อัปเดตสถานการณ์ฝีดาษลิง ทั่วโลกรายงานป่วย 484 ราย ใน 27 ประเทศ ผลยืนยันแล้ว 401 ราย สงสัย 83 ราย "สเปน" ป่วยมากสุด พบที่ "อิหร่าน" เพิ่มอีกประเทศ อาการส่วนใหญ่ออกผื่น พบมากที่อวัยวะเพศ อนามัยโลกยังไม่แนะนำฉีดวัคซีน ไทยยังเฝ้าระวังเข้ม

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานร ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2565 ระบุว่า 1.สถานการณ์ทั่วโลกของโรคฝีดาษวานรตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นถึงวันที่ 28 พ.ค. 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 484 ราย (เพิ่มขึ้น 53 ราย) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 401 ราย (เพิ่มขึ้น 69 ราย) และผู้ป่วยสงสัย 83 ราย (ลดลง 16 ราย) ใน 27 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 1 ประเทศ) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 139 ราย (ร้อยละ 29) อังกฤษ 101 ราย (ร้อยละ 21) โปรตุเกส 74 ราย (ร้อยละ 15) แคนาดา 63 ราย (ร้อยละ 13) และเยอรมัน 21 ราย (ร้อยละ 4) ประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วย ได้แก่ อิหร่าน

ข้อมูลทางระบาดวิทยาของสถานการณ์ทั่วโลก จากรายงานทั้งหมด 195 ราย ที่มีการรายงานข้อมูลปัจจัย เพศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 97) และเพศหญิง (ร้อยละ 3) สำหรับอายุ จากรายงาน 71 ราย ที่มีข้อมูล ทั้งหมดเป็นกลุ่มอายุ 20-59 ปี จากรายงานที่มีข้อมูลอาการ 92 ราย ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99) มีผื่น โดยผื่นที่พบ ได้แก่ ลักษณะแผลหรือ ulcerative lesion (ร้อยละ 80) ไม่ระบุลักษณะ (ร้อยละ 10) ตุ่มน้ำใส (ร้อยละ 8) ผื่นนูน และตุ่ม หนอง (ร้อยละ 1) ตำแหน่งของผื่น ได้แก่ ไม่ระบุตำแหน่ง (ร้อยละ 60) บริเวณอวัยวะเพศ (ร้อยละ 57) บริเวณปาก (ร้อยละ 19) และบริเวณรอบทวารหนัก (ร้อยละ 1) อาการอื่นที่พบ ได้แก่ ไข้ (ร้อยละ 27) ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ไอ กลืนลำบากเล็กน้อย และปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 1)

จากรายงานที่มีข้อมูลสายพันธุ์ 9 ราย ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ West African จากรายงานทั้งหมด มี 84 ราย ระบุว่ามีประวัติเดินทาง 49 ราย (ร้อยละ 58) โดยมีข้อมูลระบุมี ประเทศต้นทาง 20 ราย (ร้อยละ 54) ได้แก่ สเปน (ร้อยละ 45) อังกฤษ (ร้อยละ 10) โปรตุเกส เบลเยียม แคนาดา ประเทศในแอฟริกาแต่ไม่ระบุชื่อ (ร้อยละ 7) ไนจีเรียและเยอรมัน (ร้อยละ 3) 

2.สถานการณ์ในประเทศไทย วันที่ 28 พ.ค. 2565 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย สำหรับการประเมิน ความเสี่ยงของการติดต่อโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยมีโอกาสพบผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงาน ผู้ป่วย เช่น ประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันตก สหราชอาณาจักรอังกฤษ สเปน โปรตุเกสและแคนาดา

3.ประเด็นที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งฉีด วัคซีนขนานใหญ่เพื่อป้องกันโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เนื่องจากสถานการณ์ของโรคดังกล่าวในขณะนี้ ยังสามารถควบคุมได้ แต่เตือนให้ตระหนัก เพื่อรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถใช้มาตรการที่เพียงพอ ในเวลาที่เหมาะสม ขณะที่สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ออกคำแนะนำใหม่เกี่ยวกับผู้ ติดเชื้อฝีดาษวานรโดยระบุว่า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตนเองเป็นเวลา 21 วัน โดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงที่เป็นหนูเจอร์บิลหรือหนูทะเลทราย หนูแฮมเตอร์ส และสัตว์ตระกูลฟันแทะ เพราะอาจมีความไวต่อโรค นี้เป็นพิเศษ และกังวลว่าเชื้อไวรัสฝีดาษวานรอาจแพร่ระบาดไปยังประชากรสัตว์ประเภทดังกล่าว

