10 ม.ค. 2564 นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "โควิดมาเฟีย !" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีเนื้อหาดังนี้

ถาม โควิด ๒ ต่างกับโควิด ๑ อย่างไร


ตอบ โควิด ๑ เป็นโควิดโลกาภิวัฒน์ ที่แพร่เข้าบ้านเราตามความใกล้ชิดกับต่างประเทศแต่โควิด ๒ เป็น โควิดมาเฟีย ที่มีชุมชนแรงงานเถื่อนสมุทรสาคร กับบ่อนพนันตอนเหนือตะเข็บชายแดนพม่า และอาณาจักรบ่อนตะวันออก เป็นฐานส้องสุมโรค

ฐานโควิดทั้งสามฐานนี้ล้วนเกิดจากโครงข่ายมาเฟียทั้งสิ้น แพร่เข้ามาแล้วก็กระจายได้กว้าง เร็ว เงียบ เรามัวแต่ดักโรคที่สุวรรณภูมิ กว่าจะรู้ตัวว่าเข้าบ้าน เข้าห้างแล้ว ก็ไล่ตามไล่ตรวจกันไม่หวาดไม่ไหว จนวันนี้ก็ถึงขั้นต้องตั้งด่านตรวจกักกันกันทั้งภาคเลย

วิกฤตทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าบ้านเราไม่มีโครงข่ายมาเฟียบ่อนพนันและมาเฟียค้าแรงงานเถื่อน ที่เติบกล้าครบวงจรแล้ว

ถาม เติบกล้าครบวงจรอย่างไร

ตอบ ระบบมาเฟียนั้น มันต้องมีการจับมือกันระหว่างซุ้มผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยต้องจัดตั้งกันจนเป็นระบบเลยทีเดียว อย่างบ่อนระยองนี่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ระบุว่าถึงขั้นพัฒนาเป็นระบบให้สัมปทาน ที่เจ้าพ่อจ่ายเงินซื้ออำนาจตำรวจด้วยข้อตกลงเดียวกับเจ้าหน้าที่กลุ่มเดียว ก็ซื้อได้เรียบร้อยหมด ซื้อได้พื้นที่ทั้งจังหวัด ได้ความสมยอมของตำรวจทุกเหล่าทั้งโรงพักในพื้นที่และส่วนกลางเช่นกองปราบ และได้ทุกระดับด้วยทั้งจังหวัด กองบัญชาการ และกรม

เมื่อซื้ออำนาจได้เบ็ดเสร็จด้วยการจ่ายเบ็ดเสร็จแบบนี้เมื่อใด ฝ่ายเอกชนผู้ประกอบการ(เจ้าพ่อ)ก็จะมั่นคงพอที่จะลุยลงทุนได้เต็มพิกัด จนระยองกลายเป็นมาเก๊าเมืองไทยไปเลยทีเดียว แล้วก็ยังขยายต่อไปจันทบุรี ชลบุรี อีกด้วย เมื่อโควิดเข้าบ่อนก็ลามเข้าบ้านจนถึงขนาดต้องปิดภาคตะวันออกตรวจกันอย่างที่เห็น

ถาม ถ้าซื้ออำนาจรัฐทั้งระบบอย่างนี้ไม่ได้ ก็ลงทุนจนเป็นองค์การมาเฟียไม่ได้

ตอบ เหมือนคุณเป็นพ่อเลี้ยงแม่สอด ลุยตัดไม้สักในพม่าได้มากมาย ต้องขนเป็นขบวนใหญ่จากแม่สอดมาลงเรือส่งออกที่คลองเตยเป็นสิบคันรถฯ ถามว่าคุณจะผ่านตำรวจมาได้อย่างไร ทั้งตำรวจภูธรตาม สน.รายทาง, ตำรวจป่าไม้,ตำรวจกองปราบ,ตำรวจทางหลวง,ตำรวจวิทยุฯ ทั้งหมดนี้คุณจะควักไปจ่ายไปเป็นด่านๆ ไม่ได้ มันต้องจ่ายครั้งเดียว แล้วให้เขาไปจัดการกันเอง มันถึงจะเป็นไปได้และคุมต้นทุนทางกฎหมายได้

ถาม ก็หนีไม่พ้นระบบขอสัมปทานขนไม้เถื่อนอีก ระบบสัมปทานอย่างนี้ก็ต้องมีมาเฟียอยู่ในฟากตำรวจด้วย ถึงจะจัดการอำนาจตำรวจได้เบ็ดเสร็จทุกส่วน

