Font Size

                เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ากรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ สมองและหลอดเลือดประกอบไปด้วย docosahexaenoic acid (DHA), eicosapentaenoic acid (EPA) และ Omega-3 fatty acid ส่วนใหญ่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารดังกล่าวนี้ มักจะได้มาจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ จนมีความเชื่อว่า สารเหล่านี้พบได้มาก เฉพาะในไขมันของปลาทะเล โดยเฉพาะจะต้องเป็นปลาทะเลน้ำลึกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับปลาน้ำจืดน้อยมาก ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ ไม่ค่อยนิยมกินปลาน้ำจืดซึ่งแตกต่างจากประเทศในแถบเอเชีย ในธรรมชาติไขมันที่ดีต่อสุขภาพถูกสร้างขึ้นโดย สาหร่ายเซลล์เดียวในทะเล เมื่อสาหร่ายถูกกินโดยปลาขนาดเล็ก ไขมันเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในเนื้อปลา และเพิ่มปริมาณขึ้นไปสู่ปลาใหญ่ตามห่วงโซ่อาหาร

                เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานการวิจัย โดยนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัย มหิดล พบว่า ปลาน้ำเค็ม หรือปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ โดยให้อาหารสำเร็จที่ผลิตทางอุตสาหกรรม หรือให้อาหารจำพวก ปลาเล็กปลาน้อยตากแห้ง จะมีการสะสมของ Omega-3 fatty acid ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปลาทะเล ดังนั้นปลาน้ำจืดจึงน่าจะเป็นแหล่งของกรดไขมันที่เป็นประโยชน์เช่นกัน ดังรายละเอียดข้อมูลเปรียบเทียบในตาราง

ชนิดของปลา

ประเภทของปลา

ปริมาณไขมัน (กรัม)

ปริมาณ Omega-3 (มิลลิกรัม)

ปลาดุก

ปลาน้ำจืด

14.7

460

ปลาจาระเม็ดขาว

ปลาน้ำเค็ม

6.8

840

ปลาสำลี

ปลาน้ำเค็ม

9.2

470

ปลาช่อน

ปลาน้ำจืด

8.5

440

ปลาตะเพียน

ปลาน้ำจืด

7.4

240

ปลาทู

ปลาน้ำเค็ม

3.8

220

 

                เนื้อปลาประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งโปรตีน วิตามิน และไขมันที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ DHA, EPA และ Omega-3 แต่ยังมีกรดไขมันอีกชนิดหนึ่งอยู่ในกลุ่มของ Omega-3 คือ alpha-linolenic acid (ALA) ซึ่งพบมากในเมล็ดพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ฟักทอง และทานตะวัน เป็นต้น