Font Size

จากวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบที่ 3 ส่งผลให้ภาครัฐบาลต้องขอความร่วมมือให้งดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ทั้งการสั่งปิดสถานบันเทิง และออกคำสั่งให้งดรับประทานอาหารในร้าน รวมถึงการขอให้ประชาชนอยู่บ้าน งดกิจกรรมเสี่ยงนอกบ้านที่ไม่จำเป็นทั้งนี้จากกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลากหลายธุรกิจที่จำเป็นต้องหยุดกิจการ ซึ่งก็มีทั้งการพักชั่วคราว หรือบางกิจการก็มีการเลิกกิจการไปเลย เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนทำงานที่อาจจะต้องสูญเสียรายได้ หรือบางคนก็คือสูญเสียงานไปเลย
    

โดยตลอดระยะเวลาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่พอจะช่วยได้ เพื่อประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญคือ การช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงานหรือออกจากงาน ซึ่งสามารถขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม

จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมพบว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,124,209 ราย และมีการถูกเลิกจ้างหรือลาออกจำนวนถึง 1,212,307 คน รวมกับกรณีที่ต้องหยุดทำงานแบบสุดวิสัยจากกรณีล็อกดาวน์และการระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวน 945,587 คน รวมในปี 2563 ปีเดียวมีผู้ประกันตนได้สูญเสียรายได้และว่างงานรวมทั้งสิ้น 2,157,894 ราย
    

แต่อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้ประกันดังกล่าวหลังจากสถานการณ์การระบาดในรอบแรก รอบสองคลี่คลายลง ก็สามารถกลับเข้ามาทำงานตามระบบปกติไปได้ ส่งผลให้จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 จนถึงเดือนล่าสุด เม.ย.64 ก็ยังมีสูงถึง 11,051,132 ราย เมื่อเทียบกับช่วง ธ.ค.63 ก็พบว่ามีตัวเลขของผู้ประกันตนที่หายไปจริงๆ 7.3 หมื่นคนเท่านั้น นับว่าจำนวนคนว่างงานในระบบก็ยังไม่สูงมากนัก
    

สำหรับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งก็นับตั้งแต่รอบที่ 2 และรอบที่ 3 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ประกันตนที่ต้องออกจากงาน ทั้งจากการลาออกปกติและการหยุดงานจากเหตุสุดวิสัย นับตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.2564 พบว่า มีรวมทั้งสิ้น 390,899 ราย แบ่งเป็นการลาออก และออกจากงานปกติ 323394 ราย และออกจากงานแบบสุดวิสัย 67,505 ราย
 

นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันในสังคมได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ว่างงานอย่างเต็มที่จากการระบาดของโควิด-19 และเป็นเหตุให้ธุรกิจถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือกรณีต้องทำการกักตัว สำนักงานจะให้ผู้ประกันตนเบิกเงินทดแทนว่างงานในอัตรา 50% ของเงินเดือน (นับที่ 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือกรณีที่ธุรกิจห้างร้านไม่ได้ปิด แต่ต้องถูกบังคับให้กักตัวเพราะใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และทำให้สูญเสียรายได้ ก็สามารถมาเบิกเงินกับประกันสังคมได้ แต่กรณีนี้จะต้องมีหนังสือรับรองจากแพทย์หรือเอกสารจากกระทรวงสาธารณสุขประกอบ
    

พร้อมกันนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สำนักงานประกันสังคมก็มีมาตรการดูแลผู้ประกันตนหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง ทางประกันสังคมก็มีการขยายวงเงินในการจ่ายชดเชย จากเดิม 50% ก็เพิ่มให้เป็น 70% เดิมไม่เกิน 180 วัน ก็เพิ่มให้เป็น 200 วัน ซึ่งกรณีนี้จะช่วยถึง ก.พ.ปี 2565 หรือ 2 ปีนับตั้งแต่ปี 63 กรณีลาออก เดิมได้ 30% ก็เพิ่มให้เป็น 45% และได้ระยะเวลา 90 วัน (จากฐานค่าจ้าง 15,000 บาท)
    

“นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด สำนักงานประกันสังคมมีการจ่ายเงินในกรณีชดเชยการว่างงานสำหรับปี 2563 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 44,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ชดเชยการตกงาน-ลาออกตามปกติ 29,000 ล้านบาท และกรณีชดเชยการตกงานแบบสุดวิสัย 15,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 ยังไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ เท่าที่ทราบมีการจ่ายชดเชยไป 700 ล้านบาท”
เอกชนปรับตัวรับการระบาด
  

นางสาวสุฐิตา โชติจุฬางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ และเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท เพราะเนื่องด้วยธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาศัยคู่ค้าชาวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและในไทยเองเป็นหลัก ดังนั้นความตั้งใจในปัจจุบันคือ ต้องช่วยกันประคับประคองทั้งบริษัท ผู้เช่า คู่ค้า และพนักงาน ให้สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรควิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้ สำหรับแผนการปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้นทางบริษัทไม่มีนโยบายดังกล่าว แต่ใช้แผนการบริหารด้านค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม ณ ช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้
    

ทั้งนี้ บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากพนักงานถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและเติบโตขององค์กรอย่างที่สุด อย่างไรก็ตามเราใช้วิธีบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เช่น การลดจำนวนการจ้างบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานในบริษัทลง และเน้นในเรื่องการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานในแต่ละสายงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของบริษัทให้ lean มากที่สุด อีกทั้งอะไรที่สามารถ save ได้ก็ต้องขอความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกๆ ฝ่ายให้ช่วยกัน เช่น การบริหารค่าใช้จ่ายในด้านการจ่าย Overtime (OT) เป็นต้น
    

