Font Size
 
 
 

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 2,305 ราย เสียชีวิต 32 ราย “หมอยง” ชี้หลังปีใหม่โควิดระลอก 5 มาแน่ เหตุเชื้อโอมิครอนติดต่อได้ง่าย ไม่เกิน 1-2 เดือนแพร่ทั่วโลกแทนที่เดลตา บอกช่องโหว่ T&G คนประมาทตรวจไม่เจอเชื้อเที่ยวต่อส่งผลแพร่กระจายเร็ว แนะรีบฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพิ่มภูมิคุ้มกัน "สธ." ขอทุกหน่วยหลังปีใหม่จัด WFH "ครม." อนุมัติกรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท ให้ สปสช.จัดระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 65 "มหาสารคาม" ผวา! โอมิครอนจากกาฬสินธุ์เข้ามาติดในจังหวัดแล้ว 21 ราย

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,305 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 2,156 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 2,116 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 40​ ราย ในเรือนจำ 54​ ราย จากต่างประเทศ 95 ราย​ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,214,712 ราย​ หายป่วยเพิ่ม 3,070 ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,159,443 ราย​ อยู่ระหว่างการรักษา 33,639 ราย อาการหนัก 717 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 176 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย เป็นชาย 13 ​ราย หญิง 19​ ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 26 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย เสียชีวิตมากที่สุด ที่ กทม.และราชบุรี จังหวัดละ 5 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 21,630 ราย จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 392 ราย, ชลบุรี 214 ราย, นครศรีธรรมราช 143 ราย, สมุทรปราการ 76 ราย, เชียงใหม่ 67 ราย, กาฬสินธุ์ 54 ราย, ตรัง 52 ราย, นครราชสีมา 49 ราย, พัทลุง 48 ราย และอุบลราชธานี 44 ราย

ยอดฉีดวัคซีนเพิ่มเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 293,316 โดส ทำให้มียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 102,975,259 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 281,822,609 ราย เสียชีวิตสะสม 5,422,564 คน

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยายออนไลน์ถึงสถานการณ์โอมิครอนและการกระตุ้นเข็ม 3 ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศมีการระบาดรวม 4 ระลอกแล้ว ปี 2564 เจอทั้งสายพันธุ์จี, แอลฟา, เดลตา และสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดโอมิครอนจากรายงานของ GISAID พบจำนวนรหัสพันธุกรรมของโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าไม่เกิน 1-2 เดือน โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะเข้ามาแทนที่เดลตาแน่นอน เพราะติดต่อได้ง่ายกว่าเดลตา

"เดิมโอมิครอนมีจุดกำเนิดที่แอฟริกา แต่ตอนนี้กระจายไปครึ่งโลก เนื่องจากยุโรปและอเมริกาเป็นแหล่งกระจายโรคได้ดี และเมื่อตรวจดูสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่มีถึง 3 สายพันธุ์ BA1, BA2 และ BA3 พบการระบาดขณะนี้ยังเป็นโอมิครอน BA1 โดยที่ศูนย์เชี่ยวชาญฯ ได้ตรวจวินิจฉัยโอมิครอน จากตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจ 96 คน พบเป็นโอมิครอน 40-50 คน แสดงว่าเชื้อโอมิครอนแพร่ได้รวดเร็ว ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 และ 4 แทบแยกจากกันไม่ออก แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ 2565 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดในระลอก 5 ขึ้นแน่ หากเราไม่ช่วยกัน" ศ.นพ.ยงกล่าว

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโอมิครอนใช้การถอดรหัสพันธุกรรมและเทคนิคการตรวจที่รวดเร็วภายใน 4 ชั่วโมง เตรียมถ่ายวิธีการตรวจให้กับสถานพยาบาลอื่น ซึ่งการตรวจเทคนิคนี้ด้วย RT-PCR ทราบผลใน 4 ชั่วโมง พร้อมสาเหตุที่โอมิครอนหลุดออกจากระบบ T&G นั้น ถือว่ามีมากกว่าระบบอื่น โดยยกตัวอย่างกรณีสามีชาวฝรั่งเศสและภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยเดินทางเข้าไทย ตรวจต้นทาง RT-PCR ไม่พบ ตรวจเมื่อเข้าไทยซ้ำ RT-PCR 24 ชั่วโมงก็ไม่พบ หลังไม่พบไปจิบไวน์กับเพื่อนที่บาร์ 11 คน จากนั้นไม่นานมี 1 คน ไม่สบายนอนโรงพยาบาล ตรวจพบโอมิครอน สันนิษฐานติดจากสามีภรรยา และจากนั้นเพื่อนทั้งหมดก็ติดโอมิครอน

