23 มี.ค.64- นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่าขณะนี้ถึงกำหนดการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ของวัคซีนจีน  Sinovac ส่วนวัคซีน AstraZeneca เริ่มให้มาแล้ว  1 อาทิตย์ ทางศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัยกับวัคซีนทั้ง  2 ตัว โดยมีการตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีดวัคซีน โดยทำการศึกษาร่วมกับ โรงพยาบาลบ้านแพร้ว จำนวน 180 คน เป็นวัคซีน  Sinovac  และทำการศึกษาที่ศูนย์เองอีก 180 คน เป็นวัคซีน  Sinovac  และ AstraZeneca  อย่างละ 90 คน โดยดูอาการข้างเคียงอย่างละเอียด และผลของภูมิต้านทานทั้ง  antibody ต่อ nucleocapsid  (เปลือกไวรัส)  และภูมิต้านทานต่อ  Spike (หนามแหลม) 

จากการศึกษาที่ผ่านมาวัคซีนมีความปลอดภัยดีมาก อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ พบเพียงเล็กน้อย ไม่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือกล่าวว่า อาการทั่วไปเหมือนกับฉีดวัคซีนชนิดอื่น 

การตรวจภูมิต้านทานก่อนฉีดวัคซีน   มาจนถึงวันนี้ กว่า  300 คน ไม่มีใครเคยติดเชื้อมาก่อน ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน

วันนี้มีการตรวจเลือดดูผลภูมิต้านทานของเข็มที่ 1 วัคซีน Sinovac  ก็คงจะรู้ว่าหลังจากเข็มแรก ภูมิต้านทานขึ้นเท่าไหร่ และเมื่อครบ 2 เข็มแล้วปลายเดือนหน้า ก็น่าจะรู้ผลของภูมิต้านทานในประชากรไทย ในการฉีดวัคซีนของจีน ส่วนวัคซีน  AstraZeneca  กว่าจะรู้ผลเข็ม 2 จะช้าหน่อย เพราะระยะห่างการฉีดเข็มที่ 2 ใช้เวลา  10-12 สัปดาห์ อยากเชิญชวนทุกท่าน เมื่อถึงคิวฉีดวัคซีน กรุณาไปฉีดวัคซีน

และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้มีการฉีดวัคซีนในประชากรไทย ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า  450 ล้านโด๊ส 

วันหนึ่งฉีดมากกว่า  10 ล้านโด๊ส .

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96980

อาหารมื้อเย็นและความเจ็บป่วย เกี่ยวข้องกันอย่างไร

หากคุณอายุเกิน 60 ปี คุณควรที่จะสนใจอ่านบทความนี้

แค่หนึ่งในสี่ของปริมาณอาหารเย็นที่คนส่วนใหญ่บริโภคนั้นก็เพียงพอสำหรับการประทังชีวิต อีกสามส่วน ที่เหลือนั้น อาจเป็นที่มาของรายได้ในการดำรงชีพของหมอ

เมื่ออ่านบทความนี้จบ คุณอาจรู้สึกตื่นตะหนกและไม่กล้าที่จะตะกละตะกลามกับอาหารมื้อเย็นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเลี้ยงอาหารค่ำ!

ในชีวิตปกติ หากคุณไม่ได้รู้สึกหิวเมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้า นั่นหมายถึงว่า คุณสามารถดลดปริมาณอาหารเย็นลงได้ครึ่งหนึ่ง

อย่าคิดว่าการกินอาหารเย็นอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ จะไม่สร้างปัญหาให้คุณ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในไต้หวัน และประเทศอื่นๆ พบว่า สาเหตุหนึ่งของโรคต่างๆ เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมในตอนกลางคืน นั่นหมายถึงว่า หากคุณกินอาหารเย็นไม่ถูกหลัก โรคภัยก็จะเริ่มคืบคลานมาหาคุณ

☆ อาหารเย็นและโรคอ้วน

90% ของคนอ้วนกินอาหารดีเกินไปและมากเกินไป ประกอบกับช่วงกลางคืนไม่มีกิจกรรมให้ทำมากนัก ทำให้เผาผลาญแคลอรี่ได้น้อย แคลอรี่ส่วนเกินจะถูกสังเคราะห์เป็นไขมันโดยการทำงานของอินซูลิน โรคอ้วนจึงถามหา

☆ อาหารเย็นและโรคเบาหวาน

การรับประทานอาหารเย็นมากเกินพอดี มักจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ทำให้แก่เร็ว และกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานได้ง่าย และการรับประทานอาหารมื้อเย็นเลิศรสที่มากเกินพอดี จะทำให้คุณอ้วน และอาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้
☆ อาหารเย็นและโรคมะเร็งลำไส้

