กล่องบรรจุวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท วาลแว็กซ์ ไบโอเทคโนโลยี ถูกนำมาจัดแสดงในมหกรรมสินค้าที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา (ภาพ - China Daily via REUTERS)

 
กล่องบรรจุวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท วาลแว็กซ์ ไบโอเทคโนโลยี ถูกนำมาจัดแสดงในมหกรรมสินค้าที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา (ภาพ - China Daily via REUTERS)


มาร์เซโล เอบราร์ด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก ทวีตข้อความวานนี้ (11 พ.ค.) ว่า วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท วาลแว็กซ์ ไบโอเทคโนโลยี (Walvax Biotechnology) กำลังจะเข้าสู่การทดลองเฟสที่ 3 ในวันที่ 30 พ.ค. โดยจะใช้อาสาสมัครร่วมทดลอง 6,000 คน

วาลแว็กซ์ได้ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์การทหารของจีน (AMS) และซูโจว อ้ายโป๋ ไบโอไซเอนซ์ (Suzhou Abogen Biosciences) พัฒนาวัคซีนที่เรียกว่า ‘ARCoV’ หรือ ‘ARCoVax’ ซึ่งถือเป็นวัคซีนชนิด mRNA ตัวแรกของจีนที่จะเข้าสู่การทดลองในเฟสที่ 3

นักวิจัยของ AMS ระบุเมื่อเดือน เม.ย.ว่า วัคซีนชนิดนี้สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าวัคซีนตะวันตกบางตัวที่จำเป็นต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำมาก

รัฐบาลเม็กซิโกได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จากจีนหลายตัว เช่น วัคซีนของซิโนแวค ไบโอเทค, แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ และยังเตรียมสั่งวัคซีนของซิโนฟาร์มมาใช้งานเพิ่มด้วย

ปัจจุบันจีนมีวัคซีนที่ผลิตเองภายในประเทศใช้งานอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งจะสั่งการให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนปลายแหลมเลียนแบบส่วนสำคัญของโคโรนาไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ขึ้นมา

ที่มา : รอยเตอร์
 

 

 
องค์การอนามัยโลกเมื่อวันพุธ (12 พ.ค.) ระบุตัวกลายพันธุ์โควิด-19 ที่อยู่เบื้องหลังการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอินเดีย ถูกพบแล้วในหลายสิบประเทศทั่วโลก หนึ่งวันหลังจากขึ้นบัญชีมันในฐานะตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล

หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ระบุว่า ตัวกลายพันธุ์ B.1.617 ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ถูกตรวจพบในมากกว่า 4,500 ตัวอย่างที่อัปโหลดสู่ระบบฐานข้อมูลแบบเปิด GISAID “จาก 44 ประเทศ ในทั้ง 6 ภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก”

“และทางองค์การอนามัยโลกได้รับรายงานการตรวจพบเพิ่มเติมอีก 5 ประเทศ” องค์การอนามัยโลกระบุในการอัปเดตข้อมูลด้านโรคระบาดวิทยารายสัปดาห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคระบาดใหญ่โควิด-19

รองจากอินเดียแล้ว องค์การอนามัยโลกระบุว่าสหราชอาณาจักรรายงานพบเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากที่สุดที่มีต้นจากตัวกลายพันธุ์ดังกล่าว

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศให้ตัวกลายพันธุ์ B.1.617 ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์และลักษณะจำเพาะต่างกันเล็กน้อย เป็นตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล

เวลานี้ B.1.617 ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในบัญชีตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลร่วมกับตัวกลายพันธุ์โควิด-19 อื่นๆ อีก 3 ตัว ประกอบด้วยตัวที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร บราซิลและแอฟริกาใต้

ตัวกลายพันธุ์เหล่านี้ถูกมองว่ามีความอันตรายมากกว่าไวรัสตัวดั้งเดิม เพราะพวกมันทั้งแพร่กระจายเชื้อง่ายกว่า มีความรุนแรงกว่าและสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ ระบุว่า ตัวกลายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ดูเหมือนจะแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิม “ข้อมูลที่มีมาบางส่วนบ่งชี้ว่ามีการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นของ B.1.617” มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาด้านโรคติดต่อ และผู้นำฝ่ายเทคนิคของโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกบอกกับผู้สื่อข่าว

