โรคมะเร็งปากมดลูก CERVICAL CANCER และการตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV

stages of cervical cancer

ข้อเท็จจริงของโรคมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่สำคัญของหญิงไทย เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็งเต้านม
ประมาณว่ามีผู้หญิงไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก14คน ในแต่ละวัน ปัจจุบันเรารู้แล้วว่า โรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัส "เอชพีวี" (HPV) ซึ่งส่วนใหญ่จากการมีเพศสัมพันธ์ที่สำส่อน หรือมีคู่นอนหลายคน
ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน จากการสัมผัสเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่บนของใช้ เช่น กระดาษชำระ กางเกงใน การใช้ห้องน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นต้น ผู้ติดเชื้อไวรัส HPV ส่วนใหญ่ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไปได้เอง ด้วยภูมิคุ้มกัน แต่จะมีเพียงประมาณ 10% ที่ไวรัสสามารถดำรงอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งจากการติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นกัน เนื่องจากไวรัสสามารถก่อมะเร็งบริเวณอื่นได้ เช่น ทวารหนัก ปากช่องคลอด โพรงจมูก และลำคอ เป็นต้น

ข้อเท็จจริงของไวรัส HPV
เป็นที่ยืนยันแล้วว่าสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดมากกว่า 200 ชนิด (type) หรือสายพันธุ์ ในจำนวนนี้มี 40 ชนิด ที่ติดเชื้อทางอวัยวะเพศ และมีเพียง 2 ชนิด เท่านั้นที่ผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกคือ HPV-16 และ HPV-18 ที่นอกจากจะทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกแล้วยังอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งบริเวณอื่นๆ ได้ เช่น ช่องคลอด และทวารหนัก เป็นต้น และยังมี HPV อีก 2ชนิด คือ HPV-6 และ HPV-11 ที่เป็นสาเหตุของ "หูดหงอนไก่" บริเวณอวัยวะเพศทั้งในหญิงและชาย แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง ผู้ติดเชื้อ HPV-16 และHPV-18 ระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แต่อาจต้องใช้เวลา 15-20 ปี หลังการติดเชื้อไวรัส จึงจะเกิดเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกขึ้น

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV
การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่ผ่านมาทำโดยการตรวจภายใน โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในอวัยวะเพศป้ายบริเวณปากมดลูกเพื่อนำสิ่งที่ได้ออกมาตรวจหาไวรัส HPV สายพันธุ์ HPV-16 และ HPV-18 การตรวจภายในมีขึ้นตอนที่ยุ่งยาก และไม่เหมาะสำหรับสตรีที่อายุยังน้อย ที่มักไม่ยินยอมให้มีการตรวจภายใน
ปัจจุบัน "กรุงเทพ-พยาธิแลป" ได้นำน้ำยาพิเศษที่สามารถตรวจเชื้อไวรัส HPV ได้จาก "ปัสสาวะ" ทำให้สามารถทำการตรวจได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ช่วยลดขั้นตอนการตรวจต่างๆลงได้มากโดยทุกคนสามารถนำปัสสาวะมาตรวจได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีการตรวจภายใน

ใครควรมาตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV
ปัจจุบันมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ทั้ง 4 ชนิด (HPV-16, HPV-18, HPV-6, HPV-11) ได้ผลดี ดังนั้นผู้สมควรได้รับการตรวจหาเชื้อ HPV ในปัสสาวะ คือ หญิง และชาย (ชายอาจจะเป็นพาหะของเชื้อไวรัส) ที่อยู่ในวัยต้นของการเจริญพันธุ์อายุประมาณ 12-16 ปี และผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วที่ต้องการทราบว่ามีการติดเชื้อไวรัสอยู่หรือไม่เพื่อให้ได้รับการป้องกันและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ใครควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ถูกพัฒนาขึ้น และถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2549 โดยผู้ที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันต้าน ไวรัส HPV จะต้องได้รับการฉีดวัคซีน 3 ครั้ง เป็นช่วงๆติดต่อกันและสามารถฉีดได้ทั้งหญิงและชาย ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ ที่มีนโยบายระดับชาติที่จะฉีดวัคซีนให้ทั้งเด็กหญิง และเด็กชาย

การตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV
กรุงเทพ พยาธิ-แลป มีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO15189 ให้บริการตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อ HPV ด้วยน้ำยาที่มีคุณภาพสูง ให้บริการทุกวัน 7.00-20.00น. ดังนั้นท่านที่ต้องการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้ 2 วิธีคือ

1. มาตรวจโดยตรงที่ห้องปฏิบัติการของกรุงเทพ พยาธิ-แลป
2. ไปที่โรงพยาบาล หรือคลินิค เพื่อขอรับการตรวจจากแพทย์ และเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจ โดยกรุงเทพ-พยาธิแลป จะมีเจ้าหน้าที่ไปรับเพื่อนำมาตรวจต่อไป

breastcancer

                โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตาย อันดับที่ 1 ของโรคมะเร็ง ในสตรีทั่วโลก รองลงมาอันดับที่ 2 คือโรคมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันเรารู้สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งทั้ง 2 ชนิด ค่อนข้างแน่ชัดแล้ว กล่าวคือ มะเร็งปากมดลูกมี่สาเหตุจากการติดเชื้อ ไวรัส HPV ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนมะเร็งเต้านมมีสาเหตุสำคัญเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

