• ออกคำสั่งต้องสวมแมสก์ 100% ฝ่าฝืนมีโทษ

• ปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 31 สถานที่ โรงหนัง สวนน้ำ สวนสนุก สวนสัตว์ เล่นสเก็ต ร้านเกมส์ โต๊ะสนุก ฟิตเนส พิพิธภัณฑ์ สนามมวย สัก-เจาะผิวหนัง สนามม้า ศูนย์พระ คลีนิกเสริมความงาม นวดแผนไทย ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ห้างเปิด11-21.00 ร้านตัดผมให้สระตัดซอยแต่งผมได้เท่านั้น (ต้องไม่มีคนนั่งรอ)
• ร้านอาหาร ต้องเว้นที่นั่ง2เมตร หรือ 1 เมตรแต่ต้องมีที่กั้น

24 เม.ย.64 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ดังนี้

โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย แพร่กระจายและติดต่อได้ง่าย

 

ดังที่ได้เคยเรียนมาแล้ว สายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจาย ได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็ในประเทศอังกฤษ ในเดือนธันวาคม ทำให้ระบบการแพทย์ของอังกฤษ แทบล้มเหลว

สายพันธุ์เดิม  สมมุติว่าต้องรับเชื้อ 100 ตัว จึงจะติด และเกิดโรคได้

สายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์อังกฤษ การรับเชื้ออาจจะเหลือแค่ 50 ตัว ก็สามารถติดและเกิดโรคได้

สายพันธุ์นี้เกาะติดกับเซลล์ของเราได้ดีกว่า สายพันธุ์เดิม จึงแพร่กระจายได้ง่ายอย่างที่เห็น

มาตรการที่ใช้ในการป้องกันต้องมากกว่า สายพันธุ์เดิม

การระบาดในวงจรแรก จะอยู่ในสถานบันเทิง และจะอยู่ในตัวเมืองใหญ่

การแพร่กระจาย จะออกนอกตัวเมืองใหญ่ ไปยังตัวเมืองต่างจังหวัด ในวงจรต่อๆไป

และจากต่างจังหวัดในตัวเมือง ก็จะเริ่มออกสู่อำเภอ และตำบล และจะลงสู่หมู่บ้าน

เราเห็นตัวอย่างได้จากหลายประเทศ เริ่มจากเมืองใหญ่ก่อน

การหยุดการเคลื่อนที่ของประชาชน เป็นหนึ่งในวิธี ของการหยุดการแพร่กระจาย

ช่วงสงกรานต์ เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนที่ของประชาชนมากที่สุด

การควบคุมต่อไปนี้ จะต้องใช้วิธีการที่มากขึ้น จึงจะควบคุมโรคได้

การตรวจผู้สงสัยจะต้องตรวจเชิงรุก ทุกรายที่ตรวจให้ผลบวก จะต้องเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม หรือโรงแรมที่กำหนด 

ผู้ป่วยที่มีอาการมากเท่านั้น จึงจะรับการรักษาไว้ในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลทุกแห่ง ควรเพิ่มอัตราการตรวจให้เพิ่มขึ้น และทางฝ่ายรัฐ จะต้องเป็นผู้ดูแล ผู้ที่ตรวจให้ผลบวกทั้งหมด และจัดสรร ผู้ที่มีอาการมาก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

ถ้าให้โรงพยาบาลที่ตรวจพบ เป็นผู้จัดการผู้ป่วยเอง เพราะเมื่อจัดการไม่ได้ ก็จะงดการตรวจ หรือจำกัดการตรวจ

ฝ่ายรัฐควรควบคุมค่าตรวจ ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ในมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ 

และให้ห้องปฏิบัติการ ทุกคนช่วยกันตรวจให้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากประชากรให้ได้มากที่สุด

ความสามารถในการตรวจของประเทศไทยสูงมาก แต่ขณะนี้ผู้ต้องสงสัยหาที่ตรวจได้ยาก เพราะบางโรงพยาบาลจะจำกัดจำนวนการตรวจแต่ละวัน หรืองดการตรวจ ว่าน้ำยาหมด

ตัวอย่างที่เราเห็นคือประเทศอินเดีย ที่ขณะนี้ยากเกินกว่าที่จะควบคุมโรคนี้ได้

เมื่อเกิดการระบาดมาก ก็มันจะเกิดเชื้อที่กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น 

ในอินเดียมีเชื้อกลายพันธุ์ที่เรียกว่า  Double mutations สายพันธุ์อินเดีย  ที่ทำให้ติดได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้มที่จะลดประสิทธิภาพของวัคซีน เป็นสายพันธุ์ที่จะท้าทายความสามารถของมนุษย์

ประเทศอินเดียอยู่ไม่ไกลจากเรา 

และทำนองเดียวกัน ถ้าเรามีผู้ป่วยหรือระบาดจำนวนมาก ก็จะมีการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ เราไม่อยากได้ยิน ชื่อไวรัส สายพันธุ์ประเทศไทย

