24 เม.ย.2565 -นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ Blockdit “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย”

ถ้าจะให้โควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไปของไทยได้ จะต้องเพิ่มการตรวจให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่า และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างน้อยวันละ 245,882 โดส

 
 
 

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งสัญญาณต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องว่า เป้าหมายของการที่จะทำให้โควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไปในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นั้น (เหมาะสมแล้วที่ใช้คำว่าโรคติดต่อทั่วไป : Post-Pandemic แทนคำว่าโรคประจำถิ่น)

เมื่อมาพิจารณาเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข จะพบว่า

1) ช่วงต่อสู้ (Combatting ) 12 มีนาคมถึงต้นเมษายน

2) ช่วงคงที่ (Plateau) เมษายนถึงพฤษภาคม

3) ช่วงลดลง (Declining) พฤษภาคมถึง 30 มิถุนายน

4) ช่วงเริ่มสงบหรือโรคติดต่อทั่วไป 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป

เป้าหมายดังกล่าวมีความน่าสนใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
จึงต้องไปดูหลักเกณฑ์ของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ โรคติดต่อทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย

1) มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยรายสัปดาห์ น้อยกว่า 0.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

2) การฉีดวัคซีน

2.1 ประชากรทั่วไป

ฉีดเข็ม 3 มากกว่า 60%

2.2 ผู้สูงอายุ

ฉีดเข็ม 1 มากกว่า 80%

ฉีดเข็ม 3 มากกว่า 60%

3) แนวโน้มในปัจจัยต่างๆ

3.1 จำนวนผู้ติดเชื้อ

3.2 จำนวนผู้ป่วยหนัก

3.3 อัตราการครองเตียงในระดับ2,3

เมื่อดูไปทีละเกณฑ์ จะพบความน่าสนใจคือ

1) อัตราการเสียชีวิต

ขณะนี้เรามีผู้ติดเชื้อรวม (PCR +ATK) ในช่วงเจ็ดวันล่าสุด 255,588 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ยติดเชื้อวันละ 36,512 ราย
มีผู้เสียชีวิตในช่วงเจ็ดวัน 895 ราย เฉลี่ยวันละ 127 ราย

คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.35%

แต่เป้าหมายที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ จะต้องมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 0.1%

เพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวบนฐานผู้ติดเชื้อวันละ 36,512 ราย จะต้องมีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 36 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากผู้เสียชีวิตในปัจจุบันมาก

จำนวนผู้เสียชีวิต 127 รายต่อวัน เป็นตัวเลขที่แม่นยำกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีการรายงาน

ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อรวม ผู้ติดเชื้อเฉพาะ ATK หรือผู้ติดเชื้อเฉพาะ PCR ก็ตาม

ก็แปลว่า อัตราการเสียชีวิต 0.1% จะต้องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อวันละ 127,000 ราย

ดังนั้นจึงต้องเร่งทำการตรวจให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่าตัว เพื่อให้พบผู้ติดเชื้อแท้จริงให้ได้ 127,000 รายต่อวัน

ก็จะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตที่ 127 รายต่อวัน คิดเป็น 0.1% เพราะปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างแม่นยำ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริง

ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน = 127 รายหารด้วย 36,512 ราย = 0.35%

จึงต้องเร่งตรวจเพิ่มขึ้นอีก 3.5 เท่า

แต่ถ้ายังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพียงวันละ 36,512 ราย ณ ปัจจุบันก็จะต้องบริหารจัดการให้มีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 36 ราย ซึ่งเป็นไปได้ยาก
และถ้ายอดรายงานผู้ติดเชื้อรายวันต่ำลงไปอีก ก็จะยิ่งทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ลงไปแตะ 0.1% ลำบากมากยิ่งขึ้น
การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงด้วย จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อลงมาอยู่ที่ 0.1%

วิธีการที่จะประสบผลสำเร็จคือ การเร่งให้มีการตรวจ ATK โดยการจัดการของภาครัฐ เพื่อที่เมื่อเจอผลเป็นบวก จะได้มีการรายงานครบถ้วนทุกราย

แต่ในขณะนี้ การตรวจเอทีเคโดยภาครัฐอาจจะยังมีจำนวนไม่มากนัก ทำให้ประชาชนที่ซื้อชุด ATK มีจำนวนมาก และเมื่อตรวจด้วยตนเองและมีผลบวกแล้ว ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้รายงานเข้าสู่ระบบ ทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง

2) การฉีดวัคซีน

2.1 สำหรับประชากรทั่วไป

กำหนดเข็ม 3 ให้มากกว่า 60%

ปัจจุบันฉีดเข็ม 3 แล้วได้ 36.4% หรือ 25.28 ล้านโดส เป้าหมาย 60% คือ 42 ล้านโดส ยังขาดอีก 16.72 ล้านโดส จึงต้องเร่งฉีดใน 68 วันที่เหลือให้ได้เฉลี่ยเพิ่มวันละ 245,882 โดส ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ แต่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น

2.2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ

ฉีดเข็มสามให้ได้มากกว่า 60% เป้าหมาย 60% ของกลุ่มผู้สูงอายุ 12.7 ล้านคนเท่ากับ 7.62 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดได้ 39.8% หรือ 5.06 ล้านโดส ยังจะต้องฉีดอีก 2.5 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 37,647 โดส ซึ่งก็พอจะมีโอกาสเป็นไปได้