ตอบ ถูกต้องครับ เฉพาะสัมปทานบ่อนนี้ กำเริบเสิบสานมากตั้งแต่ยุค คสช.แล้ว คุณจะพบว่าในสมัย คสช.นั้น ระบบโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจได้ถูกรื้อทิ้งหมดเลย กล่าวคือ
- ก่อน คสช.นั้น อำนาจโยกย้ายแต่งตั้ง ผู้การ,ผู้กำกับ จะอยู่ที่การประเมินผลและเสนอ กตร. โดยกองบัญชาการต่างๆ โดยระบบนี้การย้ายตำรวจข้ามภาคจะเกิดขึ้นได้ยาก
- ยิ่งไปกว่านั้นการย้ายแต่ละครั้ง จะทำได้เมื่อผู้นั้นดำรงตำแหน่งเกิน ๒ ปีแล้ว ถ้าก่อน ๒ ปี ต้องมีเหตุผลโดยชอบที่อธิบายได้
- ในส่วนของการเลื่อนระดับ ให้ถืออาวุโสเป็นเกณฑ์ เว้นแต่จะมีเหตุผลโดยชอบอันอธิบายได้
คุณลองคิดดูสิครับว่า ถ้าเกณฑ์ทั้งสามข้างต้นถูกรื้อทิ้งไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น คำตอบก็คือ “มาเฟียตำรวจ” นั่นเอง

ถาม คงวิ่งเต้นหรือขายตัว กันได้ทั้งประเทศเลยเป็นแน่

ตอบ นั่นแน่นอนอยู่แล้วครับ เมื่อผู้กำกับหรือสารวัตร ใน สน.ระยอง สิบกว่า สน. จะถูกเตะถูกย้ายเมื่อไหร่ไปไหนก็ได้ แล้วเอาใครมานั่งก็ได้ อาวุโสเท่าใดก็ได้อย่างนี้ ซุ้มอำนาจในกรุงเทพ ก็ย่อมคัดสรรผู้ยอมตนเป็นลูกน้อง มาร่วมอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับสัมปทานบ่อนระยองได้ โดยสะดวก

ในแนวดิ่งนั้นคนไม่ดีจะก้าวข้ามอาวุโสตะกายขึ้นไปครองอำนาจได้ทุกขณะเช่นกัน

ถาม เห็นคุณสนธิระบุว่า คราวที่แล้วมีผู้กำกับในระยอง ชลบุรี ถูกเตะโด่งออกนอกภาค ๒ สิบกว่าคนเลยนะครับ

ตอบ อันที่จริงเขาเตะข้ามภาคกันมาหลายปีแล้ว เพราะช่วง คสช.นั้นมีการซื้อขายตำแหน่งอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถ้าคุณไม่เชื่อไปถามบิ๊กโจ๊กดูก็ได้ แต่พอมาถึงกรณีให้สัมปทานบ่อนตะวันออก มันก็เตะตามความเหมาะสมเพื่อหาคนที่ยอมร่วมมือมาอยู่ระยองเท่านั้น

ถาม เมื่อ คสช.รื้อระบบบริหารบุคคลของตำรวจจนเละเทะอย่างนี้ หลายปีที่ผ่านมานี้ คนดีๆมียางอายมีฝีมือในราชการตำรวจ คงต้องจมอยู่ตามพื้นที่บ้านนอก และหาความก้าวหน้า ก้าวขึ้นมาระดับสูงได้ยากมากใช่ไหมครับ

ตอบ เป็นเช่นนั้น อย่าหวังเลยว่าตำรวจยุคลุงตู่ จะใช้งานเพื่อบ้านเมืองได้อย่างจริงจัง “โควิดมาเฟีย ” ในวันนี้ เป็นผลบั้นปลายของความทรุดโทรมในราชการตำรวจยุค คสช. คุณอย่าไปเพ่งเล็งให้ปราบบ่อนหรือแรงงานเถื่อน หรือย้ายตำรวจเท่านั้น เพราะมันถึงขั้นเป็นโรคช้ำรั่วกันไปแล้ว

ถาม “ช้ำรั่ว” มันเป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ไม่ใช่หรือครับ มันเกี่ยวกับโควิดที่ตรงไหน

ตอบ โรคช้ำรั่วนี้มันกลั้นฉี่ไม่ได้ ก็เพราะระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะมันเสื่อมไปหมดจนถึงหูรูดแล้ว ในทำนองเดียวกันเมื่อระบบตำรวจเสื่อมอาชญากรรมก็ต้องกำเริบไหลเรื่อยออกมาเหมือนปัสสาวะนั่นเอง