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/100514

ไม่ได้เขียนเรื่องสถานการณ์โควิด-19 มานาน แต่ตอนนี้สถานการณ์มันแย่มาก ๆ ไม่อยากพูดถึงสาเหตุหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา แต่ขอรวบรวมสิ่งที่น้อง ๆ สมาชิกราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ที่ทำงานเป็นด่านหน้าดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มาสื่อสารถึงทุก ๆ ท่านที่เกี่ยวข้องครับ

ตอนนี้เตียงที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ล้นแล้ว ต้องปรับใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไปมาเป็นเตียงดูแลผู้ปวยโควิด-19 ทำให้ตอนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลในห้อง negative pressure บางครั้งผู้ป่วยชายหญิงอาจต้องอยู่รวมในห้องเดียวกัน

อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อรอบนี้เกิดปอดบวมเร็วและมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก เกินกว่าจำนวนเตียง ICU ที่มีอยู่ ผู้ปวยจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจใน ward ธรรมดา ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยอาการหนักจากโรคอื่น ๆ

ในโรงพยาบาลที่มีอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ อายุรแพทย์โรคปอดและเวชบำบัดวิกฤติซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ตอนนี้งานล้นมือมาก ๆ เหนื่อยแทบจะหมดแรง ทำงานไม่มีวันหยุด ทุกคนพยายามดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ แต่ก็เริ่มจะไม่ไหว ต้องให้อายุรแพทย์ทั่วไปและอายุรแพทย์ด้านอื่น ๆ ดูแลผู้ป่วยโควิต-19 ด้วย แบบเดียวกับโรงพยาบาลที่ไม่มีอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ อายุรแพทย์โรคปอดและเวชบำบัดวิกฤติ ที่อายุรแพทย์ทั่วไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19

มีอายุรแพทย์และแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่เป็นโควิด-19 ถึงแม้จะป้องกันเต็มที่ แต่ก็ยังเจอผู้ป่วยที่ปิดบังประวัติความเสี่ยงของตนเองอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องถูกกักตัว อายุรแพทย์ที่เหลือต้องทำงานกันหนักขึ้น

รัฐบาลเพิ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัตซีนกันถ้วนหน้าเมื่อไม่กี่วันนี้ ทำให้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับเพียงแค่เข็มแรก ซึ่งยังไม่มีผลในการป้องกันโรคได้ในขณะนี้ พวกเราจึงยังคงมีความเสี่ยงอยู่

การขยายเตียง เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม แต่จำนวนบุคลากรไม่เพิ่มขึ้นเลย ถ้าผู้ป่วยเพิ่มวันละ 1,000-2,000 แบบนี้อีกไม่นาน รพ.สนามก็จะเต็ม คงต้องยอมรับความจริงว่าเราอาจจะไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ในโรงพยาบาล รพ.สนาม หรือ hospitel ได้หมด คงต้องให้กักตัวที่บ้านเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศทำกัน

ฝากข้อมูลนี้ให้ทุก ๆ คนทราบด้วยครับ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานอย่างหนัก ไม่ใช่เพียงรักษาผู้ป่วยโควิดเท่านั้น แต่ยังคงต้องรักษาผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วย ตอนนี้ถึงแม้รัฐบาลจะยังไม่ได้ประกาศ lock down แม้ว่าสถานการณ์จะย่ำแย่กว่าการระบาดระลอกแรกมาก ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ จึงอยากให้ทุกคน lock down ตัวเอง ด้วยการอยู่บ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอย่างถูกต้อง เพราะถ้าท่านป่วยด้วยโควิด-19 ท่านอาจจะไม่ได้รับการดูแลรักษาได้อย่างเต็มที่ เพราะตอนนี้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เกินศักยภาพของบุคลากรของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยแล้วครับ

พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย


02 เม.ย.64 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก 2 เมษายน 2564 มีเนื้อหาดังนี้
ทะลุ 130 ล้านไปแล้ว แนวโน้มการระบาดรุนแรงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 701,041 คน รวมแล้วตอนนี้ 130,133,821 คน ตายเพิ่มอีก 11,610 คน ยอดตายรวม 2,838,716 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 75,696 คน รวม 31,239,879 คน ตายเพิ่ม 908 คน ยอดเสียชีวิตรวม 566,237 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 86,586 คน รวม 12,839,844 คน ตายเพิ่มถึง 3,398 คน ยอดเสียชีวิตรวม 325,284 คน  
อินเดีย ติดเพิ่ม 81,441 คน รวม 12,302,110 คน  
ฝรั่งเศส รายงานเพิ่ม 50,659 คน รวม 4,695,082 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,169 คน รวม 4,554,264 คน

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร อิตาลี ตุรกี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
ตุรกีติดเชื้อเกินสี่หมื่นต่อวัน กำลังโดนระลอกสามขาขึ้นอย่างหนัก จำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดขณะนี้มากกว่าระลอกแรกถึง 4 เท่า
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกสี่ ตอนนี้ติดเกินสองพันคนต่อวัน ในขณะที่แคนาดาก็เข้าสู่การระบาดระลอกสามชัดเจน มากกว่าห้าพันคนต่อวัน

