รู้ไหม? โควิด-19 ในหมา-แมว  ไม่ติดต่อกลับสู่คน
 

ฮือฮา! งานวิจัยไทย พบหมา- แมว ติดเชื้อโควิด-19 ขณะ กรมปศุสัตว์ วอนผู้เลี้ยงอย่าตระหนก ยันไม่พบหลักฐาน การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คน พร้อมแนะแนวทางการดูแลสัตว์เลี้ยงยุคโควิด เจ้าของติดเชื้อ ต้องกักตัว - แยกสัตว์เลี้ยงทันที

8 พ.ย.2564 - กลายเป็นข่าวฮือฮา และเป็นที่วิตกกังวล สำหรับผู้เลี้ยงสุนัข - แมว หลังช่วงเช้าวันนี้ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึง "การติดเชื้อโควิด-19 ของสุนัขและแมวในไทย" 

โดยระบุว่า งานวิจัยเมื่อ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ของทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจพบสุนัข 3 ตัวจากการตรวจ 35 ตัว และแมว 1 ตัวจากการตรวจ 9 ตัว ติดเชื้อโควิด-19 โดยทั้งหมดที่ตรวจนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนที่มีเจ้าของติดเชื้อโควิด-19 โดยสุนัข 1 ตัวมีอาการเล็กน้อย ส่วนตัวอื่นๆ ที่ติดเชื้อนั้นไม่มีอาการ เป็นคำถาม ว่า การติดเชื้อ COVID-19 ของสุนัขและแมวในไทย สามารแพร่สู่คนได้หรือไม่? 

ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง การเผยแพร่ข่าวทางเฟซบุ๊ก กรณีพบการติดเชื้อ COVID-19 ของสุนัขและแมวในไทย  ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เกิดความกังวลและสร้างความตระหนกต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงในไทยอย่างมากถึง สัตว์เลี้ยงที่ติดโควิด สามารถแพร่เชื้อกลับไปยังเจ้าของสัตว์ได้หรือไม่นั้น 


ว่าปัจจุบันในขณะที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ก็มีรายงานการติดเชื้อในสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มมีรายงานการตรวจพบเชื้อครั้งแรกในสุนัขและแมวในฮ่องกงในปี 2563 และมีหลักฐานว่าแมวติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนสามารถแพร่เชื้อไปยังแมวตัวอื่นได้ 

รู้ไหม? โควิด-19 ในหมา-แมว  ไม่ติดต่อกลับสู่คน

รู้ไหม? โควิด-19 ในหมา-แมว ไม่ติดต่อกลับสู่คน

 

ต่อมาพบการติดเชื้อในตัวมิงค์ที่ประเทศเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ และพบเชื้อในแมวที่มีอาการทางระบบหายใจและทางเดินอาหารในประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับเจ้าของที่ติดเชื้อ COVID-19 มีรายงานการพบเชื้อในเสือโคร่ง แสดงอาการทางระบบหายใจ ในสวนสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าติดเชื้อมาจากพนักงานดูแลสัตว์ที่ติดเชื้อ และยังมีรายงานว่าสามารถแพร่สู่สัตว์อื่นๆ ได้ เช่น กวาง พังพอน เสือ สิงโต หรือแม้แต่สัตว์ตระกูลลิงกอริลลา 

กรมปศุสัตว์ยัน "สัตว์ติดเชื้อโควิด" ไม่แพร่กลับสู่คน

สำหรับประเทศไทยพบมีรายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน 2564 จากสุนัขที่นำมาผ่าตัดขาเนื่องจากเป็นมะเร็งที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังผ่าตัดเพื่อนบ้านเจ้าของสุนัขได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าเจ้าของสุนัขติดเชื้อโควิด-19 จึงได้มีการเก็บตัวอย่างจากสุนัขและตรวจพบเชื้อดังกล่าว 

จากข้อมูลการตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในสัตว์กลุ่มที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าสัตว์เหล่านี้ใกล้ชิดกับเจ้าของหรือได้รับการดูแลจากผู้ที่ติดเชื้อ เป็นการติดเชื้อจากคนสู่สัตว์ โดยปัจจุบันมีหลักฐานชัดเจนว่า มนุษย์สามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงไปสู่คน 

