reproduction tech

         ปกติสตรีแต่ละคนจะผลิตไข่ประมาณ 1 – 2 ล้านใบตลอดชีวิต ไข่ของคนเป็นเซลล์เดี่ยวขนาดเล็ก เท่าปลายเข็มหมุด คุณภาพ และ ประสิทธิภาพการเจริญพันธุ์ของไข่ จะลดลงตามอายุของเจ้าของที่เพิ่มขึ้น เป็นที่รับรู้กันว่า หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี มีความเสี่ยงสูงต่อการมีบุตร ที่อาจมีความผิดปกติของพันธุกรรม หรือ มีปัญหาผิดปกติในการเกิดของเด็ก ปัจจุบันเทคโนโลยีการแช่แข็งไข่ที่อุณหภูมิต่ำมาก (freezing eggs) มีความก้าวหน้ามากขึ้น จนมั่นใจได้ว่าจะสามารถรักษาคุณภาพ และ ประสิทธิภาพของไข่ ให้คงสภาพได้นานเท่าที่ต้องการ ทำให้สตรีที่ยังไม่ประสงค์จะมีบุตรสามารถเลือกที่จะแช่แข็งไข่ เอาไว้เมื่ออายุยังน้อยเก็บไว้จนกว่าจะพร้อมที่จะมีบุตร จึงนำไปผสมกับสเปิร์ม ก่อนนำกลับไปในมดลูกต่อไป เทคโนโลยีนี้ทำให้สตรีที่กำลังประสบความสำเร็จขณะอายุยังน้อย สามารถเลื่อนการมีบุตรออกไปจนกว่าตัวเองจะมีความพร้อม อัตราค่าแช่แข็งไข่ ในสหรัฐอเมริกา ประมาณ US$ 10,000 – 15,000 โดยมีค่าดูแลรักษาปีละ US$ 500 – 1,000 โดยขั้นตอนโดยทั่วไปเป็นดังนี้

  1. ฉีดฮอร์โมน เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกทุกวันติดต่อกัน 2 สัปดาห์
  2. แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปเก็บไข่ในรังไข่จำนวนครั้งละ 5 – 25 ใบ
  3. ไข่จะถูกนำมาแช่แข็งอย่างเร็วตามกระบวนการ โดยจะสามารถเก็บไว้นานจนกว่าต้องการจะนำมาใช้
  4. เมื่อต้องการมีบุตร ไข่จะถูกนำมาทำให้น้ำแข็งละลาย ซึ่งไข่จะมีโอกาสรอดประมาณ 75 – 80%
  5. แพทย์จะนำสเปิร์มมาผสมกับไข่ในหลอดแก้ว ก่อนนำไปฝังตัวในมดลูกของแม่ และ ทดสอบการเจริญพันธุ์ จนกว่าจะพบว่ามีการตั้งครรภ์
  6. อย่างไรก็ตามข้อมูลของปี 2012 และ 2013 พบว่า โอกาสที่จะสำเร็จจนกระทั่งเกิดเด็กขึ้น มีเพียง 24%

       ข้อมูลที่ต้องเข้าใจ คือ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ไข่ที่ถูกแช่แข็งจะคงสภาวะปกติอยู่ได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา และ ถ้ารอจนอายุ 40 ปี ขณะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีลูก ตามธรรมชาติที่มีพันธุกรรมผิดปกติแล้ว การนำที่แช่แข็งมาผสมในหลอดแก้วก็มีความเสี่ยงต่อความไม่สำเร็จสูงด้วยเช่นกัน

red meat with cancer

                  มีข้อมูลรายงานทางวิชาการจำนวนมาก ที่เชื่อมโยงการกินเนื้อแดง (red meat) เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ โดยเฉพาะในรูปแบบของเนื้อแปรรูป (processed meats) มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ เนื้อแดงแปรรูปเหล่านี้ ได้แก่ แฮม ไส้กรอก เบคอน ซาลามี ซึ่งน่าจะรวมถึง แหนม กุนเชียง และไส้กรอกอิสานของไทยด้วย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าอาหารแปรรูปเหล่านี้มีสารเคมี ไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งเมื่อมีการสะสมในร่างกายทำปฏิกิริยากับปัจจัยอื่นในร่างกาย เช่นการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร หรือสารอื่นที่ร่างกายได้รับผ่านทางอาหาร ก็จะทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารบางชนิด เช่นมะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น นอกเหนือจากนี้เนื้อแดงแปรรูปยังประกอบไปด้วย ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และสารอื่นในขบวนการผลิต ซึ่งเป็นสารที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจร่วมด้วย

