5 ข้อเทียบ "ฝีดาษลิง" กับ "โควิด-19" ที่โลกกำลังหวั่นถึงการระบาด
 “ฝีดาษลิง”ที่ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกว่าจะเกิดการระบาด กับ “โควิด-19” ที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมากว่า 2 ปี   2 โรคนี้ หากเทียบใน 5 ข้อจะเป็นอย่างไร ทั้งตัวเชื้อ การติดต่อ อัตราการป่วยเสียชีวิต  วัคซีนและสถานการณ์การระบาด

    ท่ามกลางความกังวลของคนทั่วโลกว่า โรคฝีดาษลิง จะแพร่ระบาดใหญ่เหมือนโควิด-19หรือไม่  โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ฝีดาษลิง แพร่กระจายแตกต่างจากโควิด-19 และองค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุขแห่งชาติ

เทียบ 5 ข้อระหว่าง ฝีดาษลิง และโควิด-19 ดังนี้

  1.ตัวเชื้อ

ฝีดาษลิง  กรมควบคุมโรค ระบุว่า ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) 
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

    “ฝีดาษลิง โรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานกว่า 10 ปี  โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา”
 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

      โควิด-19  เป็นเชื้อที่พบและรายงานเมื่อปี 2563 โดยในช่วงปลายปี 2562 มีการรายงานพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน  ก่อนที่จะมีการถอดรหัสพันธุกรรม แล้วระบุว่า เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-Cov-2 และมีการตั้งชื่อต่อมาว่า “โรคโควิด-19”

2.การติดต่อ

    ฝีดาษลิง(monkeypox)  ศ.นพ.ยง บอกว่า แตกต่างจากเชื้อฝีดาษในคน(smallpox)ที่สามารถติดต่อทางระบบทางเดินใจหาย และ สารคัดหลั่งจากการไอ จาม แต่ฝีดาษลิง จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสบาดแผล หรือ ฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และการที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ ก็มาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก  หรือ มีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน

     การติดต่อของฝีดาษลิง ถือว่าติดต่อได้ยากเมื่อเทียบกับฝีดาษคน เพราะต้องสัมผัสกับ บาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย 
       กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

       การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

     โควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ แพร่จากคนสู่คน จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ผ่านทางละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย

3.อัตราป่วยเสียชีวิต

    ฝีดาษลิง  เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน 

อาการเริ่มแรกฝีดาษลิง

  1. จะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  2. จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย
  3. ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา

อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10  %

องค์การอนามัยโลก ระบุ อัตราเสียชีวิตฝีดาษลิง อยู่ที่ 3-6 % ในพื้นที่ที่เป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็อาจเป็นการประเมินที่สูงเกินไป ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่
    โควิด-19 มีการระบาดทั่วโลกมากว่า 2 ปี  ปัจจุบัน อัตราป่วยเสียชีวิตทั่วโลก อยู่ที่ 1.20  %

    ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,406,755 ราย หายป่วยแล้ว 4,318,565 ราย เสียชีวิตสะสม 29,715 ราย  อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 0.18 %  (ข้อมูล ณ 21 พ.ค.2565 )

4.วัคซีน

การป้องกันการติดฝีดาษลิง 

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  

2.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  

3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  

4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  

5.กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

วัคซีนฝีดาษ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น  มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้

     ทว่า  เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

    โควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันโรคมาก่อน เพิ่งมีการเริ่มวิจัย พัฒนาในปี  2563 และเริ่มนำมาใช้ในช่วงที่โควิด-19ระบาด 

ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุมัติการขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ วัคซีนโควิด19ที่อย.ไทยอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วมี 7 ตัว 4 ชนิดแพลตฟอร์ม คือ

  1. ชนิดเชื้อตาย คือ วัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
  2. ชนิดmRNA คือ วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา
  3. ชนิดไวรัล แว็กเตอร์ คือ วัคซีนแอสตราเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
  4. ชนิดโปรตีนซับยูนิต คือ วัคซีนโคโวแวกซ์