ในส่วนเข็มที่ 1 ต้องฉีดให้ได้มากกว่า 80% นั้นในขณะนี้ผู้สูงอายุฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 84.1% หรือ 10.6 ล้านโดสจึงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด

กล่าวโดยสรุป เป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โควิดจะเข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคติดต่อทั่วไป จะต้องดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย

1) เร่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่า จึงจะทำให้พบอัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 0.1%

2) เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนทั่วไป ให้ได้วันละ 245,882 โดส ในจำนวนดังกล่าวต้องเป็นการฉีดให้กับผู้สูงอายุไม่น้อยกว่าวันละ 37,647 โดส

จึงถือว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย แต่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ประการใด ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย และมีปัจจัยตัวแปรเป็นจำนวนมากพอสมควร

หมายเหตุ : ส่วนตัวของผู้เขียน ดีใจที่หยุดพักการใช้คำว่า “โรคประจำถิ่น” มาใช้คำว่า “โรคติดต่อทั่วไป” เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณต่อสาธารณะที่จะเข้าใจได้ง่ายและถูกต้องเหมาะสม เนื่องจาก “โรคประจำถิ่น” อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เป็นโรคที่ไม่ต้องให้ความสนใจ เป็นโรคที่ไม่รุนแรง

แต่แท้จริงแล้ว โรคประจำถิ่นคือ โรคที่มีการระบาดอยู่ในบางภูมิภาคของโลก ไม่ระบาดทั่วโลก ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาทิเช่น ประเทศไทยมีมาลาเรียและไข้เลือดออก ถือเป็นโรคประจำถิ่นของโลกมนุษย์ แต่มีความรุนแรง ไข้เหลืองถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ไม่ใช่โรคระบาดทั่วโลก แต่ก็มีความรุนแรงเช่นกัน

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/128999/

 


'หมอมนูญ'ยกเคสเกาหลีใต้อัตราเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลก ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ร้อยละ 86 ได้รับวัคซีนครบโดส ส่วนใหญ่เป็น ชนิด mRNA ไฟเซอร์ ตามด้วยแอสตร้าเซเนก้า

23 มี.ค.2565- นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC มีเนื้อหาดังนี้

 
ประเทศเกาหลีใต้มีประชากร 52 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสโควิดไปแล้ว 9.94 ล้านคน แต่เสียชีวิตเพียง 1.3 หมื่นคน อัตราเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลก คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น สัปดาห์ที่แล้วเกาหลีใต้มีติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 6 แสนคนต่อวัน แต่ขณะนี้เริ่มลดลงแล้ว

การที่คนเกาหลีใต้เสียชีวิตน้อยมากจากโรคโควิด-19 เพราะ :

1.คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าหลายเท่า

2.คนเกาหลีใต้มากกว่าร้อยละ 86 ได้รับวัคซีนครบโดส และมากกว่าร้อยละ 63 ได้รับเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับเข็มกระตุ้นมากถึงร้อยละ 90

3.วัคซีนที่คนเกาหลีใต้ได้รับเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์ ตามด้วยแอสตร้าเซเนก้า และโมเดอร์นา(ดูรูป) ประเทศเกาหลีใต้ไม่ใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม

คนสูงอายุของไทย 2.1 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว มี 10 ล้านคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีเพียง 4.2 ล้านคนที่ได้รับเข็มกระตุ้น ถ้าเราจะลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำเหมือนประเทศเกาหลีใต้ เราต้องเร่งฉีดวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับคนสูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว รวมทั้งฉีดเข็มกระตุ้นให้มากที่สุดให้ได้ร้อยละ 70

 ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/109811/
 

21 เม.ย.65-ผลการศึกษาระยะที่ 3 พรูฟเวนท์ (PROVENT) ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรค พบว่า ยา Evusheld ของแอสตร้าเซนเนก้า (เดิมชื่อ AZD7442 ส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimab) สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคโควิด-19 แบบมีอาการได้ 77% จากการวิเคราะห์เบื้องต้น และ 83% จากการวิเคราะห์มัธยฐานที่ระยะเวลา 6 เดือน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) 1 การทดลองนี้พบว่าไม่มีผู้ป่วยอาการร้ายแรงหรือการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ตลอดการติดตามผลในระยะเวลา 6 เดือน

มากกว่า 75% ของจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาพรูฟเวนท์ (PROVENT) มีโรคประจำตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและอาจมีภูมิคุ้มกันตอบสนองไม่เพียงพอต่อการรับวัคซีน 1

  

ข้อมูลเพิ่มเติมจากเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ความเข้มข้นของยา Evusheld ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังการได้รับยา ซึ่งสนับสนุนว่าการฉีดยาครั้งเดียวก็สามารถให้การป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้อย่างน้อย 6 เดือน

ข้อมูลเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ในวันที่ 20 เมษายน 2565 ของวารสาร New England Journal of Medicine
นายแพทย์ไมรอน เจ. เลวิน ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ และอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้วิจัยหลักของการทดลอง PROVENT กล่าวว่า ในขณะที่วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต แต่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายคนยังมีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ข้อมูลเหล่านี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine สามารถทำให้มั่นใจได้ว่ายา Evusheld ที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงโดสเดียวสามารถให้การป้องกันแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้เป็นระยะเวลานาน ไม่เพียงเท่านั้น ยา Evusheld ยังสามารถลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในปัจจุบันได้

เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานสนับสนุนการใช้ยา Evusheld เพื่อการป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 แบบมีอาการและการเกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ภูมิคุ้มกันตอบสนองไม่เพียงพอต่อการรับวัคซีนและต้องการการป้องกันที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันยา Evusheld มีใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก การขึ้นทะเบียนกำลังคืบหน้าสำหรับทั้งการใช้ยาสำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสโรคและการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเบื้องต้นของยา Evusheld สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 300 มก. สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการ ได้ถึง 77% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 46-90; p <0.001) โดยมีค่ามัธยฐานในช่วงระยะเวลาติดตามหลังการได้รับยาไปแล้ว 83 วัน โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการเป็นสัดส่วน 8/3441 (0.2%) และ 17/1,731 (1.0%) ในกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld และยาหลอกตามลำดับ 1

เมื่อเปรียบเทียบกับการวิเคราะห์ผลเบื้องต้น การวิเคราห์ผลที่การติดตามที่ยาวนานขึ้นแสดงให้เห็นว่ายา Evusheld สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคโควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (RRR) ได้ถึง 83% ในการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการ (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 66, 91) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยมีค่ามัธยฐานในช่วงระยะเวลาติดตามหลังการได้รับยาไปแล้ว 196 วัน โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการเป็นสัดส่วน 11/3,441 (0.3%) และ 31/1731 (1.8%) ในกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld และยาหลอกตามลำดับ ซึ่งประสิทธิภาพดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกันกับการประเมินในกลุ่มผู้เข้าร่วมรายย่อย

จากการติดตามผลในระยะเวลา 6 เดือนในกลุ่มผู้เข้าร่วมรับยา Evusheld นั้น ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ไม่พบผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอก มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 5 ราย มีผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 7 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 2 ราย

ทั้งนี้ ยา Evusheld มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดีจากการศึกษาพรูฟเวนท์ (PROVENT) และไม่มีการระบุถึงปัญหาด้านความปลอดภัยตั้งแต่การวิเคราะห์ระยะแรกหรือแม้แต่ระยะ 6 เดือน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นมีอัตราใกล้เคียงกันในทั้งสองกลุ่ม โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดคือปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นใน 2.4% ของผู้เข้าร่วมที่รับยา Evusheld และ 2.1% ของผู้เข้ามร่วมที่รับยาหลอก 1

ประชากรทั่วโลกประมาณ 2% มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่เพียงพอ และอาจได้รับประโยชน์จากยา Evusheld ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-192,3 ซึ่งประชากรดังกล่าวยังรวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการได้รับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก็สามารถได้รับประโยชน์จากการป้องกันด้วยยา Evusheld อีกด้วย 4–8

ก่อนหน้านี้ทางแอสตร้าเซนเนก้าได้ประกาศผลลัพธ์ที่ดีจากการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งผลการศึกษาในฉบับเต็มจะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป (European Congress of Clinical Microbiology and Infectious Diseases หรือ ECCMID) ที่กำลังจะจัดขึ้น และยังได้ยื่นตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/127318/

 

 
"อ.เจษฎ์" กางข้อมูล เผยข่าวดีประเทศไทย "โควิด" Omicron ขาลงชัดเจนแล้ว
 
 

"อ.เจษฎ์" กางข้อมูล เผยข่าวดีประเทศไทย "โควิด" Omicron ขาลงชัดเจนแล้ว พีคอีกระลอกปลาย เม.ย. ทำใจยอดตาย-ปอดอักเสบ สูง ก่อนลง

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ "อ.เจษฎ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  อัปเดตสถานการณ์ "โควิด" ระบุว่า "อัปเดตสถานการณ์โควิด - เป็นช่วงขาลงแล้วครับ" วันสงกรานต์ผ่านไปแล้ว เลยขอมาอัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์ "โอมิครอน" Omicron ตั้งแต่ต้นปีนี้มา อีกครั้ง ข่าวดีคือ การระบาดของโควิดเป็น "ขาลง" ชัดเจนแล้ว

"อ.เจษฎ์" ระบุว่า เมื่อดูจากกราฟของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน (รูปซ้าย เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังของผลรวมระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่ตรวจด้วยวิธี PCR และด้วยวิธี ATK จะเห็นว่า หลังจากการระบาดไม่มากของสายพันธุ์ Delta หลังฉลองปีใหม่ ก็เกิดการระบาดของ Omicron ที่พุ่งขึ้นสูงตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไปถึงจุดพีคสุดต้นเดือนมีนาคม แล้วลดลง ก่อนจะพีคขึ้นไปอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม (คาดว่าเป็นผลจากการระบาดซ้อน ของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.1 เดิม) และพีคอีกครั้งเล็ก ๆ ในช่วงต้นเดือนเมษายน 