 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ล้วนอยู่ในสถานการณ์ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
เกาหลีใต้ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เมียนมาร์ ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...ในการต่อสู้กับโรคระบาดรุนแรงแบบโควิด-19 นี้ สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแต่ละประเทศทั่วโลกคือ

หนึ่ง "การสร้างนโยบายหรือมาตรการที่ใช้หลักฐานวิชาการแพทย์ที่ถูกต้อง เป็นแสงส่องทาง" เราเห็นบางประเทศที่ไม่ได้ปฏิบัติเช่นนี้จนนำมาซึ่งการระบาดรุนแรงอย่างยาวนาน จึงควรจำไว้เป็นบทเรียน อย่ารนหาที่ เพราะการก้าวพลาดเพียงครั้งเดียวจะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตคนจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อระบบสังคมเศรษฐกิจตามมาอย่างที่แก้ไขได้ยาก

สอง "การทำงานนั้นย่อมเกิดปัญหา หรือข้อผิดพลาดได้เสมอ แต่ต้องยอมรับความจริง" รับว่ามีข้อผิดพลาด ชี้แจงแถลงไขให้คนในสังคมได้รับรู้รับทราบ จะได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันคิดร่วมกันแก้ไข แต่หากสังคมใดประเทศใด เห็นแต่ปรากฏการณ์ที่หน่วยงานต่างๆ ไม่เคยยอมรับว่าผิดพลาดเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่เห็นกันอยู่โต้งๆ จะถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่ทำให้คนในสังคมไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อถือ เพราะสุดท้ายการปัดฝุ่นไปซุกไว้ใต้พรมนั้น วันใดวันหนึ่งย่อมมีการถูกเปิดขึ้นมาและฟุ้งกระจายให้เห็น และเมื่อถึงเวลานั้น public mistrust ที่เกิดขึ้นจะแก้ไขได้ยากยิ่งนัก โดยจะส่งผลต่อการดำเนินงานอื่นๆ อืกมากมาย และย่อมทำให้ภูมิคุ้มกันทางสังคมอ่อนแอในระยะยาว ดังนั้นก็ย่อมเป็นไปตามสุภาษิตที่เราได้เรียนรู้กันมาว่า "คนดีชอบแก้ไข...คนอะไรชอบแก้ตัว"นั่นเอง

สาม ระลึกไว้เสมอว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มักต้องมีเหตุผลอธิบายเสมอ จริงอยู่อาจเกิดจากความบังเอิญได้บ้าง แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมาก การใช้เหตุผลประเภท"เหตุบังเอิญร่วม"เพื่อจบเรื่องให้คนเข้าใจว่าเกิดเพราะโชค หรือเป็นจังหวะปะเหมาะเคราะห์ร้ายเองนั้น จึงไม่ควรประพฤติปฏิบัติพร่ำเพรื่อจนเป็นนิสัย เพราะนั่นหมายถึงการสร้างบรรทัดฐานของการขาดความเป็นเหตุเป็นผล และระยะยาวจะเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิดจาก"วิทยาศาสตร์"ไปเป็น"ไสยศาสตร์" ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง

และสี่ "ไม่ปกปิดหมกเม็ดหรือบิดเบือนข้อมูล"

หากทุกประเทศทั่วโลกทำดังเช่นที่กล่าวมา โอกาสสู้กับโรคระบาดแล้วชนะจะมีสูงขึ้น
เหนืออื่นใด ขอให้พวกเราทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง ช่วยในการตัดสินใจเพื่อรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตครับ
ด้วยรักและปรารถนาดีเสมอ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98071

 

สธ.เปิดปชช.จองรับ'วัคซีนโควิด-19'ผ่าน'หมอพร้อม'ปลายพ.ค.นี้

สธ.เผยโควิด-19ระลอก2อยู่ในระดับควบคุมได้แล้ว เจอผู้ติดเชื้อประปราย “วัคซีนซิโนแวค”ล็อตสุดท้ายอีก 1 ล้านโดสกระจายฉีดหลังสงกรานต์ บิ๊กล็อต”วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”รุ่นผลิตในไทย 5 ล้านโดสแรก แนวโน้มส่งมอบกลางพ.ค. เปิดปชช.จองรับผ่าน “หมอพร้อม"ปลายพ.ค.นี้