เปิดแนวทางดูแลสัตว์เลี้ยง ในยุคโควิด 

เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการและข้อปฏิบัติในการดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ติดเชื้อ กรมปศุสัตว์จึงได้แจ้งข้อพึงปฏิบัติและมาตรการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงหากตรวจพบโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงหรือสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงติดเชื้อ สำหรับสถานพยาบาลสัตว์ที่รับฝากหรือรักษาสัตว์เลี้ยงในกรณีที่เจ้าของสัตว์ป่วยด้วยโรคโควิด-19 รวมถึงข้อควรปฏิบัติไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (คลิก)https://dcontrol.dld.go.th เมนูข่าวสารประชาสัมพันธ์ หัวข้อเตรียมความพร้อมกำหนดแนวทางการดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) อย่างต่อเนื่อง


อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มว่า ขอให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่านอย่าตื่นตระหนกและไม่ละทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งการทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยเน้นย้ำว่าในปัจจุบันสามารถระบุได้เพียงว่าสุนัขและแมวสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากคนป่วยได้เท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คนได้ ซึ่งได้มีการศึกษาร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการเก็บตัวอย่างในสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของนำมาเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสัตว์จำนวน 120 ตัว ยังไม่พบการติดเชื้อซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชื้อโควิด-19 ไม่มีการแพร่กระจายทั่วไปในสัตว์เลี้ยง 

รู้ไหม? โควิด-19 ในหมา-แมว  ไม่ติดต่อกลับสู่คน

 

รู้ไหม? โควิด-19 ในหมา-แมว ไม่ติดต่อกลับสู่คน
แนะหากเจ้าของป่วยโควิดควรกักตัว-แยกสัตว์เลี้ยง

แต่อย่างไร ก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันและลดความความเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยง จึงขอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงพาสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน และหากท่านอยู่ในกลุ่มสงสัยว่าติดเชื้อหรือป่วยจากเชื้อ COVID-19 ควรแยกตัวออกจากผู้อื่น รวมถึงสัตว์เลี้ยงของท่าน ควรให้บุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีเป็นผู้ดูแลสัตว์แทน หากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงสัมผัสโรคหรือสัตว์ติดเชื้อ 

เช่น มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีอาการที่เข้าข่ายของโรค ควรกักสัตว์แยกไว้ไม่เข้าไปคลุกคลีอย่างน้อย 14 วัน ในกรณีจำเป็นต้องการนำไปฝากเลี้ยงหรือทำการตรวจรักษาให้โทรศัพท์ปรึกษาสัตวแพทย์และแจ้งให้ทราบถึงประวัติเสี่ยงของท่านและสัตว์ก่อน ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงไปยังสถานพยาบาลสัตว์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

ทั้งนี้ สามารถติดต่อปรึกษา หรือ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

 

ข้อมูลจาก https://www.thansettakij.com/general-news/502538

10072564 news 01

กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ มีมติเห็นชอบ ให้ Rapid Antigen Test เป็นชุดตรวจโควิดได้ที่บ้าน เตรียมชง ‘อนุทิน – อย.’ ไฟเขียว 12 ก.ค. ก่อนจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

----------------------------------------------------

จากกรณีที่ ประชาชนเริ่มประสบปัญหาความยากลำบากจากการเข้าแถวต่อคิวเพื่อรอรับการตรวจหาเชื้อโควิด ส่งผลให้หลายหน่วยงานออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาแก้ไขปัญหา รวมถึง ชมรมเภสัชชนบท ที่ทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น

(ข่าวประกอบ : ชมรมเภสัชชนบทร้อง 3 หน่วยงานรัฐ หนุนใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้นสำหรับประชาชน)

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ล่าสุด กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบให้ ชุดตรวจโควิด ประเภท Rapid Test แบบตรวจหา Antigen หรือการตรวจหาเชื้อไวรัส ด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างจากทางจมูก และน้ำลายให้เป็นชุดตรวจหาเชื้อได้เองที่บ้าน โดยจะเสนอให้ อย. รวมถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค.2564 นี้