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดให้มันอยู่ในฐานะตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลของโลก” เธอกล่าว

เธอยังชี้ถึงผลการศึกษาต่างๆ นานาในเบื้องต้น “ที่บ่งชี้ว่ามันลดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์บางส่วน” นั่นหมายความว่า ดูเหมือนแอนติบอดีจะส่งผลน้อยลงกับตัวกลายพันธุ์ ในผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในห้องปฏิบัติการวิจัย

อย่างไรก็ตาม ทางองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า มันยังเร็วเกินไปที่จะตีความผลการศึกษาดังกล่าวว่าตัวกลายพันธุ์อาจต้านทานการป้องกันจากวัคซีนได้มากกว่า “บนพื้นฐานข้อมูลปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการล้มป่วยและเสียชีวิตในคนที่ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์นี้” ถ้อยแถลงระบุ
 

เสียงเน้นย้ำดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกมีขึ้นแม้ว่าผลการศึกษาในโลกจริง บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนอาจมีอย่างจำกัดกับตัวกลายพันธุ์

องค์การอนามัยโลกระบุว่าการแพร่ระบาดของ B.1.617 เช่นเดียวกับตัวกลายพันธุ์อื่นๆที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า ดูหมือนเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่โหมกระพือจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพิ่มขึ้นอย่างน่าตกตะลึงในอินเดีย

อินเดีย ชาติที่มีประชากร 1,300 ล้านคน กลายเป็นชาติที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ เกือบ 23 ล้านราย โดยปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ระดับมากกว่า 300,000 คนและเสียชีวิตเกือบ 4,000 รายต่อวัน

ระลอกของการแพร่ระบาดกำลังเล่นงานเมืองหลักต่างๆ ในนั้นรวมถึงกรุงนิวเดลีและมุมไบ เมืองหลวงทางการเงิน ผลักสถานพยาบาลทั้งหลายกำลังเข้าสู่ภาวะแตกหัก ก่อปัญหาขาดแคลนถังออกซิเจนและเตียงคนไข้อย่างรุนแรง

(ที่มา : เอเอฟพี)
 

 

  เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมระดมความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและระบาดวิทยาที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานทั้งในเขตเมืองและชนบท         

            เป็นการระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงสู่ระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถบริหารจัดการได้

            โดยไม่ส่งผลเสียหายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน และสามารถดำเนินกิจกรรมด้านสังคมได้ตามสภาวะใกล้เคียงกับปกติ

            ผู้เข้าร่วมการระดมความเห็นมีดังนี้

            ด้านสาธารณสุขและการแพทย์

            นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์, นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์, นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร, นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

            ด้านวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

            รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, ดร.สมชัย จิตสุชน, ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง, ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู, นายกัมพล ปั้นตะกั่ว, น.ส.ชวัลรัตน์ บูรณะกิจ, น.ส.อุไรรัตน์ จันทรศิริ

            สรุปข้อเสนอสำคัญ 4 เรื่องเพื่อการพิจารณาของสาธารณะ

            1.มาตรการเร่งด่วนเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเน้นการแก้ไขสถานการณ์ระบาดที่เข้าสู่ครอบครัวและชุมชนอย่างเต็มตัวใน กทม.และปริมณฑล 

            มีข้อเสนอ 4 ประการ ดังนี้

            1.1 นวัตกรรมเสาะหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในเขตเมือง โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม

            เนื่องจากการระบาดรอบนี้เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงต่อชีวิตมากกว่าเดิม เราจึงเห็นการระบาดที่ต่อเนื่องแม้จะปิดสถานบันเทิงหมดแล้ว เพราะเมื่อมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยหนึ่งคนจะทำให้สมาชิกส่วนใหญ่หรือทุกคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานติดเชื้อไปด้วย

            ในขณะนี้การระบาดกว่าร้อยละ 80-90 จึงเกิดจากการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัว ญาติมิตร และผู้ร่วมงาน

            สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นการกระจายของเชื้อโรคในวงกว้าง (Wide Community Spreading) ทำให้ทีมสอบสวนโรคที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะรับมือ

            รัฐบาลจึงต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก  (Active Case Finding Innovations)”

            โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม เพื่อเอกซเรย์ชุมชนและควบคุมการแพร่เชื้อด้วยหลักการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการกักแยกโรค (TTI หรือ Trace, Test, Isolation)

