"ติดโควิด" ต้องกินยาอะไรบ้าง ? เตรียมพร้อมไว้อุ่นใจกว่า
แม้ว่า “โควิด” จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” แล้ว แต่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และการเข้าถึงการรักษา - รับยา กับโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ดังนั้น ทุกคนจึงควรเตรียม “ยา” จำเป็นเบื้องต้นติดบ้านไว้ให้พร้อมเพื่อความอุ่นใจ

หลังจาก ​บอร์ด “สปสช.” มีมติเห็นชอบ ปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" ตามนโยบายรัฐบาล มีผล 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ยืนยันประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาตามสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รวมถึงก่อนหน้านี้ ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยได้เมื่ออยู่ที่โล่งแจ้ง ทำให้ผู้คนไม่ตั้งการ์ดสูงเหมือนเมื่อก่อน

ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ขยายเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด ยืนยันจากยอดโควิดล่าสุด (14 ก.ค.) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงถึง 2,257 ราย และมีผู้เสียชีวิต 28 ราย

ทั้งนี้ จากยอดโควิดที่พุ่งสูงดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยโควิดรายใหม่จำนวนมากเข้าถึงการรักษาได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเตียงโรงพยาบาลเต็ม, การรอคิวที่ยาวนาน, ปัญหาการลงทะเบียนเข้าระบบการรักษา ที่ปรากฏว่าไม่สามารถลงทะเบียนได้เนื่องจากระบบเต็ม และต้องรอทำใหม่ในวันถัดไป

ถึงแม้ว่า สปสช. จะยืนยันว่า มี "ร้านยา" ที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. พร้อมจ่ายยาให้กับผู้ที่ติดโควิด (อาการไม่รุนแรง และต้องมีสิทธิบัตรทองเท่านั้น) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหาซื้อได้ง่าย เนื่องจากไม่ใช่ทุกร้านยาที่เข้าร่วม ดังนั้น การป้องกันปัญหาเหล่านี้ในเบื้องต้น อาจจะต้องเริ่มด้วยตัวเอง โดยการซื้อยาที่สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้

สำหรับ กลุ่มยารักษาอาการป่วยโควิดเบื้องต้น ที่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่ 

1. “ฟ้าทะลายโจร” 

สำหรับผู้ป่วยระยะแรก ที่ติดโควิด สามารถกินยาสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ได้ทันที โดยผู้ใหญ่ทานครั้งละ 60 มิลลิกรัม เด็กทานครั้งละ 11 มิลลิกรัม เช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกัน 5 วัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพบแพทย์

2. “ยาพาราเซตามอล” แก้ไข้ แก้ปวด 

สำหรับผู้ติดโควิด และมีอาการไม่หนักมาก ยังสามารถดูแลตนเองได้ สามารถกินยากลุ่มนี้เพื่อบรรเทาอาการไข้ และปวดหัว โดยกินยาทุก 4-6 ชั่วโมง ตามอาการ

3. “ยาแก้ไอมะขามป้อม” 

เป็นยาสมุนไพรไทยที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ ในผู้ที่ติดโควิดในระยะแรก และมีอาการไม่หนักมาก จิบยาวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการไอ ระคายคอ เสมหะข้น

4. “ยาขิง”

ใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส ลดอักเสบ โดยเฉพาะลดเสมหะ แก้คัดจมูก เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ขับเหงื่อ โดยกินวันละ 1-2 แคปซูล หลังอาหาร หากอาการดีขึ้น ควรหยุดยา

5. “ยาตรีผลา” 

สำหรับผู้ติดโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงมาก โดยตัวยามีสรรพคุณแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยใช้ ครั้งละ 300 - 600 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการไอ วันละ 3 - 4 ครั้ง

ทั้งหมดนี้เป็นทั้งยาสมุนไพรไทย และยาสามัญประจำบ้าน ที่สามารถหาซื้อได้ทั้งร้านขายยาแผนปัจจุบันและร้านขายยาแผนโบราณ ซึ่งสามารถใช้บรรเทาอาการ ได้เฉพาะผู้ติดโควิดในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

