละอองฝอยจากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ มากถึง 6,000 ละอองฝอย (หากพูดไม่หยุดเลย 😊)
แต่หากคุยแบบเสียงดัง ตะโกน ตะเบ็ง จำนวนละอองฝอยที่ออกมาจะมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเคยมีคนทำการวิจัยไว้ด้วยว่า ละอองฝอยเหล่านี้สามารถนำพาเอาไวรัสไข้หวัดใหญ่ไปได้ ซึ่งก็เป็นไปได้สำหรับโควิด-19 เช่นกัน
แม้จะมีปัจจัยอื่นๆ แวดล้อมที่อาจส่งผลต่อโอกาสแพร่เชื้อด้วย เช่น การถ่ายเทอากาศ ทิศทางและความแรงของลม ฯลฯ
เมื่อเราทราบข้อมูลความรู้ข้างต้น เราจึงน่าจะทราบได้ดีว่า ถ้ามีคนติดเชื้อไวรัสอยู่ในคอนเสิร์ต ย่อมมีความเสี่ยงในการแพร่กันได้มาก
จุดสำคัญจึงอยู่ที่...


1. การคัดกรองอาการ ตรวจประวัติไม่สบาย การเดินทาง อาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ตาแดง ท้องเสีย ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ถ้ามี ก็ไม่ควรเข้าไปในงาน
2. จิตสำนึกของทุกคนที่เข้ามาในคอนเสิร์ต ประเมินตนเองให้ดีตามความจริง ไม่ปิดบัง
3. ระบบประกันความเสี่ยงจากการจัดคอนเสิร์ต ผู้จัดควรมีประกันสำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อผู้เล่น ผู้ฟัง และสังคม ซึ่งเดิมไม่เคยมีมาก่อน
4. หลังคอนเสิร์ต คนเข้าร่วมงานคอนเสิร์ตทุกคนควรหมั่นประเมินอาการตนเอง หากภายในสองสัปดาห์มีอาการไม่สบาย ให้รีบไปปรึกษาแพทย์
ส่วนตัวแล้วคิดว่า มาตรการที่รัฐคลอดออกมา ควรสอดคล้องกับธรรมชาติของงาน เราคงห้ามไม่ได้ทุกอย่าง และหากรู้ว่ามีความเสี่ยง ก็ควรกระตุ้นให้คนทราบถึงความเสี่ยง และเตรียมพร้อมจัดการอย่างทันท่วงทีครับ
ด้วยรักต่อทุกคน

อ้างอิง
Asadi S et al. The coronavirus pandemic and aerosols: Does
COVID-19 transmit via expiratory particles? Aerosol Science and Technology. 3 April 2020. DOI: 10.1080/02786826.2020.1749229

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68469

 

9 มิ.ย.63- นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก " Thiravat Hemachudha" ถึงข้อแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว มาทางเครื่องบิน ดังต่อไปนี้

1- สามารถตรวจหาหลักฐานของการติดเชื้อได้ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน

2-ทั้งนี้โดยให้มีการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันแอนติบอดีทั้ง IgM IgG ตรวจ 5 วันก่อนที่จะขึ้นบิน

3- แม้ตรวจยังไม่พบ ระยะแรกเพราะเพิ่งติดเชื้อ วันที่ขึ้นบินตรวจซ้ำครั้งที่ สอง ก็จะพบ IgM

4- มาถึงประเทศไทย 4วันไปแล้ว ตรวจ ซ้ำ ถ้าได้ผลลบ ไม่ต้องกักตัว 14 วัน

ในกรณีที่ประเทศต้นทางไม่สามารถหาการตรวจแอนตี้บอดี้ที่เป็น”มาตรฐานได้ “ ก็ให้ใช้วิธี
•แยงจมูก แทน โดยตรวจ พีซีอาร์ •

ตรวจเลือด IgM 200 IgG 200 บาท คนตรวจ ไม่ต้อง PPE ครบสูตร เจาะเลือดปลายนิ้ว เท่านั้น
ถ้าใช้ elisa ต้องส่งเลือดมาที่
แลปเราที่กาชาดครับ ตรวจ12 ชม ก็เสร็จ

ถ้าตรวจรู้ผลเลยใน 2 นาที ก็คือ chula strip test (rapid test) เจาะปลายนิ้ว
แต่อาจมี ผลบวกปลอมของ IgM ประมาณ 3% ซึ่ง อีก 4 -7 วันตรวจใหม่ก็จะตัดปัญหาเพราะ ถ้าติดจริง  IgM จะเป็น IgG เรากลัวผลลบปลอมมากกว่า เพราะคนติดเชื้อจะหลุดเข้ามา

เข้าใกล้ความจริง ลดภาระกักกันตัว 14 วัน ประเมินความเสี่ยงได้เลยในการคัดกรอง.