            และมีระบบที่ชักชวนให้ผู้มีอาการหรือสงสัยตนเองให้มาตรวจได้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มจุดการตรวจในชุมชนแออัดต่างๆ และพื้นที่เสี่ยง โดยให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับจุดบริการตรวจเหล่านั้น

            เหตุผลที่ต้องมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเพิ่มเติม ก็เพราะการติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อในเขตเมืองมีความยุ่งยากมากกว่าในชนบท

            ในเขตเมืองไม่มีระบบสาธารณสุขมูลฐาน (Primary  Health Care) ดังที่มีอยู่ในชนบท

            และชุมชนเมืองหลายแห่งมีลักษณะความเป็นอยู่แบบชุมชนแออัด ทำให้ชุมชนเมืองมีโอกาสสูงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ ดังที่เกิดแล้วในอำเภอเมืองสมุทรสาครในระลอกสอง และในชุมชนคลองเตยของ กทม.ในระลอกสาม

            ขณะที่พื้นที่ชนบทมีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  นับล้านคนที่เป็นกำลังสำคัญ

            ทำให้ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ  ในอดีต รวมทั้งการระบาดของโควิดในรอบแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ข้อมูลจากแพทย์ชนบทยืนยันว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชนบทได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็เนื่องจากความสามารถในจัดการเรื่อง TTI ได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเกิดจากระบบสาธารณสุขมูลฐานและ อสม.

            แต่ในทางตรงข้าม การที่ลักษณะที่อยู่อาศัยของคนเมืองแตกต่างจากชนบท ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัด  คอนโดมิเนียม ตลาดสด สถานบันเทิง ล้วนส่งผลให้การควบคุมการระบาดโควิด-19 ทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามตรวจสอบผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กระจัดกระจายอยู่ในวงกว้างทั่วทั้งกรุงเทพฯ

            ความเสี่ยงที่ตามมาคือ ผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการกลายเป็นพาหะของโควิด-19

            ยิ่งกว่านั้นคนหนุ่มสาวในเมืองมีแนวโน้มการเดินทางและเคลื่อนย้ายสูง ทุกครั้งที่คนเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หรือไปเที่ยว ก็จะเป็นพาหะพาเชื้อไวรัสไปติดสมาชิกครอบครัวและญาติพี่น้องในต่างจังหวัด เหมือนกับการระบาดไวรัสที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

            ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก” เพื่อตัดโอกาสที่จะเกิดการระบาดโควิด-19  รอบใหม่

            ประสบการณ์การทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกของแพทย์ชนบทในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสงขลา จังหวัดน่าน และจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ให้เห็นว่า ทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือการระดมสรรพกำลังบุคลาการทางการแพทย์จากจังหวัดหรืออำเภอที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยหรือไม่มีการระบาดของโควิด-19  มาช่วยทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกรุงเทพฯ หรือเมืองที่มีการระบาดใหญ่

            โดยการแบ่งบุคลากรเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มอย่างน้อย  200 กลุ่ม เพื่อสอบสวนผู้ติดเชื้อและประวัติการติดต่อสัมผัสกับผู้ใกล้ชิด จากนั้นจึงแยกย้ายกันติดตามตัวผู้มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมาตรวจสอบ กักตัว รวมทั้งฉีดวัคซีน

            นอกจากนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่การสอบสวนโรคอย่างทันการณ์เมื่อสถานการณ์การระบาดเปลี่ยนแปลงไป

            หากรัฐบาลสามารถเร่งดำเนินการดังที่เสนอ นอกจากเราจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ภายในเวลาหนึ่งถึงสองเดือนแล้ว ยังจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

            (พรุ่งนี้: ต้องแยกผู้ป่วยผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว)

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/102438

เช็คให้ชัวร์วิธี 'ป้องกันโควิด-19' อย่าเชื่อ 6 เรื่องเข้าใจผิด!

 

คนไทยต้องรู้เท่าทันข่าวปลอม ที่เผยแพร่เกี่ยวกับวิธี "ป้องกันโควิด-19" มีอะไรบ้าง? และหาคำตอบว่าความจริงเป็นอย่างไร?

