5 ม.ค.64-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ  รองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศกรณีนิสิตหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหวิทยลัยได้รับผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลเป็นบวก

จากการที่หอพักได้รับแจ้งจากโรพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่ามีนิสิตหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน
1 คนได้รับผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลเป็นบวก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา ไม่เกี่ยวกับการ
เรียนการสอน อย่างไรก็ตามทางหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอแจ้งมาตรการดำเนินการของหอพัก ดังต่อไปนี้

 

1. ปิดการเข้าออกเพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดทั้งภายในหอพัก มหาวิทยาลัยและสังคมภายนอก
ตั้งแต่วันที่ 4-18 มกราคม 2564 (14 วัน)

2. ปิดพื้นที่ที่นิสิตรายดังกล่าวพักอาศัยและทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ดังกล่าวและส่วนกลาง

3. นำนิสิตหอพัก บุคลก และผู้ปฏิบัติงานทุกคนมาเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยศูนย์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับความเสี่ยง โดยเร็วที่สุด

สำหรับนิสิตหอพักที่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ขอให้กักตัวอยู่ที่ที่พักอาศัย
เพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน หากมีอาการไม่สบายเข้าข่ายต้องสงสัย ขอให้รีบรายงานตัวกับหน่วยงาน
สาธารณสุขในพื้นที่และแจ้งหอพักเพื่อทราบต่อไป

เพื่อโปรดทราบและให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด

ประกาศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2564

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/88842

อาการวันต่อวัน

วันที่ 1-3
1. คล้ายหวัด
2. ปวดในคอเล็กน้อย
3. ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย
4. กิน/ดื่มปกติ

วันที่ 4
1. เจ็บคอเล็กน้อย
2. พูดเริ่มเจ็บในคอ
3. ไข้ดูปกติ 36.5°C
4. รบกวนกับการกิน
5. ปวดหัวเล็กน้อย
6. ท้องเสียออ่อนๆ
7. รู้สึกเหมือนเมา

วันที่ 5
1. ปวดในคอ พูด_เจ็บ
2. อ่อนเพลียเล็กน้อย
3. ปรอทไข้ 36.5° -36.7°C
3. อ่อนเพลีย ปวดข้อต่อ

วันที่ 6
1. ปรอทไข้ 37 ° C+
2. ไอแห้ง
3. ปวดคอขณะกิน/พูด
4. อ่อนเพลีย คลื่นไส้
5. หายใจลำบากเป็นครั้งคราว
6. นิ้วรู้สึกเจ็บปวด
7. ท้องร่วง อาเจียน

วันที่ 7
1. มีไข้ 37.4° -37.8°C
2. ไอต่อเนื่อง มีเสมหะ
3. ปวดร่างกาย/ศีรษะ
4. ท้องร่วงมาก
5. อาเจียน

วันที่ 8
1. ไข้ 38°C+++
2. หายใจลำบาก
3. ไอต่อเนื่อง
4. ปวดหัว ข้อต่อ กล้ามเนื้อ
5. ง่อยและปวดก้น

วันที่ 9
1. ไม่ดีขึ้น และแย่ลง
2. ไข้สูงมาก
3. อาการทรุดลงมาก
4. ต้องต่อสู้เพื่อหายใจ

อาการในวันที่ 9 ต้องตรวจเลือด CT Scan ทรวงอก

เพื่อประโยชน์ร่วมกัน แชร์ต่อนะครับ

ขอขอบคุณครับ

 

 
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวัยเด็ก กำลังเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณทั่วสหรัฐฯ และเวลานี้มีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 26% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด จากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์(20ก.ย.) อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วอาการไม่หนัก และเสียชีวิตไม่ถึง 0.25%

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริการายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่พบเด็กติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่โรคระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น ด้วยจำนวน 225,978 ราย ลดลงเล็กน้อยจากหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่พบเด็กติดเชื้อ 243,373 คน

การเพิ่มขึ้นของเคสเด็กติดเชื้อ เกิดขึ้นในขณะที่นักเรียนมากมายกลับสู่ชั้นเรียน ทว่าเด็กๆเหล่านั้นยังไม่มีสิทธิ์ฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีเพียงเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติให้เข้ารับวัคซีน ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่านั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษา

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนทางกันให้เด็กอายุน้อยปลอดภัยจากโควิด-19 จนกว่าจะอนุมัติใช้วัคซีนกับน้องๆหนูๆเหล่านี้ "หลังจากลดลงในช่วงฤดูร้อน เคสผู้ติดเชื้อเด็กเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ด้วยพบกว่า 925,000 รายในช่วง 4 สัปดาหลังสุด" สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริการะบุในถ้อยแถลง

