เช็ค 11 อาการด่วน "โอไมครอน" BA.4 BA.5 ติดเชื้อง่าย 5 เท่า ติดซ้ำได้ซ้ำอีก ลงปอด 

สาเหตุ "โอไมครอนแพร่ไว" BA.4 BA.5 เชื้อแรงเสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้น ติดซ้ำได้บ่อยแม้ฉีดวัคซีนหรือเคยติด โควิด มาแล้ว สายพันธุ์นี้อัตราระบาดไวมากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

เกาะติดสถานการณ์การระบาดของ โอไมครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้  โดยองค์การอนามัยโลก ( WHO) ได้จัดให้ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก จากข้อมูลดังกล่าวทำให้กลายคนเกิดความกังวลการแพร่ระบาด และความรุนแรง และมีความกังวลว่า "โอไมครอนแพร่ไว" แค่ไหน และ อาการโอไมครอน BA.4 และ BA.5 เป็นอย่างไร สาเหตุที่ต้องเฝ้าระวัง และปัจจัยที่ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้อีกเป็นอย่างไร   

ข้อมูลระบุว่า สาเหตุที่ต้องเฝ้าระวังว่า "โอไมครอนแพร่ไว" และมีความรุนแรงแค่ไหนนั้น เนื่องจาก พบว่า สายพันธุ์ BA.4  BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับ สายพันธุ์เดลตา เและยังมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 และ  BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน อีกทั้งยังมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ดื้อต่อแอนติบอดี้ของมนุษย์ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) แม้ว่าจะเคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม 

  
 

"โอไมครอนแพร่ไว" โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เนื่องจาก สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ แพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่ง เคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้ (วัคซีนได้ผลน้อยลง)

สำหรับอัตราการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ  มีอัตราการระบาดที่แตกต่างกันดังนี้  

-สายพันธุ์ดั่งเดิม หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น อัตราการระบาดอยู่ที่  3.3 คน 
-สายพันธุ์เดลตา ระบาดอยู่ไว อัตราการระบาดอยู่ที่ 5 คน 
-สายพันธุ์โอไมครอน BA.1  อัตราการระบาดอยู่ที่ 9.5 คน 
-สายพันธุ์โอไมครอน BA.2  อัตราการระบาดอยู่ที่  13.3 คน 
-สายพันธู์โอไมครอน BA.4 และ BA.5 อัตราการระบาดอยู่ที่ 18.6 คน 

 "โอไมครอนแพร่ไว"  กว่าสายพันธุ์อื่น 5 เท่า โดยอาการของโควิดสายพันธุ์ BA.4  BA.5 ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากสายพันธุ์โอมิครอน อาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์นี้ได้แก่  อ่อนเพลีย เหนื่อย  ไอแห้ง  เจ็บคอ  ไข้  มีน้ำมูก  ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และถ่ายเหลว  นอกจากนี้ ยังพบอาการของการสูญเสียการได้กลิ่นและการรับรส พบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ หายใจถี่ หายใจลำบาก และกลุ่มอาการนอกระบบที่ไปคล้ายกันกับสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน

ที่มา :  โรงพยาบาลศิครินทร์ 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/521537?adz=

 

 
"โควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ" ติดแล้วกี่วันแพร่ เช็คก่อนใช้ชีวิตปกติ
 
 

"โควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ" Omicron ติดแล้วกี่วันแพร่ ต้องกักตัวกี่วัน พิจารณา 3 ข้อสำคัญ เช็คก่อนใช้ชีวิตปกติ

"โควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ" เริ่มกลับมาเป็นคำถาม ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หลัง โควิดระลอกใหม่ เริ่มกลับมาอีกครั้ง จากสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 ที่กำลังกระจายไปทั่ว และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว พบการติดเชื้อ เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยความที่อาการน้อย จึงเป็นคำถามว่า ตอนนี้ 5 วัน 7 วัน หรือ 10 วัน ถึงไม่แพร่เชื้อโควิดแล้ว

