"วัคซีนเข็ม 3" เคลียร์ชัดจำเป็นมั้ย แต่ "วัคซีนเด็ก" เห็นแย้ง ไม่แนะนำให้ฉีด 

"หมอสันต์" เคลียร์ชัด "วัคซีนเข็ม 3" จำเป็นมั้ย แต่ วัคซีนเด็ก เห็นแย้ง ไม่แนะนำ ยังไร้ข้อมูล ฉีดเด็กป้องกันคนแก่ในบ้าน

อัปเดตสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง การ "ฉีดวัคซีน" ดูจะเป็นสิ่งที่จำเป็น
ที่สุดในช่วงเวลานี้ แต่ก็ยังมีหลายคนตั้งคำถามว่า "วัคซีนเข็ม 3" จำเป็นมากน้อยแค่ไหน จะฉีดหรือไม่ฉีดดี ล่าสุด "หมอสันต์" นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์ โดยตอบข้อซักถามที่ระบุว่า 

เรื่อง ณ วันนี้ "วัคซีนเข็ม 3" ก็ยังคงไม่น่าไปฉีดใช่ไม๊คะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์
จากที่คุณหมอเคยตอบเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามนั้น ตอนนี้ได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างหลาย ๆคนให้ไปฉีดเข็มสาม ฟังข่าวจากหลายแหล่ง หลายหมอ ก็แนะนำให้ฉีด เราก็เถียงด้วยข้อมูลที่คุณหมอสันต์เคยแนะนำ แต่มาถึงวันนี้ คนรอบ ๆ ตัวเราก็บอกว่าข้อมูลเราเก่าเกินไปแล้ว เลยอยากขอเรียนถามคุณหมอว่า ณ วันนี้ ถ้าถามคุณหมอว่าเราควรฉีดกระตุ้นเข็มสามหรือไม่ คุณหมอยังคงแนะนำเช่นเดิมรึเปล่าคะ หรือมีอะไรแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการตัดสินใจว่าวัคซีนกระตุ้นเข็มสามจำเป็นรึเปล่าคะ รบกวนคุณหมอช่วยชี้แนะด้วยนะคะ เพราะเถียงกันในครอบครัวเกือบทุกวันว่าจะฉีด หรือไม่ฉีด เป็นห่วงคุณแม่ ซึ่งอายุ 82 ด้วยค่ะ ตัดสินใจยังไงดีคะ ขอบพระคุณคุณหมอสันต์ค่ะ

 

"หมอสันต์" ตอบว่า

  1. ถามว่าแผนวัคซีนโควิดโดยทั่วไป อย่างไรถึงจะเรียกว่าวัคซีนไม่พอหรือไม่ update ตอบว่า ณ ขณะนี้หากถือตามศูนย์ควบคุมโรคอเมริกา หากหลังวัคซีนเข็มสองแล้วภายใน 5 เดือนยังไม่ได้วัคซีนเข็มสาม ถือว่าวัคซีนไม่พอ หรือไม่ update ครับ
  2. ถามว่าเขามีหลักฐานอะไรที่เชียร์ให้ฉีดเข็มสาม ตอบว่า เขาใช้วิธีตรวจวัดปริมาณภูมิคุ้มกันต่อโควิดในเลือด (immunoglobulin) ครับ ไม่ได้ใช้อัตราการติดเชื้อจริง เพราะข้อมูลอัตราการติดเชื้อเปรียบเทียบคนฉีดเข็มสามกับไม่ฉีดยังไม่มีครับ
  3. ถามว่าเมื่อยังไม่มีข้อมูลว่า "วัคซีนเข็ม 3" จะลดการติดเชื้อจริงหรือไม่ มีแต่ว่าเพิ่มจำนวนโมเลกุลภูมิคุ้มกันได้ แล้วการฉีดวัคซีนเข็มสามจะคุ้มความเสี่ยงไหม ตอบว่า ก็ในเมื่อไม่มีข้อมูลการติดเชื้อจริงมาเปรียบเทียบในรูปของการวิจัย RCT ก็จึงยังไม่มีใครจะตอบข้อนี้ได้สิครับ ดังนั้น ผู้รับวัคซีนต้องตัดสินใจว่า จะรับหรือไม่รับ เอาจากดุลพินิจของตัวเองครับ
  4. ถามว่าการฉีดเข็มสามจะนำไปสู่เข็มสี่ ห้า หก หรือไม่ ตอบว่ามันนำไปสู่เข็มสี่ ห้า หก แน่นอนครับด้วยคอนเซ็พท์ของการต้องคอย update วัคซีนให้ภูมิคุ้มกันคงอยู่ในระดับสูงตามที่ผมนิยามไว้ในข้อ 1. เพราะแผนวัคซีนของโควิด มีแนวโน้มจะทำแบบแผนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อย่างสมัยนี้ไข้หวัดใหญ่ต้องฉีดกันปีละครั้งทุกปี ทุกคนที่อายุเกินหกเดือน ผมเดาเอาว่าวัคซีนโควิดจะออกมาอีหรอบเดียวกัน เพราะทุกฝ่าย (ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้สั่งจ่าย ผู้ใช้) ต่างเฮโลกันไปทางนั้น ผมเดาเอาว่ามันจะเป็นเช่นนี้ไป จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อมีหลักฐานที่หนักแน่นโผล่ออกมาว่า มันไม่คุ้ม เพราะผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งจะมีวันนั้นหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบครับ

5. ถามว่าหมอสันต์มีจุดยืนอย่างไรในการฉีดวัคซีนโควิด ตอบว่า

  • เรื่องวัคซีนเข็ม 3, 4, 5, 6 ในผู้ใหญ่ ข้อมูลยังไม่พอที่จะแนะนำอะไร ดังนั้น ตัวใครตัวมันครับ เอาแบบที่ท่านชอบ
  • เรื่องวัคซีนโควิดในเด็ก แม้ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก โดยอ้างว่าความเสี่ยงของการไม่ฉีดเท่า หรือมากกว่าโรคหัด ซึ่งเป็นโรคที่เราจับเด็กฉีดวัคซีนหมด แต่ผมเองมีคำแนะนำที่ไม่เหมือน CDC คือ ผมแนะนำว่า เด็กไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดใน พ.ศ.นี้ เพราะความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นอะไรไปเพราะโรคโควิดนั้นมีน้อยมาก (นี่ผมยังไม่เกี่ยงว่า วิธีประเมินอัตราตายของเด็กจากโควิดของทางอเมริกานั้น ใช้วิธีแบบเหมาโหล ซึ่งต่างจากวิธีของอังกฤษ ซึ่งใช้วิธีวิเคราะห์เหตุเป็นรายคนนะ) ขณะที่ความเสี่ยงของวัคซีนโควิดต่อเด็กในระยะยาวยังไม่มีใครทราบเลย คือวิธีการผลิตวัคซีนทั้ง DNA และ RNA เนี่ยมันพิศดารมากนะครับ อ่านกระบวนการผลิตแล้วมันอะเมซซิ่ง ยิ่งกว่าอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เสียอีก หากไม่มีโควิดมา ผมว่าต้องรออีกไม่รู้กี่สิบปี กว่าวัคซีน DNA และ RNA จะได้ออกมาใช้ แต่เพราะโควิด เราจึงเอามันออกมาใช้แบบพรวดพราด ดังนั้นมันต่างจากวัคซีนหัด ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าความเสี่ยงของวัคซีนหัดต่ำมาก แต่วัคซีนโควิดนี่ต้องรออีก 20 ปีจึงจะทราบ ชั่งน้ำหนักแล้ว ประโยชน์มีน้อยแน่นอน ผลเสียอาจมากหรือน้อยยังไม่รู้ ส่วนประเด็นที่ว่า ฉีดเด็กเพื่อป้องกันผู้ใหญ่นั้น หึ หึ นับถึงวันนี้ ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวนะครับ ที่จะยืนยันว่าการฉีดวัคซีนให้เด็ก จะป้องกันผู้ใหญ่ที่บ้านไม่ให้ป่วยได้