ยิ่งโรคระบาดใกล้ตัวกับเรามากเท่าไหร่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ก็ยิ่งไหลบ่าเข้ามามากเท่านั้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คงหนีไม่พ้นข่าวปลอมที่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแบบถูกต้อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงรวบรวมข่าวปลอมหรือความเชื่อแบบผิดๆ เกี่ยวกับการ "ป้องกันโควิด-19" มาให้รู้เท่าทัน พร้อมเฉลยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง 

 

  • 1. ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำขิงมากๆ จะช่วยต้านโควิด-19

จากการส่งต่อข้อมูลเรื่องการรับประทานเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำขิง และน้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาว ซึ่งระบุสรรพคุณว่า น้ำสมุนไพรของตนนั้นช่วยต้านโควิด-19 ช่วยดีท็อกซ์ลำไส้ได้

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ น้ำขิง และน้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาว สามารถต้านโควิด-19 ได้ รวมถึงน้ำสมุนไพรดังกล่าวไม่สามารถดีท็อกซ์ลำไส้ได้ ดังนั้น ควรระมัดระวังการสื่อสารสู่สาธารณะที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อย่างไรก็ดีสมุนไพรดังกล่าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ เจ็บคอได้

  • 2. กินโซดามิ้นท์

ช่วงปี 2563 ประเด็นเรื่องโซดามิ้นท์ ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลว่ามีสรรพคุณบรรเทา และรักษาอาการโควิดได้ ทั้งนี้ในเวลาต่อมาก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาให้ความรู้ว่า ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องไม่จริง 

โซดามิ้นท์ (SODAMINT) คือยาลดกรดชนิดหนึ่ง ใช้บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย และ ใช้ในคนไข้โรคไต

รศ. ดร. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชา ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า อันนี้เป็นความเข้าใจผิดๆ ตามความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอาหารด่าง น้ำด่าง ที่ว่าถ้าร่างกายเรามีความเป็นด่าง จะสามารถสู้กับโรคไวรัสได้ ถ้าเป็นกรด ก็ติดเชื้อง่าย จึงให้ไปกินพวกยาที่ทำออกฤทธิ์เป็นด่าง

ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีประโยชน์แบบที่ว่าเลย  ค่า pH หรือกรดด่างของเลือดในร่างกายเรา มีค่าค่อนข้างคงที่ ที่เป็นด่างอ่อนๆ ซึ่งปรับสมดุลโดยอัตราการหายใจของร่างกาย ไม่ใช่จากอาหารที่กินเข้าไป ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องพยายามเอาด่างเข้าร่างกายเหมือนที่อ้างกัน

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า โซดามินต์ มันไม่ใช่ยาที่ปลอดภัย 100% ควรจะให้แพทย์เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น

 

  • 3. ยืนตากแดดสามารถฆ่าเชื้อได้ 

ประเด็นการตากแดดสามารถฆ่าโควิด-19 นั้นถูกส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย โดยมีรายละเอียดดังนี้ “ยืนตากแดด วันละ 20 นาทีช่วยฆ่าเชื้อ โควิด-19 ได้” 

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันอีกรอบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า กรณีชวนเชื่อเคล็ดลับฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่าให้แสงแดดชโลมทั่วตัววันละ 20 นาทีทุกวัน (หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้) แสงแดดจะไปเสริมภูมิคุ้มกันฆ่าเชื้อโควิด-19 ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการยืนตากแดดนั้นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเชื้อไวรัสตระกูลโควิด-19 นั้นสามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความร้อนจากแสงแดดนั้น มีความร้อนไม่ถึง 90 องศาแน่นอน

โดยระบุเพิ่มเติมว่ามีข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้า พบว่าไวรัสชนิดนี้จะตายเมื่อโดนความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานต่อเนื่อง 30 นาที ซึ่งแสงแดดไม่สามารถทำให้เกิดความร้อนในระดับนี้ได้

อีกทั้งผิวหนังของมนุษย์ก็ไม่สามารถทนทานต่อความร้อนและแสงแดดได้นานเช่นกัน ดังนั้น การตากแดดหรืออาบแดดจึงไม่สามารถรักษาและฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยความร้อนจากแสงแดดนั้น มีไม่ถึง 90 องศาแน่นอน

 

