Doungchampa Spencer-Isenberg
Dec 29
เมื่อวานดิฉันเขียนและแปลบทความเกี่ยวกับ COVID-19 วัคซีน
.
(อ้างอิง: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3691648807544773&id=804632636246419)
.
และมีผู้สนใจเรื่องนี้หลายท่านได้ถามดิฉันหลังไมค์ เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เมื่อตอนกลางวัน (เวลาท้องถิ่นที่นี่) ดิฉันก็เลยไปค้นหาข้อมูลให้ เพื่อการเปรียบเทียบ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นมาก่อนหน้าแล้ว ก็ถือว่า เป็นการอ่านเพื่อความรู้กันอีกหนหนึ่งก็แล้วกัน
.
.
เราคงจะได้เห็นข่าวว่า ประเทศไทยทำการสั่งซื้อวัคซีนจาก Oxford / AstraZeneca ซึ่งผู้คนทั่วไปอาจจะเริ่มได้รับกันตอนกลางปีหน้า (2021) ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นสิงคโปร์ ก็เพิ่งได้รับวัคซีนของบริษัท Pfizer กัน คำถามว่า ทำไมถึงมีความแตกต่าง และมันแตกต่างกันอย่างไร ดิฉันพยายามอธิบายให้เพื่อนๆ เข้าใจกันอย่างง่ายที่สุดก็แล้วกัน
.
.
-----------------------------------------
.
.
ในเวลานี้ เราเริ่มเห็นการฉีด COVID-19 วัคซีนกันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อแจกจ่ายกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อน อย่าลืมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ที่ได้รับวัคซีนคือ ตนเองต้องปราศจากไวรัส เพราะหากเป็นไข้ไปแล้ว การฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา (แถมอาการอาจจะแย่ลงด้วย) ดังนั้น พยายามรักษาสุขภาพและให้ตนเองปลอดไวรัสให้ได้ ก่อนที่จะไปรับวัคซีนกัน
.
.
บริษัทหรือองค์กรที่ผลิตวัคซีนที่อยู่แนวหน้า คือ บริษัท Pfizer, บริษัท Moderna และ Oxford / AstraZeneca ส่วนของจีนและรัสเซีย ดิฉันจะไม่ขอกล่าวถึงเพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ออกมายืนยันเรื่องประสิทธิภาพ (แต่มีการกล่าวถึงประสิทธิภาพว่า เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปทั้งสองประเทศ)
.
.
-----------------------------------------
.
.
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างวัคซีนเหล่านี้ มีดังต่อไปนี้:
.
.
1. Oxford / AstraZeneca ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า คือ ตัว Spike Protein ของไวรัสถูกฉีดเข้ามาในร่างกาย ซึ่งทำให้ระบบภุมิต้านทานภายในร่างกายสร้างการตอบสนองขึ้นมา เมื่อไวรัสจริงๆ เดินทางเข้าสู่ร่างกาย (Genetically Modified Virus)
.
ส่วนของ Pfizer และ Moderna นั้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า mRNA หรือ Messenger RNA ซึ่งหมายความว่า มันสอนให้เซลล์ในร่างกายได้เรียนรู้ให้สร้างโปรตีนขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิต้านทาน จากนั้นเซลล์ก็สร้าง Antigen หรือสารภูมิต้านทานขึ้นมา และสร้างการตอบโต้กับไวรัส เทคโนโลยีนี้ ไม่เคยมีใครนำมาใช้กับวัคซีนมาก่อน ซึ่งมันสามารถกลายเป็นการแก้ไขปัญหาและเป็นตัวปัญหาได้พร้อมๆ กัน
.
.
2. ประสิทธิภาพของวัคซีน วัคซีนจะต้องฉีดกันสองเข็ม ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ
.
ตามสถิติแล้ว วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ในการต่อต้านไวรัสภายในระยะเวลา 21 วันหลังจากถูกฉีดจากเข็มแรก ยังมีสถิติที่ดีมากๆ สำหรับบุคคลสูงอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
.
ส่วนวัคซีนของ Moderna ให้ประสิทธิภาพสูงถึง 94.5 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งใกล้เคียงกับของ Pfizer) ระยะเวลาระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สองอยู่ที่ 28 วัน
.
.
่เรื่องที่แปลกกลับเกิดขึ้นกับวัคซีนของ Oxford / AstraZeneca คือ ประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ หลังจากฉีดสองเข็ม "เต็ม" ไปแล้ว (Two Full Doses)
.
แต่เมื่อได้รับการฉีดครั้งแรกเป็นจำนวน “ครึ่งเข็ม” (Half Dose) และตามด้วยอีกหนึ่งเข็มเต็ม (Full Dose) ภายในระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนจะพุ่งขึ้นไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเลขถึงออกมาแบบนั้น
.
.
-----------------------------------------
.
.
3. การขนส่ง และ การเก็บรักษา
.
.
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับวัคซีนคือ จะเก็บรักษากันอย่างไร?
.
วัคซีนของบริษัท Pfizer เก็บรักษายากที่สุด เพราะต้องเก็บในที่เย็นจัด ภายใต้อุณหภูมิ ลบ 70 องศาเซลเซียส ถึงจะรักษาประสิทธิภาพไว้ได้ และจะต้องผสมกับของเหลวอีกชิ้นหนึ่งก่อนที่จะทำการฉีดให้กับผู้คนได้ แต่บริษัท Pfizer ก็สร้างและออกแบบตู้แช่แข็งสำหรับวัคซีนของตนเอง ที่ต้องเก็บกับน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ที่สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลา 10 วันโดยไม่ต้องใช้ตู้แช่แข็งแบบพิเศษ วัคซีนของ Pfizer ผลิตในประเทศเบลเยี่ยม เวลาขนส่งทางอากาศจะมีตัววัดอุณหภูมิพร้อมกับการติดตั้ง GPS เพื่อติดตามวัคซีนโดยตลอด