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทางเดอะมอลล์ กรุ๊ป ไม่มีการลดพนักงาน แต่ก็มีการโยกย้าย (reallocate) พนักงานบางส่วน แบ่งไปทำใน 2 ส่วน คือ 1.ช่องทางออมนิแชนเนล เช่น Chat & Shop เพื่อเป็นการ support ลูกค้าที่ไม่สะดวกมาเดินห้างในช่วงนี้ ลูกค้าก็จะหันมาซื้อสินค้าในช่องทางดังกล่าวเยอะขึ้น และ 2.เป็นที่ทราบกันว่า ทางเดอะมอลล์ได้รับเลือกเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ช่วงนี้ไม่ได้มีลูกค้ามาจองจัดงานอีเวนต์ จึงเปิดห้อง MCC Hall ให้ กทม.เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน และให้พนักงานบางส่วนมาทำหน้าที่อาสาสมัครให้บริการแก่ประชาชนที่เข้ามารับบริการ
    

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ได้มีมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าเช่า โดยลดภาระค่าเช่าให้กับร้านค้าทุกศูนย์การค้าในเครือเฉลี่ย 30-70% ตามประเภทกิจการ และกรณีมีเหตุจำเป็นต้องปิดร้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าปรับ และมีมาตรการเชิงรุกทำความสะอาดครั้งใหญ่ทุกครั้งที่พบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมเข้าไปดูแล การกลับมาเปิดร้านอีกครั้งจะต้องดำเนินการภายใต้ทีมพนักงานชุดใหม่ทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุดของผู้มาใช้บริการและร้านค้าอื่นๆ ภายในศูนย์ฯ


กระทบการจ้างงานบางอุตสาหกรรม

  ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดนั้น มีการจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเองก็มีการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งออกนั้นจะมีปัญหาเรื่องนี้มากกว่า ส่วนกลุ่มที่เป็นภาคอุตสาหกรรมและเกี่ยวข้องกับการส่งออกด้วยนั้น ได้รับผลกระทบน้อยลงมาเนื่องจากยังมียอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ตลอด แม้จะน้อยลงแต่ก็ยังไม่กระทบกับกลุ่มแรงงาน ซึ่งสรุปได้ว่าปัญหาเรื่องแรงงานที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้อยู่ที่ประเภทของงานโดยตรง เพราะบางอุตสาหกรรมก็ยังดี แต่บางอุตสาหกรรมก็แย่ ซึ่งแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือเรื่องของการแก้ปัญหาโควิดก่อน เพื่อที่จะส่งเสริมมายังผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นภาคบริการหรืออุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ให้สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติไม่กระทบต่อการจ้างงาน
    

ขณะที่ มาตรการรัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มองตอนนี้คือเรื่องของประกันสังคม ก่อนหน้านี้ทาง ส.อ.ท.เคยเสนอแนวทางเพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้ประกันตน โดยเสนอให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน เนื่องจากการขาดสภาพคล่องของธุรกิจ และเสนอให้มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ส่วนของนายจ้างจาก 3% เหลือ 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก
    

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น งานก่อสร้างขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมติดตามกำกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข จัดทำแผนการตรวจสอบเชิงรุก โดยประสานกรมควบคุมโรคจัดทำแผนรับการฉีดวัคซีน และดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมิถุนายน 2564 เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรฐานสาธารณสุข และตรวจเชิงรุกบุคลากรในสังกัด
    

“ได้มีข้อสั่งการในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้หน่วยงานในสังกัดตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากร รวมถึงประชาชนที่มาติดต่อประสานงานหรือใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และให้ทุกหน่วยงงานปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด” นายศักดิ์สยามกล่าว
เศรษฐกิจทรุดหนัก
    

การระบาดของ “โควิด-19 ระลอกที่ 3” ถือว่ารุนแรงกว่าการระบาดในระลอกก่อนๆ อย่างชัดเจน จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน อัตราการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการระบาดในระลอกดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงอื่นๆ โดยเฉพาะการระบาดในระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 เพราะมาตรการรัฐที่ยังไม่เข้มงวดเท่า ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังสามารถดำเนินไปได้
    

อย่างไรก็ดี “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” คาดว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 นี้จะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ อยู่ที่ 1.4-1.7% ต่อจีดีพี ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์การระบาด ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศอยู่ที่ 1.2% ต่อจีดีพี ขณะที่การระบาดในระลอกแรกมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศสูงสุดที่ระดับ 2.2% ต่อจีดีพี ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุ
    

ขณะที่ “ธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์)” ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า จากความรุนแรงของผลกระทบในการระบาดของโควิด-19 จะทำให้มีคนไทย “ยากจน” เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5 ล้านคน โดยผลกระทบต่อแรงงานจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2563 ทำให้งานหายไปกว่า 3.4 แสนตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงานลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นถึง 9% ขณะที่ค่าจ้างลดลง 1.6% ส่วนไตรมาส 3/2563 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4/2563 นั้น แม้ว่าสถานการณ์แรงงานจะเริ่มดีขึ้น และทำให้จำนวนงานเพิ่มขึ้น 8.5 แสนตำแหน่ง แต่ก็ยังมีจุดอ่อน คือ “ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างในภาคการเกษตรที่ยังต่ำกว่าในปีก่อนหน้า”

นักศึกษาจบใหม่ว่างงานสูง
    

และล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤติโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563 พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 14% หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคน "ว่างงาน” 17.9% หรือกว่า 6 ล้านคน
  

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยว ไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/103972