Font Size
 
 

ศบค.พบคลัสเตอร์ Health Care Worker 3 โรงพยาบาลใหญ่ติดโควิด ทั้ง “ศิริราช กรุงเทพศริสเตียน พระราม 9” สธ.จับตาตัวเลขผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตพุ่ง  ระบุผู้เสียชีวิต 82 รายวันนี้ มี 6 รายได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้ว เหตุมีโรคประจำตัว ขณะที่ยอดฉีดเข็ม 3 ยังต่ำแค่ 32.6% ห่วง “สงขลา” อัตราครองเตียงพุ่งเกิน 58%

วันที่ 24 มีนาคม 2565 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 476,481,934 ราย อาการรุนแรง 60,711 ราย รักษาหายแล้ว 411,479,971 ราย เสียชีวิต 6,128,270 ราย

สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด (รวมย้อนหลัง 7 วัน) อันดับ 1.ยังเป็นเกาหลีใต้ จำนวน 2,797,983 ราย 2.เยอรมนี จำนวน 1,592,582 ราย 3.เวียดนาม จำนวน 1,075,132 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 729,229 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 549,708 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก จำนวน 173,314 ราย

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยรายใหม่ 27,024 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,227,545 ราย หายป่วยแล้ว 1,017,558 ราย เสียชีวิตสะสม 2,881 ราย โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 82 ราย

ขณะที่ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,450,980 ราย หายป่วยแล้ว 3,186,052 ราย เสียชีวิตสะสม 24,579 ราย

สธ.จับตาตัวเลขผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิต

“จะเห็นชัดเจนว่า การนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีเส้นกราฟที่ลากเป็นเส้นตรงยาว ถือว่ากราฟยังทรง ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจะเป็นตัวเลขของผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องเทียบเคียงกับระบบสาธารณสุขที่จะต้องรองรับด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สำหรับตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,553 ราย จากกราฟยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 583 รายก็ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังยืนอยู่ในระดับเกิน 80 รายมาหลายวันแล้ว โดยทำตัวเลขสูงสุดที่ 88 ราย/วัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา

พบคลัสเตอร์ Health Care Worker 3 รพ.ใหญ่ติดโควิด

สำหรับ 10 จังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,722 ราย รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช 1,746 ราย ชลบุรี 1,341 ราย ซึ่งตัวเลขลดลงแล้ว สมุทรปราการ 920 ราย สงขลา 861 ราย สมุทรสาคร 849 ราย ร้อยเอ็ด 730 ราย ระยอง 593 ราย ราชบุรี 592 ราย และฉะเชิงเทรา 574 ราย

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่ ศบค.ชุดเล็กหารือกันและมีความเป็นกังวลคือคลัสเตอร์กลุ่ม Health Care Worker หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข ซึ่งมีรายงานใน กทม. ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และโรงพยาบาลพระราม 9

“ส่วนโรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สถานประกอบการ ระยะหลังจะเห็นคลัสเตอร์ในกลุ่มนี้น้อยลงอย่างชัดเจน ถือได้ว่าผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการโรงเรียน หรือรวมไปถึงประชาชน ผู้ปกครอง มีความเข้าใจถึงความเข้มงวดในสถานศึกษา โรงงาน สถานประกอบการ จึงทำให้เห็นคลัสเตอร์กลุ่มนี้ลดน้อยลง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

ในส่วนที่ยังเป็นคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่องจะเป็นกลุ่มพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นที่มหาสารคามมีรายงาน งานบวช งานบุญแจกข้าวที่กาฬสินธุ์ งานบุญเดือนสี่ งานแต่งงานที่อุดรธานี

 

“สงขลา” อัตราครองเตียงพุ่ง

แต่ที่สาธารณสุขจะสนใจเป็นพิเศษคืออัตราครองเตียง คือถ้านับจากจังหวัดที่ติดเชื้อ 1-10 เทียบกับอัตราการครองเตียงจะพบว่าทั้งประเทศอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ที่ต้องรองรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ มีกลุ่มเสี่ยงสูงอายุ ยังอยู่ในเกณฑ์รองรับได้ โดยทั้งประเทศมีระดับครองเตียง 2-3 (เขียวอ่อน-เขียวเข้ม) อยู่ที่ 26.4% ยังสามารถรองรับผู้ป่วยระดับ 2-3 ได้อีกประมาณ70%

