16 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 521 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 310,275 คน ตายเพิ่ม 532 คน รวมแล้วติดไปรวม 521,144,746 คน เสียชีวิตรวม 6,288,226 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิตาลี และเกาหลีใต้ เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 71.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.31 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.25 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.15

…สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 27.27% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…เปรียบเทียบเรื่องการเสียชีวิต ณ ปัจจุบัน จำนวนเสียชีวิตรายวันต่อประชากรล้านคนของไทยเรานั้น ยังมีอัตราเฉลี่ยรอบสัปดาห์ (7 days rolling average) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและทวีปเอเชีย และหากเทียบกับกลุ่มประเทศ upper middle income แล้ว เรายังสูงกว่า

อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินจากทุกสาเหตุ (excess mortality rate) ณ 1 พฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้ามีการระบาด จะพบว่ายังสูงถึง 21%

…การอยู่ร่วมกับโรค COVID-19

1.ควรอยู่อย่างรู้เท่าทัน ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตนเองและครอบครัวมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต

2.ประเมินความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เลือกรับความเสี่ยงที่อยู่ในวิสัยที่ตนเองรับได้และจัดการได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคม

3.ไม่หลงงมงาย แสร้งว่าสงครามโรคจบแล้ว ทั้งที่ไม่จบ

4.ไม่ว่าพื้นที่ใด ที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมส่งผลให้มีการระบาดที่รุนแรง ยาวนาน กระจายทั่วไปจนจับต้นชนปลาย หาต้นเหตุได้ยากนั้น สะท้อนถึงการที่พื้นที่ต่างๆ เป็นแดนดงโรค เป็นพื้นที่โรคชุกชุม ประจำถิ่นไปโดยปริยายแล้ว หาทางกำจัดออกไปได้ยาก

5.โรคประจำถิ่น ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย ไม่รุนแรง หรือกลายเป็นหวัดธรรมดา มีมากมายหลายโรคที่ประจำถิ่นทั่วโลก แต่ทำให้ป่วยหนัก เสียชีวิตได้มาก

“Please choose prudently to live with certain risks, but do not pretend the threat is gone” เลือกดำรงชีวิตอย่างรู้เท่าทัน แต่อย่าเสแสร้งทำเป็นหลอกตัวเองว่าปลอดภัยไร้กังวล

…ส่วนตัวแล้ว แนะนำว่าการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญในการประคับประคองให้อยู่รอด ลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตประจำวัน จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะดีขึ้น

โควิด…ไม่จบแค่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/142449/

16 พ.ค. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “หมอดื้อ” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ต้องรู้จักสเตียรอยด์ให้ดี ช็อกถึงตายได้ จากยาผีบอก สมุนไพร

สเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนธรรมชาติของมนุษย์ สั่งงานจากสมองส่วนกลางลงมายังต่อมใต้สมอง ควบคุมต่อมหมวกไตให้ผลิตในปริมาณพอเหมาะ ควบคุมความสมดุลย์ของร่างกาย เมื่อมีภาวะเครียดทางกาย ใจ ยกตัวอย่างเช่นมีมีภาวะวิกฤติฉุกเฉิน มีการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างสเตียรอยด์ในปริมาณที่สูงขึ้นหลายเท่าเพื่อพยุงชีวิต และจำกัดการอักเสบให้ไม่รุนแรงเกินไป จะคอยควบคุมให้ร่างกายทนทาน คงความดันโลหิต คุมการอักเสบอยู่จนกระทั่งมีการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อโรค จนเมื่อกลับเข้าเป็นภาวะปกติ ฮอร์โมนสเตียรอยด์ก็จะกลับเข้าที่เดิม และยังคุมปรับความสมดุลของร่างกาย ทั้งระดับภูมิคุ้มกัน และปรับระดับเกลือแร่ร่วมกับการทำงานของไต การที่เอามาใช้กิน ฉีดเป็นยาบรรเทาอาการ ทำให้อาการปวดเจ็บที่เกิดจากการอักเสบ เช่น ปวดข้อเข่า ปวดเมื่อย หายเป็นปลิดทิ้ง

 

