สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รายงานพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและเมษายนตามลำดับ ส่วนอิตาลีพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุดในวันอังคาร (27 ต.ค.) ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ไวรรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยุโรป ไม่ส่งสัญญาณเบาบางลงเลยแม้แต่น้อย

จากข้อมูลของรัฐบาลพบว่า สหราชอาณาจักรพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มอีก 367 คนในวันอังคาร (27 ต.ค.) ถือเป็นตัวเลขรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 45,365 ราย

ขณะเดียวกัน ข้อมูลในวันอังคาร (27 ต.ค.) ระบุด้วยว่า สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,885 คน เพิ่มขึ้นจากระดับ 20,890 คนในวันจันทร์ (26 ต.ค.) ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศ อยู่ที่ 917,575 คน

จำนวนผู้เสียชีวิตในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ และตัวเลขของวันอังคาร (27 ต.ค.) ถือว่าพอๆ กับจำนวน 374 คน ของเมื่อวันที่ 30 มีนาคม หรือราว 1 สัปดาห์ หลังจากดินแดนแห่งนี้เข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

อีวาน ดอยล์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของสำนักสาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า หลังจากสงบนิ่งไปในช่วงฤดูร้อน แนวโน้มของการเสียชีวิตกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งและ “ดูเหมือนมันจะเป็นไปแบบนี้อีกสักพัก” เธอกล่าวในถ้อยแถลง

ในช่วงระลอกแรกของการแพร่ระบาด สหราชอาณาจักรเป็นชาติที่มีผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุดในยุโรป และเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงมากกว่าชาติไหนๆ ในกลุ่มจี 7 และตอนนี้พวกเขากำลังต่อสู้กับระยะเริ่มต้นของระลอกสอง

รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้กำหนดข้อจำกัดต่างๆ นานาทั่วประเทศ ขึ้นอยู่ภับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่

สถานการณ์การแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักร สอดคล้องกับหลายชาติในยุโรป ในนั้นรวมถึงฝรั่งเศส ซึ่งรายงานในวันอังคาร (27 ต.ค.) พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ 523 คนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน

ข้อมูลของวันอังคาร (27 ต.ค.) ประกอบด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตตามโรงพยาบาลซึ่งรายงานแบบรายวัน กับผู้เสียชีวิตตามบ้านพักคนชราในช่วง 4 วันที่ผ่านมา อีก 235 คน

นอกจากนี้แล้วทางกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศส ยังยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 33,417 คนในช่วง 24 ชั่วโมงหลังสุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 26,711 คนในวันจันทร์ (26 ต.ค.) ทว่าน้อยกว่า 52,010 คนของวันอาทิตย์ (25 ต.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 1,198,695 คน

หากเปรียบเทียบกับเมื่อวันอังคารที่แล้ว (20 ต.ค.) ซึ่งฝรั่งเศสรายงานตัวเลขรายวัน 20,468 เคส นั่นหมายความว่าเพียงแค่สัปดาห์เดียว จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 60%

อิตาลีก็เผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นเช่นกันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานป้องกันพลเรือนของประเทศรายงานพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 17,000 รายในวันจันทร์ (26 ต.ค.) และ 21,994 คนในวันอังคาร (27 ต.ค.) สูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด ทุบสถิติเดิม 21,273 คนของเมื่อวันอาทิตย์ (25 ต.ค.)

ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 564,778 คน ในนั้นเสียชีวิต 37,700 ราย หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 221 คน ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ที่อิตาลีมีผู้เสียชีวิตรายวันเกินกว่า 200 คน หลังจากหนึ่งวันก่อนหน้านี้พบผู้เสียชีวิต 141 คน
 
บทความต้นฉบับ https://mgronline.com/around/detail/9630000111587

 
ที่ปรึกษาระดับสูงของรัฐบาลฝรั่งเศส เตือนว่าการแพร่ระบาดระลอกสองของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ดูเหมือนจะเลวร้ายกว่ารอบแรก โดยเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 50,000 คนเมื่อวันอาทิตย์ (25 ต.ค.) อาจเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขที่แท้จริง ขณะที่ประเทศแห่งนี้มีแนวโน้มว่าอาจจำเป็นต้องล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาด

“สถานการณ์ยากลำบากมาก บางทีอาจเข้าขั้นวิกฤต” ฌอง-ฟรองซัวส์ เดลเฟรซซี นักภูมิคุ้มกันวิทยาและประธานสภาวิทยาศาสตร์ ซึ่งคอยให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุท้องถิ่นในวันจันทร์ (26 ต.ค.) พร้อมเผยว่าทางสภาวิทยาศาสตร์รู้สึกประหลาดใจต่อความโหดร้ายของโรคระบาดใหญ่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สภาวิทยาศาสตร์อ้างว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่แท้จริง ดูเหมือนว่าจะมากกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่รายงานออกมาถึง 2 เท่า

