หมอเตือน "โควิด" สงกรานต์2565 หลังเอเชียเสียชีวิตสูงสุด ต้องวางแผนแบบไหน?
 
 

เตือน "โควิด" ช่วงสงกรานต์หวั่นลามเป็นโดมิโน่ ยืดเยื้อ รุนเเรง การระบาดฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ส่วนสถานการณ์ "โควิด" ทั่วโลกยอดติดเชื้อทะลุ 492 ล้านรายแล้ว

สถานการณ์ "โควิด" ยอดติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 492 ล้านรายแล้ว ส่วนสถานการณ์ในประเทศจะรุนเเรงต่อเนื่อง และลากยาว การระบาดฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น หยุดสงกรานต์นี้ จะเป็นตัวชี้วัดการระบาดจะยืดเยื้อ รุงเเรง เกิดเป็นโดมิโน่หรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 683,755 คน ตายเพิ่ม 2,235 คน รวมแล้วติดไปรวม 492,272,263 คน เสียชีวิตรวม 6,178,361 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้  เยอรมัน เวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงยอดผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ที่พุ่งทะลุ 492 ล้านคนแล้ว  

 

โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.55
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 44.69 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.65
 

สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน จำนวนติดเชื้อ "โควิด" ใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก

จากสถานการณ์ไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากการระบาดช้ากว่าประเทศอื่น ซึ่งฐานข้อมูลของ Worldometer ดูใน 10 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อสะสมสูงสุดของเอเชีย จะพบว่าทุกประเทศมีกราฟการระบาดขาลงชัดเจน ยกเว้นประเทศไทย แม้จะลองพิจารณาดู 10 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อรายวันสูงสุดของเอเชียเมื่อวานนี้ ก็จะพบลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวของไทยเราเป็นสถิติการติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) ที่รายงาน แต่ยังไม่นับรวม ATK ในแต่ละวัน ลักษณะข้างต้นสะท้อนว่า การระบาดในประเทศยังเป็นไปอย่างรุนแรง ต่อเนื่อง และมีโอกาสลากยาวดังที่เคยวิเคราะห์ อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องธรรมชาติของขาลงที่จะยาวนานกว่าขาขึ้น ร่วมกับผลจากนโยบายและมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ร่วมกับการประชาสัมพันธ์สร้างภาพให้คนมองว่าเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดาจึงส่งผลให้พฤติกรรมการป้องกันไม่เคร่งครัดเพียงพอ ทำให้เห็นลักษณะการระบาดที่ไม่สามารถกดลงได้เหมือนประเทศอื่นๆ และคาดว่าจะส่งผลให้ไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการระบาดช้ากว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงและความยืดเยื้อของการระบาดครั้งนี้ หากป้องกันตัวไม่ดีพอ สถานการณ์จะแย่ลงได้ และจะเกิดผลเป็นโดมิโน่ เนื่องจากระยะถัดไปคือมีการเปิดเรียนในเดือนพฤษภาคม

รศ.นพ.ธีระ ยังระบุทิ้งท้ายด้วยว่า "สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อตัวคุณและครอบครัวเถิดครับ"

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510340?adz=

 
"อาการโควิดลงปอด" เช็คก่อนสาย ลองสังเกตดี ๆ พร้อมบอกวิธีดูอาการเบื้องต้น 

สังเกตก่อนสาย "อาการโควิดลงปอด" อาการรุนแรงหลังรับเชื้อโควิด19 พร้อมบอกวิธีเช็คเบื้องต้นก่อนอาการทรุดหนักเสี่ยงเสียชีวิต

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่กลับเข้าสู่ช่วงนิวไฮอีกครั้ง ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อติดแล้วอาการจะไม่รุนแรง แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 769 ราย  ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,854 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย.65) โดยส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากภาวะการติดเชื้อโควิด19ลงปอด ดังนั้น เพื่อเป็นการเช็คตัวเองเบื้องต้น วันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวม "อาการโควิดลงปอด" ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโควิด มาให้ได้ลองเช็คอาการของตัวเองเบื้องต้น ทั้งนี้เมื่อเชื้อโควิดลงปอดไปแล้วปอดจะถูกทำลาย ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง และทำให้เนื้อปอดไม่สามารถทำงานได้ในที่สุด เหากอาการหนักอาจจะอันตรายถึงชีวิต

 