จากการที่สเตียรอยด์สามารถลดอาการอักเสบ ปวด ลดไข้ได้ ทำให้มีการนำมาใช้กันผิดๆ อย่างแพร่หลายเพื่อให้หายเร็วทันใจไม่ว่าปวดเข่า ปวดข้อ ปวดเมื่อย ทั้งที่ใช้เดี่ยวๆ หรือไปผสมกับยาแก้ปวดอื่นๆ เป็นยาชุด เช่น NSAID (เอนเสด ยกตัวอย่าง ยา voltaren brufen) เป็นต้น ทำให้มีผลข้างเคียงมหาศาล กระเพาะตกเลือด กระเพาะทะลุ เป็นโรคไตวาย ในทางการแพทย์ สเตียรอยด์เป็นยาช่วยชีวิต มีประโยชน์ในการรักษาควบคุมโรค การอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้และแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคพุ่มพวง หรือ โรค SLE ที่ระบบภูมิคุ้มกันวิปริต แทนที่จะไปสู่กับเชื้อโรคกลับทำลายร่างกายตนเอง หัวจรดเท้า ผมร่วง ผื่นขึ้น หัวใจ ปอด ตับ ไต อักเสบ ข้อบวม

และยังใช้ในอีกหลายโรคที่มีการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่ทั้งนี้การใช้ต้องอยู่ในการควบคุมอย่างระมัดระวังทั้งขนาด วิธีใช้ ระยะเวลา รวมทั้งต้องทราบผลข้างเคียงแทรกซ้อน อาจระคายกระเพาะ หน้าอ้วนอูม คอเป็นหนอก สิว นอนไม่หลับ แต่ทั้งนี้ต้องชั่งประโยชน์และโทษ คือต้องมากกว่าผลข้างเคียง ซึ่งเมื่อค่อยๆ หยุดยาลงทีละน้อย ผลข้างเคียงเหล่านี้ก็จะค่อยๆ สงบลง

ปัญหาสำคัญอยู่ที่การใช้สเตียรอยด์ในเวลานานๆ เป็นหลายสัปดาห์ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ระบบอัตโนมัติจากสมองส่งผ่านมาต่อมหมวกปรวนแปร ต่อมหมวกไตขี้เกียจ ร่างกายจะใช้แค่สเตียรอยด์ที่ได้จากการกินจากภายนอกเท่านั้น ซึ่งเมื่อหยุดกะทันหันจะเกิดอันตราย ความดันโลหิตตกจนอาจถึงช็อก หรือเมื่อมีภาวะฉุกเฉิน เช่น ติดเชื้อ เครียดทางกาย ซึ่งขณะนี้ร่างกายต้องการระดับสเตียรอยด์สูงขึ้นอีกหลายเท่าจากปกติ เพื่อให้คงชีวิตอยู่ได้ กลับไม่เป็นดังที่ควรจะเป็น ดังนั้นคนไข้ที่ได้รับสเตียรอยด์อยู่แล้วจากแพทย์ในการรักษาโรค เมื่อเกิดเหตุวิกฤติฉุกเฉิน แพทย์จะทำการปรับระดับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม

ที่เป็นวิกฤติระดับชาติ ภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านเราขณะนี้ และเป็นมาเนิ่นนานหลายสิบปี จนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การที่เอาสเตียรอยด์จะด้วยจงใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ปนใส่ในยาชุดแก้ไข้ แก้ปวด แก้อักเสบ หรือในรูปแบบของอาหารเสริม สมุนไพร ซึ่งแท้จริงมีฤทธิ์เป็นสเตียรอยด์ ทั้งนี้จะเห็นผลมหัศจรรย์ทันที หายป่วย หายเมื่อย หายไข้ แต่ถ้าไข้นั้นเกิดจากโรคติดเชื้อ อาการจะดีขึ้นพักเดียว และเชื้อโรคจะแพร่จำนวนลุกลามเข้าอวัยวะ เข้ากระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการใช้ระยะยาวเป็นสัปดาห์หรือเดือนอย่างต่อเนื่อง จะกดการทำงานตามธรรมชาติที่ให้มีระดับสูงต่ำตามภาวะความจำเป็น เมื่อเกิดมีภาวะฉุกเฉินเช่นโรคหัวใจ โรคติดเชื้อนิดๆ หน่อยๆ ที่แม้ไม่รุนแรงนัก จะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำจนถึงช็อก (adrenal crisis)

แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีประกาศอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพวกหมอเราเองจะตระหนักในภาวะนี้แล้วก็ตาม แต่ในโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลเดียวใน 2 ปี (2013 – 2014) มีผู้ป่วยช็อกจากสาเหตุนี้ซึ่งพิสูจน์ยืนยันแล้ว มากกว่า 80 ราย (วารสาร Tropical Doctor) และอาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะถ้าโรคติดเชื้อมีความร้ายกาจอยู่แล้ว อาการช็อกจากภาวะสเตียรอยด์มีไม่พอ บวกกับช็อกจากติดเชื้อจะทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก จากที่หมอคุยกับรุ่นน้องๆ ในอีกจังหวัดหนึ่งทางอีสานในเดือนกันยายนปีนี้ ก็เจอสภาพเช่นนี้เหมือนกัน

จากการสำรวจในโครงการแกนนำนักวิจัยอาชีพของเรา ซึ่งหมอดื้อเป็นหัวหน้าโครงการ ใช้ทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าผู้ป่วยช็อกเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าบวม อ้วน น้ำตาลต่ำในเลือด เกลือแร่แปรปรวน หรือมีเม็ดเลือดขาวบางชนิด (eosinophil) ขึ้น ดังที่ปรากฏเหมือนในตำรา อาจเป็นเพราะได้สารสเตียรอยด์จำนวนพอประมาณติดต่อกันเนิ่นนาน แต่แน่นอนทำให้ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน และไม่ยอม “ช่วยชีวิต” เราในภาวะวิกฤติ

หมอขอร้องให้พวกเราบุคลากรสาธารณสุขช่วยกันสอดส่อง และห้ามปรามการใช้ “ยาผีบอก” หรือ “สมุนไพร” ที่อาจมีสเตียรอยด์ปนเปื้อนเหล่านี้ และตระหนักว่าภาวะช็อกอาจเกิดจากการได้ยาผีบอก ยาชุด ที่กดการทำงานของต่อมหมวกไต จะได้ให้การรักษาได้ทันท่วงที

ขอร้องให้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ ขยายผลที่ได้จากการสำรวจวิจัยเล็กๆ ของเรารวมทั้งรายงานมากมายหลายชิ้นที่ พี่ๆ น้องๆ หมอในประเทศรายงานเอาไว้ ไปร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ปลุกระดมขจัดล้างยาพิษเหล่านี้ อย่าไปแคร์ว่างานวิจัยต้องตีพิมพ์ระดับโลก องค์กรต้องติดอันดับนานาชาติ งานที่ตอกย้ำเพื่อช่วยชีวิตและสุขภาพควรมาก่อน

ลองนึกภาพนะครับถ้าคนไทยเกือบครึ่งประเทศต่อมหมวกไตฝ่อไม่ทำงาน เวลามีเชื้อโรคแม้ไม่ดุเดือดเข้ามา กลับต้องเข้าโรงพยาบาลเสียชีวิตทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่เคยพูดก่อนหน้าครับ ขอร้องให้กระทรวง สำนัก ขยับเป็นระบบเถิดครับ จะให้หมอไหว้ ก็ยอม.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/general-news/142416/

 
เช็ก  สิทธิการรักษา เตรียมพร้อมโควิด-19 สู่ "โรคประจำถิ่น"
หลังจากที่ ประเทศไทย อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อม "สถานการณ์โรคโควิด-19" สู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการโดยเฉพาะวางแนวทางการรักษาเพื่อปรับตัวอยู่ร่วมกับ "โควิด-19"

หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยปรับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19  จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น โรคประจำถิ่น (Endemic) เนื่องจากความรุนแรงของโรคลดน้อยลง กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรงให้รักษาแบบ "เจอ แจก จบ" ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้ทำการแจ้งขอเข้ารับการรักษาในระบบ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ 

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ 
  • ยาฟ้าทะลายโจร 
  • ยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ 

ทั้งนี้ เมื่อดู "สถานการณ์โควิด-19" ในวันนี้ (15 พ.ค. 65) ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,601 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย กำลังรักษา 70,775 ราย อัตราครองเตียง 16.9% จะเห็นว่า สถานการณ์มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ชง ศบค. ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ปรับลดเตือนภัยเหลือระดับ 2 เตรียมพร้อม โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic)

ไทยอยู่ระยะทรงตัว
โดยในวันที่ 12 พ.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic) โดยระบุว่า จากแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่มี 4 ระยะ คือ 

  • ระยะต่อสู้กับโรค (Combatting) 
  • ระยะโรคทรงตัว (Plateau) 
  • ระยะโรคลดลง (Declining)
  • ระยะหลังการระบาด (Post pandemic)

ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ใน "ระยะทรงตัว"