"อ.เจษฎ์" กางข้อมูล เผยข่าวดีประเทศไทย "โควิด" Omicron ขาลงชัดเจนแล้ว

จากนั้นการระบาดก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นช่วงกลางเดือนเมษายนแล้ว ซึ่งน่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า เรากำลังเข้าสู่ขาลงของการระบาดระลอกนี้ และก็ยังสอดคล้องกับแนวโน้มของการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ที่มักจะมาเร็วไปเร็วใน 2 เดือน (เพียงแต่ของเรามี 2 สายพันธุ์ระบาดซ้อนกัน เลยทำให้ช้าลงไปหน่อย)

อย่างไรก็ตาม ที่ทุกคนห่วงและจับตาดูกันคือ หลังจากเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่มีผู้คนเดินทาง ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ และจัดกิจกรรมมากมาย จะนำไปสู่การระบาดอีกระลอกของโควิดหรือเปล่า (ซึ่งผมคาดว่า ช่วงปลายเดือนเมษายน เราอาจจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่น่าจะไม่พีคสูงเหมือนตอนต้น ๆ อีกแล้ว) สำหรับค่าอื่น ๆ นั้น คือ ค่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ ที่ยังสูงอยู่นั้น ก็เป็นไปตามคาดที่จะเป็นผลที่เกิดขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อ ในช่วงประมาณ 14 วัน ดังนั้น เราก็ต้องเตรียมทำใจที่จะเห็นค่าเหล่านี้สูงขึ้นอีกซักระยะ ก่อนจะเริ่มลดลง (แต่จากกราฟ ตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะชันน้อยลงบ้างแล้ว)

ปล. เน้นเหมือนเดิมว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานอย่างเป็นทางการ น่าจะน้อยกว่าค่าจริงประมาณ 3 เท่า แต่ก็ยังสามารถบอกแนวโน้มการระบาดในประเทศได้ครับ

ขอบคุณ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/511648?adz=

 
เปิดผลวิจัย "โควิด" ติดเข้าเซลล์ทุกสายพันธุ์พร้อมกัน Omicron เข้าปอดไวกว่า
 
 

"ดร.อนันต์" เปิดผลวิจัยใหม่ของเกาหลีใต้ พบข้อมูลชวนอึ้ง ไวรัส "โควิด" สามารถติดเข้าเซลล์ได้ทุกสายพันธุ์พร้อมกัน Omicron เข้าปอดไวกว่า 4.8 เท่า

(15 เม.ย.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โพสต์เฟซุบ๊ค Anan Jongkaewwattana เผยผลวิจัยใหม่ เกี่ยวกับไวรัส "โควิด" สายพันธุ์ต่าง ๆ ระบุว่า 

ทีมวิจัยของเกาหลีใต้ ได้นำเสนอผลการทดลองชิ้นหนึ่งออกมาน่าสนใจมาก เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาตอบคำถามเกี่ยวกับความสามารถการติดเข้าสู่เซลล์ปอดของมนุษย์ ของไวรัส SARS-CoV-2 แต่ละสายพันธุ์ได้ชัดเจนขึ้น 

โดยทีมวิจัยทำการแยกเซลล์ถุงลมปอดของมนุษย์ออกมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ และเหนี่ยวนำให้เซลล์ดังกล่าวเจริญเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า Organoid ซึ่งเป็นสภาวะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะจริงในร่างกาย มากกว่าการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ที่มักแยกมาจากเซลล์มะเร็งปอด และมีการเลี้ยงมาเป็นเวลานาน พอได้ระบบ Organoid ของปอดมนุษย์แล้ว ทีมวิจัยได้นำไวรัส "โควิด" ที่แยกได้จากผู้ป่วยในเกาหลีใต้ ที่มีการถอดรหัสพันธุกรรม 100% เรียบร้อยแล้ว 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เดิม (GR), Alpha, Delta และ Omicron จำนวนเท่า ๆ กัน มาผสมกัน และปล่อยให้ไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ติดเข้าสู่ Organoid ปอดที่สร้างขึ้น 

ทีมวิจัยได้มีการใช้ระยะเวลาที่ให้ไวรัสไปบ่มกับเซลล์ที่เวลาต่าง ๆ กัน ที่น่าสนใจคือ เค้าใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาที ก็สามารถพบว่า ไวรัสสามารถติดเข้าสู่เซลล์ได้แล้วหลังจากบ่มไวรัสที่เตรียมไว้กับ Organoid ปอด ทีมวิจัยทำการแยกเซลล์ปอดที่ติดเชื้อออกเป็นเซลล์เดี่ยว แล้วนำเซลล์เดี่ยว ๆ นั้น ไปถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสในแต่ละเซลล์ ด้วยเทคโนโลยี SMART-seq3 ที่ทีมวิจัยระบุว่า สามารถอ่านรหัสพันธุกรรมในเซลล์เดี่ยว ๆ แต่ละเซลล์นั้นได้ละเอียด มากพอที่จะแยกสายพันธุ์ไวรัสที่เข้าไปติดเซลล์เหล่านั้น 