     ข้อมูล ณ  20 พ.ค.2565 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19แล้ว 136,265,374 โดส

เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22,199 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 82,396 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 97,153 ราย
 

5.สถานการณ์ระบาด  

   ท่ามกลางการจับตาดูว่า ตอนนี้ ฝีดาษลิง อาจจะระบาดในหลายประเทศยุโรป และกำลังมีการเร่งสอบสวนโรคให้ทราบต้นตอ และการวางแนวทางป้องกันโรค

     สำหรับภูมิภาคอาเซียน เคยมีรายงานการพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง  ในปี 2562 มีรายงานในประเทศสิงคโปร์ โดยพบเป็นชายสัญชาติไนจีเรีย เดินทางเข้าสิงคโปร์วันที่ 28 เม.ย.2562 ผลการตรวจหาเชื้อวันที่ 5 พ.ค.2562 ยืนยันติดฝีดาษลิง  โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลว่า

“ก่อนที่จะเดินทางมาสิงคโปร์ ได้ไปงานเลี้ยงแต่งงานที่ไนจีเรีย และกินเนื้อสัตว์ในงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสก่อโรคนี้"  

      ประเทศไทย ปัจจุบันจัดฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ที่เรียกว่า  smallpox  เป็นโรคติดต่ออันตราย เช่นเดียวกับ โรคโควิด-19 

      โดยมีรายงานการระบาดของฝีดาษในไทย  ตั้งแต่ครั้งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ช่ววงปี พ.ศ. 2460 - 2504 มีไข้ทรพิษเกิดขึ้นทุกปี ช่วงปี พ.ศ. 2488 - 2489 เป็นช่วงเกิดสงคราม เกิดการระบาดครั้งใหญ่สุด เริ่มต้น จากเชลยพม่าที่ทหารญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟสาย มรณะข้ามม่นํ้าแคว ทําให้เชลยศึกป่วยเป็นไข้ทรพิษ และลามไปยังกลุ่มกรรมกรไทยจากภาคต่างๆ ที่มารับจ้าง ทํางานในแถบนั้น และเมื่อกลับบ้านนําโรคกลับ ไปแพร่ระบาดใหญ่ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน (เสียชีวิต 15,621 คน)

    การระบาดครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2504 - 2505 การ ระบาดที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณติดต่อ รัฐเชียงตุงของพม่า มีผู้ป่วย 34 ราย ตาย 5 ราย ปี พ.ศ. 2504 กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการ กวาดล้างไข้ทรพิษในประเทศไทย

ปี 2523 องค์การอนามัยโลก ประกาศว่าไข้ทรพิษได้ถูกกวาดล้างแล้ว จึงหยุดการปลูกฝีป้องกันโรคนับแต่นั้นมา

โควิด-19 มีการระบาดครั้งแรก โดยระบาดไปทั่วโลกในปี 2563  กระทั่งถึงปัจจุบัน และเริ่มมีแนวโน้มที่สามารถควบคุมการระบาดได้ในปลายปี 2565

ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ค.2565 ทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 500 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 6 ล้านราย  ในประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 4 ล้าน ราย และเสียชีวิต 29,715 ราย

    สำหรับประเทศไทย โควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ในช่วงกลางมิ.ย.หรือต้นก.ค.2565นี้

       “ประเทศไทย ยังไม่ต้องตื่นและกังวลกับโรคฝีดาษลิง ยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ก็ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา  การป้องกันตัวสำหรับโรคนี้ก็ไม่แตกต่างกัน สุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญและอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ”ศ.นพ.ยง กล่าว


อ้างอิง :
     1.ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     2.องค์การอนามัยโลก
     3.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
     4. https://www.pidst.or.th/userfiles/f26.pdf    สืบค้น 21 พ.ค.2565

