เจอไม่จบ "ติดโควิด" อาการ "สมองเล็กลง" ในไม่กี่เดือน จาก 1-10 ปี ตามธรรมชาติ 

เจอไม่จบ ผลวิจัยจากอังกฤษ เผยข้อมูลใหม่ "ติดโควิด" อาการ "สมองเล็กลง" ในไม่กี่เดือน จากที่ต้องใช้เวลา 1-10 ปี ตามธรรมชาติ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบง่าย ๆ ซึ่งนอกจากอาการ "ติดโควิด" ที่ต้องเจอแล้ว อาการหลังหายจากโควิด หรือ ภาวะ Long Covid ก็ดูเหมือนว่า รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งจากข้อมูลอาการ Long Covid หลัก ๆ คือ ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น แต่โรคเจ้าปัญหานี้ นอกจากจะมีผลกับระบบทางเดินหายใจแล้ว อาการที่เจอใหม่คือ "สมองเล็กลง" ได้ด้วย

 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ทำการศึกษาแบบโดยเปรียบเทียบผลการสแกนสมองของคนอายุ 51-81 ปี จำนวน 785 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ 401 คน และอีก 384 คนไม่เคยติดเชื้อโควิด-19

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อแล้ว กลุ่มผู้ที่ "ติดโควิด" มีภาวะ "สมองเล็กลง" หรือการหดตัวของสมองโดยรวมมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบการการหดตัวของสมองส่วนเนื้อสีเทา (Gray Matter) พบความเสียหายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เชื่อมโยงกับกลิ่นและสมรรถภาพของจิตใจ ซึ่งพบเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรก

ผลการสแกนเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมองหลังติดเชื้อโควิด-19 ที่นักวิทย์พบ ได้แก่

ความหนาของสมองส่วนสีเทาลดลง มีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในคอร์เทกซ์ออร์บิโทฟรอนทัลและไจรัสพาราฮิปโปแคมปัล โดยคอร์เทกซ์ออร์บิโตฟรอนทัลเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ควบคุมอารมณ์ ความผันผวนของอารมณ์ ความรู้สึกเศร้า มันยังเกี่ยวข้องกับการทำงานทางปัญญาและการตัดสินใจ ไจรัสพาราฮิปโปแคมปัลมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ของเราตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการดึงความจำและการรับรู้และการประมวลผลความเสียหายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เชื่อมต่อกับเยื่อหุ้มสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับกลิ่น ส่งผลให้รับกลิ่นไม่ได้หรือรับกลิ่นได้แย่ลงขนาดสมองโดยภาพรวมลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับผลการสแกนก่อนติดเชื้อโควิด-19

นักวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าผลกระทบจะเด่นชัดมากกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ "ติดโควิด" แต่ก็พบว่า ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่นกัน

ศ.กเวนาเอลล์ ดูโอด หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ในกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ แม้จะมีผู้ที่ติดเชื้อไม่รุนแรงมากถึง 96% แต่เราก็พบว่า กลุ่มนี้มีการสูญเสียปริมาณสมองเนื้อสีเทา มีความเสียหายของเนื้อเยื่อ และมีอาการเรื้อรังโดยเฉลี่ย 4.5 เดือนหลังการติดเชื้อ พวกเขายังมีสมรรถภาพของจิตใจลดลงในการทำงานที่ซับซ้อนและการเสื่อมสภาพของจิตใจนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองเหล่านี้”

นักวิจัยระบุว่า การหดตัวของสมองปกติไม่ใช่เรื่องแปลก สมองของเราจะหดตัวอยู่แล้วเมื่อเราอายุมากขึ้น คนเราจะสูญเสียสมองส่วนส่วนสีเทาทุกปี โดยเฉลี่ยระหว่าง 0.2-0.3% ต่อปี แต่ผลการศึกษาใหม่นี้พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้สูญเสียสมองส่วนสีเท่าระหว่าง 0.2-2% เท่ากับว่า การติดโควิด-19 อาจทำให้สมองของเราเล็กลงในไม่กี่เดือน จากที่ต้องใช้เวลา 1-10 ปีตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงจะสรุปออกมาเป็นภาพรวมได้ และต้องดูว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ทั้งนี้ การศึกษาได้ดำเนินการในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร จึงยังไม่ทราบผลของโควิด-19 สายพันธุ์อื่นต่อสมองในรูปแบบนี้ และยังไม่ทราบด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันหรือรักษาการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองได้หรือไม่