"เชื่อว่าสามีภรรยานี้ติดเชื้อมาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเคสครอบครัวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลูกสาวติดโอมิครอนกักตัว แต่พ่อแม่และน้องชายไม่ติด ไม่กักตัว แต่เชื่ออีก 2-3 วันก็ติด ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง 3 คนก็ไปทำกิจกรรมอื่นก็เท่ากับมีการแพร่เชื้อในสังคม จะเห็นว่าขบวนการ T&G ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้เลย" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางฯกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า คนที่ติดโอมิครอนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม และไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ชนิดไหน แต่อัตราการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าเดลตา แสดงว่ารุนแรงน้อยกว่า แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดว่าที่โรคมีความรุนแรงน้อยลง เพราะเชื้อหรือเพราะคนรับวัคซีน แต่ที่แน่นอนเชื้อไวรัสโอมิครอนชอบเยื่อบุคอมากกว่าปอด ดังนั้นเมื่อมีโอมิครอนเข้ามาจึงจำเป็นต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 โดยไม่ต้องรอให้ครบ 6 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะสูงใน 3 เดือนแรก และจากนั้นเดือนที่ 5 ภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4-5 ก็จะเริ่มลดลง อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อของเชื้อโอมิครอนที่แพร่เร็ว และหากรอนานไว้แม้ภูมิคุ้มกันสูง และก็เสี่ยงติดเชื้อ จึงต้องร่นระยะเวลาการรับวัคซีนให้เร็วขึ้นเป็น 3 เดือนขึ้นไป

"การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในกลุ่มวัคซีนเชื้อตาย พบว่าภูมิขึ้น 10 เท่า แต่ถ้าเป็นไวรัสเวกเตอร์ภูมิขึ้น 100 เท่า และหากเป็น mRNA ภูมิคุ้มกันจะขึ้น 200 เท่า ทั้งไวรัสเวกเตอร์และ mRNA ให้ภูมิสูงต่อสู้โอมิครอนได้ แต่ภูมิที่ขึ้นเร็วก็ลงเร็วเป็นธรรมดา โดยการศึกษาพบว่าใน mRNA ไม่ว่าจะรับครึ่งโดส หรือเต็มโดส ภูมิขึ้นและต้องลงเป็นเรื่องปกติร่างกาย ไม่มีความแตกต่าง ขณะนี้ทางศูนย์กำลังวิจัยเรื่องวัคซีนเข็ม 3 ทุกชนิดต่อโอมิครอน" ศ.นพ.ยงกล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการเตรียมพร้อมประชาชนเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลปีใหม่ว่า ผู้ที่รับผิดชอบสถานการณ์แนะนำถ้าเป็นไปได้ขอให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงานพิจารณาการเวิร์กฟอร์มโฮม หรือพิจารณาบริหารจัดคนมาทำงานเป็นชุดๆ ไป อย่ามาทำพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งตนก็เห็นว่าดี มีเหตุผล เพราะเมื่อเราเดินทางมาจากภูมิลำเนาก็ควรมาเฝ้าสังเกตอาการของตัวเอง ถ้าทุกคนทำได้แบบนี้ก็จะมีความปลอดภัย

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 4 ม.ค.2565 เราจะนำมาตรการมาประเมินอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าช่วงเทศกาลปีใหม่เราจะหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนได้ยากขึ้น ดังนั้นหลังเทศกาลปีใหม่หากใช้มาตรการทำงานที่บ้านก็จะลดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนของข้าราชการ เราจะมีการให้เวิร์กฟรอมโฮมมากที่สุด ในส่วนของภาคเอกชนเราได้ขอความร่วมมือไปแล้ว ถ้าช่วยปฏิบัติตามก็จะเป็นประโยชน์

"หลังเทศกาลปีใหม่ไม่เกิน 2 สัปดาห์เราจะทราบตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะพบตัวเลขฉากทัศน์ที่เกิดขึ้น หากเราร่วมด้วยช่วยกันดี หลังปีใหม่ประมาณ 10 วัน ตัวเลขไม่ก้าวกระโดด มาตรการก็จะเบาลง" รมช.สธ.กล่าว

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท สำหรับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ

มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนว่าแพร่ระบาดได้รวดเร็วแต่ไม่รุนแรงตามที่ สธ.รายงาน ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า สำหรับกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น ขณะนี้มีได้มีการปรับรูปแบบเป็นการสวดมนต์ข้ามปีทางออนไลน์หมดแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของ สธ.

จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าฯ มหาสารคาม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ครั้งที่ 42/2564 หลังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น แจ้งพบสายพันธุ์โอมิครอน 21 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีประวัติเคยเดินทางไปสังสรรค์ในพื้นที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น โดยบางส่วนเข้าไปสังสรรค์ในสถานบริการ พื้นที่ อ.เมืองฯ และ อ.กันทรวิชัย ซึ่งจังหวังมหาสารคามได้สั่งการให้สถานบริการที่พบผู้ติดเชื้อปิดทำความสะอาดและควบคุมเชื้อโรคติดต่อเป็นเวลา 7 วัน ขอให้ประชาชนที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือผู้ที่ไปใช้บริการสถานประกอบการต่างๆ.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/54584/