Font Size

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าประชากรเกินครึ่งหนึ่งของยุโรปจะติดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนภายในเดือนมีนาคมนี้ ขณะธนาคารโลกเตือนว่าภาวะโรคระบาดจะถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือโตแค่ 4.1% ในปีนี้

ผู้คนเดินพลุกพล่านบนถนนสายหนึ่งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 สัปดาห์เดียวกันนี้อังกฤษมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินวันละ 200,000 คน (Photo by Rasid Necati Aslim/Anadolu Agency via Getty Images)

 

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 กล่าวว่า คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มีออกมาในวันอังคาร ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 2 ปีที่ทางการจีนยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะไวรัสโคโรนารายแรกของโลก เป็นผู้ป่วยชายอายุ 61 ปีชาวเมืองอู่ฮั่นที่โควิด-19 เริ่มระบาดเป็นแห่งแรก และถึงปัจจุบันไวรัสนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วมากกว่า 5.5 ล้านคน จากผู้ติดเชื้อเกิน 313 ล้านคน

 

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังต้องดิ้นรนควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น รัฐบาลต่างๆ ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดอีกครั้ง รวมถึงการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ แต่ในคำแถลงของคณะที่ปรึกษาด้านวัคซีนของดับเบิลยูเอชโอเมื่อวันอังคารแนะนำว่า การฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนโควิดแบบเดิมไม่ใช่กลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลหรือยั่งยืนกับสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ควรพัฒนาวัคซีนใหม่ที่ป้องกันการแพร่เชื้อได้ดีขึ้น

ภูมิภาคยุโรปกำลังเป็นศูนย์กลางการระบาดรอบใหม่ที่น่าวิตก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกขณะนี้ ข้อมูลที่รวบรวมโดยเอเอฟพีเผยว่า ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ยุโรปมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 8 ล้านคน และในวันอังคาร ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า คลื่นจากตะวันตกสู่ตะวันออกลูกใหม่กำลังแผ่ทั่วภูมิภาคนี้

"สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (ไอเอชเอ็มอี) ทำนายว่า มากกว่า 50% ของประชากรในภูมิภาคนี้จะติดเชื้อโอมิครอนภายใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า" เขากล่าว

ภูมิภาคยุโรปของดับเบิลยูเอชโอครอบคลุม 53 ประเทศและดินแดน ซึ่งรวมถึงหลายประเทศในเอเชียกลางด้วย ซึ่งคลูกกล่าวว่า มี 50 ประเทศตรวจพบโอมิครอนแล้ว กระนั้นเขาย้ำว่า วัคซีนที่ผ่านการอนุมัติยังให้การป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ รวมถึงจากโอมิครอน

ด้านองค์การยายุโรป (อีเอ็มเอ) กล่าวว่า การแพร่กระจายของโอมิครอนกำลังผลักดันให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มนุษยชาติสามารถอยู่ร่วมได้ แม้ว่าตอนนี้โควิดยังคงเป็นโรคระบาดทั่วอยู่ก็ตาม

วันเดียวกัน เวิลด์แบงก์เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะช้าลงในปี 2565 นี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่โอมิครอนจะทำให้การขาดแคลนแรงงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานทวีความรุนแรงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.1% หลังจากการฟื้นตัวเมื่อปีที่แล้ว ที่ขยายตัว 5.5%

เดวิด มัลพาสส์ ประธานเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า โรคระบาดอาจทิ้ง "แผลเป็นถาวรต่อการพัฒนา" ไว้ เนื่องจากตัวชี้วัดความยากจน, โภชนาการ และสุขภาพ กำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ผิด.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/abroad-news/63062/