 คาด“ภูเก็ต”จังหวัดแรกมีภูมิคุ้มกันระดับพื้นที่ เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดประเทศบนความปลอดภัย
       เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว ยังมีผู้ติดเชื้อประปราย ไม่ได้มีปริมาณที่สูงหรือแพร่ระบาดรุนแรง  ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการสั่งซื้อของซิโนแวค 2 ล้านโดส มีการส่งมอบเข้ามาแล้ว 2 ล็อต ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสมีการกระจายและฉีดไปแล้วตามเป้าหมาย และล็อต2 จำนวน 8 แสนโดสมีการกระจายและเริ่มฉีด 1 เม.ย.2564  และล็อตสุดท้าย จำนวน 1 ล้านโดสที่จะมาถึงในราววันที่ 10 เม.ย.2564 เมื่อผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพแล้วน่าจะกระจายฉีดได้ราววันที่ 16-17 เม.ย.2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มุ่งเปิดประเทศบนความปลอดภัยโดยเร็ว    
 เพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีน
          นพ.เกียรติภูมิ  กล่าวอีกว่า  สธ.ได้กำหนดการดำเนินการเรื่องวัคซีนโควิด-19โดยพิจารณาเป้าหมายในเรื่อง 1.เชิงพื้นที่ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักที่จำเป็ฌฯจะต้องมีวัคซีนได้ในสัดส่วน 50-60%ของประชากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดภูมคุ้มกันระดับพื้นที่ 2.เชิงระบบ  ที่จะดูแลเรื่องการฉีด ซึ่งเดิมมีการพิจารณาการฉีดในรพ.ทั้งรัฐและเอกชนเป็นหลัด หากฉีดแห่งละ 500 คนต่อวัน เฉลี่ย 1 เดือนจะฉีดได้ราว 10 ล้านโดส แต่จากการดำเนินการฉีดที่รพ.สนามในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ตลาดบางแค ก็มีความปลอดภัย หรือรถพยาบาลที่มีเครื่องมือดุแลที่เหมาะสม จะสามารถจัดสถานที่ฉีดได้  หากเพิ่มบริการฉีดที่รพ.สนามได้อีกก็จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น
           โดยขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งพร้อมสนับสนุนสถานที่ให้เข้าไปจัดระบบการฉีด  เช่น เซ็นทรัล และบิ๊กซี เป็นต้น จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งรพ.สนามสามารถฉีดวัคซีนได้1,200คนต่อวัน เพราะฉะนั้นการฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดสไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่ให้มีคนเข้ามาฉีดโดยจัดระบบไม่ให้มีความแออัด     และ3.ระบบข้อมูลทั้งการนัดหมายการฉีด และการติดตามเฝ้าระวังหลังการฉีด ซึ่งระยะแรกที่มีวัคซีนจำกัด สธ.จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน จะมีระบบนัดหมายผ่านไลน์หมอพร้อม หรือรพ.แจ้งไปให้มารับวัคซีนหรือ อสม.ตามตัว เป็นต้น
ปชช.จองคิวรับวัคซีนปลายพ.ค.
       นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ส่วนประชาชนทั่วไปจะสามารถจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีน ผ่านไลน์แอลแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมได้ในช่วงปลายพ.ค.เป็นต้น เนื่องจากวัคซีนล็อตใหญ่ที่ไทยสั่งซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดสและผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์นั้น แนวโน้มว่าจะส่งมอบล็อตแรกราว 5 ล้านโดสในช่วงกลางเดือนพ.ค. ซึ่งจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป จากนั้นจะทยอยส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดสอีก 5 เดือนและเดือนธ.ค.ส่งมอบล็อตสุดท้าย 5 ล้านโดส ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ
คาดภูเก็ตจังหวัดต้นแบบ
     นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า พยายามทำให้ 1 ต.ค.นี้เปิดประเทศให้ได้ ตามนโยบายรัฐบาล อาจจะมีบางจังหวัดที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ตามจังหวัดเป้าหมาย เช่น ภูเก็ต จะต้องฉีดประมาณ 4 แสนคนถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันพื้นที่ได้ ซึ่งใน 2 รอบที่วัคซีนซิโนแวคเข้ามารวม 1 ล้านโดส ได้จัดสรรให้ภูเก็ตไปแล้ว 2 แสนโดส และล็อตสุดท้ายของซิโนแวคที่จะเข้ามาอีก  1 ล้านโดสก็จะจัดสรรเพิ่มเติมให้ไปอีกราว 2 แสนโดส ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. และหากสามารถฉีดได้ตามเป้าหมาย ภูเก็ตก็จะเป็นต้นแบบและจังหวัดแรกๆที่ได้รับวัคซีนครอบคลุม   
 ออกใบรับรองวัคซีนแล้ว 3.5 หมื่นคน  
     นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  กล่าวว่า ในระยะที่มีวัคซีนอย่างจำกัดนั้น สธ.ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไว้แล้ว ซึ่งระบบไลน์และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมจะปรากฎให้ผู้ที่จองรับวัคซีนได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่สธ.กำหนดก่อนในระยะแรก แต่เมื่อประเทศไทยมีวัคซีนล็อตใหญ่เข้ามาและเริ่มฉีดในมิ.ย.นั้น สธ.ได้ออกแบบระบบคิวฉีดวัคซีนโดยประชาชนสามารถจองได้ผ่านช่องทาง  LINE official “หมอพร้อม” , แอปพลิเคชั่นหมอพร้อมซึ่งจะเปิดให้โหลดได้ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ และเปิดจองคิวได้ราวปลายพ.ค. และโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลได้โดยตรง
             กรณีกลุ่มคนที่มีการใช้ไลน์หรือสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สามารถจองผ่านไลน์หรือแอปฯหมอพร้อม สามารถเลือกวันและสถานที่ฉีดได้ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่กทม.มีการใช้ไลน์ในชีวิตประจำวัน 80 % เมื่อได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว รพ.จะออกให้เป็นรูปกระดาษ และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เป็น QR Code ที่มีข้อมูลเชื่อมกับระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ สามารถเช็คข้อมูลได้ และสามารถนำไปแสดงที่หน่วยงานไหนก็ได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบกลับมาที่ฐานข้อมูลของสธ. ขณะนี้มีการออกไปแล้ว 35,000 คน อย่างไรก็ตาม ในต่างจังหวัด ประชากรที่อยู่ในการดูแลของรพ.อำเภอมีการใชไลน์ประมาณ 40-50 % ดังนั้น กลุ่มที่ไม่มีระบบไลน์และสมาร์ทโฟน ก็จะใช้ระบบที่หลากหลายในการให้ประชาชนได้รับวัคซีน เช่น  รพ.โทรประสานไปยังประชาชน อสม.แจ้งข่าว หรือจัดคิวเป็นรายตำบล เป็นต้น