ระยะแพร่เชื้อโควิด (Infectious period) คือช่วงที่ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไวรัสให้คนอื่นได้ โดยโควิด-19 อาจมีระยะเวลาแพร่เชื้ออยู่ที่ 1-3 วันก่อนที่จะแสดงอาการ และยาวไปอีก 7 วันแรกหลังแสดงอาการ ซึ่งในบางกรณีอาจนานกว่านี้

 

แต่อาการโควิด-19 เช่น มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส อาจใช้เวลาแสดงไม่เท่ากันในแต่ละคน และอาจนานถึง 14 วัน ในขณะที่บางรายไม่มีอาการใดเลยตั้งแต่รับเชื้อจนหายดี ทำให้ระยะแพร่เชื้อโควิดนั้นยากที่จะระบุแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลฉบับเร่งด่วนจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เตือนว่า โควิด-19 อาจแพร่เชื้อได้ทันที ดังนั้น ในระหว่างที่ยังรอการศึกษาเพิ่มเติม หากทราบว่าตนเองมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรกักตัวเองทันที

ติดโควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ

ติดโควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ

"โควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ" เลิกกักตัวได้เมื่อไหร่ ผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจติดโควิด-19 จากการสังเกตอาการ มักได้รับคำแนะนำให้กักตัวในบ้านเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 
หรือเลิกกักตัวอาจต้องพิจารณาข้อต่อไปนี้

  • ควรรออย่างน้อย 14 วันหลังจากอาการแรกเริ่มแสดงออกมา
  • อาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 หายดี หรือดีขึ้นมาก (เนื่องจากอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรสอาจคงอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ หรืออาจถึงเดือน)
  • ต้องไม่มีไข้เกินกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป โดยไม่ต้องใช้ยาลดไข้

"โควิดกี่วันไม่แพร่เชื้อ" ก่อนหน้านี้ ดร.โซรีอาโน ดร.วินเซนเต ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยนานาชาติ ลา รีโอฮา (International University of La Rioja) ในสเปน  กล่าวว่า เชื่อว่าไวรัสนี้ สามารถแพร่เชื้อได้เพียงแค่ 5 วันเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการทำให้คนอื่นติดเชื้อ ในการแพร่เชื้อไวรัส อยู่ที่ 3-5 วัน หลังจากที่มีผลตรวจเป็นบวก ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ของการติดเชื้อ โดยเชื้อกลายพันธุ์ "โอไมครอน" ดูเหมือนจะอยู่ในร่างกายคนได้ราว 7 วัน นั่นหมายความว่า ราว 7 วัน หลังจากมีอาการ คนส่วนใหญ่จะไม่แพร่เชื้อแล้ว ถ้าไม่แสดงอาการใด ๆ อีกต่อไป แต่ทั้งนี้ ก็อาจคลาดเคลื่อนได้

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/521833

 

"โอไมครอน" ติดเชื้อซ้ำ เร็วสุด 20 วัน ฉีดวัคซีน ไม่ต้องรอถึง 3 เดือน 

"โอไมครอน" Omicron เปิดข้อมูลใหม่ ติดเชื้อซ้ำ เร็วกว่าเดิม 20 วัน ก็ติดได้ "หมอมานพ" แนะ ไม่ต้องรอ 3 เดือนถึง ฉีดวัคซีน ซ้ำ

(9 ก.ค.65) "หมอมานพ" ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ manopsi ให้ความรู้เรื่อง โควิด กับการ ติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะสายพันธุ์ โอไมครอน Omicron BA.4 / BA.5 ระบุว่า 

ช่วงนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก BA.4/BA.5 อย่าแปลกใจเมื่อพบว่า คนรอบตัวเราหลายคนที่ติดหนนี้ ไม่ใช่การติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลก นับตั้งแต่ยุค original "โอไมครอน" Omicron ระบาด เพราะเชื้อดื้อภูมิมากอยู่แล้ว สายพันธุ์ใหม่ยิ่งดื้อกว่าอีก

 

