27 มี.ค.2565-รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า แอบทบทวนดูกันหน่อย…เอาแค่ยอด ATK ที่มีในระบบตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันนี้  ตรวจพบผลบวกไปแล้ว 1,391,104 คน(-ครั้ง?) หากรวมยอดติดเชื้อยืนยันสะสมจนถึงวันนี้ 3,529,085 คน รวมหลังแจ้งแล้วมีทั้งสิ้น = 3,529,085 + 1,391,104 = 4,920,189 คน อีกสองวัน ก็จะทะลุ 5 ล้าน ณ 29 มีนาคม 2565

คาดประมาณ Long COVID…จำนวนที่เป็นไปได้ 20-40% = 1-2 ล้านคน หักลบสรรพคุณของวัคซีน ลดลงไป 41% (ภายใต้สมมติฐานว่าวัคซีนเราดีเทียบเท่า mRNA vaccine regimens ที่ต่างประเทศศึกษาผลในการลดโอกาสเกิด Long COVID) ทำให้อาจเหลือ 590,000-1,180,000 คน แม้บางคนจะอ้างว่า โอกาสเป็นของเราดูจะน้อยกว่าฝรั่ง จะลองลดลงกี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป สุดท้ายก็คงเหลือหลายแสนคนที่จะมีโอกาสประสบปัญหา Long COVID ได้

 
 

เมื่อประเมินเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า ระดับประเทศจึงจำเป็นต้องเตรียมระบบสุขภาพเพื่อช่วยให้คำปรึกษา ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพ ให้แก่ผู้ป่วย Long COVID ที่กำลังจะทยอยพบตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงในอนาคต ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ก็ควรจะถามไถ่ ประเมินสถานะสุขภาพกันอย่างสม่ำเสมอ หากมีปัญหาผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อารมณ์ ภาวะจิตใจ แตกต่างจากอดีต ก็ควรปรึกษาแพทย์ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ สำหรับคนอื่นในสังคม การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระของสังคมอีกด้วย เป็น win-win-win situation

ป.ล. 1. ยังไม่นับที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้วไม่ได้รายงาน ซึ่งอาจจะมีอีกจำนวนมาก 2. แม้จะอ้อมแอ้มอ้างว่าบางส่วน ATK เป็นบวก จะมีจำนวนหนึ่งที่จะไปตรวจยืนยันต่อ จะด้วยตนเอง จะด้วยอาการปานกลางถึงรุนแรงแล้วต้องไปรพ. แต่ด้วยขีดจำกัดของระบบการตรวจ RT-PCR สัดส่วนการทับซ้อนไม่น่าจะเกิน 20-30% และอิทธิพลของข้อ 1 ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมากกว่าหรือเท่ากับสัดส่วนทับซ้อน ดังนั้นการไม่รายงานประจำวันด้วยตัวเลขควบคู่กันของทั้ง RT-PCR และ ATK จึงไม่สมเหตุสมผล และเป็นรายงานที่น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก 3. ยังไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องจำนวนการเสียชีวิตว่าเป็นเช่นไร แต่หากดูสถิติ excess mortality ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา เทียบกับปีก่อนระบาด ก็จะทราบ

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/112600/

"เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก" คล้ายกันหลายจุด แต่พบ 2 อาการที่แตกต่าง 

"เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก" พบมีอาการคล้ายคลึงกันหลายจุด ไข้สูง-ท้องเสีย แต่สามารถแยกอาการได้ง่าย ๆ เพียงแค่สังเกตความต่างจาก 2 อาการนี้

เกาะติดสถานการณ์การระบาดของโควิ19  สายพันธุ์ "โอไมครอน" ซึ่งล่าสุดมีข้อมูลระบุว่าเกิดการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและขณะนี้ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อ โอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 มากถึง 80% แต่เบื้องต้นพบว่าผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้มีอาการที่ชัดเจร และรุนแรงในบางหลายที่ได้รับเชื้ออาการคล้าย ไข้หวัดใหญ่ หรือในบางรายอาจจะมีการคล้ายไข้เลือดออก ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้ลองสังเกตุอาการเพื่อ "เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก"    กันแบบชัด ๆ ว่าตกลงแล้วเราเป็นอะไรกันแน่ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาให้ถูกต้อง และถูกวิธี  

 

"เทียบอาการโควิดกับไข้เลือดออก"   อาการไข้เลือดออก : โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี    ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย

อาการไข้เลือดออกที่แสดงออกอย่างชัด ๆ มีดังนี้ 

  • มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และต่อเนื่องเป็นเวลา 2-7 วัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
  • อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
  • ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องและเบื่ออาหาร

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการไข้ลดลงอย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกจนกระทั่งเสียชีวิตได้ หรือหากมีไข้สูงต่อเนื่องกว่า 2 วัน แม้จะเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้แล้วก็ไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน และรีบพบแพทย์   

"อาการโอไมครอน"  โดย "โอไมครอน" เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ของโควิด  ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก 

"อาการโอไมครอน" มีดังนี้  

มีไข้
ไอ เจ็บคอ
ปวดกล้ามเนื้อ
มีน้ำมูก
ปวดศีรษะ
หายใจลำบาก
ได้กลิ่นลดลง
 

ลักษณะการติดเชื้อโควิด "โอไมครอน"  จะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่ได้ลงปอด ส่วนใหญ่ติดแล้วอาการไม่หนักมาก  คล้ายกับเป็นไข้หวัด หรือในบางรายมีอาการคล้ายกับไข้เลือดออกเช่นกัน   ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมักจะอาการไม่รุนแรง   บางครั้งอาจจะไม่แสดงอาการเลยจึงทำให้มีอัตราการแพร่ระบาดเร็ว และส่งผลให้มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น  

