Font Size

  เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมระดมความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและระบาดวิทยาที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานทั้งในเขตเมืองและชนบท         

            เป็นการระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงสู่ระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถบริหารจัดการได้

 

            โดยไม่ส่งผลเสียหายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน และสามารถดำเนินกิจกรรมด้านสังคมได้ตามสภาวะใกล้เคียงกับปกติ

            ผู้เข้าร่วมการระดมความเห็นมีดังนี้

            ด้านสาธารณสุขและการแพทย์

            นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์, นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์, นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร, นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

            ด้านวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

            รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร, ดร.สมชัย จิตสุชน, ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง, ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู, นายกัมพล ปั้นตะกั่ว, น.ส.ชวัลรัตน์ บูรณะกิจ, น.ส.อุไรรัตน์ จันทรศิริ

            สรุปข้อเสนอสำคัญ 4 เรื่องเพื่อการพิจารณาของสาธารณะ

            1.มาตรการเร่งด่วนเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเน้นการแก้ไขสถานการณ์ระบาดที่เข้าสู่ครอบครัวและชุมชนอย่างเต็มตัวใน กทม.และปริมณฑล 

            มีข้อเสนอ 4 ประการ ดังนี้

            1.1 นวัตกรรมเสาะหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในเขตเมือง โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม

            เนื่องจากการระบาดรอบนี้เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงต่อชีวิตมากกว่าเดิม เราจึงเห็นการระบาดที่ต่อเนื่องแม้จะปิดสถานบันเทิงหมดแล้ว เพราะเมื่อมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยหนึ่งคนจะทำให้สมาชิกส่วนใหญ่หรือทุกคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานติดเชื้อไปด้วย

            ในขณะนี้การระบาดกว่าร้อยละ 80-90 จึงเกิดจากการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัว ญาติมิตร และผู้ร่วมงาน

            สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นการกระจายของเชื้อโรคในวงกว้าง (Wide Community Spreading) ทำให้ทีมสอบสวนโรคที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะรับมือ

            รัฐบาลจึงต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก  (Active Case Finding Innovations)”

            โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม เพื่อเอกซเรย์ชุมชนและควบคุมการแพร่เชื้อด้วยหลักการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการกักแยกโรค (TTI หรือ Trace, Test, Isolation)

            และมีระบบที่ชักชวนให้ผู้มีอาการหรือสงสัยตนเองให้มาตรวจได้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มจุดการตรวจในชุมชนแออัดต่างๆ และพื้นที่เสี่ยง โดยให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับจุดบริการตรวจเหล่านั้น

            เหตุผลที่ต้องมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเพิ่มเติม ก็เพราะการติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อในเขตเมืองมีความยุ่งยากมากกว่าในชนบท

            ในเขตเมืองไม่มีระบบสาธารณสุขมูลฐาน (Primary  Health Care) ดังที่มีอยู่ในชนบท

            และชุมชนเมืองหลายแห่งมีลักษณะความเป็นอยู่แบบชุมชนแออัด ทำให้ชุมชนเมืองมีโอกาสสูงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ ดังที่เกิดแล้วในอำเภอเมืองสมุทรสาครในระลอกสอง และในชุมชนคลองเตยของ กทม.ในระลอกสาม

            ขณะที่พื้นที่ชนบทมีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  นับล้านคนที่เป็นกำลังสำคัญ

            ทำให้ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ  ในอดีต รวมทั้งการระบาดของโควิดในรอบแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ข้อมูลจากแพทย์ชนบทยืนยันว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชนบทได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็เนื่องจากความสามารถในจัดการเรื่อง TTI ได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเกิดจากระบบสาธารณสุขมูลฐานและ อสม.

            แต่ในทางตรงข้าม การที่ลักษณะที่อยู่อาศัยของคนเมืองแตกต่างจากชนบท ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัด  คอนโดมิเนียม ตลาดสด สถานบันเทิง ล้วนส่งผลให้การควบคุมการระบาดโควิด-19 ทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามตรวจสอบผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กระจัดกระจายอยู่ในวงกว้างทั่วทั้งกรุงเทพฯ

            ความเสี่ยงที่ตามมาคือ ผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการกลายเป็นพาหะของโควิด-19

            ยิ่งกว่านั้นคนหนุ่มสาวในเมืองมีแนวโน้มการเดินทางและเคลื่อนย้ายสูง ทุกครั้งที่คนเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หรือไปเที่ยว ก็จะเป็นพาหะพาเชื้อไวรัสไปติดสมาชิกครอบครัวและญาติพี่น้องในต่างจังหวัด เหมือนกับการระบาดไวรัสที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

            ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก” เพื่อตัดโอกาสที่จะเกิดการระบาดโควิด-19  รอบใหม่

            ประสบการณ์การทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกของแพทย์ชนบทในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสงขลา จังหวัดน่าน และจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ให้เห็นว่า ทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือการระดมสรรพกำลังบุคลาการทางการแพทย์จากจังหวัดหรืออำเภอที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยหรือไม่มีการระบาดของโควิด-19  มาช่วยทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกรุงเทพฯ หรือเมืองที่มีการระบาดใหญ่

            โดยการแบ่งบุคลากรเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มอย่างน้อย  200 กลุ่ม เพื่อสอบสวนผู้ติดเชื้อและประวัติการติดต่อสัมผัสกับผู้ใกล้ชิด จากนั้นจึงแยกย้ายกันติดตามตัวผู้มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมาตรวจสอบ กักตัว รวมทั้งฉีดวัคซีน

            นอกจากนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่การสอบสวนโรคอย่างทันการณ์เมื่อสถานการณ์การระบาดเปลี่ยนแปลงไป

            หากรัฐบาลสามารถเร่งดำเนินการดังที่เสนอ นอกจากเราจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ภายในเวลาหนึ่งถึงสองเดือนแล้ว ยังจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

            (พรุ่งนี้: ต้องแยกผู้ป่วยผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว)

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/102438