5ธ.ค.63-นพ.ธีระ วรธนารัตน์ แพทย์จากรพ.จุฬาฯโพสต์ข้อความ สถานการณ์ทั่วโลก 5 ธันวาคม 2563...

ทะลุ 66 ล้านไปแล้ว จำนวนติดเชื้อและจำนวนเสียชีวิตต่อวันของทั่วโลกสูงทำลายสถิติ

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 743,339 คน รวมแล้วตอนนี้ 66,160,878 คน ตายเพิ่มอีกมากถึง 13,638 คน ยอดตายรวม 1,523,065 คน 

อเมริกา ทำลายสถิติทั้งจำนวนติดเชื้อและจำนวนการตาย ติดเชิ้อเพิ่มอีกสูงถึง 255,054 คน รวม 14,736,565 คน ตายเพิ่มอีก 3,224 คน ยอดตายรวม 285,280 คน สถานการณ์แย่ลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการเดินทางไปมาหาสู่กันในช่วงวัน Thanksgiving

วันก่อนบุคลากรทางการแพทย์จากหลายรัฐ เช่น เทนเนสซี่ คอนเนคติกัต มิสซูรี่ มิสซิซิปปี้ ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อจัดการควบคุมโรคให้ได้ เพราะระบบสุขภาพกำลังจะรองรับไม่ไหว

อินเดีย ติดเพิ่ม 43,067 คน รวม 9,607,632 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 46,884 คน รวม 6,533,968 คน 

รัสเซีย ติดเพิ่มอีก 27,403 คน รวม 2,402,949 คน

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 11,221 คน รวม 2,268,552 คน 

อันดับ 6-10 ตอนนี้เป็น สเปน สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สวีเดน โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน ตุรกี บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเมียนมาร์ ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

แคนาดาติดเชื้อเพิ่มหลายพันต่อวันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยอดสะสมเกิน 400,000 คนไปแล้ว ในขณะที่มาเลเซียส่วนใหญ่ติดเพิ่มพันกว่าต่อวัน จนยอดรวมเกิน 70,000 คนแล้ว

แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชียยังคงน่าเป็นห่วง ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ ลัตเวีย เอสโตเนีย จอร์เจีย ฯลฯ มีโอกาสเป็นศูนย์กลางการระบาดในระยะถัดไปได้

เกาหลีใต้ติดกันเพิ่มหลายร้อยมาตลอด ส่วนฮ่องกงก็เพิ่มหลักร้อย จีนและออสเตรเลียติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 1,502 คน ตายเพิ่มอีก 31 คน ตอนนี้ยอดรวม 96,520 คน ตายไป 2,059 คน อัตราตายตอนนี้ 2.1% คาดว่ายอดรวมจะแตะหลักแสนในอีก 3 วัน

หากทบทวนรายงานวิจัยเกี่ยวกับ superspreading event หรือเหตุการณ์การระบาดวงกว้างจากผู้ติดเชื้อคนเดียวหรือกลุ่มเดียวนั้น มีจำนวนงานวิจัยราว 41 ชิ้น ดังที่เคยเล่าให้ฟังไปวันก่อน 

การที่คนติดเชื้อคนหนึ่ง แพร่ไปให้คนจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ เป็นการแพร่กระจายในสังคมวงกว้าง (societal superspreading event) กับการแพร่กระจายในคนหมู่มากที่อยู่ในสถานที่จำเพาะ (isolated superspreading event)

แบบแรกคือการแพร่กระจายในสังคมวงกว้าง เกิดได้หลายแบบ เช่น โรงเรียน งานแต่งงาน งานศพ พิธีทางศาสนา ผับบาร์คาราโอเกะ ที่ทำงาน ที่ช็อปปิ้ง สถานที่แข่งกีฬา ฯลฯ 

ส่วนแบบที่สอง คือการแพร่กระจายในสถานที่จำเพาะนั้น เกิดขึ้นในเรือ ในเรือนจำ และในสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ 

ของไทยเรานั้น กลุ่มเคสที่ลักลอบเข้าเมืองจัดเป็นกรณีศึกษาที่มีอัตลักษณ์ ต่างจากของต่างประเทศมากทีเดียว เพราะเข้ามาเป็นกลุ่ม แต่กระจายไปหลายจังหวัดหลายภาคพร้อมๆ กัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้น่ากังวลมาก