เคสผู้ติดเชื้อเด็กรายสัปดาห์ที่รายงานเมื่อวันจันทร์(20ก.ย.) เพิ่มขึ้นมากว่า 215% นับตั้งแต่สัปดาห์ระหว่างวันที่ 22-29 กรกฏาคม โดยสัปดาห์นั้นพบผู้ติดเชื้อเด็กรายใหม่เพียง 71,726 ราย

จนถึงวันที่ 16 กันยายน พบเด็กมากกว่า 5.5 ล้านรายที่มีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวก อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าจำนวนเด็กที่ล้มป่วยอาหารหนักหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ถือว่าน้อยมากๆหากเทียบกับประชากรวัยผู้หญ่ โดยในรัฐต่างๆที่รายงานอายุคนไข้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าคนไข้เด็กคิดเป็นราวๆ 1.6% ถึง 4.2% ของคนไข้โควิด-19 ทั้งหมดที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันในบรรดารัฐต่างๆที่รายงานอายุผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พบว่าเด็กมีสัดส่วนไม่ถึง 0.25% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และมีอยู่ 7 รัฐที่รายงานไม่พบเด็กเสียชีวิตจากโควิด-19 แม้แต่รายเดียว

 
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ(ซีดีซี) รายงานว่าจนถึงวันอาทิตย์(19ก.ย.) มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในสหรัฐฯ เสียชีวิตจากโควิด-19 ไปเพียง 548 ราย

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ในนั้นรวมถึงแพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี ระบุว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งหลายกำลังเร่งทำงานเพื่อให้มีวัคซีนตัวหนึ่งๆพร้อมสำหรับฉีดให้เด็กอายุน้อยในช่วงปลายปี

ส่วนนายแพทย์สกอตต์ กอตต์ลีพ บอร์ดบริหารของไฟเซอร์และอดีตคณะกรรมการของสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ(เอฟดีเอ) ระบุว่ากรอบเวลาอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นในช่วงวันฮาโลวีน(31ตุลาคม)
 

เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอสก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน คาดหมายว่าไฟเซอร์จะมีข้อมูลวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี พร้อมยื่นต่องสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯในช่วงปลายเดือนกันยายน "เอฟดีเอบอกว่าพวกเขาจะพิจารณาเรื่องนี้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ไม่ใช้เวลาหลายเดือน ในการตัดสินใจว่าพวกเขาจะอนุมัติวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ขวบหรือไม่ ผมตีความว่าบางทีน่าจะใช้เวลา 4 สัปดาห์ หรือ 6 สัปดาห์"

อย่างไรก็ตามหากวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5 ถึง 11 ขวบได้รับอนุมัติแล้ว มันจะขึ้นอยู่กับทางครอบครัวจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนแก่บุตรหลานของพวกเขาหรือไม่ ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของผู้มีสิทธิ์ในปัจจุบัน ยังคงห่างไกลจากจำนวนที่จำเป็นอย่างมากสำหรับชะลอหรือหยุดการแพร่ระบาดของไวรัส

เวลานี้มีเพียงแค่ 54.7% ของประชากรสหรัฐฯที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว จากข้อมูลของซีดีซี ในขณะที่เด็กช่วงอายุก่อนวัยรุ่นและพวกวัยรุ่นเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการเข้ารับวัคซีนต่ำที่สุดหากเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

(ที่มา:ซีเอ็นเอ็น)
 

สัปดาห์หน้าเฮ! ม.33 - คนละครึ่งเฟส 3 รับอีก 4,000 บาท เช็กให้ชัวร์เงินเข้าวันไหน

 

สัปดาห์หน้าเฮ! ผู้ประกันตน "ม.33" รับเงินเยียวยา 2,500 บาท "คนละครึ่งเฟส 3" เติมเงินเข้าเป๋าตังอีก 1,500 บาท เช็กเลยวันไหนบ้าง

วันนี้( 26 ก.ย.64) ความคืบหน้าสำนักงานประก้นสังคมจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ระยะที่ 2 โดยจังหวัดที่ได้รับการเยียวยารอบ 2 มี เป็น 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ จะเริ่มโอนเงิน วันที่ 27 – 28 ก.ย. 64 นี้ จำนวนทั้งหมด 3.02 ล้านราย ได้รับรายละ 2,500 บาท ผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกกับพร้อมเพย์

วิธีการตรสจสอบสิทธิประกันสังคมมาตรา 33

 

1.เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th เลือก คลิกตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาตามมาตราของตนเอง

2.เลือกตรวจสอบสถานะโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33

3.กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และกรอกรหัสให้ตรงตามรูปที่กำหนด