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1005676?anf=

 
องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดการประชุมฉุกเฉินวานนี้ (20 พ.ค.) เพื่อหารือมาตรการรับมือโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในแถบแอฟริกากลางและตะวันตก หลังมีรายงานพบผู้ป่วยในทวีปยุโรปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ราย

ทางการเยอรมนีระบุว่า นี่อาจเป็น "การระบาดครั้งใหญ่ที่สุด” ของฝีดาษลิงในยุโรป โดยขณะนี้พบผู้ป่วยแล้วในอย่างน้อย 9 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร ส่วนที่ สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย ก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ด้วยเช่นกัน

สเปนยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น 24 รายในวันศุกร์ (20) โดยเฉพาะในเขตกรุงมาดริด ซึ่งทางการได้สั่งปิดห้องเซาน่า (sauna) แห่งหนึ่งที่พบว่าเชื่อมโยงกับเคสผู้ป่วยหลายราย

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอิสราเอลแจ้งว่ากำลังให้การรักษาชายวัย 30 ปีเศษ ซึ่งเริ่มแสดงอาการคล้ายกับโรคฝีดาษลิง หลังเดินทางกลับจากยุโรปตะวันตกได้ไม่กี่วัน

การพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในกว่า 10 ประเทศคราวนี้ถือเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากไวรัสซึ่งพบเป็นครั้งแรกในลิงมักจะแพร่เชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด และแทบไม่เคยมีการระบาดนอกทวีปแอฟริกามาก่อน

 
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าโรคนี้จะไม่ลุกลามขยายวงกว้างจนกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) แบบโควิด-19 เนื่องจากไวรัสตัวนี้ไม่ได้แพร่กระจายได้ง่ายเหมือน SARS-COV-2

ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ปวดหัว และมีผื่นขึ้นตามลำตัว โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า ก่อนจะกระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย ทว่าส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง

หน่วยแพทย์ทหารเยอรมนีซึ่งตรวจพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของประเทศเมื่อวานนี้ (20) ยอมรับว่า “นี่คือการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของฝีดาษลิงเท่าที่ยุโรปเคยเผชิญมา”

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่มีข้อมูลจาก WHO ว่าวัคซีนที่ใช้ต่อต้านโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (smallpox) ให้ผลในการป้องกันฝีดาษลิงได้สูงสุด 85%

ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการ WHO ประจำภูมิภาคยุโรป ออกมาแถลงเตือนวานนี้ (20) ว่า จำนวนผู้ป่วยฝีดาษลิงอาจ “เพิ่มขึ้น” ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และไวรัสมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปทั่วยุโรป

“เรากำลังก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมักจะมีการจัดกิจกรรมรวมคน เทศกาล และงานปาร์ตี้ต่างๆ ผมจึงเกรงว่าอัตราการแพร่เชื้ออาจจะเพิ่มสูงขึ้น” คลูจ กล่าว

WHO ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของฝีดาษลิงครั้งนี้มีความผิดปกติอยู่ 3 ประการคือ 1) ผู้ป่วยเกือบทุกรายไม่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษลิง 2) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม “ชายรักชาย” ซึ่งเมื่อแสดงอาการป่วยจึงไปพบหมอที่คลินิกรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ 3) การพบผู้ติดเชื้อในกว่า 10 ประเทศแสดงให้เห็นว่าโรคมีการแพร่กระจายมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ที่มา : รอยเตอร์
 
 
สถานการณ์โควิดไทยยังทรงตัว วันนี้รายงาน 5.3 พันราย ต่ำกว่าหมื่นรายมา 20 วัน เหลือรักษา 5.8 หมื่นราย ดับ 37 ราย กทม.ติดเชื้อลดเหลือ 1.8 พันราย 10 จังหวัดยังติดเชื้อต่ำกว่าหลักสิบ "ลำปาง-ลำพูน" ยังรายงาน 0 ราย หลังเปิดเทอมเด็กประถมทยอยฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เข็มแรกได้ 56.6% เข็มสองเพิ่มขึ้นเป็น 25.8%