ยิ่งหากหน่วยงานรัฐบอกว่าประสบความยากลำบากในการสอบสวนโรค เพราะมีการปกปิดหรือปิดบังข้อมูล ให้การวกวน หรือเตี้ยมกัน ดังที่เป็นข่าวในสื่อเมื่อวาน ก็ยิ่งทำให้โอกาสมีการแพร่เชื้อรับเชื้อโดยคนไม่รู้ตัวย่อมมีสูง และจะแพร่ต่อได้ในวงกว้าง

นอกจากนี้การจัดกิจกรรมบันเทิงต่างๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปกันนั้น ยังมีแนวโน้มว่าจะมีคนที่ไป แต่ไม่ได้เช็คอินไทยชนะ หรือไม่มีข้อมูลรายละเอียดบันทึกไว้ให้รัฐติดตามได้อย่างครบถ้วน ดังจะเห็นจากการต้องประกาศข่าวเรียกให้คนประเมินตนเองและมารายงานตัว ก็ยิ่งทำให้น่ากังวล เพราะจะมาในแนวเดียวกับที่เราเห็นบทเรียนในยุโรปหลายประเทศ ที่ระบบการติดตามตัวนั้นไม่สามารถตามตัวคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำมาสู่การระบาดซ้ำ

โรค COVID-19 นี้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ ที่ติดต่อกัน พบปะกัน คลุกคลีใกล้ชิดกัน

และโรค COVID-19 นี้ก็ยังควบคุมได้ยาก เนื่องจากแพร่ง่าย และเหมือนรู้ใจคนว่า พฤติกรรมของคนนั้้นก็เหมือนจิตใจของคน...ยากแท้หยั่งถึง

หากอุปนิสัยใจคอรักความสะดวกสบาย อิสระเสรี ไม่เคร่งครัดวินัย ไม่เคารพกฎระเบียบ เราก็จะเห็นปรากฏการณ์"กฎมีไว้แหก" สนองกิเลสตนเองแต่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นในสังคม

ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐจำเป็นต้องประกาศพื้นที่เสี่ยง และรณรงค์ให้ลด ละ เลี่ยงการเดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น หากใครจำเป็นต้องเดินทาง ก็ขอให้มีสติ ป้องกันตัวเสมอ และสังเกตอาการตนเองหลังกลับมาอย่างน้อยสองสัปดาห์

มาตรการแบบไล่ตามโรค ยากนักที่จะป้องกันโรคลักษณะนี้ได้ และหากมีการระบาดกระจาย จะควบคุมได้ยาก ใช้เวลานานกว่าเดิม

จากบทเรียนต่างประเทศ ถ้าระบาดซ้ำ จำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันจะสูงกว่าเดิมอย่างน้อย 3 เท่า (500-600 คนต่อวัน) และใช้เวลาคุมนานกว่าเดิม 1.6 เท่า (88 วัน) ดังนั้นเราต้องทำเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น

ประเทศไทยต้องทำได้

ด้วยรักต่อทุกคน

สวัสดีวันพ่อแห่งชาติ และขอให้คุณพ่อทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/86030

2021 11 29 09 50 31

แพทย์แอฟริกาใต้เผยอาการคนติดโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เป็นอาการที่ "ไม่ปกติแต่ไม่รุนแรง" กลุ่มผู้ป่วยที่มีสุขภาพดี แค่อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยร่างกาย-กล้ามเนื้อ

วันนี้ (28พ.ย.64) แพทย์หญิงแองเจลิเก้ โคเอตซี แพทย์ประสบการณ์ 30 ปี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ (ซามา) ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเตือนถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นคนแรก ระบุว่า หลังจากที่ตนเอง พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่คลินิกในกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ จำนวน 19 คนที่มีอาการที่แปลกออกไป จากคนไข้ที่เคยรักษาก่อนหน้านี้

เวลานี้มีคนไข้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ราว 24 รายส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่น ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน และในจำนวนคนไข้ทั้งหมดไม่มีใครเลยที่สูญเสียการรับรสหรือดมกลิ่น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเป็นเวลา 1 หรือ 2 วัน มีอาการไอเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีอาการที่โดดเด่น โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน

แพทย์หญิงโคเอตซี ระบุว่า เคสที่น่าสนใจก็คือ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ที่มีอาการตัวร้อน มีอัตราการเต้นของหัวใจสูง จนคิดว่าจะต้องแอทมิต แต่หลังผ่านไป 2 วัน ก็อาการดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงโคเอตซี ระบุว่า คนไข้ทั้งหมดที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ของตนนั้นเป็นคนที่มีสุขภาพดี แต่ที่น่ากังวลก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจมีผลกระทบกับการติดเชื้อโอไมครอนได้มากกว่า

 

เช่นเดียวกับที่อิตาลี ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน รายนั้น พบว่า ได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม แต่สุขภาพแข็งแรง ยังไม่มีอาการใดๆ

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลเด็กแบมบิโน จีซู ในกรุงโรมของ อิตาลี ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน ภาพแรกของโลกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 พ.ย.)

ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า เชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามโปรตีนมากกว่า ไวรัสกลายพันธุ์เดลตา 3.5 เท่า หรือมากถึง 32 ตำแหน่ง บริเวณหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ ขณะที่สายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การค้นพบดังกล่าว ไม่ได้ชี้ให้เห็นโดยตรงว่าเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนมีอันตรายมากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน จึงมองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่ SARS-CoV-2 อาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเหมือนไวรัสอื่น ๆ คือเมื่อมีการระบาดมากขึ้น ความรุนแรงจะเริ่มลดลง

 

 

ภาพจาก AFP

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/97834/

 

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันเมื่อวันจันทร์ว่า ผลการทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนระยะที่ 3 ในสหรัฐบ่งบอกว่า วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพ 80% ในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดด้วย

    คำแถลงของบริษัทกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่แอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจากอังกฤษ มีประสิทธิภาพ 79% ในการป้องกันโควิด-19 ที่แสดงอาการกับกลุ่มประชากรโดยรวม และมีประสิทธิภาพถึง 100% ในการป้องกันโรครุนแรงและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

   ก่อนหน้านี้หลายประเทศมีคำแนะนำว่าไม่ควรฉีดวัคซีนนี้กับผู้สูงอายุ เนื่องจากการทดลองที่ผ่านมาขาดข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อต้นเดือนนี้ หลายประเทศยังระงับการใช้แอสตร้าเซนเนก้าเนื่องจากหวั่นเกรงปัญหาการเกิดลิ่มเลือด

    การทดลองระยะที่ 3 ในสหรัฐมีผู้เข้าร่วมการทดลอง 32,449 ราย โดย 2 ใน 3 ได้รับวัคซีนนี้ กลุ่มผู้ทดลองประมาณ 20% มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และประมาณ 60% มีปัญหาสุขภาพที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงกับโรคโควิด-19 รุนแรง เช่น เบาหวาน, โรคอ้วนรุนแรง หรือโรคหัวใจ

    แอนน์ ฟอลซีย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยหลักในการทดลองนี้ กล่าวว่า ผลการทดลองย้ำการยืนยันผลลัพธ์ก่อนหน้านี้ที่พบในการทดลอง AZD1222 ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด แต่น่าตื่นเต้นที่ได้ผลประสิทธิภาพคล้ายกันในกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 65 ปีเป็นครั้งแรก ผลวิเคราะห์นี้ยืนยันความถูกต้องของวัคซีนนี้ในฐานะทางเลือกของการฉีดวัคซีนที่จำเป็นมาก ให้ความเชื่อมั่นว่าผู้ใหญ่ในทุกวัยจะได้ประโยชน์จากการป้องกันไวรัสนี้

    ข้อมูลจากการทดลองยังไม่พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ร่วมทดลอง 21,583 คนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส

    องค์การยาแห่งยุโรปเพิ่งประกาศข้อสรุปเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยไม่พบความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปกลับมาฉีดวัคซีนนี้อีกครั้ง

    แอสตร้าเซนเนก้ากล่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมจะยื่นผลการทดลองนี้ต่อคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ เพื่อขออนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉิน

    ผลการทดลองยังชี้ด้วยว่า การฉีดวัคซีนโดสที่ 2 โดยเว้นระยะห่างมากกว่า 4 สัปดาห์จากเข็มแรก จะเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนมากขึ้น เทียบกับผลการทดลองก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่าควรทิ้งระยะไว้ 12 สัปดาห์.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96911

 