                ล่าสุดศูนย์วิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก WHO International Agency for Research on Cancer (IARC) รายงานผลการศึกษาจาก 800 โครงการทั่วโลก จัดให้เนื้อแดงแปรรูป อยู่ใน กลุ่มที่ 1 (Group 1) ของอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในคน (carcinogenic to human) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับบุหรี่ เหล้า แร่ใยหิน และเบนซิน และจัดให้เนื้อแดงปกติอยู่ในกลุ่ม 2A (Group 2A) หมายถึงอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน (probably carcinogenic to human) ซึ่งได้แก่เนื้อแดง ที่ได้รับความร้อนสูงจากการ ปิ้ง ย่าง หรือ อบ

                สำหรับในประทศไทย มีรายงานจาก สถาบันวิจัยโรคมะเร็ง พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของคนไทย โดยมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ปีละไม่น้อยกว่า 120,000 คน สาเหตุสำคัญคืออุปนิสัยของการกินอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป เริ่มกินอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าโรคมะเร็งทางเดินอาหารเป็นโรคมะเร็ง อันดับที่ 3 ของผู้ชาย รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ส่วนผู้หญิง โรคมะเร็งลำไส้เป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งปอด

                อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโรคชี้แจงว่า รายงานนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดกิน เนื้อแดงแปรรูป แต่ควรควบคุมให้กินเนื้อแดง เนื้อแดงแปรรูป แต่พอประมาณ เช่นสัปดาห์ละ ประมาณ 5 ขีด เป็นต้น โดยหันมากินอาหารโปรตีนจากแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว รวมทั้งการกินอาหารให้หลากหลายมากขึ้น

    Superbug

        ซูเปอร์บั๊ก กำลังแพร่กระจายก่อให้เกิดปัญหาทางการแพทย์ทั่วโลก ซูเปอร์บั๊ก คือ แบคทีเรียก่อโรคที่ต้านยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิด ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ซูเปอร์บั๊ก และ ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยปกติหลายเท่า รายงานผู้ติดเชื้อซูเปอร์บั๊กในสหรัฐอเมริกา ในปี 2556 มีจำนวนสูงถึงกว่า 2 ล้านคนในจำนวนนี้ เสียชีวิตประมาณ 20,000 คน ประเทศเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหลายพันล้านดอลล่าร์ โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งมีปัญหาด้านซูเปอร์บั๊กอยู่มาก มีการประมาณการว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขภายใน 30 ปี ข้างหน้า ประชาชนจีนอาจเสียชีวิตจาก ซูเปอร์บั๊ก ถึงประมาณ 1 ล้านคน

       ต้นเหตุของการเกิด ซูเปอร์บั๊ก เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ กว่า 60 ปีที่แล้ว (คศ. 1950) เมื่อเริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเร่งให้สัตว์เลี้ยงเติบโตเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยผสมยาปฏิชีวนะในอาหาร น้ำ และพ่นฉีดบนลำตัว ทั้งในอุตสาหกรรมเลี้ยง ปศุสัตว์ และเลี้ยงไก่ โดยเฉพาะในฟาร์มไก่เนื้อ มีข้อมูลว่า ปี 2503 ต้องใช้เวลา 63 วัน เพื่อเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนัก 3.4 ปอนด์ แต่ในปี 2554 ใช้เวลาเพียง 47 วัน   เพื่อเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนัก 5.4 ปอนด์ ซึ่งยืนยันได้ว่ายาปฏิชีวนะ มีบทบาทสำคัญในการเร่งการเจริญเติบโต ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าระหว่างปี 2544 ถึง 2554 ยาปฏิชีวนะที่ขายในประเทศนี้ทั้งหมดประมาณ 80% ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ อีกประมาณ 20% เท่านั้น ที่ถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วย

       การเกิดขึ้นของชูเปอร์บั๊กมีสาเหตุจากยาปฏิชีวนะเข้าไปกำจัดแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่ไม่ต้านยาให้หมดไป เปิดโอกาสให้แบคทีเรียที่ต้านยาตามธรรมชาติ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ   ปี 2556 พบว่า ไก่ที่ขายในตลาดกว่า ร้อยละ 50 ปนเปื้อนด้วยแบคทีเรีย ชนิดที่เป็นซูเปอร์บั๊กแบคทีเรียต้านยาเหล่านี้เข้าสู่มนุษย์ได้หลายทาง เช่น จากเนื้อสัตว์ที่ดิบๆสุกๆ จากการที่มีปนเปื้อนอยู่ในผัก ผลไม้   รวมทั้ง ผู้ที่ทำงานในฟาร์ม ที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

     ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ จึงเริ่มมีมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ ในการผสมในอาหาร และ น้ำในการเลี้ยงสัตว์ สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการที่จะช่วยลดปัญหานี้

   coconut oil-

         

        น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น(coconut oil หรือ copra oil) ปัจจุบันได้ถูกนำมาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ถึงประโยชน์ด้านสุขภาพ ตั้งแต่ประสิทธิภาพในการลดคอลเลสเตอร์รอล ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยลดน้ำหนัก จนถึง ป้องกันโรค อัลไซเมอร์ และ ชะลอความแก่ ส่วนใหญ่เป็นการหวังผลทางธุรกิจโดยไม่มีข้อมูลการแพทย์ที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วสนับสนุน ถึงขนาดแนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าว กลั้วคอเช้า-เย็น เพื่อฆ่าเชื้อโรคในปาก ปัจจุบันมีการโฆษณาถึงว่า น้ำมันมะพร้าว มีคุณสมบัติต้านเชื้อ HIV และ ป้องกันมะเร็ง

      น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นได้จากการสกัดโดยบีบอัดเนื้อมะพร้าวที่แก่เต็มที่ โดยไม่ใช้ความร้อน จึงเชื่อว่าคุณสมบัติของน้ำมันยังมีอยู่โดยสมบูรณ์ โดยไม่มีการถูกทำลายโดยความร้อน น้ำมันมะพร้าว มีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายน้ำมันมะกอกเนื่องจากมีจุดเดือดต่ำ (low smoke point) จึงไม่เหมาะในการนำมาทำอาหารจำพวก ผัด และ ทอด แต่เหมาะจะใช้ในการทำน้ำสลัดมากกว่า

     ในทางตรงข้าม การที่ร่างกายได้รับน้ำมันมะพร้าวเกินความจำเป็น จะส่งผลเสียต่อร่างกาย อาทิเช่น น้ำมันมะพร้าว มีกรดไขมันอิ่มตัว (saturatedfat)สูง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า กรดไขมันอิ่มตัวเป็นสาเหตุของการมีระดับคอลเลสเตอร์รอล ซึ่งอาจนำไปสู่ โรคหัวใจ และ หลอดเลือดตามมา นอกจากนั้นการได้รับน้ำมันมะพร้าวเกินความจำเป็น จะส่งผลให้มีไขมันไปพอกตับ และ เพิ่มน้ำหนักตัวจึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน หรือ โรคไต

ตารางแสดงปริมาณไขมันในน้ำมันชนิดต่างๆ

 

ชนิดของน้ำมัน

%ไขมันอิ่มตัว  (Saturated Fat)

%ไขมันไม่อิ่มตัว  (Unsaturated Fat)

น้ำมันถั่วเหลือง

16

84

น้ำมันถั่วลิสง

17

77

น้ำมันรำข้าว

18

82

น้ำมันข้าวโพด

13

82

น้ำมันดอกทานตะวัน

10

90

น้ำมันปาล์ม

50

49

น้ำมันมะพร้าว

92

8

น้ำมันมะกอก

14

86

น้ำมันหมู

น้ำมันไก่

เนยเทียม

40

27

60

59

68

35

breastcancer

                โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตาย อันดับที่ 1 ของโรคมะเร็ง ในสตรีทั่วโลก รองลงมาอันดับที่ 2 คือโรคมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันเรารู้สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งทั้ง 2 ชนิด ค่อนข้างแน่ชัดแล้ว กล่าวคือ มะเร็งปากมดลูกมี่สาเหตุจากการติดเชื้อ ไวรัส HPV ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนมะเร็งเต้านมมีสาเหตุสำคัญเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

                ปัจจุบันมีการค้นพบแล้วว่ามี ยีน (gene) 2 ชนิด ที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ (mutations) จะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม ยีนทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า BRCA1 และ BRCA2 ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า สตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของยีน BRCA1 มีโอกาส 50-70 % ที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งเต้านม ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของยีน BRCA2 มีโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม 40-60 % ทั้งนี้ประมาณการโดยใช้ช่วงอายุถึง 70 ปี โดยในประชากรทั่วๆไป สตรีมีความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพียง 12%

                เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานพบยีนใหม่อีกชนิดหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม ยีนนี้มีชื่อเรียกว่า PALB2 ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าสตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของยีน PALB2 มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 35 เมื่อถึงอายุ 70 ปี ในทำนองเดียวกัน สตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของยีน BRCA1 มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ร้อยละ 50-70 เมื่ออายุถึง 70 ปี และผู้ที่การเปลี่ยนแปลงของยีน BCRA2 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมร้อยละ 40-60 เมื่ออายุถึง 70 ปี

                ผลการศึกษาต่อมาพบว่า สตรีที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของยีน PALB2 จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าสตรีทั่วไป 8-9 เท่า อย่างไรก็ตามผู้วิจัยไม่แนะนำว่าสตรีทั่วไปจำเป็นต้องไปตรวจหายีนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเต้านม ยกเว้นผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งถ้าตรวจไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง (mutation) ของยีน BRCA1 และ BRCA2 ควรตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของยีน PALB2 ไปด้วย

thai-flag-620x418

พื้นที่ประเทศ

□       พื้นที่รวม 513,120 ตร.กม.