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/509418?adz=

 

เช็คเลย 3 จุดเสี่ยงบนใบหน้า รับเชื้อ "โควิด" Omicron เต็ม ๆ รู้แล้วควรเลี่ยง 

เปิด 3 จุดเสี่ยงบนใบหน้า รับเชื้อ "โควิด" Omicron เต็ม ๆ เช็คด่วน รู้แล้วควรเลี่ยง พร้อมแนะแนวทางรักษา หากเจอติด

อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ "โควิด" โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนเกิดความกังวล ในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ที่สำคัญ เชื้อไวรัสจะเข้าสู่คนผ่านทางการไอ จาม การสัมผัสโดยตรง กับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมีคำแนะนำสำหรับ 3 จุดเสี่ยงบนใบหน้า ที่ควรเลี่ยงการใช้มือจับ เพราะเสี่ยงต่อการรับเชื้อโดยตรง ดังนี้

  1. ดวงตา ไม่ขยี้ตา เพราะเชื้อโรคผ่านเข้าไปในช่องท่อระบายน้ำตาได้
  2. จมูก ไม่แคะจมูก เพราะเชื้อโรคเข้าทางโพรงจมูกสู่ทางเดินหายใจได้
  3. ปาก ไม่จับปาก เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจจากทางนี้ได้
 

กรณีสงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงติด "โควิด" แนะนำให้เร่งตรวจ ATK เพื่อยืนยัน หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด-19 ดำเนินการ ดังนี้

สีเขียว รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ หรือไปรับยาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ-สถานพยาบาลรัฐใกล้บ้าน (เจอ แจก จบ) + กักตัวอยู่ที่บ้าน 10 วัน 

การใช้สิทธิรักษา 

สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สปสช.) 
   

  • นอกจากไปที่สถานพยาบาลประจำที่ท่านลงทะเบียนไว้ ยังไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ (ไม่ใช้ใบส่งตัว) หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอ-จังหวัด, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น 
  • โรงพยาบาลเอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. 

สิทธิประกันสังคม ไปโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง และสถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง (สายด่วน 1506) สิทธิข้าราชการ ไปสถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และ โรงพยาบาลเอกชน ที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. (สายด่วนกรมบัญชีกลาง 02-2706400 วัน-เวลาราชการ)

กลุ่มสีเหลือง-สีแดง (ทุกสิทธิการรักษา) ใช้สิทธิ UCEP Plus (เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่) สถานพยาบาลรัฐ-เอกชน ที่อยู่ใกล้ได้ กลุ่ม 608, หญิงตั้งครรภ์, เด็กอายุ 0-5 ปี, คนพิการ, ผู้ป่วยติดเตียง ที่เป็นสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิ สปสช.) และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โทร. 1330 ประเมินอาการเข้าระบบรักษาที่บ้าน 

  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 
  • ประกันสังคม โทร. 1506
  • บัตรทอง-อปท. โทร. 1330
  • ข้าราชการ โทร. 02-2706400
  • สอบถามสิทธิ UCEP Plus 028721669 (ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต)

ดูรายละเอียดเพิ่มที่ https://www.nhso.go.th/

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/509401?adz=

 
 

ศบค.พบคลัสเตอร์ Health Care Worker 3 โรงพยาบาลใหญ่ติดโควิด ทั้ง “ศิริราช กรุงเทพศริสเตียน พระราม 9” สธ.จับตาตัวเลขผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตพุ่ง  ระบุผู้เสียชีวิต 82 รายวันนี้ มี 6 รายได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้ว เหตุมีโรคประจำตัว ขณะที่ยอดฉีดเข็ม 3 ยังต่ำแค่ 32.6% ห่วง “สงขลา” อัตราครองเตียงพุ่งเกิน 58%

วันที่ 24 มีนาคม 2565 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 476,481,934 ราย อาการรุนแรง 60,711 ราย รักษาหายแล้ว 411,479,971 ราย เสียชีวิต 6,128,270 ราย

สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด (รวมย้อนหลัง 7 วัน) อันดับ 1.ยังเป็นเกาหลีใต้ จำนวน 2,797,983 ราย 2.เยอรมนี จำนวน 1,592,582 ราย 3.เวียดนาม จำนวน 1,075,132 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 729,229 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 549,708 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก จำนวน 173,314 ราย

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยรายใหม่ 27,024 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,227,545 ราย หายป่วยแล้ว 1,017,558 ราย เสียชีวิตสะสม 2,881 ราย โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 82 ราย

ขณะที่ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,450,980 ราย หายป่วยแล้ว 3,186,052 ราย เสียชีวิตสะสม 24,579 ราย

สธ.จับตาตัวเลขผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิต

“จะเห็นชัดเจนว่า การนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีเส้นกราฟที่ลากเป็นเส้นตรงยาว ถือว่ากราฟยังทรง ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจะเป็นตัวเลขของผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องเทียบเคียงกับระบบสาธารณสุขที่จะต้องรองรับด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สำหรับตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,553 ราย จากกราฟยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 583 รายก็ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังยืนอยู่ในระดับเกิน 80 รายมาหลายวันแล้ว โดยทำตัวเลขสูงสุดที่ 88 ราย/วัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา

พบคลัสเตอร์ Health Care Worker 3 รพ.ใหญ่ติดโควิด

สำหรับ 10 จังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,722 ราย รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช 1,746 ราย ชลบุรี 1,341 ราย ซึ่งตัวเลขลดลงแล้ว สมุทรปราการ 920 ราย สงขลา 861 ราย สมุทรสาคร 849 ราย ร้อยเอ็ด 730 ราย ระยอง 593 ราย ราชบุรี 592 ราย และฉะเชิงเทรา 574 ราย

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่ ศบค.ชุดเล็กหารือกันและมีความเป็นกังวลคือคลัสเตอร์กลุ่ม Health Care Worker หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข ซึ่งมีรายงานใน กทม. ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และโรงพยาบาลพระราม 9

“ส่วนโรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สถานประกอบการ ระยะหลังจะเห็นคลัสเตอร์ในกลุ่มนี้น้อยลงอย่างชัดเจน ถือได้ว่าผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการโรงเรียน หรือรวมไปถึงประชาชน ผู้ปกครอง มีความเข้าใจถึงความเข้มงวดในสถานศึกษา โรงงาน สถานประกอบการ จึงทำให้เห็นคลัสเตอร์กลุ่มนี้ลดน้อยลง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

ในส่วนที่ยังเป็นคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่องจะเป็นกลุ่มพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นที่มหาสารคามมีรายงาน งานบวช งานบุญแจกข้าวที่กาฬสินธุ์ งานบุญเดือนสี่ งานแต่งงานที่อุดรธานี

 

“สงขลา” อัตราครองเตียงพุ่ง

แต่ที่สาธารณสุขจะสนใจเป็นพิเศษคืออัตราครองเตียง คือถ้านับจากจังหวัดที่ติดเชื้อ 1-10 เทียบกับอัตราการครองเตียงจะพบว่าทั้งประเทศอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ที่ต้องรองรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ มีกลุ่มเสี่ยงสูงอายุ ยังอยู่ในเกณฑ์รองรับได้ โดยทั้งประเทศมีระดับครองเตียง 2-3 (เขียวอ่อน-เขียวเข้ม) อยู่ที่ 26.4% ยังสามารถรองรับผู้ป่วยระดับ 2-3 ได้อีกประมาณ70%

“แต่ใน 10 จังหวัดตอนนี้อัตราการครองเตียงที่น่าเป็นห่วงจะอยู่ที่จังหวัดสงขลา ตอนนี้มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 58.4% ถือได้ว่าใช้ไปเกินครึ่ง ขณะที่ใน กทม.ระดับการครองเตียงยังอยู่ที่ระดับ 32.3% และในบางจังหวัดอย่างนครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ อัตราการครองเตียงยังค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะมีการรายงานอัตราการติดเชื้อซึ่งก็ไม่เล็ก แต่ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อแข็งแรง อายุน้อย อาการไม่รุนแรง ทำให้สามารถรักษาที่บ้าน หรือโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์รักษาในชุมชนได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามอย่างใกล้ชิดถึงศักยภาพการครองเตียง”

พบ 6 รายฉีดเข็ม 3 เสียชีวิต

ส่วนรายละเอียดของผู้เสียชีวิต 82 รายในวันนี้เป็นชาย 46 ราย หญิง 36 ราย เป็นคนไทย 76 ราย เมียนมา 5 ราย อังกฤษ 1 ราย แต่อย่างที่เคยบอกสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอีกปัจจัยหนึ่งที่เน้นย้ำทุกครั้งคือการได้รับวัคซีน

โดยในวันนี้ผู้เสียชีวิต 82 ราย มีถึง 46 รายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 6 รายที่เพิ่งได้รับเข็ม 1 ไม่นานก็เกิดการติดเชื้อ และทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และมี 16 รายที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

“มี 6 รายที่เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่อาจจะได้รับไม่นานพอ ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับโรค ที่สำคัญในกลุ่มเสี่ยง 6 รายนี้ที่ได้รับเข็ม 3 แล้วเสียชีวิตก็เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวทุกรายด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และย้ำว่า

 

สิ่งสำคัญในช่วงนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว คงต้องช่วยกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง พาท่านเหล่านี้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ตัวเลขฉีดเข็ม 3 ยังต่ำ แค่ 32.6%

ส่วนผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 23 มีนาคม 2565 ณ เวลา 18.00 น. วานนี้ มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 71,997 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 19,010 รายเข็มที่ 3 จำนวน 113,164 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 23 มีนาคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 127,862,740 โดส (ตามกราฟิก)

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 55,044,107 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 50,162,888 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 22,655,745 ราย

“กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ขยับเท่าไร ถือได้ว่ายังต่ำอยู่คือ 32.6% เช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งหากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการป่วยหนัก ทั้งประเทศฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว 10 ล้านโดส คิดเป็น 79% แต่เข็ม 3 ของกลุ่มสูงอายุ 60 ปียังอยู่ที่ 33.6% ยังค่อนข้างน้อยและต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

สำหรับพื้นที่ที่ยังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นค่อนข้างน้อยได้แก่เขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ และอีกเขตได้แก่เขตที่ 12 ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ส่วนเขตที่มีการฉีดค่อนข้างสูงได้แก่เขตสุขภาพที่ 13 คือ กทม. ซึ่งเป็นเขตที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นไปตามแผน (ดูตารางด้านล่าง)