ซึ่งข้อมูลนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เคยระบุว่า ภาวะ "Long COVID"  กับปัญหาด้านความจำและจิตเวชXie Y และคณะ ทำการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ 153,848 คน ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน และเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อ เพื่อศึกษาว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตเวชมากน้อยเพียงใดในช่วง 12 เดือนถัดมาเผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับโลก British Medical Journal สาระที่สำคัญมากมีดังนี้

  • หนึ่ง การติดเชื้อมาก่อนจะทำให้เสี่ยงต่อโรคจิตเวชมากขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 39%, เสี่ยงต่อภาวะเครียดมากขึ้น 35%, เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านความจำมากขึ้น 80% และมีปัญหาด้านการนอนหลับมากขึ้น 41%
  • สอง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาจิตเวชต่าง ๆ ตามมา มากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 1.43 เท่า 

ขอบคุณที่มา Al Jazeera

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510376?adz=

 
เช็ก  สิทธิการรักษา เตรียมพร้อมโควิด-19 สู่ "โรคประจำถิ่น"
หลังจากที่ ประเทศไทย อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อม "สถานการณ์โรคโควิด-19" สู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการโดยเฉพาะวางแนวทางการรักษาเพื่อปรับตัวอยู่ร่วมกับ "โควิด-19"

หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยปรับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19  จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น โรคประจำถิ่น (Endemic) เนื่องจากความรุนแรงของโรคลดน้อยลง กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรงให้รักษาแบบ "เจอ แจก จบ" ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้ทำการแจ้งขอเข้ารับการรักษาในระบบ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ 

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ 
  • ยาฟ้าทะลายโจร 
  • ยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ 

ทั้งนี้ เมื่อดู "สถานการณ์โควิด-19" ในวันนี้ (15 พ.ค. 65) ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,601 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย กำลังรักษา 70,775 ราย อัตราครองเตียง 16.9% จะเห็นว่า สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ชง ศบค. ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ปรับลดเตือนภัยเหลือระดับ 2 เตรียมพร้อม โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic)

ไทยอยู่ระยะทรงตัว
โดยในวันที่ 12 พ.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) โดยระบุว่า จากแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่มี 4 ระยะ คือ 

  • ระยะต่อสู้กับโรค (Combatting) 
  • ระยะโรคทรงตัว (Plateau) 
  • ระยะโรคลดลง (Declining)
  • ระยะหลังการระบาด (Post pandemic)

ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ใน "ระยะทรงตัว"

รักษาตามสิทธิการรักษา

สำหรับ ระบบการรักษาเมื่อโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน เผยว่า ทุกอย่างดำเนินไปอยู่แล้ว คำว่า Endemic ไม่ใช่ประเทศไทยจะประกาศได้เลย แต่จะต้องสอดคล้องกับสากลด้วย เพราะตอนที่ประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก องค์การอนามัยโลก เป็นผู้ประกาศ แต่ในทางปฏิบัติก็จะต้องเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่ตอนนี้ยังถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอยู่ก็จะสามารถใช้มาตรการต่างๆ ในการดูแลประชาชนได้

แต่เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมแล้ว ความเข้าใจประชาชนดีแล้ว จะแปลสภาพเป็น Endemic หมายความว่าถ้าเกิดติดเชื้อ ก็จะดูว่ามีการติดเชื้อ เสียชีวิตแต่ละวันเป็นอย่างไร ได้รับวัคซีนเพียงพอหรือไม่ เมื่อเป็น โรคประจำถิ่น ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่ มาใช้ตามสิทธิการรักษา ถ้าใครอยากจะรักษาเอง ก็คงต้องขอให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยามาทำการขึ้นทะเบียนปลดจากการใช้ภาวะฉุกเฉินมาเป็นขึ้นทะเบียนทั่วไป ให้สามารถหาซื้อยาได้เอง ต้องเดินไปแนวทางนั้น