  • 4. ยาจีนเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลรักษาโควิด-19

สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจ้งว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถรักษาโควิด-19 ได้ โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้รับอนุมัติทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร จาก อย. ว่ามีสรรพคุณ “ช่วยขจัดพิษ ลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูก ไอ น้ำมูก เจ็บคอ” เท่านั้น

 

  • 5. เชื้อแพร่กระจายผ่านอากาศได้ (airborne)

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา จะแพร่ผ่านละอองเสมหะ (droplets) ไม่ใช่การแพร่กระจายทางอากาศ (airborne) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าทางเยื่อปาก จมูก ตา 

 

  •  6. กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อที่ปอดด้วยตัวเอง  

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดเผยว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ว่าสามารถใช้วิธีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อที่ปอดด้วยตนเองได้ ซึ่งปกติแล้วการตรวจปอดมีการอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่นั้น จะต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคด้วยการฟังเสียงปอด ร่วมกับการเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีฝ้าขาวผิดปกติไหม 

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937134?anf=

 

 
หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เตือนไทยระวังโควิดกลายพันธุ์จากประเทศอินเดีย เข้ามาใกล้ไทยแล้ว เผยพบวัคซีนไฟเซอร์ก็อาจเอาไม่อยู่ หลังคนอิสราเอลฉีดครบ 2 เข็ม แต่ก็ยังติดโควิดได้

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เพจ “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า “อย่างที่เคยคุยกันครับ ไตรมาส 3/4 อาจต้องฉีดใหม่อิสราเอล ฉีด Pfizer ไปทั้งประเทศแล้ว ยังเจอติดสายพันธุ์ อินเดีย Cr ข่าว รวบรวมและเขียนจาก อ เฉลิมชัยทั้งหมดครับ น่ากังวล !! อิสราเอลพบผู้ฉีดวัคซีน Pfizer ยังติดโควิดสายพันธุ์อินเดียได้รวดเดียว 4 ราย จากการที่ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศอันดับหนึ่งของโลก ในการที่สามารถจัดหาวัคซีนและเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

ซึ่งมีจำนวนพลเมืองทั้งสิ้น 9.19 ล้านคนได้สำเร็จจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ กล่าวคือ สามารถฉีดวัคซีนให้กับ คนอิสราเอลครบสองเข็มได้ 5.41 ล้านคน คิดเป็น 58.7 เปอร์เซ็นต์ และฉีดวัคซีน รวมนับคนที่ได้เข็มเดียวด้วย ได้มากถึง 62.4% ทำให้สถานการณ์ของประเทศอิสราเอล ซึ่งใช้วิธีผ่อนหนักผ่อนเบามาโดยตลอด เพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้แลกกับการที่ระบบสาธารณสุขต้องรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนประเทศอิสราเอลมีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่ 29 ของโลก คือ ติดเชื้อ 838,407 คน คิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของจำนวนพลเมือง และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 6362 คน

เมื่อมีวัคซีนเกิดขึ้น ทางการอิสราเอลจึงต้องจัดซื้อจัดหาโดยเร่งด่วน โดยยอมรับเงื่อนไขสองประการ คือ
1) จัดซื้อด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก
2) ต้องยอมรับเงื่อนไขของบริษัทไฟเซอร์ ในการทำการวิจัยทดลองขนาดใหญ่กับคนอิสราเอล อันหมายรวมถึงการทดลองฉีดในเด็กอายุห้าขวบขึ้นไปด้วยลังจากที่ทางการอิสราเอลสบายใจมาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากการเร่งระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก ถึงขั้นมีการประกาศให้ผู้ที่อยู่นอกบ้าน สามารถถอดหน้ากากได้นั้นดูเหมือนความดีใจจะอยู่ได้ไม่นานแล้ว เพราะเมื่อวานนี้ (29 เมษายน 2564) กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลได้รายงานการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) จำนวน 41 รายเป็นคนต่างชาติ 21 ราย

คนอิสราเอลที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 3 ราย ในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีเด็กมากถึง 5 ราย แต่ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลอิสราเอลมาก ก็คือ ในรายที่ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียดังกล่าว มีอยู่ถึง 4 รายด้วยกัน ที่ได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์แล้ว ประเด็นดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะทางการอิสราเอลคาดหวังว่า เมื่อฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ครบสองเข็ม จนได้ภูมิต้านทานหมู่แล้ว น่าจะสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ดีตามปกติ ทั้งการทำมาหากิน การผ่อนคลายวิถีชีวิต และการท่องเที่ยว การนำเข้าส่งออก แต่แล้วก็มาพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย ซึ่งถ้าทำให้ติดเชื้อเฉพาะคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าสามารถฝ่าด่านคนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว ทำให้ติดเชื้อได้ ก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว

การแถลงดังกล่าวเกิดขึ้น ในวันเดียวกับที่ผู้บริหารของบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ซึ่งร่วมกับบริษัท ไฟเซอร์ (PfizerBioNTech) กล่าวถึงความมั่นใจว่า วัคซีนของไฟเซอร์จะสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียได้ เพียงแต่ขอรอดูข้อมูลเพิ่มเติมก่อน แต่ในวันนี้ (30 เมษายน 2564) ห่างกันไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทางการอิสราเอลก็รายงานว่า วัคซีนที่ฉีดให้สี่คนนั้น ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียไปแล้ว และยังมีข่าวเพิ่มเติมอีกว่าทางการเวียดนาม ก็ตรวจพบผู้ติดไวรัสสายพันธุ์อินเดียอีกด้วย นั่นหมายความว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ อินเดีย นับเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตก มีบังกลาเทศและเมียนมากั้นอยู่ กับประเทศเวียดนามทางด้านตะวันออก ซึ่งมีลาวและเขมรกั้นอยู่ ได้พบไวรัสสายพันธุ์อินเดียเรียบร้อยแล้ว ไทยจึงจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้เราเร่งฉีดวัคซีนจนครบในสิ้นปีนี้ได้ แต่ถ้ามีไวรัสกลายพันธุ์ที่วัคซีนเอาไม่อยู่ ก็จะเป็นปัญหาต่อไป”

หมอเผย โควิดทำให้ไม่ได้กลับบ้านมาครึ่งปี คิดถึงหนักถึงขั้นเปิด Google Earth ดูหลังคาบ้านตัวเอง

 

หมอเผย โควิดทำให้ไม่ได้กลับบ้านมาครึ่งปี คิดถึงหนักถึงขั้นเปิด Google Earth ดูหลังคาบ้านตัวเอง

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019หรือโควิด19ในประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูง ซึ่งในแต่ละวันแตะหลักพัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้าต้องทำงานกันอย่างหนัก ไม่ได้กลับบ้านเกิดกันมาหลายเดือน หรือบางคนถึงแม้จะอยู่ในกรุงเทพ แต่ออกมาเช่าบ้านอยู่เพื่อลดการเอาเชื้อไปฝากที่บ้าน

ซึ่ง นพ.ธนา ขำยัง แพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวได้ระบุว่า วันนี้ว่างๆเลยได้มานั่งไขว่ห้างถามไถ่น้องหมอพยาบาล ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า....คิดถึงบ้าน คนอยู่ต่างจังหวัดแล้วไม่ได้กลับบ้าน อันนี้ไม่แปลก แต่บางคนบ้านอยู่ในจังหวัดแท้ๆ แต่ก็กลับไม่ได้ ผมก็เพิ่งมารู้ว่ามีบางคนออกไปเช่าบ้านอยู่คนเดียวมาเป็นเดือนแล้วเพราะเขารู้ตัวว่าเสี่ยงสูง บางคนที่บ้านมีพ่อแม่แก่ บางคนที่บ้านมีลูกยังเล็ก บางคนที่บ้านมีผู้ป่วยติดเตียง เขากลับบ้านไม่ได้...เขากลัวเอาเชื้อไปให้ คือคงต้องยอมรับแล้วว่าในนาทีนี้ ไม่มีใครเสี่ยงเกินบุคลากรใน ER แล้วครับ เพราะพวกเราคือด่านหน้าสุดในการพบเจอผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่ walk in เข้ามาเอง ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่ต้องเอารถพยาบาลออกไปรับ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะเป็น Covid-19 ถึงแม้จะมีการคัดกรองเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ถามหน่อยตอนนี้มีพื้นที่ไหนที่ไม่เสี่ยงบ้าง? แถมคนไข้ covid บางคนไม่ได้มาด้วยไข้ ไอ เหนื่อย ตามตำรา บางคนมาด้วยท้องเสีย บางคนเวียนหัว บางคนรถชนขาหักมาก็มี บางคนมานอนอยู่ใน ER เป็นวันแล้วเพิ่งพบว่าเป็น Covid ก็มี ย้อนมาดูตัวเอง ผมเองก็ไม่ได้กลับบ้านนอกมาจะครึ่งปีแล้ว ยอมรับว่าคิดถึงบ้านนะ ยังเคยถึงขนาดแอบไปนั่งเปิด Google Earth ดูหลังคาบ้านตัวเองมาแล้วเลย... ห่วงทั้งแม่ ห่วงทั้งหมา ไม่รู้จะเป็นยังไงกันมั่ง แม่นี่ก็คุยบ่อย แต่หมานี่ไม่ได้คุยเลย ยังไงก็สัญญาว่าจะรอด เพื่อกลับไปกอดกันให้ได้ครับ