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยอีกว่า การอนุมัติใช้ Rapid Test แบบตรวจหาเชื้อไวรัส เป็นชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วนที่จะช่วยลดความแออัดของประชาชนที่ไปรอตรวจหาเชื้อโควิดในจุดต่างๆในพื้นที่ กทม.ได้ รวมถึงจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุกได้อย่างมีรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากผู้รับผิดชอบอนุมัติแล้ว จะส่งผลให้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยคาดว่าจะมีราคาอยู่ที่ชุดละ 300-400 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อชุดตรวจโควิด ประเภท Rapid Test แบบตรวจหาเชื้อไวรัส ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าจาก อย. ได้ประกาศอยู่ในเว็บไซต์ของกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.ค.2564 มีบริษัทที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าจาก อย. รวม 24 บริษัท

ข้อมูลจาก https://www.isranews.org/article/isranews/100354-isranews_news-29.html

 

    เพิ่งหมาดๆไปสองสามปีมานี้เองที่ผมเคยเขียนในบล็อกนี้ว่าวงการแพทย์เปลี่ยนนิยามโรคความดันเลือดสูงครั้งใหญ่ (http://visitdrsant.blogspot.com/2017/11/blog-post_94.html) ซึ่งนั่นคือคำแนะนำการรักษาโรคความดันเลือดสูงซึ่งสมาคมหัวใจอเมริกันและวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (AHA/ACC 2017)ออกมาแทนมาตรฐานเดิม (JNC7) ตอนนั้นผมบ่นไว้ในบล็อกนี้ด้วยว่าการเปลี่ยนสะเป๊คครั้งนั้นจะทำให้คนจำนวนมากที่ความดันอยู่ระหว่าง 130/80 ถึง 139/89 ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นคนปกติ ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูงและกลายมาเป็นลูกค้าของวงการแพทย์ทันที ผลเสียก็คือจะนำไปสู่การใช้ยาเพิ่มขึ้น และผมยังติงไว้ว่าหลักฐานใหม่ๆบางชิ้นมีความสำคัญมากในแง่ที่จะช่วยลดความดันเลือดลงโดยไม่ต้องใช้ยา แต่คำแนะนำนี้กลับไม่ได้พูดถึงเลย เช่น 

     1. งานวิจัยความเสี่ยงโรคหัวใจคนหนุ่มสาว (CARDIA) ซึ่งตามดูคนหนุ่มสาว 5,115 คน นาน 15 ปี พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกินพืช (ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่ว นัท) กับการลดความดันเลือด เป็นความสัมพันธ์แบบยิ่งกินมากยิ่งลดมาก (dose dependent) ขณะเดียวกันก็พบความสัมพันธ์ในทางตรงข้ามกันกับการบริโภคเนื้อสัตว์ คือยิ่งกินเนื้อสัตว์มาก ยิ่งมีความดันเลือดสูงขึ้นมาก 
     2. งานวิจัยในยุโรป (EPIC trial) ซึ่งวิเคราะห์คนอังกฤษ 11,004 คนพบว่าในบรรดาคนสี่กลุ่ม คือกลุ่มกินเนื้อสัตว์ กลุ่มกินปลา กลุ่มกินมังสะวิรัติ กลุ่มกินเจ (vegan) พบว่ากลุ่มกินเนื้อสัตว์มีความดันสูงสุด กลุ่มกินเจหรือ vegan มีความดันต่ำสุด 
      3. งานวิจัยเมตาอานาไลซีสรวมข้อมูลติดตามสุขภาพพยาบาล (NHS) และบุคลากรแพทย์ (HPFS) ของฮาร์วาร์ดซึ่งมีคนถูกติดตาม 188,518 คน (2,936,359 คนปี) พบว่าการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งปูปลากุ้งหอยเป็ดไก่ไข่นม ล้วนสัมพันธ์กับการเป็นความดันเลือดสูง 
      4. มีหลักฐานว่าความพยายามจะลดความดันเลือดในผู้สูงอายุลงมากเกินไปมีผลเสียมากกว่าผลดี จน JNC8 นำมาออกเป็นคำแนะนำก่อนหน้านั้นว่าไม่ควรใช้ยาหากความดันเลือดตัวบนในผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) ไม่สูงเกิน 150 มม. แต่ในคำแนะนำใหม่นั้นกลับไม่พูดถึงประเด็นผู้สูงอายุเลย แค่พูดว่าหากอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปให้แพทย์ใช้ดุลพินิจเป็นรายคน 
 