หากใช้ยาดังกล่าวแล้วยังอาการไม่ดีขึ้น ก็จำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาลในสิทธิของท่าน เช่น โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม, โรงพยาบาลตามสิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นต้น  

อ่านเพิ่ม : "สมุนไพรไทย" บรรเทาอาการโควิด-19 และ Long COVID

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1015444?anf=

 

 
"ติดโควิด" หายแล้ว ไม่เจอภาวะ ลองโควิด เพราะอะไร โชคดี หรือ มีภูมิ
 
 

ดร.อนันต์ เปิดผลวิจัย "ติดโควิด" หายแล้ว ไม่เจอภาวะ "ลองโควิด" Long Covid เป็นเพราะอะไร โชคดี หรือ มีภูมิคุ้มกัน

หากพูดถึงภาวะ ลองโควิด (Long COVID) เชื่อว่า หลายคนน่าจะรู้จักกันดีแล้ว โดยเฉพาะคนที่เคยติดโควิด คงรู้สึกกังวล เพราะไม่อยากต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าเชื้อโควิด จะหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย และทำให้ผู้ที่หายป่วยบางราย ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง แล้วคนที่เคยติดโควิด มีโอกาสที่จะไม่เจอภาวะ ลองโควิด หรือไม่ 

(18 ส.ค.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนโควิด แล้วเผลอไปติดโควิดมา ถ้าหายแล้วและไม่มีอาการ ลองโควิด Long COVID จะถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี เพราะภูมิคุ้มกันบริเวณที่ภูมิจากวัคซีนไปไม่ถึงที่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือ ในจมูกของเราจะได้รับภูมิที่ธรรมชาติให้มา และเนื่องจากจมูกเป็นส่วนของร่างกายที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อ และเพิ่มจำนวนของไวรัสการที่มีภูมิคุ้มกันที่พร้อมรบ ภูมิดังกล่าวที่ได้มาก็จะช่วยเรารบในการติดเชื้อซ้ำครั้งต่อไป ถึงแม้จะเกิดขึ้นได้อีก การเพิ่มจำนวนของไวรัสก็จะไม่มากเท่าเดิม

 

ดร.อนันต์ ระบุว่า หลังติดเชื้อ นอกจากในจมูกของเราจะมีแอนติบอดีชนิด IgA รอจับไวรัสในจมูกแล้ว งานวิจัยชิ้นล่าสุดของทีมสิงคโปร์ นำเซลล์ในเยื่อจมูกของผู้ที่ได้รับวัคซีน กับ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อไปเปรียบเทียบดู พบว่า ผู้ที่เคยสัมผัสกับไวรัสตัวจริงในบริเวณจมูก มีเม็ดเลือดขาว T cell ที่จำโปรตีนของไวรัสได้หลายชนิด ที่ไม่จำกัดแค่โปรตีนสไปค์เท่านั้น เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ ถ้าไปเจอเซลล์ที่มีโปรตีนที่จำได้อีกครั้ง ก็จะเข้าทำลายไม่ให้ไวรัสมีเวลาเพิ่มจำนวนได้มากมาย เหมือนก่อนที่ตำแหน่งในจมูกนั้นเอง 

ทีเซล

ทีเซล

ทีมวิจัยพบว่า ในบรรดาโปรตีนที่ T cell ในจมูกจำได้แม่น และจำนวนเยอะที่สุดคือ โปรตีนชื่อว่า Nsp12 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีนสูตรใด ๆ ถ้าไม่เคยติดโควิด เราไม่มีทางมี T cell ที่รู้จักโปรตีนตัวนี้ ที่สำคัญคือ ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์หนีภูมิอย่างไร Nsp12 ดูเหมือนจะอยู่นิ่งมาก ไม่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนสไปค์ ดังนั้น สิ่งที่ T cell จำได้ก็จะใช้งานได้อยู่ แต่น่าเสียดายที่ T cell ในจมูกหลังติดเชื้อลดลงไปตามกาลเวลาเหมือนแอนติบอดี 

