Font Size
"โอไมครอน" BA.4-BA.5 ระบาด 21 ประเทศทั่วโลก แนะป้องกันให้ดีช่วงเปิดเทอม
 
 

"หมอธีระ" เผย "โอไมครอน" BA.4-BA.5 ระบาดไปแล้ว 21 ประเทศทั่วโลก คาดแพร่เชื้อเร็วกว่า BA.2 แนะป้องกันให้ดีช่วงเปิดเทอม

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาด "โอไมครอน" เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 306,415 คน ตายเพิ่ม 961 คน รวมแล้วติดไปรวม 517,567,394 คน เสียชีวิตรวม 6,277,503 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เยอรมัน ไต้หวัน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ถึงแม้ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา จนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 28.94% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนระบาด (Excess mortality rate) หากดูกราฟจะพบว่านับตั้งแต่ระลอกสองเมื่อปลายปี 2020 ระลอกสามตั้งแต่เมษายน 2021 และระลอกสี่ตั้งแต่ต้นปี 2022 ประเทศไทยมี excess mortality rate สูงถึง 10%, >30%, และ >25% ตามลำดับ ซึ่งย่อมสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้แม้อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินนั้นจะมาจากทุกสาเหตุก็ตาม แต่เป็นการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด19 จึงบ่งถึงผลกระทบที่เกิดจากโควิด19 ไม่ได้ ทั้งทางตรง (เสียชีวิตจากโควิด) และทางอ้อม (เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น เช่น ป่วยโรคอื่นแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้จากสถานการณ์ระบาด ฯลฯ) เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดการนโยบายสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรค และควบคุมการระบาดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นย่อมจะมีโอกาสที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าการมาไล่จัดการการระบาดหลังจากระบาดมากไปแล้ว เพราะจะจัดการได้ยากลำบาก และส่งผลต่อความสูญเสียและผลกระทบระยะยาว ทั้งจำนวนติดเชื้อ จำนวนป่วย จำนวนเสียชีวิต ที่สำคัญคือจำนวนคนที่จะเป็น Long COVID ในอนาคต

อัพเดตสถานะ Omicron สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ข้อมูลจาก de Oliveira T ระบุว่า ปัจจุบันสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้นั้น ได้กระจายไปอย่างน้อย 21 ประเทศทั่วโลกแล้ว

สมรรถนะการแพร่กระจายมีแนวโน้มเร็วกว่า BA.2 ที่ครองการระบาดทั่วโลกในขณะนี้ ส่วนเรื่องความรุนแรงของโรคนั้นคงต้องมีการติดตามผลการศึกษา
วิจัยกันต่อไป

คนที่ได้รับ Sinopharm ไปสองเข็ม จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทีมวิจัยจากประเทศจีน เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Cell Host & Microbes เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีน BBIBP-CorV หรือ Sinopharm 2 เข็มนั้นไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับไวรัสโรค โควิด19 สายพันธุ์ Omicron BA.1, BA.1.1, BA.2 and BA.3 ได้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

สถานการณ์ของไทยเรานั้น การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานที่มีคนมาก แออัดใกล้ชิด ทั้งที่ทำงานทั่วไป รวมถึงสถานพยาบาล สถานศึกษาที่มีการเปิดเรียนไปบ้างแล้ว และนำไปสู่การติดในสมาชิกครอบครัว การใส่หน้ากากเสมอ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่ควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร

17 พ.ค.นี้ จะมีการเปิดเรียนในโรงเรียนต่างๆ คงต้องป้องกันให้ดี ผู้ปกครองควรพาเด็กๆ ที่อยู่ในวัยที่รับวัคซีนได้ไปฉีดให้ครบ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการ ป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต 

อย่างไรก็ตามทั้งคุณครู และผู้ปกครอง ควรสอนและฝึกลูกหลานให้มีความรู้และทักษะในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอขณะไปเรียน หมั่นเช็คสุขภาพ อาการต่างๆ ทุกวัน และเตรียมแผนในการดูแลเวลาไม่สบายไว้ล่วงหน้าก็จะทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้ทันและมีประสิทธิภาพ

โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ
โควิด...ติด...ไม่จบที่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และที่สำคัญคือจะเกิดภาวะ Long COVID ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต และสมรรถนะการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาว ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ณ จุดนี้...ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/514481?adz=