แพทย์หญิงอภิสมัยยังกล่าวถึงเรื่องเทศกาลสงกรานต์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงว่า หลายครอบครัวมีการวางแผนพาเด็กไปท่องเที่ยว ไปพบญาติผู้ใหญ่ มีการพบปะสังสรรค์ ที่ประชุมมีการหารือหลักการอยู่ร่วมกับโควิด โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขอความร่วมมือว่าการจัดงานสงกรานต์ได้ เดินทางข้ามพื้นที่ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ สังสรรค์ ร่วมงานประเพณีได้ แต่ต้องทำในลักษณะที่ดำรงวัฒนธรรมประเพณี อยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข งดการสาดน้ำ ปะแป้ง ห้ามจัดปาร์ตี้โฟม รวมทั้งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากนี้หากมีการไปเที่ยว จองที่พักโรงแรม ขอให้ระมัดระวังผู้ที่มีประวัติเสี่ยง หรือต้องมีการตรวจ ATK รวมถึงหลีกเลี่ยงเลี่ยงการรับประทานอาหารในพื้นที่ปิดและใช้เวลาร่วมกันนานๆ

ข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/general/news-894128

 
 

ภาวะ "Long COVID" ลองโควิด หมอธีระวัฒน์ระบุ เป็นเคราะห์ร้ายระยะยาวของคนเคยติดเชื้อ เผยวิธีที่อาจจะช่วยป้องกันได้ต้องปฏิบัติอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" เกี่ยวกับ "โควิด19" โดยระบุว่า 
ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ"Long COVID" หรือ "ลองโควิด"

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
20/3/65

"Long COVID" หรือ "ลองโควิด" เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่การติดเชื้อได้จบสิ้น (เชื้อไม่พบแล้ว)
1- อาการของลองโควิด ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก

2-เกิดได้ทุกอายุ ได้ทุกเพศ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุเพิ่มเติมว่า ภาวะ "Long COVID" หรือ "ลองโควิด" ยังสามารถทำให้เกิดอาการต่าง ๆ และส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ 

3-เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้า หลายระบบหรืออวัยวะพร้อมกัน 

4- อาการที่มีขณะติดเชื้อไม่สงบ แม้ว่าการติดเชื้อจบไปแล้ว และอาการสามารถรุนแรงขึ้นได้ และสามารถทอดยาวนานกว่าสามเดือนต่อไปอีก หรือ อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่ ที่ไม่ได้
ปรากฎขณะที่ยังติดเชื้อ 

5- กลุ่มอาการเป็นลักษณะที่เรารู้จักกันดีมานานแล้ว ในรูปของ chronic fatique syndrome หรือ Myalgia encephalomyelitis แต่โควิดเกิดได้รุนแรง และยาวนานกว่าไวรัสตัวอื่นๆมาก

 

7- หลักในการบำบัดต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่ายังมีการอักเสบอยู่ในร่างกายและในสมองหรือไม่ และถ้ามีต้องทำการยับยั้งโดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาด้วย และยังตั้งประกอบด้วยการ หลีกเลี่ยงที่จะทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้นได้แก่หลีกเลี่ยงอาหารร้อนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบ  เช่นเนื้อแดง ระวังพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลงรวมกระทั่งถึงมลพิษพีเอ็ม 2.5 เป็นต้น

8- จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว

9- วิธีที่ อาจ ป้องกัน การเกิดลองโควิด ได้คือการให้การรักษาเร็วที่สุดเมื่อรู้ว่าติด  เพื่อให้ระยะของการติดเชื้อสั้นที่สุดยกตัวอย่าง  เช่น  การใช้ฟ้าทลายโจรซึ่งมีในประเทศไทยอยู่แล้วโดยในผู้ใหญ่ให้ในขณะที่มีสาร แอนโดรกราโฟไลท์ 180 มก ต่อวัน และในเด็กขนาด 30 มก ต่อ วัน แบ่งให้วันละสามครั้ง


งานวิจัยและพัฒนาเชิงรุกผลกระทบลองโควิด ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช)

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/508895?adz=

 

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงการใช้ยารักษาโควิด-19 ว่า การรักษาโควิดเรามีการติดตามข้อมูล และปรับแนวทางการรักษาเป็นระยะ สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการใช้มาแล้ว 2 ปี โดยช่วงแรกศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการนำยานี้มาใช้ ซึ่งกลไกออกฤทธิ์ คือ การยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป จากการทบทวนอย่างเป็นระบบ ข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ โดยเฉพาะในช่วง 14 วัน สัดส่วนอาการดีขึ้น 86.9%

ส่วนการติดตามอาการจากการใช้ยาอื่น เรามี ยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งช่วงเริ่มต้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้แนะนำหรือรับรอง แต่เมื่อใช้ยามาสักระยะก็ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐฯให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์ในกลุ่มคนที่รับประทานไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึม สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมีอาการลดลง นอน รพ.ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับยาหลอก โดยกลุ่มรับยาเรมดิซิเวียร์พบนอน รพ. 10 วัน กล่มที่รับยาหลอกนอน รพ. 15 วัน

ยาตัวที่ 3 คือ โมลนูพิราเวียร์ อยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมกระจายหลังอนุมัติจากอีโอซี สธ. และ ศบค.แล้ว กลไกออกฤทธิ์จุดเดียวกันกับฟาวิพิราเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง โดยขนาดยาคือ 800 มิลลิกรัม (มก.) แบ่งเป็น 200 มก. จำนวน 4 แคปซูล รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน

และยาตัวที่ 4 แพกซ์โลวิด ที่กำลังดำเนินการจัดหาเข้ามา กลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน โดยออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ โดยยานี้ประกอบด้วยยา 2 ตัว คือ Nirmatrelvir 150 มก. และ Ritonavir 100 มก. รับประทาน Nirmatrelvir 2 เม็ด และ Ritonavir 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดความเสี่ยงการนอน รพ.ลง 88% กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีการสำรองสำหรับประชาชน โดยกลางเดือนหน้าน่าจะนำเข้ามาและกระจายต่อไป

“จากการติดตามการใช้ยามาสักระยะหนึ่ง ยาแต่ละตัวมีข้อดีเสียต่างกัน เช่น เรมดิซิเวียร์ช่วยกลุ่มอาการปานกลาง ให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาการรับประทานหรือการดูดซึม, ยาฟาวิพิราเวียร์ ติดตามแล้วยังมีประโยชน์ และให้ได้คนตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ส่วนยา 2 ตัวที่เหลือยังเป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม นอกจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความพร้อมในการใช้ยา การจัดหายา และราคายา ซึ่งมีคณะกรรรมการพิจารณาแนวทางการรักษา โดยมีการติดตามค่าใช้จ่ายแต่ละราย เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งกระบวนการรักษา 1 คอร์ส อยู่ที่ 800 บาท เรมดิซิเวียร์ 1,512 บาท ส่วนยาใหม่ทั้งโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดอยู่ที่คอร์สละ 1 หมื่นบาท” นพ.มานัส กล่าว
 
นพ.มานัส กล่าวว่า จากการติดตามทั้งของกรมการแพทย์ หรือสำนักการแพทย์ กทม. ยืนยันว่า ยังพบประสิทธิภาพประสิทธิผลและความปลอดภัยของฟาวิพิราเวียร์ หลายประเทศก็ใช้รักษาโควิด ทั้งนี้ การได้มาของแนวทางการรักษาจะมีการปรับเปลี่ยนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ และมีการประชุมของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งล่าสุดมีการปรับปรุงแนวทางไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และสัปดาห์หน้าอาจจะมีการปรับอีก ซึ่งมีการจำแนกตามรุนแรงของโรค ยาตัวเลือกที่มีให้ใช้ ยารักษาตามอาการ และฟ้าทะลายโจร นอกจากนี้ จากการรักษาแบบ “เจอ แจก จบ” พบว่า กลุ่มรักษาด้วยยาตามอาการมี 52% ยาฟ้าทะลายโจร 24% และฟาวิพิราเวียร์ 26% ขอย้ำว่า สธ.เราทำงานเป็นทีม อัตราการป่วยต่อประชากร การติดเชื้อของไทย อัตราการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับหลายประเทศยังอยู่ในระดับควบคุม ถือว่าดำเนินการได้ดี และก่อนได้แนวทางการรักษาหรือยาที่ใช้ในปัจจุบัน มีการพิจารณาจากคณะกรรมการอย่างรอบด้านและเหมาะสมกับในประเทศไทย

 

ข้อมูลจาก https://mgronline.com/qol/detail/9650000027074

 
"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ
 
 
 

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เปิดกุญแจสำคัญป้องกันการติดเชื้อ ไม่ให้ลุกลามลงปอด

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  สรุปสถานการณ์การระบาดของเชื้อ "โอไมครอน" ชี้ให้เห็นว่า การได้รับวัคซีน 3 หรือ 4 เข็ม ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แม้ว่าจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะวัคซีนแบบฉีด จะไปกระตุ้นการผลิตแอนติบอดีในเลือด เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่เข้ามาภายในร่างกายแล้ว วิธีป้องกันให้ได้ผลมากกว่า น่าจะเป็นการป้องกันจุดที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาวัคซีนรูปแบบต่าง ๆ จนนำไปสู่การผลิต "วัคซีนพ่นจมูก" ที่อาจกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริงในสงครามโควิด-19

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า "วัคซีนพ่นจมูก" มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิดีกว่าแบบฉีด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรได้เร็วกว่า ลดการแพร่กระจายของเชื้อดีกว่า และยังใช้ง่ายกว่า นักวิจัยเชื่อว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกนี้ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ สามารถป้องกันไวรัสได้ตรงจุด นั่นก็คือเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นด่านแรกที่ไวรัสโคโรนาจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย เปรียบเสมือนการวางทหารรักษาการที่ประตูเพื่อสกัดผู้บุกรุก เมื่อเทียบกับวัคซีนแบบฉีดที่เป็นการวางกองกำลังขับไล่ข้าศึกที่รุกล้ำเข้ามาถึงตัวแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนแบบพ่นจมูกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่น้อยกว่า 12 ตัวทั่วโลก

 

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ

"วัคซีนพ่นจมูก" จะป้องกันพื้นผิวเยื่อเมือก (mucosal vaccine) ของจมูก ปาก และลำคอ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของไวรัสได้ดีมากกว่าวัคซีนแบบฉีด

ดร.มิชาล ทาล (Michal Tal) นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกมีความสำคัญมาก สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อมักจะมีภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกที่แข็งแรงขึ้น นั่นอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ถึงมีภูมิต่อต้านเชื้อเดลตา มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน

นักวิจัยทำการทดลองให้วัคซีนกระตุ้นภูมิทางจมูกกับสัตว์ทดลองหลายชนิด ได้แก่หนู แฟร์ริต หนูแฮมสเตอร์และลิง ผลการวิจัยพบว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันไวรัสโคโรนา ได้หลากหลายสายพันธุ์