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่า ระดับของ T cell ยังไม่เปลี่ยนแปลง 3 เดือน หลังติดเชื้อ แต่พอดูอีกทีที่ 6 เดือนพบว่า ระดับลดลงไปมากกว่าครึ่ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่เห็นคนติดเชื้อซ้ำแล้วมีอาการได้ หลังจากติดเชื้อไปนาน ๆ แล้วนั่นเอง

ทีเซล

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/526655?adz=

 
"ติดโควิด" เพิ่งหาย ไขข้อข้องใจ ควร ฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น ทันที หรือไม่
 
 

"ติดโควิด" เพิ่งหาย ฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น ทันทีได้หรือไม่ "ดร.อนันต์" เปิด ผลวิจัย ไขข้อข้องใจ ภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

"ติดโควิด" เพิ่งหาย ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเลยมั้ย? คนที่เคยติดเชื้อโควิดมา เริ่มมีคำถาม เพราะหลายคนก็เริ่มสับสนว่า ตกลงหลังจากหายจากโควิดแล้ว ร่างกายจะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่หรือไม่ หรือเพิ่งหายจากโควิด ถึงกำหนดได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ควรทิ้งวัคซีนเข็มนั้นไปก่อน หรือไปรับวัคซีนได้เลย แต่ถ้าจะต้องเว้นระยะห่าง ต้องภายในกี่เดือน หลังหายจากโควิด ถึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสต์เฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana ให้ข้อมูลในเรื่องของคำถามที่ว่าติดโควิดเพิ่งหายฉีดวัคซีนได้ไหม ระบุว่า ผมได้คำถามนี้บ่อยมาก และทราบว่าถ้าตอบไปว่ายังไม่ต้อง boost คนที่ถามหลายคนก็ไป boost อยู่ดี เพราะตั้งใจจะไปฉีดอยู่แล้ว แต่บังเอิญคำตอบที่ได้ไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่อยากได้ยิน ผมรองานวิจัยที่จะสนับสนุนแนวคิดนี้มาสักพัก และวันนี้ก็ได้เห็นออกมาจริง ๆ ผลวิจัยมาจากทีมวิจัยกลุ่มใหญ่ของ NIH ของสหรัฐอเมริกา 

  
 
 

โดยทีมวิจัยได้เปรียบเทียบตัวอย่าง 3 กลุ่ม 

  • กลุ่มแรกเรียกว่า Prior-infected คือ คนที่ติดโควิดก่อนโอมิครอน หรือโอไมครอน แล้วไป boost เข็ม 3 หลังติด (คล้าย ๆ กับกลุ่มที่ถามคำถามข้างต้น) 
  • กลุ่มที่สอง เรียกว่า Un-infected คือ คนที่ไม่เคยติดโควิดมาก่อนเลย ฉีดวัคซีนปกติมา และ boost เข็ม 3 พร้อมกลุ่มแรก และ ไม่ติดโอไมครอนใด ๆ ในช่วงที่เก็บข้อมูล 
  • กลุ่มที่สาม เรียกว่า BA-1 post-infected คือ คนที่มา boost เข็ม 3 แล้วติดโอไมครอน BA-1 หลังจากนั้น ในช่วงที่เก็บข้อมูล 

โดยทีมวิจัยเก็บข้อมูลที่ 30 วัน และ 60 วัน หลัง boost เข็ม 3 ในแต่ละกลุ่ม ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร

ดร.อนันต์ ระบุว่า ข้อมูลมีมาก แต่จุดที่เป็นสาระสำคัญที่สุด อยู่ที่ระดับแอนติบอดีก่อน boost เข็ม 3 และ ที่ 60 วัน หลังจากนั้นในกลุ่มที่ 1 แตกต่างจากอีก 2 กลุ่มอย่างชัดเจน 