เทรนด์นี้ เรามาว่ากันเรื่องการ ติดเชื้อซ้ำ 

การติดเชื้อซ้ำในยุค โอไมครอน Omicron เพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับการติดเชื้อ หลังได้วัคซีนครบ 2 เข็ม (breakthrough infection) เป็นเหตุให้ต้องมีการฉีด boosyer กันขนานใหญ่ สิ่งสำคัญในรายงานยุค Omicron คือการติดเชื้อซ้ำเกิดเร็วขึ้น สามารถพบได้ 20 วัน หลังติดหนก่อน

ข้อมูลข้างต้น เป็นข้อมูลสนับสนุนว่า คำแนะนำที่บอกว่า คนที่ติดเชื้อแล้วต้องรอ 3 เดือน จึงฉีดวัคซีนได้ เป็นข้อมูลล้าสมัย การทิ้งระยะแบบนั้นในยุค โอไมครอน และ BA.4/5 ระบาด ทำให้คนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำก่อนได้วัคซีนเพิ่มขึ้นอีก และต้องย้ำอีกทีว่า การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อซ้ำมีโอกาสป่วยหนัก หรือเสียชีวิต มากกว่าผู้ติดเชื้อแค่หนเดียวอยู่ดี

ดังนั้น การติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะจากโอไมครอน ไม่ใช่วัคซีนเข็มกระตุ้นธรรมชาติ อย่างที่เขาหลอกลวง

โอไมครอน ติดเชื้อซ้ำ เร็วกว่าเดิม

 

โอไมครอน ติดเชื้อซ้ำ เร็วกว่าเดิม

เหตุสำคัญของการติดเชื้อซ้ำ

  1. เชื้อสายพันธุ์ใหม่มีการกลายพันธุ์บน spike ที่ต่างจากเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภูมิหรือ antibody ที่เกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือจากวัคซีนมีผลยับยั้งเชื้อได้น้อยลง
  2. เวลาผ่านไประดับภูมิที่เรามีลดลงไปเรื่อย ๆ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้

นอกจากนี้ผู้ที่ติดเชื้อในยุค Omicron เป็นต้นมา โดยเฉพาะที่ติดหลังได้รับวัคซีนแล้วอาการจะน้อยมากและมักสร้างภูมิหรือ antibody น้อยมาก หรือไม่สร้างเลย ข้อมูลเก่าพบว่า คนติดเชื้อจะมีภูมิสูง พอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ในระยะ 3 เดือน แต่ปัจจุบันไม่เป็นจริง

หมอมานพ ยังระบุว่า แม้การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แต่อย่างน้อย ข่าวดีของผู้ติดเชื้อซ้ำ คือโอกาสป่วยหนัก เสียชีวิต ลดลงมาก คือโอกาสป่วยหนัก นอนโรงพยาบาลลดลง 90% และถ้านอนโรงพยาบาล โอกาสเสียชีวิตลดลง 60% เทียบกับคนที่ติดครั้งแรก

เมืองไทยมีสถิติเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีการรวบรวมข้อมูล ยิ่งยุคที่ยอดรายงานต่ำกว่าความจริงมากแบบนี้ ยิ่งไม่มีทางรู้ข้อมูลจริง ข้อมูลจาก UK พบว่าราว 1/4 ของคนติดเชื้อใหม่เป็นการติดเชื้อซ้ำ

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/521821?adz=

 

'WHO'เตือนทั่วโลกเตรียมรับโควิดระลอกใหม่
 
องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนนานาประเทศให้เตรียมรับมือกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่กำลังเริ่มแพร่กระจายไปทั่ว และขอให้ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

 ตัวเลขล่าสุดจาก ดับเบิลยูเอชโอ บ่งชี้ว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 30% ทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสถิติปัจจุบันนั้นระบุว่า มีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสไปแล้วเกือบ 558 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเพราะอาการป่วยโควิด-19 ถึงกว่า 6.3 ล้านคนแล้ว

 ข้อมูลจากดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 คือ สายพันธุ์ที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระลอกล่าสุดในพื้นที่ทวีปยุโรปและสหรัฐ ขณะที่มีการพบไวรัสสายพันธุ์ที่แตกต่างออกไปในพื้นที่อื่น ๆ เช่น อินเดีย ด้วย

นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูเอชโอ  กล่าวว่า การทดสอบการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงระดับความรุนแรงของการระบาดระลอกล่าสุดนี้ได้อย่างแท้จริงแต่ขณะเดียวกันก็หมายความว่ามีผู้คนจำนวนมากไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็นเพื่อป้องกันอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต

ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ ระบุด้วยว่า ขณะที่ไวรัสยังกลายพันธุ์ยังคงมีอยู่ การรับวัคซีน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักและการเสียชีวิต ก็ลดลงไปพร้อม ๆ กัน และการลดลงของการสร้างภูมิคุ้มกันก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนกระตุ้นภูมิ (boosters) โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/1014323?anf=

 

 

 
 
 
 

‘หมอธีระ’ เตือนโควิดระบาดหนักมาก ติดได้ทั้งในอาคาร-ที่สาธารณะ ย้ำใส่หน้ากากสำคัญสุด ชี้ส่วนใหญ่ตกม้าตาย ใส่ไม่ถูก-มีพฤติกรรมเสี่ยง

1.ใส่ให้ถูกต้อง ปิดปาก ปิดจมูก ไม่มีร่องข้างจมูกและข้างแก้ม 

2.หากหน้ากากอนามัยไม่แนบสนิทกับใบหน้า ต้องใส่หน้ากากผ้าทับไว้ข้างนอก เพื่อกดให้หน้ากากอนามัยด้านในชิดกับใบหน้า

3.คนที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ควรใช้ N95 หรือเทียบเท่า และตรวจสอบความฟิตกับใบหน้าก่อนใช้

4.ส่วนใหญ่ตกม้าตายด้วยเหตุผลเพียง 2 เรื่องคือ ใส่ไม่ถูกต้องและมีพฤติกรรมเสี่ยงขณะนั้น และถอดหน้ากากตอนอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น เช่น กินอาหาร/ดื่มร่วมกันทั้งในและนอกที่ทำงาน ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ ออกกำลังกาย สนทนาชิทแชท ฯลฯ

ส่วนการติดในครัวเรือนนั้นป้องกันได้ยาก ทำได้เพียงคอยสังเกตอาการผิดปกติ หรือใครไปมีประวัติเสี่ยงมา ก็ควรตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วรีบแยกจากสมาชิกในครัวเรือน

ย้ำว่าระบาดหนักมากตอนนี้ ติดกันได้หมดทั้งในอาคาร หรือในที่สาธารณะ

 

การฉีดวัคซีนช่วยเรื่องลดโอกาสป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แต่ไม่การันตี 100% หากไม่ป้องกันตัว จะติดเชื้อได้ ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID การใส่หน้ากากคือหัวใจสำคัญที่สุด

ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_7151153

 

 

'หมอนิธิ' เสนอต่อไปควรฉีดวัคซีนปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน แต่หากโชคดีมีวัคซีนใหม่อาจเหลือปีละครั้ง แนะเข็มแรกกลาง ก.ค.-ก.ย. เข็มสองกลาง ม.ค.-มี.ค.

07 ก.ค.2565 – ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ดี” ระบุว่า จากที่มีคนถามผมมามากรายเป็นระยะๆว่าจะต้องฉีดวัคซีน เข็มสามบ้าง สี่บ้าง ห้าหกบ้าง เมื่อไหร่ดี ผมจะขอพยายามปรับจังหวะเวลาการฉีดให้เข้าใจกันและจำกันได้ง่ายๆนะครับ

ถ้าใครติดตามที่ผมได้เล่าเรื่อง การระบาดของไวรัสโคโรนา2019 มา คงทราบดีว่าในระยะแรกๆ ที่การระบาดรุนแรงนั้นเราคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแต่ขณะนี้มันเริ่มคาดการณ์ได้ ว่ามันจะเริ่มระบาดกันช่วงไหนโดยเริ่มมีรูปแบบที่เกือบแน่นอนแล้ว

ในประเทศหนาวก็จะระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว ส่วนแถบบ้านเราก็จะเป็นช่วงปลายๆหน้าฝนต่อหน้าหนาว และบางทีอาจจะมีสองครั้งในปีหนึ่งๆ (โดยรอบที่สองเป็นการระบาดย่อยๆหลังจากเด็กเปิดเรียน) ซึ่งรูปแบบการระบาดแบบนี้เป็นรูปแบบการระบาดของไวรัสทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่เป็นต้น