       “สำหรับกรณีใบรับรองด้านสุขภาพในการเดินทางระหว่างประเทศ( International Travel Health certificate) เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับประชาชนไทยก่อน ระหว่างรอมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกหรือฮูที่จะออกมาราวสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และเมื่อมีการออกมาตรฐานสากลที่จะใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศออกมาแล้ว ประเทศไทยก็มีการเตรียมระบบรองรับที่จะเชื่อมโยงกับระบบสากลไว้แล้ว”  นพ.พงศธร กล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98020

 

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ช่วยป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ตั้งเป้าฉีดครอบคลุมประชากรโดยเร็ว ร่วมกับสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เติมเต็มป้องกันติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ เพื่อเปิดประเทศปลอดภัย
 

วันนี้ (1 เมษายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “เปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐาน” ใน 10 เมืองไมซ์ ว่า รัฐบาลต้องการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย สิ่งสำคัญคือประชากรในประเทศต้องปลอดภัย ได้รับวัคซีนโควิด 19 ครอบคลุมมากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งวัคซีนจะช่วยลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อป้องกันได้ร้อยละ 70 และหากยังคงมาตรการ นิวนอร์มัล ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ดูแลสุขภาพอย่างดี จะเติมเต็มทำให้ป้องกันติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่เราควบคุมการระบาดระลอกแรกจนไม่มีการแพร่เชื้อมานานกว่า 6 เดือน 

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายวัคซีนโควิดไปยังประชาชนทั่วประเทศให้เร็วที่สุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ฉีดวัคซีนโควิดได้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด แม้จะมีการติดเชื้อก็จะเป็นจำนวนน้อยที่ระบบสาธารณสุขรับได้ ส่วนการจัดงานไมซ์จะเป็นการจุดประกายให้เมืองไทยกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เนื่องจากช่วยส่งเสริมการทำงานและสร้างรายได้ ลดปัญหาการลักลอบเข้า-ออกประเทศไปทำงาน จึงลดความเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลับเข้ามาด้วย รวมถึงการจัดงานอย่างปลอดภัยมีมาตรฐานก็จะช่วยเรียกชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยว จัดสัมมนา ประชุม แสดงสินค้า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย 

 

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

“ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาก็ต้องมั่นใจว่า ประชาชนในประเทศเราสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย มีระบบสาธารณสุขดูแลเขาเมื่อเจ็บป่วยได้ ซึ่งเมื่อเราฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากเพียงพอก็ตั้งสมมติฐานว่าปลอดภัยได้”

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

นายอนุทินกล่าว นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการรับวัคซีนโควิดแล้วไม่ต้องกักตัวถือเป็นเป้าหมาย แต่ต้องมีการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันผลตอบสนองต่อวัคซีนก่อนว่าเป็นอย่างไร ฉีดครบ 2 โดสแล้วใช้เวลานานเท่าใดภูมิคุ้มกันจึงจะสูงจนปลอดภัยต่อการติดเชื้อ ถ้าปลอดภัยก็ไม่ต้องกักตัว โดยจะเริ่มในคนไทยที่มีภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาไม่ต้องกักตัว ส่วนชาวต่างชาติอาจต้องรอเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตที่จะต้องตกลงกันระหว่างประเทศ  “ส่วนการส่งวัคซีนไปฉีดที่ภูเก็ต 1 แสนโดส ส่งไปแล้ว 5 หมื่นโดส จะส่งตามไปอีก 5 หมื่นโดส และส่งไปเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 5 หมื่นโดส ถ้าผลภูมิคุ้มกันออกมาดี ก็เปิดพื้นที่ได้เร็ว และพรุ่งนี้จะนำวัคซีนไป อ.แม่สะเรียงด้วย เพื่อฉีดให้แก่ทหาร ตำรวจชายแดน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ประสบภัยตามหลักมนุษยธรรม” นายอนุทินกล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98020