รักษาตามสิทธิการรักษา

สำหรับ ระบบการรักษาเมื่อโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน เผยว่า ทุกอย่างดำเนินไปอยู่แล้ว คำว่า Endemic ไม่ใช่ประเทศไทยจะประกาศได้เลย แต่จะต้องสอดคล้องกับสากลด้วย เพราะตอนที่ประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก องค์การอนามัยโลก เป็นผู้ประกาศ แต่ในทางปฏิบัติก็จะต้องเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่ตอนนี้ยังถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอยู่ก็จะสามารถใช้มาตรการต่างๆ ในการดูแลประชาชนได้

แต่เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมแล้ว ความเข้าใจประชาชนดีแล้ว จะแปลสภาพเป็น Endemic หมายความว่าถ้าเกิดติดเชื้อ ก็จะดูว่ามีการติดเชื้อ เสียชีวิตแต่ละวันเป็นอย่างไร ได้รับวัคซีนเพียงพอหรือไม่ เมื่อเป็น โรคประจำถิ่น ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่ มาใช้ตามสิทธิการรักษา ถ้าใครอยากจะรักษาเอง ก็คงต้องขอให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ยามาทำการขึ้นทะเบียนปลดจากการใช้ภาวะฉุกเฉินมาเป็นขึ้นทะเบียนทั่วไป ให้สามารถหาซื้อยาได้เอง ต้องเดินไปแนวทางนั้น

ส่วนประเด็นที่ว่าหากเป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะยังคง UCEP Plus ไว้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า  ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก เพราะว่า 30 บาทรักษาทุกที่ จะขยายการให้บริการไปได้ด้วย อย่ายึดติดกับภาพเก่าที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรคมีการต่อยอดหรือไม่ ก็มีการต่อยอดไปอย่างมาก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย 

 

"บัตรทอง" หาจุดร่วม 3 กองทุน

ทั้งนี้ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมการรักษาหากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า  สปสช.ซึ่งดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หลักใหญ่ คือ ประชาชนต้องได้รับบริการ โดยเฉพาะคนไทย หากสถานการณ์ของโรคโควิด19 ดีขึ้น อะไรที่เข้าสู่ภาวะปกติหรือเหมือนเป็นไข้หวัด นอนพัก 1-2 วันแล้วหาย  เพราะฉะนั้น จะกลายเป็น วิถีปกติของคน คล้ายกับเมื่อเป็นไข้หวัดที่เป็นไข้อยู่ 1-2 วันทานยาหรือพักผ่อนแล้วก็หาย

แต่สิ่งที่จะต้องป้องกัน คือ คนที่ป่วยแล้วมีอาการรุนแรง ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องของการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Group: DRG) ที่จะอ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องคิดคำนวณและหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการ  นี่คือหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย แต่ภายใต้สิ่งที่เหมาะสมและสมควรด้วย และเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการมาตรฐานของการดูแลก็จะต้องเหมือนกัน

ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ

1.องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นอีกได้หรือไม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่วางใจ

2.ระดับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร จะให้เป็นบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐหรือไม่อย่างไร  

3.กฎหมายและการกำกับติดตาม

ซึ่งเป็นข้อจำกัดจริงๆ โดยกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุนถือกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ระบบบริการเดินหน้าได้ เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ UCEP Plus ยังเป็นทิศทางที่น่าจะประคองไว้เพราะเป็นการรักษาชีวิตคน โดยหลักการทุกระบบจะต้องให้ความเท่าเทียมกับปัจจัยพื้นฐาน นพ.จักรกริช กล่าว

"ประกันสังคม" เล็งเพิ่มสิทธิยาโควิด 

ด้าน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ในอนาคตหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวโน้มประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เบื้องต้น ในเรื่องหลัก ระบบประกันสังคม จะดูแลตามสิทธิเดิมใน รพ.คู่สัญญาหลักที่สามารถเข้าไปรับการรักษาได้

ส่วนเรื่องยาและอื่นๆ ให้ความมั่นใจและรับประกันว่าสามารถดูแลตรงส่วนนี้ได้แน่นอน ส่วนว่าต่อไปจะดูแลเรื่องยารักษาโควิด-19 เข้าไปในสิทธิหรือไม่ ให้ความมั่นใจว่าคณะกรรมการการแพทย์ได้หารือเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยจะดูแลผู้ประกันตน 10 กว่าล้านคนอย่างดีที่สุด” นางมารศรีกล่าว    

สำหรับ โรงพยาบาลเอกชน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้หากเป็นโควิด-19 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลแต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน จะมีส่วนของ Extra pay สำหรับดูแลผู้ติดโควิด ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของงบประมาณของแต่ละกองทุน แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มขาลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลกันเอง  

"ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละกองทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 จะเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของ รพ.เอกชน ที่มีความร่วมมือกับ สำนักงานประกันสังคม , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลางจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องดูแลและส่งต่ออย่างไร รัฐต้องรีบดำเนินการให้ชัดเจน"

9 คลินิก Long COVID กทม.