 

ด้วยประเภทและชนิดของวัคซีนที่เรามีอยู่ในขณะนี้ กับการกลายพันธุ์ และการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนของสายพันธุ์ใหม่ๆ (แต่วัคซีนทุกๆชนิดยังป้องกันการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้ดีพอควร)นั้น ทำให้เรายังคงต้องฉีดวัคซีนกันไปเรื่อยๆ…..แต่ทำอย่างไรจะให้ได้พอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป…….?????และพอดีจังหวะป้องกันได้ทุกครั้งก่อนระบาด

ผมขอเสนอให้ฉีดวัคซีนกันจากนี้ไป ปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน และเพื่อป้องกันให้ได้พอดีก่อนการระบาดแต่ละครั้ง(ถ้าโชคดีอาจเหลือปีละครั้ง ถ้ามีวัคซีนใหม่ๆกระตุ้นภูมิได้อยู่นานขึ้นและการกลายพันธุ์นั้นเข้าข้างเรา คือพันธุ์ใหม่หลบภูมิคุ้มกันไม่ได้เก่งนักหรือไม่ได้เลย)

และปีละ 2 ครั้ง ในแถบประเทศเราควรจะเป็น ครั้งแรก กลางเดือนกรกฎาคม ไปจนถึง กลางกันยายน และครั้งที่สองคือช่วง กลาง มกราคมไปถึง กลางมีนาคม ส่วนใครที่ติดเชื้อไปแล้ว ก็รอสัก หนึ่งถึงสองเดือนหลังหายแล้วค่อย รับวัคซีนก็ได้ครับ

ตอนนี้วัคซีนอะไรก็ใช้ได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆถึงเวลานั้นเราค่อยปรับการรับวัคซีนกันใหม่ในตอนนั้น(โอกาสที่จะมีวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์ที่ระบาดตรงๆในช่วงนี้เป็นไปได้ยากจนกว่าเราจะควบคุมการระบาดได้ดีกว่านี้) ตอนนี้มีอะไรฉีดไปก่อน ปีละสองครั้ง ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/176085/

 

"ฟาวิพิราเวียร์" VS "โมลนูพิราเวียร์" ข้อบ่งใช้เป็นอย่างไร ใครใช้ได้บ้าง
 
ไขข้อสงสัย ยาหลักที่ใช้รักษา “โควิด-19” ในประเทศไทยอย่าง “ฟาวิพิราเวียร์” และ “โมลนูพิราเวียร์” มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้าง?

ในปัจจุบันประเทศไทยมียารักษา “โควิด-19” อยู่หลากหลายชนิด ซึ่งข้อบ่งใช้ของยาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ตลอดจนราคาของยาแต่ละชนิดก็ต่างกันด้วย ทั้งนี้ ยา 2 ชนิดที่ถูกพูดถึง และคุ้นหูคนไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ยาฟาวิพิราเวียร์” และ “ยาโมลนูพิราเวียร์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปทำความรู้จักกับตัวยาทั้ง 2 ชนิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มใด ควรได้รับยาชนิดไหน และข้อบ่งใช้ยาเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาตัวแรกที่นำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า กลไกลการออกฤทธิ์ของยาชนิดนี้ เป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ติดต่อกันเป็นเวลาใน 14 วัน มีสัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ 86.9%  

ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้มีภาวะอ้วน, ผู้มีโรคประจำตัว ขณะที่สตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 อาจพิจารณาให้ใช้ได้
การให้ยา: ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ ในวันแรกอยู่ที่ 1,600 มิลลิกรัม และลดลงเหลือ 600 มิลลิกรัม ในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องรับประทานประมาณ 40 เม็ดต่อคนราคาต่อคอร์ส: 800 บาท

ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)