วิธีสังเกต "อาการโควิดลงปอด" ผู้ติดเชื้อ หรือญาติสามารถสังเกต ได้ดังนี้ 

1. แน่นหน้าอก
 2. หายใจลำบาก
 3. เหนื่อย หอบ แม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงกระทำการใดก็ตาม
 4. ไข้ขึ้นมากกว่า 37.5°C ขึ้นไป
 5. มีอาการไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
 6. ค่าออกซิเจนในเลือดไม่ควรมีระดับต่ำกว่า 95% และควรวัดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
 7. หากมีค่าออกซิเจนในเลือดระดับต่ำกว่า 94% ให้วัดค่าออกซิเจนในเลือดทันที หลังจากการลุกนั่งในเวลา 1 นาที หรือการกลั้นหายใจ ในเวลา 10 – 15 วินาที 

วิธีเช็ค "อาการโควิดลงปอด" หรือไม่

เดินไปมา ลุกยืนหรือลุกนั่ง 3 ครั้ง หรือ กลั้นหายใจ 10 – 15 วินาที หากทำแล้วเหนื่อย และวัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94 ลงไป ให้สงสัยว่าเชื้อโควิดลงปอดไว้ก่อน

การรักษา "อาการโควิดลงปอด"

1. การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งตัวเพิ่มเติม และทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้อักเสบ เพื่อลดการอักเสบภายในร่างกาย
 

2. การใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะบริเวณเนื้อปวดที่ถูกทำลาย หรือปอดมีอาการบวมน้ำ
 

3. ใช้เครื่องปอด - หัวใจเทียมแบบเคลื่อนย้าย (Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรือ ECMO ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้ สามารถฟอกโลหิตของผู้ป่วยแล้วเติมออกซิเจนเข้าไป ก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย 

ที่มา :   โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลศิครินทร์  

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510340?adz=

เจอไม่จบ "ติดโควิด" อาการ "สมองเล็กลง" ในไม่กี่เดือน จาก 1-10 ปี ตามธรรมชาติ 

เจอไม่จบ ผลวิจัยจากอังกฤษ เผยข้อมูลใหม่ "ติดโควิด" อาการ "สมองเล็กลง" ในไม่กี่เดือน จากที่ต้องใช้เวลา 1-10 ปี ตามธรรมชาติ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบง่าย ๆ ซึ่งนอกจากอาการ "ติดโควิด" ที่ต้องเจอแล้ว อาการหลังหายจากโควิด หรือ ภาวะ Long Covid ก็ดูเหมือนว่า รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งจากข้อมูลอาการ Long Covid หลัก ๆ คือ ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น แต่โรคเจ้าปัญหานี้ นอกจากจะมีผลกับระบบทางเดินหายใจแล้ว อาการที่เจอใหม่คือ "สมองเล็กลง" ได้ด้วย

 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ทำการศึกษาแบบโดยเปรียบเทียบผลการสแกนสมองของคนอายุ 51-81 ปี จำนวน 785 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ 401 คน และอีก 384 คนไม่เคยติดเชื้อโควิด-19

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อแล้ว กลุ่มผู้ที่ "ติดโควิด" มีภาวะ "สมองเล็กลง" หรือการหดตัวของสมองโดยรวมมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบการการหดตัวของสมองส่วนเนื้อสีเทา (Gray Matter) พบความเสียหายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เชื่อมโยงกับกลิ่นและสมรรถภาพของจิตใจ ซึ่งพบเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรก

ผลการสแกนเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมองหลังติดเชื้อโควิด-19 ที่นักวิทย์พบ ได้แก่

ความหนาของสมองส่วนสีเทาลดลง มีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในคอร์เทกซ์ออร์บิโทฟรอนทัลและไจรัสพาราฮิปโปแคมปัล โดยคอร์เทกซ์ออร์บิโตฟรอนทัลเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ควบคุมอารมณ์ ความผันผวนของอารมณ์ ความรู้สึกเศร้า มันยังเกี่ยวข้องกับการทำงานทางปัญญาและการตัดสินใจ ไจรัสพาราฮิปโปแคมปัลมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ของเราตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการดึงความจำและการรับรู้และการประมวลผลความเสียหายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เชื่อมต่อกับเยื่อหุ้มสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับกลิ่น ส่งผลให้รับกลิ่นไม่ได้หรือรับกลิ่นได้แย่ลงขนาดสมองโดยภาพรวมลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับผลการสแกนก่อนติดเชื้อโควิด-19

นักวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าผลกระทบจะเด่นชัดมากกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ "ติดโควิด" แต่ก็พบว่า ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่นกัน

ศ.กเวนาเอลล์ ดูโอด หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ในกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ แม้จะมีผู้ที่ติดเชื้อไม่รุนแรงมากถึง 96% แต่เราก็พบว่า กลุ่มนี้มีการสูญเสียปริมาณสมองเนื้อสีเทา มีความเสียหายของเนื้อเยื่อ และมีอาการเรื้อรังโดยเฉลี่ย 4.5 เดือนหลังการติดเชื้อ พวกเขายังมีสมรรถภาพของจิตใจลดลงในการทำงานที่ซับซ้อนและการเสื่อมสภาพของจิตใจนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองเหล่านี้”