ศ.อากิโกะ อิวาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้เป็นหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า "วัคซีนพ่นจมูก" กระตุ้นเซลล์หน่วยความจำภูมิคุ้มกัน และแอนติบอดีในจมูกและลำคอ ช่วยเสริมการป้องกันจากการฉีดวัคซีนปฐมภูมิ โดยวัคซีนแบบพ่นจมูกจะผลิตแอนติบอดีที่เรียกว่า IgA บนผิวเยื่อเมือก ซึ่งการพ่นวัคซีนเป็นฝอยละออง จะสามารถเคลือบระบบทางเดินหายใจทั้งหมด รวมทั้งปอด ไม่ใช่แค่เพียงปลายจมูกและลำคอเท่านั้น วัคซีนแบบพ่นจมูกจึงเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ 
สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแบบฉีดครบ 2 โดสแล้ว บางรายมีแอนติบอดี IgA เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อขั้นรุนแรงได้

ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนโควิดเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อฝึกเซลล์ภูมิคุ้มกันให้ผลิตแอนติบอดี IgG ไหลเวียนอยู่ในเลือดเพื่อรับมือกับไวรัส ซึ่งแม้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตได้ แต่ก็เป็นภูมิชั่วคราวและอาจจะไม่ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส และที่สำคัญคือแอนติบอดี IgG ยังเดินทางไปไม่ถึงจมูกและลำคอ การฉีดเข็มกระตุ้นภูมิจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนเข็ม และกระบอกฉีดยาได้ ดังนั้น วัคซีนแบบพ่นจมูกอาจจะเป็นอาวุธที่ช่วยให้เรายุติสงครามโรคโควิด-19 เร็วขึ้น

"โอไมครอน" โควิดร้าย หยุดได้ที่ปลายจมูก กุญแจสำคัญป้องกันติดเชื้อ
 

 
 
"เดลตาครอน" ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ ทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่
 
 

"เดลตาครอน" Deltacron ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ "อ.เจษฎ์" ไขข้อข้องใจ ชวนทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

จากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก หรือ  WHO ออกแถลงการณ์  ยืนยันว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์ ระหว่างสายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" กับเดลตาที่เรียกว่า "เดลตาครอน" พบแล้วจริง และขณะนี้เริ่มพบการระบาดแล้วในหลายประเทศ 

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ระบุว่า มีหลักฐานว่า "ไวรัสลูกผสม "เดลตาครอน" Deltacron น่าจะมีจริง แต่ยังไม่ได้มีอะไรน่ากังวลครับ" 

โดย อ.เจษฎ์ ได้ให้ข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ดังข้อมูลด้านล่างนี้ 

1. การค้นพบไวรัส Deltacron ในประเทศฝรั่งเศส

  • กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ the Institut Pasteur ในประเทศฝรั่งเศส ได้นำเสนอลำดับพันธุกรรมทั้งหมด (หรือจีโนม genome) ของเชื้อไวรัสโควิด SARS-CoV-2 ที่มีตำแน่งของเชื้อตัวนี้บนแผนภูมิต้นไม้ ที่แปลกมาก (ดูภาพประกอบ เส้นสีส้ม ที่มีกล่องสีส้มล้อม) ลงในฐานข้อมูลด้านระบาดวิทยา ( คลิกอ่านต้นฉบับ
  • จากข้อมูลในนั้น ระบุว่า ไวรัสตัวนี้ได้มาจากชายสูงอายุคนหนึ่งในทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส และลำดับจีโนมของมันนั้น มีส่วนประกอบหลักๆเหมือนกับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา (ดูภาพประกอบ พวกเชื้อที่ใช้เส้นสีเขียว) แต่มีพันธุกรรมส่วนใหญ่ในบริเวณที่เกี่ยวกับโปรตีนหนาม (spike protein) ที่คล้ายกับสายพันธุ์โอมิครอน 
  • ตามแนวทางการตั้งชื่อแบบดั้งเดิม เชื้อไวรัสลูกผสมตัวนี้ ถ้ามีอยู่จริง น่าจะได้รับการเรียกชื่อว่า “XD” แต่สาธารณชนได้ขนานนามมันไปแล้วว่าเป็น “Deltacron เดลตาครอน”

"เดลตาครอน" ไวรัสลูกผสมตัวใหม่ ทำความรู้จัก น่ากลัวกว่า "โอไมครอน" หรือไม่

2. การค้นพบไวรัส Deltacron ในประเทศสหรัฐอเมริกา

  • หลังจากนั้นหนึ่งเดือน คณะวิจัยอีกทีมหนึ่ง ก็ได้นำเสนอหลักฐานเบื้องต้นของพวกเขา ว่ามีเคสแบบเดียวกันนี้ อีก 3 เคส ซึ่งพบในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่เชื้อโอมิครอนระบาดอย่างหนัก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 ถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022

