คลัสเตอร์รถขายลูกชิ้น ติดเชื้อแล้ว 23 ราย ขี่ตระเวนขายทั่ว เร่งตามหาลูกค้าตรวจเชื้อ

 

โคราชส่อวุ่น คลัสเตอร์รถขายลูกชิ้น พบติดเชื้อแล้ว 23 ราย หลังพ่อค้าติดโควิดตระเวนขายทั่วทั้ง ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง เร่งตามหาลูกค้าตรวจเชื้อ

 

วันที่ 11 ส.ค. 64 ที่ห้องประชุมสำนักงานการกีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.นครราชสีมา แพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา

พบผู้ป่วยรายใหม่ 562 ราย สอบสวนโรคเป็นผู้ป่วยเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 252 ราย เป็นผู้ป่วยเดินทางมารักษา 65 ราย และการสัมผัสผู้ป่วย 245 ราย ยอดรวมผู้ป่วยสะสม 11,965 ราย รักษาหาย 5,394 ราย ยังรักษาอยู่ 6,479 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 6 ราย เสียชีวิตสะสม 92 ราย

  

ทั้งนี้ได้เฝ้าระวังคลัสเตอร์รถเร่ขายลูกชิ้น ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง เนื่องจากผู้ป่วยขับรถตระเวนขายในหลายพื้นที่ ไทม์ไลน์ วันที่ 25 ก.ค. ลูกชายอายุ 15 ปี ภูมิลำเนาบ้านส้ม หมู่ 2 ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง มีอาการไข้หนาวสั่น เดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลโนนสูง ผลตรวจติดเชื้อได้นำส่งต่อ รพ.มหาราช นครราชสีมา

จากนั้นได้ตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงที่มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน พบบุคคลในครอบและเครือญาติทั้งยาย พี่สาว น้าเขย น้าสาว ลูกพี่ลูกน้อง ฯ ติดเชื้อ 8 ราย ขยายไปวง 2 ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่มีประวัติเกี่ยวข้องไปมาหาสู่กัน ประกอบด้วยครอบครัวรับจ้างเสียบลูกชิ้น 4 ราย ครอบครัวบ้านจอก หมู่ 11 ต.ดอนชมพู 6 ราย

ล่าสุดพบเพิ่ม 3 ราย และขยายสู่วง 3 เป็นเด็กชายอายุ 12 ปี ประวัติเล่นเกมส์และเตะฟุตบอลด้วยกัน รวมสะสม 23 ราย จากการสอบสวนโรคได้ค้นหากลุ่มเสี่ยงที่เป็นลูกค้าซื้อลูกชิ้นมาตรวจคัดกรอง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน

ข้อมูลจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6558606

 

 
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางความมืดมิดจากวิกฤตโควิด-19 ผู้คนล้มตายประชาชนสิ้นหวังในเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยระบบราชการที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด โครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ที่อ่อนยวบ แต่แล้วแสงแห่งความหวังได้ปะทุขึ้นเมื่อ “ชมรมแพทย์ชนบท”เปิดยุทธการ “แพทย์ชนบทบุกกรุง" จัดทัพกู้ภัยโควิด กทม.

โดยแม่ทัพใหญ่ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท นำทีมลงพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติการตรวจเชิงรุก ปักหมุดหมาย “ชุมชนแออัด” ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดรุนแรง ตั้งเป้าหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด เจอให้เร็วรักษาให้เร็ว พร้อมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ นำเข้าระบบ Home isolation ตั้งเป้าลดอัตราป่วยหนัก-เสียชีวิต อันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงยาและโรงพยาบาล สร้างโมเดลต้นแบบต่อสู้โควิด-19 ทลายข้อจำกัดระบบราชการ มุ่งหวังให้ทุกพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้

สำหรับปฏิบัติการ “แพทย์ชนบทบุกกรุง” สำเร็จลุงล่วง ได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายประชาชนทีมโควิดชุมชน (Com-Covid) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญ ดำเนินการต่อเนื่องครั้งล่าสุดครั้งที่ 3 ระดมบุคลากรสาธารณสุขในต่างจังหวัดกว่า 400 คน แบ่งทีมย่อยลุยแผนดาวกระจายทั่วกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4-10 ส.ค. 2564 รวมพื้นที่ดำเนินแล้ว 196 จุดตรวจ รวม 369 ชุมชน ตรวจเชิงรุกประชาชน 141,516 ราย พบผลติดเชื้อสะสมจำนวน 15,588 ราย (ร้อยละ 11)

ถอดบทเรียนปฏิบัติ “แพทย์ชนบทบุกกรุง” พูดคุยกับแม่ทัพใหญ่ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ภายใต้แรงกดดันสถานการณ์โรคระบาด ผู้คนเผชิญกับความทุกข์ยาก ระบบสาธารณสุขที่ใกล้ล่มสลาย ระบบราชการที่เป็นอุปสรรคในการสู้รบกับโควิด แพทย์ชนบทได้จุดไฟแห่งความหวังให้ประชาชน เสมือนเข็มทิศนำทางให้รัฐปรับยุทธศาสตร์แก้วิกฤตโควิด-19

- ทำไมชมรมแพทย์ชนบทเลือกพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งที่จังหวัดอื่นๆ เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงไม่ต่างกัน
จังหวัดอื่นแม้เกิดการระบาดหนัก แต่ว่าปรากฎการณ์ตายคาบ้านแทบไม่มี ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต่างจังหวัดผู้ป่วยมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล สถานการณ์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดหากป่วยอย่างไรก็สามารรับได้ คนต่างจังหวัดหากสงสัยว่าติดเชื้อโควิด โรงพยาบาลยังสามารถตรวจได้ เพราะประชากรน้อยโรงพยาบาลจึงสามารถจัดการได้ แต่ว่ากรุงเทพฯ จุดตรวจโควิดแทบจะหาไม่ได้ ความสูญเสียชีวิตที่บ้านเห็นชัดเจนมาก

การลงพื้นที่กรุงเทพฯ ของแพทย์ชนบท เป้าหมายคือค้นหาผู้ติดเชื้อให้มาก เจอให้เร็ว รักษาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว นำเข้าระบบ home isolation จะได้ลดอัตราป่วยหนักที่ต้องการเตียงโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงยาหรือเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล ถึงแม้ลดอัตราการติดเชื้อไม่ได้โดยง่าย แต่หวังว่าจะลดอัตราเตียงล้นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และลดอัตราตายลงได้บ้าง

การตรวจเชิงรุกในกรุงเทพฯ เราใช้ Rapid Antigen Test ที่มีคุณภาพสูง ยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เป็นยี่ห้อที่ใช้ในโรงพยาบาลมาตรวจ ซึ่งประเด็นนี้มีความน่าสนใจเพราะองค์การเภสัชฯ ทำการจัดซื้อ Rapid Antigen Test แต่ได้ยี่ห้อที่มีปัญหา ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะการตรวจสามารถรู้ผลได้เลย ความแม่นยำจึงมีความจำเป็น มิเช่นนั้น ต้องไปเสียเวลาตรวจซ้ำ RT-PCR ซึ่งเสียเวลาเสียทรัพยากรด้วย

สรุปผลการลงพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งแรก ระหว่าง 14 - 16 ก.ค. 2564 ครั้งที่ 2 ระหว่าง 21 - 23 ก.ค. 2564 และครั้งที่ 3 ระหว่าง 4– 10 ส.ค. 2564 สรุปผลพื้นที่ดำเนินการสะสม 196 จุดตรวจ รวม 369 ชุมชน มีประชาชนรับบริการสะสมจำนวน 141,516 ราย ผลติดเชื้อสะสมจำนวน 15,588 ราย ผลการตรวจผู้ป่วยทั้งหมดแบ่งเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว 10,838 ราย ระดับสีเหลือง 4,427 ราย และระดับสีแดง 323 ราย แจกยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 3,509 ราย และแจกยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 8,939 ราย และให้บริการวัคซีนสะสม จำนวน 7,412 ราย

 

-ปัญหาที่พบหลังจากทีมแพทย์ชนบทลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกบริเวณชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ
แพทย์ชนบทเข้าไปในชุมชนแออัดชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนจน พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ แม้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยโรงพยาบาล คลีนิคเอกชน เต็มไปศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ แต่พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ ซึ่งการล็อกดาวน์เศรษฐกิจฟุบยาวนาน ทำให้เขาแทบจะไม่มีรายได้ ชีวิตยากลำบาก อยากจะตรวจโควิดก็ไม่มีที่ให้ตรวจ ป่วยแล้วก็ไม่รู้จะไปไหน โทร. 1669, 1330 แจ้งไปก็ไม่มีใครมารับ พอติดโควิดอยู่บ้านหลังเล็กแคบอยู่กันแออัด ติดในครอบครัว ติดเพื่อนบ้าน ลามติดกันทั้งชุมชน ยกตัวอย่าง ชุมชนริมคลองสามเสน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 200 คน คือตัวเลขที่มีการตรวจก่อนแพทย์ชนบทจะเข้าไป ดังนั้น เราคาดการณ์ได้เลยว่าชุมชนนี้แพร่กระจายเชื้อติดกันไปมากกว่า 1,000 แล้ว จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่า หากมี 1 คนติดเชื้อ จะมีอีก 5 คนที่ติดเชื้อ อาจจะไม่แสดงอาการ มีอาการเล็กน้อย เพราะการที่ไม่ได้รับตรวจหาเชื้อ ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว ทำให้มีการระบาดกว้างขวางมากโดยเฉพาะในชุมชนแอดอัด

-หลังจากแพทย์ชนบทสร้างโมเดลต้นแบบปฎิบัติการเชิงรุกต่อสู้โควิด-19 กู้วิกฤตโรคระบาด เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ บ้างหรือไม่
เราเห็นสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง พื้นที่กรุเทพฯ มีการเปิดตรวจจุดเคลื่อนที่เร็ววันละ 5 - 6 จุดเพิ่มขึ้นมาจากเดิม 500-1,000 คน หรืออย่างหน่วยทหารได้เปิดจุดตรวจในค่ายทหารก็เป็นมีสัญญาณที่ดี มีความพยายามในการเพิ่มจุดตรวจมากขึ้น แต่สิ่งที่เราเสนอมากกว่าเปิดจุดตรวจจากประสบการณ์ตั้งแต่เรามาครั้งที่ 1 คาดหวังให้เปิดจุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test มากขึ้น แต่เราพบปัญหาว่าหลังรู้ผลติดเชื้อ ผู้ป่วยหาโรงพยาบาลไม่ได้ไม่มียา สุดท้ายก็เสียชีวิตที่บ้านให้เห็นเป็นจำนวนมาก

ครั้งที่ 3 แพทย์ชนบทมาด้วยชุดโมเดลที่สมบูรณ์ขึ้น ตรวจเสร็จแล้วจ่ายยาเลย เราได้รับการสนับสนุนฟาวิพิราเวียร์จากกระทรวงสาธารณสุข เราตรวจแล้วก็จ่ายยาเลยสำหรับคนที่อยู่ในเกณฑ์ เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว มีอาการ ซึ่งจริงๆ เราอยากให้จุดตรวจจุดอื่นจ่ายฟาวิพิราเวียร์ เพราะว่าถ้าผู้ติดเชื้อกลับไปอาจจะไม่ได้กลับมาอีกเลยถ้าเขาไม่ได้กินยา

ความยากคือจุดตรวจเหล่านั้นจะเอาฟาวิพิราเวียร์จากไหน เพราะว่าระบบการกระจายยายังเป็นปัญหา การนำเข้าน้อย องค์การเภสัชฯ ผลิตได้ไม่เพียง หรือถึงจะเพียงพอ แต่โจทย์คือจะกระจายยาอย่างไรให้ไปถึงประชาชนที่เป็นโควิด การพึ่งเพียงแต่โรงพยาบาลพึ่งการไปหาหมอที่โรงพยาบาลเป็นไปไม่ได้ ประชาชนเข้าไม่ถึง เรื่องการกระจายยาเป็นโจทย์ยากที่รอการจัดการ ซึ่งจริงๆ ไม่ยากหรอกครับ แค่ทำให้นโยบายเปิด เพราะปัจจุบันยังไม่เปิดเท่าที่ควร ฟาวิพิราเวียร์ยังเป็นยาเทวดาอยู่ คนยากคนจนเข้าไม่ถึง

ณ วันนี้ คนรวยติดโควิดเข้าถึงการรักษาไม่ยากครับ โรงพยาบาลเอกชนยินดีรับ โรงพยาบาลเอกชนยังมีเตียงว่างอยู่พอสมควรไม่ใช่ว่าไม่มีเตียง แต่ว่าเขาเก็บเตียงไว้สำหรับคนที่มีความสามารถในการจ่าย หรือมีประกันชีวิต การเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 2 – 3 แสน นอน 14 วัน เป็นอย่างต่ำ

ส่วนคนจนรอเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเตียงมันเต็มหมดแล้ว ต้องลุ้นเอาว่าเป็นหนักมั้ย ถ้าเป็นหนักก็อาจจะไม่รอด แม้ว่าเข้าถึงการรักษาเข้าโรงพยาบาลสนามยังอาจไม่รอดเลย ดังนั้น เราต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ดูแลประชาชนดีๆ ตรวจเชื้อให้มากที่สุด ให้เขาเข้าถึงยาเร็วที่สุด อัตราเสียชีวิตจะลดลงต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแรกไม่ใช่ว่าอาการหนักแล้วถึงจะได้ยา ถ้าอาการหนักแล้วได้รับยาก็ไม่ทัน การที่เขาได้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วมีความหมายมากต่อการรอดชีวิต ประเด็นสำคัญฟาวิพิราเวียร์จะได้เร็วก็ต่อเมื่อได้ตรวจเร็ว รู้ผลเร็วตั้งแต่ยังมีอาการน้อย เพราะหลายคนไปตรวจตอนที่อาการหนักแล้ว หอบแล้ว เหนื่อยแล้ว เดินไม่ไหวแล้ว ไปตรวจตอนนั้นกว่าจะตรวจกว่าจะรู้ผลกว่าจะได้ยาก็ช้าไปแล้วดังนั้น การตรวจเชิงรุกในชุมชนมีประโยชน์มาก ทำให้รู้ตัวเร็วว่าติดเชื้อแล้วได้รับยาเร็วมีโอกาสรอดสูง

 

-ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบท มีแนวทางดูแลรักษาอย่างไรต่อ
ทุกคนที่ตรวจโพสิทีฟพบว่าติดเชื้อ เราจะให้เขาสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าสู่ระบบ หนึ่ง-เข้าสู่ Home Isolation ของ สปสช. สำหรับอาการไม่รุนแรง เราจะลงข้อมูลให้ประชาชนเข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง จากนั้นโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมาช้อนมารับตัวของเขาไปดูแลในระบบ Home Isolation ซึ่งรัฐให้ค่าใช้จ่ายต่อโรงพยบาลที่ดูแลผู้ป่วย 1000 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง แต่ปรากฎว่าหลายหมื่นนคนก็ยังค้างอยู่ในระบบ ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับการดูแลยังล่องลอยอยู่ในฐานข้อมูล เป็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 
สอง-เข้าสู่ Community Isolation หรือศูนย์พักคอย กทม. ซึ่งพื้นที่ที่ศูนย์พักคอยประชาชนก็มีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุขมากขึ้น แต่ว่าศูนย์พักคอยที่ กทม. มีน้อยมาก และสามหากอาการหนักส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ซึ่งยิ่งยากเพราะอย่างที่ทราบกันว่าโรงพยาบาลแต็ม แต่ก็มีความพยายามช่วยกันเยอะ จำนวนหนึ่งได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้เข้าทุกคน จำนวนมากต้องยอมกักตัวที่บ้านไปก่อน

-วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ สะท้อนความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการสุขภาพที่ต้องรอการปฏิรูป
มองภาพเปรียบเทียบกับต่างจังหวัด ในต่างจังหวัดระดับตำบลมีสถานีอนามัยดูแลประชาชนประมาณ 2,000 -5,000 คน มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ 5-10 คน ทุกอำเภอมี 1 โรงพยาบาลอำเภอ ดูแลประชาชน 30,000 คน 50,000 คน 100,000 คน แตกต่างกันไป อย่างโรงพยาบาลจะนะดูแล 100,000 คน มีบุคลากร 300 คน ในขณะที่ กทม. แขวงเทียบเท่ากับตำบลดูแลคน 5,000 คน แต่ตัวเลขจริงมากกว่านั้นเป็นหมื่นเพราะมีประชากรแฝงด้วย แขวงไม่มีสถานีอนามัย ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทุกคนพึ่งพาคลินิกส่วนตัว ร้านขายยา

โครงสร้างสาธารณสุข กทม. มีแค่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ซึ่งรับผิดชอบระดับเขต มี 50 เขต 65 ศูนย์ บางเขตมี 2 ศูนย์ ซึ่งบุคลากรน้อยมาก แต่ละเขตมีโรงพยาบาลไม่กี่แห่ง มีโรงพยาบาลไม่ครบทุกเขต เขตนึงดูแลคนเป็นแสนๆ แต่ไม่มีโรงพยาบาล หลายเขตพึ่งพาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรืออย่างโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลภูมิพล ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลของ กทม. การเจ็บป่วยไม่ได้มีเรื่องของการป้องกัน เรื่องโครงสร้างการดูแลปฐมภูมิ เรื่องของการควบคุมโรค การดูแลรักษาผู้ป่วยเชิงลึก โครงสร้างพื้นฐานของ กทม. ระบบบริการสุขภาพที่ผ่านมามีการลงทุนน้อยมาก มีการพัฒนาระบบน้อยมาก

โควิดทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า บ้านนอกอย่างน้อยเจ็บป่วยก็มีอนามัยดูแล สงสัยป่วยโควิดก็ได้ตรวจ swab ตรวจแล้วผลเป็นลบอีก 7 วันนัดมาตรวจใหม่ ต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน กทม. โดยสิ้นเชิง ประเด็นโครงสร้างระบบบริการสุขภาพของ กทม. ต้องการการลงทุนอย่างมาก ในอนาคตอันใกล้ต้องปรับระบบขนาดใหญ่ เราคาดหวังกับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ซึ่งไม่รู้จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ อยากให้เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของผู้ว่าฯ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหามันก็จะเรื้อรังระยะยาว ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทำงานหนักมากนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่ทำงาน แต่เขาทำงานหนักภายใต้ข้อจำกัดโครงสร้างการทำงานที่เล็กมาก เจ้าหน้าที่น้อยมากทำงานไม่ไหว ดูแลไม่ไหว

-การกู้วิกฤตโควิด-19 สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการจัดการโดยเร่งด่วนคืออะไร
เปิดจุดตรวจให้มากที่สุด เพิ่มจุดพักคอย จากการลงพื้นที่ของเราจุดที่เราลงตรวจให้ชาวบ้าน เราใช้วัด มัสยิดใช้ลานชุมชน ลานกลางแจ้ง กางเต้นท์ใต้ทางด่วน เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอำนวยความสะดวกได้ เราแทบไม่ได้ใช้โรงเรียน อาคารสถานที่ราชการ เรารู้สึกได้ว่าหน่วยราชที่ กทม. ยังไม่สามัคคี ไม่ทุ่มเท ทั้งๆ ที่หน่วยราชการมีเยอะมาก อาคารหน่วยราชการเยอะมาก ซึ่งโรงเรียนเป็นอาคารที่น่าสนใจมากที่สุด ถ้าเป็นในต่างจังหวัดโรงเรียนจะถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เป็นศูนย์พักคอย แต่ใน กทม. ทรัพยากรที่มีไม่ถูกระดมมาใช้กู้ภัยโควิด กับประชาชนต้องเผชิญหน้าอยู่กับเหตุการณ์ด้วยตัวเอง โดยมีกระทรวงสาธารณสุข หรือ กทม. ทำงานกันเต็มที่แต่ก็ไม่ไหว เพราะว่าเป็นการทำงานภายใต้ทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบราชการที่มันแตกตัวมาก

-ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องให้รัฐระงับการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหวังเพิ่มการฉีดวัคซีนให้คนไทยลดอัตราการเสียชีวิต
อัตราการติดเชื้อมันไกลเกินกว่าควบคุมการแพร่ระบาดด้วยวิธีมาตรฐาน ระบาดไปไกลมากแล้ว วิธีการควบคุมระบาดมีวิธีเดียวก็คือฉีดวัคซีนให้ถ้วนหน้า แต่ว่าวัคซีนที่เราได้มาน้อยมากในปัจจุบัน รัฐพูดเองว่าแอสตร้าฯ ได้เดือนละ 10 ล้านโส แต่เอาเข้าจริงได้เดือนละ 5 ล้านโดส ซึ่งมันไม่พอ ซิโนแวคก็เป็นวัคซีนที่ไม่มีใครอยากฉีด การระบาดแย่ลงมากไม่เฉพาะใน กทม. ตอนนี้เราระดมฉีดวัคซีนอย่างหนักใน กทม. แต่ต่างจังหวัดมีการฉีดน้อย ขาดแคลนวัคซีนด้วย

เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเรามีวัคซีนมากขึ้น ดูรัฐบาลก็ไม่มีความสามารถในการจัดหาวัคซีนได้ ได้รับบริจาคล็อตเล็กๆ เดือนละ 4 - 5 แสนโดส 1 ล้านโดส ก็ไม่พอ ฉะนั้น ช่องทางกฎหมายที่เราทำได้ตาม พ.ร.บ วัคซีนแห่งชาติ คือการจำกัดการส่งออก จัดการได้ตามกฎหมาย เป็นหนึ่งในข้อเสนอต่อรัฐครับ จริงๆ เรามีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณวัคซีนในประเทศ ถ้ารัฐบาลสามารถใช้มาตรการอื่นจัดการวัคซีนด้วยวิธีการอื่นมาได้ เราก็ยินดีไม่ต้องมาใช้มาตรการทางกฎหมายเช่นนี้ แต่ถ้าหาไม่ได้เลยจริงๆ เราคิดว่านี่คือสิ่งที่จำเป็น มิเช่นนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศจะแย่มาก เปิดประเทศ 120 วันจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง อัตราการตายจะสูงขึ้น อัตราการแพร่ระบาดจะสูงขึ้น อัตราการแพร่ระบาดจะเพิ่ม 4 - 5 หมื่นคนต่อวัน วัคซีนคือคำตอบในการทำให้การแพร่ระบาดลดลง อัตราป่วย อัตราตายลดลง