ส่วนประเด็นที่ว่าหากเป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะยังคง UCEP Plus ไว้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก เพราะว่า 30 บาทรักษาทุกที่ จะขยายการให้บริการไปได้ด้วย อย่ายึดติดกับภาพเก่าที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรคมีการต่อยอดหรือไม่ ก็มีการต่อยอดไปอย่างมาก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย 

 

"บัตรทอง" หาจุดร่วม 3 กองทุน

ทั้งนี้ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมการรักษาหากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า  สปสช.ซึ่งดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หลักใหญ่ คือ ประชาชนต้องได้รับบริการ โดยเฉพาะคนไทย หากสถานการณ์ของโรคโควิด19 ดีขึ้น อะไรที่เข้าสู่ภาวะปกติหรือเหมือนเป็นไข้หวัด นอนพัก 1-2 วันแล้วหาย  เพราะฉะนั้น จะกลายเป็น วิถีปกติของคน คล้ายกับเมื่อเป็นไข้หวัดที่เป็นไข้อยู่ 1-2 วันทานยาหรือพักผ่อนแล้วก็หาย

แต่สิ่งที่จะต้องป้องกัน คือ คนที่ป่วยแล้วมีอาการรุนแรง ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องของการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Group: DRG) ที่จะอ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องคิดคำนวณและหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการ  นี่คือหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย แต่ภายใต้สิ่งที่เหมาะสมและสมควรด้วย และเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการมาตรฐานของการดูแลก็จะต้องเหมือนกัน

ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ

1.องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นอีกได้หรือไม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่วางใจ

2.ระดับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร จะให้เป็นบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐหรือไม่อย่างไร  

3.กฎหมายและการกำกับติดตาม

ซึ่งเป็นข้อจำกัดจริงๆ โดยกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุนถือกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ระบบบริการเดินหน้าได้ เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ UCEP Plus ยังเป็นทิศทางที่น่าจะประคองไว้เพราะเป็นการรักษาชีวิตคน โดยหลักการทุกระบบจะต้องให้ความเท่าเทียมกับปัจจัยพื้นฐาน นพ.จักรกริช กล่าว

"ประกันสังคม" เล็งเพิ่มสิทธิยาโควิด 

ด้าน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ในอนาคตหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวโน้มประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เบื้องต้น ในเรื่องหลัก ระบบประกันสังคม จะดูแลตามสิทธิเดิมใน รพ.คู่สัญญาหลักที่สามารถเข้าไปรับการรักษาได้

ส่วนเรื่องยาและอื่นๆ ให้ความมั่นใจและรับประกันว่าสามารถดูแลตรงส่วนนี้ได้แน่นอน ส่วนว่าต่อไปจะดูแลเรื่องยารักษาโควิด-19 เข้าไปในสิทธิหรือไม่ ให้ความมั่นใจว่าคณะกรรมการการแพทย์ได้หารือเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยจะดูแลผู้ประกันตน 10 กว่าล้านคนอย่างดีที่สุด” นางมารศรีกล่าว    

สำหรับ โรงพยาบาลเอกชน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้หากเป็นโควิด-19 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลแต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน จะมีส่วนของ Extra pay สำหรับดูแลผู้ติดโควิด ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของงบประมาณของแต่ละกองทุน แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มขาลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลกันเอง  

"ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละกองทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 จะเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของ รพ.เอกชน ที่มีความร่วมมือกับ สำนักงานประกันสังคม , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลางจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องดูแลและส่งต่ออย่างไร รัฐต้องรีบดำเนินการให้ชัดเจน"

9 คลินิก Long COVID กทม.