นักวิจัยระบุว่า การหดตัวของสมองปกติไม่ใช่เรื่องแปลก สมองของเราจะหดตัวอยู่แล้วเมื่อเราอายุมากขึ้น คนเราจะสูญเสียสมองส่วนส่วนสีเทาทุกปี โดยเฉลี่ยระหว่าง 0.2-0.3% ต่อปี แต่ผลการศึกษาใหม่นี้พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้สูญเสียสมองส่วนสีเท่าระหว่าง 0.2-2% เท่ากับว่า การติดโควิด-19 อาจทำให้สมองของเราเล็กลงในไม่กี่เดือน จากที่ต้องใช้เวลา 1-10 ปีตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงจะสรุปออกมาเป็นภาพรวมได้ และต้องดูว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ทั้งนี้ การศึกษาได้ดำเนินการในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร จึงยังไม่ทราบผลของโควิด-19 สายพันธุ์อื่นต่อสมองในรูปแบบนี้ และยังไม่ทราบด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันหรือรักษาการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองได้หรือไม่

ซึ่งข้อมูลนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เคยระบุว่า ภาวะ "Long COVID"  กับปัญหาด้านความจำและจิตเวชXie Y และคณะ ทำการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ 153,848 คน ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน และเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อ เพื่อศึกษาว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตเวชมากน้อยเพียงใดในช่วง 12 เดือนถัดมาเผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับโลก British Medical Journal สาระที่สำคัญมากมีดังนี้

  • หนึ่ง การติดเชื้อมาก่อนจะทำให้เสี่ยงต่อโรคจิตเวชมากขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 39%, เสี่ยงต่อภาวะเครียดมากขึ้น 35%, เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านความจำมากขึ้น 80% และมีปัญหาด้านการนอนหลับมากขึ้น 41%
  • สอง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาจิตเวชต่าง ๆ ตามมา มากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 1.43 เท่า 

ขอบคุณที่มา Al Jazeera

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510376?adz=

WHO ระบุ ผู้ป่วย "โควิด-19" แบบเฉียบพลัน จะเกิดอาการ "Long COVID" ได้ ร้อยละ 10-20 พบเกิดขึ้นทันทีหลังฟื้นตัว เร่งศึกษาเพิ่มเติมถึงผลระยะยาว

เพจ World Health Organization Thailand เผยแพร่ข้อความถึงอาการของ ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายจะประสบกับ "กลุ่มอาการหลังโควิด-19" ซึ่งประกอบด้วยอาการเรื้อรังจำนวนมาก เราเรียกสิ่งนี้ว่า "ภาวะหลังโควิด-19" หรือ "Long COVID" อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 แบบเฉียบพลัน หรืออาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่เริ่มป่วยและยังคงไม่หายไป

อาการเหล่านี้อาจผันผวนหรือกลับมาอีกเมื่อเวลาผ่านไป ภาวะหลังโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการในช่วงแรกก็ตาม

ในบรรดา 200 อาการที่มีการรายงาน อาการที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หายใจไม่อิ่ม สมองล้า และอ่อนเพลีย ส่วนอาการที่พบได้ไม่บ่อยเท่า ได้แก่ เจ็บหน้าอก มีปัญหาในการพูด วิตกกังวลหรือซึมเศร้า ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ สูญเสียการได้กลิ่นและการรู้รสชาติ

รายงานเบื้องต้นระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณร้อยละ 10-20 จะยังคงมีอาการเรื้อรังเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยกลุ่มใดที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบระยะยาวเหล่านี้ และเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของภาวะดังกล่าวมากขึ้น

"Long COVID" อาการ 3  อันดับแรกเจอบ่อยสุด พบทันทีหลังฟื้นตัว WHO เร่งศึกษา

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 (ทั้งที่ได้รับการยืนยันและสงสัยว่าติด) ควรได้รับการดูแลและติดตามหากพบว่าตนมีอาการเรื้อรัง อาการใหม่ หรืออาการที่เปลี่ยนแปลงไป และควรได้รับการดูแลในหลายมิติ ทั้งจากผู้ให้บริการปฐมภูมิ (บุคลากรทางการแพทย์) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่จิตสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

เรายังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับอาการลองโควิด เพราะเรายังไม่เข้าใจสาเหตุและการก่อตัวของอาการ อย่างไรก็ตาม หากเราเข้าใจกลไกของโรคได้ดีขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวิธีการรักษาที่ตรงจุดได้