.
วัคซีนของบริษัท Moderna สามารถเก็บรักษาได้ในระยะเวลา 30 วันในตู้เย็นธรรมดา หากเก็บไว้ในตู้แช่แข็งพิเศษที่มีอุณหภูมิ ลบ 20 องศาเซลเซียส สามารถอยู่ได้นานถึง 6 เดือน หากเอาออกมาตั้งไว้ในห้องอุณหภูมิปกติ ประสิทธิภาพสามารถยืนหยัดอยู่ได้ประมาณ 12 ชั่วโมงเท่านั้น
.
ส่วนวัคซีนของ Oxford / AstraZeneca จะถูกส่งไปยังศูนย์วัคซีนในรถตู้เย็น หรือในกล่องแช่เย็น และเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิประมาณ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส และปราศจากแสงแดด เพราะฉะนั้น ประเทศที่อยู่ในโซนร้อนหรือใกล้เส้นศูนย์สูตร จะเหมาะสำหรับวัคซีนตัวนี้ในเรื่องการเก็บรักษาเมื่อเทียบกับของวัคซีนตัวอื่นๆ
.
.
-----------------------------------------
.
.
4. ราคา
.
.
วัคซีนที่บริษัทและองค์กรเหล่านี้ขายให้กับรัฐบาล มีราคาแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ประชาชนที่ได้รับการฉีดจะไม่เสียเงินและค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นสวัสดิการของรัฐบาลนั้นๆ
.
วัคซีนของบริษัท Moderna มีราคาแพงที่สุดคือ เข็มละประมาณ $35 (1,000 บาท) ส่วนของ Pfizer ตกเข็มละ $20 (650 บาท) คาดกันว่า ราคาของ Oxford / AstraZeneca จะไม่เกิน $4 (130 บาท) ต่อเข็ม ไม่ว่าจะฉีดเข็มครึ่งหรือสองเข็มก็ตาม
.
สิ่งที่ควรคำนึงคือ บริษัท Moderna เป็นบริษัทเพื่อการค้ากำไร ในขณะที่นักวิจัยของบริษัท Pfizer ต้องการให้เป็นเรื่องของการปราศจากการค้ากำไรในขณะที่ยังคงมีโรคระบาดกันอยู่
.
.
-----------------------------------------
.
.
5. ปริมาณ
.
.
วัคซีนของ Moderna มีจำนวน mRMA ต่อเข็มสูงกว่าของ Pfizer (100 micrograms สำหรับ Moderna และ 30 micrograms สำหรับ Pfizer) ซึ่งหมายความว่า Pfizer สามารถผลิตปริมาณได้มากกว่า และให้ราคาถูกกว่าด้วย
.
.
-----------------------------------------
.
.
สิ่งที่น่าคิดคือ: หากใช้สถิติและข่าวที่เห็นในปัจจุบันเป็นหลัก สมมติว่าทางประเทศไทย ใช้วัคซีนของ Oxford / AstraZeneca เป็นจำนวน "ครึ่งเข็ม" ~(Half dose) ก่อน (แทนที่จะเป็นหนึ่งเข็มเต็ม - Full Dose) ก็หมายความว่า ประชาชนที่จะได้รับวัคซีนสามารถเพิ่มจำนวนได้ถึงหนึ่งเท่าตัว และสามารถยืดเวลาออกไปอีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน ถึงมาฉีดเข็มที่สองกัน
.
.
ถ้าคำนวณระบบ Logistics กันให้ดีๆ หมายถึงว่า จำนวนวัคซีนมีมากพอหลังจากหนึ่งเดือนไปแล้ว เราจะมีประชาชนอีกมากทีเดียวที่จะได้รับวัคซีนหลังจากเข็มแรก แต่ต้องแน่ใจว่า มีจำนวนวัคซีนได้รับกันอย่างเพียงพอ ไม่อย่างนั้น จะต้องรอกันนานมากกว่าจะได้รับเข็มที่สองกัน
.
.
เราจึงเห็นแล้วว่า ทำไม Oxford / AstraZeneca ถึงเหมาะกับเขตประเทศร้อน เนื่องจากราคาและการเก็บรักษา หากจะเทียบกับสิงคโปร์ ดิฉันคิดว่า ทางสิงคโปร์อาจจะมีการเก็บรักษาได้ดีเยี่ยมและปลอดภัย ถึงสามารถสั่งวัคซีนของ Pfizer เข้ามาได้ก่อนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพราะการเก็บรักษาต้องอยู่ในอุณหภูมิแบบเยือกแข็งเลยทีเดียว
.
.
่เรื่องที่อยากแนะนำคือ ในระยะเวลาอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ทางการไทยควรจะสืบหาและเริ่มเก็บข้อมูล + สถิติต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีน Oxford / AstraZeneca ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ผลอาการข้างเคียง (Side Effects) ซึ่งผู้ได้รับวัคซีนอีกหลายคนจะต้องพบแน่ๆ
.
.
-----------------------------------------
.
.
และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ทุกๆ คน จะต้องมีประวัติการฉีดยาเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลาง เพื่อจะได้ทราบว่าได้รับวัคซีนเมื่อไร ใช้จากลังไหน เพราะคิดว่า ประวัติการฉีดยานี้จะต้องนำมาใช้ในการเดินทางข้ามประเทศในอนาคตแน่ๆ ในรูปแบบของ Immunity Passport หรือ Digital Health Certificate
.
.
ประการสุดท้ายก่อนจบบทความคือ อย่าฉีดวัคซีน “ปนกัน” อย่างเด็ดขาด คือ เข็มแรก เป็นยี่ห้อหนึ่ง และเข็มที่สองเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง เพราะวัคซีนเป็นคนละชนิดและคนละแบบกัน หากฉีดแล้ว ก็ฉีดยี่ห้อเดียว ไม่อย่างนั้น ท่านอาจจะได้ผลข้างเคียงที่ยุ่งยากมากๆ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำการช่วยเหลือ
.
.
Have a great and happy Tuesday. Stay safe ค่ะ
.
Doungchampa Spencer-Isenberg
.
.
(อ้างอิงจาก:
.
* https://www.acsh.org/.../comparing-covid-vaccines-pfizer...
.
* https://news.sky.com/.../covid-19-vaccines-how-do-the...