-          พื้นดิน 510,890 ตร.กม.

-          พื้นน้ำ 2,230 ตร.กม.

□       พื้นที่เพาะปลูก 30.71%

□       พื้นที่ชายฝั่งทะเล 3,219 กม.

จำนวนประชากร

□       ประชากรรวม 67,741,401 อันดับที่ 21 ของโลก

□       อายุเฉลี่ยประชากร 36.2 ปี

-          ชาย 35.3 ปี

-          หญิง 37.2 ปี

□       อายุเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 74.18 ปี อันดับที่ 115 ของโลก

□       อัตราเจริญพันธ์ เด็ก 1.5 คน เกิด/หญิง 1 คน อันดับที่ 192 ของโลก

□       อัตราเกิด 11.26/1,000 (1.126%) อันดับที่ 175 ของโลก

□       อัตราการเติบโตประชากร 0.35% อันดับที่ 165 ของโลก

□       อัตราตาย 7.72/1,000 (0.772%) อันดับที่ 111 ของโลก

ข้อมูลอื่น

□       ความสามารถในการแข่งขันอันดับที่ 31 ของโลก

-          คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอันดับที่ 90/144 ประเทศ

-          คุณภาพการศึกษาระดับสูง 87/144 ประเทศ

□       ดัชนี การคอรัปชั่น( 1 = น้อยที่สุด )

-          ปี 2556 อันดับที่ 102/177 ประเทศ

-          ปี 2557 อันดับที่ 85/175 ประเทศ

□       รายได้รวมของประเทศ ( GDP )

-          เกษตรกรรม 12.1%

-          อุตสาหกรรม 43.6%

-          บริการ 44.2%

□       รายจ่ายรวมของประเทศ

-          ด้านสุขภาพ 4.1% GDP ( อันดับที่ 163 ของโลก )

-          ด้านการศึกษา 4.8% GDP ( อันดับที่ 47 ของโลก )

-          ด้านการทหาร 1.47% GDP ( อันดับที่ 63 ของโลก )

ข้อมูลจาก Bangkok Post  “Year-End Review”

 

 

 bacteria

                      ถอยหลังไปประมาณ พ.ศ.2510 เป็นต้นมาวงการแพทย์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถใช้ความรู้ และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทั้งด้วยการรักษา และการป้องกันโรคด้วยยาปฏิชีวนะ และวัคซีนในการควบคุมโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสได้ แต่ปัจจุบันเหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากในระยะ 30ปี ที่แล้วมีปรากฏการณ์ที่น่าวิตกเกิดขึ้น 2 อย่างคือ

1.   แบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง และวัณโรค กำลังเป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่เชื้อสามารถพัฒนาสายพันธ์ที่ดื้อยาขึ้นหลากหลายชนิดมากขึ้นทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาลดลงมาก ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคปอดบวม อุจจาระร่วง และวัณโรค ปีละประมาณ 8 ล้านคน

2.   มีการพัฒนาของเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงแก่มนุษย์ เช่น โรคหวัดนก (Avian Influenza) โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสนิปาท์ (Nipah virus encephalitis) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (MERS-CoV) โรคเอดส์ (AIDS) โดยเฉพาะปัจจุบันโรคอีโบลา กำลังระบาดอย่างรุนแรงใน 4 ประเทศ ฝั่งตะวันตกของทวีป อาฟริกา ได้แก่ ไลบีเรีย เชียร์ราลีโอน ไนจีเรีย และกินี มีผู้ติดเชื้อกว่า 9000คน เสียชีวิตไปแล้วกว่าครึ่ง ไวรัสอีโบลา พัฒนามาจากการติดเชื้อในค้างคาว เข้ามาสู่สัตว์ใหญ่ เช่น ลิงชิมแปนซี ลิงกอริลลา กวาง และเม่น ดังนั้น เมื่อคนนำเนื้อสัตว์เหล่านี้มาปรุงเป็นอาหาร ไวรัสจึงเข้าสู่คนและพัฒนาต่อไปจนสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ และเนื่องจากไวรัสพัฒนาเร็วมากทำให้เราไม่มียา และวัคซีนที่จะใช้ในการรักษา และป้องกันโรคจึงมีการระบาดขึ้นอย่างเร็ว โรคอีโบลารุนแรงกว่าโรคเอดส์ เนื่องจากไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการทรุดหนักภายใน 5 – 7 วัน กว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในเวลาสั้นโดยไม่มีทางแก้ไขได้