องค์การอนามัยโลกกำลังทำงานอย่างเร่งด่วนกับนักวิจัยเพื่อปรับปรุงระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานเกี่ยวกับภาวะหลังโควิด-19 โครงการศึกษาภาวะหลังโควิด-19 (Post-COVID Condition Core Outcomes) จะศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดและค้นหาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เราต้องวัดผลเพื่อทำความเข้าใจและรักษาอาการดังกล่าว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เพจ World Health Organization Thailand

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510315?adz=

 

 
แนะเฝ้าระวังไวรัสลูกผสมBA.1 กับ BA.2 (ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย X-)
 
"ดร.อนันต์" เผยในหลายประเทศพบไวรัสลูกผสมระหว่าง BA.1 กับ BA.2 (ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย X-) ระบุ XE เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่ได้ไวที่สุด และต้องเฝ้าระวังไวรัสตระกูล X- ทั้งหลาย

วันนี้ (2 เม.ย.2565 ) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) โพสผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana ระบุว่า

ไวรัสลูกผสมระหว่าง BA.1 กับ BA.2 (ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย X-) ตอนนี้พบเกิดขึ้นออกมาหลายรูปแบบในหลายประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำชิ้นส่วนสารพันธุกรรมด้านหน้า

ซึ่งกำหนดการสร้างโปรตีนที่ไวรัสใช้เพิ่ม RNA สำหรับประกอบเป็นอนุภาคภายในเซลล์ ของไวรัส BA.1 ไปรวมกับชิ้นส่วนสารพันธุกรรมด้านหลัง ของ BA.2 ซึ่งกำหนดการสร้างโปรตีนโครงสร้าง

แนะเฝ้าระวังไวรัสลูกผสมBA.1 กับ BA.2 (ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย X-)

ไวรัสลูกผสม BA.1 กับ BA.2 (ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย X-)

เช่น โปรตีนหนามสไปค์ โปรตีนโครงสร้างสำหรับพยุงอนุภาค (Membrane) นิวคลีโอแคปซิด (Nucleocapsid) ที่ใช้ปกป้อง RNA ในอนุภาคไวรัสและเราใช้ตรวจ ATK

นอกจากนี้ยังมีโปรตีนตัวเล็กตัวน้อยๆต่างๆอีกหลายชนิดที่หน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นตัวต่อต้านภูมิคุ้มกันจากโฮสต์ ดังนั้นไวรัสลูกผสมเหล่านี้จะมีหน้าตาภายนอกเหมือน BA.2 ทุกประการ

แนะเฝ้าระวังไวรัสลูกผสมBA.1 กับ BA.2 (ตระกูลที่ขึ้นต้นด้วย X-)

แต่เมื่อติดเชื้อเข้าสู่เซลล์แล้ว กลไกอาจจะแตกต่าง เพราะคุณสมบัติของโปรตีนที่ใช้เพิ่มอนุภาคไปเหมือน BA.1 มากกว่า จะแตกต่างในกลไกไหน มากหรือน้อยจาก BA.2 ปกติอย่างไร ยังไม่มีข้อมูลอะไรมายืนยัน ณ ตอนนี้

แนะเฝ้าระวังไวรัสตระกูล X- ทั้งหลาย

ในบรรดา X- ทั้งหลาย มีอยู่หนึ่งรูปแบบที่ WHO ออกมาบอกว่าอาจมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ชื่อว่า XE โดยไวรัสรูปแบบนี้มีส่วนด้านหน้ายาวไปถึง ตำแหน่งที่ 11537 หรือส่วนที่สร้างโปรตีน NSP6 มาจากไวรัส BA.1 และ หลังจากนั้น คือ NSP7 เป็นต้นไป จะมาจาก BA.2 โดยเอกสารจาก WHO ระบุว่าข้อมูลเบื้องต้นพบว่า XE จะมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ไวกว่า BA.2 ปกติ ไปอีก 10%

เนื่องจาก BA.2 ถือเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ไวที่สุดตอนนี้ พอไปพบสายพันธุ์ลูกผสมที่มีแนวโน้มที่แพร่ได้ไวกว่า การพาดหัวข่าวก็จะออกมาแนวที่ว่า XE เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่ได้ไวที่สุด ซึ่งจริงๆแล้วข้อมูลจาก WHO ก็ยังมีน้อยเกินไปที่จะสรุปแบบนั้น แต่เห็นด้วยว่า ไวรัสตระกูล X- ทั้งหลายสมควรต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/997127?anf=

 
"โอไมครอน" แพร่เชื้อไว ไทยประมาท ทำเด็กโคม่าเยอะ เจอ Long COVID ซ้ำ
 
 