-การบริหารวัคซีนเราพลาดตรงไหน ประเทศไทยถึงเดินมาถึงจุดนี้
 

อดีตสถานการณ์เราดีจริงนะ ผู้ติดเชื้อน้อย เราควบคุมการระบาดได้ดี ก็คงทำให้เราประมาทไปในเรื่องการจัดกาวัคซีน พอเราจองวัคซีนช้า ระบบราชการที่เทอะทะเต็มไปด้วยขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย ยิ่งทำให้การจองวัคซีนช้า จ่ายเงินช้า ทุกอย่างช้าไปหมด วัคซีนธุรกิจไม่ใช่วัคซีนการกุศล แล้วเราเชื่อมั่นในสยามไบโอไซเอนซ์ว่าจะผลิตวัคซันได้มาก พอผลิตได้น้อยว่าที่ประมาณการณ์ไว้ก็ส่งผลให้มีวัคซีนไม่เพียงพอ ก็มีแต่ซิโนแวคที่เราซื้อได้ตลอด แต่ว่าผู้คนตั้งคำถามต่อซิโนแวคอย่างมาก ที่พลาดไปแล้วไม่เป็นไรนะ แก้ไขให้ได้ แก้ไม่ได้มันก็ไม่ไหว

-ประเด็น ร่าง พ.ร.ก. คุ้มครองบุคลากรสาธารสุข กับข้อครหานิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คุณหมอมีความเห็นอย่างไร
มี 2 ประเด็นนะครับ โดยส่วนตัวเชื่อว่าความตั้งใจของผู้เสนอ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ตั้งใจดูแลบุคลากรที่ฉีดวัคซีนถ้ามีปัญหาจะได้ไม่ต้องรับผิด แต่ว่าด้วยความไม่เชื่อมั่นของผู้คนต่อรัฐบาลรวมถึงความไม่ชัดเจนของเป้าหมายในการออก พ.ร.ก ฉบับนี้ ว่าจริงๆ แล้วควรจะเอาแค่ผู้ปฏิบัติก็เลยทำให้มีความสับสน ผมว่าเริ่มต้นง่ายที่สุดคือการรับฟังเสียงให้กว้างขวางแล้วทำให้เรื่องนี้มันโปร่งใส ไม่ควรเป็นเหมาเข่ง ให้เวลากระทรวงฯ พิจารณา ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง

 
-จะมีปฏิบัติแพทย์ชนบทบุกกรุง ครั้งที่ 4 หรือไม่
ไม่แน่ครับ เราอยากเห็น กทม. รวมมือจัดการตัวเองให้ได้ เราไม่ได้ต้องบุกกรุงเทพฯ เราจะอยู่ต่างจังหวัด โมเดลตรวจเชิงรุกของแพทย์ชนบทใช้ได้ทั่วประเทศไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะ กทม. อย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเริ่มมีการนำโมเดลไปใช้แล้ว

-ทราบว่าทีมแพทย์ชนบทกว่า 400 คนที่ร่วมปฏิบัติการในกรุงเทพฯ มากันโดยความสมัครใจ ทุกคนฉีดวัคซีนกันครบแล้วใช่ไหม
อัตราการติดเชื้อในกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ชุมชนแออัดสูงมาก ทีมที่ลงพื้นที่จะฉีดเข็ม 3 มาเลย ส่วนใหญ่ ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าฯ เข็ม 3 ถ้วนหน้า เพราะไฟเซอร์มาช้ามาไม่ทันเราบุกกรุง เรามากันด้วยความสมัครใจ

- ปฏิบัติงานด่านหน้ามีความเสี่ยงสูง ทีมแพทย์ฯ มีความรู้สึกหวาดกลัวบ้างไหม
ทั้งตัวผมเองและทุกคนที่มากลัวติดโควิดหมดเลยนะ แต่เราก็เป็นเหมือนทหาร ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เราก็ได้วัคซีนเข็มที่ 2 เข็มที่ 3 มากกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนสักเข็ม ทีมที่มาฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 3 ให้กับตัวเองก่อนเดินทางมา กทม. เรามีชุด PPE หน้ากาก N95 มีองค์ความรู้มากกว่าใคร เราแต่งตัวได้รัดกุมมากในการปฎิบัติงานเมื่อเทียบกับภาคประชาชนที่มาช่วยงานเรา พวกเขาน่าเป็นห่วงกว่าเราเยอะ เขามาช่วยเราเรียกคิวมาช่วยลงทะเบียน การแต่งกายรัดกุมน้อยมากอุปกรณ์ก็ขาดแคลน เรามีความเสี่ยงติดโควิดจริง แต่จริงๆ เราเสี่ยงน้อย

ปฎิบัติการบุกกรุงครั้งที่ 2 มีพยาบาลจังหวัดน่าน ติดโควิด จาก 120 คน ปฎิบัติการบุกกรุง ครั้งที่ 3 ก่อนกลับเราตรวจมีคนติดแล้ว 1 คน ยังต้องติดตามกันว่าพวกเราจะติดโควิดกันกี่คน แต่ถึงติดโควิดก็ไม่เป็นไร เพราะเราเป็นบุคลากรการแพทย์ เรามียาฟาวิพิราเวียร์ โรงพยาบาลเราก็มีเตียง เราเป็นชนชั้นสูงในสายสุขภาพ เราเข้าถึงบริการอยู่แล้ว ติดโควิดก็กักตัวรักษาไม่ใช่ปัญหา เราไม่ใช่ชาวบ้านคนด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงบริการ เราไม่ได้ลำบาก แต่เราก็ตรวจตัวเองเพื่อให้เรารู้ให้ไม่ติดคนอื่นในครอบครัว เรามีวินัยในการปฏิบัติงาน เราป้องกันตัวเองดีมีโอกาสติดโควิดน้อยมาก

ผมชื่นชมทีมงานที่มามากเลยนะ มากันตั้ง 40 ทีม 400 คน มันสะท้อนถึงจิตวิญญาณอุดมคติที่มันยังมีอยู่ในตัวบุคลากรสุขภาพ ใครไหวก็มา โรงพยาบาลไหนไหวก็มา ครูบาอาจารย์สอนให้เราทำงานเพื่อชาวบ้าน เพื่อผู้คน จิตวิญญาณยังมีอยู่ซ่อนอยู่ถึงเวลาวิกฤตมีคนอาสามา
 
 

"ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว

 

"หมอมนูญ" ชี้ "ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว แนะ กักตัวเฉพาะคนป่วย-กลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่"ล็อกดาวน์" ทั้งเมือง ระบุ หมอ-พยาบาลติดเชื้อ ยังไม่ปิดโรงพยาบาล

 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ค หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC  ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หัวข้อ "กักตัวคนป่วยและกลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่ล็อกดาวน์ทั้งเมือง" โดยระบุว่า  โรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยง มีคนไข้โรคโควิด-19 เข้ามารับการรักษาทุกวัน มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ติดเชื้อไวรัสจากคนไข้ ขณะปฏิบัติงานในทุกโรงพยาบาล

