Font Size

red meat with cancer

                  มีข้อมูลรายงานทางวิชาการจำนวนมาก ที่เชื่อมโยงการกินเนื้อแดง (red meat) เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ โดยเฉพาะในรูปแบบของเนื้อแปรรูป (processed meats) มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ เนื้อแดงแปรรูปเหล่านี้ ได้แก่ แฮม ไส้กรอก เบคอน ซาลามี ซึ่งน่าจะรวมถึง แหนม กุนเชียง และไส้กรอกอิสานของไทยด้วย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าอาหารแปรรูปเหล่านี้มีสารเคมี ไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งเมื่อมีการสะสมในร่างกายทำปฏิกิริยากับปัจจัยอื่นในร่างกาย เช่นการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร หรือสารอื่นที่ร่างกายได้รับผ่านทางอาหาร ก็จะทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารบางชนิด เช่นมะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น นอกเหนือจากนี้เนื้อแดงแปรรูปยังประกอบไปด้วย ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และสารอื่นในขบวนการผลิต ซึ่งเป็นสารที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจร่วมด้วย

                ล่าสุดศูนย์วิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก WHO International Agency for Research on Cancer (IARC) รายงานผลการศึกษาจาก 800 โครงการทั่วโลก จัดให้เนื้อแดงแปรรูป อยู่ใน กลุ่มที่ 1 (Group 1) ของอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในคน (carcinogenic to human) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับบุหรี่ เหล้า แร่ใยหิน และเบนซิน และจัดให้เนื้อแดงปกติอยู่ในกลุ่ม 2A (Group 2A) หมายถึงอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน (probably carcinogenic to human) ซึ่งได้แก่เนื้อแดง ที่ได้รับความร้อนสูงจากการ ปิ้ง ย่าง หรือ อบ

                สำหรับในประทศไทย มีรายงานจาก สถาบันวิจัยโรคมะเร็ง พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของคนไทย โดยมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ปีละไม่น้อยกว่า 120,000 คน สาเหตุสำคัญคืออุปนิสัยของการกินอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป เริ่มกินอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าโรคมะเร็งทางเดินอาหารเป็นโรคมะเร็ง อันดับที่ 3 ของผู้ชาย รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ส่วนผู้หญิง โรคมะเร็งลำไส้เป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งปอด

                อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโรคชี้แจงว่า รายงานนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดกิน เนื้อแดงแปรรูป แต่ควรควบคุมให้กินเนื้อแดง เนื้อแดงแปรรูป แต่พอประมาณ เช่นสัปดาห์ละ ประมาณ 5 ขีด เป็นต้น โดยหันมากินอาหารโปรตีนจากแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว รวมทั้งการกินอาหารให้หลากหลายมากขึ้น