ขณะเดียวกัน ภาวะ Long COVID ถือเป็นอีกหนึ่งภาวะที่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ผ่านการติดเชื้อโควิด-19 องค์การอนามัยโลก ระบุว่า คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ภายใน 3 เดือน ดังนั้น หากเวลาผ่านไปแล้ว 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 และยังคงรู้สึกไม่สบาย และปรากฎอาการในกลุ่ม ลองโควิด Long COVID เช่น หายใจลำบาก สมองล้า หรืออ่อนเพลีย

ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉับ แพทย์และนักบำบัดอื่นๆ ช่วยออกแบบแนวทางฟื้นฟูเพื่อรับมือกับอาการลองโควิดได้ โดยล่าสุด กทม. ได้เปิด  คลินิก Long COVID ในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ดังนี้

1. ARI Clinic โรงพยาบาลตากสิน

2. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร

3. คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลสิรินธร

4. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

5. ARI Clinic โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

6. คลินิกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

7. คลินิกประกันสุขภาพ โรงพยาบาลกลาง

8. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ

9. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1004513?anf=

15 พ.ค. 2565 – ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ผลวิจัยที่ศูนย์วิจัยคลินิก ศิริราช ร่วมกับ ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี BIOTEC สวทช. พบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นแบบฉีดเข้ากล้าม กับ ใต้ผิวหนัง ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน AZ มา 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอนได้ดีทั้งคู่ โดย กลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามจะได้ภูมิที่สูงกว่ากลุ่มใต้ผิวหนัง ประมาณ 3 เท่าในกรณีที่ฉีดกระตุ้นด้วย Moderna และ ประมาณ 1.5 เท่า ในกรณีที่ฉีดกระตุ้นด้วย Pfizer โดยตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนจะสอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่ใช้ โดย Moderna ฉีดเข้ากล้ามมากกว่าผิวหนัง 5 เท่า (100 vs 20 mcg) ขณะที่ Pfizer ฉีดเข้ากล้ามมากกว่าผิวหนัง 3 เท่า (30 vs 10 mcg)

ผลข้างเคียงจากการฉีดใต้ผิวหนังดูเหมือนจะน้อยกว่าตามคาดครับ ซึ่งทีมวิจัยสรุปว่า การฉีดใต้ผิวหนังโดยเฉพาะด้วย Moderna อาจเป็นทางเลือกให้พิจารณาในกรณีที่มีวัคซีนจำกัด และ ต้องการลดผลข้างเคียงจากวัคซีน

 
 
 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/141986/#

 

 

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า แนวโน้มสถานการณ์โควิดของประเทศไทยอยู่ในทิศทางลดลงทั้งหมด ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้รายงาน 6,736 ราย ซึ่งถือว่าต่ำกว่าหมื่นรายต่อเนื่อง 13 วัน ติดเชื้อสะสม 4,367,752 ราย หายป่วย 9,213 ราย สะสม 4,264,998 ราย เสียชีวิต 54 ราย สะสม 29,421 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 73,333 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI 47,121 ราย และอยู่ใน รพ. 26,212 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,276 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 622 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 16.8% สำหรับการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 13 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย มาจากอิสราเอลและอินเดีย

 
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 54 ราย มาจาก 30 จังหวัด โดย กทม.เสียชีวิตสูงสุด 7 ราย, มหาสารคาม เชียงใหม่ จังหวัดละ 5 ราย, นครราชสีมา 3 ราย, นครปฐม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ตาก สระบุรี ลพบุรี จังหวัดละ 2 ราย และเสียชีวิต 1 รายมีอีก 18 จังหวัด โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 31 ราย หญิง 23 ราย อายุ 43-100 ปี อายุเฉลี่ย 81 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 94%