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68251

9 มิ.ย.63-  นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ผู้ได้รางวัลแพทย์ดีเด่นจากแพทย์สภา ประจำปี 2561  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า องค์การอนามัยโลกกลับลำแนะทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จากเดิมที่เคยบอกว่าไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนมากพอว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงคนไม่ป่วย ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย มาเป็นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเวลาออกไปในที่สาธารณะ

คำประกาศใหม่ถือว่าล่าช้าเกินไป เนื่องจากในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ได้มีการแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้านก่อนหน้านี้แล้ว

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ล่าช้า WHO เพิ่งเตือนถึงผลเสียของการฉีดพ่นน้ำยาเคมีกำจัดเชื้อโรคพื้นที่กว้างใหญ่นอกอาคาร บนทางเดิน ถนน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายต่อผู้สัมผัส สิ้นเปลืองไม่ได้ประโยชน์ ทางกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ก่อนหน้าองค์การอนามัยโลกแล้ว

ย้อนหลังไปค.ศ.1997 องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์การตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำไม่ได้ สิ้นเปลือง และเปล่าประโยชน์ ผมออกมาโต้แย้งในปีค.ศ.1998 ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องตรวจ เพราะถ้าไม่ทราบผลความไวต่อยา อาจให้ยารักษาไม่ตรงกับเชื้อ ทำให้เชื้อยิ่งดื้อยามากขึ้น แพร่ระบาดให้คนอื่นต่อไป ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยขณะนั้นตอบว่าการแนะนำของผมขาดความรับผิดชอบ เพราะต้องดึงเงินจากงบประมาณอื่นมาใช้

ผมได้ก่อตั้งทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ ในปีค.ศ.2001 ทำการตรวจหาความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคให้รพ.ของรัฐฟรีทุกแห่ง ในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็เปลี่ยนคำแนะนำใหม่ให้ทุกประเทศตรวจหาความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาก่อนเริ่มการรักษา แต่คำแนะนำนี้ล่าช้าเกินไป หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้วิจารณ์ความผิดพลาดในการทำงานขององค์การอนามัยโลกเรื่องวัณโรคในปีค.ศ. 2012 (ดูรูป)

ในอดีตองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำความปลอดภัยทางถนนเน้นสาเหตุเฉพาะ เมา เร็ว เคารพกฎจราจร ใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ที่นั่งสำหรับเด็ก ผมออกมารณรงค์ง่วงอย่าขับ หลังจากดูแลคุณบิ๊ก ดีทูบี ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากง่วงหลับใน ปีค.ศ.2003 ผมได้ก่อตั้งทุนง่วงอย่าขับในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดีปีค.ศ.2005 ได้ทำการศึกษาอุบัติการง่วงหลับในของคนขับรถโดยสารและรถบรรทุก ตีพิมพ์ในปีค.ศ.2006 (ดูรูป) รณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายจากง่วงแล้วขับ วิธีการแก้ไข ความสำคัญของการนอนหลับให้เพียงพอ และประโยชน์ของการงีบหลับ องค์การอนามัยโลกแถลงการณ์เพิ่ม ง่วงหลับใน ยาบางชนิดทำให้ง่วง การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนในปีค.ศ.2015 นี่คืออีกหนึ่งความล่าช้าขององค์การอนามัยโลก

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศจะถอนประเทศสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก และงดเงินสนับสนุน เนื่องจากองค์การอนามัยโลก”ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”ในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และเป็นองค์กรที่อยู่”ใต้เงาจีน”

ถึงเวลาแล้วองค์การอนามัยโลกต้องมีการปฏิรูป ปรับปรุง รับฟังความเห็นต่าง เพื่อให้คำแนะนำในการทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68198

 9มิ.ย.63-เพจแพทย์ไทยไอเดียสุด/Doc Idea D  ได้โพสต์ข้อความว่า จาการวิจัยล่าสุดจาก​ 2​ มหาวิทยาลัยใหญ่ของสหรัฐ​ และอังกฤษตี​ ระบุว่า​มาตรการล็อกดาวน์เซฟชีวิตคนได้หลาย​ 100​ ล้านคน​ แต่ก็ระบุว่า​ ตอนนี้อาจจะมีผู้ติดเชื้อไป​ 500​ กว่าล้่านคนได้เช่นเดียวกัน
 