เมื่อวันอาทิตย์ (25 ต.ค.) ฝรั่งเศส รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง จำนวน 52,010 คน มากกว่าประเทศไหนๆ ในยุโรป ส่วนในวันจันทร์ (26 ต.ค.) กระทรวงสาธารณสุขรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26,771 คน แต่ตัวเลขของวันจันทร์ มักลดลงเป็นปกติ สืบเนื่องจากการแจ้งข้อมูลที่ล่าช้าในช่วงสุดสัปดาห์

ในส่วนผู้เสียชีวิตนั้น ในวันจันทร์ (26 ต.ค.) ฝรั่งเศสมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 257 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มต้นขึ้น อยู่ที่ 35,018 ราย

เดลเฟรซซี ประเมินว่า ไวรัสกำลังแพร่ระบาดรวดเร็วอย่างมาก พร้อมระบุว่าระบบสาธารณสุขของประเทศจะได้ผลกระทบอย่างแท้จริงในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า และเตือนว่าการแพร่ระบาดระลอกสองนั้นรุนแรงกว่ารอบแรก และมาตรการรอบใหม่สกัดโควิด-19 ควรบังคับใช้เร็วๆ นี้ เพื่อรับประกันประสิทธิผลของมัน

นับตั้งแต่โรคระบาดเริ่มต้นขึ้น ฝรั่งเศสมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้วกว่า 1,165,278 คน และการเพิ่มขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ส่งผลให้พวกเขาแซงหน้าอาร์เจนตินา และสเปน กลายเป็นชาติที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐฯ, อินเดีย, บราซิล และรัสเซีย

คำเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์เลวร้ายจากที่ปรึกษาระดับสูง สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่อาจยกระดับมาตรการต่างๆ เข้มข้นขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งเกิน 50,000 คนเป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ (25 ต.ค.) ตามคำกล่าวอ้างของแหล่งข่าวในรัฐบาลในวันจันทร์ (26 ต.ค.)

ทำเนียบประธานาธิบดีเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จะเรียกประชุมคณะรัฐมนนตรีระดับสูงของเขาในวันอังคาร (27 ต.ค.) เพื่อทบทวนแนวทางวคามพยายามสกัดการแพร่ระบาด

จากนั้นนายกรัฐมนตรีฌอง กัสเท็กซ์ จะหารือร่วมกับบรรดาผู้นำทางการเมืองและเจ้าหน้าที่จากสหภาพแรงงาน ก่อนที่บรรดาคณะรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับ มาครง อีกครั้งในวันพุธ (28 ต.ค.)

แหล่งข่าวใกล้ชิดคณะทำงานของนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยเปิดเผยกับเอเอฟพีว่าการประชุมจะ “พิจารณายกระดับมาตรการต่างๆ เข้มข้นขึ้นเพื่อจัดการกับวิกฤตด้านสาธารณสุข”
 

ด้วยหลายชาติในยุโรปได้ประกาศยกระดับความเข้มข้นของข้อจำกัดต่างๆ ไปก่อนหน้าแล้ว มันจึงโหมกระพือข่าวลือว่าฝรั่งเศสจะดำเนินการแบบเดียวกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ที่ตอนนี้สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆและโรงพยาบาลต่างๆ เริ่มรับมือไม่ไหว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ฝรั่งเศสได้ประกาศเคอร์ฟิวบังคับใช้กับปารีสและเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งพบเคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไม่หยุด ครอบคลุมประชากรราว 46 ล้านคน พร้อมกับสั่งปิดบาร์ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบอกว่าต้องการหลีกเลี่ยงล้อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบ อย่างที่เคยบังคับใช้เป็นเวลา 2 เดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นจำเป็นต้องกำหนดมาตรการดังกล่าว หลังห้องไอซียูตามโรงพยาบาลต่างๆ แน่นขนัดไปด้วยผู้ป่วยโควิด-19

(ที่มา : รัสเซียทูเดย์/เอเอฟพี)
 
บทความต้นฉบับ https://mgronline.com/around/detail/9630000111160

25 ต.ค.2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

โควิด 19 กับภูมิคุ้มกันกลุ่ม herd immunity เพื่อให้โรคสงบ 

ภูมิคุ้มกันกลุ่มหรือที่เรียกว่า herd immunity คือ ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องมีภูมิต้านทานต่อ โควิด 19 โดยการติดเชื้อโรคแล้วหายจากโรค มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น 

หรือเกิดจากการฉีดวัคซีน เป็นจำนวนมากที่เพียงพอ โรคก็จะไม่ระบาด

เปรียบเสมือนคนที่มีภูมิต้านทานแล้วเป็นแกะขาว คนที่ไม่มีภูมิต้านทานเป็นแกะดำ ถ้าในฝูงแกะ มีแกะขาวเป็นส่วนใหญ่ 