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุด คือ 1. กทม. 2,261 ราย 2. ขอนแก่น 257 ราย 3. บุรีรัมย์ 211 ราย 4. ชลบุรี 208 ราย 5. สมุทรปราการ 184 ราย 6. อุบลราชธานี 171 ราย 7. นนทบุรี 134 ราย 8. สุรินทร์ 129 ราย 9. นครราชสีมา 125 ราย และ 10. มหาสารคาม 122 ราย ขณะที่จังหวัดติดเชื้อเกิน 100 ราย มีอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 119 ราย, ฉะเชิงเทรา 118 ราย และสกลนคร 114 ราย

ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 61 จังหวัด จำนวนนี้เป็นจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มี 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ 8 ราย, นราธิวาส 8 ราย, พังงา 8 ราย, สตูล 6 ราย, ตรัง 3 ราย และแม่ฮ่องสอน 2 ราย ส่วนจังหวัดรายงานเป็น 0 มี 3 จังหวัด คือ เชียงราย ลำปาง และลำพูน

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 จำนวน 231,971 โดส สะสม 135,523,321 โดส เป็นเข็มแรก 56,510,437 ราย คิดเป็น 81.2% เข็มสอง 51,936,116 ราย คิดเป็น 74.7% และเข็ม 3 ขึ้นไป 27,076,768 ราย คิดเป็น 38.9% ภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 แล้ว 42.5%
 
"โอไมครอน"สายพันธุ์ย่อยระบาดหลายปท.ติดเชื้อเพิ่ม พบ ลองโควิด ทำศก.แย่ 

การแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อยในหลายประเทศ ส่งผลให้พบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่ "Long COVID" ส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหา

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดของ "โอไมครอน" ภาพรวมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย มีจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นกันตั้งแต่ 10-46% ซึ่งหลายประเทศจะเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ สายพันธุ์ย่อยโอไมครอน ได้แก่ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ในขณะที่ทวีปแอฟริกาและโอเชียเนียนั้นมีจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ทวีปอื่นยังมีแนวโน้มลดลง

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียจาก Long COVID

Culter D ได้เผยแพร่บทความวิชาการวิเคราะห์เรื่องนี้ใน JAMA Forum วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาคาดประมาณว่าสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา ลองโควิด โดยมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป อย่างน้อย 9.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจาก โควิด19 ถึง 10 เท่า

เคยมีการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID นั้น มีถึง 44% ที่ไม่สามารถทำงานได้ และ 51% ต้องจำกัดระยะเวลาทำงานลงเมื่อประเมินภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้แรงงานต้องออกไปจากระบบมากกว่า 1,000,000 คน ทำให้แรงงานเหล่านั้นสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ภาวะลองโควิด มีหลากหลายอาการ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างครบถ้วนในเวลาอันสั้น แต่หากดูอาการที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าอย่างเรื้อรัง ซึ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเทียบเท่ากับโรค Chronic fatigue syndrome ก็จะยังมีค่าใช้จ่ายสูงราวคนละ 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี แต่หากเป็นโรคอื่นที่รุนแรง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้มาก

ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่การขาดแคลนแรงงาน การขาดรายได้จากการทำงานของแต่ละคน แต่จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะ Long COVID และค่าชดเชยหรือสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่ต้องช่วยเหลือ ทำให้มีการประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ที่อาจสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทยนั้น ส่วนตัวแล้วประเมินว่า หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวนที่ตรวจ ATK แล้ว จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงราว 5-6 ล้านคน แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วและหวังว่าจะมีผลในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้บ้าง ก็ยังอาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 600,000-1,200,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก และจำเป็นต้องมีการเตรียมระบบรองรับ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา ให้คำปรึกษา และระบบสนับสนุนทางสังคมต่างๆ

การให้ความรู้อย่างทันท่วงทีแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ตระหนักว่าปัญหา Long COVID นั้นมีอาการมากมายหลายหลายระบบของร่างกาย เรื้อรัง แนะนำวิธีประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง และแนวทางการเข้าถึงบริการ ควรมีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนนโยบายและมาตรการในอนาคตและที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ระบาดว่ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นกิจวัตรใส่หน้ากากนะครับ เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ
โควิด...ไม่จบที่หายและตาย แต่ที่ทรมานระยะยาวคือ Long COVID

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/514906?adz=

10 พ.ค. 2565 – นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ชอบกินเนื้อ..ถึงกับเสี่ยงตาย?