1เม.ย.64-ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการแถลงข่าว ประเด็น "หมอพร้อม", วัคซีน Certificate, ระบบรายงานการฉีดวัคซีน Real Time Dashboard โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.     นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 
     นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า หลังจากที่สธ.ประกาศว่าวันที่ 1เม.ย.จะมีการฉีดวัคซีนพร้่อมกันทั่วประเทศ โดยเป็นจากวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวคค 2 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงไทยวันที่ 10 เม.ย.อีก 1ล้านโดส คาดว่าจะฉีดได้ประมาณวันที่ 16-17 เม.ย. ซึ่งการฉีดวัคซีนก็เพือควบคุมโรค รองรับทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลต้องการเปิดประเทศให้เร็วที่สุด   จึงต้องทำให้คนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 50-60% ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมขึ้นมาให้ ดูแลระบบการฉีดวัคซีนอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันใช้ฐานของโรงพยาบาลในการฉีด ต่อไปจะใช้ฐานจากโรงพยาบาลสนาม หรือรถเคลื่อนที่  และขณะนี้มีภาคเอกชนหลายแห่งเสนอให้ใช้สถานที่เป็นสนามฉีดวัคซีน เช่นห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ใให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน 
    นอกจากนี้ ทางด้านการพัฒนาแอปพลิชั่นหมอพร้อม ซึ่งในเดือนมิถุนายน คาดว่าจะเปิดให้คนลงทะเบียนในการจองสิทธิ์และนัดหมายฉีดวัคซีนได้  หรือส่วนคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถติดต่อผ่านโรงพยาบาลที่เคยเข้ารับการรักษา และคนที่อยู่ในชนบท ทางโรงพยาบาลประจำตำบล และอสม.จะเป็นผู้แนะนำเรื่องลงทะเบียนการฉีดวัคซีนต่อไป  นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามอาการหลังฉีด สอบถามอาการผ่านทางแอพ และเตือนให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 2  รวมทั้ง ในแอพยังแสดงใบรับรองการได้รับวัคซีนดิจิทัลอีกด้วย 
     "ทางสธ.วางแผนที่จะเขยื้อนวัคซีน ให้เป็นสามเหลี่ยม 3ตัวคือ ด้านการกำหนดพื้นที่  การจัดระบบ และการทำระบบข้อมูล ทั้งการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนและการกำหนดเป้าหมายอื่นๆ  ซึ่งการพัฒนาระบบข้อมูลนี้ จะเชื่อมโยงกับระบบสุยภาพของประชาชน เป็นการยกระดับบริการสุขภาพของไทย  จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยทุกคนมารับวัคซีน " นพ.เกียรติภูมิกล่าว
       นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   กล่าวว่า กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นหมอพร้อมที่พัฒนาขึ้น จะมีการรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนที่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆแบบ Real Time  และสามารถรลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีน ติดตามอาการหลังฉีด การออกใบรับรองหลังการฉีดวัคซีน  ขณะนี้ออกให้แล้ว 3.5หมื่นราย และสำหรับ ใบรับรองการฉีดวัคซีน  ผู้เดินทางไปต่างประเทศ จะมีใบรับรองที่เรียกว่า International Travel Health Certificate ขณะนี้ กำลังรอความชัดเจนขององค์การอนามัยโลก (WHO )เรื่องระบบการรับรองมาตรฐานของทุกประเทศว่าควรเป็นอย่างไร  โดยคาดว่าในวันที่ 28 เมษายนจะมีความชัดเจนขึ้น
    "ที่เราเลือกแอปพลิเคชัน  หมอพร้อม  ผ่านทางระบบไลน์ เพราะเห็นว่ามีคนใช้และเข้าถึงระบบไลน์กันมาก ซึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แอปพลิเคชั่น หมอพร้อมจะเข้าไปอยู่ในระบบPlay Store  ประชาชนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ เพื่อเตรียมพร้อมกับการฉีดวัคซีน" นพ.พงศธรกล่าว
    
    ด้านนพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  แอปพลิเคชั่น หมอพร้อมที่เป็นระบบ Dashboard หรือการรายงานผลแบบอัติโนมัติ  ข้อมูลจากทุกจังหวัด จะถูกส่งเข้ามาที่ส่วนกลาง ทั้งการฉีดเข็มแรก และเข็มที่สอง และมีการรายงานผล ของอาการข้างเคียง ว่าเกิดที่ไหน มีใครบ้าง  ตัวเลขจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนใบรับรองการฉีดวัคซีน ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการจะเป็นผู้ออกใบรับรองให้และใบรับรองนี้จะไปปรากฎในแอฟพลิเคชั่นหมอพร้อม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ เพียงกรอกเลขบัตรประชาชน ข้อมูลก็จะวิ่งมาที่สธ.เพื่อยืนยันว่าได้มีการฉีดวัคซีนแล้วจริง 
    "ต่อไปเราจะพัฒนาให้ประชาชนได้เข้าถึง เห็นข้อมูลทุกด้าน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน แต่คงต้องรออักสักระยะ"   นพ.ศุภฤกษ์กล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98020

 