3. การเกิดไวรัสโควิดลูกผสม ก่อนหน้านี้

  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรายงานถึงไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ แต่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และโดยมากจะเป็นการผสมกับสายพันธุ์อัลฟ่า Alpha (คลิกอ่านต้นฉบับ)
  • แต่ก็ยังไม่เคยมีไวรัสลูกผสมตัวไหนที่แพร่ระบาดกระจายไปทั่ว และพวกมันก็มักจะหายไปเอง เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ วิวัฒนาการขึ้นมา 
  • การเกิดลูกผสม หรือการสลับที่กันของลำดับพันธุกรรมในไวรัสเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) เนื่องจากมันมีโครงสร้างพันธุกรรมที่ยอมให้เกิดการสลับที่กันของชิ้นส่วนพันธุกรรมทั้งยีนได้ 
  • ดังนั้น ถ้าใครสักคนหนึ่ง ติดโรคโควิดจากเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์พร้อม ๆ กัน (แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมากๆ ก็ตาม) (แต่ก็เกิดได้เวลาที่คนติดเชื้อป่วยกันเป็นแสนเป็นล้านคน)  เชื้อโรคก็จะเกิดกระบวนการ  "รีคอมบิเนชั่น recombination" หรือการผสมรวมกันของลำดับพันธุกรรม ระหว่างที่มันเพิ่มจำนวนตัวขึ้นในร่างกายของผู้ป่วย 
  • ส่วนใหญ่แล้ว การกลายพันธุ์แบบรีคอมบิเนชั่นนี้ มักจะไม่ได้เป็นเรื่องดีสำหรับเชื้อไวรัสเอง พวกมันมักจะตายไป แต่ก็เป็นไปได้เช่นกัน ที่จะมีไวรัสลูกผสมบางตัวที่รอดมาได้ และสามารถจะเพิ่มจำนวนตัว แพร่กระจายต่อไป เหมือนอย่างกรณีของเชื้อ “XD” ที่เจอที่ประเทศฝรั่งเศส 

4. แล้วข่าวไวรัสเดลตาครอน จากประเทศไซปรัส ก่อนหน้านี้ล่ะ ?

  • เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ถึงการพบเชื้อเดลตาครอน ในประเทศไซปรัส และมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ว่ามีเชื้อลูกผสมตัวนี้จริง 
  • ที่มาของข่าว มาจากการให้สัมภาษณ์สื่อทีวีท้องถิ่นของประเทศไซปรัส โดย Leondios Kostrikis นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไซปรัส โดยอ้างว่าห้องแล็บของเขาตรวจพบกรณีของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ที่มีการกลายพันธุ์ของลำดับพันธุกรรมบางส่วน (ไม่มากนัก) ซึ่งดูคล้ายกับของสายพันธุ์โอมิครอน (ซึ่งผมเคยโพสต์อธิบายตอนนั้นแล้วว่า มันควรจะเรียกว่าเป็น เดลตากลายพันธุ์ไปคล้ายโอมิครอน แทนที่จะเรียกว่า ลูกผสม)
  • แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมทั้งขององค์การอนาม้ยโลก ได้รีบออกมาแย้งว่า กรณีดังกล่าวนี้ ไม่น่าจะใช่การเกิดไวรัสลูกผสม (แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการ recombination) เนื่องจากมีหลายคนเชื่อว่า ข้อมูลลำดับพันธุกรรมที่ได้มานั้น แสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนข้ามสายพันธุ์ (cross-contamination) ระหว่างตัวอย่างส่งตรวจ 
  • หรือพูดง่าย ๆ คือ พวกเขาคิดว่า ทีมไซปรัสนั้นได้อ่านลำดับพันธุกรรมที่ปนกันอยู่ ของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนและเชื้อสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เป็นลำดับพันธุกรรมของไวรัสลูกผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์
  • ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนมกราคม กับวารสาร Nature (คลิกอ่านต้นฉบับ) ทาง Kostrikis ได้อ้างว่า คนอื่นตีความคำพูดเขาผิด และเขายอมรับว่า เชื้อไวรัสจากแล็บเขานั้นไม่ได้เป็นลูกผสมจริง ๆ เขาอธิบายว่าการที่เชื้อที่เขาพบนั้น มีลักษณะคล้ายกับทั้งเชื้อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ก็เป็นเพราะวิวัฒนาการแบบลู่เข้าหากัน (convergent evolution) ทำนองเดียวกับที่ค้างคาวและนก มีปีกบินได้คล้ายกัน แต่มาจากคนละสายวิวัฒนาการกัน 
  • เขายังโต้แย้งด้วยว่าตัวอย่างเชื้อของเขาไม่ได้มาจากการปนเปื้อน แต่สุดท้ายก็ยอมถอนออกจากฐานข้อมูลลำดับพันธุกรรม ระหว่างที่รอให้ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ มายืนยันผลการค้นพบของเขา

5. แล้วตกลงว่าเชื้อที่เจอที่ฝรั่งเศสนั้น เป็นไวรัสลูกผสม จริงหรือเปล่า ?

  • คราวนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ มั่นใจกันมากขึ้นมาก ว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น มาจากการเกิดรีคอมบิเนชั่นจริง ๆ เพราะข้อมูลลำดับพันธุกรรมในครั้งนี้ ดูชัดเจนกว่าคราวของไซปรัส 
  • และทีมวิจัยของสถาบันปาสเตอร์ ก็รายงานว่า พวกเขาสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อนี้ได้ในห้องปฏิบัติการด้วย (อ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญเลย ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่จริง ไม่ใช่แค่ลำดับพันธุกรรม) แสดงว่า มันไม่ได้เป็นผลลัพธ์มาจากการปนเปื้อนข้ามตัวอย่างกัน 

6. น่ากังวลแค่ไหน กับเชื้อลูกผสมโควิดอย่าง เดลตาครอน

  • การที่พบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่รวมสารพันธุกรรมจากเชื้อเดิม 2 สายพันธุ์ ไม่ได้แปลว่า มันจะรวมเอาลักษณะที่อันตรายจากทั้งสองนั้นเอาไว้ 
  • เชื้อเดลตา และโอมิครอน ยังเป็นไวรัสที่มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการที่มันเข้าโจมตีเซลล์ของร่างกายเราด้วยวิธีที่ต่างกัน และวิธีการในต่อสู้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราของพวกมันยังแตกต่างกันอีกด้วย การ mix & match ผสมกันระหว่างเดลตากับโอมิครอน จึงอาจจะทำให้มีเก่งขึ้น หรือทำให้มันแย่ลง ก็ได้