เชื้อโรคหรืออันตรายที่จะลุกล้ำเข้าไปหาแกะดำ จะมีแกะขาวล้อมรอบอยู่ เข้าไปได้ยาก

การเกิดภูมิต้านทานในแต่ละโรคในการป้องกันหรือให้สงบ 

อัตราส่วนของประชากรที่มีภูมิต้านทานแล้วแตกต่างกัน โรคที่ติดต่อกันง่ายมากเช่น โรคหัด ติดต่อทางอากาศ 

จำเป็นที่จะต้องมีภูมิต้านทานกลุ่ม ในอัตราที่สูงมากมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป 

โรคไข้หวัดใหญ่อาศัยภูมิต้านทานเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ก็ไม่เกิดการระบาดของโรค 

จากการประมาณการว่า โควิด 19 อาศัยภูมิคุ้มกันกลุ่มประมาณร้อยละ 60  หรือกล่าวว่าถ้าเราปล่อยให้ประชากรติดเชื้อไป 60% ก็จะสงบ หรือต้องสร้างภูมิต้านทานขึ้นด้วยการให้วัคซีนอย่างน้อย 60% ของประชากร โรคก็จะสงบ แต่ไม่ใช่หมายความว่าโรคหมดไป เพียงแต่ไม่เกิดการระบาด แต่อาจจะพบได้ประปราย 

ดังนั้น โควิด 19 จะสงบ จึงมีการคาดการณ์ว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปี 

ประชากรส่วนใหญ่จำนวนหนึ่งติดโรค และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น และอีกส่วนหนึ่งได้รับวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน เมื่อรวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 60  ส่วนประชาชนที่เหลือ ก็ยังหากเป็นโรคได้ แต่ไม่ได้ถึงกับระบาดมากมาย 

โรคนี้ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละปีก็ยังอาจพบได้ และยังคงต้องให้วัคซีนในการสร้างภูมิต้านทานเสริมอยู่ตลอด หรือให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาแล้วยังไม่มีภูมิต้านทาน 

ให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ เหมือนอย่างที่เราให้วัคซีนในเด็ก  ให้เด็กส่วนใหญ่ไม่เป็นโรคหัด ไม่เป็นโรคโปลิโอ

โควิด 19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน วิถีชีวิตใหม่ ยังมีความจำเป็น ไม่น้อยกว่า 2 ปีแน่นอน

จนกว่าเราจะสร้างภูมิต้านทานให้ประชากรของเรา ได้ในปริมาณที่สูงเกินกว่าภูมิคุ้มกันกลุ่ม

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/81679

โดย ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล"

มีหลายท่านสนใจเรื่องชนิดของวัคซีน COVID-19 จึงขอสรุปให้อ่านจบใน 2 นาทีนะคะ

ข้อมูล ณ วันที่ 23 ตุลาคม 2563 มีวัคซีน 48 ตัวที่เข้าทดสอบในมนุษย์แล้ว โดย
- อยู่ในระยะที่หนึ่ง 33 ตัว
- ระยะที่สอง 15 ตัว
- ระยะที่สาม 11 ตัว และในจำนวนนี้มี 6 ตัวขึ้นทะเบียนให้ใช้ในวงจำกัด

ชนิดของวัคซีนที่กำลังพัฒนามีหลายประเภท แต่หลักๆ ที่น่าจะเข้าวิน มี 4 กลุ่ม คือ
𝟏. 𝐈𝐧𝐚𝐜𝐭𝐢𝐯𝐚𝐭𝐞𝐝 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞 เป็นชนิดที่น่าจะมาไกลที่สุด คือเข้า phase 3 และได้เริ่มใช้แล้วในวงจำกัดที่ประเทศจีน เป็นของบริษัท Sinovac, Sinopharm, Wuhan Institute วัคซีนชนิดนี้ผลิตด้วยความยุ่งยากแม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยี่ใหม่ เพราะต้องใช้ BSL3 facility เพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อ และผลิตได้ไม่เร็ว แต่เป็นชนิดของวัคซีนที่น่าจะได้ผลดีเพราะเอาไวรัสทั้งตัวมาฆ่าให้ตาย จึงไม่มีข้อต้องกังวลใจมากนัก ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนอื่นๆมาก่อน เราจึงมีประสบการณ์ในการใช้วัคซีนประเภทนี้กับโรคอื่นๆ มามากมาย คาดว่าวัคซีนตัวนี้น่าจะเข้าสู่ท้องตลาดได้เร็วที่สุด แต่น่าจะมีราคาแพงที่สุด

𝟐. 𝐀𝐝𝐞𝐧𝐨𝐯𝐢𝐫𝐮𝐬 𝐯𝐞𝐜𝐭𝐨𝐫 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞 คือเอายีนของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ใส่เข้าไปในอะดีโนไวรัส ที่เด่นๆ คือ CanSino ของประเทศจีน ซึ่งใช้อะดีโนไวรัสสายพันธุ์ Ad5 ของคน, บริษัท Astra Zeneca ประเทศอังกฤษ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Oxford ใช้ไวรัสของชิมแพนซี, และ Gamaleya ของประเทศรัสเซีย ซึ่งใช้ Ad26+Ad5 และของ Johnson&Johnson ซึ่งใช้ Ad26