ขณะเดียวกัน ภาวะ Long COVID ถือเป็นอีกหนึ่งภาวะที่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ผ่านการติดเชื้อโควิด-19 องค์การอนามัยโลก ระบุว่า คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ภายใน 3 เดือน ดังนั้น หากเวลาผ่านไปแล้ว 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 และยังคงรู้สึกไม่สบาย และปรากฎอาการในกลุ่ม ลองโควิด Long COVID เช่น หายใจลำบาก สมองล้า หรืออ่อนเพลีย

ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉับ แพทย์และนักบำบัดอื่นๆ ช่วยออกแบบแนวทางฟื้นฟูเพื่อรับมือกับอาการลองโควิดได้ โดยล่าสุด กทม. ได้เปิด  คลินิก Long COVID ในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ดังนี้

1. ARI Clinic โรงพยาบาลตากสิน

2. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

3. คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลสิรินธร

4. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

5. ARI Clinic โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

6. คลินิกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

7. คลินิกประกันสุขภาพ โรงพยาบาลกลาง

8. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ

9. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1004513?anf=

 
เช็ก สูตรฉีดวัคซีนเด็ก "เปิดเรียน" On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19
การเปิดเรียน "On-Site" ในภาคเรียนที่ 1/2565 ทางกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นการประเมินสถานศึกษา เตรียมแผนเผชิญเหตุ และสิ่งสำคัญ คือ การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก 5-17 ปีเพื่อให้เปิดเรียนอย่างปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19

ขณะนี้ เริ่มมีการเตรียมพร้อมเพื่อ "เปิดเรียน" On-Site ในภาคเรียนที่ 1/2565 โดย กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียนของเด็กไทยต่อไป

โดยเน้นย้ำตามมาตรการต่อไปนี้

1.เร่งรัดการฉีดวัคซีน เพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุม

2.สถานศึกษาต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่า 95 % ส่วนการตรวจATK ที่เดิมให้ตรวจทุกราย แต่จากการหารือร่วมกับราชวิทยาลัยและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยการตรวจเฝ้าระวังให้ดำเนินการเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการเท่านั้น  เพราะกรณีที่มีฉีดวัคซีนครบและไม่มีอาการ การตรวจATKอาจผิดพลาดได้ 

3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน และ4.เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง 

 

สูตรการฉีด "วัคซีนโควิด-19" เด็ก 5-17 ปี

ทั้งนี้ จะเห็นว่า หนึ่งในมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำ คือ การฉีด วัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กก่อนเปิดเรียน ให้ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19

ข้อมูลจาก ศบค. วันที่ 7 พ.ค. 65

- กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมาย 5,150,082 ราย

  • ฉีดวัคซีนเข็ม 1 สะสม 53.9%
  • ฉีดวัคซีนเข็ม 2 สะสม 15.5% 

ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 2565
- กลุ่มอายุ 12-17 ปี ผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายอายุ จำนวนเป้าหมาย 4.7 ล้านคน จากฐานข้อมูล MOPH IC

  • ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 3.6 ล้านคน คิดเป็น 77.2 %
  • ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 3.5 ล้านคน คิดเป็น 75.5 %
  • ฉีดเข็มที่ 3 แล้ว 2.4 แสนคน คิดเป็น 5.2%  

สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็ก ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน คือ

- สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็กอายุ 5-6 ปี 

  • เข็ม 1 ไฟเซอร์ 
  • เข็ม 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน  8 สัปดาห์
  • เข็ม 3 ยังไม่มีกำหนด

- สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็กอายุ 6-11 ปี 

สูตร 1

  • เข็ม 1 ไฟเซอร์ 
  • เข็ม 2ไฟเซอร์  ห่างกัน  8 สัปดาห์
  • เข็ม 3 ยังไม่มีกำหนด

สูตร 2 

  • เข็ม 1 ซิโนแวค
  • เข็ม 2 ไฟเซอร์  ห่างกัน 4 สัปดาห์
  • เข็ม 3 ยังไม่มีกำหนด

- สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็กอายุ 12-17 ปี 

สูตร 1 

  • เข็ม 1 ไฟเซอร์ 
  • เข็ม 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ 
  • เข็ม 3 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-6 เดือน เต็มโดส/ครึ่งโดส

สูตร 2

  • เข็ม 1 ซิโนแวค
  • เข็ม 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์
  • เข็ม 3 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-6 เดือน  เต็มโดส

- สูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็กอายุ 6-17 ปี

  • เข็ม 1 ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม 
  • เข็ม 2  ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ 
  • เข็มที่ 3 ไฟเซอร์ เต็มโดส ตามช่วงอายุ ห่างกัน 4 สัปดาห์