                ปัจจุบันมีการค้นพบแล้วว่ามี ยีน (gene) 2 ชนิด ที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ (mutations) จะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม ยีนทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า BRCA1 และ BRCA2 ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า สตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของยีน BRCA1 มีโอกาส 50-70 % ที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งเต้านม ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของยีน BRCA2 มีโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม 40-60 % ทั้งนี้ประมาณการโดยใช้ช่วงอายุถึง 70 ปี โดยในประชากรทั่วๆไป สตรีมีความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพียง 12%

                เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานพบยีนใหม่อีกชนิดหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม ยีนนี้มีชื่อเรียกว่า PALB2 ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าสตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของยีน PALB2 มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 35 เมื่อถึงอายุ 70 ปี ในทำนองเดียวกัน สตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงของยีน BRCA1 มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ร้อยละ 50-70 เมื่ออายุถึง 70 ปี และผู้ที่การเปลี่ยนแปลงของยีน BCRA2 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมร้อยละ 40-60 เมื่ออายุถึง 70 ปี

                ผลการศึกษาต่อมาพบว่า สตรีที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของยีน PALB2 จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าสตรีทั่วไป 8-9 เท่า อย่างไรก็ตามผู้วิจัยไม่แนะนำว่าสตรีทั่วไปจำเป็นต้องไปตรวจหายีนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเต้านม ยกเว้นผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งถ้าตรวจไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง (mutation) ของยีน BRCA1 และ BRCA2 ควรตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของยีน PALB2 ไปด้วย

Image result for โรคสมองเสื่อม

 

          อาการหลงๆลืมๆอาจเกิดได้กับคนทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงวัย แต่ถ้าอาการหลงๆลืมๆ มีสาเหตุจากภาวะสมองเสื่อม (dementia) ถือว่าเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่มีผลจากการทำงานของสมองผิดไป โดยมีลักษณะอาการหลักได้แก่ ความจำที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีภาวะเสื่อมถอยของทักษะต่างๆ จนเป็นปัญหาต่อชีวิตประจำวัน

          ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากสาเหตุหลากหลายแต่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ชนิดที่รักษาได้ มีประมาณ 20% และชนิดที่ต้องรักษาแบบประคับประคองประมาณ 80% ภาวะสมองเสื่อมที่อาจรักษาได้ เช่นการขาดวิตามิน B12 เนื้องอกในสมอง โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งผลจากการใช้ยาบางชนิด แต่ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาดได้แก่โรคอัลไซเมอร์ (alzheimer)

          โรคอัลไซเมอร์ โดยทั่วไปมักเกิดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจเกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ เกิดจากมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า อะไมลอยด์ (beta amyloid) เข้าไปจับกับเซลล์สมองทำให้สมองฝ่อและเสื่อมลงทีละน้อย จนกระทบกับความจำและการเรียนรู้ต่างๆ โรคอัลไซเมอร์ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ

                ระยะที่ 1 ผู้ป่วยมีความจำลดลง อารมณ์เสียง่าย เครียด ซึมเศร้าจนสามารถสังเกตได้

                ระยะที่ 2 ผู้ป่วยมีความจำลดลงมาก จำคนในครอบครัวไม่ได้ จำชื่อตัวเองไม่ได้ มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง

                ระยะที่ 3 ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง กินอาหารน้อยลง สุขภาพทรุดโทรม ไม่เคลื่อนไหวร่างกายหรือเคลื่อนไหวน้อยลง

 

 

 

 

               

             

            Dr.Alois  Alzheimer เป็นผู้ที่พบว่าโรคนี้มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมองเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะหาสาเหตุที่แท้จริง ของความผิดปกติของสมองและลดความเสียหายของเซลล์ประสาทของสมองและลดความเสียหายของเซลล์ประสาทของสมองให้ช้าลง แต่ก็ไม่ได้ผลดีมากนัก ยังคงมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นของมนุษย์ และการวินิจฉัยโรคที่มีความถูกต้องมากขึ้น

            อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมาก็ได้มีการพบว่า สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นจากการสะสมของโปรตีน Amyloid Beta-Amyloid (1-40) และ Beta-Amyloid (1-42)เพิ่มขึ้นในสมอง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ โปรตีน Amyloid จะเข้าไปเกาะติดกับเซลล์ประสาทในสมอง ในปริมาณที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง เซลล์ประสาทค่อยๆเสื่อมลง หมดสภาพการทำหน้าที่ตามปกติในที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ และสภาวะการเรียนรู้ไป องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณ 36 ล้านคนทั่วโลก และจำนวนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในเวลา 14-15 ปีอาการของโรคจะเริ่มจากผู้ป่วยมีความจำสั้น มีความเสื่อมของการเรียนรู้ สูญเสียความจำ จนช่วงท้ายของโรคผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ไม่สามารถทำงานได้ ต้องพึ่งพาการดูแลอย่างใกล้ชิด

            ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านวิชาการ ภาพทางการแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถค้นหาโปรตีน Amyloid ที่เข้าไปเกาะบนเซลล์ประสาทได้ตั้งแต่ระยะแรกของการสะสม แต่ก็ยังไม่มีวิธีการที่จะเข้าไปยับยั้งการสะสมของโปรตีนนี้ได้ ดังนั้นเป้าหมายของการแก้ไขโรคนี้คือ การผลิตวัคซีนที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปทำลาย โปรตีน Amyloid ก่อนที่จะเข้าไปเกาะเซลล์ประสาท และการพัฒนายาที่จะเข้าไปป้องกันไม่ให้โปรตีน Amyloid เข้าไปเกาะบนเซลล์ประสาท รวมทั้งช่วยให้เซลล์ประสาทสามารถทำงานได้ท่ามกลางการสะสมของโปรตีน Amyloid ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาวิจัยกันอย่างเข้มข้นซึ่งคาดว่าอาจได้ผล อย่างใดอย่างหนึ่งในเร็วๆนี้

            การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำปัจจุบันทำได้โดยการตรวจหาโปรตีน Amyloid ที่เกาะอยู่บนเซลล์ประสาทในสมองหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว สำหรับการวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยสูญเสียความจำ ร่วมกับการใช้เครื่องมือด้านภาพทางการแพทย์ MRT,SPECT หรือ PET เป็นต้น ปัจจุบันมีเทคนิคที่พัฒนาขึ้นใหม่โดยการตรวจหาปริมาณ Beta-Amyloid โปรตีนชนิด (1-40) และ (1-42) ในน้ำไขสันหลัง (CSF) ด้วยวิธี ELISA แต่วิธีนี้ยังเป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

            สำหรับการป้องกันและลดความเสี่ยงของสมองให้ช้าลง ในปัจจุบันที่ได้ผลดีพอสมควรคือ การกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการมีกิจกรรมทางสังคมที่สม่ำเสมอจะทำให้โรคพัฒนาช้าลง รวมทั้งจะช่วยให้อาการบางอย่างกลับคืนดีขึ้นได้

 

โรคเมอร์ส (MERS) Middle East Respiratory syndrome

Middle East Respiratory syndrome

                 โรคเมอร์ส เป็นโรคที่พบใหม่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสชนิด corona virus ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม single-stranded RNA virus ไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดเชื้อ อยู่บริเวณส่วนต้นของทางเดินหายใจในคน เป็นสาเหตุอาการโรคหวัดทั่วๆไป แต่มีบางสายพันธุ์ที่ติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น อูฐ และค้างคาว เป็นต้น ต่อมาไวรัสสายพันธ์นี้ได้มีการพัฒนาจนสามารถแพร่เข้ามาติดเชื้อในคนได้ โดยพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศ ซาอุอาราเบีย ในปี ค.ศ.2012 ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ไอ หายใจไม่สะดวก ในที่สุดอาจเสียชีวิต อาการของโรคมีความรุนแรงแตกต่างกันตั้งแต่รุนแรงมากจนถึงรุนแรงน้อย และมีประมาณร้อยละ 20 ที่ไม่แสดงอาการเลย ปัจจุบันยังไม่รู้ว่าไวรัสจากสัตว์เข้าสู่คนด้วยวิธีใด และการติดต่อระหว่างคนเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มีข้อมูลว่าการติดต่อมักเกิดขึ้นภายในครอบครัว และจากในโรงพยาบาล ข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อเมอร์สทั่วโลกกว่า 500คน เสียชีวิตไปแล้ว 140คน โดยยังไม่มียา และวัคซีนที่จะใช้ในการรักษา และป้องกันโรคได้

             ล่าสุดมีรายงานพบผู้ป่วยเป็นโรคเมอร์สในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ป่วยเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุอาราเบีย และยังพบต่อมาว่าผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส โดยไม่มีอาการของโรคแสดงว่าไวรัสมีการติดต่อระหว่างคนได้ จึงเป็นที่น่าวิตกว่าไวรัสอาจแพร่กระจายออกไปทั่วโลกได้ ถ้าไม่การควบคุมที่เหมาะสม เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากเชื่อว่าน่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยในประเทศซาอุอาราเบียมากกว่านี้ แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ขณะนี้ประเทศซาอุอาราเบีย กำลังเริ่มโครงการทดสอบการติดเชื้อไวรัส ในประชากรอูฐ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆทั่วประเทศ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าอูฐน่าจะเป็นพาหะที่สำคัญที่สุดของเชื้อไวรัสเมอร์ส ในประเทศซาอุดิอาราเบีย

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