ยาโมลนูพิราเวียร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ไม่ต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง โดยได้รับการอนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ให้ใช้ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อบ่งใช้: ผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เน้นในกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้มีภาวะอ้วน, ผู้มีโรคประจำตัว ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
การให้ยา: ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม หรือ 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ทั้งนี้จะต้องได้รับยาภายใน 5 วัน หลังได้รับการวินิจฉัยเริ่มมีอาการป่วยโควิด 

ราคาต่อคอร์ส: ประมาณ 10,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ อยู่ภายใต้การประชุมหารือของผู้เชี่ยวชาญโดยตลอด ล่าสุดมีการปรับปรุงเกณฑ์การให้ยาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปตาม แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ระบุไว้ว่า

ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อ SARS-CoV-2 ให้ผลบวก รวมถึงผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรค และปัจจัยเสี่ยงได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี 

  • ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน หรือ ทำโฮมไอโซเลชัน หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม
  • ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
  • อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง โรคร่วมสำคัญ และภาพถ่ายรังสีปอดปกติ

  • อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มให้ยาโดยเร็ว
  • หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่ จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่

1) อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป

2) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) (GOLD grade 2 ขึ้นไป) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ

3) โรคไตเรื้อรัง (CKD) (stage 3 ขึ้นไป)

4) โรคหัวใจ และหลอดเลือด (NYHA functional class 2 ขึ้นไป) และโรคหัวใจแต่กำเนิด

5) โรคหลอดเลือดสมอง

6) เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้

7) ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI 230 กก./ตร.ม.)

8) ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป)

9) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิหรือ corticosteroid equivalent to prednisolone 15 มก./วัน ระยะเวลา 15 วัน ขึ้นไป

10) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มี CD. cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี

  • หากไม่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ยาฟาวิพิราเวียร์
  • หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ เรมเดซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์
  • หากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 2 ข้อ ให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ 

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O, saturation < 94 % ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับออกซิเจน แนะนำให้ เรมเดซิเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก และควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น แม้ว่าทั้งยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยจนถึงปานกลาง แต่จากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับล่าสุด จะเห็นได้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ จะถูกใช้ในผู้ป่วยกรณีที่ 3 เท่านั้น ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์จะใช้ได้ทั้งผู้ป่วยกรณีที่ 2 และ 3 

ที่มา: กรมการแพทย์
 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/1014058?anf=

 

 
กรมควบคุมโรค เปิดทุกข้อสงสัย ผู้ติดเชื้อโควิด BA.4 – BA.5 เพิ่มขึ้น ย้ำไม่ใช่ระลอกใหม่ ให้เรียกว่า “ระบาดเวฟเล็ก” ขอให้มั่นใจระบบสาธารณสุขยังรับได้

วันที่ 5 กรกฏาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการระบาดระลอกใหม่นั้น คงไม่นับว่าเป็นการระบาดระลอกใหม่ เพราะลักษณะการระบาดขณะนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วแต่สายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป

 

โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่พบว่ามีการติดเชื้อได้เร็วจริง แต่ความรุนแรงค่อนข้างน้อย ประกอบกับประเทศไทยมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ผู้คนมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น

สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยระบบสาธารณสุขและเสียชีวิตของไทยยังสามารถรับมือผู้ป่วยหนักได้ และที่สำคัญคือเตียงโควิด-19 ที่เคยมีไว้รักษาผู้ป่วยโควิดได้ปรับกลับไปให้ผู้ป่วยโรคทั่วไปแล้ว ทำให้จำนวนเตียงไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนเดิม

ส่วนที่มีข่าวว่าเตียงล้นโรงพยาบาล เท่าที่ตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการไม่มาก แต่หลายคนขออยู่โรงพยาบาล เพราะมีเรื่องประกันสุขภาพด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ประมาทและมีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาพบมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดอื่นพบปัญหาน้อยมาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงไป มีการให้ตรวจ RT-PCR ในบางกรณี และตรวจ ATK เฉพาะที่มีอาการ จะนิยามการระบาดเช่นนี้ไว้อย่างไร

