Font Size
 
เช็ก  สิทธิการรักษา เตรียมพร้อมโควิด-19 สู่ "โรคประจำถิ่น"
หลังจากที่ ประเทศไทย อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อม "สถานการณ์โรคโควิด-19" สู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการโดยเฉพาะวางแนวทางการรักษาเพื่อปรับตัวอยู่ร่วมกับ "โควิด-19"

หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยปรับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19  จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น โรคประจำถิ่น (Endemic) เนื่องจากความรุนแรงของโรคลดน้อยลง กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรงให้รักษาแบบ "เจอ แจก จบ" ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้ทำการแจ้งขอเข้ารับการรักษาในระบบ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ 

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ 
  • ยาฟ้าทะลายโจร 
  • ยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ 

ทั้งนี้ เมื่อดู "สถานการณ์โควิด-19" ในวันนี้ (15 พ.ค. 65) ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,601 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย กำลังรักษา 70,775 ราย อัตราครองเตียง 16.9% จะเห็นว่า สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ชง ศบค. ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ปรับลดเตือนภัยเหลือระดับ 2 เตรียมพร้อม โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic)

ไทยอยู่ระยะทรงตัว
โดยในวันที่ 12 พ.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) โดยระบุว่า จากแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่มี 4 ระยะ คือ 

  • ระยะต่อสู้กับโรค (Combatting) 
  • ระยะโรคทรงตัว (Plateau) 
  • ระยะโรคลดลง (Declining)
  • ระยะหลังการระบาด (Post pandemic)

ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ใน "ระยะทรงตัว"

รักษาตามสิทธิการรักษา

สำหรับ ระบบการรักษาเมื่อโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน เผยว่า ทุกอย่างดำเนินไปอยู่แล้ว คำว่า Endemic ไม่ใช่ประเทศไทยจะประกาศได้เลย แต่จะต้องสอดคล้องกับสากลด้วย เพราะตอนที่ประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก องค์การอนามัยโลก เป็นผู้ประกาศ แต่ในทางปฏิบัติก็จะต้องเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่ตอนนี้ยังถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอยู่ก็จะสามารถใช้มาตรการต่างๆ ในการดูแลประชาชนได้

แต่เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมแล้ว ความเข้าใจประชาชนดีแล้ว จะแปลสภาพเป็น Endemic หมายความว่าถ้าเกิดติดเชื้อ ก็จะดูว่ามีการติดเชื้อ เสียชีวิตแต่ละวันเป็นอย่างไร ได้รับวัคซีนเพียงพอหรือไม่ เมื่อเป็น โรคประจำถิ่น ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่ มาใช้ตามสิทธิการรักษา ถ้าใครอยากจะรักษาเอง ก็คงต้องขอให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยามาทำการขึ้นทะเบียนปลดจากการใช้ภาวะฉุกเฉินมาเป็นขึ้นทะเบียนทั่วไป ให้สามารถหาซื้อยาได้เอง ต้องเดินไปแนวทางนั้น

ส่วนประเด็นที่ว่าหากเป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะยังคง UCEP Plus ไว้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก เพราะว่า 30 บาทรักษาทุกที่ จะขยายการให้บริการไปได้ด้วย อย่ายึดติดกับภาพเก่าที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรคมีการต่อยอดหรือไม่ ก็มีการต่อยอดไปอย่างมาก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย 

 

"บัตรทอง" หาจุดร่วม 3 กองทุน

ทั้งนี้ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมการรักษาหากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า  สปสช.ซึ่งดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หลักใหญ่ คือ ประชาชนต้องได้รับบริการ โดยเฉพาะคนไทย หากสถานการณ์ของโรคโควิด19 ดีขึ้น อะไรที่เข้าสู่ภาวะปกติหรือเหมือนเป็นไข้หวัด นอนพัก 1-2 วันแล้วหาย  เพราะฉะนั้น จะกลายเป็น วิถีปกติของคน คล้ายกับเมื่อเป็นไข้หวัดที่เป็นไข้อยู่ 1-2 วันทานยาหรือพักผ่อนแล้วก็หาย

แต่สิ่งที่จะต้องป้องกัน คือ คนที่ป่วยแล้วมีอาการรุนแรง ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องของการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Group: DRG) ที่จะอ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องคิดคำนวณและหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการ  นี่คือหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย แต่ภายใต้สิ่งที่เหมาะสมและสมควรด้วย และเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการมาตรฐานของการดูแลก็จะต้องเหมือนกัน

ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ

1.องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นอีกได้หรือไม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่วางใจ

2.ระดับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร จะให้เป็นบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐหรือไม่อย่างไร  

3.กฎหมายและการกำกับติดตาม

ซึ่งเป็นข้อจำกัดจริงๆ โดยกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุนถือกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ระบบบริการเดินหน้าได้ เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ UCEP Plus ยังเป็นทิศทางที่น่าจะประคองไว้เพราะเป็นการรักษาชีวิตคน โดยหลักการทุกระบบจะต้องให้ความเท่าเทียมกับปัจจัยพื้นฐาน นพ.จักรกริช กล่าว

"ประกันสังคม" เล็งเพิ่มสิทธิยาโควิด 

ด้าน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ในอนาคตหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวโน้มประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เบื้องต้น ในเรื่องหลัก ระบบประกันสังคม จะดูแลตามสิทธิเดิมใน รพ.คู่สัญญาหลักที่สามารถเข้าไปรับการรักษาได้

ส่วนเรื่องยาและอื่นๆ ให้ความมั่นใจและรับประกันว่าสามารถดูแลตรงส่วนนี้ได้แน่นอน ส่วนว่าต่อไปจะดูแลเรื่องยารักษาโควิด-19 เข้าไปในสิทธิหรือไม่ ให้ความมั่นใจว่าคณะกรรมการการแพทย์ได้หารือเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยจะดูแลผู้ประกันตน 10 กว่าล้านคนอย่างดีที่สุด” นางมารศรีกล่าว    

สำหรับ โรงพยาบาลเอกชน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้หากเป็นโควิด-19 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลแต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน จะมีส่วนของ Extra pay สำหรับดูแลผู้ติดโควิด ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของงบประมาณของแต่ละกองทุน แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มขาลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลกันเอง  

"ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละกองทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 จะเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของ รพ.เอกชน ที่มีความร่วมมือกับ สำนักงานประกันสังคม , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลางจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องดูแลและส่งต่ออย่างไร รัฐต้องรีบดำเนินการให้ชัดเจน"

9 คลินิก Long COVID กทม.

ขณะเดียวกัน ภาวะ Long COVID ถือเป็นอีกหนึ่งภาวะที่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ผ่านการติดเชื้อโควิด-19 องค์การอนามัยโลก ระบุว่า คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ภายใน 3 เดือน ดังนั้น หากเวลาผ่านไปแล้ว 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 และยังคงรู้สึกไม่สบาย และปรากฎอาการในกลุ่ม ลองโควิด Long COVID เช่น หายใจลำบาก สมองล้า หรืออ่อนเพลีย

ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉับ แพทย์และนักบำบัดอื่นๆ ช่วยออกแบบแนวทางฟื้นฟูเพื่อรับมือกับอาการลองโควิดได้ โดยล่าสุด กทม. ได้เปิด  คลินิก Long COVID ในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ดังนี้

1. ARI Clinic โรงพยาบาลตากสิน

2. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

3. คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลสิรินธร

4. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

5. ARI Clinic โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

6. คลินิกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

7. คลินิกประกันสุขภาพ โรงพยาบาลกลาง

8. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ

9. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1004513?anf=