      อย่างไรก็ตาม ขณะที่แพทย์จำนวนมากยังไม่ทันรู้ด้วยซ้ำไปว่าคำนิยามโรคนี้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อสามปีก่อน (2017) แต่มาถึงวันนี้ถือว่าไม่มีใครตกข่าวนั้นแล้วเพราะมาตรฐานเปลี่ยนอีกละ คราวนี้ออกมาในนามของสมาคมโรคความดันเลือดสูงนานาชาติ (ISH 2020) โดยที่หัวเรี่ยวหัวแรงตัวจริงเสียงจริงก็ยังเป็นสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) เจ้าเก่านั่นเอง เพื่อให้ท่านผู้อ่านตามความผลุบๆโผล่ๆของวงการแพทย์ในระดับโลกได้ทัน ผมขอสรุปมาตรฐานใหม่เฉพาะในส่วนที่ท่านผู้อ่านจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้ 
 
     นิยามโรคความดันเลือดสูง ตามคำแนะนำใหม่ 2020 
 
     ความดันเลือดปกติ (Normal BP) = ไม่เกิน 130/85 มม.
 
     ความดันเลือดปกติค่อนไปทางสูง (High-normal BP) = 130–139 / 85–89 มม.
 
    โรคความดันเลือดสูงเกรด1 = 140–159/90–99 มม. (มาตรฐานเดิมก่อนหน้านี้คือ 130-139/80-89)
 
     โรคความดันเลือดสูงเกรด2 =  160 /100 มม.ขึ้นไป (มาตรฐานเดิมก่อนหน้านี้คือ 140/90 ขึ้นไป)
 
     การรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยาตามคำแนะนำใหม่ 2020
 
     1. ลดเกลือ (โซเดียม) ลง โดย
     1.1 เลิกเติมเครื่องปรุงที่มีเกลือ (เช่นน้ำปลาพริก) ลงในอาหารที่นำมาเสริฟ
     1.2 ลดการกินอาหารฟาสต์ฟูดและอาหารบรรจุเสร็จซึ่งใช้เกลือเป็นปริมาณมาก
     1.3 ลดขนมปังและซีเรียลที่ปรุงโดยมีส่วนของเกลือมาก
 
     2. เปลี่ยนอาหาร
     2.1 กินอาหารพืชเป็นหลักที่อุดมด้วยธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผักต่างๆที่มีไนเตรทมาก (เช่นบีทรูทและผักใบเขียว) และมีแมกนีเซียม โปตัสเซียม แคลเซียม มาก (เช่นอะโวกาโด นัท เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ และเต้าหู้) 
หรือกินตามสูตรอาหารเพื่อการลดความดัน (DASH diet)
     2.2 ลดน้ำตาล
     2.3 ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
 
     3. เลือกดื่มเครื่องดื่มอย่างฉลาด
     3.1 ดื่มกาแฟ ชาเขียว ชาดำ ชาขาว (ไม่ใส่ครีมไม่ใส่น้ำตาล) ในปริมาณพอควร เพราะคนดื่มชากาแฟเป็นความดันสูงน้อยกว่าคนไม่ดื่มเลย
     3.2 ดื่มน้ำพืชสมุนไพรที่ลดความดันได้ เช่น น้ำทับทิม น้ำบีทรูท โกโก้ ชาฮิบิสคัส เป็นต้น
     3.3 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือระดับพอดี (ไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย ไม่เกิน 1.5 ดริ๊งค์ในผู้หญิง) เพราะหลักฐานมีอยู่ว่าหากคนเป็นความดันสูงที่ดื่มมากลดการดื่มลงได้ ความดันก็จะลดลง
 
     4. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ให้ดัชนีมวลกายปกติ หรือให้เส้นรอบพุงไม่เกิน 50% ของส่วนสูง
 