ทีมวิจัยระบุว่า คนที่ไปติดโควิดมาแล้วไป boost ต่อ ทั้ง ๆ ที่ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของตัวเองยังไม่พร้อมถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ส่งผลให้ วัคซีนไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้ดีเท่าที่ควร ตัวอย่างในกลุ่มที่ 1 นี้ ไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีต่อไวรัสแทบทุกสายพันธุ์ ไม่จำกัดแม้แต่กลุ่มโอมิครอน แสดงให้เห็นว่า ระบบภูมิคุ้มกันต่อการตอบสนองต่อวัคซีนจะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แต่ประเด็นหลัก ๆ คือ การกระตุ้นด้วยวัคซีน ควรดูปัจจัยความพร้อมของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย เนื่องจากบริบทของแต่ละคนแตกต่างกัน

ภูมิคุ้มกันโควิด

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/528374?adz=

 
"ติดโควิด" เลิก กักตัว เปิด 14 ข้อ วิธี ทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อ บ้าน แบบเอาอยู่
 
 

"ติดโควิด" เลิก กักตัว หมอนิธิพัฒน์ เปิด 14 ข้อ วิธี ทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อ ภายใน บ้าน ทั้งอุปกรณ์ ห้องน้ำ แบบเอาอยู่

"ติดโควิด" กักตัว ที่บ้าน หายแล้ว มีวิธีทำความสะอาด หรือ ฆ่าเชื้อ ภายในบ้าน และอุปกรณ์ อย่างไร กำลังเป็นคำถามยอดฮิต หลังจากมีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient with Self Isolation : OPSI) หรือ "เจอ แจก จบ" ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นอีกทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ติดเชื้อ แต่เมื่อหายจากโควิด เลิกกักตัวแล้ว จะทำความสะอาดอย่างไร ไม่ให้มีเชื้อไวรัสโควิด หลงเหลืออยู่ มีคำแนะนำมาให้แล้ว

"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ค นิธิพัฒน์ เจียรกุล ให้ข้อมูลว่า จากคำถามยอดฮิตช่วงนี้คือ มีคนที่บ้านติดโควิด จะทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อห้องพักและอุปกรณ์ทุกชนิดในห้องอย่างไร หลังจากเลิกกักตัวแล้ว ก่อนอื่นมาตั้งหลักคิดกันก่อน คือ ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้ที่จะปฏิบัติงาน และสภาพแวดล้อมภายนอกให้ได้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้มีการทำร้ายสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานจากสารเคมีที่ใช้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ถ้าไม่มีใครใช้งานห้องนั้นต่อ ให้ผู้ติดเชื้อที่ครบระยะกักตัวเป็นผู้ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อก่อนออกจากห้องตามรายละเอียดด้านล่าง แล้วให้เปิดหน้าต่างห้องทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มใช้งานใหม่ แต่ถ้าคนในห้องไม่สามารถทำได้เอง ให้ช่วยทำให้มากที่สุด เพื่อลดภาระคนที่อยู่นอกห้อง โดยทิ้งเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้าทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อในห้อง

 

แนวทางทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ หลังเลิกกักตัว จาก ติดโควิด

แนวทางทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ หลังเลิกกักตัว จาก ติดโควิด
 

2. เลือกใช้น้ำยาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อตามคำแนะนำ อ่านและทำความเข้าใจวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด พร้อมการแก้ไขขั้นต้น ถ้าได้รับพิษจากสารเคมีในน้ำยานั้น ใช้การเช็ดด้วยน้ำยา หลีกเลี่ยงใช้การสเปรย์ เพราะทำให้เชื้อโรคที่ตกค้างฟุ้งกระจายง่าย