 

"ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว

 

เมื่อวินิจฉัยว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด ก็ให้หยุดทำงาน และถูกกักตัว จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ จึงให้กลับมาทำงาน นอกจากนี้ คนที่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อในแผนกนั้น ต้องได้รับการตรวจยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้หยุดงาน และตรวจซ้ำอีกครั้ง 4-5 วัน ให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อ จึงให้กลับมาทำงานได้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ต้องยอมรับว่า บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกคน ถึงแม้จะระวังตัวเต็มที่ ดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ได้รับวัคซีนครบแล้ว ก็ยังติดเชื้อไวรัสโควิด การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำได้ยากมาก ๆ

 

ไม่มีใครมาสั่งปิดโรงพยาบาล เมื่อพบบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลปฎิบัติกับคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับคนติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อัตราตายของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ร้อยละ 0.1 (ไม่ใช่ร้อยละ 2) พอ ๆ กับไข้หวัดใหญ่ปี 2009 แต่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อัตราตายน้อยกว่าประมาณร้อยละ 0.03  ประเทศไทยไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 2009

ถึงเวลาแล้วเราควรเอาบทเรียนจากมาตรการที่ใช้กับโรงพยาบาล นำไปใช้กับทุกสถานประกอบการ หน่วยงานต้องรับผิดชอบกับคนงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ก่อสร้าง งานก่อสร้าง โรงงาน ระบบขนส่งสินค้าพัสดุ ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ตลาด ร้านค้า สนามกอล์ฟ สนามกีฬา สวนสาธารณะ เมื่อพบคนติดเชื้อ ให้คนติดเชื้อ และคนใกล้ชิดหยุดทำงาน กักตัวจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิดให้ผู้อื่น ไม่ควรมีการสั่งปิดสถานที่ใดที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด ทุกคนที่แข็งแรง ไม่มีอาการ สามารถทำงานตามปกติต่อไปได้

การ "ล็อกดาวน์" ปิดเมือง ปิดการเดินทาง ผลออกมา ยอดผู้ติดเชื้อของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกนี้ นอกจากจะไม่ลดลงยังเพิ่มขึ้น เป็นการยืนยันว่า ไม่ได้ผล ควรผ่อนคลายบ้างแล้ว เพราะการระบาดครั้งนี้ เกิดขึ้นในบ้านมากที่สุด

โรคโควิด-19 ทำให้คนไทยเดือดร้อนมากพอแล้ว การ "ล็อกดาวน์" ยิ่งทำให้คนไทยเดือดร้อนมากขึ้นอีก

 
 

"ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว

 

ถึงเวลาควรเปิดเมือง ใครมีงานทำก็ไปทำ ค้าขายก็ค้าขายไป ไปท่องเที่ยวก็ไป ยกเว้นไปสถานที่คนรวมตัวกัน รวมกลุ่มกันมาก ๆ ไม่เว้นระยะห่าง สถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดแอร์ เช่น ผับ บาร์ สนามมวย บ่อนการพนัน โรงหนัง กิจกรรมสันทนาการ สังสรรค์ ทานอาหารร่วมกัน (เพราะต้องถอดแมสก์) ทุกคนต้องระวังตัวเต็มที่ ดูแลตัวเอง ทั้งนอกบ้าน และในบ้าน ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

 

 

กลไกตลาด? ทำไม คนไทยต้องซื้อ 'ATK' แพงกว่าชาวโลก

 
ความพยายามหา ซื้อชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit หรือ "ATK" มาใช้คัดกรองด้วยตัวเองในบ้านกำลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน ATK ก็กำลังกลายเป็นสินค้าที่ถูกตั้งคำถามถึงราคาจำหน่ายที่สูงเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ

โดยราคาจำหน่าย ATK ในประเทศไทย เฉลี่ยชุดละ(ใช้1ครั้ง) 350-400 บาท  ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) จำนวน 29 ราย( ณ 10 ส.ค.ปัจจุบัน  12 ส.ค.รวม 34 ราย ) ในหลากหลายรูปแบบและวิธีการใช้ จากแหล่งนำเข้าต่างๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น ทั้งนี้ราคาATKในไทยนับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก สำหรับประชาชนเพราะการตรวจที่ว่านี้ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ บางรายอาจต้องทำทุกวัน 

 

จากการสำรวจราคา ATK จากเวบไซด์ออนไลน์ ในต่างประเทศ พบว่า มีราคาเฉลี่ยเพียง1 ชุด / ใช้ 1 ครั้ง เพียงชุดละ  100 บาท โดยเวบไซด์ออนไลน์ชื่อดังของจีน อย่าง 

-Alibaba จำหน่ายเฉลี่ย ชุดละ 0.88-1.19 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 60-100 บาท รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ในการนำเข้า

-eBay เฉลี่ยที่ 80-180 บาท 

-Amazon เฉลี่ยที่ 165 บาท 

“ราคาจำหน่ายในไทยค่อนข้างสูงมากเพื่อเทียบกับราคาจำหน่ายในต่างประเทศ ที่แม้จะรวมค่าใช้จ่ายการขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นถ้ามี เพราะไทยประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องมือแพทย์มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ยังพบว่าราคา ATK ที่คนไทยจำเป็นต้องใช้นั้นยังมีราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยทั่วโลกกว่าเท่าตัว”

 

162868735188

 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า “ชุดตรวจATK ที่วางขายในท้องตลาดขณะนี้ มีประมาณ 10 ยี่ห้อ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ชุดละ 250-350 บาท ส่วนยี่ห้ออื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาราคาขาย”

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)ที่มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมีมติ ให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน และมีกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้บังคับการตำรวจ ปคบ เป็นกรรมการ รวม 11 ท่าน มีอำนาจหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์ สถานการณ์ของ ATK และกำหนดแนวทางมาตรการกำกับดูแลการจำหน่าย ATK ให้เป็นธรรมอีกชั้นหนึ่ง

รัฐมีเครื่องมือทั้งราคาเปรียบเทียบกับต่างประเทศซึ่งพอจะเป็นไกด์ไลน์ถึงราคาที่เหมาะสมและการรักษาปริมาณสินค้าไม่ให้หายไปจากตลาดหากแผนการแจกATKของสปสช. 8.5 ล้านชุดเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแท้จริง  อาจทำให้การขายATKในตลาดจากนี้ ผู้นำเข้าต้องพิจารณาว่าธุรกิจนี้ควรมีกำไรในสัดส่วนที่เท่าไหร่ 

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/954225?anf=

 พยาบาลรายหนึ่งเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านมาตรการบังคับฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจหลายแห่ง ทั่วรัฐมิชิแกน ยังคับใช้ ท่ามกลางเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 
พยาบาลรายหนึ่งเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านมาตรการบังคับฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจหลายแห่ง ทั่วรัฐมิชิแกน ยังคับใช้ ท่ามกลางเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เวลานี้สหรัฐฯ มีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 ที่ 100,000 คนต่อวัน หวนคืนสู่จุดที่พบเห็นครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในการแพร่ระบาดหนักหน่วงช่วงฤดูหนาวปีก่อน ถือเป็นเครื่องเตือนใจว่าตัวกลายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดรวดเร็วแค่ไหน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกรงว่าเคสผู้ติดเชื้อ ผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากว่าชาวอเมริกันไม่ยอมเข้าฉีดวัคซีน โดยจนถึงตอนนี้ทั่วประเทศมีประชาชนเข้ารับวัคซีนครบแล้วเพียง 50% และมีประชากรวัยผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม มากกว่า 70%