วัคซีนกลุ่มนี้เรามีประสบการณ์การใช้ในวงจำกัดและน่าจะได้ผลดี ถ้าไม่เคยติดเชื้ออะดีโนไวรัสสายพันธุ์ที่นำมาเป็นตัวนำพา (vector) มาก่อน แต่มีข้อเสียคือ ตัวอะดีโนไวรัสเองเป็น live virus vector เมื่อนำมาฉีดอาจก่อเรื่องได้ จึงเป็นวัคซีนชนิดที่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนที่แท้จริง แต่มีข้อดี คือ ไม่ต้องฉีดหลายเข็มก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี นอกจากนี้ในตอนที่ทดสอบวัคซีนที่ใช้ไวรัสชิมแพนซีพบว่า มีอาสาสมัครเกิดโรค transverse myelitis แต่ไม่ทราบว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือเกิดเพราะวัคซีน ทำให้ต้องหยุดการวิจัยชั่วคราว ที่สำคัญเรายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้วัคซีนประเภทนี้ในวงกว้างเลย

𝟑. 𝐦𝐑𝐍𝐀 𝐕𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞𝐬 ที่เด่นๆ คือ ของบริษัท Moderna ได้รับการสนับสนุนโดย US NIH ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำมาพัฒนา วัคซีนของบริษัท Moderna ได้เข้าสู่การวิจัยระยะที่ 3 แล้วและให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในคนปกติ รวมทั้งในผู้สูงอายุด้วย และยังมีอีกหลายบริษัทผลิตวัคซีนแบบนี้วิ่งตามมาติดๆ เช่น BioTech + Pfizer ของประเทศเยอรมันนี

วัคซีนประเภทนี้ใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ในมนุษย์มาก่อน มีข้อดีคือ ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยมีใช้มาก่อนทำให้มีข้อกังวลใจว่า แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงจากการศึกษาระยะสั้น แต่ผลอันไม่พึงประสงค์ในระยะยาวจะมีได้หรือไม่

𝟒. 𝐏𝐫𝐨𝐭𝐞𝐢𝐧-𝐛𝐚𝐬𝐞𝐝 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞𝐬 ใช้เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนของเปลือกไวรัส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รู้จักกันดีอยู่แล้วเพราะมีการใช้ในวัคซีนอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบบี เป็นต้น มีการใส่ adjuvant ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผลิตได้รวดเร็ว บริษัทที่เด่นคือ Novavax ของประเทศอเมริกา ที่ตอนนี้เข้าสู่งานวิจัยระยะที่ 3 แล้ว ส่วนของที่ Sanofi จับมือกับ GSK ซึ่งเป็นสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการใช้เทคโนโลยีคล้ายคลึงกับการผลิตวัคซีนอื่นๆ ก็ยังอยู่ในการวิจัยทางคลินิกระยะที่2 และยังมีที่ผลิตในอีกมากมายกว่า 10 บริษัทในหลากหลายประเทศ

ในแง่ของประสิทธิภาพนั้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะเด่นกว่าใครในขณะนี้ แต่คาดว่าไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนภูมิคุ้มกันอาจจะอยู่ได้ไม่นานมาก และน่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเป็นระยะ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าต้องบ่อยแค่ไหน ทุกอย่างยังเป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องติดตามต่อไปเพราะเรายังไม่รู้จักไวรัสตัวนี้อย่างดีพอ

ถ้าถามว่า วัคซีนตัวไหนน่าจะออกขายก่อน ก็คิดว่า inactivated ของประเทศจีนน่าจะมาก่อน แต่ของรัสเซีย, ของ Oxford หรือของ Moderna ก็น่าจะออกขายในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน

SICRES โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความพร้อมทำวิจัยทดสอบคลินิกสำหรับวัคซีนทุกประเภทนะคะ

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
𝙎𝙞𝙧𝙞𝙧𝙖𝙟 𝙄𝙣𝙨𝙩𝙞𝙩𝙪𝙩𝙚 𝙤𝙛 𝘾𝙡𝙞𝙣𝙞𝙘𝙖𝙡 𝙍𝙚𝙨𝙚𝙖𝙧𝙘𝙝 (𝙎𝙄𝘾𝙍𝙀𝙎)
#SICRES #Siriraj #COVID19 #vaccine #clinicaltrial sirirajpr

หลากวิธีพิฆาต‘เชื้อดื้อยา’ของนักวิทยาศาสตร์

 

จะสู้รบปรบมือกับสิ่งมีชีวิตจิ๋ว ที่ไม่เกรงกลัวสารปฏิชีวนะพวกนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้มีคำตอบหลายอย่างเกี่ยวกับ"เชื้อดื้อยา"

ปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์สายชีวภาพหรือการแพทย์เป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การพบจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่ต้านทานต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น และในจำนวนนี้ก็มีหลายกรณีที่แทบจะหาอนุพันธ์ใหม่ๆ ของยาที่ใช้ฆ่าเชื้อพวกนี้ไม่ได้อีกแล้ว ป่วยการที่จะไปกล่าวถึงยาเก่าๆ ที่ใช้มานาน เพราะมีการผลิตยาปฏิชีวนะเพื่อนำมาใช้รักษาโลกนานกว่า 70 ปีเข้าไปแล้ว

ยารุ่นแรกๆ ที่ผลิตได้จึงใช้รักษาไม่ค่อยได้มานานแล้ว

ถ้าถึงวันหนึ่งที่ "เชื้อดื้อยา" พวกนี้กระจายไปทั่ว วันนั้นหากเรามีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ไม่ยากเลย หากวันนั้นมาถึง หัตการที่ทำกันเป็นกิจวัตรและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น การผ่าตัดคลอดบุตรที่เรียกว่า ซี-เซ็กชั่น (C-section) หรือซีซาร์เซ็กชั่น เพราะร่ำลือกันว่าจูเลียส ซีซาร์ ถือกำเนิดมาด้วยวิธีการแบบนี้ ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก และการผ่าตัดที่ซับซ้อนอย่างการปลูกถ่ายอวัยวะ คงกลายเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมาก จนอาจจะจบลงที่การติดเชื้อ (ดื้อยา) และเสียชีวิตในที่สุด

เรื่องนี้ไม่ได้ไกลตัวเราคนไทยเลยนะครับ ผมรู้จักเพื่อนบางคนที่ต้องไปเข้าห้องผ่าตัดด้วยโรคบางอย่าง ปรากฏว่า กลับติดเชื้อดื้อยา กลับมาให้ต้องรักษาอีกรอบ ซึ่งสะบักสะบอมกว่ารอบแรก เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็นเชื้อดื้อยาก็โดนยาไปหลายขนานทีเดียว ที่น่าเจ็บใจ ก็คือ สถานที่ซึ่งควรจะปลอดภัยสุดยอดอย่างห้องผ่าตัด กลับเป็นแหล่งเพาะเชื้อดื้อยาสำคัญ...เหมือนกันทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์จะสู้รบปรบมือกับสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่ไม่เกรงกลัวสารปฏิชีวนะพวกนี้ได้อย่างไร คำตอบอาจมีได้หลายแบบครับ ตัวอย่างแรกที่จะเล่าให้ฟังอาศัยอนุภาคนาโนครับ

 

 

แบคทีเรียหลายชนิดสร้างสารชีวพิษ (toxin) ที่ทำลายเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มันไปอาศัยอยู่ด้วยได้ สารชีวพิษที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่งมีหลักการทำงานคือ การไปเกาะและเจาะ จนทำให้เกิดรูรั่วขึ้นที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ สุดท้ายเซลล์นั้นก็จะแตกออกในที่สุด

ตัวอย่างแบคทีเรียกลุ่มนี้คือ พวก E. coli ที่เป็นญาติกับพวกที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของพวกเราด้วย อีกกลุ่มก็คือ แบคทีเรียสกุลลิสเทอเรีย (Listgeria) ที่โจมตีได้ทั้งระบบประสาทส่วนกลางและทางเดินอาหาร ชื่อสกุลดังกล่าวมาจากแพทย์ผ่าตัดชาวอังกฤษ โจเซฟ ลิสเทอร์ (Joseph Lister) ที่บุกเบิกเรื่องการผ่าตัดในสภาวะปลอดเชื้อ และใช่ครับ ... ถูกนำมาใช้ดัดแปลงเป็นชื่อน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อดังรายหนึ่งด้วย

เชื้อที่ก่อโรคแอนแทร็กซ์ ซึ่งเคยมีการนำมาใช้ก่อการร้ายเป็นข่าวดังในประเทศสหรัฐอเมริกาก็อยู่กลุ่มนี้เช่นกัน ถ้ายังจำกันได้คือ รายที่เอาผงที่มีเชื้อแอนแทร็กซ์ส่งไปทางซองจดหมายนั่นแหละครับ

แม้แต่พิษจากงูพิษ แมงป่อง และดอกไม้ทะเล ก็ออกฤทธิ์แบบนี้เช่นกัน

ฉางเหลียงเฟิง (Liangfang Zhang) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก คิดค้นวิธีการจัดการสารชีวพิษจากแบคทีเรียเหล่านี้ โดยใช้การเคลือบอนุภาคนาโนเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดแดง สารนาโนเหล่านี้จำเพาะกับสารชีวพิษแต่ละชนิด และทำหน้าที่เหมือนเหยื่อล่อให้สารพิษพวกนี้มาจับ คล้ายเป็นฟองน้ำที่คอยดูซับเอาสารพิษไว้ จนไม่อาจไปทำร้ายเซลล์อื่นๆ ได้