4.จากนั้นกดค้นหา

5.ระบบจะแสดงผลการค้นหา พร้อมระบุจะอัปเดตข้อมูลล่าสุด ตามวันเวลาที่กำหนดอีกครั้ง

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่กระทรวงแรงงาน โทร.1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ขณะที่ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 กระทรวงการคลัง จะเติมเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง สิทธิได้รับคนละครึ่งจำนวน 3,000 บาท รอบละ 1,500 บาท ดังนี้

รอบที่ 1 วันที่ 1 ก.ย.- 30 ก.ย. 2564

รอบที่ 2 วันที่ 1 ต.ค.- 31 ธ.ค. 25 64

 

อย่างไรก็ตาม สิทธิในโครงการสามารถใช้สะสมได้

ข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม , กระทรวงการคลัง

ภาพจาก AFP , สำนักงานประกันสังคม , คนละครึ่ง

 

ข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/covid19/91989/

 

 
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางความมืดมิดจากวิกฤตโควิด-19 ผู้คนล้มตายประชาชนสิ้นหวังในเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยระบบราชการที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด โครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ที่อ่อนยวบ แต่แล้วแสงแห่งความหวังได้ปะทุขึ้นเมื่อ “ชมรมแพทย์ชนบท”เปิดยุทธการ “แพทย์ชนบทบุกกรุง" จัดทัพกู้ภัยโควิด กทม.

โดยแม่ทัพใหญ่ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท นำทีมลงพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติการตรวจเชิงรุก ปักหมุดหมาย “ชุมชนแออัด” ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดรุนแรง ตั้งเป้าหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด เจอให้เร็วรักษาให้เร็ว พร้อมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ นำเข้าระบบ Home isolation ตั้งเป้าลดอัตราป่วยหนัก-เสียชีวิต อันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงยาและโรงพยาบาล สร้างโมเดลต้นแบบต่อสู้โควิด-19 ทลายข้อจำกัดระบบราชการ มุ่งหวังให้ทุกพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้

สำหรับปฏิบัติการ “แพทย์ชนบทบุกกรุง” สำเร็จลุงล่วง ได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายประชาชนทีมโควิดชุมชน (Com-Covid) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญ ดำเนินการต่อเนื่องครั้งล่าสุดครั้งที่ 3 ระดมบุคลากรสาธารณสุขในต่างจังหวัดกว่า 400 คน แบ่งทีมย่อยลุยแผนดาวกระจายทั่วกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4-10 ส.ค. 2564 รวมพื้นที่ดำเนินแล้ว 196 จุดตรวจ รวม 369 ชุมชน ตรวจเชิงรุกประชาชน 141,516 ราย พบผลติดเชื้อสะสมจำนวน 15,588 ราย (ร้อยละ 11)

ถอดบทเรียนปฏิบัติ “แพทย์ชนบทบุกกรุง” พูดคุยกับแม่ทัพใหญ่ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ภายใต้แรงกดดันสถานการณ์โรคระบาด ผู้คนเผชิญกับความทุกข์ยาก ระบบสาธารณสุขที่ใกล้ล่มสลาย ระบบราชการที่เป็นอุปสรรคในการสู้รบกับโควิด แพทย์ชนบทได้จุดไฟแห่งความหวังให้ประชาชน เสมือนเข็มทิศนำทางให้รัฐปรับยุทธศาสตร์แก้วิกฤตโควิด-19

- ทำไมชมรมแพทย์ชนบทเลือกพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งที่จังหวัดอื่นๆ เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงไม่ต่างกัน
จังหวัดอื่นแม้เกิดการระบาดหนัก แต่ว่าปรากฎการณ์ตายคาบ้านแทบไม่มี ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต่างจังหวัดผู้ป่วยมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล สถานการณ์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดหากป่วยอย่างไรก็สามารรับได้ คนต่างจังหวัดหากสงสัยว่าติดเชื้อโควิด โรงพยาบาลยังสามารถตรวจได้ เพราะประชากรน้อยโรงพยาบาลจึงสามารถจัดการได้ แต่ว่ากรุงเทพฯ จุดตรวจโควิดแทบจะหาไม่ได้ ความสูญเสียชีวิตที่บ้านเห็นชัดเจนมาก

การลงพื้นที่กรุงเทพฯ ของแพทย์ชนบท เป้าหมายคือค้นหาผู้ติดเชื้อให้มาก เจอให้เร็ว รักษาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว นำเข้าระบบ home isolation จะได้ลดอัตราป่วยหนักที่ต้องการเตียงโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงยาหรือเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล ถึงแม้ลดอัตราการติดเชื้อไม่ได้โดยง่าย แต่หวังว่าจะลดอัตราเตียงล้นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และลดอัตราตายลงได้บ้าง

