ตั้งเป้าปีนี้เล็งประกาศ "โควิด19" เป็นโรคประจำถิ่นภายใต้ 4 แนวทาง
 

สธ.ตั้งเป้าปี 2565 เล็งประกาศให้ "โควิด19" กลายเป็นโรคประจำถิ่น งัด 4 มาตรการชะลอการระบาด พร้อมใช้หลัก ATK First สะกัดแพร่กระจาย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์ "โควิด19" ว่า แผนรับมือการระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นในปี 2565 คือ  การชะลอการแพร่ระบาด การติดเชื้อไม่น่ากลัว แต่เรากลัวการแพร่ระบาดที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยมีมากเกิดระบบสาธารณสุขจะรับไหว หรือเกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้อีก ดังนั้น สธ. จำเป็นต้องชะลอการระบาด และค่อยๆ รับมือ อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง จะวางมาตรการดูแลในการแพทย์ ด้วยการใช้ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation

นอกจากนี้ สธ.ยัง แผนรับมือการระบาดโรค "โควิด19" โดยแบ่งเป็น 4 มาตรการหลักคือ 

1.มาตรการสาธารณสุข ใช้แนวทางการชะลอการระบาด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลทุกคนได้ เพิ่มวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 ยืนยันว่า วัคซีนมีคุณภาพและมีความเพียงพอ ตรวจ ATK จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนตรวจคัดกรองตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจที่คลินิก สถานพยาบาล ส่วนสธ.จะติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

2.มาตรการการแพทย์ เนื่องจากโรคไม่มีความรุนแรง จึงเน้นการดูแลมาใช้แบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation)

3.มาตรการสังคม ประชาชนยึดหลักป้องกันตัวเองสูงสุด (Universal Prevention) เลี่ยงการเข้าสถานที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเคร่งครัดให้สถานบริการปลอด "โควิด19" (Covid free setting)

4.มาตรการสนับสนุน ด้านค่ารักษาพยาบาลและการตรวจหาเชื้อ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สธ.มีจะพยายามทำโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น ในระยะการระบาดนี้ เราจะเน้นตรวจ ATK เป็นหลัก เรียกว่า ATK First เนื่องจากสธ.ศึกษาจากการใช้หลายล้านชิ้น พบว่า มีประสิทธิภาพ สามารถดักจับโควิด-19 ได้ดีมาก สามารถใช้ตรวจประจำได้ เพื่อป้องกันระบาด ต่อไปเราต้องใช้เป็นประจำ มาตรการทั้งหมดเป็นวิธีการที่ทำให้คนไทยทุกคนปลอดภัย ประเทศเดินต่อไปได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน สธ.จะพยายามบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ในปีนี้

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/500540?adz=

2022 01 11 10 17 18

ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เผยผลวิจัยเบื้องต้น กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯหรือไฟเซอร์ ได้ภูมิคุ้มกันเท่าไหร่ ป้องกัน "เดลตา-โอมิครอน"ได้แค่ไหนมาดูกัน!

วันนี้( 10 ม.ค.65) ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เผยผลการวิจัยเบื้องต้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิด PVNT50 ต่อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ด้วยวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ครึ่งโดส และไฟเซอร์เต็มโดส ที่ 2 สัปดาห์หลังกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้ามาแล้ว 2 เข็ม พบว่า

ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซเนก้า

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ = 587 GMT

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า = 170 GMT

 

ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์ครึ่งโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 1,002 GMT

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2 เท่า = 507 GMT

 

ซิโนแวค+ซิโนแวค+ไฟเซอร์เต็มโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 1,143 GMT

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2 เท่า = 531 GMT

 

แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 121 GMT

-สายพันธุ์โอมิครอนได้ไม่ดีนัก = 22 GMT

 

แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ครึ่งโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาได้ดี = 674 GMT

-สายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า = 232 GMT

 

แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์เต็มโดส

-ให้ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้าไดดี = 917 GMT

-สายพันธุ์โอมิครอนได้ระดับต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า = 521 GMT

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้ามาแล้ว 2 เข็ม ควรฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ จะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงสุดทั้งต่อเดลตาและโอมิครอน

(หน่วยวัดเป็นค่า GMT = Geometric Mean Titer)

 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช

ภาพจาก AFP/รอยเตอร์

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/101594/

 

"โอไมครอน" หรือเดลตา มาเช็คอาการเฉพาะตัวเบื้อง มีอาการเหล่านี้หรือไม่ สังเกตเบื้องต้นด้วยตัวเองเข้าข่ายหรือไม่ เช็คที่นี่

ติด "โอไมครอน" หรือยัง ? หากกำลังสงสัย หรืออยากรู้อาการ เจ้าโควิด-19 สายพันธุ์นี้ วันนี้คมชัดลึกออนไลน์ จะพามาเช็คกันอีกที กับ 5 อาการหลักเฉพาะของ "โอไมครอน"



ก่อนอื่นขอพาไปเน้นย้ำกับอาการต่างๆของสายพันธุ์เดิมต่างๆ ที่ระบาดในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
 

  • สายพันธุ์ S หรือสายพันธุ์ที่ระบาดในระลอกแรกของประเทศไทยอาการ : ไอต่อเนื่อง ลิ้นไม่รู้รส จมูกไม่ได้กลิ่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีไข้ 37.5 องศาขึ้นไป
  • สายพันธุ์อังกฤษ หรืออัลฟา อาการ : มีไข้ ไอ เจ็บคอ หนาวสั่น อาเจียน ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ท้องเสีย การรับรส/ได้กลิ่นผิดปกติ
  • สายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์เดลตา
    อาการ : คล้ายหวัดธรรมดา ไม่ค่อยสูญเสียการรับรส มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ 
  • สายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกา
    อาการ : เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ท้องเสีย ตาแดง มีผื่นตามผิวหนัง นิ้วมือ/เท้าเปลี่ยนสี การรับรส/ได้กลิ่นผิดปกติ

เหล่านี้คือลักษณะอาการของผู้ป่วย "โควิด-19" ในสายพันธุ์ต่างๆที่เคยระบาดในประเทศไทย แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน สายพันธุ์ที่กำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์หลักเดิมอย่างเดลตา คือสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก และกำลังกลืนสายพันธุ์เดลตาอยู่ในขณะนี้ จะมีอาการแตกต่าง อย่างไรบ้าง 

คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช็คสัญญาณอาการ "โอไมครอน" หรือเดลตา

 

ข้อมูลจากดร.จอห์น แคมพ์เบล  แพทย์จากอังกฤษได้บอกถึงลักษณะอาการเฉพาะของ "โอไมครอน" ดังนี้

  •  อาการไข้ไม่ชัดเจน
  • ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับกลิ่นและรส 
  • ปวดหัว 
  • อ่อนเพลียอ่อนล้า  ตั้งแต่ไม่มากจนกระทั่งถึงลุกไม่ไหว
  •  น้ำมูกไหล 
  • เจ็บคอ  
  • จาม 


ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาการของ "โอไมครอน" ไม่รุนแรง เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์นี้ อยู่ในจมูก ปาก ทางเดินหายใจส่วนต้น มากกว่าปอดลึก ๆ อีกทั้งภูมิคุ้มกัน ในมนุษย์เริ่มสูงขึ้น ทั้งจากการฉีดวัคซีน และจากการติดเชื้อมาก่อน


นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทางพันธุกรรม ของมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ อาการของโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ดังนี้

  •  เจ็บคอ
  •  เหนื่อยล้า
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  •  น้ำมูกไหล
  •  จาม
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ปวดหลังส่วนล่าง

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" ในประเทศไทย กำลังเริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขจากการตรวจผู้ติดเชื้อพบว่ามี 8 อาการที่พบมากที่สุด คือ

  •  อาการไอ
  •  เจ็บคอ
  •  มีไข้
  •  ปวดกล้ามเนื้อ 
  • มีน้ำมูก 
  •  ปวดศีรษะ 
  • หายใจลำบาก 
  • ได้กลิ่นลดลงมีเพียง  


คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช็คสัญญาณอาการ "โอไมครอน" หรือเดลตา

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/500224?adz=

 


หากคุณเป็นอีกหนึ่งคน ที่พบว่าผลการตรวจเป็นบวก หากอยากทราบว่า ใช่ "โอไมครอน" หรือไม่ลองสังเกตุอากาศเบื้องต้นดูว่า มีอาการดังที่กล่าวมาเหล่านี้หรือไม่

"IHU" โควิดสายพันธุ์ใหม่ WHO ยกระดับเฝ้าติดตาม อาจก่อเกิดความเสี่ยงในอนาคต
 

"IHU" โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอันน่าสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อลักษณะของไวรัส องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงจัดประเภทเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม ซึ่งหมายความว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต

"IHU" B.1.640 เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า โรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ B.1.640 ซึ่งองค์การฯ กำลังเฝ้าติดตามนั้น ไม่ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในขณะนี้ และปัจจุบันพบไม่ถึงร้อยละ 1 ของตัวอย่างที่จัดลำดับพันธุกรรมใน ฝรั่งเศส

เชื้อไวรัสฯ B.1.640 สายพันธุ์ดังกล่าว มีอีกชื่อเรียกว่า “ไอเอชยู” (IHU) เนื่องจาก ถูกพบครั้งแรกโดยคณะนักวิชาการจาก สถาบันการติดเชื้อเมดิเตอร์เรเนียนไอเอชยู (IHU Mediterranee Infection) ในเมือง มาร์แซย์ ของฝรั่งเศส

ด้านหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การฯ มาเรีย ฟาน เคิร์คโฮฟ แถลงข่าวว่า เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ B.1.640 ถูกพบครั้งแรกในหลายประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2021 ซึ่งหลังจากการอภิปรายภายใน องค์การฯ ได้จัดประเภทเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม (VUM) ในเดือนพฤศจิกายน 2021

 

คำจำกัดความขององค์การฯ ระบุว่า เชื้อไวรัสฯ ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม คือ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอันน่าสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อลักษณะของไวรัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต ทว่าหลักฐานทางระบาดวิทยายังไม่ชัดเจน จึงต้องยกระดับการเฝ้าติดตามและประเมินซ้ำขณะรอหลักฐานใหม่

และยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจาก เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ "IHU" B.1.640 มีการกลายพันธุ์หลายจุด องค์การฯ จึงจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าติดตาม เพื่อเพิ่มความตระหนักของสาธารณชน พร้อมย้ำว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ในปัจจุบัน สามารถป้องกันเชื้อไวรัสฯ ทุกสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิต

ฉันคิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สาธารณชนจะต้องรู้ เมื่อถึงคิวคุณแล้ว ให้รับฉีดวัคซีนเลย เพราะ มันสำคัญมาก

ส่วนผู้อำนวยการแผนกภูมิคุ้มกัน วัคซีน และชีววิทยาขององค์การฯ แคทเธอรีน โอไบรอัน กล่าวว่า เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ "IHU" B.1.640 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีความชุกมากขึ้น แต่เป็นเพียงส่วนน้อยของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/hot-social/500224?adz=

 

 

8 ม.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 โอมิครอน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อ

 

ต้องยอมรับกันว่าขณะนี้ โอมิครอน ได้ระบาดอยู่ในประเทศไทย และทั่วโลก

จํานวนผู้ติดเชื้อที่รายงาน โอมิครอน จะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ในทุกประเทศ เพราะการตรวจจะเป็นการตรวจเพียงว่าเป็นเชื้อ covid19 เท่านั้น ไม่ได้แยกสายพันธุ์

การตรวจแยกสายพันธุ์ จะต้องใช้วิธีการที่จำเพาะ เพื่อแยกว่าเป็นสายพันธุ์อะไร

ในต่างประเทศบางประเทศ ที่มีการตรวจเชื้อ covid19 ด้วยวิธี RT-PCR ตรวจยีนอื่นพบแต่ตรวจยีน S ไม่พบ ก็ถือว่า น่าจะเป็น โอมิครอน เพราะ การกลายพันธุ์ในยีน S ทำให้ตรวจไม่พบ

ในประเทศไทยการตรวจหาไวรัส covid 19 เกือบทั้งหมดไม่ได้มีการตรวจยืน S ร่วมด้วย จึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

การตรวจหาสายพันธุ์จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจำเพาะ ในการตรวจ หรือถอดรหัสพันธุกรรม

ตัวเลขแต่ละประเทศที่รายงานมา เป็นการตั้งใจตรวจหาสายพันธุ์ หลายคนเมื่อดูอันดับการตรวจพบแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ ความสามารถในการตรวจของเรามีความสามารถในการตรวจอยู่ในประเทศต้นๆเช่นเดียวกัน

ดังนั้นขณะนี้ การที่บอกว่าตรวจพบ 3,000 ราย ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน เพราะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าที่ไม่ได้ตรวจ เช่นเดียวกันในเกือบทุกประเทศจะเป็นแบบนั้น

การจะบอกได้ว่าขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์ โอมิครอน มากน้อยแค่ไหนจะต้องใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 มาตรวจ แล้วดูอัตราเปอร์เซ็นต์ในการพบ โอมิครอน กับสายพันธุ์เดลต้า มากกว่า

ขณะนี้ทางศูนย์กำลังทำอยู่ แต่ความสามารถของทางศูนย์ คงทำได้เฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น อัตราการตรวจพบ โอมิครอน ที่ทำอยู่คง จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป ซึ่งขณะนี้เชื่อว่า โอมิครอน ได้เข้ามาแทนที่เดลต้าเป็นจำนวนมากแล้วน่าจะเกินร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/60250/

 

"โอไมครอน" กับ 9 คำตอบ ติดแล้วเป็นวัคซีนธรรมชาติจริงหรือ แล้วสูตรไหนสู้ได้
"จ่าพิชิต" ไขข้อข้องใจกับ 9 คำถาม-คำตอบ "โอไมครอน" ติดแล้วเป็นวัคซีนธรรมชาติจริงหรือ แล้ววัคซีนสูตรไหนสู้ได้ เช็คเลย

อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โอมิครอน (Omicron) รวมทุกคำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจ โดย นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หรือ "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แอดมินเพจดัง Drama-addict โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค รวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับ "โอไมครอน" ดังนี้

1. "โอไมครอน" เบากว่า "เดลตา" จริงหรือไม่
 

  • คำตอบ ตอนนี้ข้อมูลจากฝั่งแอฟริกาใต้ และยุโรป ค่อนข้างตรงกัน คือ ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการหนักน้อยกว่าเดลตาพอสมควร แต่มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าเดลตามาก

2. "โอไมครอน" แพร่หนักกว่า "เดลตา" ขนาดไหน 

  • คำตอบ ของเดลตานี่ติดง่ายพอ ๆ กับหัด คือ จากหนึ่งคน สามารถแพร่เชื้อไปได้ 6-8 คน แต่ "โอไมครอน" แพร่ง่ายกว่าเดลตา และน่าจะแทนที่เดลตาเป็นสายพันธ์หลักในเวลาอันใกล้ (โคตรๆ) ตอนนี้ยังไม่เห็นค่า R0 ของ "โอไมครอน" แต่น่าจะไล่ ๆ หรือมากกว่าเดลตา
     

3. ถ้า "โอไมครอน" เบากว่า แปลว่าติดแล้วไม่ตายใช่มั้ย

  • คำตอบ ก็ไม่แน่ เพราะแม้ว่าจะมีรายงานว่าผู้ป่วยส่วนมาก อาการค่อนข้างเบากว่า "โควิด" แต่ยังมีกลุ่มที่อาการหนัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตด้วย แต่เท่าที่มีรายงานส่วนมากจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ โรคประจำตัวเยอะ ดังนั้น กลุ่มนี้โปรดระวัง และรีบไปฉีดวัคซีนกันให้ไว

4. ถ้าฉีดวัคซีนจะไม่ติด "โอไมครอน" ใช่หรือไม่

  • คำตอบ ไม่ อันนี้เป็นสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเดลตาแล้ว คือตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีนอะไร ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ติดโควิดได้ละ แต่มันช่วยป้องกันไม่ให้ตายจากการป่วยหนักได้ ดังนั้นตอนนี้ การฉีดวัคซีน คือเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ  แต่ปัญหาคือ หลาย ๆ ประเทศ เจอยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่ม ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงขึ้น และอัตราการแอดมิดในกลุ่มนี้ก็สูงด้วย บ้านเราก็มีปัญหาผู้สูงอายุยังฉีดวัคซีนกันน้อยอยู่ ถ้าไม่เร่งฉีดเพิ่ม กลุ่มนี้อาจป่วยหนักจากระลอกนี้ได้

5. แล้วฉีดวัคซีนสูตรไหนถึงจะกันมันได้

  • คำตอบ ตอนนี้ที่มีข้อมูลออกมาจะเป็นสูตรที่ฉีด mRNA วัคซีน ครบ 2 โดส แล้วบูทส์เตอร์โดส 3 จึงจะมีภูมิเพียงพอในการป้องกัน "โอไมครอน" ได้ ดังนั้น ไปฉีดบูทสเตอร์เป็น mRNA กันด่วน ๆ และไม่ว่าจะฉีดสูตรอะไรมา ไปฉีด mRNA ครับ ไม่ต้องกลัวพวกเฟคนิวส์มรณาบ้าบออะไรนั่นแล้ว

6. มีข่าวว่า คนที่ติด "โอไมครอน" แล้ว หลังหายจะมีภูมิสูงมากเหมือนได้รับวัคซีนจากธรรมชาติจริงหรือไม่ จะได้วิ่งแก้ผ้าไปหาผู้ติดเชื้อ

  • คำตอบ อย่าวิ่งแก้ผ้าไปหาผู้ติดเชื้อเด็ดขาด ไม่ต้องไปกระสันต์อยากติดเชื้อขนาดนั้น คือมันมีงานวิจัยว่า ในกลุ่มคนที่เคยฉีดวัคซีน และได้รับบูทสเตอร์แล้ว กลุ่มนี้ถ้าเกิดติด "โอไมครอน" หลังจากนั้น จะมีการกระตุ้นภูมิให้สูงมาก ๆ แต่ข้อมูลนี้ เฉพาะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและบูทสเตอร์แล้วเท่านั้น ดังนั้น ไปฉีดวัคซีนและบูทสเตอร์กันนะครับ

7.ชุดตรวจ ATK สามารถตรวจเจอ "โอไมครอน" ได้หรือไม่

  • คำตอบ อันนี้มีงานวิจัยจาก ศูนย์โรคไวรัสอุบัติใหม่เจนีวา เขาไปทดสอบประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ในการตรวจผู้ติดเชื้อโอไมครอน เบื้องต้นพบว่า ตรวจได้แต่ความไวของบางตัวก็ลดลง ดูเพิ่มเติมได้ในข่าวนี้

8. แล้วการที่มันติดง่ายมากแต่อาการไม่หนักมากนี่ จะส่งผลยังไงกับสถานการณ์ในบ้านเรา

  • คำตอบ อันนี้อยู่ที่แนวทางการแก้ไขสถานการณ์ ยกตัวอย่างที่แอฟริกาใต้ ที่นั่นมีเคสโอไมครอนเยอะ เขาก็ใช้วิธี ตรวจที่โรงพยาบาลอาการไม่หนัก หรือไม่มีอาการ ก็ให้กลับบ้านไปนอนดูอาการ พักผ่อน กินน้ำ กินข้าว แล้วนัดมาดูอาการ จนหาย ถ้าอาการแย่ลงก็แอดมิด ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดความแน่นของเตียงในโรงพยาบาล ลดการใช้ทรัพยากรลงได้ ช่วยให้ผู้ป่วยรายอื่น ๆ ทั้งจากโควิด และไม่ใช่โควิด เข้าถึงการรักษา แต่ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ตามแบบแอฟริกาไม่ได้ แอดมิดเต็มพรืดไปหมด สถานการณ์ก็อาจจะคล้าย ๆ ช่วงกลางปีที่แล้ว ดังนั้น ตอนนี้คือวัดกึ๋นคนบริหารงานอย่างเดียวเลยครับ ถ้าบริหารจัดการทรัพยากรทางสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เคสเขียว เคสแดง เคสเหลือง ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค ใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า และเหลือใช้กับเคสที่หนัก ๆ เราก็จะรอด ถ้ามั่วซั่วก็บรรลัยครับ

9. แล้ววิธีป้องกันแตกต่างจากเดลตามั้ย

  • คำตอบ เหมือนกันทุกประการครับ เรื่องหน้ากาก ก็ใส่ตามปกติ คือออกนอกบ้าน ให้ใส่หน้ากากอนามัยชั้นนึง ทับด้วยหน้ากากผ้าอีกชั้นนึง ใส่ให้ถูกวิธี นอกจากจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สมมุติซวยติดเชื้อขึ้นมา หน้ากาก ก็จะช่วยลดจำนวนไวรัสที่ร่างกายเราจะได้รับ จากพวกละอองฝอยน้ำลายไปเยอะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยหนักได้ระดับนึง

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี ยอดผู้ติดเชื้อน่าจะไต่ขึ้นไปสูงสุดแถว ๆ 2-3 สัปดาห์หลังปีใหม่ สถานการณ์เป็นไงต้องติดตามกันไปยาว ๆ จนกว่าจะถึงตอนนั้นครับ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/499787?adz=

พบเชื้อโควิดในแอร์! สธ.เผยคลัสเตอร์ นศ.ปาร์ตี้ในร้านอาหารกึ่งผับ ติดเชื้อ 52 ราย
S! News (Exclusive)

สนับสนุนเนื้อหา

สธ. เผยคลัสเตอร์นักศึกษามหาวิทยาลัยใน กทม. ติดเชื้อ 52 ราย ปาร์ตี้ในร้านอาหารกึ่งผับ พบเชื้อโควิด-19 ในแอร์

วันนี้ (29 ธ.ค.) นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า พบอีกคลัสเตอร์คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. โดยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อ 52 ราย มีประวัติรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารกึ่งผับ "ร้าน A" ช่วงวันที่ 8-14 ธ.ค.

ปัจจัยเสี่ยงในร้านเป็นห้องปรับอากาศถ่ายเทไม่ดี จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ตรวจพบเชื้อโควิดอยู่ในเครื่องปรับอากาศ จากการเก็บตัวอย่าง จำนวน 2 เครื่อง และช่วงเวลาทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน 

ดังนั้นขอให้ใช้เวลารับประทานอาหารให้น้อยที่สุด ช่วงที่ไม่รับประทานอาหารให้สวมหน้ากาก ซึ่งหากทุกคนใส่หน้ากากจะลดเสี่ยงการติดเชื้อมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากชนิดใด สิ่งสำคัญคือต้องใส่ให้ถูกต้อง

ข้อมูลจาก https://www.sanook.com/news/8496038/

 
"โควิด19" เจอกลายพันธุ์อีก 1 ตัว ชื่อ B.1640.1 พบระบาดในแถบประเทศแคเมอรูน 

"โควิด19" ดร.อนันต์เผยเจอกลายพันธุ์เพิ่มอีก 1 ตัว ชื่อว่า B.1640.1 แถบประเทศแคเมอรูนพบนานกว่า 2 เดือน กลายพันธุ์ 46 ตำแหน่ง แนวโน้มไม่รุนแรงถูก "โอไมครอน" กลืน

อัปเดตสถานการ์การระบาดของ "โควิด19" ในประเทศไทยและต่างประเทศร่วมทั้งการระบาดของ "โอไมครอน"  โดยล่าสุด  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   โพสต์ระบุข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยระบุว่า 

ข่าวแรกของปีคือการพบไวรัสโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ที่คลัสเตอร์เล็กๆในฝรั่งเศส ชื่อว่า B.1640.1 เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแคเมอรูนจากผู้ป่วยรายแรก ไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ทั้งหมด 46 ตำแหน่ง และมีส่วนที่ขาดหายไปของเบส (deletion) 37 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีกรดอะมิโนเปลี่ยนไปจากเดิม 30 ตำแหน่ง และ หายไป 12 ตำแหน่ง
ถ้าพิจารณาเฉพาะกรดอะมิโนบนโปรตีนหนามสไปค์ พบว่ามี 14 ตำแหน่งที่เปลี่ยน และ 9 ตำแหน่งที่หายไป โดยตำแหน่งสำคัญที่พบรวมไปถึง N501Y และ E484K ด้วย การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไปคาดว่าจะมีผลเรื่องการหนีภูมิคุ้มกันได้คล้ายๆกับโอมิครอน

"โควิด19" เจอกลายพันธุ์อีก 1 ตัว ชื่อ B.1640.1 พบระบาดในแถบประเทศแคเมอรูน

 

แต่...ขอจบด้วยข่าวดีรับปีใหม่ว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้คาดว่ามีแนวโน้มจะถูกกลืนด้วยโอมิครอน เพราะ ข้อมูลในฝรั่งเศสพบไวรัสสายพันธุ์นี้มาเกือบ 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้มีการพบการระบาดในประเทศมากขึ้นต่อจากคลัสเตอร์แรกที่พบ ซึ่งเมื่อเจอโอมิครอนที่วิ่งไวกว่า หนีภูมิอาจจะดีกว่า โอกาสของการกระจายตัวของไวรัสสายพันธุ์นี้ดูเหมือนน้อยลงไปด้วยครับ...ยังไงก็ดี ข่าวนี้ทำให้เราเห็นว่าไวรัสแปลกๆพร้อมแสดงตัวได้ตลอดเวลาครับ

ที่มา
https://www.medrxiv.org/.../2021.12.24.21268174v1.full...

 
 
 

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 2,305 ราย เสียชีวิต 32 ราย “หมอยง” ชี้หลังปีใหม่โควิดระลอก 5 มาแน่ เหตุเชื้อโอมิครอนติดต่อได้ง่าย ไม่เกิน 1-2 เดือนแพร่ทั่วโลกแทนที่เดลตา บอกช่องโหว่ T&G คนประมาทตรวจไม่เจอเชื้อเที่ยวต่อส่งผลแพร่กระจายเร็ว แนะรีบฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพิ่มภูมิคุ้มกัน "สธ." ขอทุกหน่วยหลังปีใหม่จัด WFH "ครม." อนุมัติกรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท ให้ สปสช.จัดระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 65 "มหาสารคาม" ผวา! โอมิครอนจากกาฬสินธุ์เข้ามาติดในจังหวัดแล้ว 21 ราย

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,305 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 2,156 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 2,116 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 40​ ราย ในเรือนจำ 54​ ราย จากต่างประเทศ 95 ราย​ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,214,712 ราย​ หายป่วยเพิ่ม 3,070 ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,159,443 ราย​ อยู่ระหว่างการรักษา 33,639 ราย อาการหนัก 717 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 176 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย เป็นชาย 13 ​ราย หญิง 19​ ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 26 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย เสียชีวิตมากที่สุด ที่ กทม.และราชบุรี จังหวัดละ 5 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 21,630 ราย จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 392 ราย, ชลบุรี 214 ราย, นครศรีธรรมราช 143 ราย, สมุทรปราการ 76 ราย, เชียงใหม่ 67 ราย, กาฬสินธุ์ 54 ราย, ตรัง 52 ราย, นครราชสีมา 49 ราย, พัทลุง 48 ราย และอุบลราชธานี 44 ราย

ยอดฉีดวัคซีนเพิ่มเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 293,316 โดส ทำให้มียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 102,975,259 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 281,822,609 ราย เสียชีวิตสะสม 5,422,564 คน

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยายออนไลน์ถึงสถานการณ์โอมิครอนและการกระตุ้นเข็ม 3 ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศมีการระบาดรวม 4 ระลอกแล้ว ปี 2564 เจอทั้งสายพันธุ์จี, แอลฟา, เดลตา และสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดโอมิครอนจากรายงานของ GISAID พบจำนวนรหัสพันธุกรรมของโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าไม่เกิน 1-2 เดือน โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะเข้ามาแทนที่เดลตาแน่นอน เพราะติดต่อได้ง่ายกว่าเดลตา

"เดิมโอมิครอนมีจุดกำเนิดที่แอฟริกา แต่ตอนนี้กระจายไปครึ่งโลก เนื่องจากยุโรปและอเมริกาเป็นแหล่งกระจายโรคได้ดี และเมื่อตรวจดูสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่มีถึง 3 สายพันธุ์ BA1, BA2 และ BA3 พบการระบาดขณะนี้ยังเป็นโอมิครอน BA1 โดยที่ศูนย์เชี่ยวชาญฯ ได้ตรวจวินิจฉัยโอมิครอน จากตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจ 96 คน พบเป็นโอมิครอน 40-50 คน แสดงว่าเชื้อโอมิครอนแพร่ได้รวดเร็ว ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 และ 4 แทบแยกจากกันไม่ออก แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ 2565 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดในระลอก 5 ขึ้นแน่ หากเราไม่ช่วยกัน" ศ.นพ.ยงกล่าว

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโอมิครอนใช้การถอดรหัสพันธุกรรมและเทคนิคการตรวจที่รวดเร็วภายใน 4 ชั่วโมง เตรียมถ่ายวิธีการตรวจให้กับสถานพยาบาลอื่น ซึ่งการตรวจเทคนิคนี้ด้วย RT-PCR ทราบผลใน 4 ชั่วโมง พร้อมสาเหตุที่โอมิครอนหลุดออกจากระบบ T&G นั้น ถือว่ามีมากกว่าระบบอื่น โดยยกตัวอย่างกรณีสามีชาวฝรั่งเศสและภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยเดินทางเข้าไทย ตรวจต้นทาง RT-PCR ไม่พบ ตรวจเมื่อเข้าไทยซ้ำ RT-PCR 24 ชั่วโมงก็ไม่พบ หลังไม่พบไปจิบไวน์กับเพื่อนที่บาร์ 11 คน จากนั้นไม่นานมี 1 คน ไม่สบายนอนโรงพยาบาล ตรวจพบโอมิครอน สันนิษฐานติดจากสามีภรรยา และจากนั้นเพื่อนทั้งหมดก็ติดโอมิครอน

"เชื่อว่าสามีภรรยานี้ติดเชื้อมาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเคสครอบครัวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลูกสาวติดโอมิครอนกักตัว แต่พ่อแม่และน้องชายไม่ติด ไม่กักตัว แต่เชื่ออีก 2-3 วันก็ติด ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง 3 คนก็ไปทำกิจกรรมอื่นก็เท่ากับมีการแพร่เชื้อในสังคม จะเห็นว่าขบวนการ T&G ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้เลย" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า คนที่ติดโอมิครอนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม และไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ชนิดไหน แต่อัตราการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าเดลตา แสดงว่ารุนแรงน้อยกว่า แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดว่าที่โรคมีความรุนแรงน้อยลง เพราะเชื้อหรือเพราะคนรับวัคซีน แต่ที่แน่นอนเชื้อไวรัสโอมิครอนชอบเยื่อบุคอมากกว่าปอด ดังนั้นเมื่อมีโอมิครอนเข้ามาจึงจำเป็นต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 โดยไม่ต้องรอให้ครบ 6 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะสูงใน 3 เดือนแรก และจากนั้นเดือนที่ 5 ภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4-5 ก็จะเริ่มลดลง อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อของเชื้อโอมิครอนที่แพร่เร็ว และหากรอนานไว้แม้ภูมิคุ้มกันสูง และก็เสี่ยงติดเชื้อ จึงต้องร่นระยะเวลาการรับวัคซีนให้เร็วขึ้นเป็น 3 เดือนขึ้นไป

"การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในกลุ่มวัคซีนเชื้อตาย พบว่าภูมิขึ้น 10 เท่า แต่ถ้าเป็นไวรัสเวกเตอร์ภูมิขึ้น 100 เท่า และหากเป็น mRNA ภูมิคุ้มกันจะขึ้น 200 เท่า ทั้งไวรัสเวกเตอร์และ mRNA ให้ภูมิสูงต่อสู้โอมิครอนได้ แต่ภูมิที่ขึ้นเร็วก็ลงเร็วเป็นธรรมดา โดยการศึกษาพบว่าใน mRNA ไม่ว่าจะรับครึ่งโดส หรือเต็มโดส ภูมิขึ้นและต้องลงเป็นเรื่องปกติร่างกาย ไม่มีความแตกต่าง ขณะนี้ทางศูนย์กำลังวิจัยเรื่องวัคซีนเข็ม 3 ทุกชนิดต่อโอมิครอน" ศ.นพ.ยงกล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการเตรียมพร้อมประชาชนเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลปีใหม่ว่า ผู้ที่รับผิดชอบสถานการณ์แนะนำถ้าเป็นไปได้ขอให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงานพิจารณาการเวิร์กฟอร์มโฮม หรือพิจารณาบริหารจัดคนมาทำงานเป็นชุดๆ ไป อย่ามาทำพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งตนก็เห็นว่าดี มีเหตุผล เพราะเมื่อเราเดินทางมาจากภูมิลำเนาก็ควรมาเฝ้าสังเกตอาการของตัวเอง ถ้าทุกคนทำได้แบบนี้ก็จะมีความปลอดภัย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 4 ม.ค.2565 เราจะนำมาตรการมาประเมินอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าช่วงเทศกาลปีใหม่เราจะหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนได้ยากขึ้น ดังนั้นหลังเทศกาลปีใหม่หากใช้มาตรการทำงานที่บ้านก็จะลดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนของข้าราชการ เราจะมีการให้เวิร์กฟรอมโฮมมากที่สุด ในส่วนของภาคเอกชนเราได้ขอความร่วมมือไปแล้ว ถ้าช่วยปฏิบัติตามก็จะเป็นประโยชน์

"หลังเทศกาลปีใหม่ไม่เกิน 2 สัปดาห์เราจะทราบตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะพบตัวเลขฉากทัศน์ที่เกิดขึ้น หากเราร่วมด้วยช่วยกันดี หลังปีใหม่ประมาณ 10 วัน ตัวเลขไม่ก้าวกระโดด มาตรการก็จะเบาลง" รมช.สธ.กล่าว

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท สำหรับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ

มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนว่าแพร่ระบาดได้รวดเร็วแต่ไม่รุนแรงตามที่ สธ.รายงาน ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า สำหรับกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น ขณะนี้มีได้มีการปรับรูปแบบเป็นการสวดมนต์ข้ามปีทางออนไลน์หมดแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของ สธ.

จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าฯ มหาสารคาม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ครั้งที่ 42/2564 หลังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น แจ้งพบสายพันธุ์โอมิครอน 21 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีประวัติเคยเดินทางไปสังสรรค์ในพื้นที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น โดยบางส่วนเข้าไปสังสรรค์ในสถานบริการ พื้นที่ อ.เมืองฯ และ อ.กันทรวิชัย ซึ่งจังหวังมหาสารคามได้สั่งการให้สถานบริการที่พบผู้ติดเชื้อปิดทำความสะอาดและควบคุมเชื้อโรคติดต่อเป็นเวลา 7 วัน ขอให้ประชาชนที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือผู้ที่ไปใช้บริการสถานประกอบการต่างๆ.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/54584/