"โควิด" ระบาดหนัก พบทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้ว 489,523,949 คน หมอธีระ มองไทยประมาท "โอไมครอน" ส่งผลให้เด็กป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ค Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) โดยระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด" ซึ่งเมื่อวานทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 1,225,510 คน ตายเพิ่ม 3,578 คน รวมจำนวนผู้ติดเชื้อ 489,523,949 คน เสียชีวิตรวม 6,170,351 คน

โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อ "โควิด" สูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรปรวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.21 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.22 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 27.69 โดยสถานการณ์ระบาดของไทยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

ล่าสุด Wang L และคณะได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องความรุนแรงของ "โอไมครอน" และ "เดลตา" ในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี ลงใน JAMA Pediatrics เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2565 พบว่า "โอไมครอน" นั้นรุนแรงน้อยกว่า "เดลตา" เพราะมีความเสี่ยงที่จะไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินลดลง 16%, เสี่ยงต่อการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลลดลง 34%, เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าไอซียูลดลง 65%, และเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 85% แต่ตัวเลขข้างต้น หากอ่านเผินๆ ด้วยกิเลสและความประมาท จะทำให้เข้าใจผิด ไม่กลัว "โอไมครอน"

ข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้คือ "โอไมครอน" ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อไวกว่า "เดลตา" และมากกว่าถึง 7 เท่า ตัวเลขข้างต้นสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่ต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน นอนโรงพยาบาล เข้าไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงเสียชีวิตจึงมากกว่าเดิม นี่คือสถานการณ์จริงที่เราเห็นได้จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการระบาดหนัก 

นอกจากเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกหนักใจคือ แม้รักษาหายในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อ "โควิด" มาก่อนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า "Long COVID" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ทั้งเรื่องความคิดความจำ อารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และอื่นๆ จนนำไปสู่ความพิการ ทุพลภาพ ส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่ป่วย ครอบครัว และสังคมได้อีกด้วย ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

อ้างอิง
Wang L, Berger NA, Kaelber DC, Davis PB, Volkow ND, Xu R. Incidence Rates and Clinical Outcomes of SARS-CoV-2 Infection With the Omicron and Delta Variants in Children Younger Than 5 Years in the US. JAMA Pediatr. Published online April 01, 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510167?adz=

'ดร.สันต์' เตือนถ้าควบคุมโควิดไม่ได้จะติดเชื้อถึง 70% ของประชากรและเกิด ภูมิคุ้มกันหมู่แบบอินเดีย ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. ต้องสู้แบบเจ็บๆอีกนานกว่าจะจบ

1เม.ย.2565- ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง Covid-19: Wave#5 Omicron เดินหน้าสู่สงกรานต์ เตรียมพร้อมรับ India Model สู้แบบเจ็บๆอีกนานกว่าจะจบ มีเนื้อหาดังนี้

 

เวลาผ่านไป 3 เดือนใน Wave#5 ของ Omicron คำถามในใจผู้คนมากมาย
1. ไหนว่าจะขาลงมา 2 รอบแล้ว แต่ทำไมยังไม่ถึง Peak สักที
2. ติดเชื้อกันจริงๆวันละเท่าไหร่ คนรอบตัวติดเชื้อกันมากมายต่อเนื่อง
3. เมื่อไหร่จะจบสักที จะเข้าโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่
4. ทำอย่างไรถึงจะรอด
ผมมีคำตอบครับ จากการคำนวณและประมาณการณ์

สรุปสถานการณ์ที่ผ่านมา และกำลังเป็นไป: Past & Present
1. Wave#5 เป็นขาขึ้นตลอดตั้งแต่ 1 ม.ค. แต่ตรวจ RT-PCR น้อย ตัวเลขเลยขึ้นไม่สุด เห็นไม่ครบ ควบคุมโรคไม่ได้ หางเวฟจึงยาวมากๆไม่จบจนบัตนี้
2. ATK เริ่มตรวจลดลงไปมาก ตัวเลขรวมที่เคยขึ้น ก็กลับมาทรงตัว แต่ไม่ลงต่อ ทั้งๆที่สถานการณ์ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง
3. ชลบุรีขยันตรวจมาก จังหวัดเดียวเจอรวม PCR+ATK วันละเกือบ 10,000 แล้ว ถ้าขยันแบบนี้ทุกจังหวัด ตัวเลขทั่วประเทศน่าจะข้ามแสนไปแล้ว
4. คนที่ตรวจไม่เจอ ไม่ยอมตรวจ จะเป็นมดงานแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยค่อยๆเดินหน้าเข้าสู่ India Model แบบ Herd Immunity ที่จบแบบต้องสังเวยชีวิต หลายประเทศเป็นแบบนี้