หากรับประทานอาหารเย็นมากเกินไป โปรตีนย่อยสลายได้ไม่หมด การทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ จะก่อให้เกิดสารพิษขึ้น ประกอบกับการเคลื่อนไหวของร่างกายในช่วงค่ำมีไม่มาก และเป็นช่วงเวลานอน การบีบตัวของผนังลำไส้ช้ากว่าปกติ จึงทำให้สารพิษตกค้างในลำไส้นานขึ้น เป็นเหตุให้เพิ่มอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่


☆ อาหารเย็นและโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ

การขับแคลเซียมออกจากร่างกายจะทำได้ดีที่สุดช่วงประมาณ 4 - 5 ชั่วโมงหลังอาหาร หากรับประทานอาหารเย็นใกล้เวลาเข้านอน เมื่อถึงช่วงเวลาที่มีการขับแคลเซียมออกมา เราอาจจะเข้านอนแล้ว ดังนั้นปัสสาวะจึงอยู่ในท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และทางเดินปัสสาวะอื่น ๆ ไม่สามารถขับออกได้ ส่งผลให้แคลเซียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งง่ายต่อการตกตะกอนและก่อตัวเป็นผลึกขนาดเล็ก ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ก่อตัวเป็นนิ่วได้


☆ อาหารเย็นและภาวะไขมันในเลือดสูง

หากมื้อเย็นของคุณเป็นอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง แคลอรี่ก็สูง จะกระตุ้นให้ตับผลิตไลโปโปรตีน ทั้งที่มีความหนาแน่นต่ำและต่ำมากออกมา ไตรกลีเซอไรด์ก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้น จึงทำให้ไขมันในเลือดสูง


☆ อาหารเย็นและโรคความดันโลหิตสูง

หากคุณเน้นกินอาหารเย็นที่เป็นเนื้อสัตว์ โดยไม่สนใจว่าขณะนอนหลับ การไหลเวียนของเลือดจะช้าลง ไขมันในเลือดจำนวนมากจึงสะสมบนผนังหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดแดงเล็กหดตัว ความดันของหลอดเลือดส่วนปลายจะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน และเร่งให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง


☆ อาหารเย็นและโรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ

หากอาหารมื้อเย็นของคุณเป็นอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง อาจทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น ซึ่งจะสะสมในผนังหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและโรคหัวใจ

นอกจากนี้ สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งของภาวะหลอดเลือดแข็งตัวคือ แคลเซียมที่ตกตะกอนในเส้นเลือด ดังนั้น การรับประทานอาหารเลิศรสอิ่มเกินไป และการรับประทานมื้อเย็นดึกเกินไป จึงเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด


☆ อาหารเย็นและภาวะไขมันพอกตับ

หากคุณเพลิดเพลินกับความเอร็ดอร่อยของอาหารเย็นมากเกินไป น้ำตาลในเลือดและกรดไขมันจะเร่งการสังเคราะห์ไขมัน ขณะที่กิจวัตรหรือกิจกรรมในช่วงค่ำและช่วงกลางคืนมีไม่มาก ก็จะทำให้ร่างกายเร่งสร้างไขมัน ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ


☆ อาหารเย็นและโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

หากมื้อเย็นของคุณมีทั้งอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและบ่อยครั้งเกินไป จะทำให้ เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ง่าย และอาจรุนแรงถึงขนาดที่ทำให้คุณช็อกและเสียชีวิตขณะ นอนหลับ


☆ มื้อเย็นและโรคสมองเสื่อม

หากคุณรับประทานอาหารเย็นมากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ระบบทางเดินอาหารและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน ยังคงทำงานอยู่ในระหว่างการนอนหลับ ทำให้สมองไม่สามารถพักผ่อนได้ เลือดไปเลี้ยงสมองก็ไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลต่อการซ่อมแซมของเซลล์สมอง เป็นเหตุให้สมองเสื่อมไวขึ้น และนี่เป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า 1 ใน 5 ของนักชิมที่รับประทานอาหารเย็นมากเกินไปในช่วง วัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน มีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมเมื่อมีอายุมาก


☆ อาหารเย็นและคุณภาพการนอนหลับ

มื้อเย็นที่รับประทานจนอิ่มเกินไป ย่อมทำให้อวัยวะต่างๆ เช่นระบบทางเดินอาหาร ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน ฯลฯ ทำงานในระหว่างการนอนหลับ และส่งข้อมูลไปยังสมอง ทำให้สมองอยู่ในภาวะตื่นอยู่เสมอ ทำให้นอนฝัน หรือนอนไม่หลับเป็นต้น ซึ่งในระยะยาว อาจทำให้เป็นโรคประสาทแบบ neurasthenia (เป็นโรคประสาทอย่างหนึ่งที่มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ และขาดความสามารถที่จะสนุกสนานรื่นเริง)