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้รายงาน 5,377 ราย ต่ำกว่าหมื่นรายต่อเนื่อง 20 วัน ติดเชื้อสะสม 4,406,755 ราย หายป่วย 5,775 ราย สะสม 4,318,565 ราย เสียชีวิต 37 ราย สะสม 29,715 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 58,475 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI 36,946 ราย และอยู่ใน รพ. 21,529 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,018 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 493 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 14.4% สำหรับการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 14 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย มาจากเกาหลีใต้และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 37 ราย มาจาก 23 จังหวัด โดย กทม.เสียชีวิตสูงสุด 4 ราย , อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 3 ราย , ร้อยเอ็ด สุรินทร์ เชียงใหม่ ราชบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ระยอง จังหวัดละ 2 ราย และสมุทรปราการ ปทุมธานี เลย นครราชสีมา หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ นครพนม กำแพงเพชร สงขลา ฉะเชิงเทรา ตราด สระแก้ว และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 23 ราย หญิง 14 ราย อายุ 18 - 99 ปี อายุเฉลี่ย 76 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 100%

 
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 1,898 ราย 2.สุรินทร์ 164 ราย 3.บุรีรัมย์ 159 ราย 4.ขอนแก่น 152 ราย 5.สมุทรปราการ 117 ราย 6.อุบลราชธานี 106 ราย 7.ชลบุรี 105 ราย 8.กาฬสินธุ์ 105 ราย 9.ร้อยเอ็ด 95 ราย และ 10.นครศรีธรรมราช 89 ราย

ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 67 จังหวัด จำนวนนี้เป็นจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มี 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ 9 ราย , ระนอง 9 ราย , อุตรดิตถ์ 8 ราย , ยะลา 7 ราย , กระบี่ 5 ราย , แม่ฮ่องสอน 5 ราย , เชียงราย 4 ราย , ปัตตานี 2 ราย , พังงา 2 ราย และสตูล 2 ราย ส่วนจังหวัดรายงานเป็น 0 มี 2 จังหวัด คือ ลำปาง และ ลำพูน

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 จำนวน 201,748 โดส สะสม 136,265,374 โดส เป็นเข็มแรก 56,585,202 ราย คิดเป็น 81.4% เข็มสอง 52,191,352 ราย คิดเป็น 75% และเข็ม 3 ขึ้นไป 27,488,820 ราย คิดเป็น 39.5% ภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 แล้ว 43.2% ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรกแล้ว 2.91 ล้านคน คิดเป็น 56.6% และเข็มสอง 1.32 ล้านคน คิดเป็น 25.8% แนวโน้มการฉีดวัคซีนหลังเปิดเทอมเริ่มเพิ่มขึ้น
 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ให้เฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้

20 พฤษภาคม 2565 หลังจากหลายชาติในยุโรป ประกาศพบการระบาดของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ ซึงปกติโรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ตอนนี้พบการระบาดในประเทศในยุโรป และ อเมริกาเหนือแล้ว

 

ล่าสุด นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน

สำหรับอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ

1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า

2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า

4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค

5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/general-news/145419/#

 

สำนักงานสาธารณสุขแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ แถลงยืนยันพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (monkeypox) รายแรกของปี 2022 โดยเป็นชายที่เพิ่งเดินทางกลับจากแคนาดา และมีผลตรวจยืนยันการติดเชื้อเมื่อบ่ายวันพุธ (18 พ.ค.)

สำนักงานสาธารณสุขรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ประสานงานกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) และทีมสาธารณสุขท้องถิ่นเพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้ พร้อมยืนยันว่า เคสดังกล่าว “ไม่ก่อความเสี่ยงต่อสาธารณชน” โดยผู้ป่วยได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และอาการไม่น่าเป็นห่วง

โรคฝีดาษลิงซึ่งพบได้บ่อยในแถบแอฟริกากลาง และตะวันตกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงกับไข้ทรพิษ (smallpox) ทว่าอาการไม่รุนแรงเท่า โดยมีรายงานพบผู้ป่วยรายแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อทศวรรษ 1970 และจำนวนผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ปวดหัว และมีผื่นขึ้นตามลำตัว โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า ก่อนจะกระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย

สำนักงานสาธารณสุขรัฐแมตซาชูเซตส์ยืนยันว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คนได้โดยง่าย แต่อาจได้รับเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผลบนร่างกายผู้ป่วย เสื้อผ้าและเครื่องนอนของผู้ป่วย รวมถึงการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจหากมีการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้ากับผู้ป่วยเป็นเวลานานๆ

สหรัฐฯ เคยพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่รัฐเทกซัสและแมริแลนด์แห่งละ 1 ราย เมื่อปี 2021 โดยทั้ง 2 รายเป็นผู้ที่เพิ่งจะเดินทางกลับจากไนจีเรีย

CDC ยังอยู่ระหว่างติดตามคลัสเตอร์การระบาดของโรคฝีดาษลิงที่พบในโปรตุเกส สเปน และสหราชอาณาจักร ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด
 
โปรตุเกสยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง จำนวน 5 ราย ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขสเปนอยู่ระหว่างตรวจสอบเคสต้องสงสัย 23 ราย หลังจากที่อังกฤษได้มีการแจ้งเตือนไปยังยุโรปให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้

อังกฤษพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. และจนถึงขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 6 ราย

ที่มา : รอยเตอร์
 
 
เลขาฯสมช.แย้มประกาศโควิดโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น-เล็งเปิดสถานบันเทิง
เลขาฯสมช.เผยถกศบค.พรุ่งนี้แย้มประกาศโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น ปรับพื้นที่โซนสีเขียวเพิ่ม เล็งถกเปิดสถานบันเทิง กระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ว่า ในที่ประชุมรายงานผลและประเมินทิศทางการทำงาน หลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิดประเทศ และปรับพื้นที่โซนสีจังหวัด ให้มาตรการผ่อนคลายลง จากสีส้มเป็นสีเหลืองทั้งหมด และมีพื้นที่สีใช้มาตรการสีเขียว 17 จังหวัด

นอกจากนี้ที่ประชุมจะพิจารณาปรับพื้นที่โซนสีให้ผ่อนคลายมากขึ้นจากสีเหลืองเป็นสีเขียวเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีฟ้ามากขึ้น เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในบรรยากาศที่สามารถจะผ่อนคลายมาตรการได้ และจะปรับมาตรการอื่น เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้สะดวกกว่าเดิม สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้คล่องตัว ลดภาระการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
 

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบการ ให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์คาราโอเกะ จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมในวันที่ 20 พฤษภาคมด้วย ที่ผ่านมาพิจารณามาหลายรอบ แต่ทางสาธารณสุข ยังมีความกังวลอยู่ แต่ในครั้งนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยดูจากวิธีการจัดการตนเองเมื่อติดเชื้อเป็นไปด้วยดี คิดว่าน่าจะได้รับการพิจารณา

เมื่อถามว่า จะพิจารณาเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยจะดูพื้นที่ปลอดภัยเป็นหลัก และประเมินตามปัจจัยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เรื่องนี้นายกฯมอบแนวทางไว้นานแล้วว่าจะต้องพิจารณาจากปัจจัยใดบ้าง หากพื้นที่ใดพร้อม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะพิจารณาจากปัจจัยที่วางหลักเกณฑ์ไว้
 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเพิ่มแค่ไหน หากมีการผ่อนคลายสถานบันเทิง พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า จากข้อมูลตัวเลขผู้ประกอบอาชีพกลางคืน มีหลายล้านคน ดังนั้นตัวเลขไม่ต้องกังวลเพราะจะเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งพื้นที่ภาคการท่องเที่ยวก็จะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวด้วย สำคัญที่สุดคืออาชีพของคนไทยที่เกี่ยวข้อง 10 ล้านคน จะทำให้ธุรกิจจะขยับขยาย 

สำหรับการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องดูการฉีดวัคซีนจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต การบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ การปรับตัวของประชาชน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ โดยนายกฯ ให้พิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนจะประกาศ และมีโอกาสประกาศให้เร็วขึ้น หากสถานการณ์เป็นไปตามปัจจัยที่วางไว้

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/1005241?anf=

 
"หมอธีระ" เปิดประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด" ชนิดใดสู้ Omicron ได้ดีสุด
 
 

"หมอธีระ" เปิดข้อมูล ประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด" ชนิดใดสู้ Omicron ได้ดีสุด ขณะที่ Long COVID ส่งผลระยะยาว ทำขาดแคลนแรงงาน

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด19" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 794,802 คน ตายเพิ่ม 1,377 คน รวมแล้วติดไปรวม 523,707,042 คน เสียชีวิตรวม 6,292,170 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ เยอรมัน ออสเตรเลีย ไต้หวัน และอิตาลี

สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียเท่ากับไต้หวัน ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 20.32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

อัพเดตความรู้

1. van Gils MJ และคณะจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ "วัคซีนโควิด" ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด (แอนติบอดี้) ต่อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมถึง Omicron โดยวัด ณ 4 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน และหลังฉีดเข็มกระตุ้น เป็นที่ชัดเจนว่า วัคซีนประเภท mRNA มีประสิทธิภาพดีกว่าประเภท viral vector 

"หมอธีระ" เปิดประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด" ชนิดใดสู้ Omicron ได้ดีสุด

2. Nordstrom P และคณะ จากประเทศสวีเดน ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเพียงเข็มเดียวได้อีก 42% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 35%-49%)

"หมอธีระ" เปิดประสิทธิภาพ "วัคซีนโควิด" ชนิดใดสู้ Omicron ได้ดีสุด

3. ข้อมูลจาก Prof.Page C (UK) สรุปสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรว่า ปัจจุบันมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี ทั้งนี้ทาง BBC ชี้ให้เห็นว่ามีตำแหน่งงานว่างถึง 1.3 ล้านตำแหน่ง เพราะมีจำนวนแรงงานในระบบที่ลดลง อันเป็นผลมาจาก 3 เหตุผลหลักคือ กฎเกณฑ์สำหรับแรงงานหลังนโยบาย Brexit, การออกจากระบบแรงงานของคนที่สูงอายุหลังช่วงโควิดระบาด, และการมีจำนวนคนที่ประสบปัญหาเจ็บป่วยระยะยาวที่มากขึ้น (Long term sickness)

ทั้งนี้ข้อมูลจาก Bank of England วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ระบุว่าการขาดแคลนแรงงานวัย 16-64 ปีอันเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยระยะยาวนั้นสูงขึ้นเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิง และเชื่อว่าเป็นผลมาจากโรคระบาดและ Long COVID

สถานการณ์ที่เห็นในต่างประเทศนั้น ไทยจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า และเตรียมรับมือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อจำนวนมาก ตั้งแต่ระลอกสอง (ปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 จากสายพันธุ์ G) ระลอกสาม (เมษายนปี 64 จนถึงปลายปี จากอัลฟ่าและเดลต้า) และสี่ (Omicron ตั้งแต่ต้นปี 65 เป็นต้นมา) ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดผู้ป่วย Long COVID มีผลทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำงาน การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

อ้างอิง
1. van Gils MJ et al. Antibody responses against SARS-CoV-2 variants induced by four different SARS-CoV-2 vaccines in health care workers in the Netherlands: A prospective cohort study. PLOS Medicine. 17 May 2022.
2. Nordstrom P et al. Effectiveness of a Second COVID-19 Vaccine Booster on All-Cause Mortality in Long-Term Care Facility Residents and in the Oldest Old: A Nationwide, Retrospective Cohort Study in Sweden. SSRN (Preprints with The Lancet). 12 May 2022.