 

 

 

1เม.ย.64-ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการแถลงข่าว ประเด็น "หมอพร้อม", วัคซีน Certificate, ระบบรายงานการฉีดวัคซีน Real Time Dashboard โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.     นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 
     นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า หลังจากที่สธ.ประกาศว่าวันที่ 1เม.ย.จะมีการฉีดวัคซีนพร้่อมกันทั่วประเทศ โดยเป็นจากวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวคค 2 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงไทยวันที่ 10 เม.ย.อีก 1ล้านโดส คาดว่าจะฉีดได้ประมาณวันที่ 16-17 เม.ย. ซึ่งการฉีดวัคซีนก็เพือควบคุมโรค รองรับทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลต้องการเปิดประเทศให้เร็วที่สุด   จึงต้องทำให้คนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 50-60% ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมขึ้นมาให้ ดูแลระบบการฉีดวัคซีนอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันใช้ฐานของโรงพยาบาลในการฉีด ต่อไปจะใช้ฐานจากโรงพยาบาลสนาม หรือรถเคลื่อนที่  และขณะนี้มีภาคเอกชนหลายแห่งเสนอให้ใช้สถานที่เป็นสนามฉีดวัคซีน เช่นห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ใให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน 
    นอกจากนี้ ทางด้านการพัฒนาแอปพลิชั่นหมอพร้อม ซึ่งในเดือนมิถุนายน คาดว่าจะเปิดให้คนลงทะเบียนในการจองสิทธิ์และนัดหมายฉีดวัคซีนได้  หรือส่วนคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถติดต่อผ่านโรงพยาบาลที่เคยเข้ารับการรักษา และคนที่อยู่ในชนบท ทางโรงพยาบาลประจำตำบล และอสม.จะเป็นผู้แนะนำเรื่องลงทะเบียนการฉีดวัคซีนต่อไป  นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามอาการหลังฉีด สอบถามอาการผ่านทางแอพ และเตือนให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 2  รวมทั้ง ในแอพยังแสดงใบรับรองการได้รับวัคซีนดิจิทัลอีกด้วย 
     "ทางสธ.วางแผนที่จะเขยื้อนวัคซีน ให้เป็นสามเหลี่ยม 3ตัวคือ ด้านการกำหนดพื้นที่  การจัดระบบ และการทำระบบข้อมูล ทั้งการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนและการกำหนดเป้าหมายอื่นๆ  ซึ่งการพัฒนาระบบข้อมูลนี้ จะเชื่อมโยงกับระบบสุยภาพของประชาชน เป็นการยกระดับบริการสุขภาพของไทย  จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยทุกคนมารับวัคซีน " นพ.เกียรติภูมิกล่าว
       นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   กล่าวว่า กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นหมอพร้อมที่พัฒนาขึ้น จะมีการรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนที่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆแบบ Real Time  และสามารถรลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีน ติดตามอาการหลังฉีด การออกใบรับรองหลังการฉีดวัคซีน  ขณะนี้ออกให้แล้ว 3.5หมื่นราย และสำหรับ ใบรับรองการฉีดวัคซีน  ผู้เดินทางไปต่างประเทศ จะมีใบรับรองที่เรียกว่า International Travel Health Certificate ขณะนี้ กำลังรอความชัดเจนขององค์การอนามัยโลก (WHO )เรื่องระบบการรับรองมาตรฐานของทุกประเทศว่าควรเป็นอย่างไร  โดยคาดว่าในวันที่ 28 เมษายนจะมีความชัดเจนขึ้น
    "ที่เราเลือกแอปพลิเคชัน  หมอพร้อม  ผ่านทางระบบไลน์ เพราะเห็นว่ามีคนใช้และเข้าถึงระบบไลน์กันมาก ซึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แอปพลิเคชั่น หมอพร้อมจะเข้าไปอยู่ในระบบPlay Store  ประชาชนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ เพื่อเตรียมพร้อมกับการฉีดวัคซีน" นพ.พงศธรกล่าว
    
    ด้านนพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  แอปพลิเคชั่น หมอพร้อมที่เป็นระบบ Dashboard หรือการรายงานผลแบบอัติโนมัติ  ข้อมูลจากทุกจังหวัด จะถูกส่งเข้ามาที่ส่วนกลาง ทั้งการฉีดเข็มแรก และเข็มที่สอง และมีการรายงานผล ของอาการข้างเคียง ว่าเกิดที่ไหน มีใครบ้าง  ตัวเลขจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนใบรับรองการฉีดวัคซีน ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการจะเป็นผู้ออกใบรับรองให้และใบรับรองนี้จะไปปรากฎในแอฟพลิเคชั่นหมอพร้อม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ เพียงกรอกเลขบัตรประชาชน ข้อมูลก็จะวิ่งมาที่สธ.เพื่อยืนยันว่าได้มีการฉีดวัคซีนแล้วจริง 
    "ต่อไปเราจะพัฒนาให้ประชาชนได้เข้าถึง เห็นข้อมูลทุกด้าน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน แต่คงต้องรออักสักระยะ"   นพ.ศุภฤกษ์กล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98020