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป ผมจึงแนะนำว่า เด็กยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดครับ นี่เป็นคำแนะนำส่วนตัวนะครับ ซึ่งอาจไม่เหมือนกับแผนวัคซีนของชาติ หรือแผนวัคซีนของ CDC สหรัฐ แต่ผมยอมพูดแม้จะแตกต่างจากแผนวัคซีนของชาติ เพราะในฐานะแพทย์ ผมมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูล และแนะนำอะไรบนข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ นับถึงวันนี้ที่ตัวผมเองชั่งตวงวัดได้ หากท่านผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลมากกว่าที่ผมมีแล้ว ช่วยบอกผมมาเอาบุญ หากผมประเมินแล้วว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อได้จริงในเชิงวิทยาศาสตร์ ผมก็เปลี่ยนคำแนะนำของผมตามข้อมูลใหม่ได้ครับ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/505060?adz=

"วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นไหม" วันที่ Omicron เป็นสายพันธุ์หลัก ไม่หายใน 6 เดือน
 
 

"วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นไหม" ในวันที่ "โอไมครอน" ระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก และไม่หายใน 3-6 เดือน หมอมนต์เดช ตอบแล้ว วัคซีนเข็มที่ 4 ยังจำเป็น พบภูมิจากเข็มที่ 3 ไม่เพียงพอ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย แม้จะมีผู้ติดเชื้อลดลง แต่สังคมยังมีคำถามประเด็นเรื่อง "วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นไหม" โดย ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ให้มุมมองว่า หากจะรับมือกับ โอไมครอน อย่างอยู่หมัด วัคซีนเข็มสี่อาจมีความจำเป็น

 
 

เจาะประสิทธิภาพเข็มสามต่อสายพันธุ์โอไมครอน

หลังจากที่เราใช้ชีวิตอยู่กับโควิด19 มากว่า 2 ปี เป็นที่ทราบกันดีว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนต่อเชื้อไวรัสนั้นจะเริ่มลดลงหลังจาก 6-8 เดือน นั่นจึงเป็นที่มาของการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอไมครอน ผศ.นพ. มนต์เดช อธิบายว่า "ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนมีจุดกลายพันธุ์มากถึง 30 จุดที่ส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ ทำให้หลุดรอดภูมิต้านทานได้มากกว่าเดิม และทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน 2 เข็มอาจไม่เพียงพอ"

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ซึ่งทำการศึกษาระหว่างการแพร่ระบาดของโอไมครอน (พฤศจิกายน 2564 - มกราคม 2565) พบว่า วัคซีนแอสตราเซนเนกาแทบไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้เลย หลังจากได้รับวัคซีน 2 เข็มตั้งแต่ 20 - 24 สัปดาห์ ในขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์อยู่ที่ 65.5% ก่อนจะลดลงเหลือเพียง 8.8% หลังจาก 25 สัปดาห์ และวัคซีนโมเดอร์น่าอยู่ที่ 75.1% ก่อนลดลงเหลือ 14.9% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลวิจัยระบุว่า หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สาม ชนิด mRNA วัคซีนสามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับหลังจากได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก อย่างไรก็ตาม ระดับภูมิต้านทานมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างเร็ว โดยหลังจาก 10 สัปดาห์ ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สามลดลงเหลือ 39.6% หากได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็มแรก และเหลือ 45.9% หากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มแรก ในขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนโมเดอร์น่าภายหลัง 5 - 9 สัปดาห์ลดลงเหลือ 60.9% และ 64.4% ตามลำดับ

ผศ.นพ.มนต์เดช อธิบายต่อว่า "ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิผลของวัคซีน mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์น่าในการเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ในระดับที่ดี แต่วัคซีนทั้ง 2 ชนิดอาจไม่ได้เป็นเหมือนพี่น้องฝาแฝดกันเสียทีเดียว จากผลการศึกษา พอจะสรุปได้ว่า วัคซีนโมเดอร์น่าถือว่ามีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า และความคงทนของภูมิต้านทานที่นานกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการใช้งานจริงของวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ในช่วงสายพันธุ์เดลต้าระบาดในหลายประเทศ เช่น อิสราเอล กาตาร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา"

ผลข้างเคียง mRNA น่ากังวลแค่ไหน

วันนี้วัคซีน mRNA มีการใช้กันมากขึ้นในประเทศไทย แต่บางคนอาจยังมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเมดพาร์คทั้งหมด 252,378 โดส ไม่ได้พบผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน

"สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ผลข้างเคียงที่พบมี 3 ราย ได้แก่ 2 รายเกิดอาการชักและความดันโลหิตสูง แต่กลับมาเป็นปกติภายใน 2 - 3 นาที โดยคนไข้มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ ส่วนรายที่ 3 อายุ 90 ปี ความดันโลหิตต่ำและมีอาการถ่ายดำจากเลือดออกทางลำไส้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนฉีดวัคซีน จึงได้รับรักษาตัวใน ICU และอาการดีขึ้นตามลำดับ ในส่วนของโมเดอร์น่า อาการที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย เป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว ง่วงนอน 1 - 3 วัน โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ไม่พบอาการภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่อย่างใด"

ต้องไปต่อหรือไม่กับเข็มสี่

ประเทศไทยได้เริ่มปูพรมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในวงกว้างตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แต่ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนคงตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นจะต้องฉีดเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่สี่มากน้อยเพียงใด ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวว่า "การศึกษาในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าระดับภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างมาก แม้วัคซีนเข็มที่สาม ที่มีประสิทธิภาพที่สุดต่อโอไมครอนอย่าง mRNA ก็ยังยืนระยะได้ไม่เกิน 3-6 เดือน ดังนั้น หากโอไมครอนไม่หายไปภายใน 3 - 6 เดือน การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มสี่ ก็มีความจำเป็น"

สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนชนิดต่างๆ จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ผศ.นพ.มนต์เดช แนะนำว่า "วัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็ม แม้จะรับมือกับสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้าได้ดี แต่ยืนระยะได้ไม่นาน และต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ แต่ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอไมครอนของไฟเซอร์ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และยังลดลงค่อนข้างเร็ว สำหรับ วัคซีน mRNA 3 เข็ม ยังถือว่ารับมือกับโอไมครอนได้ดี โดยเฉพาะหากเข็มที่สาม เป็นโมเดอร์น่า จะยืนระยะได้นานที่สุดประมาณ 6 เดือนหรือน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ผลิตวัคซีนยังคงเร่งศึกษาวิจัยวัคซีนจำเพาะสายพันธุ์โอไมครอน จึงต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป"

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/513508?adz=

"วัคซีนเข็ม 4" Moderna-ไฟเซอร์ ต้าน โอไมครอน หมอ มีคำตอบ อะไรดี แล้วดีต่อใคร
 

"วัคซีนเข็ม 4" ฉีดวัคซีน Moderna-ไฟเซอร์ ต่อ "โอไมครอน" ประสิทธิผลอะไรดีที่สุด แล้วดีต่อใคร หมอดื้อ มีคำตอบให้

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มจำนวน โดยล่าสุด ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อ ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 รวม 2,391 ราย (ยังไม่นับรวม ATK) โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวัน  25 ราย โดยแบ่งจำนวนผู้ติดเชื้อ "โควิด19" เป็น ติดเชื้อในประเทศ 2,391 ราย ไม่มีผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยสะสม 2,327,489 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) แบ่งเป็น 

-หายป่วยกลับบ้าน 1,901 ราย
- หายป่วยสะสม 2,327,441 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
- ผู้ป่วยกำลังรักษา 24,082 ราย

มีจำนวนผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ
- รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 776 ราย
- เสียชีวิตสะสม 9,209 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

โดย "หมอดื้อ" ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค ให้ข้อมูล เรื่องการ ฉีดวัคซีน หลังจากเริ่มมีคำถามว่า วัคซีนเข็ม 4 จำเป็นแค่ไหน แล้วใครเหมาะสมที่ควรได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น วัคซีนเข็ม 4 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 / BA.5 

"หมอดื้อ" ระบุว่า ผลการศึกษา วัคซีนเข็ม 4 mRNA  มีประโยชน์ ในผู้สูงอายุเฉลี่ย 80 ปี กันติดไม่ดีนัก กันมีอาการหนักยังได้ผล แม้เทียบเข็มต่อเข็ม ไม่มากเท่าเมื่อสมัยเดลตาก็ตาม

 

ผลการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็ม 4 ของ Moderna ต่อ "โอไมครอน" (ช่วงระยะต้น ตั้งแต่ ธันวาคม-เมษายน 2565) ในคนอายุเฉลี่ยประมาณ 84 ปี ในสถานดูแลคนชราระยะยาว เมื่อเทียบกับคนฉีดสามเข็มนานกว่า 84 วันขึ้นไป

เข็มที่สี่ มีประสิทธิผลมากกว่าสามเข็ม

  • ในการป้องกันการติดเชื้อ 16%
  • ในการกันการเกิดอาการ 20%
  • ในการกันอาการหนักเข้าโรงพยาบาล 29%

รายงาน 6/7/65 ในวารสาร british medical journal จากการศึกษาในแคนาดา ผลการศึกษา วัคซีนเข็ม 4 ของวัคซีนไฟเซอร์ ในวารสาร JAMA 23/6/65 จากอิสราเอล ในช่วงเวลาใกล้กัน และได้ผลคล้ายกัน ในกลุ่มอายุเฉลี่ยประมาณ 80 ปี และระยะติดตามประมาณ 73 วัน

  • สี่เข็มประมาณ 24,000 คนได้สามเข็มประมาณ 19,000 คน
  • เข้าโรงพยาบาลเพราะอาการเบาถึงปานกลาง 217 ต่อ 493
  • เข้าโรงพยาบาลเพราะอาการหนัก 108 ต่อ 259
  • เสียชีวิต 39 ต่อ 85

ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/522091?adz=

 

 
"วัคซีนโควิด" จำเป็นต้องกระตุ้นเข็ม 4 ช่วยลดติดเชื้อ ป่วยหนักได้เกือบ 5 เท่า
 
 

"วัคซีนโควิด" หมอเฉลิมชัยย้ำคนไทยยังจำเป็นต้องกระตุ้นเข็ม 4 ช่วยลดป่วยหนักได้ดี หากไม่ฉีดเสี่ยงอาการหนักเกือบ 5 เท่า ทิ้งระยะห่าง 4 เดือนกระตุ้นได้ทันที

นพ.เฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความระบุว่า

ความรู้เรื่องCOVID-19 (ตอนที่1117) 2กพ2565

คงจำเป็น !! ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด "วัคซีนโควิด" 4 เข็ม ดีกว่า 3 เข็ม ลดการป่วยหนักได้  4.3 เท่า

จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ ด้วยไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าเดลต้า 4 เท่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า 3.5 เท่า 

ตลอดจนวัคซีน 2 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเหลือเพียง 30% 

แต่เมื่อฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเป็น 60-80% ส่วนการป้องกันการป่วยหนักขึ้นไปที่มากกว่า 80% นั้น

ในประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศแรกของโลก ในการฉีดวัคซีนสามเข็มเป็นการทั่วไป

ขณะนี้ได้เริ่มฉีดเข็มที่ 4 ทั่วประเทศในกลุ่มเสี่ยง คือผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และได้มีรายงานการศึกษาเบื้องต้นว่า ฉีด 4 เข็ม ดีกว่า 3 เข็มชัดเจนดังนี้

กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลได้แถลงในเบื้องต้นว่า จากการศึกษาของหลายสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขพบว่า 

วัคซีน 4 เข็ม สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงในกลุ่มอายุ 60 ปี ได้ดีกว่า 3 เข็ม  3 เท่าตัว และป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่า 2 เท่าตัว

โดยตัวเลขเบื้องต้น คิดจากประชากร 1 ล้านราย ฉีดเข็ม 4 จำนวน 400,000 ราย และเข็ม 3 จำนวน 600,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางศูนย์การแพทย์ Sheba ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มเดียวกันนี้

แต่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 1,138,681 ราย พบว่า "วัคซีนโควิด"  เข็ม 4 กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่า แม้จะยังมีการติดเชื้ออยู่จำนวนพอสมควร โดยที่เคยได้ผลดีกับไวรัสเดลต้า แต่ลดลงในกลุ่มโอมิครอน 

สามารถสรุปได้ว่า

การฉีด "วัคซีนโควิด" เข็มที่ 4 เมื่อผ่านไปมากกว่า 12 วัน เทียบกับฉีดเข็มที่ 3 เมื่อผ่านไปมากกว่า 4 เดือนนั้น

ลดการป่วยรุนแรงได้มากถึง 4.3 เท่า

และลดการติดเชื้อได้ 2.0 เท่า

ดังนั้นคงจะมีความจำเป็น สำหรับสถานการณ์โอมิครอนว่า ถ้าประเทศใดได้มีการฉีดเข็มที่ 3 นานกว่า 4 เดือนแล้ว

อาจจะต้องพิจารณาฉีดเข็มที่ 4 ต่อไป หรืออาจจะไปเริ่มต้นฉีดเข็มที่ 1 ของวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 ถ้าในตอนนั้นมีการวิจัยพัฒนาออกมาเสร็จเรียบร้อย

ดูเหมือนมนุษย์เรา จะต้องวนเวียนอยู่กับวัคซีน เพื่อรับมือกับไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 นี้อยู่ต่อไป อย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้จำเป็นจะต้องมีวินัยในการป้องกันตนเอง ด้วยหลักการเหมือนเดิมทุกประการ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/503894?adz=

 

"วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสูง แนะฉีดหลัง 4-6 เดือน 

หมอยง เปิดระดับภูมิต้านทาน หลังฉีด "วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้น พบมีระดับสูงมากหลังฉีดไป 2 สัปดาห์ แนะนำการกระตุ้นหลัง 4-6 เดือน

"หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan จากตัวอย่างการฉีด "วัคซีนโควิด" ในผู้ใหญ่ไทย ที่มีการตรวจภูมิต้านทานมาโดยตลอด ดังในรูปนี้ เราจะเห็นว่าภูมิต้านทานจะสูงมากหลังฉีดกระตุ้นเพียง 2 สัปดาห์แล้วหลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง ในรายนี้ฉีดวัคซีนมาแล้วทั้งหมดถึง 5 ครั้ง พอสรุปได้ดังนี้

การให้วัคซีน 2 เข็มแรกระดับภูมิต้านทานจะขึ้นไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไร จำเป็นจะต้องให้เข็มที่ 3 เพื่อยกระดับภูมิต้านทานให้สูงขึ้น เพียงพอกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะ โอไมครอน ใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์เดิมอู่ฮั่นค่อนข้างมาก

 

ดังนั้นการป้องกันโรคหรือประสิทธิภาพของวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงในเดือนแรกๆ หลังการฉีดวัคซีนและเมื่อนานเกิน 4 เดือนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเข็มกระตุ้นที่ 3 หรือ 4 ภูมิต้านทานก็จะลดลงในระดับที่ต่ำกว่าระดับป้องกันการติดเชื้อ

แต่อย่างไรก็ตามระบบความจำของร่างกายจะช่วยเสริมการตอบสนองภูมิต้านทานขึ้นอย่างรวดเร็วถ้ามีการติดเชื้อ ทำให้การติดเชื้อมีอาการน้อยลงอย่างมาก และการกำจัดเชื้อ เป็นไปได้รวดเร็วขึ้น

มักมีคำถามเสมอว่าจะกระตุ้นเมื่อไหร่ ซึ่งหลัง 4 เดือนไปแล้วระดับภูมิต้านทานจะลดลงมามาก ตามคำแนะนำจึงแนะนำการกระตุ้นหลัง 4-6 เดือน ไม่ว่าจะเป็น หลังเข็ม 3 หรือเข็ม 4 

ทุกคนควรได้วัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ในกลุ่มเสี่ยงหรือที่มีโรคประจำตัว ควรได้อย่างน้อย 4 เข็ม บุคลากรด่านหน้าหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงก็ควรได้อย่างน้อย 4 เข็ม การกระตุ้นเข็ม 5 อยู่ด้วยความสมัครใจ เพราะขณะนี้มีหลายคนเริ่มถามถึงเข็ม 5 แล้ว เราให้วัคซีนกันมากว่า 1 ปีแล้ว และในอนาคตการให้วัคซีนโควิด ก็คงคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องมีการกระตุ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ที่เป็นโรคแล้วอาจจะรุนแรง

"วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสูง แนะฉีดหลัง 4-6 เดือน

"วัคซีนโควิด" เข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสูง แนะฉีดหลัง 4-6 เดือน

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/519056?adz=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