ถาม อย่างนี้เราก็ปราบบ่อนไม่ได้

ตอบ ถ้ากล้าจริงลงมือจริงก็ยังพอมีทางจะทำทั้งระบบด้วยตัวระบบเองได้ ไม่ต้องประกาศให้ชาวบ้านแจ้งนายกฯหรอกครับ วิธีนี้ในทางปกครองแล้ว มันน่าอายมาก

ถาม ขณะเดียวกันก็ต้องลงมือปฏิรูปผ่าตัดตำรวจไปด้วยเลย

ตอบ ผมไม่เคยเห็น คสช.เขาเอาจริงปฏิรูปอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เขาปฎิวัติเข้ามาเป็นรัฐบาลประจำเท่านั้น ดูคดีนายบอสเป็นตัวอย่าง จะพบว่าเขาไม่มีเจตจำนงและความกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนอะไรเลย ระบบสำคัญหลายอย่างในบ้านเมืองวันนี้จึงยังทรุดโทรมช้ำรั่วอยู่เหมือนเดิม

ที่ผมเรียก คสช. ว่า “คณะเสียเวลาแห่งชาติ ” จึงไม่น่าจะผิด

ถาม มาวันนี้เลือกตั้งแล้วสืบทอดเป็นรัฐบาลพลังประชารัฐแล้ว แล้วเป็นอย่างไรครับ

ตอบ ก็เป็น พปชร.คือ “พาประเทศช้ำรั่ว ” เสียเวลาไปวันๆเหมือนเดิมไงล่ะครับ

ถาม ฝ่ายค้านช่วยอะไรบ้านเมืองได้บ้างไหม

ตอบ ฝ่ายค้านไม่มี เรามีแต่ฝ่ายแค้นกับฝ่ายล้มเจ้าเท่านั้น ทุกวันนี้รายการขุดคุ้ยบ้านเมืองของคุณสนธิฯกำลังทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านอยู่
โดดเดี่ยวเปิดหน้าลุยอยู่นอกระบบแต่มีคนฟังมากอย่างนี้...น่าเป็นห่วงมากครับ

 

 
กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์
กลางมิ.ย.นี้โควิด19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ. เผยสถานการณ์ โควิด19 ดีขึ้นมาก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเร็วกว่าคาดการณ์กว่าครึ่งเดือน พร้อมปรับระบบดูแลรักษาผู้ป่วย-เตรียมรองรับ Long COVID ลองโควิด

 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่อง ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กรมการแพทย์ ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ยังเตรียมพร้อมการดูแลภาวะลองโควิด โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการคัดกรองและการประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงวางระบบดูแลรักษาติดตามอาการ สิ่งสำคัญคือ มีการบูรณาการการรักษาภาวะลองโควิดไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะลองโควิดรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ให้สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับ มาตรการด้านกฎหมายและสังคมจะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน เช่น การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ บนหลักการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคได้ โดยเฉพาะการคงหลักพฤติกรรมสุขอนามัยที่พึงประสงค์ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรือมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมือบ่อยๆ คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด 19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย

กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์

เกณฑ์พิจารณาโรคประจำถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็น โรคประจำถิ่น ของโควิด19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565  ได้แก่  

1. ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน  เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ในวงกว้างกันอย่างเต็มที่ โดยวิธีการดู คือ ดูแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียง ระดับ 2 และระดับ 3 

2.การฉีดวัคซีนโควิด19  ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้ มากกว่า 60 % ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา  โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%ขึ้นไป ก่อน  1 ก.ค.2565

และ3. จำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา  คูณด้วย 100  จะต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน 

คาดกลางมิ.ย.โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ สธ.ได้มีการเสนอ ระยะดำเนินการแผนและมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยแบ่งการบริหารจัดการ โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นหรือPost pandemic เป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 Combatting ต่อสู้  ช่วง12มี.ค.-ต้นเม.ย.2565
ระยะที่2  Plateau คงตัว  ช่วงเม.ย.-พ.ค.2565
ระยะที่3 Declining ลดลง ช่วงปลายพ.ค.-30มิ.ย.2565
และระยะที่ 4   Post Pandemic  โรคประจำถิ่น/โรคติดต่อทั่วไป ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป
ฉะนั้น เมื่อสธ.ระบุว่าโควิด-19 น่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วกว่าคาดการณ์ราวครึ่งเดือน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางมิ.ย.2565 เนื่องจากคาดการณ์ คือ 1 ก.ค.2565 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1005081?anf=

 
  
 

ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,354  ราย เสียชีวิตอีก 16 คน “บิ๊กตู่” ห่วงกลุ่ม 608 และผู้ไม่ฉีดวัคซีน ย้ำควรถลกแขนไปให้หมอจิ้ม “สมช.” แย้ม 8 ก.ค.เตรียมหารือเรื่องปรับเป็นโรคประจำถิ่น หลังมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาป่วน “สปสช.” แจงด่วน ยันไม่มีลอยแพผู้ป่วยแน่ ยังได้สิทธิเหมือนเดิมแม้ปรับสถานะโรค

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,354 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ  2,350 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการและเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,154 ราย อยู่ระหว่างรักษา 24,115 ราย อาการหนัก 690 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 288 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 16 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 15 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,525,269 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,470,490 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,64 ราย

 
 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งรายงานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 เสียชีวิต ดังนั้นเพื่อลดการรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ จึงขอให้ประชาชนทุกคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไปให้มากขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่ม 608

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 8 ก.ค.ว่า จะพิจารณาแผนการเดินหน้าให้โควิดเป็น Endemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่นตามที่ สธ.และ ศบค.ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 1 ก.ค. แต่เนื่องจากมาตรการที่เราผ่อนคลาย รวมถึงการแพร่ระบาดทำให้ต้องปรับแผน โดยมีการพูดคุยกันมาสองสัปดาห์ ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างปรับแผนให้ชัดเจน แล้วจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะประชุมคือ การประเมินสถานการณ์การผ่อนคลายที่ผ่านมา การประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังมีเชื้อตัวใหม่เข้ามา ซึ่ง สธ.ยืนยันว่ายังมีขีดความสามารถในการรองรับอัตราการครองเตียงอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 9% เราตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 25% ถ้าเกินก็ต้องยกระดับโดย สธ.มีการรองรับไว้ รวมทั้งจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังวันที่ 1 ก.ค. เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการปรับโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นว่า สปสช.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมตามนโยบายรัฐบาลเพื่อรองรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ส่วนที่เข้าใจว่าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.  สปสช.จะลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 ขอชี้แจงและยืนยันว่าไม่มีการลอยแพแต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม

“หลังจากนี้ หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด-19 สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือใช้บัตรประชาชนไปรับเพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากขึ้น 2 ขีด คือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียว เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของ สธ. หรือโทรศัพท์ประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช. เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบ ที่ร้านขายยาได้เช่นกัน”

                    นายจเด็จกล่าวว่า กรณีกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ส่วนอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิยูเซปพลัสเข้ารักษา รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนของสายด่วน สปสช.1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องโทร.แจ้งแล้ว แต่หากสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร ให้โทร.สอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลง จะต้องทำอย่างไรต่อ  หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาใน รพ. ก็โทร.ได้เช่นกัน

"เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่ดูแล รัฐก็ยังดูแลอยู่ภายใต้งบประมาณจากกองทุนต่างๆ ยืนยันว่าไม่ได้ลอยแพผู้ป่วย ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม" นพ.จเด็จกล่าว

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ค. บอร์ด สปสช.จะประชุมหารือเพิ่มค่าใช้จ่ายหมวดโควิด-19 เดิมที่ได้รับงบประมาณที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน จะนำมาอยู่ในงบบัตรทอง ซึ่งตามหลักการจะเปลี่ยนจากการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นงบระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละระบบแทน

"โรคโควิด-19 แม้จะไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรง แต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถฉุกเฉินได้ เมื่อประชาชนป่วยเป็นโรคโควิด-19 เกิดหายใจไม่สะดวก มีอาการเข้าข่ายยูเซป เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต หรืออยู่ในกลุ่มอาการสีแดง ก็สามารถเข้ารักษาได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่ระบบสำรองเอาไว้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว-สีเหลือง ก็เข้ารักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่” พญ.กฤติยา กล่าว.

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/one-newspaper/172902/

กลไกตลาด? ทำไม คนไทยต้องซื้อ 'ATK' แพงกว่าชาวโลก

 
ความพยายามหา ซื้อชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit หรือ "ATK" มาใช้คัดกรองด้วยตัวเองในบ้านกำลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน ATK ก็กำลังกลายเป็นสินค้าที่ถูกตั้งคำถามถึงราคาจำหน่ายที่สูงเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ

โดยราคาจำหน่าย ATK ในประเทศไทย เฉลี่ยชุดละ(ใช้1ครั้ง) 350-400 บาท  ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) จำนวน 29 ราย( ณ 10 ส.ค.ปัจจุบัน  12 ส.ค.รวม 34 ราย ) ในหลากหลายรูปแบบและวิธีการใช้ จากแหล่งนำเข้าต่างๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น ทั้งนี้ราคาATKในไทยนับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก สำหรับประชาชนเพราะการตรวจที่ว่านี้ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ บางรายอาจต้องทำทุกวัน 

