ศบค.เผยไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2.2 พันราย เสียชีวิต 23 คน ขณะที่กรมอนามัยชี้กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ผู้ติดเชื้อ ผู้เสี่ยงสูง ควรสวมหน้ากากแม้อนุญาตให้ถอดได้ ขณะที่นายกฯ ย้ำยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ 2U เพื่อร่วมเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,272 ราย   ติดเชื้อในประเทศ 2,264 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,264 ราย จากเรือนจำ 2 ราย จากต่างประเทศ 6 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,964 ราย อยู่ระหว่างรักษา 21,315 ราย อาการหนัก 593 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 282 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 23 ราย เป็นชาย 14 ราย หญิง 9 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 19 ราย มีโรคเรื้อรัง 2 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,497,152 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,445,392 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,445 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 543,682,150 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,339,468 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำว่าแม้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการประกอบกิจการ กิจกรรมการผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งการปรับเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมดทั่วประเทศ ผ่อนคลายมาตรการสังคม ชุมชนและองค์กร เพื่อร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ระยะ Post-pandemic ต่อไป อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ยังคงยึดปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการ 2U อย่างแข็งขัน ได้แก่ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ซึ่งเป็นการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาของทุกคน และเร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Universal Vaccination) โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 77 จังหวัด และยังเห็นชอบผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากได้ นอกอาคารหรือที่โล่งแจ้ง โดยเน้นความสมัครใจของแต่ละบุคคล ซึ่งเริ่มดำเนินการได้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา

แต่สำหรับกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น รวมทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน สำหรับประชาชนทั่วไป หากเป็นสถานที่ภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง ถอดหน้ากากได้ แต่ให้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นโดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือมีการระบายอากาศไม่ดี    เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม เป็นต้น

แต่เมื่ออยู่ภายในอาคาร ให้สวมหน้ากาก สามารถถอดได้ในกรณีที่อยู่คนเดียว หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกัน ต้องสามารถเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด ให้อยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี และกรณีมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดง เป็นต้น                โดยให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้น ควรสวมหน้ากากทันที

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า สำหรับสถานที่ประกอบกิจการหรือกิจกรรม ได้กำหนดเงื่อนไขดังนี้ 1.ผู้ให้บริการ ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลาขณะให้บริการ โดยได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และเข็มกระตุ้น ให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง ส่วนผู้ติดเชื้อ ให้งดมาปฏิบัติงาน และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงไปทำงานได้ แต่ให้แยกพื้นที่กับผู้อื่น

2.สถานที่ ให้ปฏิบัติตามหลักของสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยจัดให้มีอุปกรณ์และสถานที่ล้างมืออย่างเพียงพอ มีการทำความสะอาด มีการจัดการของเสีย ส้วมและสิ่งปฏิกูลเป็นไปตามมาตรฐาน พื้นที่สัมผัสและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันให้ทำความสะอาดอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง จัดให้มีการระบายอากาศ และกำหนดความจุคนในอาคาร ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจอนามัยโพลของกรมอนามัย เกี่ยวกับมาตรการ​สวมหน้ากากตลอดเวลาในสถานที่สาธารณะ และสถานประกอบการ พบว่า ประชาชนร้อยละ 93.3 เห็นว่ายังคงต้องสวมหน้ากากต่อไป มีเพียงร้อยละ 6.7 ที่เห็นว่าให้เลิกทำ ดังนั้นเมื่อต้องสวมหน้ากากทุกครั้ง จึงต้องสวมให้ถูกวิธีและให้กระชับกับใบหน้า.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/164436/

เทียบ 5 โรคประจำตัว อัตราความเสี่ยงทำเสียชีวิตจากโควิด-19 ระลอกแรก-ระลอกใหม่

สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด (21 ม.ค.2564) โดยประเทศไทยเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 71 คน ทั้งนี้มีการเปรียบเทียบ 5 โรคประจำตัว อัตราความเสี่ยงทำเสียชีวิตจากโควิด-19 ระลอกแรก-ระลอกใหม่
 

สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด (21 ม.ค.2564) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 142 ติดในประเทศ 125 ราย ติดจากต่างประเทศ 17 ราย ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสม 12,795 ราย หายป่วยแล้ว 9,842 ราย รักษาอยู่ 2,882 ราย และเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 71 คน

ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราความเสี่ยงของผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ที่อาจทำให้เสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด-19 โดยเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นร้อยละของระลอกแรก และระลอกใหม่ ดังนี้

 

อัตราป่วยตาย ระลอกแรก 60 ราย คิดเป็น 1.42% , ระลอกใหม่ 11 ราย คิดเป็น 0.13% มีประวัติโรคประจำตัวระลอกแรก 77.4% ระลอกใหม่ 88.9% แบ่งเป็น 

 

- โรคเบาหวาน ระลอกแรก 51.2% , ระลอกใหม่ 62.5%

 

- ความดันโลหิตสูง ระลอกแรก 53.7% , ระลอกใหม่ 62.5%

- ไขมันในเลือดสูง ระลอกแรก 22% , ระลอกใหม่ 25%

 

- โรคปอด/มะเร็งปอด ระลอกแรก 12.2% , ระลอกใหม่ 9.09%

 

- ไตวาย  ระลอกแรก 17.1% , ระลอกใหม่ 0%

 
 

 

เทียบชัดๆ โรคฝีดาษลิง vs โรคเริม คล้ายหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
 
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เทียบให้เห็นชัดๆความแตกต่างของโรค "ฝีดาษลิง" กับ "โรคเริม" คล้ายหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เทียบให้เห็นชัดๆความแตกต่างของโรค "ฝีดาษลิง" กับ "โรคเริม" การติดต่อ อาการ ระยะฟักตัวรวมถึงแนวทางการรักษาไปดูว่าทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างและความคล้ายกันอย่างไรบ้าง

โรคฝีดาษลิง เชื้อก่อโรคตระกูลฝีดาษหรือ Pox Virus การติดต่อ ประกอบด้วย การสัมผัสสารคัดหลั่ง รอยโรคและละอองฝอยจากทางเดินหายใจ ติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือ ติดต่อจากคนสู่คน ระยะฟักตัวจะอยู่ที่ 7-21 วัน
อาการ 

อาการฝีดาษลิง จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนอาการที่แสดงทางผิวหนัง จะมีแผลในปากตามด้วยผื่นแดง ตุ่มน้ำ โดยตุ่มน้ำอาจมีรอยบุ๋มเล็กๆตรงกลางและกลายเป็นตุ่มหนองแล้วจึงตกสะเก็ด ส่วนรอยโรคจะอยู่ในระยะเดียวกัน 

การรักษาฝีดาษลิง 

แบบประคับประคองและรักษาตามอาการ ยาต้นไวรัส (tecovirimat) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา 

โรคเริม 

สำหรับ เริม อีสุกอีใส และงูสวัด เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกัน (Herpes simplex virus) การติดต่อก็จะเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง รอยโรค การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อจากคนสู่คน โดยที่มีระยะฟักตัว 3-7 วัน 

อาการเริม 

ประกอบด้วย อาการเจ็บ ปวดแสบร้อน คันบนตำแหน่งที่เกิดรอยโรค ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตบางราย ส่วนอาการที่แสดงออกทางผิวหนัง คือ ตุ่มแดง และตุ่มน้ำที่เจ็บบนพื้นแดงอาจจะมีรอยบุ๋มเล็กๆตรงกลาง ต่อมากลายเป็นตุ่มหนองและแผล หรือแผลถลอกตกสะเก็ด รอยโรคจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่กระจายตัว

การรักษาเริม 

รักษาตามอาการร่วมกับยาต้านไวรัส เช่น acyclovir , famciclovir , valacyclovir

เทียบชัดๆ โรคฝีดาษลิง vs โรคเริม คล้ายหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1019484?anf=

เที่ยวไทยดังใหญ่! ดิสนีย์ทำการ์ตูนตลาดน้ำ ล้อที่มา "ข้าวผัดสับปะรด" ผ่านตัวการ์ตูนดัง มิคกี้-มินนี่ ยูทูปช่อง Mickey Mouse ได้เผยแพร่การ์ตูนสั้นความยาว 3.46 นาที เรื่อง ความฝันลอยน้ำของเรา (Our Floating Dreams) อันเป็นเรื่องราวโรแมนติกระหว่างสองตัวการ์ตูนดังของดิสนีย์นั่นคือ มิคกี้ เมาส์ และ มินนี่ เมาส์ โดยใช้ฉากหลังเป็น "ตลาดน้ำ" สถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของประเทศไทย

สำหรับเนื้อหาเป็นเรื่องราวระหว่างมิคกี้ เมาส์ พ่อค้าสับปะรด และมินนี่ เมาส์ แม่ค้าข้าวผัดที่สู้รบแย่งที่จอดเรือหมายเลข 999 เพื่อขายสินค้าของตัวเอง โดยมีตัวประกอบของเรื่องเป็นการ์ตูนดิสนีย์ชื่อดังเช่น กระรอกน้อยชิปแอนด์เดล ทว่า ในที่สุดความขัดแย้งก็กลายเป็นเรื่องราวโรแมนติก และจบลงที่ "ข้าวผัดสับปะรด" อันเป็นอาหารขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับการ์ตูนสั้นดังกล่าวเมื่อถูกเผยแพร่ไปในช่องยูทูปเพียง 17 ชั่วโมง ก็มีผู้เข้าชมแล้วมากกว่า 400,000 ครั้ง โดยผู้เข้ามาแสดงความเห็นมากกว่า 1,000 ครั้ง https://youtu.be/83sdwFOL1r8

เป็นปลื้ม "WHO"  ชื่นชม ไทยควบคุม "วัณโรค" โดดเด่น-ชัดเจน

 

"WHO" เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่มชมไทย ควบคุม "วัณโรค" โดดเด่นและชัดเจน ส่งผลให้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูง

"WHO" เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่มชมไทย ควบคุม "วัณโรค" โดดเด่นและชัดเจน ส่งผลให้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูง

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการ  กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายเเพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เเละแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค เข้าร่วมประชุมทางไกลในการประชุมผู้นำระดับสูง ด้านการตอบโต้วัณโรคระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (High-Level Meeting for Renewed TB Response in the WHO South-East Asia Region) และประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรวมพลังในการยุติวัณโรคในช่วงการระบาดของ    โรคโควิด 19 
 

 

นายเเพทย์โอภาส กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าว   เเถลงการณ์ในนามผู้เเทนของประเทศไทย โดยเน้นถึงสามประเด็นหลัก ได้แก่ ประการที่ 1 คือ การค้นหา   เชิงรุกเเละเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ต้องขัง ประการที่ 2 คือ ให้ความสำคัญกับการตรวจจับเเละรักษาวัณโรคดื้อยา

โดยประกาศให้วัณโรคเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่สถานพยาบาลทุกแห่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญและดำเนินการตามแนวทางการรักษา เเละประการที่ 3 คือ ขยายขอบเขตการวินิจฉัยและการรักษาการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค อาทิ เด็กเเละผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้โดยเร็วหากมีการติดเชื้อ
 

ด้าน ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยเเละเนปาล

"ที่มีการควบคุมวัณโรคที่โดดเด่น มีระบบเเละแผนงานที่ชัดเจนจนทำให้หลุดออกจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายชนิดสูงได้ เเละได้กล่าวเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการยุติวัณโรคภายในปี 2573"

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/490235

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