4.ข้อสังเกตจากสถานการณ์และข้อเสนอแนะ โดยข้อสังเกตพบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็น เพศชาย วัยเจริญพันธุ์ แต่เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยเพศหญิงเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด 5 ราย (ผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย ผู้ป่วย สงสัย 3 ราย) ในผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เมือง Antwerp ที่มีการจัด Darkland Festival และประเทศในแอฟริกาแต่ไม่ระบุชื่อ ประเทศเยอรมันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8 รายจากวันที่ 27 พ.ค. 2565 ซึ่งในวันนี้มียอดผู้ป่วยสะสมเกิน 20 ราย ประเทศอิหร่าน มีรายงานผู้ป่วยสงสัย รายใหม่ตรวจจับผู้ป่วยสงสัย 3 รายจากผู้ที่เดินทางข้ามพรมแดน ข้อเสนอแนะ ไทยควรเพิ่มการเฝ้าระวังและให้ความรู้ในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อการป้องกันโรคในสถานบริการที่มีความเสี่ยง เน้น ย้ำประชาชนให้มีการปฏิบัติตามมาตรการ UP
 
 
 
มารู้จัก"โรคฝีดาษลิง"เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับ ไข้ทรพิษ
 
 

มารู้จัก"โรคฝีดาษลิง"(monkeypox) โดย รศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

โรคฝีดาษลิง (monkeypox) กับโรคฝีดาษหรือ "ไข้ทรพิษ" (small pox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม pox virus เหมือนกัน แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ทั้งสองโรคมีการแพร่เชื้อและความรุนแรงที่ต่างกัน โดยโรคฝีดาษลิงจะมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ โดยโรคฝีดาษลิงมีการรายงานการระบาดที่แถบทวีปแอฟริกาและอาจพบกระจายไปที่ทวีปอเมริกาหรือยุโรปเป็นบางช่วงเวลาผ่านการเดินทางหรือผ่านทางสัตว์ แต่โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2522 สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศจึงมาให้ข้อกระจ่างความรู้กับโรคนี้

รศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคฝีดาษลิง ติดต่อผ่านผิวหนังทางการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือการโดนกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อจำพวกลิงหรือสัตว์ฟันแทะ เช่น หนูหรือกระรอก เป็นต้น มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย การแพร่กระจายผ่านละอองฝอยพบได้น้อย การแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิงพบน้อยกว่าโรคฝีดาษมาก

ส่วนอาการและอาการแสดงของโรคฝีดาษลิง ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 7-14 วัน โดยจะเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และปวดหลัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออาเจียน ผื่นจะเริ่มขึ้น 1-3 วันหลังมีไข้ โดยจะเป็นผื่นแดงและกลายเป็นตุ่ม มักเริ่มที่หน้า ตัวและกระจายที่มือเท้า

โดยตุ่มจะมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัว หลังจากนั้นประมาณ14 วัน ตุ่มแดงทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มน้ำตุ่มหนองพร้อมกัน และเริ่มแตกเป็นแผลมีสะเก็ดพร้อมกัน ซึ่งนอกจากอาการผื่นแล้วผู้ป่วยมักมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคาง ลำคอและขาหนีบ ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีกระจกตาอักเสบ มีปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบได้

อาการและอาการแสดงของ โรคฝีดาษลิง จะมีอาการและอาการแสดงที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ ผื่นของทั้งสองโรคจะมีลักษณะใกล้เคียงกันแต่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจะพบต่อมน้ำเหลืองโตบ่อยมากกว่าโรคฝีดาษ ส่วนความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงและอัตราการเสียชีวิตของโรคฝีดาษลิงจะอยู่ที่ 1-10% ซึ่งต่ำกว่าโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ

ในทางการการรักษาโรคฝีดาษลิง จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ หากผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอาเจียน อาจจำเป็นต้องได้รับน้ำเกลือทางเส้นเลือด ยารักษาจำเพาะโรคใช้ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรง ส่วนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเพื่อป้องกันโรค จะแนะนำในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงหรืออยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อ

ขอบคุณที่มา : สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/scoop/516680?adz=

"หมอยง" เผย "ฝีดาษลิง" ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
 
"หมอยง" เผยไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ รวมทั้งฝีดาษวานร หรือ “ฝีดาษลิง” สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แทนการปลูกฝี - อาการแทรกซ้อนน้อยกว่า

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เผยข้อมูลความว่า

ฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ รวมทั้งฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ไวรัสในกลุ่มฝีดาษไข้ทรพิษ และ ฝีดาษวานร หรือ “ฝีดาษลิง” มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก ในกลุ่มฝีดาษ ระบบภูมิคุ้มกันข้ามมาป้องกัน ซึ่งกันและกัน

 

สมัยเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ที่ใช้ฝีดาษวัว (Vaccinia) มาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว และประสบผลสำเร็จ จนในที่สุด โรคไข้ทรพิษได้หายไปจนหมดสิ้น องค์การอนามัยโลกยกเลิกการปลูกฝีอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ 2523 หลายประเทศยกเลิกก่อนหน้านั้น

ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนให้ดีขึ้น (ใช้ Vaccinia Ankara strain) แทนการปลูกฝี เป็นไวรัสเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์และไม่แบ่งตัว มาใช้วิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยไม่เกิดอาการตุ่มหนองฝี มีอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าวิธีการปลูกฝี

ปัจจุบันวัคซีนได้อนุมัติใช้ทางประเทศตะวันตก ยุโรปและอเมริกา

โรคฝีดาษวานร หรือ “ฝีดาษลิง” วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันก็ไม่ได้เริ่มต้นมาจากศูนย์ แบบการพัฒนาวัคซีนป้องกัน covid 19

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/1007000?anf=

 

 
"วัคซีนโควิดไร้เข็ม" นวัตกรรมใหม่สำหรับคนกลัวเข็ม ลุ้นฉีดในไทยปี 65
 
 

โควิเจน "วัคซีนโควิดไร้เข็ม" นวัตกรรมใหม่เหมาะสำหรับคนกลัวเข็มฉีดยา เตรียมขออนุมัติขึ้นทะเบียนกับ อย. ลุ้นฉีดในไทยปี 2565

"วัคซีนไร้เข็ม" เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น และได้ใช้จริงแล้วในหลายประเทศ  โควิเจน (COVIGEN) เป็น "วัคซีนโควิดไร้เข็ม" ชนิด DNA พัฒนาโดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย (จำกัด) ร่วมทุนกับไทย-ฝรั่งเศส และบริษัทเทคโนวาเลีย กำลังยื่นขออนุมัติขึ้นทะเบียนกับ อย. หากผ่านแล้วก็จะได้ใช้จริงในปี 2565 นี้ โดยการให้วัคซีนโควิเจน (COVIGEN) ให้วัคซีน 2 โดส ฉีดห่างกัน 28 วัน

"วัคซีนไร้เข็ม" โควิเจน ผ่านการทดสอบในขั้นตอนฉีดเข้ามนุษย์ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยทำการทดลองกับอาสาสมัครในออสเตรเลีย ช่วงอายุ 18-75 ปี โควิเจน เป็นการฉีดยาไร้เข็ม พัฒนาโดย มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ร่วมกับมหาวิทยาอื่นๆ โดยใช้วัคซีนโควิดประเภทดีเอ็นเอ (DNA) ที่พัฒนาโดยบริษัท BioNet และบริษัท Technovalia ส่วนอุปกรณ์ฉีดยาเป็นของบริษัทฟาร์มาเจ็ต

อุปกรณ์ฉีดโควิดไร้เข็ม จะอัดของเหลวเข้าผิวหนัง ใช้เวลาส่งวัคซีนเข้าสู่เซลล์ประมาณ 0.1 วินาที ซึ่งเพียงพอที่จะกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน "วัคซีนโควิดไร้เข็ม" โควิเจน นี้จะใช้เป็นวัคซีนทางเลือกในประเทศที่ขึ้นทะเบียนแล้ว โดยเริ่มใช้ที่ออสเตรเลียในปีนี้ และหากผ่านการอนุมัติจาก อย. ของไทยก็จะได้ใช้ในปีนี้เช่นกัน

โควิเจน ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย 650 ล้านบาท จากงบเงินกู้ปี 2563 ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 ในประเทศไทย

"วัคซีนโควิดไร้เข็ม" มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด19 ที่ได้รับมาตรฐานเช่นเดียวกับวัคซีนโควิดแบบฉีดชนิดอื่น แตกต่างกันตรงวิธีใช้ ลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากเข็ม ทั้งแผลบวมแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบมากอันดับต้นๆ ของการฉีดวัคซีนโควิดในปัจจุบัน

ภาพ : https://bionet-asia.com/

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/516611?adz=

 

ยอดป่วยโควิดเริ่มนิ่ง ติดเชื้อใหม่ 4-5 พันรายต่อวัน วันนี้ติดเชื้อ 4.4 พันราย วันนี้หายป่วยน้อย เพียง 3.9 พันราย ป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจยังลดลงเล็กน้อย ยอดดับยังอยู่ที่ 38 ราย พบ 4 ขวบเสียชีวิตด้วย กทม.ยังติดเชื้อ 1.8 พันราย 69 จังหวัดติดเชื้อต่ำกว่าร้อยราย รายงานเป็น 0 เพิ่มขึ้นเป็น 5 จังหวัดคือ ลำพูน ลำปาง นราธิวาส ตรัง พังงา 

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้รายงาน 4,488 ราย ต่ำกว่าหมื่นรายต่อเนื่อง 27 วัน ติดเชื้อสะสม 4,438,999 ราย หายป่วย 3,921 ราย สะสม 4,362,317 ราย เสียชีวิต 38 ราย สะสม 29,948 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 46,734 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI 27,860 ราย และอยู่ใน รพ. 18,874 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 939 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 461 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 13.7% ส่วนผู้ติดเชื้อในเรือนจำมี 12 ราย ไม่มีผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 38 ราย มาจาก 26 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ 4 ราย , ยโสธร 3 ราย , ร้อยเอ็ด มหาสารคาม แพร่ ชลบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี จังหวัดละ 2 ราย และ สมุทรปราการ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี ขอนแก่น ลำพูน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ระยอง ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิตจาก กทม. โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 23 ราย หญิง 15 ราย อายุ 4 - 101 ปี อายุเฉลี่ย 73 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 97% 

 
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 1,870 ราย 2.บุรีรัมย์ 135 ราย 3.ชลบุรี 108 ราย 4.นนทบุรี 99 ราย 5.สกลนคร 91 ราย 6.กาฬสินธุ์ 87 ราย 7.สมุทรปราการ 84 ราย 8.สมุทรสาคร 83 ราย 9.สุพรรณบุรี 77 ราย และ 10.ชัยภูมิ 71 ราย

ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 69 จังหวัด จำนวนนี้เป็นจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มี 13 จังหวัด ได้แก่ น่าน 6 ราย , แพร่ 6 ราย , เชียงราย 5 ราย , ปัตตานี 5 ราย , ยะลา 5 ราย , ชัยนาท 4 ราย , พะเยา 4 ราย , สตูล 4 ราย , สมุทรสงคราม 4 ราย , สิงห์บุรี 3 ราย , กระบี่ 2 ราย , ระนอง 2 ราย และแม่ฮ่องสอน 1 ราย ส่วนจังหวัดรายงานเป็น 0 มี 5 จังหวัด คือ ลำพูน และลำปาง ตรัง นราธิวาส และพังงา

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 จำนวน 175,622 โดส สะสม 137,276,732 โดส เป็นเข็มแรก 56,697,450 ราย คิดเป็น 81.5% เข็มสอง 52,534,842 ราย คิดเป็น 75.5% และเข็ม 3 ขึ้นไป 28,044,440 ราย คิดเป็น 40.3% ภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 แล้ว 44.1% ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรกแล้ว 2.99 ล้านคน คิดเป็น 58.1% และเข็มสอง 1.6 ล้านคน คิดเป็น 31.1%

สำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศช่วงวันที่ 1-27 พ.ค. 2565 มีจำนวน 490,637 คน โดย 10 ประเทศต้นทางที่เดินทางมามากที่สุด ได้แก่ 1.สิงคโปร์ 68,435 คน 2.อินเดีย 58,716 คน 3.เวียดนาม 25,273 คน 4.มาเลเซีย 24,804 คน 5.กัมพูชา 21,087 คน 6.สหรัฐอเมริกา 20,407 คน 7.อังกฤษ 18,255 คน 8.ออสเตรเลีย 18,077 คน 9.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 14,933 คน และ 10.เยอรมนี 13,346 คน
 
 
 

27 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 530 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 524,556 คน ตายเพิ่ม 1,179 คน รวมแล้วติดไปรวม 530,082,845 คน เสียชีวิตรวม 6,307,296 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 
 
 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.42 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 62.84 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.89 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 21.54

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 14.56% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…อัพเดตสถานการณ์การเสียชีวิตเฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน

ข้อมูลจาก Ourworldindata ชี้ให้เห็นว่าไทยเรายังมีอัตราตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย

นอกจากนี้หากจำแนกตามรายได้ของแต่ละกลุ่มประเทศ จะพบว่าอัตราตายเราก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income countries) อีกด้วย

…ประเมินเรื่อง Long COVID

จากความรู้ล่าสุดที่ได้จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่วันก่อน ซึ่งพบภาวะ Long COVID ในประชากรวัยผู้ใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เฉลี่ย 1/5 หรือราว 20% และหากสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงเป็น Long COVID มากขึ้น เป็น 1/4 (25%)

ในขณะที่งานวิจัยในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่อีกชิ้นก็พบว่า การฉีดวัคซีนนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Long COVID ได้ราว 15%

นำมาประเมินสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งเรามีจำนวนคนติดเชื้อ (รวม ATK) ไปแล้วกว่า 6.4 ล้านคน

แม้ลองหักลบจำนวนเด็กหรือเยาวชนที่ติดเชื้อไป และหวังใจว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศเราเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว

จำนวนคนที่จะประสบภาวะ Long COVID อาจมีสูงถึง 1,000,000 คน

สิ่งที่ควรทำคือ

หนึ่ง ทุกภาคส่วนควรช่วยกันกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ รวมถึงคนที่ติดเชื้อแล้วก็ควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

สอง รัฐควรลงทุนสนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับระบบสุขภาพ เพื่อจัดบริการให้คำปรึกษา ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ทั้งเรื่องธรรมชาติของโรค การรักษา และการจัดทำระบบฐานข้อมูลระดับชาติ

สาม ประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นอัพเดตความรู้อย่างสม่ำเสมอ และประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ

โควิด…ไม่ได้จบที่หาย แต่ติดแล้วป่วยได้ ตายได้ ที่สำคัญคือเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด… ยังไม่ใช่เวลาที่จะถอดหน้ากาก ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่หลงไปกับคำลวงหรือกิเลส ควรป้องกันตัวให้เป็นกิจวัตร.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/149722/

 

'หมอธีระ' ยกผลวิจัยมะกันเตือนสติคนไทยให้ตระหนักถึงการป้องกันตัวการ์ดห้ามตก ชี้แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ลดความเสี่ยงของ Long COVID ได้ไม่มากนัก

26 พ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 532,571 คน ตายเพิ่ม 1,265 คน รวมแล้วติดไปรวม 529,430,127 คน เสียชีวิตรวม 6,305,358 คน

 
 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 66.4 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 52.45 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 15.33

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 17.01% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...คนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโควิดขึ้นมานั้นเสี่ยง Long COVID แค่ไหน? ล่าสุด งานวิจัยขนาดใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Nature Medicine เมื่อวานนี้ 25 พฤษภาคม 2565 ศึกษาในประชากรที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แล้วเกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนถึง 33,940 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 2.56 ล้านคน และกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้ออีก 10.7 ล้านคน

ประเมินดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID รวมถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพอื่นๆ ณ 6 เดือนหลังจากเกิดการติดเชื้อ
สาระสำคัญที่พบคือ

1.การฉีดวัคซีนนั้นลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ได้ 15% ทั้งนี้ผลที่ค้นพบจากการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือว่าน้อยกว่าที่การศึกษาอื่นในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะการศึกษาก่อนๆ เคยประเมินว่าลดความเสี่ยงได้ราว 41% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน โดยวัคซีน mRNA จะสามารถลดความเสี่ยงได้มากกว่าวัคซีนประเภท viral vector

2.การฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ราว 34% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

3.แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่หากติดเชื้อขึ้นมา ก็ยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ณ 6 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.75 เท่า และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายจาก Long COVID สูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.5 เท่า

...ผลการศึกษานี้ สะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ช่วยลดความเสี่ยงของ Long COVID ได้ไม่มากนัก การใส่หน้ากากอย่างสม่ำเสมอยังเป็นเรื่องจำเป็น Health consciousness หรือความใส่ใจต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยประคับประคองให้เราอยู่รอดในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ควรหลงตามกิเลส ใช้สติและปัญญาในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัว

อ้างอิง
Al-Aly, Z., Bowe, B. & Xie, Y. Long COVID after breakthrough SARS-CoV-2 infection. Nat Med. 25 May 2022.

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/148933/

 

25 พ.ค.2565 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะได้มีโอกาสพบเพื่อหารือกับ นาย Tedros Adhanom Ghrebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงความร่วมในโครงการต่างๆ ระหว่างประเทศไทยกับ WHO

ในการพบหารือ นาย Tedros และ ดร. Poonam Khetrapal Singh ผู้อำนวยการ WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวชื่นชมไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด19 ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง WHO และจะนำรูปแบบ รวมถึงระบบการบริหารจัดการของประเทศไทย ไปเป็นแบบอย่างที่จะสร้างให้เป็นมาตรฐานสากล และใช้ในการบริหารสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก

 
 
 

“ผู้บริหาร WHO ชื่นชมความสำเร็จในการจัดการโควิด19 ของประเทศไทย การฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 70% ตามเป้าหมายของ WHO ซึ่งปัจจุบันไทยฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุม 81.4% เข็มที่2 จำนวน 75.3% ของประชากรทั้งประเทศ และขอบคุณที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ ของ WHO อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ WHO Biohub ซึ่งเป็นคลังสำหรับเก็บเชื้อเพื่อวิจัย และการแบ่งปันเชื้อ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาและวิจัยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอุบัติใหม่ต่างๆ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ได้เชิญนาย Tedros เข้าร่วมการประชุม APEC High Level Meeting on Health and the Economy ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. 2565 ที่กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค โดยการประชุมครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสามาชิกเอเปคเข้าร่วมหารือกันภายใต้หัวข้อ เปิดกว้างเพื่อความร่วมมือ เชื่อมต่อกับโลก สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์การประชุมดังกล่าว ประเทศไทยจะเปิดสำนักงานเลขาธิการ ศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) รองนายกรัฐมนตรีจึงเชิญผู้อำนวยการใหญ่ WHO ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ได้ขอบคุณที่ WHO เลือกประเทศไทยเพื่อเป็นประเทศนำรองในการดำเนินกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 (UHPR) โดยผลการดำเนินโครงการไทยสามารถบริหารจัดการการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยพร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก นาย Tedros ได้รับการเลือกตั้งจากประเทศสมาชิก WHO 194 ประเทศให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WHO เป็นสมัยที่2 โดยในวาระแรกได้เริ่มดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2560 และจะครบวาระสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 นี้

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/hi-light/148586/

 

 
“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”
“อาการลองโควิด” คืออาการเจ็บป่วยของคนที่หายจากโควิดแล้ว แต่ยังเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ตัวช่วยนอกจากยารักษาแล้ว “อาหารต้านลองโควิด” จาก "อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" ช่วยฟื้นฟูร่างกายได้