3. เตรียมอุปกรณ์ปฏิบัติงานและอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้พร้อม ทั้งผ้าหรือวัสดุที่จะใช้ทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ ถุงใส่เสื้อผ้า/เครื่องนอน/ของใช้ส่วนตัวที่จะซักเพื่อใช้ซ้ำ ถุงขยะติดเชื้อ หน้ากาก แว่นตา เสื้อคลุมพลาสติก ถุงมือ 2 คู่สำหรับใส่สองชั้น และถุงหุ้มเท้า เตรียมสเปรย์แอลกอออล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60% สำหรับฆ่าเชื้อที่พื้นผิวถุงใส่อุปกรณ์ และรองเท้าแตะสำหรับใส่ เมื่อเลิกใช้แล้ว ให้อยู่บริเวณด้านนอกประตูเข้าออก ที่สามารถหยิบใช้ได้ง่าย เมื่อจะออกจากห้อง 

4. ศึกษา ทบทวน และ วางแผนวิธีการทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนเริ่มงาน ควรมีคู่หู (buddy) คอยช่วยกำกับดูแลภายนอกห้องระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อติดตามและช่วยตัดสินใจปัญหาเฉพาะหน้า โดยสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น

5. ถ้ามีเครื่องปรับอากาศและมีการใช้งาน ให้ปิดหน้าต่างและประตูห้องก่อน เปิดแอร์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของ triethylene glycol (TEG) เช่น 
น้ำยายี่ห้อ FamilyGuard โดยพ่นที่ช่องนำลมเข้า ซึ่งมักอยู่ด้านบนของเครื่อง แล้วเปิดแอร์ทิ้งไว้ก่อนเป็นเวลานานอย่างน้อย 5 นาทีจึงปิดแอร์ 

6. เปิดหน้าต่างห้องขณะปฏิบัติงาน ถ้าหน้าต่างอยู่ห่างจากหน้าต่างหรือประตูห้องพักอื่นไม่เกิน 8 เมตร ให้ปิดหน้าต่างหรือประตูห้องพักอื่นในระหว่างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เปิดประตูได้ถ้าเป็นห้องในบ้าน หรือสถานที่ที่อยู่คนเดียว ไม่เปิดประตูห้องถ้าอยู่ในบริเวณส่วนกลางที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น ไม่เปิดพัดลมหรือเปิดแอร์ระหว่างการปฏิบัติงานเพราะจะทำให้ฟุ้งกระจาย

7. เก็บรวบรวมเสื้อผ้า/เครื่องนอน/ของใช้ส่วนตัวที่จะซัก ใส่ถุงที่เตรียมไว้และมัดปากถุงให้เรียบร้อย

8. ทำความสะอาดห้องน้ำ ถ้ามีอยู่ในห้อง โดยใช้น้ำยาตามคำแนะนำ

9. ทำความสะอาดพื้นผิวในห้อง โดยเช็ดด้วยน้ำยาที่ผสมถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม และด้วยระยะเวลาที่นานพอ ตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดูดฝุ่น 

10. พื้นห้องถ้าไม่ได้เอาพรมออกไว้ก่อนใช้ห้อง ให้ใช้น้ำยาที่เตรียมไว้ทำความสะอาดเท่าที่ได้

11. พื้นผิวของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ถ้าหุ้มด้วยพลาสติกไว้ก่อนใช้ห้อง ใช้แผ่นกระดาษชุบน้ำยาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อสำเร็จรูปเช็ดที่พลาสติกหุ้มก่อนถอดทิ้งในถุงขยะติดเชื้อ ถ้าไม่ได้หุ้มพลาสติกไว้ก่อนใช้ห้อง ให้ใช้แผ่นสำเร็จรูปทำความสะอาดพื้นผิวเท่าที่ได้ โดยตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำยาและชนิดของอุปกรณ์ที่จะทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อนั้นให้ดีก่อน อย่าลืมถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนเริ่มงานด้วย

12. เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงาน ทิ้งผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำความสะอาดอื่นทั้งหมดลงถุงขยะติดเชื้อ ถอดอุปกรณ์ป้องกันตัวทั้งหมด โดยถอดถุงมือชั้นนอกเป็นลำดับสุดท้าย ระมัดระวังระหว่างการถอดเครื่องมือ ป้องกันตัวไม่ให้สัมผัสถูกผิวเสื้อผ้าและเนื้อตัวเราเอง รวบรวมใส่ถุงขยะติดเชื้อและมัดปากถุงให้เรียบร้อย สเปรย์ด้วยแอลกอออล์ให้รอบ ทั้งถุงใส่ผ้าที่จะซักและถุงขยะติดเชื้อ ก่อนส่งมาวางไว้นอกห้อง