เช็ก สูตรฉีดวัคซีนเด็ก "เปิดเรียน" On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19

กทม. เปิดเรียน "On-Site" เต็มรูปแบบ 100% 

สำหรับ โรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งเตรียม เปิดเรียน On-Site เต็มรูปแบบ 100% ทุกโรงเรียนประเมินมาตรการ 3T1V ในวันที่ 17 พ.ค. นี้ "นายชวินทร์ ศิรินาค" รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ประชุมได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการเปิดเรียนแบบ On-Site เต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น โดยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในสังกัดฯ อย่างเต็มที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ

ประเมินตามมาตรการ 3T1V
ทั้งนี้ ทุกโรงเรียนจะต้องมีการประเมินตามมาตรการ 3T1V คือ

T : Thai Stop Covid Plus (TSC+) สถานศึกษาต้องประเมินตนเองเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน

T : Thai Save Thai (TST) นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ

T : Test ตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เช่น ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ

V : Vaccine ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์

พร้อมทั้งสำนักงานเขตและโรงเรียนจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน ในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่ประสงค์ให้นักเรียนเรียนในรูปแบบ On Site อนุญาตให้เรียนในรูปแบบ 4 ON ได้

มาตรการเปิดเรียน On-Site

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า สำหรับมาตรการเปิดเรียน On-Site อยู่ได้กับโควิด19 

- กรณีโรงเรียนประจำ

เน้นมาตรการ Sandbox Safety zone in School  ดังนี้

1.หากนักเรียน รู หรือบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อ ให้หารือหน่วยบริการสาธารณสุขในการแยกกักตัวในโรงเรียนกรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร งดร่วมกลุ่ม

 2.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้จัดควอรันทีนโซน จัดการเรียนการสอนในนั้นเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นให้สังเกตอาการอีก 5 วัน อย่างไรก็ตามกรณีได้รับวัคซีนครบตามกำหนดและไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักตัว และตรวจ ATK ในวันที่ 5 และ 10 และ3.กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียนปกติ โดยป้องกันตนเองครอบจักรวาล ประเมิน Thai Save Thai (TST) เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร

- กรณีโรงเรียนไป-กลับ

1. กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือพิจารณากักตัวที่โรงเรียน โดยคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีเป็นผู้ติดเชื้อมีอาการให้พิจารณาจัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการ  และทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษา และเปิดเรียนตามปกติ 

2.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหากยังไม่ได้รับวัดซีน ไม่มีอาการ แนะนำให้กักตัวเองเป็นเวลา 5 วันและติดตามหลังจากนั้นอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนครบและไม่มีอาการไม่ต้องกักตัว ให้เรียนได้โดยให้ตรวจ ATK วันที่ 1 , 5 และ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ สถานศึกษาจัดให้เรียนตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร และ3.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เรียนตามปกติ ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ประเมิน TST เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร

จัดห้องเรียนอย่างไร

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า  โรงเรียนทั่วประเทศมีกว่า  35,000 แห่ง เป็นร.ร.รัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 29,200 แห่ง เอกชน 4,100 แห่ง และอื่นๆ เช่น อปท. มหาดไทย(มท.) อีกราว 1,800 แห่ง 

โดยกว่า 90 % จะเปิดเรียนในวันที่  17 พ.ค. 2565  โดยทุกสถานศึกษามีการเตรียมความพร้อม โดยสิ่งที่แตกต่างระหว่างภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 คือ การเว้นระยะห่าง ในห้องเรียน จะเหลือ 1 เมตร จาก 1.5 เมตร

เพราะฉะนั้น ห้องเรียนปกติที่มีขนาด 8 X 8 เมตร สามารถจัดโต๊ะเรียนได้ 7 แถว ๆ ละ 6 ที่นั่ง รวม 42 คน ซึ่งโดยปกติ 1 ห้องเรียนจะมีนักเรีนนประมาณ 40 คน ไม่มีปัญหาในเรื่องการเว้นระยะห่าง แต่อาจจะมีปัญหาในโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งเท่านั้น ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ บางห้องอาจจะมีขนาด 6 X 8 เมตร