อาการลองโควิด (Long COVID หรือ Post Covid-19) คือภาวะของคนที่หายจากโควิดแล้ว แต่ยังเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ จากเชื้อไวรัสซึ่งทำให้เกิดการอักเสบได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร เซลล์ประสาท ถุงลมปอด ไต ฯลฯ

แต่ละคนมีอาการและความรุนแรงไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ว่าจะเป็นทุกราย สมาคมควบคุมอาหารแห่งอังกฤษ แนะนำ อาหารเมดิเตอร์เนียน ให้เป็น อาหารต้านลองโควิด

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”    

กินอาหารสุขภาพช่วยต้านลองโควิด (Credit: nomadparadise.com)

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามคำแหง ระบุว่า ผู้ป่วยโควิดหลายรายรักษาหายแล้ว กลับไปใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้ แต่บางคนมี อาการลองโควิด รุนแรงจนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม

อาการลองโควิด มีโอกาสเกิดขึ้น 30-50% ระยะเวลาและความรุนแรงที่เป็นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน

โดย 10 อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ เหนื่อยล้า หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ไอเรื้อรัง เจ็บข้อต่อ เจ็บหน้าอก การรับรู้รสและกลิ่นเปลี่ยนไป อาการท้องร่วง ท้องเสีย ท้องอืด นอนไม่หลับ สมองล้า (Brain fog) มีผื่นคัน จนถึงเกิดสภาวะวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”   

ผักผลไม้สดต้านอาการลองโควิด (Credit: JerzyGorecki)

การตรวจเช็คแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาความผิดปกติเพื่อรักษาจะช่วยให้ระยะเวลาที่เกิด ลองโควิด สั้นลง และสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาปกติได้เร็วขึ้น โดยแพทย์จะรักษาตามกลุ่มอาการ ให้ยารักษา และฟื้นฟูสภาพร่างกาย

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”   

อาหารเช้าขนมปังโฮลวีท (Credit: everydayhealthyrecipes.com)

ข้อมูลจาก รพ.พระราม 9 แนะนำว่า ช่วงหายจากโควิดควรพักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เน้นดูแลร่างกายเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการอักเสบ

ที่สำคัญการ กินอาหาร ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายในทุก ๆ มื้อจะช่วยให้อาการลองโควิดหายเร็วยิ่งขึ้น โดย อาหารต้านลองโควิด ได้แก่ อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีสารอาหารสำคัญช่วยฟื้นฟูร่างกาย อาทิ

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”     

(Credit: stroke.org)

โปรตีน ช่วยในการซ่อม สร้าง และเสริมเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โปรตีนเช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วฝักอ่อน ไข่และนม

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”     

พาสต้าโฮลวีท (Credit: jamiegeller.comdd)

แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำตาลที่เร็วเกินไป (น้ำตาลมีส่วนเพิ่มโอกาสการอับเสบ)

ผักผลไม้หลากสี เพื่อให้ได้สารพฤกษเคมีและเส้นใยอาหาร

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ อาจเริ่มด้วยการออกกำลังกายเบา ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ ก่อน (แม้ก่อนป่วยจะสามารถวิ่งหรือออกกำลังกายหนัก ๆ ได้)

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”   

สลัดควินัวกับถั่วชิคพี (Credit: eatingwell101.com)

สมาคมควบคุมอาหารแห่งอังกฤษ (British Dietetic Association –d BDA) และ NHS Eatwell Guide รายงานว่าอาหารต้านลองโควิด จะช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็ว ได้แก่ อาหารที่มีแร่ธาตุ วิตามิน โปรตีน ไฟเบอร์ ช่วยซ่อมเซลล์ในร่างกาย และเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”     

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน (Credit: bda.uk.com)

แนะนำ อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ในรูป พีรามิดแนวตั้ง โดยฐานล่างสุดคือ ผักและผลไม้ ให้กิน 5 ส่วนต่อวัน เป็นฐานล่างที่ใหญ่ที่สุด หมายถึงควรกินให้มากที่สุด