“แต่ใน 10 จังหวัดตอนนี้อัตราการครองเตียงที่น่าเป็นห่วงจะอยู่ที่จังหวัดสงขลา ตอนนี้มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 58.4% ถือได้ว่าใช้ไปเกินครึ่ง ขณะที่ใน กทม.ระดับการครองเตียงยังอยู่ที่ระดับ 32.3% และในบางจังหวัดอย่างนครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ อัตราการครองเตียงยังค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะมีการรายงานอัตราการติดเชื้อซึ่งก็ไม่เล็ก แต่ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อแข็งแรง อายุน้อย อาการไม่รุนแรง ทำให้สามารถรักษาที่บ้าน หรือโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์รักษาในชุมชนได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามอย่างใกล้ชิดถึงศักยภาพการครองเตียง”

พบ 6 รายฉีดเข็ม 3 เสียชีวิต

ส่วนรายละเอียดของผู้เสียชีวิต 82 รายในวันนี้เป็นชาย 46 ราย หญิง 36 ราย เป็นคนไทย 76 ราย เมียนมา 5 ราย อังกฤษ 1 ราย แต่อย่างที่เคยบอกสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอีกปัจจัยหนึ่งที่เน้นย้ำทุกครั้งคือการได้รับวัคซีน

โดยในวันนี้ผู้เสียชีวิต 82 ราย มีถึง 46 รายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 6 รายที่เพิ่งได้รับเข็ม 1 ไม่นานก็เกิดการติดเชื้อ และทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และมี 16 รายที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

“มี 6 รายที่เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่อาจจะได้รับไม่นานพอ ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับโรค ที่สำคัญในกลุ่มเสี่ยง 6 รายนี้ที่ได้รับเข็ม 3 แล้วเสียชีวิตก็เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวทุกรายด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และย้ำว่า

 

สิ่งสำคัญในช่วงนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว คงต้องช่วยกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง พาท่านเหล่านี้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ตัวเลขฉีดเข็ม 3 ยังต่ำ แค่ 32.6%

ส่วนผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 23 มีนาคม 2565 ณ เวลา 18.00 น. วานนี้ มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 71,997 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 19,010 รายเข็มที่ 3 จำนวน 113,164 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 23 มีนาคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 127,862,740 โดส (ตามกราฟิก)

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 55,044,107 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 50,162,888 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 22,655,745 ราย

“กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ขยับเท่าไร ถือได้ว่ายังต่ำอยู่คือ 32.6% เช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งหากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการป่วยหนัก ทั้งประเทศฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว 10 ล้านโดส คิดเป็น 79% แต่เข็ม 3 ของกลุ่มสูงอายุ 60 ปียังอยู่ที่ 33.6% ยังค่อนข้างน้อยและต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

สำหรับพื้นที่ที่ยังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นค่อนข้างน้อยได้แก่เขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ และอีกเขตได้แก่เขตที่ 12 ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ส่วนเขตที่มีการฉีดค่อนข้างสูงได้แก่เขตสุขภาพที่ 13 คือ กทม. ซึ่งเป็นเขตที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นไปตามแผน (ดูตารางด้านล่าง)

แพทย์หญิงอภิสมัยยังกล่าวถึงเรื่องเทศกาลสงกรานต์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงว่า หลายครอบครัวมีการวางแผนพาเด็กไปท่องเที่ยว ไปพบญาติผู้ใหญ่ มีการพบปะสังสรรค์ ที่ประชุมมีการหารือหลักการอยู่ร่วมกับโควิด โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขอความร่วมมือว่าการจัดงานสงกรานต์ได้ เดินทางข้ามพื้นที่ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ สังสรรค์ ร่วมงานประเพณีได้ แต่ต้องทำในลักษณะที่ดำรงวัฒนธรรมประเพณี อยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข งดการสาดน้ำ ปะแป้ง ห้ามจัดปาร์ตี้โฟม รวมทั้งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากนี้หากมีการไปเที่ยว จองที่พักโรงแรม ขอให้ระมัดระวังผู้ที่มีประวัติเสี่ยง หรือต้องมีการตรวจ ATK รวมถึงหลีกเลี่ยงเลี่ยงการรับประทานอาหารในพื้นที่ปิดและใช้เวลาร่วมกันนานๆ

ข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/general/news-894128