เป็นที่ทราบกันมานานพอสมควรแล้วว่าการกินเนื้อแดงอันประกอบไปด้วยเนื้อวัว หมู เนื้อแกะ เป็นต้น จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนานาชนิด ที่เป็นโรคเรื้อรังและอันตราย รวมทั้งการเกิดมะเร็งและการเกิดเป็นเบาหวาน

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จับตามองมากที่สุดจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงของการเสียชีวิตโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคของเส้นเลือดไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง รวมทั้งเส้นเลือดทั่วร่างกาย (Cerebrovascular Diseases หรือ CVD) โดยรวมความผิดปกติของหัวใจ ทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ และโรคของเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) และโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke)

มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในบางประเด็นในเวลาที่ผ่านมา ก็คือความเสี่ยงจะเกิดขึ้นมากเฉพาะกับการกินเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงแต่ง (Processed meat) โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตต่างๆ เช่น การรมควัน การหมัก การใช้เกลือและวิธีอื่นๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและยืดอายุของอาหาร ที่รู้จักกันดีคือ ฮอตด็อก ไส้กรอก เบคอน แฮม เนื้อบรรจุกระป๋องและเนื้อตากแห้ง ในขณะที่เนื้อแดงที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่เป็นไร
นอกจากนั้นความเสี่ยงยังอาจเกิดขึ้นร่วมกับการใช้ชีวิตและพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การออกกำลัง และการกินพืชผักผลไม้กากใยมากหรือน้อยด้วยหรือไม่

และยังจะเกี่ยวข้องกับยีนที่กำหนดพันธุกรรม ที่ทำให้ตัวการที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เรียกว่า TMAO มีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ TMAO เป็นผลจากการที่จุลินทรีย์ในลำไส้ทำการเปลี่ยนเนื้อแดงให้กลายเป็นสารอักเสบ และในปัจจุบันมีการพบว่ารหัสพันธุกรรมที่ผันแปร (SNP-Single Nucleotide Polymorphisms) และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ TMAO มี 10 ตำแหน่งด้วยกัน จากการศึกษา Genome-Wide Association Study (GWAS) เป็น Genetic risk score ของ TMAO

ผลของการศึกษาที่มาจากการติดตามประชากรขนาดใหญ่ และเป็นเวลานาน จากคณะผู้วิจัยทั้งจากสหรัฐฯและจีน รายงานในวารสารทางด้านโภชนา การของยุโรป (European Journal of Nutrition) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2022 พบว่า การกินเนื้อแดงที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งใดๆ มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นของการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคของเส้นเลือดทั้งหมด และโรคเส้นเลือดสมอง และความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ลดลงได้จากการปรับพฤติกรรมและไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ในขณะเดียวกัน การหันมากินเนื้อไก่ สัตว์ปีก อาหารธัญพืช กลับช่วยให้ลดความเสี่ยงการตายอย่างมากมาย

การศึกษานี้ควบรวมประชากร 180,642 คน ในระหว่างปี 2006 ถึง 2010 ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดหรือมะเร็ง และทำการติดตามไปจนกระทั่งถึงปี 2018 โดยมีระยะเวลาโครงการติดตามเฉลี่ยอยู่ที่ 8.6 ปี

ผลของการศึกษา มีการเสียชีวิต 3,596 รายด้วยกัน โดย 655 ราย ตายจากโรคเส้นเลือดและหัวใจทั้งหมด 285 รายจากโรคเฉพาะของเส้นเลือดหัวใจ และ 149 รายจากโรคเส้นเลือดสมอง

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่กินเนื้อแดงน้อยที่สุดคือ น้อยกว่า 1.5 ครั้งต่ออาทิตย์ กับกลุ่มที่กินเนื้อแดงมากที่สุดคือ มากกว่าสามครั้งต่ออาทิตย์ จะพบว่ากลุ่มที่กินเนื้อแดงมากนั้น มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการตายด้วยโรคเส้นเลือดทั้งหมด 20% และด้วยโรคเฉพาะของเส้นเลือดหัวใจ 53% และโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดสมอง 101% (P for trend =0.04, 0.007, 0.02 ตามลำดับ)

และเมื่อทำการวิเคราะห์โดย ถ้ามีการลดการกินเนื้อแดงเปลี่ยนเป็นไก่หรือสัตว์ปีก หรือธัญพืชจะมีความเสี่ยงต่อการตายของเส้นเลือด 9 ถึง 16% การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงการกินเนื้อแดงที่แม้ไม่ได้มีการปรับหรือปรุงแต่งใดๆ ก็เสี่ยงตายอยู่ดี และแม้จะพยายามออกกำลัง ไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความเสี่ยงลดลง