เปิดผลวิจัย "โควิด" ติดเข้าเซลล์ทุกสายพันธุ์พร้อมกัน Omicron เข้าปอดไวกว่า

ผลการทดลองจากการถอดรหัสเซลล์จำนวนเกือบ 190 เซลล์ ทีมวิจัยพบว่า 52  เซลล์ (คิดเป็น 27.2%) ถูกติดเชื้อ "โควิด" โดยไวรัส 1 สายพันธุ์ ในขณะที่มีเซลล์มากถึง 85 เซลล์ (44.5%) ถูกติดเชื้อไวรัสได้ 2 สายพันธุ์ และ มีมากถึง 52 เซลล์ หรือ 27.2% สามารถถูกติดเชื้อได้ 3 สายพันธุ์พร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะความเชื่อก่อนหน้านี้เกี่ยวกับโอกาสที่ไวรัสจะเข้าไปอยู่ในโฮสต์พร้อม ๆ กันมากกว่า 1 สายพันธุ์ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ผลจากงานวิจัยนี้ก็บอกว่าไม่ยากเช่นกัน

ในบรรดาเซลล์ที่นำมาวิเคราะห์หาชนิดของไวรัสที่ติดเข้าไปได้ ทีมวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเซลล์ที่ติดสายพันธุ์โอมิครอน ตามมาด้วย Alpha และ Delta กับ สายพันธุ์ดั้งเดิม ทีมวิจัยพบว่า โอมิครอนมีความสามารถติดเข้าไปในเซลล์ปอดที่ใช้ในการศึกษานี้ไวกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ (ประมาณ 4.8 เท่า แต่ยังไม่ชัดเจนว่าผลของการศึกษานี้ จะขัดแย้งกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่าโอมิครอนติดเซลล์ปอดไม่ดีหรือไม่ คงต้องดูในรายละเอียดของชนิดของเซลล์ที่ใช้ ตลอดจนความแตกต่างของไวรัสด้วย

"ดร.อนันต์" ระบุว่า แต่ประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษคือ โอกาสที่ไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนตัวเองในเซลล์เดียวกันได้หลาย ๆ สายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน เพราะนั่นคือกลไกการสร้างไวรัสลูกผสมตระกูล X ทั้งหลาย ถ้าเกิดขึ้นได้ง่ายขนาดนี้ไวรัสหน้าตาแปลก ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกันครับ

ขอบคุณข้อมูล Anan Jongkaewwattana

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/511561?adz=

 
“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด
 
คณะผู้วิจัยระบุว่าการสวมหน้ากากอนามัยควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นการปฏิบัติปกติประจำ เมื่อเข้าสู่พื้นที่บริเวณสาธารณะภายในอาคาร เพราะสามารถลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน และสามารถลดการรั่วซึมบริเวณขอบหน้ากากได้

ทีมนักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยหัวข้อ “ผลของหน้ากากและการระบายอากาศต่อความเสี่ยงในการแพร่ของเชื้อ SARS-CoV-2 ในระบบทางเดินหายใจในห้องน้ำสาธารณะ : ด้วยการประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ” ยืนยันผลวิจัยบ่งชี้ว่าห้องน้ำสาธารณะและห้องอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เล็ก แคบ และมีการระบายอากาศที่ไม่ดีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ของเชื้อโควิด-19 และวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการแพร่ระบาดคือการที่ทุกคนใส่หน้ากากกรองอากาศให้มิดชิด

  จากการเสวนาในหัวข้อ “ใช้ห้องน้ำสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด” ที่เฟซบุ๊กเพจ Zero C Thailand รวมพลังไทยลดยอดติดเชื้อ ให้เหลือ “0” เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ดร. ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญประจำห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การแพร่ทางอากาศ (Airborne) เป็นช่องทางหนึ่งในการระบาดของเชื้อโควิด-19

  “การใส่หน้ากากเป็นวิธี (ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและง่ายที่สุดด้วย เราเริ่มได้ที่ตัวเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดที่ค่อนข้างแคบ แม้ว่าจะไม่เห็นว่ามีใครใช้ห้องน้ำมาก่อนหน้าเรา หรืออยู่ในลิฟต์ด้วยกัน ผลวิจัยของเราก็บอกว่าแม้จะรอ 10 นาทีแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยลงแต่ก็ยังมี (ความเสี่ยง) อยู่” ดร.ขวัญรวี กล่าว

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

ดร.ธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ทั้งผ่านละอองฝอย (Droplet) ซึ่งเป็นละอองน้ำมูก น้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งจะตกลงสู่พื้นด้านล่างในระยะ 2 เมตร และแพร่เชื้อผ่านละอองลอย (Aerosol) ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วเฉกเช่น PM2.5 และลอยค้างอยู่ในอากาศได้นาน หากเว้นระยะเวลาเข้าใช้ห้องน้ำต่อจากคนก่อนหน้า ร่วมกับการระบายอากาศในห้องน้ำ ระดับความเข้มข้นของเชื้อโรคจะน้อยลง

 ดร.ธรรมณิษฐ์พล กล่าวว่า “ถ้าเป็น Aerosol (ละอองลอย) เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนก่อนหน้าเราเขาหายใจ ไอ จามอย่างไร ละอองขนาดไหน เรามีโอกาสที่จะติด (เชื้อโควิด-19) ได้”

ดร.ธรรมณิษฐ์พล ยังกล่าวถึงการเลือกใช้หน้ากากชนิดต่างๆ ด้วยว่า หน้ากากกรองอากาศ (Respirators) เช่น N95 KN95 KF94 FFP2 จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิดในห้องน้ำและสถานที่สาธารณะ ในขณะที่หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพรองลงมาแต่ต้องพยายามใส่ให้มิดชิดที่สุด ส่วนหน้ากากผ้าซึ่งมีหลากหลายอาจมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป และหน้ากากผ้าธรรมดาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกรองละอองไวรัส

 “การไม่ใส่ (หน้ากาก) เลย โอกาสติดเชื้อคือมี 1,000 คนก็ติด 1,000 คน คือเสี่ยงมากๆ เลย แต่หากใส่หน้ากากตระกูล N95 และใส่อย่างถูกวิธี โอกาสติดอาจเป็น 1 ใน 100,000 คน” ดร.ธรรมณิษฐ์พล กล่าว

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

ดร.มนต์ชัย พุ่มแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ถอดหน้ากากในห้องน้ำสาธารณะ หากมีความจำเป็น เช่น ต้องการล้างหน้า ให้กลั้นหายใจขณะล้างหน้า และรีบใส่หน้ากากกลับเข้าไปโดยเร็วที่สุด

ผศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้แน่ใจได้ว่าห้องน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีการสะสมของเชื้อโรค ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และควรใช้เวลาในห้องน้ำให้น้อยที่สุด

ส่วนนายธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมบริษัทเอกชนหลายแห่ง เจ้าของเพจ “เรื่อง Airborne มองจากมุมวิศวกร” กล่าวว่า สถานการณ์ที่คนจะเผลอและมีความเสี่ยงมากคือระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเป็นช่วงที่แต่ละคนถอดหน้ากาก จึงแนะนำให้รับประทานอาหารในพื้นที่เปิดที่มีการระบายอากาศได้ดี และให้นั่งรับประทานห่างๆ กัน

นายธนะศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยไม่ควรรีบยกเลิกการใส่หน้ากากในที่สาธารณะตามอย่างคนในประเทศอื่น “ถ้าทุกอย่างมีแต่ข่าวลบไปหมด ชีวิตมันก็เครียด ผมเข้าใจ แต่ในความเป็นจริง เราหย่อนได้ระดับหนึ่งครับ แต่ยังต้องควบคุมอยู่ ถ้าเราไม่ควบคุมเลยมันก็จะกลับมาเป็นแผลร้ายเหมือนตอนนี้ที่เรากำลังจะเข้าสงกรานต์ในสถานการณ์คนติดเชื้อวันละ 50,000 ตายวันละร้อยกว่าคน ก็จะเจอภาพนี้ซ้ำๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจอ 2 ปีที่ผ่านมาเราผิดหวังหลายรอบแล้วนะครับ” นายธนะศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ผลการวิจัยของ ดร.ธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล ดร.มนต์ชัย พุ่มแก้ว นางสาวอรนุช สิทธิพันธ์ศักดา รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ ศ.เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข และ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน ในหัวข้อ Effects of face masks and ventilation on the risk of SARS-CoV-2 respiratory transmission in public toilets: a quantitative microbial risk assessment ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Water and Health Vol 20 No 2 หน้า 300-331

งานวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศ กรณีที่มีผู้ติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อได้มาเข้าห้องน้ำ แล้วมีคนที่อาจเป็นผู้รับเชื้อมาใช้ห้องน้ำต่อ พบว่า หากผู้ที่มีเชื้อแค่หายใจเฉยๆ ความเสี่ยงที่ผู้ที่เข้าห้องน้ำต่อจะได้รับเชื้อมีมากถึง 10% แต่หากผู้ที่มีเชื้อไอหรือจามเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100 % แต่หากทั้งสองฝ่ายสวมใส่หน้ากากตระกูล N95 หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ความเสี่ยงจะลดลงเหลือเกือบ 0.01 %

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

คณะผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมได้ใช้วิธีประเมินความเสี่ยงจุลินทรีย์เชิงปริมาณ (Quantitative microbial risk assessment หรือ QMRA) โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ และลักษณะสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เราจะเจอในประเทศไทยให้มากที่สุด เช่น คำนวณปริมาณความเข้มข้นของไวรัสโดยอ้างอิงจากผล RT-PCR ที่ได้จากผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2564 จำนวน 251 ตัวอย่าง คำนวณสำหรับโมเดลห้องสุขาสาธารณะขนาดตามมาตรฐานของประเทศไทยซึ่งมีขนาดความยาว 1.5 เมตร x กว้าง 0.8 เมตร x สูง 2.7 เมตร (ปริมาตร 3.24 ลูกบาศก์เมตร) และคำนวณในระดับการระบายหมุนเวียนอากาศที่แตกต่างกันหลายๆ ระดับ

นอกจากนี้ ยังเปรียบเทียบผลของการทิ้งระยะรอคอยและเปรียบเทียบผลของการใส่หน้ากากกรองอากาศตระกูล N95 หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าในการป้องกันการแพร่หรือรับเชื้อด้วย

จากผลการวิจัย ได้ข้อสรุปว่า ช่วงระยะเวลารอคอยนานอย่างน้อย 10 นาทีทำให้มีความเสี่ยงลดลง นอกเหนือจากการสวมใส่หน้ากากในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศอยู่ที่ 12 หน่วยต่อชั่วโมง แต่โดยรวมแล้วการสวมหน้ากากชนิด N95 และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นการลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ใช้ห้องน้ำสาธารณะ ส่วนการสวมหน้ากากผ้าธรรมดานั้นยังให้การปกป้องที่ไม่เพียงพอ