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/465887?adz=

 

1. สองวันก่อนและหลังการฉีด
งดออกกำลังกายหนักหรือยกน้ำหนัก
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

2. วันที่ ฉีด ควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี
งดชากาแฟหรือของที่มีคาเฟ่อีน

3. เลือกการฉีดวัคซีนตอนช่วงเช้า

4. ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น เกร็งยกของหนัก. จะทำให้ระบมมาก

5. หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้ดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
เราก็อยู่แถวโรงพยาบาลนั้นอีก 30 นาที

6. ถ้ามีไข้หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว
ก็สามารถทานพาราเซตตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม. ครั้งละหนึ่งเม็ด
ซ้ำได้ถ้าจำเป็นห่าง 6 ชั่วโมง

ห้ามกินยาพวก Brufen ,Arcoxia ,Celebrex

7. การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยสองถึงสี่สัปดาห์ค่ะ
โดยส่วนตัวมักจะแนะนำให้ฉีดโควิดให้ครบก่อนค่ะ.
เพราะโควิดอันตรายกว่าใครหวัดใหญ่ค่ะ

8. ถ้ากินยาละลายลิมเลือดอยู่
ก็กินยาตามปกติ
แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาทีค่ะ

น่ายินดี !! วัคซีนของบริษัท AstraZeneca หลังฉีดเข็มแรก พบภูมิคุ้มกันขึ้นถึง 98% และหลังฉีดครบสองเข็มภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 99%

ในขณะเดียวกันรายงานการศึกษาของไทย ก็ได้ตัวเลขใกล้เคียงกันคือ เข็มแรกมีภูมิคุ้มกันขึ้น 96.7%

หลังจากที่ทางบริษัท AstraZeneca ได้มายื่นจดทะเบียนขออนุมัติฉีดวัคซีนในประเทศไทย และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วนั้น

วัคซีนของ AstraZeneca จำนวนนับล้านเข็ม จะทยอยออกมาฉีดให้กับคนไทยได้ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ อย่างน้อย 6,000,000 เข็ม เดือนกรกฎาคมอีก 10,000,000 เข็ม

ข้อมูลอย่างเป็นทางการของการศึกษาวิจัยของบริษัท AstraZeneca พบว่า หลังฉีดวัคซีนไปแล้วเข็มหนึ่ง มีภูมิคุ้มกันขึ้น 98% และเมื่อฉีดเข็มสองจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นมากกว่า 99%

ในขณะที่การเก็บข้อมูลเบื้องต้น 61 คน ของศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้ตัวเลขคล้าย กัน กล่าวคือ หลังฉีดเข็มหนึ่งในคนไทยแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันขึ้น 96.7%

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะสู้คนอายุน้อยกว่าไม่ได้

ในกรณีของวัคซีน AstraZeneca ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วภูมิคุ้มกันขึ้น 97.8% และในเข็มที่สองขึ้นถึง 100%

นอกจากนั้นถ้าดูระดับภูมิต้านทานในกระแสเลือด หลังจากฉีดวัคซีน พบว่า หลังฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งแล้ว 28 วัน ระดับภูมิต้านทานขึ้นสูง 8386.46 GMT

แต่ถ้าวัดหลังฉีดเข็มสองไปแล้วแปดสัปดาห์ ระดับภูมิต้านทานขึ้นสูงกว่าสามเท่าตัวเป็น 29,034.74 GMT

และถ้าทิ้งระยะเวลาห่างออกไป 9-11 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะขึ้นสูงถึง 34,754.10 GMT