viverrini

            โรคพยาธิใบไม้ตับจากการติดเชื้อพยาธิ O. viverrini ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย แม้ว่าจะมียาที่สามารถใช้ในการรักษาได้ผลดี แต่การแพร่กระจายของพยาธิใบไม้ก็ยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดรายงานจากการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2535 พบว่ามีประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดเชื้อประมาณ 7ล้านคน และต่อมาในปี พ.ศ.2541 มีรายงานประมาณการติดเชื้อสูงถึง 13.8 ล้านคน ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจะมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนั้นการติดเชื่อพยาธิใบไม้ตับยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญคือ มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma)

cholangiocarcinoma

            มะเร็งท่อน้ำดีเป็นมะเร็งที่พบว่ามีอุบัติการณ์สูงมากในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคใบไม้ตับมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็น 12 เท่าของประชากรในภาคอื่นรายงานพบว่าอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีของประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 54คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอุบัติการณ์ซึ่งได้ปรับอายุแล้ว 87คนต่อประชากร 100,000 คน เพศชายมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ของประชากรในทวีปยุโรปแล้วรับว่าสูงมาก

            จากการศึกษาที่ผ่านมาทั้งการวิจัยทางคลินิกแบบ case-control study การศึกษาทางด้านระบาดวิทยาและการวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงที่สุดต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี มีหลักฐานยืนยันสนับสนุนอย่างชัดเจนว่ากลไกสำคัญเกิดจากกระบวนการร่วมกันของการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และการได้รับสารก่อมะเร็ง ซึ่งได้แก่ ในโตรซามีน ซึ่งสารนี้พบได้มากในอาหารจำพวกหมักดองต่างๆ เช่น ปลาร้า ปลาส้ม ปูดอง และผลไม้ดองต่างๆ

            สำหรับการรักษามะเร็งท่อน้ำดีนั้นปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับการผ่าตัดเป็นหลักซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะกำจัดเนื้อมะเร็งออกให้มากที่สุด ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ต้องใช้วิธีฉายรังสี การผ่าตัดมะเร็งท่อน้ำดี อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะเวลา 5 ปี อยู่ระหว่างร้อยละ 8 ถึง 44 หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของเซลล์มะเร็ง สำหรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะใช้การควยคุมโรคและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ผู้ป่วยซึ่งตรวจพบมะเร็งขึ้นใหม่และผู้ป่วยซึ่งมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น ยาเคมีบำบัดที่ใช้เป็นหลักคือ 5-Fluorouracil (5-FU) โดยใช้ในรูปยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น methotrexate, leucoverin, cisplastin, mitomycin-C, หรือ interferon alpha (IFN-) อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยเคมีบำบัดดังกล่าวนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการยืดอายุผู้ป่วยได้อย่างมี่นัยสำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนายาและ adjuvant ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการบำบัดมะเร็งท่อน้ำดีให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            มะเร็งตับที่มีอุบัติการณ์สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ผู้ป่วยส่วนมากเป็นชายและมักอยู่ในวัยทำงานความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจึงเป็นความสูญเสียของทั้งครอบครัว นับเป็นปัญหาทางสาธารสุขของประเทศที่สำคัญ สาเหตุของการเกิดมะเร็งพบว่ามีปัจจัยร่วมหลากหลาย และประกอบด้วยขบวนการหลายขั้นตอน ทำให้การควบคุมโรคมีได้หลายวิธีนับตั้งแต่การป้องกันการเกิดมะเร็งไปจนถึงการรักษา อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งท่อน้ำดีในปัจจุบันมักไม่ได้ผลเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการทางคลินิกใดๆ ที่จำเพาะในระยะแรก ผู้ป่วยมีอาการต่อเมื่อการดำเนินของโรคก้าวหน้าไปมาก การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะโรคก้าวหน้าไปแล้วจึงได้ผลน้อยมาก รวมทั้งการใช้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษาก็ไม่ได้ผล ผู้ป่วยมีมักเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น การค้นหาสารที่สามารถให้ผลรักษาและมีอาการพิษต่ำจึง มีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน