เจออีก "สมองเสื่อมถอย" อาการหลังติดโควิด 1-6 เดือน ความจำสั้น มึน ไม่จดจ่อ
 

เจอไม่จบ สธ. พบอาการ "สมองเสื่อมถอย" หลังติดเชื้อโควิด 1-6 เดือน ทั้งความจำสั้น ตื้อ มึนงง ไม่จดจ่อ ส่งผลเสียระยะยาว

"สมองเสื่อมถอย" เจออีกอาการใหม่หลังติดโควิด-19 โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยบางราย ได้รับผลกระทบหลังติดเชื้อโควิด คือ "อาการสมองเสื่อมถอย" มักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะในการตัดสินใจ การวางแผน และความจำระยะสั้น โดยจะมีอาการรู้สึกสมองล้า (brain fog) รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่อ
อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม ทำให้ส่งผลเสียในระยะยาวได้

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากผู้ป่วยมีโรคทางระบบประสาทและสมองอยู่เดิม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 แบบเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง จะทำให้มีภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล มีอาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย

อย่างไรก็ดี อาการสามารถดีขึ้นเองได้เมื่อเวลาผ่านไป การดูแลตนเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารดีและมีประโยชน์ โดยเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกสมาธิ หรืองานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย จะช่วยให้สมองและระบบประสาทฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติได้เร็วและดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นเข้าข่ายภาวะ Long COVID ซึ่งเป็นภาวะ หรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน อาการที่พบบ่อยที่สุด มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลระยะยาวตั้งแต่หลายสัปดาห์ จนถึงหลายเดือน หลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ 

  • เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • สมาธิสั้น
  • ผมร่วง
  • หายใจลำบาก
  • หายใจไม่อิ่ม
  • การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจถี่
  • ปวดตามข้อ
  • ไอ
  • ท้องร่วง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีภาวะสมองล้า
  • นอนไม่หลับ
  • ความดันโลหิตสูง
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง  (Post-Traumatic Stress Disorder)

ทั้งนี้ สามารถพบอาการของ Long COVID ในผู้ป่วยนอก 35 % และผู้ป่วยใน  87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/503840?adz=

 
"ไฟเซอร์" ฉีดเด็ก 6 เดือน 2 เข็มแรก เห็นผล รอเก็บข้อมูลเข็ม 3 พิชิต "โอไมครอน"
 
 
 

ความหวังปิดเกม "โอไมครอน" หมอเฉลิมชัย เผยข้อมูล "ไฟเซอร์" ฉีดเด็ก 6 เดือนขึ้นไป 2 เข็มแรก เห็นผล รอเก็บข้อมูลเข็ม 3 เตรียมยื่นขออนุมัติฉีด ก.พ.65

วัคซีน "ไฟเซอร์" อัปเดตการ "ฉีดวัคซีน" ในเด็ก กับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" (Omicron) โดยล่าสุด กลุ่มเด็ก อายุ 5 - 11 ปี เริ่มได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็น "วัคซีนไฟเซอร์" แล้ว ตามความสมัครใจ แต่ก็ยังมีผู้ปกครองหลายคน เกิดความกังวลใจ ถึงความเสี่ยงที่จะได้รับ หลังการฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ถึงแม้จะมีข้อมูลว่า การ "ฉีดวัคซีน" จะช่วยลดอัตราการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ 

ล่าสุด "หมอเฉลิมชัย" นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า "Pfizer" เตรียมยื่นขออนุมัติฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป คาดมีผลปลายกุมภาพันธ์ 2565 นี้ Pfizer ซึ่งได้ร่วมผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับบริษัทเยอรมัน (BioNTech) ด้วยเทคโนโลยี mRNA และจดทะเบียนเป็นบริษัทแรกในโลก สำหรับฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ในผู้อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปนั้น 

 

ต่อมา บริษัทได้ยื่นขออนุมัติฉีดในเด็กอายุ 12-15 ปี ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยขนาดเดียวกับผู้ใหญ่ คือ 30 ไมโครกรัม ตามมาด้วยการยื่นขออนุมัติฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี ด้วยขนาด 10 ไมโครกรัม และประเทศไทย อย.ก็อนุมัติให้ฉีดให้เด็ก 5-11 ปีได้แล้วเช่นกัน

ข่าวล่าสุด ทางบริษัท Pfizer เตรียมเอกสารจะยื่นขออนุมัติฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยคาดว่าอาจจะได้รับการอนุมัติภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ด้วยขนาด 3 ไมโครกรัม โดยที่ข้อมูลเบื้องต้น ใน 2 เข็มแรก ได้ผลดีในเด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ และได้ผลไม่ดีนักในอายุ 2-5 ขวบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทกำลังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเข็มที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะได้ผลดี คงต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป เพราะถ้า วัคซีน Pfizer สามารถฉีดในเด็ก
อายุ 6 เดือนขึ้นไปได้ และ วัคซีน Sinovac สามารถฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปได้ ก็จะเป็นการควบคุมการระบาดของ "โอมิครอน" ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ น่าจะทำให้การติดโควิด-19 ในระดับโลก มีสถิติลดลงอย่างมีนัยสำคัญต่อไป

"ไฟเซอร์" ฉีดเด็ก 6 เดือน 2 เข็มแรก เห็นผล รอเก็บข้อมูลเข็ม 3 พิชิต "โอไมครอน"

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/503751?adz=

 

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" เช็คชัด ๆ มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร สรุปมาให้แล้ว
 
 

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ทางเลือกใหม่วัคซีนต้านโควิด-19 เช็คชัด ๆ มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร ประสิทธิภาพเท่าเข้ากล้ามหรือไม่ สรุปมาให้แล้ว

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" ข้อดี-ข้อเสีย หลังจากที่ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีมติเห็นชอบ การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง รวมทั้งล่าสุด ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้เพิ่มทางเลือกในการฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" วัคซีนเข็ม 3 วัคซีนเข็ม 4 ด้วยการ "ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง" ด้วย "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวบรวมข้อดี และ ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง เพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

"หมอดื้อ" นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังมาโดยตลอด โดยระบุว่า การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับนั้น คือการที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด

ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันยืนยันกันแล้วว่า ต้องสามารถฉีดให้ได้ 90% ของคนในพื้นที่ หรือในประเทศภายในระยะเวลาอันสั้น นั่นคือไม่เกินสามเดือน ทั้งนี้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไวรัสมีการแพร่เป็นลูกโซ่ออกไปต่อ ซึ่งในระหว่างการแพร่นั้น จะมีการพัฒนาตนเองให้เก่งกาจมากขึ้น ทั้งในการติดง่าย ซึ่งหมายถึงหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตามธรรมชาติ และดื้อต่อภูมิที่ได้จากวัคซีน และยังรวมทั้งดื้อต่อภูมิที่ได้จากการติดเชื้อ ที่เกิดขึ้นมาก่อน และทำให้อาการหนัก ตายมากขึ้น

 

ประโยชน์ที่สำคัญคือในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน 

  1. การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก ดังนั้น การกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า 
  2. ยังสามารถอธิบายได้จากการที่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น กลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1 และสาย Th1 นี้เอง ที่เป็นขั้นตอนกระบวนการของโควิด ที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจากเม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล และต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตัน หรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบ ที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)
  3. ทั้งนี้เราทุกคนต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้น คือร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเองและส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อย รวมทั้ง 17 เป็นตัน รวมทั้งกระตุ้นการสร้างภูมิที่กลายเป็นตัวไวรัสจำแลง anti-idiotypic antibody

ผลข้างเคียงที่พบจากการ "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง"

  • การฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดง หรือคัน โดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัวปวดเมื่อย และอาการร้ายแรงอื่น ๆ ไม่ปรากฏ หรือน้อยมาก
  • ประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

สรุปประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง


จากผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของค่าภูมิคุ้มกันหลังฉีด 2 สัปดาห์นั้น สูงถึง 17,662.3 AU/ml เลยทีเดียว และปฏิกิริยาทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นก็น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออีกด้วย

นอกจากนี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ได้ออกมาโพสต์เกี่ยวกับการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 30 คน โดยทีมนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ ทดสอบการฉีด Moderna Vaccine ใหม่ โดยแทนที่จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection: IM) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 
(Intradermal Injection: ID) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์แทน จากนั้น ได้ทำการวัดระดับแอนติบอดี้ เมื่อฉีดครบ 2 สัปดาห์แล้ว พบว่า ระดับ anti-spike และ anti-RBD สูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ผลข้างเคียงแทบไม่ต่างกันเลย

สอดรับกับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้กล่าวถึงผลการวิจัยภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย จากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเป็นการวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยฉีด "วัคซีนเข็ม 3" หรือบูสเตอร์โดส ให้กับอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้ว 4 – 8 สัปดาห์ และ 8 – 12 สัปดาห์ ซึ่งเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หลังจากนั้น 14 วัน ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจผลข้างเคียงและการเกิดภูมิคุ้มกัน พบว่า 

  • เกิดอาการเฉพาะที่หรือจุดที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น อาการปวด บวม แดง คลำแล้วเป็นไต
  • อาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย น้อยลง เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 
  • การตอบสนองภูมิคุ้มกัน สำหรับส่วนของภูมิทั่วไป พบว่า หากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในภาพรวมจะมีภูมิขึ้นมาประมาณหนึ่ง แต่หากฉีดกระตุ้นไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นผิวหนัง และไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 4 – 8 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย พบว่าเกิดภูมิเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงใกล้เคียงกัน

ขณะที่การยับยั้งโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา พบว่า หากฉีด 2 แบบเปรียบเทียบกัน ได้ผลไม่แตกแต่งกันมาก ดังนั้น ยืนยันว่า การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังสามารถจัดการสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/503765?adz=

'หมอธีระ' ยกงานต่างประเทศ บอกโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ติดเร็วกว่าสายพันธุ์ธรรมดา ชี้วัคซีน mRNA ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่ฉีดดีกว่าไม่ฉีด

26 ม.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ประจำวันที่ 26 มกราคม 2565 ว่าทะลุ 358 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,001,336 คน ตายเพิ่ม 8,416 คน รวมแล้วติดไปรวม 358,670,890 คน เสียชีวิตรวม 5,631,996 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อเมริกา อินเดีย อิตาลี และบราซิล จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.8

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.31 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 43.13 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต 2 เรื่องน่ารู้
1. Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 ข้อมูลจาก Prof.Moritz Gerstung จาก German Cancer Research Center
พบว่าจำนวนคนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของเยอรมนี เป็น BA.2 มากกว่าเดลตา (5% vs 2-3%) หากเทียบอัตราการขยายตัวของการระบาดแต่ละสายพันธุ์ จะพบว่า Omicron BA.1 (สายพันธุ์แรก) จะเร็วกว่าเดลตาราว 15% แต่ Omicron สายพันธุ์ BA.2 นี้จะเร็วกว่าเดลตาราว 20% ตอนนี้เมืองที่มี BA.2 มากสุดคือ กรุงเบอร์ลิน มีสัดส่วนของ BA.2 ถึง 30%

2.อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจาก mRNA vaccines
Oster ME และคณะ ได้ตีพิมพ์การศึกษาติดตามผลหลังฉีดวัคซีน mRNA (Pfizer/Biontech: BNT162b2 และ Moderna mRNA-1273) ในวารสารวิชาการแพทย์สากล JAMA วันที่ 25 มกราคม 2565 ตั้งแต่ธันวาคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป จำนวน 192 ,405 ,448 คน ได้รับวัคซีนไป 354 ,100 ,845 โดส มีรายงานจำนวนคนที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทั้งหมด 1,626 คน อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น พบมากในช่วงอายุ 12-15 ปี (70.7 รายต่อการฉีด BNT162b2 จำนวน 1 ล้านโดส) โดยสูงสุดในวัยรุ่นเพศชายอายุ 16-17 ปี (105.9 รายต่อการฉีด BNT162b2 จำนวน 1 ล้านโดส) และในผู้ชายอายุ 18-24 ปี (52.4 รายต่อการฉีด BNT162b2 จำนวน 1 ล้านโดส และ 56.3 รายต่อการฉีด mRNA-1273 จำนวน 1 ล้านโดส) ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ได้รับการดูแลรักษาจนหายดี โดยมักใช้ยาต้านการอักเสบ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDS)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีนนั้นมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะหากมีการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเกิดความเสี่ยงต่อการป่วยและการเสียชีวิต รวมถึงผลแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากกว่า

อ้างอิง
Oster ME et al. Myocarditis Cases Reported After mRNA-Based COVID-19 Vaccination in the US From December 2020 to August 2021. JAMA. 2022;327(4):331-340.

 

 

25 ม.ค.2565 - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ติดตามสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ในประเทศ และ ติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีการตรวจการกลายพันธุ์ (SNP genotyping assay, Targeted sequencing, Whole genome sequencing) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งพบสายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทย (Variant of Concerns; VOC) ได้แก่ อัลฟ่า​ (อังกฤษ)​ เบต้า​ (แอฟริกาใต้)​ เดลต้า​ (อินเดีย)​ จนกระทั่งพบสายพันธุ์โอมิครอน รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2564 โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอมิครอน โดยในช่วงแรกประเทศไทยยังคงพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประมาณสามสัปดาห์ต่อมาเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบในคลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.. 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย

 
 

“ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/72417/

 

"วัคซีนเข็ม 3" สูตรไขว้ หลังฉีดเชื้อตาย 2 เข็มแรก "หมอเฉลิมชัย" เผยผลวิจัยเห็นพ้อง ให้ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงมาก

อัปเดต "วัคซีนโควิด" น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ "หมอเฉลิมชัย" รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ค Chalermchai Boonyaleepun ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สูตรไขว้ ได้ผลดีมาก ยืนยันจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford ที่บราซิล บราซิลเป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิด และมีเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรง และการดื้อต่อวัคซีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง จึงเป็นประเทศที่วัคซีนหลายชนิด ได้ไปทำการทดลองและวิจัย เช่น วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ AstraZeneca และวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac เป็นต้น

โดยการวิจัยในช่วงแรกพบว่า การฉีดวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac 2 เข็ม ให้ประสิทธิผลในการป้องกันที่แตกต่างกันใน 3 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี 83.5% ชิลี 65.9% และบราซิล 50.7% ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากชนิดไวรัสที่ดื้อต่อวัคซีนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่เมื่อดูเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล ในบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 83.7% และชิลีเพิ่มขึ้นเป็น 87.5% 

"วัคซีนเข็ม 3" สูตรไขว้ หลังเชื้อตาย 2 เข็ม ผลวิจัยเห็นพ้อง กระตุ้นภูมิสูงมาก

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ก็มีผลการวิจัยอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่พบระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนของวัคซีน mRNA และไวรัสเป็นพาหะที่สูงมากกว่าวัคซีนเชื้อตาย ประกอบกับมีข้อมูลการศึกษาจากประเทศไทยที่พบว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ (Heterologous) โดยเริ่มต้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ หรือ mRNA ได้ผลดีมาก จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขบราซิลสนับสนุนทุนวิจัย และให้นักวิจัยร่วมกันศึกษาระหว่างทีมของมหาวิทยาลัย Oxford กับของบราซิลเอง ได้ทำการศึกษาวิจัยวัคซีนสูตรไขว้ในทำนองเดียวกับประเทศไทย แต่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ 1,250 ราย และล่าสุด ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับโลก คือ Lancet แล้ว โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่ม  ในแต่ละกลุ่มจะถูกกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนที่แตกต่างกัน ได้แก่

  1. วัคซีนเชื้อตายของ Sinovac 
  2. วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ AstraZeneca 
  3. วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ Johnson 
  4. วัคซีน mRNA ของ Pfizer 

นพ.เฉลิมชัย ระบุว่า การทดลองนี้ ทดลองทั้งในกลุ่มอาสาสมัครที่อายุ 18-60 ปี และกลุ่มที่มากกว่า 60 ปีขึ้นไป เบื้องต้นตรวจพบว่า ภูมิคุ้มกันที่ 6 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยในกลุ่มอายุ 18-60 ปี ระดับภูมิคุ้มกันที่ตรวจพบได้ เหลือ 20.4% ในขณะที่กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี เหลือ 8.9% เมื่อฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว พบว่า วัคซีนทุกเทคโนโลยีจากทั้ง 4 บริษัท สามารถกระตุ้นได้ดี ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเพียง 2 เข็ม โดยกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac จะขึ้นสูงไป 12 เท่า ในขณะที่ฉีดด้วยไวรัสเป็นพาหะของ Johnson & Johnson เพิ่มขึ้น 77 เท่า ของ AstraZeneca เพิ่มขึ้น 90 เท่า ของ Pfizer เพิ่มขึ้น 152 เท่า

โดยเป็นการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อส่วนหนาม ทั้งแบบระดับภูมิคุ้มกันปกติ และภูมิคุ้มกันชนิดต่อต้านทำลายล้าง(NAb) ส่วนจุดเด่นของวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 คือ สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามได้ ในขณะที่วัคซีนอีก 3 ชนิด ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันดังกล่าวได้ งานวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นการยืนยันว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้เข็ม 3 ตามหลังวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรก ให้ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงมาก จะเป็นประโยชน์กับประเทศรายได้น้อย และปานกลาง ที่นำร่องด้วยการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรกว่า เมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนเทคโนโลยีอื่น จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงมาก และเป็นประโยชน์ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/502668?adz=

 
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาพูดถึงการระบาดใหญ่ว่าจะไม่สิ้นสุด เนื่องจากการติดเชื้อในระดับสูงทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สายพันธุ์ใหม่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ แม้ว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) จะเริ่มดีขึ้นในบางประเทศ

“เราได้ยินหลายคนพูดว่า โอมิครอนเป็นสายพันธุ์สุดท้ายของ COVID-19 ซึ่งนั่นไม่จริง เพราะเชื้อไวรัสนี้แพร่กระจายและหมุนเวียนในระดับที่รุนแรงมากไปทั่วโลก” มาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้าน COVID-19 ของ WHO กล่าว

การติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 20% ทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานผู้ป่วยทั้งหมดเกือบ 19 ล้านรายตามรายงานของ WHO แต่ มาเรีย แวน เคอร์คอฟ ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีการติดเชื้อใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในรายงาน ทำให้จำนวนจริงสูงขึ้นมากกว่าที่คาด

“การแพร่เชื้อในระดับสูงทำให้ไวรัสมีโอกาสแพร่พันธุ์และกลายพันธุ์มากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่รูปแบบใหม่จะเกิดขึ้น” ดร.บรูซ เอิลเวิร์ด เจ้าหน้าที่อาวุโสของ WHO เตือน

CHINA test covid-19

มาเรีย แวน เคอร์คอฟ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม เธอเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ เสริมความแข็งแกร่งให้กับมาตรการเหล่านั้นเพื่อควบคุมไวรัสให้ดีขึ้น และป้องกันคลื่นการติดเชื้อในอนาคต เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น

“ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ เราจะก้าวไปสู่วิกฤตครั้งต่อไป และเราจำเป็นต้องยุติวิกฤตที่เราอยู่ในขณะนี้และเราสามารถทำได้ในขณะนี้ ดังนั้นอย่าละทิ้งกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลที่ปกป้องเราและคนที่เรารักให้ปลอดภัย” เธอกล่าว

ดร.แอนโธนี เฟาซี กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าโอมิครอนจะเป็นเวฟสุดท้ายของการระบาดใหญ่หรือไม่

“ผมหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่มันจะเป็นอย่างนั้นก็ต่อเมื่อเราไม่พบตัวแปรอื่นที่หลีกเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของตัวแปรก่อนหน้า” เฟาซี กล่าว

ทั้งนี้ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรย์ซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การติดเชื้อรายใหม่กำลังพุ่งถึงจุดสูงสุดในบางประเทศ สร้างความหวังว่าเวฟโอมิครอนที่เลวร้ายที่สุดจะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสุขภาพยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเวฟการระบาดดังกล่าว

“ฉันขอให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เพื่อที่คุณจะได้ช่วยลดแรงกดดันจากระบบ นี่ไม่ใช่เวลายอมแพ้”

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเตือนซ้ำ ๆ ว่า การกระจายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกทำให้อัตราการสร้างภูมิคุ้มกันต่ำในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประชากรจำนวนมากเสี่ยงต่อการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายให้ทุกประเทศฉีดวัคซีน 40% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตาม 92 ประเทศไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าวตามข้อมูลของ WHO

ข้อมูลจาก https://positioningmag.com/1370888

"โอไมครอน" ทำคนเข้า ICU พุ่ง 2 เท่า ไม่ฉีดวัคซีน แถมอายุน้อยลง-ไร้โรคประจำตัว
 
 

"หมอเฉลิมชัย" เผยข้อมูล "โอไมครอน" ในแคนาดา ทำคนเข้า ICU พุ่ง 2 เท่า ส่วนใหญ่ไม่ฉีดวัคซีน แถมอายุน้อยลง และไม่มีโรคประจำตัว

เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ค Chalermchai Boonyaleepun ระบุว่า ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิด ป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู มากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนสูงมากถึง 4-15 เท่าตัว นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงในการป่วยหนักจากโควิด เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า วัคซีนสามารถป้องกัน หรือลดการติดโควิดได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด และการลดการติดเชื้อนั้น น้อยกว่าการลดการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิต จึงมักมีคำถามอยู่เสมอว่า แล้วผู้ที่ฉีดวัคซีนจะช่วยลดการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนสักกี่เท่าตัว ผู้เขียนลองพยายามรวบรวมตัวเลขจากประเทศแคนาดา โดยเฉพาะในรัฐ Ontario พบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

"โอไมครอน" ทำคนเข้า ICU พุ่ง 2 เท่า ไม่ฉีดวัคซีน แถมอายุน้อยลง-ไร้โรคประจำตัว

 

หลังจากที่มีการระบาดของไวรัส "โอมิครอน" ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ติดเชื้อได้ง่าย แต่ติดแล้วมักจะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แคนาดาก็พบความจริงว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกที่แล้ว ซึ่งเกิดจากเดลตาเป็นจำนวนมาก แต่ที่คาดว่าจะพบผู้ป่วยหนักในไอซียูน้อยลง กลับไม่เป็นความจริง ขณะนี้โรงพยาบาลในแคนาดาหลายแห่ง เช่น Toronto General มีผู้ป่วยหนักเข้าไอซียูจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม พบผู้ป่วยที่เป็นโควิดแล้วเข้าไอซียูเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ที่น่าสนใจคือ ในผู้ป่วยหนักที่เข้าไอซียูนั้น ส่วนใหญ่หรือ 70% เป็นคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และพบคนที่ไม่มีโรคประจำตัว และอายุน้อยลง คืออยู่ในช่วง 20-40 ปีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แคนาดา มีผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเพียงแค่ 13% ฉีดวัคซีนแล้ว 87% คิดเป็นผู้ฉีดวัคซีนมากกว่า 6.7 เท่า ในไอซียูพบผู้ฉีดวัคซีนแล้วเพียง 30% และไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงถึง 70% คิดเป็นความแตกต่าง 2.3 เท่า

เมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่า คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข้าไอซียูมากกว่าคนที่ฉีดวัคซีน 15.6 เท่า  ( 6.7 × 2.3 เท่า) ในขณะเดียวกันการเก็บตัวเลขในเขต Ontario คนที่นอนไอซียู 343 ราย พบว่าฉีดวัคซีน 167 ราย ไม่ได้ฉีดวัคซีน 176 ราย เมื่อคิดสัดส่วนของจำนวนผู้ฉีดวัคซีน ที่มีมากกว่าถึง 6.7 เท่า จึงทำให้พบว่า คนไม่ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงเข้าไอซียูมากกว่า 6.7 เท่า และพบว่าจำนวนผู้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลจากป่วยเป็นโควิด ในเขต Ontario  เป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 171 รายต่อล้านประชากร ในขณะที่เป็นกลุ่มไม่ฉีดวัคซีน 762 รายต่อล้านประชากร ซึ่งสูงกว่ากันถึง 4.5 เท่า จนหมอแคนาดาบอกว่า เดิมก็ทราบกันอยู่ว่า โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดโควิดแล้วป่วยหนัก แต่ขณะนี้ต้องนับปัจจัยไม่ยอมฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงอีกอันหนึ่ง ที่ทำให้ป่วยหนักจากโควิด เพราะพบกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนต้องเข้าไอซียูเพราะป่วยหนักมากกว่า 4-15 เท่าตัว

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/502527?adz=

รัฐควิเบกของแคนาดา ซึ่งกำลังดิ้นรนควบคุมการแพร่เชื้อของโอมิครอน วางแผนเก็บภาษีด้านสุขภาพเพิ่มเติมกับประชากรวัยผู้ใหญ่ทุกคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชี้พวกปฏิเสธวัคซีนมีราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนอนไอซียู

Photo by Andrej Ivanov / AFP

รายงานรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 กล่าวว่า ฟร็องซัวส์ เลอโกลต์ มุขมนตรีรัฐควิเบก ซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับสองของแคนาดา แถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลของเขากำลังจัดทำแผนเก็บเงินอุดหนุนด้านสุขภาพกับผู้ใหญ่ทุกคนที่ปฏิเสธฉีดวัคซีนภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพราะคนกลุ่มนี้เป็นภาระทางการเงินสำหรับชาวควิเบกทั้งหมด

 
 

เขากล่าวว่า ร้อยละ 10 ของชาวควิเบกที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะต้องไม่ทำอันตรายต่อคนร้อยละ 90 ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่แผนนี้จะไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยคาดว่าเงินที่รัฐจะเก็บเพิ่มจากผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนนั้นจะไม่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์แคนาดา (2,659 บาท)

มุขมนตรีผู้นี้อธิบายอีกว่า แม้ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิดในรัฐนี้จะมีเพียง 10% แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนคิดเป็นประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่รักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ "น่าช็อก"

ขณะนี้ ในรัฐควิเบกซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 8 ล้านคน เป็นหนึ่งในรัฐที่มีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดของประเทศ และมีบุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยมีผู้ป่วยโควิดรักษาในโรงพยาบาล 2,742 คน และ 255 คนอยู่แผนกไอซียู

ที่รัฐออนแทริโอ รัฐเพื่อนบ้านที่มีประชากรมากที่สุดในแคนาดา ก็มีอัตราผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีผู้ป่วย 3,220 คน และผู้ป่วยหนัก 477 คน

รัฐบาลควิเบกพยายามควบคุมการแพร่เชื้อโควิดโดยออกข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงประกาศเคอร์ฟิวหลัง 4 ทุ่ม และห้ามการรวมตัวกัน

ก่อนหน้านี้ ควิเบกประกาศห้ามร้านค้าที่ขายสินค้าที่ไม่จำเป็น ขายให้แก่ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน โดยเริ่มต้นจากร้านขายแอลกอฮอล์และกัญชา การออกข้อบังคับเก็บภาษีสุขภาพกับผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนจะถือเป็นครั้งแรกของโลก แม้ว่าหลายประเทศกำลังหามาตรการต่างๆ เพื่อกดดันให้ผู้คนเลิกปฏิเสธวัคซีน เช่น ฝรั่งเศสที่รัฐบาลเสนอใช้บัตรผ่านวัคซีน แต่ถูกประชาชนเดินขบวนประท้วงต่อต้าน ส่วนที่ออสเตรีย ออกกฎบังคับพลเมืองทุกคนฉีดวัคซีน อิตาลีบังคับกับพลเมืองที่อายุเกิน 50 ปี ขณะที่สิงคโปร์ประกาศจะไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิดให้ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/abroad-news/63302/