 


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ในวันพุธ (31 มี.ค.) ออกคำสั่งให้ฝรั่งเศสเข้าสู่ล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นรอบที่ 3 และเผยว่าโรงเรียนต่างๆ ต้องปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในขณะที่เขาพยายามรับมือกับการแพร่ระบาดระลอก 3 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เสี่ยงทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล

ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตขยับเข้าใกล้ 100,000 คน ห้องไอซียูตามภูมิภาคต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดกำลังเข้าสู่จุดแตกหัก และการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้ ทำให้ มาครง ถูกบีบให้ต้องละทิ้งเป้าหมายเดิมที่หวังเปิดประเทศต่อไปเพื่อปกป้องเศรษฐกิจ “เราจะสูญเสียการควบคุม หากเราไม่ดำเนินการในตอนนี้” ประธานาธิบดีแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ

คำแถลงของเขานั่นหมายความว่ามาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่บังคับใช้ในกรุงปารีส บางแคว้นทางภาคเหนือและทางใต้ของประเทศ มาราวๆ 1 สัปดาห์ เวลานี้จะถูกขยายบังคับใช้ทั่วประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ (3 เม.ย.) เป็นต้นไป

มาครงบอกด้วยว่าโรงเรียนต่างๆ จะปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังสุดสัปดาห์นี้ กลับลำคำสัญญาที่เคยประกาศว่าจะปกป้องการศึกษาจากโรคระบาดใหญ่

ประธานาธิบดีมาครง วัย 43 ปี พยายามหลีกเลี่ยงล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2021 เสี่ยงเดิมพันว่าหากเขาสามารถนำพาฝรั่งเศสหลุดพ้นจากโรคระบาดใหญ่โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง มันจะเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการดำดิ่งอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกของอดีตนายธนาคารเพื่อการลงทุนรายนี้แคบลง เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิม ทั่วฝรั่งเศสและพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป

เมื่อผ่านพ้นสุดสัปดาห์นี้ เด็กนักเรียนจะเข้าสู่การเรียนทางไกลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นสถาบันการศึกษาจะปิดเทอมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งปีนี้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศจะปิดเร็วกว่ากำหนด


จากนั้นนักเรียนระดับอนุบาลและประถมจะกลับเข้าสู่ชั้นเรียน แต่นักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายจะยังคงต้องเรียนทางไกลต่ออีก 1 สัปดาห์ “นี่คือทางออกที่ดีที่สุดเพื่อชะลอไวรัส” มาครงกล่าว พร้อมระบุว่าฝรั่งเศสประสบความสำเร็จที่สามารถคงการเปิดการเรียนการสอนระหว่างโรคระบาดใหญ่ได้นานกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติ

จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเท่าตัวนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ยแล้วเกือบ 40,000 คนต่อวัน ส่วนจำนวนคนไข้โควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูทะลุ 5,000 คนแล้ว เกินกว่าระดับสูงสุดครั้งที่ประเทศแห่งนี้เข้าสู่ล็อกดาวน์เป็นเวลา 6 สัปดาห์เมื่อช่วงปลายปีก่อน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มาครง ระบุว่าจะมีการเพิ่มเตียงคนไข้ในห้องอีซียูเป็น 10,000 เตียง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

คำสั่งล็อกดาวน์รอบใหม่เสี่ยงชะลออัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส หลังจากปีที่แล้วดำดิ่งอย่างหนัก โดยมาตรการดังกล่าวจะบังคับปิดธุรกิจต่างๆ กว่า 150,000 แห่งเป็นการชั่วคราว ก่อความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราวๆ 11,000 ล้านยูโรต่อเดือน จากการประเมินของกระทรวงการคลัง

มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ของฝรั่งเศสตอกย้ำถึงความเสียหายมหาศาลที่ต้องชดใช้ อันสืบเนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ที่ล่าช้าของสหภาพยุโรป

ประธานาธิบดีมาครงระบุว่า จำเป็นต้องเร่งมือโครงการวัคซีนให้เร็วขึ้น หลังจากประสบปัญหาติดขัดเกี่ยวกับระเบียบราชการและอุปทานขาดแคลน โดยจนถึงตอนนี้หลังผ่านไป 3 เดือน ฝรั่งเศสเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนไปได้เพียงแค่ 12% เท่านั้น

ในความพยายามเดินหน้าโครงการให้เร็วขึ้น มาครงบอกว่าประชาชนในช่วงวัย 60 ปีเศษๆ จะมีสิทธิ์เข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป และในอีก 1 เดือนหลังจากนั้นจะเป็นคิวของกลุ่มคนในวัย 50 ปีเศษๆ พร้อมเน้นย้ำว่ายังคงวางเป้าหมายฉีคซีนแก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ให้ได้ 30 ล้านคนในช่วงกลางเดือนมิถุนายน