สิ่งสุดท้ายที่มีความแตกต่าง คือ บางโรงเรียนเป็นการเรียนในห้องปรับอากาศ ต้องมีการเปิดระบายอากาศ ทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 นาที ในช่วงพัก สำหรับโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อในโรงเรียน คือ การถอดหน้ากาก กินข้าวร่วมกัน สนทนาระหว่างกันโดยไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น ในโรงอาหารควรมีการแยกสำรับกับข้าว แยกพื้นที่ งดการพูดคุย ขณะกินอาหาร และเมื่อมีการเล่นร่วมกัน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1003074?anf=

 
เช็ก อาการ "ฝีดาษลิง" ระวัง ป้องกัน อย่างไร ไม่ให้เสี่ยง
 
แม้ประเทศไทยยังคงให้ "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เนื่องจากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องไม่ประมาท เพื่อป้องกันตนเองให้ห่างไกลจาก "โรคฝีดาษลิง" รวมถึงสังเกตอาการตนเอง และคนรอบข้าง

หลังจากที่ พบการระบาดของ "ฝีดาษวานร" หรือ "ฝีดาษลิง" ในหลายประเทศ โดย  WHO ได้ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และล่าสุด นครซานฟรานซิสโก เป็นเมืองแรกในสหรัฐ ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้ว แม้รัฐบาลกลางยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับประเทศ 

ขณะที่ประเทศไทย ยังคงให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เนื่องจากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่เข้านิยามโรคติดต่ออันตราย ซึ่งไทยพบผู้ป่วยรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรีย ที่จ.ภูเก็ต และ วานนี้ (28 ก.ค. 65) ไทยยืนยันพบ ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่2 จากโรงพยาบาล(รพ.) วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติแบบรักร่วมเพศ 

มีอาการสงสัยป่วย เมื่อวันที่ 12 ก.ค.65 จากนั้น 2 วัน เริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และ  1 สัปดาห์ต่อมา มีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงมาตรวจที่รพ. ขณะนี้รับไว้ในรพ.และติดตามผู้สัมผัสมาตรวจและเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน

 

โรคฝีดาษลิง ติดต่ออย่างไร 

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ เผยว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจากไวรัส ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผลของผู้ป่วย แต่ถ้าใกล้ชิดมากๆ เช่น กินข้าวหรืออยู่บ้าน นอนด้วยกัน ก็อาจติดต่อทางฝอยละอองได้

การรับเชื้อไวรัสกรณีผู้ที่ไม่มีบาดแผลที่ผิวหนังเลย เชื้อจะเข้าได้จากการสัมผัสด้วยมือแล้วไม่ได้ล้างให้สะอาด เชื้ออาจก่อให้เกิดตุ่มหนองในคอ ในปากได้ หรือเข้าทางเยื่อบุตา

อย่างไรก็ตาม ไวรัสของโรคฝีดาษลิงมีเปลือกหุ้มอยู่ โดยธรรมชาติก็จะเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตายหมด แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่นั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ

ระยะฟักตัว 21 วัน 

อัตราการแพร่เชื้อต่อของผู้ป่วย หรือ R0 ของโรคฝีดาษลิง ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ถือเป็นโรคใหม่ของยุโรปและของไทย แต่เป็นโรคที่ระบาดในแอฟริกามานานแล้ว ฉะนั้น  ประเทศไทยจะมีองค์ความรู้โรคฝีดาษลิงน้อย แต่ติดตามข้อมูลอยู่ตลอด

อย่างไรก็ตาม ที่มีการระบาดออกจากแอฟริกาเพราะเชื้อมากับคน ซึ่งระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิฯ ของแต่ละคน โดยทั่วไปที่รับเชื้อมามาก ระยะฟักตัวอย่างเร็วที่สุดจะอยู่ที่ 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

ปลูกฝีดาษมาแล้ว ป้องกันได้หรือไม่ 

ภูมิฯ แต่ละคนส่งผลต่อการแสดงอาการทางคลินิก โดยภูมิฯ เกิดจากการฉีดวัคซีน คือ ในคนไทยที่อายุมากกว่า 40 ปีจะได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว ซึ่งภูมิฯ นี้ป้องกันการติดเชื้อถึง 80% แต่ในเด็กที่มีรายงานข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ก็พบน้อยเช่นกัน แต่ถ้าคนที่ได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว เกิดกินยากดภูมิฯ อยู่แล้วติดเชื้อ ก็อาจมีอาการรุนแรงได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนของโรค ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โรคประจำตัว 