และถ้าเลยระยะเวลา 12 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะขึ้นถึง 63,181.59 GMT

ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก และสนับสนุนวิธีการฉีดวัคซีนได้แก่

1) วัคซีนของบริษัท AstraZeneca สามารถฉีดในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีได้ และมีระดับการเกิดภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างกับคนอายุน้อยกว่า

2) วัคซีนของ AstraZeneca ถ้าทิ้งช่วงเข็มสองห่างจากเข็มหนึ่งนานกว่า 4 สัปดาห์ เป็น 12 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่าเดิมเกือบแปดเท่า

การที่ประเทศไทยมีวัคซีนของบริษัท AstraZeneca อยู่ใน
โควต้าของเราเอง 61,000,000 โดส จึงเป็นความมั่นคงทางวัคซีนเป็นอย่างมาก

เพราะวัคซีนดังกล่าวผลิตในประเทศไทยเราเอง และมีกำลังการผลิตที่สูงกว่า 61,000,000 โดสกว่าสามเท่าตัว (ซึ่งจะต้องส่งไปช่วยฉีดประเทศที่มีการแพร่ระบาดและมีฐานะยากจนในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียเป็นต้น ตามข้อตกลงที่ทางบริษัท AstraZeneca มีกับบริษัทสยามไบโอซายน์)

ถ้าเราตกลงซื้อวัคซีนกับบริษัทอื่น ที่มีฐานการผลิตอยู่นอกประเทศ ก็จะมีความเสี่ยง ที่อาจจะได้วัคซีนช้ากว่ากำหนด หรือได้วัคซีนไม่ครบ

เพราะวัคซีนผลิตอยู่นอกประเทศเรา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดีย เป็นฐานการผลิตใหญ่ของบริษัท AstraZeneca มีหลายประเทศที่ยากจนในโครงการ COVAX ได้รับโควต้าของวัคซีนที่จะผลิตจากอินเดียไปฉีด

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับวัคซีนตามที่ตกลงกันไว้ เพราะอินเดียเก็บไว้ฉีดในประเทศตนเอง เนื่องจากมีการระบาดอย่างรุนแรง ภายในประเทศ
Cr:Chalermchai Boonyaleepan

 
หัวหน้าศูนย์ไวรัส รพ.จุฬาฯ เผยหลายชาติยืดเวลาให้วัคซีนเข็มที่ 2 ชี้ผลศึกษาพบคนอายุน้อยกว่า 60 รับ “แอสตร้าเซนเนก้า” เข็มแรก ภูมิต้านทานตอบสนองได้ดีกว่าผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ย้ำเป็นการปูพรมให้ประชากรหมู่มากได้รับวัคซีนในการป้องกันโรคได้เร็วที่สุด

วันนี้ (5 พ.ค.) นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุว่า โควิด 19 ในหลายประเทศ ยืดระยะเวลาในการให้ Vaccine เข็ม 2

ประเทศสเปน นอร์เวย์ และสวีเดน ให้วัคซีนเข็มแรกให้มากที่สุดและยืดระยะเวลาการให้เข็มที่ 2

วัคซีนในกลุ่มไวรัสเวกเตอร์ เช่น การศึกษาของเรา AstraZeneca การให้เข็มแรกเข็มเดียวกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี

ดังนั้น การยืดระยะเวลาเข็มที่ 2 ออกไป เพื่อต้องการให้ไป เพื่อต้องการให้ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในกรณีที่วัคซีนมีไม่เพียงพอ หรือกำลังการฉีด ให้มุ่งเน้นประชากรส่วนใหญ่ก่อน แล้วค่อยตามกระตุ้นในเข็มที่ 2 ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด

จากการศึกษาที่ผ่านมาของเราพบว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ภูมิต้านทานตอบสนองได้ดีกว่าผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ปี ดังนั้นในกลุ่มประชากรที่มีอายุ ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี อาจใช้วิธีการให้เข็มเดียวไปก่อน และถ้ามีวัคซีนหรือพอ และมีความสามารถในการให้วัคซีนแล้วค่อยมากระตุ้น ในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็จะเป็นการปูพรมให้ประชากรหมู่มากได้รับวัคซีนในการป้องกันโรคได้เร็วที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

พร้อมแฮชแท็ก #หมอยง