การทดลองในหนูปรากฏว่า หนูที่ติดเชื้อดื้อยาหากได้รับอนุภาคนาโนแบบนี้ ก็อยู่รอดปลอดภัยดี คาดว่าจะทดสอบระดับคลินิกในคนได้ในอีกไม่นาน

จุดแข็งของวิธีการนี้ ก็คือ เนื่องจากมันไม่ได้ฆ่าเชื้อต้นเหตุ จึงมีโอกาสที่เชื้อพวกนี้จะดื้อยาน้อยมาก จุดนี้สำคัญมากในการสร้างสารปฏิชีวนะรุ่นใหม่ครับ เพราะถ้าเรายังใช้วิธีเดิมๆ คือ ฆ่าเชื้อด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง พวกเชื้อโรคที่หลุดรอดไปได้ เพราะมีสารพันธุกรรมเหมาะสม ก็จะถ่ายทอดความสามารถนี้ให้กันอย่างรวดเร็ว สารปฏิชีวนะใหม่ๆ จึงสิ้นฤทธิ์เร็วมาก วนเวียนกลายเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น

แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนคือ ต้นทุนที่แพงกว่ายาปฏิชีวนะมาก การทำให้สารไปเคลือบในจุดที่ต้องการก็ยังเป็นเรื่องยาก อนุภาคนาโนพวกนี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือไม่ ก็ยังตรวจสอบกันอย่างละเอียด จุดอ่อนข้อสุดท้ายคือ ต้องตรวจสอบจนแน่ใจว่าพวกมันจะย่อยสลายได้เอง ไม่หลงเหลือตกค้างสะสมในตัวผู้ป่วย

อีกวิธีการหนึ่งที่มีผู้ทำวิจัยกันอยู่คือ การใช้สิ่งที่เรียกว่า เพปไทด์ต้านจุลินทรีย์หรือ เอเอ็มพี (AMP, Antimicrobial peptides) วิธีการนี้เกิดจากความรู้ว่า มีโปรตีนสายสั้นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์และพืช ที่ใช้รับมือเชื้อโรคที่รุกล้ำร่างกายของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น โดยกลไกการทำงานก็คือ มักจะเป็นการโจมตีที่เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรค จนทำให้พวกมันตายในที่สุด

ตัวอย่างที่ทดสอบกันอยู่ได้แก่ AMP ที่สกัดมาจาก เพรียงหัวหอม (tunicate) ที่เป็นสัตว์ทะเลที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยนักวิจัยเติมกรดอะมิโนไม่กี่ตัวเข้าไปในโปรตีนสายสั้นๆ ที่ได้ และเมื่อใช้รักษาหนูที่ติดเชื้อ E. coli หรือเชื้อดื้อยาอื่น ก็พบว่าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของหนู ทำให้เกิดการอักเสบน้อยลง และยังช่วยดึงดูดเอาเม็ดเลือดขาวมาสู้กับเชื้อโรคมากขึ้นอีกด้วย

วิธีการรักษาแบบนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่กินเวลาและแพงอยู่สักหน่อย วิธีการนำส่งสารไปยังเซลล์เป้าหมาย ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม ผลิตภัณฑ์สุดท้ายอาจจะเป็นครีมทาแผลเปิด รวมถึงอาจใช้ทาตามอุปกรณ์ผ่าตัด เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างงานวิจัยนะครับ ยังมีวิธีการอีกหลายแบบที่ทำวิจัยกันอยู่ และไม่มีใครแน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว วิธีการใดกันแน่ที่ดีที่สุดครับ

  การต่อสู้กับเชื้อโรคดื้อยาจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญเรื่องหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันเลยล่ะครับ

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/904115?anf=

กรมควบคุมโรค เตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ ต้องระวังในช่วงฤดูหนาว
 
กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ ที่ประชาชนควรระมัดระวังในช่วงฤดูหนาว
 

วันนี้ (23 ตุลาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูหนาว จึงขอให้ประชาชนหมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ และได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง) 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด โรคมือ เท้า ปาก) และ 4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และการขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย)

 

กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.โรคปอดอักเสบ พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น  

กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ 1.โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย ดื่มน้ำที่สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน  

 กลุ่มที่ 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ 1.โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา และจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง 2.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม  มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ ในการป้องกัน ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน สถานศึกษาตรวจคัดกรองเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ

         

        

 

ส่วนกลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ ได้แก่ 1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว นิยามคือ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นในหรือนอกที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร สถานที่สาธารณะ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และคาดว่าเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ในช่วงฤดูหนาวตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2562 - 29 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่ามีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังฯ 37 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน 25 ราย และนอกบ้าน 12 ราย (นอนบนเตียงไม้หน้าบ้าน นอนในเปล นอนในเรือ) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่มหรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ตามลำดับ  สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอและอยู่อาศัยในที่อบอุ่น งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงไม่ห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น