"แบบจำลองของเราพบว่าถ้าผู้คนไม่ฉีดวัคซีน เราอาจทะลุไปถึงหลายแสนเคสต่อวัน แบบเดียวกับที่เราเผชิญระลอกการแพร่ระบาดในเดือนมกราคม" โรเชลล์ ราเวนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นเมื่อช่วงกลางสัปดาห์

จากข้อมูลพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลา 9 เดือน ในการแพร่เชื้อสู่ผู้คนในสหรัฐฯ เฉลี่ย 100,000 คนต่อวันในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ก่อนเข้าสุ่จุดพีกสุด 250,000 คนต่อวันในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนกระทั่งเคสผู้ติดเชื้อลดลงต่ำสุดในเดือนมิถุนายน เหลือแค่ 11,000 คนต่อวัน ทว่าอีก 6 สัปดาห์ต่อมา เคสผู้ติดเชื้อได้คืนชีพอีกครั้ง อยู่ที่ระดับ 107,143 ราย

จำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน แม้ยังคงต่ำกว่าจุดพีกสุดเมื่อช่วงต้นปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ผู้คนจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวาง จากข้อมูลของซีดีซีพบว่า เวลานี้มีชาวอเมริกันผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 44,000 คน เพิ่มขึ้น 30% ในสัปดาห์เดียว และเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากเดือนมกราคม ทั้งนี้ในช่วงพีกสุดเดือนมกราคม เคยมีคนไข้โควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 120,000 คน

ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อปกินส์ พบว่าค่าเฉลี่ยผู้เสียชีวิตรอบ 7 วันก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน มันเพิ่มขึ้นจากราว 270 คนต่อวันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เป็นเกือบ 500 คนต่อวันในช่วง 7 วันจนถึงวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม ทั้งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตเคยพุ่งสูงสุดที่ 3,500 คนต่อวันในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม เป็นปกติที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตมักมาตามหลังจำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการปลิดชีพผู้ป่วย

สถานการณ์น่ากังวลอย่างยิ่งในทางภาคใต้ ซึ่งบางพื้นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในสหรัฐฯ และเริ่มพบเห็นโรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งแบกรับคนไข้ไม่ไหว

 
ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ พบจำนวนคนไข้โควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ค่าเฉลี่ยรายวันในสัปดาห์ที่แล้ว อยู่ที่ 17,600 ราย จากระดับ 11,600 รายของหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ขณะที่ซีดีซีระบุว่ารัฐฟลอริดา จอร์เจีย แอละแบมา มิสซิสซิปปี นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา เทนเนสซีและเคนทักกี มีคนไข้รายใหม่ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วน 41% จากทั้งหมดทั่วประเทศ

แอละแบมา และมิสซิสซิปปี มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในสหรัฐฯ มีประชาชนไม่ถึง 35% ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ส่วนจอร์เจีย เทนเนสซี นอร์ทแคโรไลนา และเซาท์แคโรไลนา ล้วนติดอันดับ 1 ใน 15 รัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุด

ฟลอริดามีเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบล คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% จากทั่วประเทศ ในพื้นที่แถบชนบทจำนวนมากมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่า 40% และทั่วทั้งรัฐมีอัตราประชาชนเข้าฉีดวัคซีน 49%
 

โรงพยาบาลต่างๆ ในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ กำลังขาดแคลนเตียงรองรับคนไข้โควิด-19 ในนั้นรวมถึงในเมืองฮิวสตัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เผยว่าต้องลำเลียงผู้ป่วยบางส่วนออกนอกเมือง เพื่อไปรักษาที่เมืองอื่นๆ ไกลที่สุดเลยก็คือรัฐนอร์ทดาโกตา

นายแพทย์เดวิด เพอร์สเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่แพทย์ฮิวสตัน ระบุว่า รถฉุกเฉินบางคันต้องจอดรอนานหลายชั่วโมงสำหรับนำส่งคนไข้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ฮิวสตัน เนื่องจากโรงพยาบาลหาเตียงไม่ได้ ทั้งนี้ เพอร์สเซ แสดงความกังวลว่าสถานการณ์แจ้งนี้อาจทำให้การตอบสนองของเจ้าหน้าที่ต่อสายด่วนการแพทย์ 911 อาจล่าช้าอย่างมาก

"ระบบสาธารณสุขเวลานี้ใกล้ถึงจุดแตกหัก สำหรับช่วง 3 สัปดาห์ข้างหน้าหรือนานกว่านั้น ผมมองไม่เห็นสถานการณ์ที่ผ่อนคลายในแผนกฉุกเฉินเลย" เพอร์สเซกล่าวในวันพฤหัสบดี (5 ส.ค.)

(ที่มา : เอพี)
 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ทางเพจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า “ไม่มีการจัดส่งวัคซีนให้ ศ.นพ.ยง ภู่วรรณ เนื่องจากทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ได้ดูแลบุคลากรที่ทำการตรวจโรคเป็นอย่างดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์ในการกระตุ้นภูมิต้านทานแต่อย่างใด”

 

โดยพบว่าทาง ศ.นพ.ยง ได้ส่งหนังสือ “ด่วนมาก” ถึง อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า

เรื่อง ขอยกเลิก การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ มายังศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก เรียน อธิบดีกรมควบคุมโรค

ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับ ทราบว่าทางศูนย์ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อมาให้บุคคลากรของศูนย์ฯ จํานวน 20 โดส

 

ขณะนี้ทางศูนย์ได้ดูแลบุคลากรที่ทําการตรวจโรคโควิดได้เป็นอย่างดี จึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์ในการกระตุ้นภูมิต้านทานแต่อย่างใด

ทางศูนย์ฯ จึงขอเรียนมาเพื่อขอยกเลิกจํานวนวัดขึ้นทั้งหมด 20 โดส ที่ทางกรมควบคุมโรค จัดสรร ไม่ว่าจะจัดสรรโดยตรง หรือผ่านสํานักอนามัย แต่อย่างใด

 

จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดดําเนินการ โดยด่วนด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรรณ
หัวหน้าทางศูนย์เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก

ข้อมูลจาก https://www.brighttv.co.th/news/yong-poovorawan-pfizer-vaccine

 

 

ศบค.เผยยอด​ ผู้ป่วยโควิดใน กทม. ที่เข้าสู่ Home Isolation มีเกือบ 100,000 รายแล้ว

ผู้​สื่อข่าว​โต​โจ้​นิว​ส์ราย​งานว่า​ แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านว่า จากข้อมูลของ กทม. ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีบางช่วงผลเป็นบวกถึง 20% ซึ่งนโยบายของกรมการแพทย์ทุกคนที่ติดเชื้อโควิด ต้องรับบริการทางการแพทย์อย่างเป็นรวดเร็ว

โดยในกรุงเทพมหานคร หลังมีการปรับระบบการตรวจเชิงรุก และกรมสนับสนุบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับระเบียบให้ประชาชนสามารถหา Antigen Test Kit มาตรวจด้วยตัวเอง ตอนนี้อนุญาตไปแล้ว 19 ยี่ห้อ และจะมีการเสนอจะอนุมัติเพิ่มเติมอีก โดยการหาซื้อต้องซื้อในสถานพยาบาลหรือร้านขายยาเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ซื้อในออนไลน์

