Font Size

เช็คให้ชัวร์วิธี 'ป้องกันโควิด-19' อย่าเชื่อ 6 เรื่องเข้าใจผิด!

คนไทยต้องรู้เท่าทันข่าวปลอม ที่เผยแพร่เกี่ยวกับวิธี "ป้องกันโควิด-19" มีอะไรบ้าง? และหาคำตอบว่าความจริงเป็นอย่างไร?

ยิ่งโรคระบาดใกล้ตัวกับเรามากเท่าไหร่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ก็ยิ่งไหลบ่าเข้ามามากเท่านั้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คงหนีไม่พ้นข่าวปลอมที่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแบบถูกต้อง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงรวบรวมข่าวปลอมหรือความเชื่อแบบผิดๆ เกี่ยวกับการ "ป้องกันโควิด-19" มาให้รู้เท่าทัน พร้อมเฉลยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง 

 

  • 1. ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำขิงมากๆ จะช่วยต้านโควิด-19

จากการส่งต่อข้อมูลเรื่องการรับประทานเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำขิง และน้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาว ซึ่งระบุสรรพคุณว่า น้ำสมุนไพรของตนนั้นช่วยต้านโควิด-19 ช่วยดีท็อกซ์ลำไส้ได้

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ น้ำขิง และน้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาว สามารถต้านโควิด-19 ได้ รวมถึงน้ำสมุนไพรดังกล่าวไม่สามารถดีท็อกซ์ลำไส้ได้ ดังนั้น ควรระมัดระวังการสื่อสารสู่สาธารณะที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อย่างไรก็ดีสมุนไพรดังกล่าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ เจ็บคอได้

  • 2. กินโซดามิ้นท์

ช่วงปี 2563 ประเด็นเรื่องโซดามิ้นท์ ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลว่ามีสรรพคุณบรรเทา และรักษาอาการโควิดได้ ทั้งนี้ในเวลาต่อมาก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาให้ความรู้ว่า ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องไม่จริง 

โซดามิ้นท์ (SODAMINT) คือยาลดกรดชนิดหนึ่ง ใช้บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย และ ใช้ในคนไข้โรคไต

รศ. ดร. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชา ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า อันนี้เป็นความเข้าใจผิดๆ ตามความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอาหารด่าง น้ำด่าง ที่ว่าถ้าร่างกายเรามีความเป็นด่าง จะสามารถสู้กับโรคไวรัสได้ ถ้าเป็นกรด ก็ติดเชื้อง่าย จึงให้ไปกินพวกยาที่ทำออกฤทธิ์เป็นด่าง

ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีประโยชน์แบบที่ว่าเลย  ค่า pH หรือกรดด่างของเลือดในร่างกายเรา มีค่าค่อนข้างคงที่ ที่เป็นด่างอ่อนๆ ซึ่งปรับสมดุลโดยอัตราการหายใจของร่างกาย ไม่ใช่จากอาหารที่กินเข้าไป ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องพยายามเอาด่างเข้าร่างกายเหมือนที่อ้างกัน

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า โซดามินต์ มันไม่ใช่ยาที่ปลอดภัย 100% ควรจะให้แพทย์เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น

  • 3. ยืนตากแดดสามารถฆ่าเชื้อได้ 

ประเด็นการตากแดดสามารถฆ่าโควิด-19 นั้นถูกส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย โดยมีรายละเอียดดังนี้ “ยืนตากแดด วันละ 20 นาทีช่วยฆ่าเชื้อ โควิด-19 ได้” 

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันอีกรอบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า กรณีชวนเชื่อเคล็ดลับฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่าให้แสงแดดชโลมทั่วตัววันละ 20 นาทีทุกวัน (หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้) แสงแดดจะไปเสริมภูมิคุ้มกันฆ่าเชื้อโควิด-19 ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการยืนตากแดดนั้นสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเชื้อไวรัสตระกูลโควิด-19 นั้นสามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความร้อนจากแสงแดดนั้น มีความร้อนไม่ถึง 90 องศาแน่นอน

โดยระบุเพิ่มเติมว่ามีข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้า พบว่าไวรัสชนิดนี้จะตายเมื่อโดนความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานต่อเนื่อง 30 นาที ซึ่งแสงแดดไม่สามารถทำให้เกิดความร้อนในระดับนี้ได้

อีกทั้งผิวหนังของมนุษย์ก็ไม่สามารถทนทานต่อความร้อนและแสงแดดได้นานเช่นกัน ดังนั้น การตากแดดหรืออาบแดดจึงไม่สามารถรักษาและฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ โดยความร้อนจากแสงแดดนั้น มีไม่ถึง 90 องศาแน่นอน

  • 4. ยาจีนเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลรักษาโควิด-19

สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจ้งว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถรักษาโควิด-19 ได้ โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้รับอนุมัติทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร จาก อย. ว่ามีสรรพคุณ “ช่วยขจัดพิษ ลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูก ไอ น้ำมูก เจ็บคอ” เท่านั้น

  • 5. เชื้อแพร่กระจายผ่านอากาศได้ (airborne)

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา จะแพร่ผ่านละอองเสมหะ (droplets) ไม่ใช่การแพร่กระจายทางอากาศ (airborne) ซึ่งผู้รับเชื้อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ไอ จาม ในระยะน้อยกว่า 90 ซม. และต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าทางเยื่อปาก จมูก ตา 

  •  6. กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อที่ปอดด้วยตัวเอง  

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดเผยว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ว่าสามารถใช้วิธีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อที่ปอดด้วยตนเองได้ ซึ่งปกติแล้วการตรวจปอดมีการอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่นั้น จะต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคด้วยการฟังเสียงปอด ร่วมกับการเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีฝ้าขาวผิดปกติไหม 

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937134?anf=