ตัวเลขและกราฟ:
กทม.:
1. กราฟ %Increase ของ RT-PCR เป็นขาลงช้าๆที่ Time Constant ยาวนานถึง 84 วัน ซึ่งช้าเกินไป
2. กราฟผู้ติดเชื้อสะสมจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ใน 4 เดือนข้างหน้านี้
3. เราจะเห็นตัวเลข RT-PCR ระดับ 3,000 ต่อวันไปอีกนาน และอาจยกระดับขึ้นหลังสงกรานต์
4. ผู้ติดเชื้อที่แท้จริงในกทม. ถ้าดูจากอัตราการเสียชีวิตที่สูงเกินจริงถึง 0.4% ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ ที่แค่ 0.05 - 0.1% ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงต่อวันในกทม.ควรจะอยู่ที่ระดับ 10,000 - 30,000 คน
5. ถ้ากทม.ไม่จบ จังหวัดอื่นๆจะกลับมาระบาดซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทย: Present & Future
1. กราฟ %Increase ของ RT-PCR เป็นขาลงช้าๆที่ Time Constant ยาวนานถึง 65 วัน
2. กราฟผู้ติดเชื้อสะสมจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ใน 4 เดือนข้างหน้านี้
3. เราจะเห็นตัวเลข RT-PCR ต่อวันในระดับมากกว่า 20,000 ไปอีกอย่างน้อยถึง 15 มิ.ย. และยังคงมากกว่า 10,000 ไปจนถึง 1 ส.ค. แต่ตัวเลขอาจยกระดับขึ้นหลังสงกรานต์และเลวร้ายกว่านี้ ถ้าฉีด Booster ไม่พอ
4. กราฟ %Increase ของ RT-PCR+ATK เปลี่ยนแปลงลดลงเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว น่าจะมาจากการตรวจที่ลดลงมาก
5. Daily Case RT-PCR+ATK ถ้าคำนวณตามเส้นแนวโน้มเดิม วันนี้ 31/3/2022 ผู้ติดเชื้อน่าจะอยู่ที่ระดับ 130,000 คนต่อวัน ไม่ใช่ 40,000 -50,000 คนเท่าที่ตรวจพบ
6. อัตราการเสียชีวิตถ้าคำรวณจากฐานกราฟ RT-PCR+ATK 130,000 คน คิด Delay 19 วันจะได้ อัตราการเสียชีวิต 0.12% สอดคล้องกับระดับวัคซีนที่เป็นจริงและเท่าๆกับในต่างประเทศ
7. อัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลงจากระดับ 0.2% มาเข้าใกล้เส้น 0.1% ถ้าฉีด Booster ได้เพิ่ม อาจะลดลงได้ถึง 0.05% ซึ่งจะทำให้ผู้เสียชีวิต ในกรณีเลวร้ายสุดไม่เกิน 200 คนต่อวัน
8. การติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะตรวจเชื้อน้อย อาจไปถึงระดับวันละ 500,000 คน ช่วงปลายพ.ค. แต่เราจะไม่มีวันได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้
9. ถ้าฉีดวัคซีนมากพอ ตัวเลข RT-PCR สำหรับคนที่ต้องเข้ารพ. จะต่ำสุดได้ถึง 2% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ติดเชื้อจริง 500,000 RT-PCR ก็อาจลงต่ำได้ถึง 10,000 ต่อวัน
10. ถ้าควบคุมไม่ได้เลย เราจะติดเชื้อถึง 70% ของประชากรและเกิด Herd Immunity ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. 2022 แล้วการติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกด้วยผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 - 40,000 คน

India Model: ข่าวดีและข่าวร้าย
ข่าวดี:
เกิด Herd Immunity แล้ว เพิ่งผ่านเทศกาลละเลงสีมาโดยไม่เกิด Wave ใหม่เลย Omicron สามารถจบได้จริง
ข่าวร้าย:
เสียชีวิตรายงาน 521,159 ตัวเลขจริงจาก Excess Death น่าจะถึง 7 ล้านคน
ติดเชื้อรายงาน 43,024,440 คน ตัวเลขจริงอาจถึงพันล้านคนแล้ว
อายุเฉลี่ยประชากร 28 ปี เด็กกว่าไทยถึง 12 ปี ยังเจ็บขนาดนี้