ตามข้อมูลใน กทม.ยังมีสายตรง 50 เลขหมาย ใน 50 เขต โดยก่อนจะโทร. สายด่วนไม่ว่าหมายเลขใด ขอให้ทุกคนเตรียมข้อมูล และเอกสารส่วนตัวให้พร้อม ทั้งหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เพื่อลงทะเบียนให้สามารถเลิกจ่ายจาก สปสช. ได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งยา และเวชภัณฑ์

ขณะนี้ผู้ป่วยใน กทม. ที่เข้าสู่ Home Isolation มีเกือบ 100,000 รายแล้ว (ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564) 

ข้อมูลจาก https://tojo.news/people-07082021-4/

ข้อควรระวังการใช้ 'Antigen test kit' รู้ผลเร็ว เข้ารับการรักษาทันที

 

'Antigen test kit' เป็นชุดตรวจโควิด-19 ที่ประชาชนสามารถใช้ตรวจเองที่บ้าน ซึ่งวิธีการใช้งาน รวมถึงข้อระวังต่างๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้ทราบผลการตรวจที่ถูกต้อง แม่นยำ

หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อและใช้ชุดตรวจโควิด-19  'Antigen test kit' มาใช้เองได้ที่บ้าน ทำให้ใครหลายคนๆ อาจจะคุ้นเคยกับการตรวจแล้ว เพราะด้วยความกังวลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงมากขึ้น นับวันผู้ติดเชื้อรายใหม่จะมีจำนวนมากกว่า 20,000 ราย ใครที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็อาจจะอยากตรวจ

นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสำหรับเรื่องการตรวจโควิด -19 ซึ่งตอนนี้เชื่อว่ามีหลายคนได้ใช้ชุดตรวจ 'Antigen test kit' แล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน

162822991754

สำหรับการตรวจหาตัวเชื้อโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ จะมี 2 รูปแบบ คือ วิธีมาตรฐานที่มีการใช้บ่อยๆ  RT-PCR หรือการตรวจสารพันธุ์กรรมโดยเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก เหมือน Antigen test kit   เมื่อได้ตัวอย่างมาแล้วจะนำเข้ามาในหลอดทดลอง ซึ่งในหลอดทดลองจะเพิ่มสารพันธุ์กรรมที่เป็นตัวเชื้อจำนวนมาก เพิ่มจำนวนมากจาก 1 ตัวเชื้อ เป็นล้านๆ ตัวเชื้อทำให้ตรวจเจอได้ง่าย

ส่วนอีกวิธี คือ Antigen test kit เป็นชุดตรวจโควิด-19 อย่างง่าย สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องอะไรมาก มีตลับที่ใช้ทดสอบ และหยดน้ำยา เอาไม้swab โพรงจมูก เพื่อเอาเชื้อในโพรงจมูก มาละลายในน้ำยา และตัวเชื้อจะอยู่ในน้ำยา ต่อมาหยดสารระลาย ก็จะสามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า และทราบผลใน 15-30 นาที และถ้ามีเชื้อโควิด -19 จำนวนมาก จะตรวจเจอได้ง่าย ซึ่งโควิด-19 เป็นการตรวจโปรตีนของเชื้อ ซึ่งเมื่อละลายจะมีชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนที่ชุดตรวจโควิด-19 ออกแบบมาให้จับได้

 

  • เช็ควิธีการตรวจโควิด-19 'Antigen test kit' ที่ถูกต้อง

สำหรับการเก็บตัวอย่างเชื้อในโพรงจมูกนั้น มีวิธีดังนี้ 

หากเก็บจากจมูกก็ให้แหย่จมูกทั้งสองข้าง ให้ถึงผนังจมูก

หมุนวนเพื่อให้ได้สารคัดหลั่งพอสมควรติดสำลี

เอามาจุ่มในหลอดที่มีน้ำยา

หมุนวนเพื่อให้สารคัดหลังผสมน้ำยา

ปิดจุกและหยอดในตลับที่วางบนพื้นที่สะอาด

รอดูผล 15-30 นาที

นพ.อาชวินทร์ กล่าวต่อว่าชุดตรวจ Antigen test kit ถ้าตีความจากบริษัทผู้ผลิตจะมี 2 แบบ คือ 1.แบบอ่านผลด้วยตาเปล่า  จะดูว่าขึ้นขีดหรือไม่ขึ้นขีด 2.แบบที่ต้องใช้สารเรืองแสงเคลือบ ซึ่งต้องอ่านด้วยเครื่อง ก็จะลดการอคติในการอ่านได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีการใช้ ชุดตรวจ Antigen test kit ขอให้ยึดตามหลักของเอกสารกำกับชุดตรวจที่จะมาพร้อมกับกล่องชุดตรวจอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนอ่านทำความ

เข้าใจให้ชัดเจน

162822993751

  • 2 กลุ่มที่ควรจะตรวจโควิด-19 'Antigen test kit'

สำหรับบุคคลที่ต้อง ตรวจโควิด-19 โดยใช้ Antigen test kit นั้น จะแบ่งเป็น  2 กลุ่ม คือ กรณีที่ 1 ผู้ที่อาการคล้ายๆ ไข้หวัดหรือระบบทางเดินหายใจ เช่นมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีไอ จาม น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น เพราะเราไม่สามารถบอกได้การไปสัมผัสไม่ว่าจะคนในบ้าน หรือนอกบ้าน คนไหนมีความเสี่ยง ถือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ต้องตรวจทันที

กลุ่มที่ 2 เป็นผู้สัมผัสเสี่ยง คือมีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด -19 โดยสมมติเราไปเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อวันนี้ ไม่ใช้ว่าเราจะตรวจโควิด-19 ผ่าน Antigen test kit ภายในวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ได้ เพราะเชื้อมีระยะเวลาฟักตัว อย่างน้อยต้องปล่อยให้ระยะเวลา 3-5 วันถึงจะตรวจโควิด -19ผ่าน Antigen test kit ได้ ซึ่งในช่วง 2-3 วันแรก ไม่มีเทคนิคไหนที่จะตรวจเจอ ต้องเป็นช่วงที่มีระยะฟักตัวไปแล้ว หลังจากมีการสัมผัสไปประมาณ 3-5 วันไปแล้ว ช่วงที่จะตรวจ Antigen test kitได้เจอ ส่วนใหญ่จะหลังจากมีอาการไปแล้ว 1 สัปดาห์

 

นพ.อาชวินทร์  กล่าวต่อไปว่า การเก็บตัวอย่างผ่านการตรวจโควิด -19 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด จะมี 2 แบบ คือ แบบสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ ซึ่งไม้swab จะเก็บลึกไปยังหลังโพรงจมูก 8-12 เซนติเมตร โดยตำแหน่งหลังโพรงจมูกจะมีเชื้อจำนวนมาก เพราะมีพื้นที่ให้เชื้อได้อยู่ 

ส่วนแบบสำหรับประชาชนใช้ หรือ Home use แบบนี้จะมีมาตรฐานสามารถใช้ได้โพรงจมูก

-จะแยงไปลึกประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ได้ ซึ่งโพรงจมูกนี้คือด้านข้าง 

-น่าเป็นห่วงประชาชนบางท่านที่แยงไปตรงๆ และมองว่าต้องแยงให้ลึกที่สุด ปรากฏว่าจะแยงไปถึงเบ้าตา ไม่ได้เป็นวิธีการเก็บตัวเชื้อที่ดี