     5. เลิกบุหรี่
 
     6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยควบรวมการออกกำลังกายหลายแบบ
     6.1 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง     
     6.2 ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร (เช่น เดินเร็ว จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ) ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ
     6.3 ออกกำลังกายแบบเร่งให้หนักสลับเบาเป็นช่วงๆ (HIIT - high intensity interval training) 
 
     7. ลดความเครียด เพราะความเครียดทำให้ความดันสูง
 
     8. ฝึกสติสมาธิ (meditation/mindfulness) ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าลดความดันได้
     
     9. หลีกเลี่ยงภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้
 
     โปรดสังเกตว่าการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยาตามคำแนะนำใหม่ 2020 นี้เข้าท่ากว่าคำแนะนำเก่าตั้งแยะ เพราะมีการนำหลักฐานมาออกคำแนะนำอย่างครอบคลุมกว่า รวมทั้งหลักฐานเรื่องมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เรื่องความเครียดและการฝึกสติสมาธิ โดยออกคำแนะชัดๆโต้งๆเลยว่าให้ฝึกสติสมาธิทุกวัน  ในแง่ของการออกกำลังกายก็เจาะลึกลงไปว่าทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและเล่นกล้ามต่างก็ลดความดันได้ทั้งคู่ ดังนั้นแฟนบล็อกหมอสันต์อ่านแล้วอย่าอ่านเลยนะครับ เชื่อไม่เชื่อก็กรุณาทดลองลงมือทำดูก่อน เพราะตัวหมอสันต์สนับสนุนคำแนะใหม่นี้สุดลิ่ม หิ หิ
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
 
บรรณานุกรม
 
1. Unger T, Borghi C, Charchar F, Khan NA et al. 2020 International Society of Hypertension Global Hypertension Practice Guidelines. Hypertension. 2020;75:1334–1357. https://doi.org/10.1161/HYPERTENSIONAHA.120.15026
2. Paul K. Whelton, Robert M. Carey, Wilbert S. Aronow, Donald E. Casey, Karen J. Collins, Cheryl Dennison Himmelfarb, Sondra M. DePalma, Samuel Gidding, Kenneth A. Jamerson, Daniel W. Jones, Eric J. MacLaughlin, Paul Muntner, Bruce Ovbiagele, Sidney C. Smith, Crystal C. Spencer, Randall S. Stafford, Sandra J. Taler, Randal J. Thomas, Kim A. Williams, Jeff D. Williamson, Jackson T. Wright. 2017 ACC/AHA/AAPA/ABC/ACPM/AGS/APhA/ASH/ASPC/NMA/PCNA Guideline for the Prevention, Detection, Evaluation, and Management of High Blood Pressure in Adults: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. Hypertension. 2017;HYP.0000000000000066
Originally published November 13, 2017  https://doi.org/10.1161/HYP.0000000000000066
3. Steffen LM, Kroenke CH, Yu X, et al. Associations of plant food, dairy product, and meat intakes with 15-year incidence of elevated blood pressure in young black and white adults: the Coronary Artery Risk Development in Young Adults (CARDIA) Study. Am J Clin Nutr. 2005;82:1169–1177.
4.  Appleby PN, Davey GK, Key TJ. Hypertension and blood pressure among meat eaters, fish eaters, vegetarians and vegans in EPIC-Oxford. Public Health Nutr. 2002;5:645–654. [PubMed]
5. Borgi L, Curhan GC, Willett WC, et al. Long-term intake of animal flesh and risk of developing hypertension in three prospective cohort studies. J Hypertens. 2015;33:2231–2238.
6. James PA, Oparil S, Carter BL, Cushman WC, Dennison-Himmelfarb C, Handler J, Lackland DT, LeFevre ML, MacKenzie TD, Ogedegbe O, Smith Jr SC, vetkey PL, Taler SJ, Townsend RR, Wright JTJr, Narva AS, Ortiz E. 2014 Evidence-Based Guideline for the Management of High Blood Pressure in Adults Report From the Panel Members Appointed to the Eighth Joint National Committee (JNC 8). JAMA. 2014;311(5):507-520. doi:10.1001/jama.2013.284427
 