ถัดขึ้นไปเป็นกลุ่ม คาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงาน ควรเลือกข้าวและแป้งไม่ขัดสี มันฝรั่ง ถั่ว และธัญพืชโฮลเกรน เพราะมีไฟเบอร์ วิตามิน และมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”

    กินปลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ถัดขึ้นไปเป็น ปลาและอาหารทะเล กินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (ปริมาณตามขั้นพีรามิด) ต่อด้วย โปรตีน จากเนื้อสัตว์ปีก ไข่ นม ชีส โยเกิร์ต ชั้นบนสุดคือเนื้อแดง และของหวาน กินน้อยที่สุด

ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ น้ำผลไม้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 150 มล. เพราะผลไม้ไทยรสหวานน้ำตาลสูง และเลี่ยงอาหารผ่านกระบวนเยอะ ๆ เช่น ไส้กรอก เบคอน เบอร์เกอร์ ขนมขบเคี้ยว

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”     

(Credit: goodtoknow.com)

อาการลองโควิด ทำให้การรับรู้รสและกลิ่นไม่เหมือนเดิม ทางแก้คือ ปรุงอาหารรสเข้มขึ้นด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร ใส่พริกไทยแทนเกลือและน้ำตาล เพื่อสร้างรสชาติให้หนักขึ้น หรือช่วยด้วยกลิ่นของผลไม้ เช่น บีบมะนาวหรือใส่น้ำส้ม (สด) ช่วยชูรสได้

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”   

ผักผลไม้รักษาอาการลองโควิด (Credit: privategpextra.com)

หรือถ้าเบื่ออาหาร กินได้ไม่เยอะ อาจจัดอาหารว่าง อาหารทานเล่น (ที่มีประโยชน์) คั่นก่อนถึงมื้อใหญ่ หรือจัดปริมาณอาหารในจานลดลง ทำจานเล็ก ๆ ให้รู้สึกว่ากินหมด และกินให้บ่อยขึ้นอาจเป็นวันละ 4-5 มื้อ

ฟื้นฟูระบบทางเดินอาหาร ผลกระทบจากอาการลองโควิด อาจทำให้ระบบย่อยมีปัญหา ช่วยได้ด้วยผักผลไม้หลากสี ถั่ว ธัญพืช และอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ผักดอง เพื่อช่วยสร้างจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ แก้ไขอาการเกี่ยวกับลำไส้และการย่อยอาหาร

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”   

หอมแดง หอมใหญ่ มีเควอซิทิน (Credit: )

ไม่ควรกินอาหารเสริมมากเกินไป บางคนมีความเชื่อว่า วิตามินแก้ลองโควิดได้ เช่น วิตามินซี, ดี, ไนอะซินหรือบี 3, เควอซิทิน (Quercetin) ที่มีมากในหัวหอม หอมแดง พืชตระกูลเบอร์รี่ และสังกะสี กินจากอาหารดีกว่า

อาหารเสริมกินได้แต่ไม่ควรกินมากเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หรือช่วยได้ด้วยวิตามินรวม ทางที่ดีรับวิตามินจากอาหารดีที่สุด

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”

   กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว (Credit: cookieandkate.com)

อาหารไทยคล้ายอาหารเมดิเตอร์เรเนียน :  อาหารไทยประกอบด้วยพืชผัก นิยมใช้สมุนไพรสด และมีวัตถุดิบสดใหม่ตามธรรมชาติเหมือนกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียน

เพียงแค่เปลี่ยนจากข้าวขาวเป็นข้าวกล้องหรือข้าวไม่ขัดสี กินตามฤดูกาล กินผัก-ปลาเป็นหลัก กินผลไม้ที่ไม่หวานมากแทนอาหารว่างและของหวาน ลดอาหารแปรรูป เลี่ยงการปรุงรสเค็มจัดหวานจัด   

“อาหารเมดิเตอร์เรเนียน" "อาหารต้านลองโควิด”      

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน (Credit: Carolyn A.Hodges, R.D.)

ไม่เข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป อาการลองโควิด อาจต้องใช้เวลาค่อย ๆ ฟื้นฟู เมื่อร่างกายเจ็บป่วยจะกินอาหารยาก กินอะไรก็ไม่อร่อย ควรให้โอกาสตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่เครียด

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1006035?anf=