การตรวจเชิงรุกในกรุงเทพฯ เราใช้ Rapid Antigen Test ที่มีคุณภาพสูง ยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เป็นยี่ห้อที่ใช้ในโรงพยาบาลมาตรวจ ซึ่งประเด็นนี้มีความน่าสนใจเพราะองค์การเภสัชฯ ทำการจัดซื้อ Rapid Antigen Test แต่ได้ยี่ห้อที่มีปัญหา ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะการตรวจสามารถรู้ผลได้เลย ความแม่นยำจึงมีความจำเป็น มิเช่นนั้น ต้องไปเสียเวลาตรวจซ้ำ RT-PCR ซึ่งเสียเวลาเสียทรัพยากรด้วย

สรุปผลการลงพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งแรก ระหว่าง 14 - 16 ก.ค. 2564 ครั้งที่ 2 ระหว่าง 21 - 23 ก.ค. 2564 และครั้งที่ 3 ระหว่าง 4– 10 ส.ค. 2564 สรุปผลพื้นที่ดำเนินการสะสม 196 จุดตรวจ รวม 369 ชุมชน มีประชาชนรับบริการสะสมจำนวน 141,516 ราย ผลติดเชื้อสะสมจำนวน 15,588 ราย ผลการตรวจผู้ป่วยทั้งหมดแบ่งเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว 10,838 ราย ระดับสีเหลือง 4,427 ราย และระดับสีแดง 323 ราย แจกยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 3,509 ราย และแจกยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 8,939 ราย และให้บริการวัคซีนสะสม จำนวน 7,412 ราย

 

-ปัญหาที่พบหลังจากทีมแพทย์ชนบทลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกบริเวณชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ
แพทย์ชนบทเข้าไปในชุมชนแออัดชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนจน พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ แม้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยโรงพยาบาล คลีนิคเอกชน เต็มไปศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ แต่พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ ซึ่งการล็อกดาวน์เศรษฐกิจฟุบยาวนาน ทำให้เขาแทบจะไม่มีรายได้ ชีวิตยากลำบาก อยากจะตรวจโควิดก็ไม่มีที่ให้ตรวจ ป่วยแล้วก็ไม่รู้จะไปไหน โทร. 1669, 1330 แจ้งไปก็ไม่มีใครมารับ พอติดโควิดอยู่บ้านหลังเล็กแคบอยู่กันแออัด ติดในครอบครัว ติดเพื่อนบ้าน ลามติดกันทั้งชุมชน ยกตัวอย่าง ชุมชนริมคลองสามเสน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 200 คน คือตัวเลขที่มีการตรวจก่อนแพทย์ชนบทจะเข้าไป ดังนั้น เราคาดการณ์ได้เลยว่าชุมชนนี้แพร่กระจายเชื้อติดกันไปมากกว่า 1,000 แล้ว จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่า หากมี 1 คนติดเชื้อ จะมีอีก 5 คนที่ติดเชื้อ อาจจะไม่แสดงอาการ มีอาการเล็กน้อย เพราะการที่ไม่ได้รับตรวจหาเชื้อ ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว ทำให้มีการระบาดกว้างขวางมากโดยเฉพาะในชุมชนแอดอัด

-หลังจากแพทย์ชนบทสร้างโมเดลต้นแบบปฎิบัติการเชิงรุกต่อสู้โควิด-19 กู้วิกฤตโรคระบาด เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ บ้างหรือไม่
เราเห็นสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง พื้นที่กรุเทพฯ มีการเปิดตรวจจุดเคลื่อนที่เร็ววันละ 5 - 6 จุดเพิ่มขึ้นมาจากเดิม 500-1,000 คน หรืออย่างหน่วยทหารได้เปิดจุดตรวจในค่ายทหารก็เป็นมีสัญญาณที่ดี มีความพยายามในการเพิ่มจุดตรวจมากขึ้น แต่สิ่งที่เราเสนอมากกว่าเปิดจุดตรวจจากประสบการณ์ตั้งแต่เรามาครั้งที่ 1 คาดหวังให้เปิดจุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test มากขึ้น แต่เราพบปัญหาว่าหลังรู้ผลติดเชื้อ ผู้ป่วยหาโรงพยาบาลไม่ได้ไม่มียา สุดท้ายก็เสียชีวิตที่บ้านให้เห็นเป็นจำนวนมาก