บทสรุปและทางเลือก:
1. ประเทศไทยตอนนี้เราตรวจเชื้อน้อย ควบคุมโรคไม่ได้แล้ว น่าจะไปทาง Herd Immunity แบบอินเดีย ผสมกับการฉีดวัคซีนให้อัตราการเสียชีวิตต่ำ
2. อาจจะเกิด Herd Immunity ในอีก 4 เดือนข้างหน้า ใครรักสุขภาพขอให้อดทนรอ เพื่อเป็น 30% สุดท้ายที่อาจรอดจากการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยก็เสี่ยงต่ำ
3. ความสำเร็จในการชะลอการระบาดและเร่งฉีด Booster ที่ผ่านมาทำให้ผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นราวๆ 20,000 -40,000 คน น้อยกว่ากรณีฉีดไม่ทันมากที่ระดับ 1-2 แสนคน
4. คน 3 ประเภท คนรักสุขภาพ ขอให้อดทนเก็บตัวอีก 4 เดือน คนอดทนไม่ไหวก็ไปฉีดวัคซีนให้ครบ แล้วยอมรับความเสี่ยง คนไม่ยอมฉีดวัคซีนและอดทนไม่ไหว ก็จะเสี่ยงตายมากกว่าคนอื่นๆ 10 - 40 เท่า

พวกเราอยู่ใน Wave Omicron นี้ที่ใครๆก็ชอบบอกว่ามันจะสั้น ขึ้นเร็วลงเร็ว แต่เวลา 3 เดือนได้พิสูจน์แล้วว่า Wave มันไม่ลงถ้าไม่ควบคุมโรคจริงจัง ไม่ฉีดวัคซีนที่ดีและมากพอ ไม่ปฏิบัติตามกฎอะไรกันเลย และใช้ชีวิตกันด้วยความประมาทเต็มที่ แต่ถึงอย่างไรมันก็ผ่านมาแล้ว สายเกินกว่าจะแก้ไขหรือกลับไป Lockdown ทุกอย่างจะต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่มาอีก มันจะจบภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ละคนก็จะสามารถเลือกวิธีจบได้แตกต่างกันไป ณ วินาทีนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว ผู้ใดแข็งแกร่ง ผู้นั้นอยู่รอด ผู้ใดโชคดี ผู้นั้นก็อยู่รอด แต่ถ้าไม่อยากเพิ่งโชคมากนัก ก็ไปฉีดวัคซีนให้ครบ แล้วดูแลสุขภาพครับ

ปล. คำว่าจบที่ว่า น่าจะยังมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องวันละหลายหมื่นคน ผู้เสียชีวิตวันละหลายสิบ ในแต่ละปีโควิดจะเป็นสาเหตุการตายหลายหมื่นคน เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเท่านั้น แต่ชีวิตพวกเราส่วนใหญ่จะกลับมาเดินหน้าไปได้ตามปกติครับ นี่คือ Endemic ที่อาจไม่ได้สวยหรู แต่ก็ต้องจำใจอยู่กับมันครับ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/115725/

2022 04 04 10 27 23

 

สปสช. แนะนำ 5 วิธีเอาตัวรอดจากโควิด-19 ในสถานที่ทำงาน หากท่านตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ใช้สิทธิแบบไหน รักษาอย่างไร

ไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการคลุกคลี เข้าใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยติดเชื้อผ่านละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยติดเชื้อ จากการจาม ไอ หรือการสัมผัส ซึ่งวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเราเอง คือ

– อย่าเอามือปิดปากเวลาไอหรือจาม เนื่องจากทำให้เชื้อโรคติดมือ และมือของเรานี่เองที่จะไปสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เช่น ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ และทำให้ผู้อื่นที่มาสัมผัสต่อเสี่ยงที่จะติดเชื้อตามไปด้วย

– ใช้ทิชชู่ปิดปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคกระจาย และควรนำทิชชูนั้นไปทิ้งถังขยะที่มีฝาปิด

– หากไม่มีทิชชู ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก ด้วยการนำแขนข้างใดข้างหนึ่งมาจับไหล่ฝั่งตรงข้ามของตัวเอง

– เมื่อไอ จาม แล้วต้องรีบล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทันที

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ 5 วิธี อยู่ที่ทำงานอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ดังนี้

1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ที่ปฏิบัติงาน และล้างมือบ่อยๆ

2. หมั่นทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์ โต๊ะทำงาน

3. ใช้รูปแบบออนไลน์ แทนการรวมกลุ่มพูดคุยหรือการประชุม

4. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม
 

5. แยกกันกิน และเว้นระยะห่าง ระหว่างกันกับผู้ร่วมงาน

หน่วยงานควรพิจารณาใช้มาตรการ Work From Home ให้มากที่สุด โดยเฉพระกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น กรณีสงสัยว่าเป็นกลุ่ม เสี่ยงแนะนำให้เร่งตรวจ ATK เพื่อยืนยัน หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด-19 ให้ดำเนินการดังนี้

1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (สีเขียว) รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ หรือไปรับยาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ-สถานพยาบาลรัฐใกล้บ้าน (เจอ แจก จบ) และกักตัวอยู่ที่บ้าน 10 วัน การใช้สิทธิรักษา มีดังนี้

- สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.)  ติดต่อไปที่สถานพยาบาลประจำที่ท่านลงทะเบียนไว้ หรือไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ 

โรงพยาบาลเอกชน ที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช.