-การเก็บตัวเชื้อที่ดี คือ แยงเข้าไปตรงกลาง แต่ให้ไปทางโพรงจมูกด้านข้าง ซึ่งไม้ swab จะโค้งตามจมูกของเราได้ และไม่เจ็บมากแต่ก็จะมีความแสบหรือบางคนจะน้ำตาไหลเมื่อแหย่เข้าไป

-ไม้ swab จะมีสัญลักษณ์ว่าจะต้องแหย่ไปถึงขนาดไหน และควรปฎิบัติตามนั้น

-สำหรับการแปลผล ต้องมีตัว C ขึ้นเสมอ ถ้าตัว C ไม่ขึ้น แสดงว่าชุดตรวจนี้ไม่สามารถใช้งานได้

162822996066

-สำหรับผลบวกปลอม  คือ ตามหลักผลบวก แปลว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่จะมีจำนวนเล็กน้อยที่เป็นบวก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อ เกิดขึ้นได้จากข้อจำกัดของเทส เช่น การปนเปื้อน หรือไวรัสตัวอื่น ที่เทสแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลเป็นบวก ขอให้แจ้งศูนย์บริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ รพ. เอาผลที่ว่าไปให้ดู จะมีการประเมินสีเขียว เหลือง แดง ในการดำเนินการ หรือมีการตรวจยืนยัน RT-PCR ซ้ำ หรือไม่อย่างไร

-ส่วนผลเป็นลบ ซึ่งแปลได้สองกรณี คือ ไม่ติดเชื้อ และ อาจจะเกิดผลลบลวง คือ ติดเชื้อแต่เชื้อจำนวนน้อย เทสไม่ไวพอที่ทำให้ผลเป็นบวก วิธีคือ ต้องเคร่งครัดในการกักตัวในกรณีเสี่ยงสูง อย่าสรุปว่าไม่ติดเชื้อและไปแพร่เชื้อ และอีก 2-3 วันอาจจะตรวจซ้ำได้อีก หากเชื้อมากขึ้นอาจตรวจเจอในภายหลัง ทั้งนี้ การตรวจ Antigen Test Kit ควรตรวจหลังคาดว่าจนสัมผัสกลุ่มเสี่ยง 5 วัน ก่อนหน้านั้นอาจจะต้องกักตัวอย่างเคร่งครัด หากตรวจเร็วเกินไป ตรวจได้แต่โอกาสเจอมีไม่มาก

  • สิ่งที่ควรปฎิบัติในการใช้ 'Antigen Test Kit' 

-การเก็บตัวอย่างมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้ได้ตัวอย่างที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้องได้ และมีผลต่อการอ่านตัวเชื้อ

-ควรหาซื้อชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนของอย.

-สามารถไปเช็คได้ที่เว็บไซต์ กรมควบคุมเครื่องมือแพทย์ จะหารายชื่อของบริษัทที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว

 -การแปลผลต้องดำเนินการตามวิธีของเอกสารอ้างอิง ที่บริษัทกำหนด

-ถ้าตรวจครั้งแรกผลเป็นลบ ต้องเว้น 3-5 วัน และตรวจซ้ำ ก็จะทราบผลที่ชัดเจนขึ้น  

-เมื่อตรวจพบติดเชื้อโควิด -19 อย่าตื่นตระหนก ติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือโทร.สปสช.1330 จะได้รับการรักษาทันที

-เมื่อเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องตระหนักว่าตัวเองสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 

-ต้องแจ้งกับหน่วยบริการใกล้บ้าน ถ้าเป็นในเขตกทม.จะมีสำนักบริการทางการแพทย์ และมีคลินิกอบอุ่น เพื่อดำเนินการเข้าสู่กระบวนการรักษา

162822998952

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953261?anf=

 

เปิดงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" มีผลข้างเคียงต่อตับจริงหรือไม่

 

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ผลการศึกษาว่า "ฟ้าทะลายโจร" มีผลข้างเคียงต่อตับหรือไม่ สืบเนื่องจากมีผู้เผยแพร่ข้อมูลว่าใช้ฟ้าทะลายโจรแล้วทำให้ตับพัง

 

(7 ส.ค.2564) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ผลการศึกษาว่า "ฟ้าทะลายโจร" มีผลข้างเคียงต่อตับหรือไม่ สืบเนื่องจากมีผู้เผยแพร่ข้อมูลว่าใช้ฟ้าทะลายโจรแล้วทำให้ตับพัง

สำหรับ "ฟ้าทะลายโจร" จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขมอยู่ในกลุ่มยาเย็น มี "สรรพคุณ" ทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอ และเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบยาเดี่ยว

 

ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ผลการศึกษาว่า "ฟ้าทะลายโจร" มีผลข้างเคียงต่อตับหรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

สืบเนื่องจากมีผู้เผยแพร่ข้อมูลว่าใช้ "ฟ้าทะลายโจร" แล้วทำให้ตับพัง จากงานวิจัยฟ้าทะลายโจรในต่างประเทศที่ใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งชนิดผงและสารสกัดในการรักษาอาการหวัด หลอดลมอักเสบ ไม่มีรายงานว่าฟ้าทะลายโจรก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ 

 

นอกจากนั้นในการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพยาของการใช้ผงฟ้าทะลายโจรปริมาณ 12 แคปซูล (4.2 กรัม) ต่อวัน ติดต่อกัน 3 วัน (มีปริมาณสาร Andrographolide 97 มิลลิกรัมต่อวัน) ไม่พบว่าการทำงานของเอนไซม์ตับ AST (Aspartate Aminotransferase) และ ALT (Alanine Aminotransferase) ผิดปกติ (Suriyo et al., 2017)

สำหรับการศึกษาความปลอดภัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพยาของสารสกัดฟ้าทะลายโจรปริมาณ 9 แคปซูล ต่อวัน (มีปริมาณสาร Andrographolide ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน) [อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา] ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและระยะวันการได้รับฟ้าทะลายโจร ก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์ตับเช่นกัน

 

แต่หากใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร Andrographolide ในขนาดสูงถึง 360 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน 7 วัน จะพบการเปลี่ยนแปลงของ AST เล็กน้อย ในอาสาสมัคร 1 คนใน 12 คน ซึ่งค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นนี้จะกลับเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนค่าเอนไซม์ ALT จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอาสาสมัคร 4 คน ซึ่งคิดเป็น 33.33% แต่การทำงานของเอนไซม์ก็จะกลับเป็นปกติภายใน 1-3 สัปดาห์

 

ดังนั้นขนาดของสาร Andrographolide ที่เหมาะสม คือ 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน จึงไม่ควรใช้ในขนาดและระยะเวลานานเกินกว่านี้

 

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากที่ต้องการยารักษาโรคโควิด-19 และยาฟ้าทะลายโจรก็เป็นสมุนไพรที่ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งกลไกการออกฤทธิ์ อาการข้างเคียง และการศึกษาในทางคลินิกในผู้ติดเชื้อจริง ทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน

 

ซึ่งได้มีการใช้ในรูปแบบผง สารสกัด และการพัฒนาสารอนุพันธ์ Andrographolide ให้อยู่ในรูปแบบยาฉีด ดังนั้นหากมีการพบการติดเชื้อโควิด-19 จึงควรใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรทั้งรูปแบบผงและสารสกัดทันที ในขนาดและระยะเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นยาที่มีประโยชน์มากและมีความปลอดภัยในระดับที่รับได้ เป็นการช่วยลดภาระของรัฐบาลและช่วยระบบสาธารณสุขของชาติได้

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/477684?adz=