ครั้งที่ 3 แพทย์ชนบทมาด้วยชุดโมเดลที่สมบูรณ์ขึ้น ตรวจเสร็จแล้วจ่ายยาเลย เราได้รับการสนับสนุนฟาวิพิราเวียร์จากกระทรวงสาธารณสุข เราตรวจแล้วก็จ่ายยาเลยสำหรับคนที่อยู่ในเกณฑ์ เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว มีอาการ ซึ่งจริงๆ เราอยากให้จุดตรวจจุดอื่นจ่ายฟาวิพิราเวียร์ เพราะว่าถ้าผู้ติดเชื้อกลับไปอาจจะไม่ได้กลับมาอีกเลยถ้าเขาไม่ได้กินยา

ความยากคือจุดตรวจเหล่านั้นจะเอาฟาวิพิราเวียร์จากไหน เพราะว่าระบบการกระจายยายังเป็นปัญหา การนำเข้าน้อย องค์การเภสัชฯ ผลิตได้ไม่เพียง หรือถึงจะเพียงพอ แต่โจทย์คือจะกระจายยาอย่างไรให้ไปถึงประชาชนที่เป็นโควิด การพึ่งเพียงแต่โรงพยาบาลพึ่งการไปหาหมอที่โรงพยาบาลเป็นไปไม่ได้ ประชาชนเข้าไม่ถึง เรื่องการกระจายยาเป็นโจทย์ยากที่รอการจัดการ ซึ่งจริงๆ ไม่ยากหรอกครับ แค่ทำให้นโยบายเปิด เพราะปัจจุบันยังไม่เปิดเท่าที่ควร ฟาวิพิราเวียร์ยังเป็นยาเทวดาอยู่ คนยากคนจนเข้าไม่ถึง

ณ วันนี้ คนรวยติดโควิดเข้าถึงการรักษาไม่ยากครับ โรงพยาบาลเอกชนยินดีรับ โรงพยาบาลเอกชนยังมีเตียงว่างอยู่พอสมควรไม่ใช่ว่าไม่มีเตียง แต่ว่าเขาเก็บเตียงไว้สำหรับคนที่มีความสามารถในการจ่าย หรือมีประกันชีวิต การเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 2 – 3 แสน นอน 14 วัน เป็นอย่างต่ำ

ส่วนคนจนรอเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเตียงมันเต็มหมดแล้ว ต้องลุ้นเอาว่าเป็นหนักมั้ย ถ้าเป็นหนักก็อาจจะไม่รอด แม้ว่าเข้าถึงการรักษาเข้าโรงพยาบาลสนามยังอาจไม่รอดเลย ดังนั้น เราต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ดูแลประชาชนดีๆ ตรวจเชื้อให้มากที่สุด ให้เขาเข้าถึงยาเร็วที่สุด อัตราเสียชีวิตจะลดลงต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแรกไม่ใช่ว่าอาการหนักแล้วถึงจะได้ยา ถ้าอาการหนักแล้วได้รับยาก็ไม่ทัน การที่เขาได้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วมีความหมายมากต่อการรอดชีวิต ประเด็นสำคัญฟาวิพิราเวียร์จะได้เร็วก็ต่อเมื่อได้ตรวจเร็ว รู้ผลเร็วตั้งแต่ยังมีอาการน้อย เพราะหลายคนไปตรวจตอนที่อาการหนักแล้ว หอบแล้ว เหนื่อยแล้ว เดินไม่ไหวแล้ว ไปตรวจตอนนั้นกว่าจะตรวจกว่าจะรู้ผลกว่าจะได้ยาก็ช้าไปแล้วดังนั้น การตรวจเชิงรุกในชุมชนมีประโยชน์มาก ทำให้รู้ตัวเร็วว่าติดเชื้อแล้วได้รับยาเร็วมีโอกาสรอดสูง

 

-ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบท มีแนวทางดูแลรักษาอย่างไรต่อ
ทุกคนที่ตรวจโพสิทีฟพบว่าติดเชื้อ เราจะให้เขาสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าสู่ระบบ หนึ่ง-เข้าสู่ Home Isolation ของ สปสช. สำหรับอาการไม่รุนแรง เราจะลงข้อมูลให้ประชาชนเข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง จากนั้นโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมาช้อนมารับตัวของเขาไปดูแลในระบบ Home Isolation ซึ่งรัฐให้ค่าใช้จ่ายต่อโรงพยบาลที่ดูแลผู้ป่วย 1000 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง แต่ปรากฎว่าหลายหมื่นนคนก็ยังค้างอยู่ในระบบ ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับการดูแลยังล่องลอยอยู่ในฐานข้อมูล เป็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 
สอง-เข้าสู่ Community Isolation หรือศูนย์พักคอย กทม. ซึ่งพื้นที่ที่ศูนย์พักคอยประชาชนก็มีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุขมากขึ้น แต่ว่าศูนย์พักคอยที่ กทม. มีน้อยมาก และสามหากอาการหนักส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ซึ่งยิ่งยากเพราะอย่างที่ทราบกันว่าโรงพยาบาลแต็ม แต่ก็มีความพยายามช่วยกันเยอะ จำนวนหนึ่งได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้เข้าทุกคน จำนวนมากต้องยอมกักตัวที่บ้านไปก่อน

-วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ สะท้อนความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการสุขภาพที่ต้องรอการปฏิรูป
มองภาพเปรียบเทียบกับต่างจังหวัด ในต่างจังหวัดระดับตำบลมีสถานีอนามัยดูแลประชาชนประมาณ 2,000 -5,000 คน มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ 5-10 คน ทุกอำเภอมี 1 โรงพยาบาลอำเภอ ดูแลประชาชน 30,000 คน 50,000 คน 100,000 คน แตกต่างกันไป อย่างโรงพยาบาลจะนะดูแล 100,000 คน มีบุคลากร 300 คน ในขณะที่ กทม. แขวงเทียบเท่ากับตำบลดูแลคน 5,000 คน แต่ตัวเลขจริงมากกว่านั้นเป็นหมื่นเพราะมีประชากรแฝงด้วย แขวงไม่มีสถานีอนามัย ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทุกคนพึ่งพาคลินิกส่วนตัว ร้านขายยา

โครงสร้างสาธารณสุข กทม. มีแค่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ซึ่งรับผิดชอบระดับเขต มี 50 เขต 65 ศูนย์ บางเขตมี 2 ศูนย์ ซึ่งบุคลากรน้อยมาก แต่ละเขตมีโรงพยาบาลไม่กี่แห่ง มีโรงพยาบาลไม่ครบทุกเขต เขตนึงดูแลคนเป็นแสนๆ แต่ไม่มีโรงพยาบาล หลายเขตพึ่งพาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรืออย่างโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลภูมิพล ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลของ กทม. การเจ็บป่วยไม่ได้มีเรื่องของการป้องกัน เรื่องโครงสร้างการดูแลปฐมภูมิ เรื่องของการควบคุมโรค การดูแลรักษาผู้ป่วยเชิงลึก โครงสร้างพื้นฐานของ กทม. ระบบบริการสุขภาพที่ผ่านมามีการลงทุนน้อยมาก มีการพัฒนาระบบน้อยมาก

โควิดทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า บ้านนอกอย่างน้อยเจ็บป่วยก็มีอนามัยดูแล สงสัยป่วยโควิดก็ได้ตรวจ swab ตรวจแล้วผลเป็นลบอีก 7 วันนัดมาตรวจใหม่ ต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน กทม. โดยสิ้นเชิง ประเด็นโครงสร้างระบบบริการสุขภาพของ กทม. ต้องการการลงทุนอย่างมาก ในอนาคตอันใกล้ต้องปรับระบบขนาดใหญ่ เราคาดหวังกับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ซึ่งไม่รู้จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ อยากให้เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของผู้ว่าฯ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหามันก็จะเรื้อรังระยะยาว ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทำงานหนักมากนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่ทำงาน แต่เขาทำงานหนักภายใต้ข้อจำกัดโครงสร้างการทำงานที่เล็กมาก เจ้าหน้าที่น้อยมากทำงานไม่ไหว ดูแลไม่ไหว

-การกู้วิกฤตโควิด-19 สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการจัดการโดยเร่งด่วนคืออะไร
เปิดจุดตรวจให้มากที่สุด เพิ่มจุดพักคอย จากการลงพื้นที่ของเราจุดที่เราลงตรวจให้ชาวบ้าน เราใช้วัด มัสยิดใช้ลานชุมชน ลานกลางแจ้ง กางเต้นท์ใต้ทางด่วน เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอำนวยความสะดวกได้ เราแทบไม่ได้ใช้โรงเรียน อาคารสถานที่ราชการ เรารู้สึกได้ว่าหน่วยราชที่ กทม. ยังไม่สามัคคี ไม่ทุ่มเท ทั้งๆ ที่หน่วยราชการมีเยอะมาก อาคารหน่วยราชการเยอะมาก ซึ่งโรงเรียนเป็นอาคารที่น่าสนใจมากที่สุด ถ้าเป็นในต่างจังหวัดโรงเรียนจะถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เป็นศูนย์พักคอย แต่ใน กทม. ทรัพยากรที่มีไม่ถูกระดมมาใช้กู้ภัยโควิด กับประชาชนต้องเผชิญหน้าอยู่กับเหตุการณ์ด้วยตัวเอง โดยมีกระทรวงสาธารณสุข หรือ กทม. ทำงานกันเต็มที่แต่ก็ไม่ไหว เพราะว่าเป็นการทำงานภายใต้ทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบราชการที่มันแตกตัวมาก

-ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องให้รัฐระงับการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหวังเพิ่มการฉีดวัคซีนให้คนไทยลดอัตราการเสียชีวิต
อัตราการติดเชื้อมันไกลเกินกว่าควบคุมการแพร่ระบาดด้วยวิธีมาตรฐาน ระบาดไปไกลมากแล้ว วิธีการควบคุมระบาดมีวิธีเดียวก็คือฉีดวัคซีนให้ถ้วนหน้า แต่ว่าวัคซีนที่เราได้มาน้อยมากในปัจจุบัน รัฐพูดเองว่าแอสตร้าฯ ได้เดือนละ 10 ล้านโส แต่เอาเข้าจริงได้เดือนละ 5 ล้านโดส ซึ่งมันไม่พอ ซิโนแวคก็เป็นวัคซีนที่ไม่มีใครอยากฉีด การระบาดแย่ลงมากไม่เฉพาะใน กทม. ตอนนี้เราระดมฉีดวัคซีนอย่างหนักใน กทม. แต่ต่างจังหวัดมีการฉีดน้อย ขาดแคลนวัคซีนด้วย

เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเรามีวัคซีนมากขึ้น ดูรัฐบาลก็ไม่มีความสามารถในการจัดหาวัคซีนได้ ได้รับบริจาคล็อตเล็กๆ เดือนละ 4 - 5 แสนโดส 1 ล้านโดส ก็ไม่พอ ฉะนั้น ช่องทางกฎหมายที่เราทำได้ตาม พ.ร.บ วัคซีนแห่งชาติ คือการจำกัดการส่งออก จัดการได้ตามกฎหมาย เป็นหนึ่งในข้อเสนอต่อรัฐครับ จริงๆ เรามีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณวัคซีนในประเทศ ถ้ารัฐบาลสามารถใช้มาตรการอื่นจัดการวัคซีนด้วยวิธีการอื่นมาได้ เราก็ยินดีไม่ต้องมาใช้มาตรการทางกฎหมายเช่นนี้ แต่ถ้าหาไม่ได้เลยจริงๆ เราคิดว่านี่คือสิ่งที่จำเป็น มิเช่นนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศจะแย่มาก เปิดประเทศ 120 วันจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง อัตราการตายจะสูงขึ้น อัตราการแพร่ระบาดจะสูงขึ้น อัตราการแพร่ระบาดจะเพิ่ม 4 - 5 หมื่นคนต่อวัน วัคซีนคือคำตอบในการทำให้การแพร่ระบาดลดลง อัตราป่วย อัตราตายลดลง

-การบริหารวัคซีนเราพลาดตรงไหน ประเทศไทยถึงเดินมาถึงจุดนี้
 

อดีตสถานการณ์เราดีจริงนะ ผู้ติดเชื้อน้อย เราควบคุมการระบาดได้ดี ก็คงทำให้เราประมาทไปในเรื่องการจัดกาวัคซีน พอเราจองวัคซีนช้า ระบบราชการที่เทอะทะเต็มไปด้วยขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย ยิ่งทำให้การจองวัคซีนช้า จ่ายเงินช้า ทุกอย่างช้าไปหมด วัคซีนธุรกิจไม่ใช่วัคซีนการกุศล แล้วเราเชื่อมั่นในสยามไบโอไซเอนซ์ว่าจะผลิตวัคซันได้มาก พอผลิตได้น้อยว่าที่ประมาณการณ์ไว้ก็ส่งผลให้มีวัคซีนไม่เพียงพอ ก็มีแต่ซิโนแวคที่เราซื้อได้ตลอด แต่ว่าผู้คนตั้งคำถามต่อซิโนแวคอย่างมาก ที่พลาดไปแล้วไม่เป็นไรนะ แก้ไขให้ได้ แก้ไม่ได้มันก็ไม่ไหว