(thumbs up) ข้อแนะนำห้าประการ เพื่อการรับประทานอาหารเย็นที่ถูกสุขลักษณะ

1. รับประทานอาหารเย็นให้น้อยลง

2. รับประทานอาหารเย็นก่อน 4 หรือ 5 โมงเย็น เป็นผลดีต่อสุขภาพที่สุด

3. เน้นรับประทานอาหารมังสวิรัติให้มากขึ้น และรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง

4. ลด ละ เลิกอาหารเย็นที่มีไขมันสูง แคลอรี่สูง แคลเซียมสูง และอาหารที่ทำให้ท้องอืดง่าย (เกิดแก๊สง่าย)
-- *

23 มี.ค.64-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ตนจะฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 ส่วนกรณีที่องค์การเภสัชกรรม ได้ฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นวัคซีนที่คนไทยผลิตเองจากเชื้อตายโควิด-19 นั้น เป็นวัคซีนที่ร่วมพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเท่าที่ฟังจากนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ว่าวัคซีนตัวนี้ทำมาจากเชื้อตายของโควิด-19 ที่ใช้ไข่ไก่สด ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมมีเทคโนโลยีนี้ และมีโรงงานวัคซีนนี้อยู่แล้ว จึงได้มีการพัฒนาและวิจัยขึ้นมา จนมาถึงขั้นที่ได้ฉีดในอาสาสมัคร จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้เขาก็ต้องผ่านเฟส 1 เฟส 2 เฟส 3 มาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานทุกอย่าง

นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ เราก็จะมีวัคซีนไทยแลนด์ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีก็คือคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งการพัฒนาก็จะเป็นไปในหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตวัคซีนเองและมาฉีดให้คนไทยเอง โดยทราบว่าความสามารถในการผลิต คือ 30 ล้านโดส ต่อปี นี่คือเบื้องต้น

 

แต่ถ้ามันเวิร์ค กำลังการผลิตเราสามารถขยายได้ในอนาคต ขนาดบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ยังผลิตได้ตั้ง 200 ล้านโดส ต่อปี สิ่งเหล่านี้คือการทำให้คนไทยทุกคนมั่นใจได้เลยว่าวันนี้วัคซีน เราไม่จำเป็นต้องพูดถึง ไม่ใช่ประเด็นหลักแล้ว ตอนนี้มาคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรที่จะเปิดประเทศ ถ้าวัคซีนมาเราต้องคิดแล้วว่าต้องเอาไปจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก่อน เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย ตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าเราสามารถควบคุมได้หมดแล้ว เมื่อแอสตราเซเนกาเข้ามา ก็จะกระจายไปยังคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่เราได้วางไว้ ไม่มีอะไรดีเลย์หรือล่าช้าเลย

เมื่อถามว่า รัฐบาลสนับสนุนการผลิตวัคซีนของทางองค์การเภสัชกรรมด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้องค์การเภสัชกรรมใช้เงินของตัวเองอยู่ ถ้าสำเร็จเขาก็คงมาขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาให้การสนับสนุน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96958

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันเมื่อวันจันทร์ว่า ผลการทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนระยะที่ 3 ในสหรัฐบ่งบอกว่า วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพ 80% ในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดด้วย

    คำแถลงของบริษัทกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่แอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจากอังกฤษ มีประสิทธิภาพ 79% ในการป้องกันโควิด-19 ที่แสดงอาการกับกลุ่มประชากรโดยรวม และมีประสิทธิภาพถึง 100% ในการป้องกันโรครุนแรงและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

   ก่อนหน้านี้หลายประเทศมีคำแนะนำว่าไม่ควรฉีดวัคซีนนี้กับผู้สูงอายุ เนื่องจากการทดลองที่ผ่านมาขาดข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อต้นเดือนนี้ หลายประเทศยังระงับการใช้แอสตร้าเซนเนก้าเนื่องจากหวั่นเกรงปัญหาการเกิดลิ่มเลือด

    การทดลองระยะที่ 3 ในสหรัฐมีผู้เข้าร่วมการทดลอง 32,449 ราย โดย 2 ใน 3 ได้รับวัคซีนนี้ กลุ่มผู้ทดลองประมาณ 20% มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และประมาณ 60% มีปัญหาสุขภาพที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงกับโรคโควิด-19 รุนแรง เช่น เบาหวาน, โรคอ้วนรุนแรง หรือโรคหัวใจ