ทางคณะผู้วิจัยระบุด้วยว่า การสวมหน้ากากควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นการปฏิบัติปกติประจำเมื่อเข้าสู่พื้นที่บริเวณสาธารณะภายในอาคาร นอกจากนี้ การสวมหน้ากากที่กระชับใบหน้ามากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะว่าสามารถลดการรั่วซึมบริเวณขอบหน้ากากได้

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/999330?anf=

"โอไมครอน" เปิด 4 ข้อหลัก ไม่แรงแต่ไม่ติดดีกว่า เชื้อกลายพันธุ์-ระบบ สธ.ล่ม
 
 

โควิด "โอไมครอน" Omicron ศบค.เปิด 4 เหตุผลหลัก ไม่แรงแต่ไม่ติดจะดีกว่า หวั่นเชื้อกลายพันธุ์-ระบบสาธารณสุขล่ม

อัปเดตโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ Omicron ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ ทำให้ยังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นรายวัน และด้วยคุณสมบัติที่ไม่ค่อยแสดงอาการ มีระยะฟักตัวสั้น และข้อมูลอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้หลายคนเริ่มผ่อนคลายการดูแลตัวเอง และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น 

  1. ปล่อยให้ติดเชื้อ ส่งเสริมให้เชื้อกลายพันธุ์ แพร่กระจายง่ายขึ้น
  2. Omicron เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ ทำให้เกิดภาวะ Long COVID ระยะยาวได้
  3. ยังมีคนไทยอีกหลายล้านคน ไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เสี่ยงติดเชื้อและอาจเสียชีวิต
  4. ถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว อาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน

"โอไมครอน" เปิด 4 ข้อหลัก ไม่แรงแต่ไม่ติดดีกว่า เชื้อกลายพันธุ์-ระบบ สธ.ล่ม

โดยเฉพาะภาวะอาการ Long Covid นั้น แพทย์หลายคน ได้ให้ความเป็นห่วง เพราะ "โอไมครอน" Omicron เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ ทำให้เกิดภาวะ Long COVID ระยะยาวได้ หรือผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ เช่น ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น ความจำสั้น สมาธิสั้น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
มีไข้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดข้อ กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า

10 อาการ ที่พบมากที่สุดใน Long COVID คือ 

  1. เหนื่อยล้า 
  2. หายใจไม่อิ่ม
  3. ปวดกล้ามเนื้อ
  4. ไอ
  5. ปวดหัว
  6. เจ็บข้อต่อ
  7. เจ็บหน้าอก
  8. การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป
  9. อาการท้องร่วง 
  10. การรับรสเปลี่ยนไป

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/511532?adz=

 
เปิดข้อมูลหาเชื้อ "โควิด" จากอุจจาระพบใน 1 วีกหลังติดเชื้อ อยู่ได้นาน 7 เดือน
 
 

"ดร.อนันต์" เปิดเผยผลวิจัย สามารถหาเชื้อ "โควิด" จากอุจจาระได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังตรวจพบว่าติดเชื้อ มักเจอในกลุ่มที่มีอาการเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร บางรายพบได้นานถึง 7 เดือน

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana เปิดเผยว่า ข้อมูลแทบทั้งหมดตอนนี้เกี่ยวกับการแพร่กระจายไวรัส "โควิด" จากผู้ป่วยจะมาจากการตรวจตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ เช่น จากตัวอย่างโพรงจมูก หรือ จากน้ำลาย

แต่ความเป็นจริงแล้วมีข้อมูลมาตั้งแต่การเริ่มต้นของการระบาดแล้วว่า ไวรัสอาจจะแพร่ออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะทางอุจจาระของผู้ป่วย แต่เนื่องจากโอกาสการแพร่กระจายจากช่องทางนี้น้อยกว่าจากช่องทางน้ำมูก น้ำลาย ทำให้ข้อมูลการศึกษาว่าตกลงไวรัสจะอยู่ในตัวผู้ป่วยนานมากน้อยขนาดไหนจึงมีไม่มาก และไม่ค่อยชัดเจน

งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐอเมริกา เก็บข้อมูลโดยหาปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัสจากตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วย "โควิด" ในระยะเวลาต่างๆ พบว่า ประมาณ 50% ของผู้ป่วยสามารถตรวจพบ RNA ของไวรัสได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังตรวจพบว่าติดเชื้อ ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อทำการตรวจ RT-PCR จากตัวอย่างที่เก็บจากโพรงจมูก หรือ ลำคอ จะเป็นลบหมดที่ 4 เดือน แต่ยังพบว่า 12.7% ของผู้ป่วยยังตรวจพบ RNA ของไวรัสในตัวอย่างอุจจาระ บางคนสามารถตรวจพบได้ยาวนานถึง 7 เดือน

ทีมวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบ RNA ของไวรัสในตัวอย่างอุจจาระ มักจะเป็นกลุ่มที่มีอาการเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คำถามต่อมาคือตกลง RNA ที่ตรวจได้เป็นไวรัสที่ยังแพร่ต่อได้ หรือ แค่ซากเชื้อ หรือ สารพันธุกรรมไวรัสที่หลงเหลืออยู่ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เนื่องจากผู้ป่วยต้องทำการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองก่อนส่งให้ทางทีมวิจัยไปตรวจสอบต่อ ซึ่งจำเป็นต้องทำการฆ่าเชื้อก่อนส่งตัวอย่างออก แต่จากงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์ไปก่อนหน้านี้ที่สามารถแยกเชื้อไวรัสได้จากตัวอย่างอุจจาระ และข้อมูลที่ออกมาว่าไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ลำไส้ได้ดี ทำให้ทีมวิจัยคาดว่า มีโอกาสที่ไวรัสจะแพร่ออกจากตัวผู้ป่วยได้นานกว่าช่วงเวลากักตัว

ข้อมูลนี้มีประโยชน์ครับ เพราะจะทำให้เราระมัดระะวังช่องทางการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเพิ่มขึ้น การทำความสะอาดห้องน้ำในช่วงกักตัว หรือ หลังกักตัว หรือ การปิดฝาก่อนกดชักโครก น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้นครับ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/511329?adz=

"ติดโควิดซ้ำรอบ 2" สาเหตุจากอะไร รุนแรงกว่าครั้งแรกมั้ย รวมคำตอบมาให้แล้ว
 
 

"ติดโควิดซ้ำรอบ 2" หลายคนเริ่มกังวล ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เป็นซ้ำแล้ว อาการรุนแรงมากกว่าครั้งแรกหรือไม่ มาหาคำตอบได้ที่นี่

"ติดโควิดซ้ำรอบ 2" เป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน และมีสาเหตุมาจากอะไร เริ่มกลับมามีการตั้งคำถามขึ้นบ่อยครั้ง หลังจากที่มีข่าวนักการเมืองรายหนึ่งติดโควิดซ้ำ 2 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" (Omicron) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีคำแนะนำ "ติดโควิดซ้ำ" หมายถึงอะไร และมีสาเหตุมาจากอะไร

 

การ "ติดเชื้อโควิดซ้ำรอบ 2" หมายถึง ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ แต่ต่อมาติดเชื้อซ้ำ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่พบว่า "โอไมครอน" พบการติดเชื้อซ้ำ
สูงกว่าเดลตา 3-6 เท่า


สาเหตุการติดเชื้อซ้ำ

  1. มักเกิดในช่วงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับไม่ครบ หรือรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานกว่า 6 เดือน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  2. เชื้อที่มีการระบาดในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อเดิม
  3. ผู้ป่วยลดลดมาตรการป้องกันตัวและมีพฤติกรรมเสี่ยง

"ติดโควิดซ้ำรอบ 2" สาเหตุจากอะไร รุนแรงกว่าครั้งแรกมั้ย รวมคำตอบมาให้แล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า การ "ติดโควิดซ้ำรอบ 2" ที่ต่างสายพันธุ์กันสามารถติดเชื้อซ้ำได้ เช่น คนที่หายจากโควิดสายพันธุ์เดลตา ก็สามารถติดสายพันธุ์โอไมครอนซ้ำได้ ส่วนกรณีสายพันธุ์โอไมครอนเหมือนกัน แต่เป็นสายพันธุ์ย่อย เช่น BA.1 กับ BA.2 ยังเป็นความรู้ใหม่ ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดข้อเท็จจริงอีกครั้ง ตามหลักแล้วก็มีโอกาส แต่จะ 1 ในแสน หรือ 1 ในล้าน ต้องดูข้อมูลประกอบรวมถึงดูระยะเวลาด้วย 

อาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรกหรือไม่

คนที่ติดเชื้อซ้ำ อาจต้องดูข้อมูลเรื่องความรุนแรงของอาการป่วย ประวัติ ข้อมูลทางระบาดวิทยารวมถึงระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเนื่องจากร่างกายของแต่ละคน มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน และระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงก็ใช้ระยะเวลาแตกต่างกันด้วย รวมถึงตัองดูผลการตรวจจากห้องปฏิบัติ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด 


ขณะที่ "หมอเฉลิมชัย" น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา บอกเหตุผลว่า ทำไมผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิดเพียง 1 เดือน จึงเกิดติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ มีความเป็นไปได้จากเหตุผล ดังนี้

  • ถ้าการติดเชื้อโควิด ครั้งที่ 1 มีปริมาณเชื้อน้อย และอาการไม่รุนแรง อาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงนัก เมื่อไปสัมผัสเสี่ยงกับผู้ที่มีปริมาณเชื้อไวรัสมาก จึงอาจเกิดติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันควรจะสามารถป้องกันได้อย่างน้อย 3-6 เดือน
  • ในการติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจเกิดจากเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์กัน เช่น ติดเชื้อครั้งที่ 1 เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 ของโอไมครอน ต่อมาติดสายพันธุ์ย่อยที่สอง คือ BA.2 ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง ทำหน้าที่ป้องกันได้ไม่เต็มที่นัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เพิ่งหายป่วยจากการติดเชื้อ ไม่ควรประมาท เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ และอาจทิ้งระยะห่างน้อยกว่าที่เคยเชื่อกัน (3-6 เดือน) การป้องกันตนเอง มีวินัย ไม่ประมาท ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ตลอดจนฉีดวัคซีนเมื่อถึงกำหนดเวลา ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญ และใช้ได้ผลดีในการรับมือกับไวรัสก่อโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/510340?adz=