มาครงบอกว่ามาตรการล็อกดาวน์เดือนเมษายน และการยกระดับความรวดเร็วของโครงการฉีดวัคซีนจะเปิดทางให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเปิดอย่างช้าๆ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเริ่มจากพิพิธภัณฑ์และที่นั่งกลางแจ้งของบาร์และร้านอาหารต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบอันเข้มงวด

(ที่มา : รอยเตอร์)
 
 

ไทยขึ้นทะเบียน 'วัคซีนโควิด19' ตัวที่ 3 แล้ว

อย.ขึ้นทะเบียน “วัคซีนโควิด19”ในไทย ตัวที่ 3 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ต่อจากซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ชนิดฉีดเข็มเดียว ย้ำยังต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน อายุทะเบียน 1 ปี

ทะเบียนอายุ 1 ปี      
 เมื่อเวลา16.45 น. วันที่ 25 มี.ค.2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า  ได้รับรายงานจากนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ว่า อย.ได้พิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด19 ของจอนห์สันแอนด์จอห์สัน โดยบริษัท แจนเซนแล้ว เป็นวัคซีนรายที่ 3  ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย แต่ยังต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

         ขณะนี้ วัคซีนทั้ง 3 รายที่ขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ครบทั้ง 3 ราย คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ไม่ได้ปิดกั้นการขึ้นทะเบียนและใช้วัคซีน ในประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ มาขึ้นทะเบียน เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย ให้คนไทยได้มีทางเลือกในการรับวัคซีน มากขึ้น

        นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตนได้ลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้วโดยมีบริษัทแจนเซน-ซีแลก จำกัด เป็นผู้ขึ้นทะเบียนขอนำเข้า วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเข็มเดียว ทะเบียนมีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 – 24 มี.ค. 2565  

 ผชช.ชี้ไม่มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานเดิม

       ผู้สื่อข่าวถามว่า การขึ้นทะเบียนมีเงื่อนไขหรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อห่วงใยเรื่องอะดิโนไวรัส ในคนไทย นพ.ไพศาล กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญก็มีการถกเถียงกันอยู่ โดยผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่มีเงื่อนไขเรื่องแอนติบอดี้ที่มีอยู่ก่อน (preexisting antibody)ของอะดิโนไวรัส 26  จึงไม่มีผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน โดยมีการเทียบข้อมูลจากการทำการทดลองทางคลินิกที่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้ออะดิโนไวรัส 26 เท่าๆ กับประเทศไทย ตัวเลขประมาณ 30-40 % โดยวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่นำไปทดลองก็มีประสิทธิผลเช่นเดียวกัน 66- 70% แต่เมื่อมีการนำมาใช้ในประเทศไทยต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

 

 รพ.เอกชนสนใจบริการได้

        นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า สำหรับรพ.เอกชน ภาคเอกชน หากต้องการให้บริการเกี่ยวกับวัคซีนชนิดที่มีการขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินในประเทศไทยแล้วนั้  สามารถมาขึ้นทะเบียนกับกรมควบคุมโรคได้ เพราะการฉีดในภาวะฉุกเฉินต้องให้กรมควบคุมโรคดูแล ฉีดตามหลักเกณฑ์ และมีมาตรการเรื่องการรายงานผล และการติดตามอาการข้างเคียง อย่างเช่น วัคซีนของจอห์นสันฯไม่ได้มีคำสั่งซื้อจากรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แต่อย่างใด ซึ่งเอกชนสามารถไปเจรจาได้  เป็นสิ่งแสดงชัดเจนว่ารัฐไม่ได้ปิดกั้น

3 บริษัทหารือเตรียมยื่น

          นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า วัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission และสำหรับวัคซีนอื่น ๆ ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา ของประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ของประเทศรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน ได้มีการเข้าหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว  

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  วัคซีนโควิด19ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนชนิดไวรัล แว็กเตอร์ หรือไวรัสเป็นพาหะ โดยใช้อะดิโนไวรัสของคน ต่างจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นชนิดไวรัล แว็กเตอร์เช่นกัน แต่ใช้อะดิโนไวรัสของลิงชิมแพนซี  โดยวัคซีนโควิด19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนี้  สถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุเมื่อวันที่ 18 มี.ค.264 ว่า เป็น 1 ใน 13 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน โดยหน่วยงานควบคุมกำกับของแต่ลประเทL โดยพิจารณาจากผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์(อาจมีผลเฟส3แล้วหรือไม่ก็ได้) ให้สามารถใช้กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้นๆได้

       และเป็น 1 ใน 3 ชนิดที่ได้รับการรับรอง(Emergency Use Listing :EUL) จากองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งเป็นการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจากEUL โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญของWHO เช่นเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/929261?anf=