    แอนน์ ฟอลซีย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยหลักในการทดลองนี้ กล่าวว่า ผลการทดลองย้ำการยืนยันผลลัพธ์ก่อนหน้านี้ที่พบในการทดลอง AZD1222 ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด แต่น่าตื่นเต้นที่ได้ผลประสิทธิภาพคล้ายกันในกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 65 ปีเป็นครั้งแรก ผลวิเคราะห์นี้ยืนยันความถูกต้องของวัคซีนนี้ในฐานะทางเลือกของการฉีดวัคซีนที่จำเป็นมาก ให้ความเชื่อมั่นว่าผู้ใหญ่ในทุกวัยจะได้ประโยชน์จากการป้องกันไวรัสนี้

    ข้อมูลจากการทดลองยังไม่พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ร่วมทดลอง 21,583 คนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส

    องค์การยาแห่งยุโรปเพิ่งประกาศข้อสรุปเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยไม่พบความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปกลับมาฉีดวัคซีนนี้อีกครั้ง

    แอสตร้าเซนเนก้ากล่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมจะยื่นผลการทดลองนี้ต่อคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ เพื่อขออนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉิน

    ผลการทดลองยังชี้ด้วยว่า การฉีดวัคซีนโดสที่ 2 โดยเว้นระยะห่างมากกว่า 4 สัปดาห์จากเข็มแรก จะเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนมากขึ้น เทียบกับผลการทดลองก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่าควรทิ้งระยะไว้ 12 สัปดาห์.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96911

นายกรัฐมนตรี ฌอง กัสเท็กซ์ (ซ้าย) และ โอลิวิเยร์ วาราน รัฐมนตรีสาธารณสุข (ขวา) เปิดแถลงข่าวร่วมกันในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) เกี่ยวกับยุทธศาสตร์รับมือโรคระบาดใหญ่โควิด-19

 
นายกรัฐมนตรี ฌอง กัสเท็กซ์ (ซ้าย) และ โอลิวิเยร์ วาราน รัฐมนตรีสาธารณสุข (ขวา) เปิดแถลงข่าวร่วมกันในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) เกี่ยวกับยุทธศาสตร์รับมือโรคระบาดใหญ่โควิด-19
ฝรั่งเศสกำหนดมาตรการล็อกดาวน์ 1 เดือนในกรุงปารีส และพื้นที่ทางเหนือ ตามหลังการแจกจ่ายวัคซีนหยุดชะงัก และการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งมันบีบให้ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ต้องเปลี่ยนแนวทางรับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุขระลอกใหม่

นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ประธานาธิบดีรายนี้ ขัดขืนเสียงเรียกร้องจากเหล่านักวิทยาศาสตร์และสมาชิกบางส่วนในคณะรัฐบาล ให้ล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกรอบ โดยมาครงยืนกรานว่าจะทำทุกอย่างไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เพื่อเปิดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของยูโรโซนแห่งนี้เท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ดูเหมือนว่าเขาจะหมดทางเลือก เนื่องจากฝรั่งเศสและประเทศยุโรปอื่นๆ ระงับใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าช่วงสั้นๆ

นายกรัฐมนตรี ฌอง กัสเท็กซ์ ระบุว่า ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอก 3 ด้วยตัวกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เวลานี้คิดเป็นสัดส่วน 75% ของเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน หออภิบาลผู้ป่วยหนักก็อยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปารีส ซึ่งมีอัตราอุบัติการณ์ข้ามผ่านระดับผู้ติดเชื้อ 400 คนต่อประชากรทุกๆ 100,000 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“โรคระบาดใหญ่กำลังเลวร้ายลง ความรับผิดชอบของเราตอนนี้คือไม่ปล่อยให้มันเล็ดลอดจากการควบคุมของเรา” กัสเท็กซ์แถลงกับผู้สื่อข่าว

ฝรั่งเศสรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ 35,000 คน ในวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) และมีคนไข้โควิด-19 ในห้องไอซียูในกรุงปารีส มากกว่าช่วงสูงสุดของการแพร่ระบาดระลอกสอง “ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องยกระดับข้อจำกัดต่างๆ” กัสเท็กซ์ระบุ

“4 สัปดาห์ คือช่วงเวลาที่เรากำหนดบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อก่อผลกระทบอย่างพอเพียง มันคือเวลาที่เราจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนกลุ่มคนผู้อ่อนแอที่สุด”

 