อ.เจษฎ์ สรุปความคืบหน้าล่าสุดว่า ตั้งแต่มีการพบเชื้อไวรัสลูกผสม "เดลตาครอน" เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้มีรายงานการพบเพิ่มเติมมาเป็นประมาณ 30 เคสแล้วในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก (โดยไม่ชัดเจนว่าพวกมันมาจากจุดกำเนิดเดียวกันหรือเปล่า) แสดงว่าเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมากเกินกว่าที่จะระบุได้ว่า เชื้อลูกผสมนี้ จะเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล ไปกว่าเชื้อสายพันธุ์เดิม ๆ ที่ระบาดอยู่ ตอนนี้ อย่างเช่น โอมิครอน

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/508641?adz=

 
"โอไมครอน" ระยะเวลาแพร่กระจายโรคอยู่นานกี่วัน พบเชื้อสูงสุด 3 จุดในร่างกาย 

"หมอยง" ไขข้อข้องใจ "โอไมครอน" ระยะเวลาแพร่กระจายโรค อยู่นานกี่วัน พบเชื้อสูงสุด 3 จุดในร่างกาย แถมระยะฟักตัวสั้น ต้องกักตัวกี่วัน กลับมาใช้ชีวิตปกติ

อัปเดตโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ ทำให้ยังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นรายวัน และด้วยคุณสมบัติของ "โอไมครอน" ที่ไม่ค่อยแสดงอาการ และมีระยะฟักตัวสั้น ทำให้หลายคนเกิดข้อกังวล ว่าระยะเวลาใด ที่พบการติดเชื้อ เมื่อตรวจ ATK


"หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Yong Poovorawan หัวข้อ "สายพันธุ์โอมิครอน" ระยะติดต่อของโรค ระบุว่า เดิมเรามีการกักตัวผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสโรคนานถึง 14 วัน เมื่อเข้าสู่ยุค "โอมิครอน" และส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว มีภูมิต้านทาน ทำให้ระยะเวลาในการแพร่กระจายโรค หรือติดเชื้อสั้นลง

การศึกษาในญี่ปุ่น คลิกอ่านต้นฉบับ  การติดเชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" ตรวจพบเชื้อได้สูงสุดในน้ำลาย ลำคอ หรือโพรงจมูกในช่วง  2 - 5 วัน หลังตรวจพบ หรือมีอาการ เชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว ระยะแพร่กระจายโรคจะอยู่นาน 6-9 วัน 

"หมอยง" ระบุว่า การติดต่อของโรคจะเกิดได้สูงในช่วง 7 วันแรก โดยเฉพาะ 2 ถึง 5 วัน หลังตรวจพบหรือมีอาการของโรค การกักตัวในระยะหลัง จึงมีแนวโน้มสั้นลง มาอยู่ที่ 7 วัน ก็สามารถออกจากการกักตัว และให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการแพร่กระจายโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน อยู่ให้ห่างจากบุคคลอื่น ล้างมือลดการจับต้อง เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 วัน เราจะต้องอยู่กับ covid19 ตลอดไป แนวทางการปฏิบัติตนจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุและผล เพื่อให้การกระทบต่อชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ที่ "หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุว่า เชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" มีระยะฟักตัวสั้นมากเพียง 2-3 วัน ระหว่างอยู่ในระยะฟักตัว คนที่รับเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นตั้งแต่วันที่ 2 หลังรับเชื้อ ก่อนหน้าที่จะมีอาการ 1-2 วัน และคนที่ได้รับวัคซีนครบโดส และได้เข็มกระตุ้น จะแพร่เชื้อหลังมีอาการอีกประมาณ 5 วัน ส่วนคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอาจแพร่เชื้อหลังมีอาการได้นานกว่านั้น 

เพราะฉะนั้นกว่าคนที่รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัสโควิดโดยการตรวจ ATK ได้แพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านไปแล้วอย่างน้อย 2-3 วัน โดยที่ไม่ได้มีการป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่นเลย เมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ ก็เหลือเวลาที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านได้อีกประมาณ 3-4 วันเท่านั้น 

"โอไมครอน" ระยะเวลาแพร่กระจายโรคอยู่นานกี่วัน พบเชื้อสูงสุด 3 จุดในร่างกาย

 

ช่วงนี้ถ้าป้องกันตัวเองดี ๆ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่นั่งทานอาหารกับผู้อื่น อยู่ห่าง ๆ ผู้อื่น อย่าอยู่ในห้องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ใช้ห้องน้ำแยกกับผู้อื่น แยกทิ้งขยะกับผู้อื่น หมั่นล้างมือเมื่อมือเปื้อนละอองน้ำมูกและเสมหะ โอกาสแพร่เชื้อให้คนในบ้านจะลดลงมาก จึงเป็นที่มาว่า ทำไมผมแนะนำให้กักตัวที่บ้าน แทนที่จะมานอนกักตัวในโรงพยาบาล ฮอสพิเทล หรือศูนย์พักคอยในชุมชน หลังจากที่ไม่มีอาการแล้ว ให้ตรวจ ATK ซ้ำ 5 วันหลังครั้งแรก ถ้าให้ผลลบ สามารถออกนอกบ้านได้ แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยต่อไปจนครบ 10 วัน

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/508630?adz=