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/515432?adz=

 
กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์
กลางมิ.ย.นี้โควิด19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ. เผยสถานการณ์ โควิด19 ดีขึ้นมาก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเร็วกว่าคาดการณ์กว่าครึ่งเดือน พร้อมปรับระบบดูแลรักษาผู้ป่วย-เตรียมรองรับ Long COVID ลองโควิด

 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่อง ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กรมการแพทย์ ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ยังเตรียมพร้อมการดูแลภาวะลองโควิด โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการคัดกรองและการประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงวางระบบดูแลรักษาติดตามอาการ สิ่งสำคัญคือ มีการบูรณาการการรักษาภาวะลองโควิดไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะลองโควิดรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ให้สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับ มาตรการด้านกฎหมายและสังคมจะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน เช่น การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ บนหลักการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคได้ โดยเฉพาะการคงหลักพฤติกรรมสุขอนามัยที่พึงประสงค์ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรือมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมือบ่อยๆ คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด 19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย

กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์

เกณฑ์พิจารณาโรคประจำถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็น โรคประจำถิ่น ของโควิด19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565  ได้แก่  

1. ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน  เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ในวงกว้างกันอย่างเต็มที่ โดยวิธีการดู คือ ดูแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียง ระดับ 2 และระดับ 3 

2.การฉีดวัคซีนโควิด19  ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้ มากกว่า 60 % ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา  โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%ขึ้นไป ก่อน  1 ก.ค.2565

และ3. จำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา  คูณด้วย 100  จะต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน 

คาดกลางมิ.ย.โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ สธ.ได้มีการเสนอ ระยะดำเนินการแผนและมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยแบ่งการบริหารจัดการ โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นหรือPost pandemic เป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 Combatting ต่อสู้  ช่วง12มี.ค.-ต้นเม.ย.2565
ระยะที่2  Plateau คงตัว  ช่วงเม.ย.-พ.ค.2565
ระยะที่3 Declining ลดลง ช่วงปลายพ.ค.-30มิ.ย.2565
และระยะที่ 4   Post Pandemic  โรคประจำถิ่น/โรคติดต่อทั่วไป ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป
ฉะนั้น เมื่อสธ.ระบุว่าโควิด-19 น่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วกว่าคาดการณ์ราวครึ่งเดือน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางมิ.ย.2565 เนื่องจากคาดการณ์ คือ 1 ก.ค.2565 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1005081?anf=

 
WHO หวั่นโควิดเกาหลีเหนือเพาะสายพันธุ์ใหม่
เจ้าหน้าที่ระดับสูงองค์การอนามัยโลกเตือน การติดเชื้อจำนวนมากในกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีนอย่างในเกาหลีเหนือเสี่ยงสูงทำให้เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่

นายไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) ตามเวลานครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ว่า WHO มีความกังวลหากประเทศใดไม่ใช่เครื่องมือที่มีพร้อมในตอนนี้

“WHO กล่าวเสมอมาว่า ที่ไหนก็ตามที่เกิดการแพร่เชื้อตรวจสอบไม่ได้ ที่นั่นมักเสี่ยงสูงเกิดสายพันธุ์ใหม่”

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO แถลงในเวทีเดียวกัน เป็นห่วงอย่างยิ่งเรื่องไวรัสแพร่ในประชาชนที่ไม่ฉีดวัคซีนและมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว

ก่อนหน้านี้ WHO เคยกล่าวว่า รัฐบาลเปียงยางยังไม่แจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการถึงการระบาดของโควิด-19 เห็นได้ชัดว่าขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายสาธารณสุขระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก WHO ส่วน WHO จะรับมืออย่างไรนั้น นายไรอันกล่าวว่า องค์กรพร้อมให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือ แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงรัฐอธิปไตยใดๆ ได้

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/1004956?anf=