มาตรการล็อกดาวน์จะเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันศุกร์ (19 มี.ค.) เป็นต้นไป ในจังหวัดต่างๆ 16 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ร้านตัดผม ห้างขายเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์จะต้องปิดให้บริการ แต่ร้านขายหนังสือและสินค้าจำเป็นอื่นๆ ยังสามารถเปิดทำการได้ตามเดิม

โรงเรียนจะยังคงเปิดการเรียนการสอนเช่นกัน และประชาชนจะได้รับอนุญาตให้ออกมาออกกำลังกายกลางแจ้งภายในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากบ้านพัก อย่างไรก็ตาม จะไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วง หากไม่มีเหตุผลที่จำเเป็นจริงๆ “ออกไปข้างนอกได้ แต่ไม่ใช่ไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ” นายกรัฐมนตรีระบุ

กัสเท็กซ์ ระบุว่า ฝรั่งเศสจะกลับมาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีกรอบ หลังจากองค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) ยืนยันว่า มันมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนต่อวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ซึ่งสำคัญยิ่งต่อเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันของฝรั่งเศส กัสเท็กซ์บอกว่าเขาจะเข้ารับการฉีดวัคซีนในวันศุกร์ (19 มี.ค.)
 
แม้ มาครง ไม่ได้ออกคำสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่มาตรการล็อกดาวน์อาจถูกขยายครอบคลุมแคว้นอื่นๆ หากมีความจำเป็น และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ภูมิภาคปารีสมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากร และมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ

มาตรการเคอร์ฟิวยามค่ำคืนทั่วประเทศซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธัวาคม ยังคงบังคับใช้อยู่ แต่ลดกรอบเวลาลง เริ่มต้นช้ากว่าเดิม 1 ชั่วโมง ณ เวลา 19.00 น.

กัสเท็กซ์ ระบุว่า รัฐบาลไม่เสียใจที่ไม่ล็อกดาวน์ให้เร็วกว่านี้ “มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในเดือนมกราคม ไม่อย่างนั้นเราจะต้องเหลืออดอยู่กับมาตรการล็อกดาวน์นาน 3 เดือน เราทำได้ดีที่ที่ไม่ทำแบบนั้น”

(ที่มา: รอยเตอร์)
 
 


19 มี.ค.64 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก 19 มีนาคม 2564 มีเนื้อหาดังนี้

ทะลุ 122 ล้านไปแล้ว ในขณะที่ตุรกีกำลังเจอระลอกสามที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเกินสองหมื่นคนต่อวัน สูงสุดในปีนี้ คาดว่าเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 632,764 คน รวมแล้วตอนนี้ 122,302,490 คน ตายเพิ่มอีก 12,902 คน ยอดตายรวม 2,700,929 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 64,441 คน รวม 30,347,354 คน ตายเพิ่มอีก 1,667 คน ยอดตายรวม 551,959 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 171,219 คน รวม 11,780,820 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 39,999 คน รวม 11,513,945 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,803 คน รวม 4,428,239 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 6,303 คน รวม 4,280,882 คน  
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ตุรกี และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน

เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ สิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง กัมพูชา และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน และเวียดนาม ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...อัพเดตเรื่องการทบทวนความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ชนิดหนึ่ง ของ European Medicines Agency (EMA)
ทาง EMA เพิ่งถ่ายทอดสดการแถลงผลสรุปทบทวนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนเมื่อคืนนี้ มีสาระสำคัญดังนี้

หนึ่ง โดยรวมแล้ววัคซีนนี้ยังถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้ผลและมีความปลอดภัย โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

สอง จากการทบทวน พบว่ามีการฉีดวัคซีนนี้ในยุโรปไป 20 ล้านคน โดยมีภาวะลิ่มเลือดแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation: DIC) จำนวน 7 คน และมีภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis) จำนวน 18 คน

สาม ทั้งนี้ภาวะ DIC และ venous sinus thrombosis นั้น มีความเชื่อมโยงกับการใช้วัคซีน แม้จะไม่สามารถฟันธงว่าวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรงก็ตาม แต่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้น (possible risk) และจำเป็นต้องมีการติดตามและศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนต่อไป

สี่ แนะนำให้ระบุความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวข้างต้นในเอกสารกำกับการใช้วัคซีน และจำเป็นต้องให้ข้อมูลนี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่จะมารับวัคซีน เพื่อเป็นมาตรการเตือน ให้ได้รับทราบความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ (possible adverse effect) หากจะตัดสินใจรับวัคซีนนี้

ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนที่ดี โดยเราสามารถเรียนรู้ได้ว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นมีกระบวนการมาตรฐานในการพิจารณาติดตามและทบทวนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญมากกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ไม่กระทำการแบบเร่งด่วนที่จะรีบใช้รีบสรุป ตราบใดที่ยังไม่แน่ใจในข้อมูลวิชาการที่ถี่ถ้วนจริง

การตัดสินใจรับหรือไม่รับวัคซีนใดๆ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคน เราจำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง รู้รายละเอียดต่างๆ ของวัคซีนว่ามีสรรพคุณอย่างไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ก่อนตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมุ่งหน้าจัดซื้อจัดหา หรือเปิดทางให้มีวัคซีนที่หลากหลายมาใช้ในประเทศของตน โดยเน้นการหาวัคซีนที่มีสรรพคุณสูง และปลอดภัย เพราะเป็นการพิสูจน์ถึงความจริงใจ ความมุ่งมั่น และความสามารถในการจัดการกับปัญหาโรคระบาดอย่างแท้จริง

สรรพคุณของวัคซีนควรสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ป้องกันการเจ็บป่วยได้ ลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้ และสามารถป้องกันกับไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ โดยมีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้อย่างชัดเจน
สถานการณ์ในไทยเรายังคงมีการระบาดกระจายไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ปลอดภัย ขอให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

หากทางเลือกในการป้องกันยังมีจำกัด และไม่แน่ใจในทางเลือกที่มีเหล่านั้น หนทางที่จะป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยวพบปะสังสรรค์ เลี่ยงที่แออัดและที่อโคจร นอกจากนี้คือการร่วมกันเรียกร้องให้เกิดช่องทางนำเข้าวัคซีนป้องกันอื่นๆ เข้ามาเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยรักและปรารถนาดี

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96548

 

โควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ แพร่เชื้อเร็วขึ้น 20% ลดประสิทธิภาพวัคซีน

 

สหรัฐฯ ยกเชื้อ โควิด-19 กลายพันธุ์ แคลิฟอร์เนีย เป็นสายพันธุ์น่ากังวล แพร่เชื้อเร็วขึ้น 20% ลดประสิทธิภาพของการรักษาหรือวัคซีน รวมถึงการตรวจวินิจฉัยล้มเหลว

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ได้กำหนดให้เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ชนิดกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ ที่พบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” (VOC) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันพุธ (17 มีนาคม 2564) ที่ผ่านมา

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า เชื้อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีชื่อว่า บี.1.427 (B.1.427) และ บี.1.429 (B.1.429) สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าปกติถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้แนวทางการรักษาบางส่วนอาจมีประสิทธิภาพน้อยลง

เชื้อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ในแคลิฟอร์เนียก่อให้เกิด “ผลกระทบต่อปฏิกิริยาลบล้างฤทธิ์ของแนวทางการรักษาแบบฉุกเฉิน (EUA) อย่างมีนัยสำคัญในบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด” ทั้งยังทำให้ “ปฏิกิริยาลบล้างฤทธิ์ของเซรุ่มจากผู้ป่วยที่กำลังหายดีและเซรุ่มหลังฉีดวัคซีนลดลงในระดับปานกลาง”

อนึ่ง เชื้อไวรัส โควิด-19 สามารถเปลี่ยนแปลงผ่านการกลายพันธุ์ได้เสมอ ทำให้สหรัฐฯ และทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ชนิดกลายพันธุ์มากมายตลอดการระบาดใหญ่ครั้งนี้

“สายพันธุ์ที่น่ากังวล” ที่ถูกกำหนดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ เป็นสายพันธุ์ที่พบหลักฐานว่ามีความสามารถแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น รวมถึงลดปฏิกิริยาลบล้างฤทธิ์ที่แอนติบอดีสร้างขึ้นระหว่างการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีนครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ลดประสิทธิภาพของการรักษาหรือวัคซีน รวมถึงการตรวจวินิจฉัยล้มเหลว

ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ กำหนดให้เชื้อไวรัส โควิด-19 จำนวน 5 สายพันธุ์ จัดอยู่ในประเภท “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” ซึ่งนอกจากสองสายพันธุ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสามสายพันธุ์ ได้แก่ บี.1.1.7 (B.1.1.7) ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร บี.1.351 (B.1.351) ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และ พี.1 (P.1) ที่พบครั้งแรกในบราซิล

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ถูกตรวจสอบเป็นประจำผ่านการเฝ้าระวังลำดับสารพันธุกรรม การศึกษาในห้องปฏิบัติการ และการสอบสวนทางระบาดวิทยา