มี​ 2​ วิจัยขนาดใหญ่ที่เพิ่งลงใน​วารสาร Nature​ โดยมีสื่อ​ Washington Post​ นำมาสรุปความให้
วิจัยแรกจากสหรัฐ​ the University of California at Berkeley ระบุไว้ว่า

1.​ ศึกษาใน​ 6​ ประเทศ​ จีน​ สหรัฐ​ เกาหลี​ ฝรั่งเศส​ อิตาลี​ อิหร่าน

2.​ มาตรการ​ Shut Down​ ช่วยคนสหรัฐไว้​ 60​ ล้านคน​ ช่วยคนจีนไว้​ 285 ล้านคน

3.​ ตามดูมาตรการของแต่ละที่รวมกัน​ 1,717 มาตรการ​ ได้ทำเทสต์รวม​ 11​ ประเทศ​ มีการเทสต์ตรวจหาเชื้อ​ไป​ 62 ล้านเทสต์

4.​ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจเทสต์หาเชื้อเลย​ ทำให้คาดการณ์​ว่า​ มีผู้ติดเชื้อจริงอาจจะ​มีมากถึง​ 530 ล้านคน​

5.​ เวลาในการใช้มาตรการต่างๆ​ นั้นสำคัญมาก​ เริ่มไวได้ผลดีมากกว่าเริ่มช้าชัดเจน

6.​ วิจัยตามวิเคราะห์์ให้ว่า มาตรการไหนช่วยมาก​ ช่วยน้อย​ ... เพื่อให้ประเทศที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อ​ ได้ทราบแนวทางดีๆ​

7.​ มีประเทศมากมายตั้งคำถามเรื่องความคุ้มค่าของการปิดเมือง​ หยุดภาคเอกชน​ ว่าคุ้มค่าแคไหน​ อย่างไร​ ในการ Save​ ขีวิตคนไปมากมาย
ฉบับเต็มที่ยาวมากตามอ่านได้ใน https://www.nature.com/arti…/s41586-020-2404-8_reference.pdf


 วิจัยที่​ 2​ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก​ Imperial College London​ อังกฤษ
1.​ มาตรการ​ Shut​ Down​ เซฟชีวิตคนใน​ 11​ ประเทศไป​ 3.1​ ล้านชีวิต​
2.​ เฉพาะของอังกฤษ​ เซฟไป​ 500000 ชีวิต
3.​ ลดอัตราการติดเชื้อไปถึง​ 82%
4.​ แต่พอมีมาตรการต่างๆ​ อัตราการติดเชื้อในแต่ละประเทศ​ จึงเหลือ​ 3-4% ซึ่งทำให้ไม่เกิด​ Herd​ Immunity
5.​ ให้ระวังว่า​ ถ้าลดมาตรการต่างๆ​ แบบไม่ระวังจะมีผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่​ Wave​ 2​ เพิ่มขึ้นมา
(ผลงานฉบับเต็มดูได้ที่ Estimating the effects of non-pharmaceutical interventions on COVID-19 in Europe)   https://www.nature.com/articles/s41586-020-2405-7

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/68204

 

'หมอยง' ห้ามเกษตรกรป่วยจับสัตว์ ลดเสี่ยง 'โควิด' ฤดูฝน

 

หมอยง เตือน เกษตรกรป่วยอย่าสัมผัสสัตว์เน้นความสะอาด เตือนโรงงานแปรรูปอาหารเข้มงวดสุขอนามัย แยกกะ เลี่ยงรวมพลคนเยอะ แนะไทยตั้งรับฤดูฝนโรคเดินหายใจระบาดเร็วกว่าปกติ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า แม้จะเคยพบรายงานในฮ่องกงว่าพบโรคโควิด19 ในสุนัขพันธุ์ปอมเมเรอเนียน หรือมีรายงานจากจีนและสหรัฐว่าพบโรคนี้ในเสือหรือแมว การศึกษาในจีนพบว่าไวรัสตัวนี้ติดได้ในสัตว์ตระกูล feline หรือ แมว ได้ดีกว่าสุนัข ส่วนในหมู ไก่ เป็ด ไม่ติดโรคนี้แน่นอน และไม่มีหลักฐานเลยว่าสัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งนำโรค และไม่มีหลักฐานว่าโรคจากสัตว์เหล่านี้จะแพร่กระจายมาสู่คนได้