- สิทธิประกันสังคม ไป รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง และสถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง (สายด่วน 1506)

- สิทธิข้าราชการ ไป สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และ รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. (สายด่วนกรมบัญชีกลาง 02-2706400 วัน-เวลาราชการ)

2.กลุ่มที่มีอาการปานกลางถึงอาการหนัก (กลุ่มสีเหลือง-สีแดง) ทุกสิทธิการรักษาใช้สิทธิ UCEP Plus เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ สถานพยาบาลรัฐ-เอกชน ที่อยู่ใกล้ได้

3.กลุ่มเปราะบาง 608 หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็กอายุ 0-5 ขวบ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่เป็นสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิ สปสช.) และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โทร. 1330 ประเมินอาการเข้าระบบรักษาที่บ้าน

สำหรับหมายเลขโทรศัพท์ ที่ควรบันทึกไว้กรณีตนเองหรือคนใกล้ชิดติดเชื้อ ได้แก่

- เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669

- ประกันสังคม โทร. 1506

- บัตรทอง-อปท. โทร. 1330

- ข้าราชการ โทร. 02-270-6400

- สอบถามสิทธิ UCEP Plus 028721669

 

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/109597/?utm_source=Lineidol&utm_medium=message&utm_campaign=Lineidols

 
"โอไมครอน" เก่งกาจขนาดไหน ฉีด 3 เข็ม แถมติดเดลตามาแล้ว ยังเอาไม่อยู่
 
 

"หมอมนูญ" ยกเคสความเก่งกาจของ "โอไมครอน" ฉีดวัคซีน 3 เข็ม แถมติดโควิดเดลตา ได้ยาต้านอย่างดีมาแล้ว ยังเอาไม่อยู่

"หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ต้องยอมรับเชื้อไวรัสโควิด "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" เป็นสายพันธุ์ที่เก่งจริง ๆ

สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจากเคยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบ 2 เข็มแล้วตามด้วยเข็มกระตุ้น หรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ หรือเคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดี REGEN-COV มาก่อน ซึ่งสามารถจะเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อเดลตาซ้ำอีก และอยู่ในร่างกายได้นานถึง 8 เดือน

"หมอมนูญ" ยกเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 90 ปี เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ กินยาละลายลิ่มเลือด ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม 
เดือนมิถุนายน และสิงหาคม 2564 ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาวันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล ตาแดง เนื่องจากคนไข้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรง ได้ให้โมโนโคลนอลแอนติบอดี REGEN-COV ทางเส้นเลือด ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นเร็วมาก กลับบ้านได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังหายแล้ว ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์อีก 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเดือนกุมภาพันธ์ 2565

วันที่ 24 มีนาคม 2565 มีอาการไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก ไอบ้าง ไม่เจ็บคอ ไม่เหนื่อย วัดระดับออกซิเจนปกติเอ็กซเรย์ปอดปกติ ตรวจ ATK ให้ผลบวก เนื่องจาก
มีอาการน้อยกว่าครั้งที่แล้วมาก ได้แนะนำให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน และกินยาตามอาการ ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ดีขึ้นเอง หายเป็นปกติใน 5 วัน

"หมอมนูญ" บอกว่า ผู้ป่วยรายนี้ขายของที่บ้าน มีคนมาซื้อของทุกวัน มีภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบโดสและได้เข็มกระตุ้นแล้ว เคยมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเมื่อ 5 เดือนก่อน เคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดีเมื่อ 5 เดือนก่อน ซึ่งสามารถจะอยู่ในร่างกาย มีภูมิต้านทาน และป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาซ้ำได้นานถึง 8 เดือน ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่า ประสิทธิภาพของโมโนโคลนอลแอนติบอดีชนิดฉีด REGEN-COV ต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนลดลงมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

"โอไมครอน" เก่งกาจขนาดไหน ฉีด 3 เข็ม แถมติดเดลตามาแล้ว ยังเอาไม่อยู่

ผู้ป่วยรายนี้อายุ 90 ปี เป็นเบาหวาน ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนซ้ำอีก มีอาการน้อยมากต่างจากครั้งแรก เพราะมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอ แม้จะป้องกันการ
ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/509854?adz=