อย่างไรก็ดี ทางการสาธารณสุขเผยว่ามาตรการป้องกันต่างๆ อาทิ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ทำความสะอาดมือเป็นประจำ และฉีดวัคซีนอย่างทันท่วงที สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ชนิดตั้งต้นก่อโรคโควิด-19 และชนิดกลายพันธุ์อื่นๆ ที่อุบัติขึ้นใหม่ได้

(แฟ้มภาพซินหัว : บุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ชายในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ วันที่ 5 ก.พ. 2021)

 

 

กระนั้นก็ตาม การตัดสินใจของ 3 ชาติยักษ์ใหญ่สุดของสหภาพยุโรป ที่ระงับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ฉุดให้โครงการฉีดวัคซีนที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้วของอียู ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 27 ชาติ เข้าสู่ความอลหม่านยิ่งขึ้นไปอีก

นอกเหนือจาก เยอรมนี ฝรั่งเศส และ อิตาลี แล้ว ในวันเดียวกัน โปรตุเกส ไซปรัส และ สโลเวเนีย ก็ระงับใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเช่นกัน ท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ เดนมาร์ก และ นอร์เวย์ ได้หยุดวัคซีนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังมีรายงานเดียวกับเคสเลือดออกในสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จากนั้นตามด้วย ไอซ์แลนด์ และ บัลแกเรีย ก่อนที่ ไอร์แลนด์ กับ เนเธอร์แลนด์ จะประกาศระงับใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในวันอาทิตย์ (14 มี.ค.)

สถานีวิทยุคาเดนา เซอร์ อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า สเปนก็จะหยุดใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเวลาอย่างน้อยๆ 15 วัน

ความเคลื่อนไหวของบรรดาชาติในยุโรป มีขึ้นแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ระดับอาวุโสขององค์การอนามัยโลกออกมาเน้นย้ำอีกครั้งในวันจันทร์ (15 มี.ค.) ไม่มีหลักฐานความเชื่อมโยงเหตุเสียชีวิตกับวัคซีนโควิด-19

โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุระหว่างแถลงข่าวทางไกลว่า “เราไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก” พร้อมบอกว่า จนถึงตอนนี้ ไม่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างเคสภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ได้รับรายงานในบางประเทศ กับวัคซีนโควิด-19

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า คณะที่ปรึกษาชุดหนึ่งด้านวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะประชุมกันในวันอังคาร (16 มี.ค.) ส่วนสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) จะประชุมกันในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน เพื่อประเมินข้อมูลที่รวบรวมมาได้ ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในบรรดาผู้ได้รับวัคซีนหรือไม่

ความเคลื่อนไหวของเหล่าประเทศใหญ่ที่สุดของยุโรปบางชาติและบรรดาประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป จะก่อความกังวลยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความล่าช้าของโครงการฉีดวัคซีนในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ ประสบปัญหากับภาวะอุปทานขาดแคลนอยู่ก่อนแล้ว สืบเนื่องจากปัญหาด้านการผลิตวัคซีน ในนั้นรวมถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าด้วย

เยอรมนีเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า พวกเขากำลังเผชิญระลอกที่ 3 ของการแพร่ระบาด อิตาลียกระดับล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้น และโรงพยาบาลต่างๆ ในภูมิภาคปารีสของฝรั่งเศส ใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว

เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี บอกว่า แม้ความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ “มันเป็นการตัดสินใจโดยมืออาชีพ ไม่ได้เป็นการตัดสินใจทางการเมือง” เขากล่าว พร้อมระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของสถาบันพอล เอห์ลิก (Paul Ehrlich Institute--PEI) ผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านวัคซีนของเยอรมนี

ฝรั่งเศสบอกว่าจะระงับใช้วัคซีนระหว่างรอผลการประเมินของสำนักงานยาแห่งยุโรป “เราตัดสินใจระงับใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันไว้ก่อน หวังว่า เราจะสามารถกลับมาฉีดวัคซีนโดยเร็ว หากได้รับอนุญาตตามคำแนะนำของสำนักงานยาแห่งยุโรป
 
อิตาลีบอกว่าพวกเขาระงับฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ในมาตรการป้องกันไว้ก่อนและเป็นมาตรการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของทางสำนักงานยาแห่งยุโรป “EMA จะประชุมกันเร็วๆ นี้ เพื่อคลี่คลายความสงสัยใดๆ เพื่อที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถกลับมาพร้อมกับความปลอดภัยในโครงการฉีดวัคซีน เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” จิอันนี เรซซา ผู้อำนวยการทั่วไปของศูนย์ป้องกันโรคแห่งกระทรวงสาธารณสุขอิตาลี ระบุ