ข้อจำกัดของการศึกษาอยู่ที่ไม่สามารถประเมินว่าถ้ากินอาหารพืชผักผลไม้ร่วมไปด้วยจะลดความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด
ผลของการศึกษานี้สอดคล้องกับความรู้ที่เราได้รับทราบมาเนิ่นนาน และพิสูจน์ซ้ำในการศึกษาขนาดใหญ่ที่ควบรวมประชากรทุกทวีป ที่มีเศรษฐานะและเชื้อชาติแตกต่างกันมากกว่า 100,000 คนในปี 2017 แต่เราทำไม่ได้หรือไม่ได้ตั้งใจที่จะทำ ว่าการกินอาหารหลักเป็นพืชผักผลไม้กากใย โดยอัตราส่วนของผักผลไม้อยู่ที่สองต่อหนึ่ง และโปรตีนส่วนใหญ่นั้นมาจากพืช เช่น ถั่ว และสัตว์น้ำ เช่น ปลา โดยลดหรืองดเนื้อทั้งหมด

รวมกระทั่งถึงการลดคาร์โบไฮเดรตก็คือ แป้ง ทั้งข้าว ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง มันเทศ มันสำปะหลัง

ถึงท้ายสุดนี้คงคล้ายกับที่ได้เคยพูดมาก่อนหน้าและพูดในหมู่เพื่อนฝูงและรุ่นน้องมีหลายคนประสานเสียงกันว่า ร้องเพลง My Way กันดีกว่า นั่นก็คือ “กูจะกิน ก็เรื่องของกู”

ข้อมูลจาก .https://www.thaipost.net/human-life-news/138569/

3 พ.ค.2565- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan หัวข้อ โควิด 19 วัคซีน วัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 มีความจำเป็นไหม ว่าการได้รับวัคซีนครบ หมายถึงการได้รับวัคซีนเบื้องต้น 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้นเข็มที่ 3 จึงจะเรียกว่าการได้รับวัคซีนครบ จำเป็นต้องมีการให้เบื้องต้นและกระตุ้น

การกระตุ้นเพิ่มอีก 1 ครั้ง เป็นการกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่าวัคซีนเข็มที่ 4 มีความจำเป็นในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยเฉพาะบุคคลที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และหรือมีโรคประจำตัว รวมทั้งที่เราเรียกว่า 608 นั่นเอง

 
 

ในกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่นโรคไต โรคมะเร็ง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานที่ทำให้ฉีดวัคซีนแล้วการตอบสนองได้ไม่ดี กลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้เข็ม 4

ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสผู้ป่วยสูงเช่นบุคลากรทางการแพทย์ ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีน 4.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/134506/

'หมอยง' ย้ำเชิญชวนอาสาสมัครฉีดเข็ม 3 โคโวแวก หวังเป็นการศึกษาเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนไทยที่กลัวเข็ม 3 แบบ mRNA

11 พ.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โควิด 19 วัคซีน ชนิดโปรตีนซับยูนิต (protein subunit) โคโวแวก (Covovax) เหมือน Novavax

 
 

ข้อมูลการฉีดวัคซีน โปรตีนซับยูนิต (protein subunit) โคโวแวก (Covovax) หรือ Novavax ในการใช้เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 สำหรับสูตรที่ฉีด 2 เข็มแรกในประเทศไทย ยังมีจำกัดมาก ดังนั้นขณะนี้มีวัคซีน โคโวแวก (Covovax) เริ่มเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา ข้อมูลโดยเฉพาะการกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบกับการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแม็กซีนที่มีอยู่ในอดีต

โคโวแวก (Covovax) เป็นวัคซีนชนิด protein subunit ที่ใช้สารกระตุ้นภูมิต้านทาน Matrix M adjuvant เข้ามาเสริม เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานทั้งในระบบ T และ B เซลล์

ยังมีประชากรไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้กระตุ้นเข็ม 3 และมีความลังเลใจที่จะฉีดวัคซีน mRNA ทางศูนย์กำลังรับอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทยมาแล้ว 2 เข็ม อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อมากระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Covovax และจะขอตรวจภูมิต้านทาน ทั้งระบบ T และ B เซลล์ รวมทั้งตรวจภูมิที่จำเพาะต่อสายพันธุ์โอมิครอน

เชิญผู้ที่สนใจกรอกสมัครในแบบฟอร์ม ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSflrgOWdk9Afgwm6wheHTLmrN6r6qFkEHGpDuwRITUtNeO2jQ/viewform

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/139155/