Font Size

 

Covid#25 “Education is the process of turning cocksure stupidity into thoughtful uncertainty” K.G. Johnson

สิ่งที่เราทำนายเกี่ยวกับโรคโควิด19 มีโอกาสผิดแค่ไหน มั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ไหม
ต้องอธิบายก่อนครับว่า แพทย์ไม่เคยมั่นใจอะไรร้อยเปอร์เซนต์หรอกครับ ถ้ามั่นใจ 98-99% ก็ต้องพูดว่า 100% ไม่งั้นคนไข้งงแย่ ความจริงถ้าอะไรบางอย่างมีโอกาสถูกมากกว่า 95% ก็ต้องถือว่ามั่นใจแล้ว

แนวคิดเรื่อง Herd immunity มีโอกาสผิดไหม คำตอบคือ น้อยมาก แนวคิดนี้ใช้มานับร้อยปี มีรากฐานหนาแน่น และใช้คณิตศาสตร์ไม่ซับซ้อน

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการระบาดมีโอกาสผิดมากกว่า ขึ้นกับว่าใช้มันอย่างไร ถ้าสนใจเพียงเฉพาะลักษณะทั่วไปของการระบาด เช่น รูปร่างของกราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยเท่านั้น แบบจำลองจะไม่ค่อยผิด แต่ถ้าสนใจว่าจำนวนผู้ป่วยถูกต้องไหม จะมีโอกาสผิดมาก เพราะการจำลองทางคณิตศาสตร์ให้ถูกต้อง ต้องรวบรวมปัจจัยต่างๆเป็นตัวเลขที่ถูกต้องได้ทั้งหมด

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดเกี่ยวกับแบบจำลองในประเทศไทย คือ เรามีจำนวนผู้ป่วยน้อยเกินคาด ทำไมเราจึงไม่มีผู้ป่วยมากเหมือนประเทศในยุโรป หรืออเมริกา

คำถามนี้มีความสำคัญมาก เวลาทำสงครามกับศัตรูที่กล้าแข็ง ถ้าเราชนะการรบเอาง่ายเกินคาด ก็ควรกังวลใจ

คำอธิบายที่กล่าวกันมากที่สุด คือการแพทย์และสาธารณสุขของเราดีมาก เรื่องนี้ไม่มีใครเถียงแน่นอน แต่คำอธิบายนี้มีข้อควรกังวลอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ เราดีกว่าประเทศอย่างเยอรมันถึงขนาดนั้นเชียวหรือ และข้อสองคือ ประเทศข้างๆเราเช่น ลาว เขมร พม่า ก็ดูเหมือนไม่มีผู้ป่วยมากสักเท่าไร แม้แต่อินเดียก็มีผู้ป่วยไม่มากเทียบกับประชากรพันล้าน

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ก็พยายามขบปัญหานี้
สมมติฐานแรก คือ ประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีการฉีดวัคซีนวัณโรค และวัคซีนวัณโรคช่วยลดความรุนแรงของโรคและทำให้เชื้อแพร่ได้น้อยลง ตอนนี้ก็มีการทดลองกันอยู่ คนไทยอายุต่ำกว่า 50 ปี ฉีดวัคซีนวัณโรคมาแล้วเกือบทุกคน ถ้าทฤษฎีนี้จริงก็ต้องเรียกว่า เราโชคดีมาก

สมมติฐานที่สอง คือ ประเทศเหล่านี้มีอากาศร้อนกว่าซึ่งเชื้อทนไม่ค่อยได้ ซึ่งมีหลักฐานการทดลองสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจกันว่า มันสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ บางคนแย้งว่า ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินศ์ก็ร้อนเหมือนกัน แต่การทดลองแสดงว่า ถ้าความชื้นสูง เช่นใกล้ทะเล เชื้อจะทนได้ดีกว่ามาก
ถ้าเรื่องนี้สำคัญ เราจะเดือดร้อนมากขึ้นเมื่ออากาศค่อยๆเย็นลงและฝนตกนับจากเดือนพฤษภาคมไป

สมมติฐานที่สาม คือประเทศเหล่านี้มีเชื้อโรคเพ่นพ่านอยู่มาก อาจมีการระบาดของเชื้อโคโรน่าอื่นที่ไม่ก่อโรครุนแรงอยู่เก่า ทำให้คนมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วบางส่วน สมมติฐานนี้ยังไม่สามารถหาหลักฐานสนับสนุนได้

การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ไม่ได้มีการนำสมมติฐานทั้งสามมาเกี่ยวข้องด้วย แต่ทั้งสามเรื่องไม่น่ามีผลต่อ herd immunity
ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์
2 พฤษภาคม เวลา 13:13 น.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaipost.net

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.thaipost.net/main/detail/65713