 

จากการสำรวจราคา ATK จากเวบไซด์ออนไลน์ ในต่างประเทศ พบว่า มีราคาเฉลี่ยเพียง1 ชุด / ใช้ 1 ครั้ง เพียงชุดละ  100 บาท โดยเวบไซด์ออนไลน์ชื่อดังของจีน อย่าง 

-Alibaba จำหน่ายเฉลี่ย ชุดละ 0.88-1.19 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 60-100 บาท รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ในการนำเข้า

-eBay เฉลี่ยที่ 80-180 บาท 

-Amazon เฉลี่ยที่ 165 บาท 

“ราคาจำหน่ายในไทยค่อนข้างสูงมากเพื่อเทียบกับราคาจำหน่ายในต่างประเทศ ที่แม้จะรวมค่าใช้จ่ายการขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นถ้ามี เพราะไทยประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องมือแพทย์มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ยังพบว่าราคา ATK ที่คนไทยจำเป็นต้องใช้นั้นยังมีราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยทั่วโลกกว่าเท่าตัว”

 

162868735188

 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า “ชุดตรวจATK ที่วางขายในท้องตลาดขณะนี้ มีประมาณ 10 ยี่ห้อ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ชุดละ 250-350 บาท ส่วนยี่ห้ออื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาราคาขาย”

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)ที่มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมีมติ ให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน และมีกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้บังคับการตำรวจ ปคบ เป็นกรรมการ รวม 11 ท่าน มีอำนาจหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์ สถานการณ์ของ ATK และกำหนดแนวทางมาตรการกำกับดูแลการจำหน่าย ATK ให้เป็นธรรมอีกชั้นหนึ่ง

รัฐมีเครื่องมือทั้งราคาเปรียบเทียบกับต่างประเทศซึ่งพอจะเป็นไกด์ไลน์ถึงราคาที่เหมาะสมและการรักษาปริมาณสินค้าไม่ให้หายไปจากตลาดหากแผนการแจกATKของสปสช. 8.5 ล้านชุดเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแท้จริง  อาจทำให้การขายATKในตลาดจากนี้ ผู้นำเข้าต้องพิจารณาว่าธุรกิจนี้ควรมีกำไรในสัดส่วนที่เท่าไหร่ 

 

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/954225?anf=

มอสโก 15 ก.ค.- กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีความปลอดภัย หลังจากทดลองทางคลินิกกับอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง 

 

กระทรวงแถลงวันนี้ว่า อาสาสมัครกลุ่มแรก 18 คนเสร็จสิ้นการทดลองแล้วโดยไม่มีผลตรงกันข้ามร้ายแรง อาการทางร่างกาย อาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงใด ๆ ผลการทดลองนี้ทำให้สามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่าวัคซีนปลอดภัยและมีความทนต่อยาอย่างดี แต่ไม่ได้ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่ ขณะที่แพทย์ในคณะทดลองเผยว่า ภูมิคุ้มกันของอาสาสมัครทำงานด้วยดี ร่างกายกำลังสร้างสารภูมิต้านทาน ถือว่าได้รับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว รัสเซียมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากเป็นอันดับสี่ของโลก ยอดสะสมอยู่ที่ 746,369 คน เสียชีวิตเกือบ 12,000 คน

นายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรายงานต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินช่วงโรคโควิด-19 ระบาดหนักในรัสเซียเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมว่า คณะนักวิจัยของกองทัพกำลังพัฒนาวัคซีนร่วมกับสถาบันกามาเลียในกรุงมอสโก อาสาสมัครรับวัคซีนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ถูกแยกดูอาการในโรงพยาบาลทหารเบอร์เดนโก ผลการตรวจสุขภาพทุกวันเป็นเวลา 28 วันพบว่า สัญญาณชีพที่ประกอบด้วยอุณหภูมิ ชีพจร การหายใจและความดันโลหิตยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทหารนายหนึ่งที่เข้าร่วมการทดลองกล่าวก่อนออกจากโรงพยาบาลว่า ตนเองมีภูมิคุ้มกันร้อยเปอร์เซนต์แล้ว ส่วนอาสาสมัครกลุ่มที่สองที่รับวัคซีนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนยังคงอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอยู่ กระทรวงคาดว่า จะเสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกภายในสิ้นเดือนนี้.-สำนักข่าวไทย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.mcot.net/

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.mcot.net/viewtna/5f0eeffee3f8e40af846782f?read_meta=%7B%22label%22:%22articlepage_number1%22%7D

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