         

2.การขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย ซึ่งฤดูหนาวจะมีประชาชนท่องเที่ยวตามภูเขาและยอดดอย และพักผ่อนในเต็นท์ โรงแรม หรือรีสอร์ต โดยเรื่องที่น่าห่วงคืออาจได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมของในปริมาณมากจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน ข้อมูลปี 2562 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พบว่ามีรายงาน 4 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

 

ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและอุปกรณ์ทำความอบอุ่นต่างๆ ในการป้องกันคือ ไม่ควรจุดตะเกียงหรือเตาไฟที่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายในเต็นท์และภายในที่พักอาศัยที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอ เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต ควรมีการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส มีช่องหรือพัดลมระบายอากาศที่ได้มาตรฐาน ติดป้ายเตือนอันตราย และข้อควรปฏิบัติในการใช้งานอย่างชัดเจน ควรเว้นระยะเวลาการอาบน้ำต่อกันหลายคนอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และสถานประกอบการควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและรีบออกจากห้องน้ำ หรือพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่างๆ รวมถึงสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/904219?anf=

    คุณเป็นเหมือนคนจำนวนมากที่ชอบดื่มกาแฟเพื่อเพิ่มพลังในตอนเช้า และนั่นก็เป็นสิ่งแรกที่คุณต้องดื่มกาเฟอีนที่แสนจะเข้มข้นหลังจากนอนหลับไม่สนิทมาทั้งคืน แต่การทำเช่นนั้นอาจส่งผลเสียในภายหลังต่อสุขภาพของคุณ เพราะการดื่มกาแฟก่อนอาหารเช้าหลังจากที่คุณนอนไม่หลับจะไปขัดขวางการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของคุณ 
    ตามผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Nutrition ที่เผยแพร่เพื่อเป็นเกียรติแก่วันกาแฟสากล ได้ระบุว่า “การดื่มกาแฟก่อนอาหารเช้าหลังจากนอนหลับไม่ดีอาจขัดขวางการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด”
    นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาธ (Bath) ในอังกฤษ ได้ดูสุ่มตรวจดูตัวอย่างเลือดจากผู้ใหญ่ 29 คนในการทดลองข้ามคืนต่อเนื่องกันสามครั้ง เพื่อเปรียบเทียบการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของพวกเขาในตอนเช้า หลังจากนอนหลับสบายหรือหลับไม่สนิทในการบริโภคอาหารเช้า
    ซึ่งขั้นตอนในการทดสอบนั้นจะให้ผู้เข้าร่วมนอนหลับปกติ ซึ่งหลังจากตื่นเช้าแล้วก็ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลพร้อมด้วยกลูโคสและแคลอรีในปริมาณที่เพียงพอ โดยจำลองให้อยู่ในรูปแบบของอาหารเช้าทั่วไปที่คุณต้องรับประทานก่อนออกจากบ้าน 
    และอีกรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมทดลองจะได้ทดสอบนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่นอนหลับไม่สนิท (ตื่นทุกๆ ชั่วโมง) และก่อนนอนก็มักจะชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ซึ่งหลังจากตื่นนอนจะให้ดื่มกาแฟสูตรเข้มข้นเป็นเวลา 30 นาที ตามด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ซึ่งผู้เข้าร่วมการทดลองในแต่ละคนนั้นจะได้ทดสอบทั้ง 3 ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น 
    ทั้งนี้นักวิจัยได้พบว่า การดื่มกาแฟที่มีส่วนผสมของกาเฟอีนประมาณ 300 มิลลิกรัม จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ก่อนที่จะรับประทานอาหารเช้าด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ ก็คือว่าระดับการควบคุมน้ำตาลในเลือดของเราจะทำงานได้ลดลง ก็ต่อเมื่อเราได้ดื่มกาแฟหลังจากที่ตื่นนอนในตอนเช้า ที่สำคัญคุณก็นอนหลับไม่สนิทด้วยเช่นกัน 
    ด้าน “เจมส์ เบลล์” ผู้ดูแลการศึกษาและเป็นผู้อำนวยการร่วมของศูนย์โภชนาการ การออกกำลังกายและการเผาผลาญที่มหาวิทยาลัยบาธ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราอาจปรับปรุงสิ่งนี้โดยการกินอาหารเช้าก่อนแล้วค่อยดื่มกาแฟทีหลัง ถ้าเรารู้สึกว่ายังต้องการกาเฟอีน ซึ่งข้อควรรู้ดังกล่าวนี้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สำคัญสำหรับเราทุกคน"
    ที่ลืมไม่ได้นั้น คนรักสุขภาพที่เป็นคอกาแฟทั้งหลายไม่ควรเข้านอนไปพร้อมๆ กับความรู้สึก หวาดระแวงเกี่ยวกับโทษของการซดถ้วยกาแฟมากเกินไป เพราะโดยทั่วไปแล้วการดื่มกาแฟในระดับที่ปลอดภัยนั้น คือต้องไม่เกิน 5 แก้วต่อวัน ที่สำคัญผลการวิจัยก่อนหน้านี้ก็ได้ออกมาบอกว่า ประโยชน์ของกาเฟอีนนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ 
    จากการศึกษาพบว่า ข่าวดีเกี่ยวกับผลวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับไม่สนิทเพียงข้ามคืน อาจจะไม่ส่งผลด้านลบต่อการระบบการเผาผลาญในร่างกาย หากว่าผู้เข้าร่วมทดสอบนั้นกินอาหารเช้า 
    ขณะที่การวิจัยก่อนหน้านี้ได้ค้นพบว่า หากคุณนอนไม่หลับต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้คุณมีปัญหาเรื่องของการเผาผลาญพลังงานในร่างกายได้ แต่ผลการวิจัยล่าสุดได้ออกมาบอกว่า ร่างกายของเราสามารถฟื้นตัวได้เพียงแค่ข้ามคืนเท่านั้น 
    ด้าน “แฮร์รี สมิท” หัวหน้านักวิจัยของการศึกษา กล่าวว่า “จากการผลการวิจัยที่เกิดขึ้นมันทำให้เราค่อนข้างมั่นใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ในการที่คุณนอนหลับไม่สนิท ที่จำเป็นจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมให้มากกว่านี้ เพื่อหาผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพในอนาคต หากว่ายังไม่สามารถข่มตานอนหลับได้อย่างสนิท”
    หัวหน้านักวิจัยคนเดิมยังได้บอกอีกว่า เราจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการนอนหลับที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว เช่น หากคุณนอนไม่หลับติดต่อกันนานแค่ไหนจึงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณ หรือการนอนไม่พอติดต่อกันนานแค่ไหนที่จะทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายของเราทำงานได้ลดลง ที่สำคัญผลกระทบต่อร่างกายจะมีอะไรบ้าง นอกจากนี้เราจะต้องออกกำลังกายอย่างไรจึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ เป็นต้น.