สังเกตอาการของโรค ฝีดาษลิง 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า ในภาพรวมโรคฝีดาษวานร มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อันดับที่ 56 โดยกำหนดอาการ ดังนี้

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลือง
  • บวมโต
  • เจ็บคอ
  • มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
  • ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก แขนหรือขา
  • บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า  

ระยะโรคฝีดาษลิง

รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช กรรมการกลาง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า อาการของโรคฝีดาษลิง แบ่งเป็น 3 ระยะ

1) ระยะฟักตัว

เป็นระยะที่ไวรัสฟักตัวในร่างกาย ไม่มีอาการ ไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจถึง  3 สัปดาห์ได้หลังสัมผัสเชื้อ

2)ระยะก่อนออกผื่น

เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ทางละอองฝอยในระยะนี้

3)ระยะออกผื่น

หลังจากมีไข้ 1- 3 วัน จะพบผื่นที่ ใบหน้า ลำตัว และกระจายไป แขน ขาสามารถพบได้ที่ ฝ่ามือ มือฝ่าเท้า

ผื่นมีลักษณะเป็น ตุ่มขนาดเล็ก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็น ตุ่มน้ำใส และ แตกออก จน ตกสะเก็ด และหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์

การป้องกันโรคฝีดาษลิง

นพ.จักรพงษ์ กล่าวว่า วิธีป้องกัน คือ ไม่ไปใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นหรือผู้มีความเสี่ยง

1) หลีกเลี่ยงการ สัมผัสใกล้ชิด กับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีผื่น โดยเฉพาะในช่วงการแตกของแผลและมีสารคัดหลั่งจำนวนมาก

2) ควร แยกและทำความสะอาดอุปกรณ์ ที่ใช้ร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ

3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับ สัตว์รังโรค ที่มีอาการ 

การรักษา ฝีดาษลิง 

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึง แนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษลิง ถ้าเกิดการป่วยติดเชื้อโดยตัวโรคจะสามารถหายได้เอง แต่จะต้องมาดูแลพิเศษในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมีอาการรุนแรง คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ 

“การรักษา กรมการแพทย์ก็จะเน้นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะมีการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มียารักษาเฉพาะในตอนนี้  และ ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง สามารถหายได้ด้วยภูมิฯ ของร่างกาย ใช้เวลาราว 4 สัปดาห์”

ป้องกันโควิด + ฝีดาษลิง 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ยังระบุอีกว่า โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่าย ดังนั้น มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้ คือ Universal Prevention  ทั้งล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มมีหนอง เป็นสิ่งสำคัญ  

และมีข้อน่าสังเกตอาจจะติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงควรเพิ่มการป้องกันตัวเองเหมือนการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย  นอกจากนี้ ขออย่าตีตรา และลดทอนคุณค่ากลุ่มเสี่ยง

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1018078?anf=

ช่วงนี้อยากให้ทุกคน เช็กก่อนใช้! ATK ไหนจริง ไหนปลอม มีวิธีดูอย่างไร

ช่วงนี้มีการลักลอบผลิตชุดตรวจ ATK ปลอม หลอกขายให้กับประชาชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอแนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้น ว่า ATK แบบไหนจริง ATK แบบไหนปลอม

โดยให้สังเกตหมายเลขล็อตที่กล่องชุดตรวจโควิด กับหมายเลขล็อตซองบรรจุภัณฑ์ด้านใน หากเป็นของจริง หมายเลขล็อตจะต้องตรงกัน

ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อชุดตรวจโควิด – 19 ทุกครั้ง ขอให้ท่านตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามวิธีข้างต้น และควรเลือกซื้อจากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ  

 

เช็กก่อนใช้! วิธีดู ATK ไหนจริง ไหนปลอม
หรือสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าถูกต้องจาก อย.

โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตผ่านเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