บทความต้นฉบับ https://visitdrsant.blogspot.com/2020/08/2020.html?m=1

                ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้พบว่าการล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกำจัดเชื้อโรค ในทางตรงข้ามการใช้น้ำยาล้างมือที่ประกอบด้วยแอลกอฮอล์ ต่ำกว่า 60% หรือใช้สารอื่นที่ไม่ใช่ แอลกอฮอล์ จะให้ผลการกำจัดเชื้อโรคน้อยกว่า โดยเฉพาะกรณีที่มือไม่สะอาด มีการปนเปื้อนอยู่แล้วจากฝุ่นหรือไขมัน การใช้น้ำยาล้างมือจะให้ผลน้อยมากเมื่อเทียบกับการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกต้อง

ทางการอินโดนีเซียประกาศชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเมื่อวันจันทร์ ระหว่างรอการทบทวนขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับความวิตกเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ขณะเยอรมนี, อิตาลี และฝรั่งเศส ระงับด้วยเช่นกันรอผลการตัดสินใจขององค์การยายุโรป
 

    คำประกาศระงับหรือชะลอการใช้วัคซีนของแอสตร้าฯ ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องจากหลายประเทศ ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ), องค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ), บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และผู้เชี่ยวชาญหลายคนย้ำว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย และไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงวัคซีนนี้กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

    รัฐมนตรีสาธารณสุข บูดี กูนาดี ซาดิกิน ของอินโดนีเซีย แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันจันทร์ว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศตัดสินใจชะลอการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าไว้ก่อนระหว่างรอการยืนยันจากดับเบิลยูเอชโอ กรณีความวิตกเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด

    อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ แล้ว 1.1 ล้านโดสในเดือนนี้ และคาดว่าจะได้รับอีก 10 ล้านโดสภายในปลายเดือนเมษายน ถึงขณะนี้อินโดนีเซียพึ่งพาวัคซีนซิโนแวคของจีนเป็นหลักในโครงการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่าจะฉีดให้ประชากรมากกว่า 181 ล้านคนจากทั้งหมดเกือบ 270 ล้านคนภายใน 1 ปี

    ในฝั่งยุโรป เยอรมนีเป็นประเทศล่าสุดที่สั่งระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ระหว่างรอการสอบสวนอย่างละเอียด คำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันจันทร์กล่าวว่า หลังจากมีรายงานใหม่ๆ เรื่องการเกิดภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันที่เกี่ยวโยงกับการฉีดวัคซีนในเยอรมนีและยุโรป สถาบันเพาล์แอร์ลิชที่เป็นหน่วยงานด้านวัคซีนของเยอรมนี มีความเห็นว่าจำเป็นต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม องค์การยาแห่งยุโรปจะตัดสินต่อไปว่าผลการตรวจสอบใหม่จะส่งผลต่อการอนุมัติวัคซีนหรือไม่อย่างไร

    เมื่อวันอาทิตย์ เนเธอร์แลนด์และไอร์แลนด์ก็เพิ่งประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ตามหลังหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากความวิตกเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่มีรายงานพบในเดนมาร์ก, นอร์เวย์ และอีกหลายประเทศ ซึ่งล่าสุดเนเธอร์แลนด์ก็รายงานว่าพบผู้มีอาการดังกล่าวเช่นกัน

    ในวันจันทร์ องค์การลาเร็บ ที่เป็นศูนย์ดูแลด้านความปลอดภัยยาของเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า พบกรณีผู้ป่วยอาการลิ่มเลือดอุดตันอีก 10 รายที่เกี่ยวโยงกับการฉีดวัคซีนแอสตร้านับแต่เริ่มมีรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหานี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

    ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสและอิตาลีก็สั่งระงับการใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ด้วย ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวว่าตัดสินใจดังกล่าวเพื่อป้องกันไว้ก่อน ระหว่างรอการตัดสินใจด้านความปลอดภัยจากอีเอ็มเอที่คาดว่าจะเป็นในช่วงบ่ายวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น

    ส่วนอิตาลี องค์การยา AIFA ตัดสินใจขยายคำสั่งห้ามใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ครอบคลุมทั่วอิตาลี ระหว่างรอการตัดสินใจของอีเอ็มเอเช่นกัน.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/96176

 

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