ออสเตรียและสเปน หยุดใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าบางล็อต ส่วนคณะอัยการในแคว้นปีเยมอนเต ทางเหนือของอิตาลี ก่อนหน้านี้สั่งอายัดวัคซีน 393,600 โดส หลังมีชายคนหนึ่งเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมงหลังฉัดวัคซีน โดยแคว้นแห่งนี้ถือเป็นแคว้นที่ 2 ที่อายัดวัคซีน ต่อจากแคว้นซิซิลี ดินแดนที่พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ไม่นานหลังจากเข้ารับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง สหราชอาณาจักรบอกว่า ไม่มีความกังวล ส่วนโปแลนด์ ระบุพวกเขาเชื่อว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงทั้งหลาย

สำนักงานยาแห่งยุโรป ระบุว่า จนถึงวันที่ 10 มีนาคม ได้รับรายงานเคสลิ่มเลือดอุดตันทั้งหมด 30 เคส จากบรรดาประชาชนเกือบ 5 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเขตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 30 ชาติ

(ที่มา: รอยเตอร์)
 
 
ทางการอินโดนีเซียประกาศชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเมื่อวันจันทร์ ระหว่างรอการทบทวนขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับความวิตกเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ขณะเยอรมนี, อิตาลี และฝรั่งเศส ระงับด้วยเช่นกันรอผลการตัดสินใจขององค์การยายุโรป
 

    คำประกาศระงับหรือชะลอการใช้วัคซีนของแอสตร้าฯ ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องจากหลายประเทศ ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ), องค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ), บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และผู้เชี่ยวชาญหลายคนย้ำว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย และไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงวัคซีนนี้กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

    รัฐมนตรีสาธารณสุข บูดี กูนาดี ซาดิกิน ของอินโดนีเซีย แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันจันทร์ว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศตัดสินใจชะลอการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าไว้ก่อนระหว่างรอการยืนยันจากดับเบิลยูเอชโอ กรณีความวิตกเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด

    อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ แล้ว 1.1 ล้านโดสในเดือนนี้ และคาดว่าจะได้รับอีก 10 ล้านโดสภายในปลายเดือนเมษายน ถึงขณะนี้อินโดนีเซียพึ่งพาวัคซีนซิโนแวคของจีนเป็นหลักในโครงการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่าจะฉีดให้ประชากรมากกว่า 181 ล้านคนจากทั้งหมดเกือบ 270 ล้านคนภายใน 1 ปี

    ในฝั่งยุโรป เยอรมนีเป็นประเทศล่าสุดที่สั่งระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ระหว่างรอการสอบสวนอย่างละเอียด คำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันจันทร์กล่าวว่า หลังจากมีรายงานใหม่ๆ เรื่องการเกิดภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันที่เกี่ยวโยงกับการฉีดวัคซีนในเยอรมนีและยุโรป สถาบันเพาล์แอร์ลิชที่เป็นหน่วยงานด้านวัคซีนของเยอรมนี มีความเห็นว่าจำเป็นต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม องค์การยาแห่งยุโรปจะตัดสินต่อไปว่าผลการตรวจสอบใหม่จะส่งผลต่อการอนุมัติวัคซีนหรือไม่อย่างไร

    เมื่อวันอาทิตย์ เนเธอร์แลนด์และไอร์แลนด์ก็เพิ่งประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ตามหลังหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากความวิตกเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่มีรายงานพบในเดนมาร์ก, นอร์เวย์ และอีกหลายประเทศ ซึ่งล่าสุดเนเธอร์แลนด์ก็รายงานว่าพบผู้มีอาการดังกล่าวเช่นกัน

    ในวันจันทร์ องค์การลาเร็บ ที่เป็นศูนย์ดูแลด้านความปลอดภัยยาของเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า พบกรณีผู้ป่วยอาการลิ่มเลือดอุดตันอีก 10 รายที่เกี่ยวโยงกับการฉีดวัคซีนแอสตร้านับแต่เริ่มมีรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหานี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

    ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสและอิตาลีก็สั่งระงับการใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ด้วย ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวว่าตัดสินใจดังกล่าวเพื่อป้องกันไว้ก่อน ระหว่างรอการตัดสินใจด้านความปลอดภัยจากอีเอ็มเอที่คาดว่าจะเป็นในช่วงบ่ายวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น

    ส่วนอิตาลี องค์การยา AIFA ตัดสินใจขยายคำสั่งห้ามใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ครอบคลุมทั่วอิตาลี ระหว่างรอการตัดสินใจของอีเอ็มเอเช่นกัน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96176