ทั้งนี้ ปกติการทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ จะเป็นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ดังนั้น ถ้าทำถูกวิธีจะปลอดจากเชื้อก่อโรคโควิด19 แน่นอน เพราะสัตว์ ทั้งหมดไม่มีหลักฐานว่าจะมีไวรัสตัวนี้อยู่ และจากการศึกษาชัดเจนว่า ไวรัสตัวนี้ไม่ติดใน หมู ไก่ เป็ด หรือในปศุสัตว์ ดังนั้นประชาชนสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ แต่ที่อยากเน้น คือ ต้องปรุงอาหารให้สุก และไม่ทานอาหารดิบๆ สุกๆ เด็ดขาดในช่วงนี้ การทานอาหารที่สุกความร้อนฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิดรวมทั้งโควิด-19 ด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึงอย่างเดียวคือเรื่องความสะอาด เพราะเรารู้ว่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้แพร่กระจายผ่านทางเดินหายใจ เมื่อไอ จาม และแพร่กระจายทางอุจจาระได้ เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมอาหาร บุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องเน้นเรื่องความสะอาด การล้างมือเมื่อออกจากห้องน้ำหรือแม้จะไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ต้องหมั่นทำความสะอาดล้างมือ โอกาสที่เชื้อนี้จะไปปนเปื้อนอาหารก็ไม่มี แม้มีติดมานิดหน่อยถ้าเราทานอาหารสุกก็ปลอดภัย

โดยมาตรการอันแรกที่เกี่ยวข้องกับ กลุ่มการเตรียมอาหาร จะต้องดูแลตัวเอง กรณีเจ็บป่วยมีไข้ก็ไม่ควรปฏิบัติภารกิจหรืออยู่ในไลน์การผลิตอาหาร โดยหลักการทั่วไป ถ้าคนงานแข็งแรงดีก็ปฏิบัติภารกิจได้ปกติ แต่ขอให้ควบคุมอนามัยส่วนบุคคล ความสะอาด การล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัยปัองกัน ฝอยละออง จากการไอ จาม ตกลงไปในอาหาร

ในกรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อในสถานประกอบการ ต้องหาผู้สัมผัสโรคและถูกกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่น ขณะที่สายการผลิตบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อปฏิบัติงาน ต้องปิดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาด โดยสามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่รู้จักกันดีเพราะไวรัสตัวนี้มีเปลือกหุ้ม เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนหรือแอลกอฮอลล์ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับ เกษตรกรที่ดูแลสัตว์เลี้ยงฟาร์ม หมู ไก่ เป็ด ให้ดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้ต่อต้านกับโรคได้ กรณีตนเองป่วย อย่าสัมผัสกับสัตว์ในฟาร์ม ขอให้แยกตัวออกมา เก็บข้าวของเครื่องใช้ ของส่วนตัว การใช้ห้องน้ำถ้าแยกได้ขอให้แยก ถ้าแยกไม่ได้ให้ผู้ป่วยใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายของบ้าน และทำความสะอาดห้องน้ำโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/882852

นพ.ประสิทธิ์ ยัน โควิด19 ในไทยระบาดระรอก 2 แน่ ตายมากกว่าเดิม 1 เท่า

ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่าน Mahidol Channel เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด19 ในไทย ระลอกที่ 2 ว่า โอกาสที่จะมีการแพร่ระบาดของ โควิด19 ระลอก 2 ในไทย ผมบอกเลยว่ามีแน่

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดรอบแรก คนตายจำนวนหนึ่ง รอบ 2 ตายมากกว่ารอบแรกกว่าเท่าตัว หาก 1 วันมีคนติดเชื้อ 100 คนมันกระจายไปแล้ว เวลากระจายไปมันคูณยกกำลังสอง ไม่ได้คูณ 2 มีบางคนบอกว่าผมออกมาขู่ ผมติดตามดูต่างประเทศทุกวัน ผมถึงมั่นใจว่ารอบ 2 มาแน่

อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติแล้ว มันจะมีโอกาสกลับเข้ามา กลับเข้ามาเราไม่ห่วง แต่กลับเข้ามาแล้ว สูงหรือไม่สูง ถ้ากลับเข้ามาแล้วติดเชื้ออยู่หน่อยเดียวแล้วเรากดลงมาได้ก็ไม่เป็นไร ทุกครั้งที่กลับเข้ามาแล้วติดเชื้อ ทุกคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ตายจะเกิดภูมิต้านทานขึ้น หากภูมิต้านทานนี้เยอะ จนครอบคลุม 2 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ โควิดจะอยู่ในเมืองไทยไม่ได้แล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://today.line.me/

เนื้อหาต้นฉบับ https://today.line.me/TH/pc/article/x3gQxr?utm_source=lineshare