-ประเด็น ร่าง พ.ร.ก. คุ้มครองบุคลากรสาธารสุข กับข้อครหานิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คุณหมอมีความเห็นอย่างไร
มี 2 ประเด็นนะครับ โดยส่วนตัวเชื่อว่าความตั้งใจของผู้เสนอ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ตั้งใจดูแลบุคลากรที่ฉีดวัคซีนถ้ามีปัญหาจะได้ไม่ต้องรับผิด แต่ว่าด้วยความไม่เชื่อมั่นของผู้คนต่อรัฐบาลรวมถึงความไม่ชัดเจนของเป้าหมายในการออก พ.ร.ก ฉบับนี้ ว่าจริงๆ แล้วควรจะเอาแค่ผู้ปฏิบัติก็เลยทำให้มีความสับสน ผมว่าเริ่มต้นง่ายที่สุดคือการรับฟังเสียงให้กว้างขวางแล้วทำให้เรื่องนี้มันโปร่งใส ไม่ควรเป็นเหมาเข่ง ให้เวลากระทรวงฯ พิจารณา ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง

 
-จะมีปฏิบัติแพทย์ชนบทบุกกรุง ครั้งที่ 4 หรือไม่
ไม่แน่ครับ เราอยากเห็น กทม. รวมมือจัดการตัวเองให้ได้ เราไม่ได้ต้องบุกกรุงเทพฯ เราจะอยู่ต่างจังหวัด โมเดลตรวจเชิงรุกของแพทย์ชนบทใช้ได้ทั่วประเทศไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะ กทม. อย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเริ่มมีการนำโมเดลไปใช้แล้ว

-ทราบว่าทีมแพทย์ชนบทกว่า 400 คนที่ร่วมปฏิบัติการในกรุงเทพฯ มากันโดยความสมัครใจ ทุกคนฉีดวัคซีนกันครบแล้วใช่ไหม
อัตราการติดเชื้อในกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ชุมชนแออัดสูงมาก ทีมที่ลงพื้นที่จะฉีดเข็ม 3 มาเลย ส่วนใหญ่ ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าฯ เข็ม 3 ถ้วนหน้า เพราะไฟเซอร์มาช้ามาไม่ทันเราบุกกรุง เรามากันด้วยความสมัครใจ

- ปฏิบัติงานด่านหน้ามีความเสี่ยงสูง ทีมแพทย์ฯ มีความรู้สึกหวาดกลัวบ้างไหม
ทั้งตัวผมเองและทุกคนที่มากลัวติดโควิดหมดเลยนะ แต่เราก็เป็นเหมือนทหาร ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เราก็ได้วัคซีนเข็มที่ 2 เข็มที่ 3 มากกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนสักเข็ม ทีมที่มาฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 3 ให้กับตัวเองก่อนเดินทางมา กทม. เรามีชุด PPE หน้ากาก N95 มีองค์ความรู้มากกว่าใคร เราแต่งตัวได้รัดกุมมากในการปฎิบัติงานเมื่อเทียบกับภาคประชาชนที่มาช่วยงานเรา พวกเขาน่าเป็นห่วงกว่าเราเยอะ เขามาช่วยเราเรียกคิวมาช่วยลงทะเบียน การแต่งกายรัดกุมน้อยมากอุปกรณ์ก็ขาดแคลน เรามีความเสี่ยงติดโควิดจริง แต่จริงๆ เราเสี่ยงน้อย

ปฎิบัติการบุกกรุงครั้งที่ 2 มีพยาบาลจังหวัดน่าน ติดโควิด จาก 120 คน ปฎิบัติการบุกกรุง ครั้งที่ 3 ก่อนกลับเราตรวจมีคนติดแล้ว 1 คน ยังต้องติดตามกันว่าพวกเราจะติดโควิดกันกี่คน แต่ถึงติดโควิดก็ไม่เป็นไร เพราะเราเป็นบุคลากรการแพทย์ เรามียาฟาวิพิราเวียร์ โรงพยาบาลเราก็มีเตียง เราเป็นชนชั้นสูงในสายสุขภาพ เราเข้าถึงบริการอยู่แล้ว ติดโควิดก็กักตัวรักษาไม่ใช่ปัญหา เราไม่ใช่ชาวบ้านคนด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงบริการ เราไม่ได้ลำบาก แต่เราก็ตรวจตัวเองเพื่อให้เรารู้ให้ไม่ติดคนอื่นในครอบครัว เรามีวินัยในการปฏิบัติงาน เราป้องกันตัวเองดีมีโอกาสติดโควิดน้อยมาก

ผมชื่นชมทีมงานที่มามากเลยนะ มากันตั้ง 40 ทีม 400 คน มันสะท้อนถึงจิตวิญญาณอุดมคติที่มันยังมีอยู่ในตัวบุคลากรสุขภาพ ใครไหวก็มา โรงพยาบาลไหนไหวก็มา ครูบาอาจารย์สอนให้เราทำงานเพื่อชาวบ้าน เพื่อผู้คน จิตวิญญาณยังมีอยู่ซ่อนอยู่ถึงเวลาวิกฤตมีคนอาสามา
 
 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