21 เม.ย.65-ผลการศึกษาระยะที่ 3 พรูฟเวนท์ (PROVENT) ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรค พบว่า ยา Evusheld ของแอสตร้าเซนเนก้า (เดิมชื่อ AZD7442 ส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimab) สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคโควิด-19 แบบมีอาการได้ 77% จากการวิเคราะห์เบื้องต้น และ 83% จากการวิเคราะห์มัธยฐานที่ระยะเวลา 6 เดือน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) 1 การทดลองนี้พบว่าไม่มีผู้ป่วยอาการร้ายแรงหรือการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ตลอดการติดตามผลในระยะเวลา 6 เดือน

มากกว่า 75% ของจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาพรูฟเวนท์ (PROVENT) มีโรคประจำตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและอาจมีภูมิคุ้มกันตอบสนองไม่เพียงพอต่อการรับวัคซีน 1

  

ข้อมูลเพิ่มเติมจากเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ความเข้มข้นของยา Evusheld ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังการได้รับยา ซึ่งสนับสนุนว่าการฉีดยาครั้งเดียวก็สามารถให้การป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้อย่างน้อย 6 เดือน

ข้อมูลเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ในวันที่ 20 เมษายน 2565 ของวารสาร New England Journal of Medicine
นายแพทย์ไมรอน เจ. เลวิน ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ และอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้วิจัยหลักของการทดลอง PROVENT กล่าวว่า ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต แต่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายคนยังมีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ข้อมูลเหล่านี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine สามารถทำให้มั่นใจได้ว่ายา Evusheld ที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงโดสเดียวสามารถให้การป้องกันแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้เป็นระยะเวลานาน ไม่เพียงเท่านั้น ยา Evusheld ยังสามารถลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในปัจจุบันได้

เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานสนับสนุนการใช้ยา Evusheld เพื่อการป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 แบบมีอาการและการเกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ภูมิคุ้มกันตอบสนองไม่เพียงพอต่อการรับวัคซีนและต้องการการป้องกันที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันยา Evusheld มีใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก การขึ้นทะเบียนกำลังคืบหน้าสำหรับทั้งการใช้ยาสำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสโรคและการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเบื้องต้นของยา Evusheld สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 300 มก. สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการ ได้ถึง 77% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 46-90; p <0.001) โดยมีค่ามัธยฐานในช่วงระยะเวลาติดตามหลังการได้รับยาไปแล้ว 83 วัน โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการเป็นสัดส่วน 8/3441 (0.2%) และ 17/1,731 (1.0%) ในกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld และยาหลอกตามลำดับ 1

เมื่อเปรียบเทียบกับการวิเคราะห์ผลเบื้องต้น การวิเคราห์ผลที่การติดตามที่ยาวนานขึ้นแสดงให้เห็นว่ายา Evusheld สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคโควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (RRR) ได้ถึง 83% ในการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการ (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 66, 91) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยมีค่ามัธยฐานในช่วงระยะเวลาติดตามหลังการได้รับยาไปแล้ว 196 วัน โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการเป็นสัดส่วน 11/3,441 (0.3%) และ 31/1731 (1.8%) ในกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld และยาหลอกตามลำดับ ซึ่งประสิทธิภาพดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกันกับการประเมินในกลุ่มผู้เข้าร่วมรายย่อย

จากการติดตามผลในระยะเวลา 6 เดือนในกลุ่มผู้เข้าร่วมรับยา Evusheld นั้น ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ไม่พบผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอก มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 5 ราย มีผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 7 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 2 ราย

ทั้งนี้ ยา Evusheld มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดีจากการศึกษาพรูฟเวนท์ (PROVENT) และไม่มีการระบุถึงปัญหาด้านความปลอดภัยตั้งแต่การวิเคราะห์ระยะแรกหรือแม้แต่ระยะ 6 เดือน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นมีอัตราใกล้เคียงกันในทั้งสองกลุ่ม โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดคือปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นใน 2.4% ของผู้เข้าร่วมที่รับยา Evusheld และ 2.1% ของผู้เข้ามร่วมที่รับยาหลอก 1

ประชากรทั่วโลกประมาณ 2% มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่เพียงพอ และอาจได้รับประโยชน์จากยา Evusheld ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-192,3 ซึ่งประชากรดังกล่าวยังรวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการได้รับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก็สามารถได้รับประโยชน์จากการป้องกันด้วยยา Evusheld อีกด้วย 4–8

ก่อนหน้านี้ทางแอสตร้าเซนเนก้าได้ประกาศผลลัพธ์ที่ดีจากการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งผลการศึกษาในฉบับเต็มจะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป (European Congress of Clinical Microbiology and Infectious Diseases หรือ ECCMID) ที่กำลังจะจัดขึ้น และยังได้ยื่นตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/127318/

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