13. เมื่อออกจากห้องให้ถอดถุงมือชั้นในทิ้งในถุงแยกต่างหาก รีบล้างมือด้วยสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที แล้วอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า

14. คนที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หรือโรคหืดที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานนี้

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/525874?adz=

 

 
"ติดโควิดกินอะไรหายไว" งด อาหาร แบบ IF ลดรุนแรง เมื่อ ติดโควิด ได้จริงหรือ?
 
 

"ติดโควิดกินอะไรหายไว" หมอดื้อ กางข้อมูล งด อาหาร เป็นระยะ แบบ IF ลดรุนแรง เมื่อ ติดโควิด เมื่อเทียบกับคนกิน อาหาร ปกติได้ จริงหรือ?

"ติดโควิดกินอะไรหายไว" สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะระลอกสายพันธุ์โอไมครอน ที่ครองการระบาดอยู่ในขณะนี้ ประกอบกับ หลังจากมีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient with Self Isolation : OPSI) เน้นการดูแลรักษาตัวที่บ้านด้วยตัวเอง การเลือกรับประทานอาหาร เมื่อติดโควิด จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยในการบรรเทาอาการของโรคได้

"หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ให้ข้อมูลเรื่องอาหารที่น่าสนใจ สำหรับคน ติดโควิดกินอะไรหายไว ระบุว่า การงดอาหารเป็นระยะ IF ลดความรุนแรงเมื่อติดโควิด

โดย หมอดื้อ อ้างอิงจากรายงานในวารสาร british medical journal (nutrition) ชี้ประโยชน์ของคนที่ทำ IF intermittent fasting วันละ 12-14 ชม. ช่วงเวลานั้นทานแต่น้ำ ไม่ใช่น้ำหวาน น้ำอัดลม (ระยะเวลาที่เหลือต้องไม่ทาน มโหฬาร) เมื่อติดโควิด เข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 11% เทียบกับคนกินปกติ 24% ทั้งนี้ ไม่จำกัดเชื้อชาติ การดื่มเหล้า และปัจจัยทางสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งการศึกษานี้ เป็นการศึกษาก่อนที่จะมีการใช้วัคซีน 

อาหาร IFอาหาร IF

ข้อสำคัญการงดอาหาร IF

ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดโควิด และนี่คือประโยชน์ของการกินไม่มาก และรายงานอื่น ๆ ของการเข้าใกล้มังสวิรัติ ออกกำลัง ตากแดด ช่วยปรับการใช้พลังงานของเซลล์ให้สมดุลย์ ช่วยภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคร้ายรวมกระทั่งถึงไวรัสต่าง ๆ

ต้องเสียสตางค์หรือไม่?

ต้องใช้ยาหรือไม่?

ทำง่ายเพื่อตัวเองครอบครัวและประเทศ

อาหารแบบ IF

อาหารแบบ IF

Intermittent Fasting (IF) คืออะไร

การทำ Intermittent Fasting (IF) เป็นวิธีการลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่ง โดยการควบคุมแคลอรี และจำกัดเวลาในการทานอาหาร โดยมีหลากหลายวิธีในการปฏิบัติ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คือ จำกัดเวลาทานอาหาร ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ เราสามารถ ทานได้เวลา 6:00-14:00 โดยหลังจาก 14:00 เป็นช่วงงดอาหาร ทานได้เพียงแต่น้ำเปล่า หรือกาแฟ ชา ที่ไม่ใส่น้ำตาล (งดเว้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในช่วงอดอาหาร เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากน้ำตาลได้)  สรุปคือ จะไม่ได้ทานอาหารมื้อหนึ่ง นั่นก็คือ มื้อเย็น 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/health/526021?adz=

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