 

บทความจาก https://www.thaipost.net/main/detail/80173

ไทยจ่อซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 66 ล้านโดส 2.93 พันล้าน ครอบคลุม 33 ล้านคน ภายในปีหน้า

 

สื่อนอกตีข่าวไทยจ่อซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 66 ล้านโดส 2.93 พันล้าน ครอบคลุม 33 ล้านคน ภายในปีหน้า รอ ครม.อนุมัติงบประมาณกลาง หรือ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อโควิด

สื่อจีนรายงาน (5 ตุลาคม 2563) กระทรวงสาธารณสุขของไทย เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวประจำวันว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติวางแผนจัดสรรเงิน 2.93 พันล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) จำนวน 66 ล้านโดส ภายในปีหน้า

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วัคซีน 66 ล้านโดสจะครอบคลุมถึงคนไทย 33 ล้านคน หรือราวร้อยละ 50 ของประชากรในประเทศ

พรรณประภา กล่าวว่า “คณะกรรมการฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน ตัดสินใจสำรองวัคซีนโดยใช้ 2 แนวทาง”

ผู้ช่วยโฆษก ระบุว่า “แนวทางแรก คือ การจองวัคซีนผ่านโคแวกซ์ (Covax) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก (WHO) กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรไทย”

ด้านวัคซีนลอตที่สองจะได้จากการจองผ่านผู้ผลิต 10 รายในสหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร และรัสเซีย โดยประเทศเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ในมนุษย์แล้ว

ด้านสถาบันวัคซีนแห่งชาติของไทยเชื่อว่าวัคซีนโรคโควิด-19 จะพร้อมวางจำหน่ายภายในปีหน้า

อย่างไรก็ดี งบจัดซื้อวัคซีนจำนวน 2.93 พันล้านบาท ยังต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่างบดังกล่าวควรมาจากงบประมาณกลาง หรือ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อโควิด

ทั้งนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยว่า วัคซีนจะถูกส่งมอบโดยแบ่งเป็นลอตๆ เพื่อที่จะสามารถชำระเงินในรูปแบบผ่อนชำระได้ โดยวัคซีนจะถูกจัดสรรให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในแนวหน้าก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 มากที่สุด

 

คนเป็นโควิด ไม่ใส่หน้ากากอนามัย แพร่เชื้อให้คนปกติ ที่ใส่หน้ากากอนามัยได้ 70%
.
คนเป็นโควิด ใส่หน้ากากอนามัย แพร่เชื้อให้คนปกติที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยได้ 5%
.
ต่างคนต่างใส่หน้ากากอนามัย ส่งผ่านเชื้อกันได้ 1.5%
.
หลายคนมีเชื้อโควิดโดยไม่มีอาการ
.
#พึงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด

Cr. ปู จิตกร บุษบา