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า เราจะเรียกว่า “เวฟเล็กๆ”  ซึ่งมีลักษณะระบาดขึ้นลงตามวงรอบ ส่วนหนึ่งมาจากเชื้อกลายพันธุ์ด้วย เชื่อว่าขณะนี้เชื้อกับคนกำลังหาจุดสมดุลกันอยู่ โดยเชื้อกลายพันธุ์อ่อนแรงลงเพื่อให้อยู่กับคนได้ ส่วนคนก็ฉีดวัคซีนแล้ว มีการติดเชื้อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเยอะขึ้นแล้ว เชื่อว่าจุดสมดุลระหว่างคนกับเชื้อโรคน่าจะถึงจุดสมดุลเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเราก้าวพ้นระยะการระบาดได้

เมื่อถูกตามต่อไปว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายๆคนได้คาดการณ์ตัวเลขติดเชื้อจริงน่าจะมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน จะมีการพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาปรับแผนรองรับหรือไม่นั้น

นายแพทย์โอภาส บอกว่า ไม่มีใครบอกได้ว่าอัตราการติดเชื้อจะมากถึงขนาดไหน อาจจะมากกว่าตัวเลขที่มี 2 เท่า 3 เท่า 5 เท่า เพราะเราไม่ได้ตรวจ RT-PCR ในทุกคน โดยจะตรวจเฉพาะผู้ที่ต้องเข้ารักษาใน รพ.

ส่วนคนทั่วไปก็ใช้ตรวจ ATK เฉพาะตอนมีอาการ ซึ่งหลายคนอาการน้อย จึงไม่ได้ตรวจเชื้อแล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องหาจำนวนผู้ติดเชื้อกี่คน ซึ่งทั่วโลกก็ทำเหมือนๆ กัน โดยต่างประเทศก็ไม่ได้ตรวจอะไรแล้ว

ที่สำคัญขณะนี้ ประชาชนที่ติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง อยู่บ้านรักษาตามอาการ ซึ่งยืนยันว่า มาตรการฉีดวัคซีนได้ผล เพราะถ้าไม่ได้รับวัคซีนจะต้องมีเหตุการณ์คนล้น รพ.เกิดขึ้นเหมือนช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด

 

โดยสธ.จะมีการประชุมกับ ศปก.ศบค.ในข้อมูลต่างๆ นำมาสู่การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะนำเสนอในการประชุม ศบค.ในวันที่ 8 ก.ค.นี้

 

 ข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/general/news-973323

4 ก.ค. 2565 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยว่า

Q8: โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75, BA.2.38, BE.1, และ BF.1 มีการกลายพันธุ์ไปมากน้อยแค่ไหน มีการระบาดที่รวดเร็วและก่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรงมากหรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ และสายพันธุ์ใดน่ากังวลที่สุด

 

A8: BA.2.75 และ BA.2.38 ส่วนใหญ่พบในอินเดีย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า B.1.1.529.2.75 และ B.1.1.529.2.38

BA.2.75 ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากกลายพันธุ์ไปเกือบ 100 ตำแหน่ง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้ามาแทนที่ BA.5 ซึ่งกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิมอู๋ฮั่น เพียง 85

 
 

รองลงมาคือ 2.38 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาดั้งเดิมประมาณ 75-80 ตำแหน่ง

BE.1 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า B.1.1.529.5.3.1.1 ส่วนใหญ่พบในประเทศแอฟริกาใต้ กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาดั้งเดิมประมาณ 80-85 ตำแหน่ง

BF.1 ยังไม่มีข้อมูลมากนัก

ในขณะที่ BA.5 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาดั้งเดิมประมาณ 80-85 ตำแหน่ง

โอมิครอน 4 สายพันธุ์ย่อยที่อุบัติใหม่นี้ ยังไม่มีข้อมูลในด้านความรุนแรงก่อโรคโควิด-19 (disease severity) ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

ยังไม่พบ BA.2.75, BE.1, BF.1 ในประเทศไทย

ส่วน BA.2.38 พบในประเทศไทยแล้วอย่างน้อย 2 ราย.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/173997/

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ

กิจกรรม

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
2751331

มี 42 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

เกี่ยวกับคุกกี้บนเว็บไซด์นี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา

นโยบายใช้งานคุกกี้