แคดเมียม (Cadmium)

                แคดเมียม เป็นโลหะหนักที่ส่วนใหญ่จะพบปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ โรงงานถลุงแร่ การผลิตปุ๋ย และแหล่งที่ทิ้งขยะ จากแบตเตอรี่ และเครื่องไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคต่างๆ แคดเมียมอาจแพร่กระจายในรูปแบบของฝุ่น ไอระเหย หรือละลายอยู่ในน้ำกระจายไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ถูกดูดซับเข้าไปในพืชและสัตว์น้ำ คนได้รับแคดเมียมได้หลายทาง ทั้งจากทางอาหารจำพวกสัตว์น้ำ เครื่องในสัตว์ พืชผลทางการเกษตรและผักต่างๆ โดยเฉพาะแคดเมียมที่สะสมอยู่ในใบยาสูบ เป็นผลให้การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

                แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกายทั้งโดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ ขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามากใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่นมะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ

แผนที่พันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Mapping)

genome

          นักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างแผนที่พันธุ์กรรมมนุษย์ ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2546 ต้องใช้เงินไปทั้งสิ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้ถ้าผู้ใดต้องการรู้แผนที่พันธุ์กรรมของตนเองก็สามารถทำได้ โดยใช้เลือดไม่เกิน 5 มิลลิลิตร ใช้เงินประมาณ 200,000 บาท

          ปัจจุบันเรารู้ว่ามีโรคจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุ์กรรม มากบ้าง น้อยบ้าง รุนแรงมาก รุนแรงน้อยแตกต่างกันไป เทคนิคการวิเคราะห์แผนที่พันธุ์กรรมจึงถูกนำข้อมูลมาใช้ในการคาดการความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ของแต่ละคนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนด้านสุขภาพล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกรณีที่ต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยในการกระตุ้นให้เกิดโรค ดังเป็นที่รู้กันว่า โรคบางโรคเกิดจากสาเหตุเพียงการเกิดผิดปกติของยีนเดียว (single mutation) แต่หลายโรคมีสาเหตุซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายยีนและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย

ตัวอย่างโรคต่างๆที่เรารู้ว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซม ได้แก่

          โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซม หมายเลข 5  โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ โครโมโซม หมายเลข 13 และ 17 โรคเบาหวาน (Diabetes) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ โครโมโซม หมายเลข 6 และอาการออร์ติสซึม (Autism) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซมหมายเลข 15 และ 16  โรคอ้วน (Obesity) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนในโครโมโซม หมายเลข 16 โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ โครโมโซม หมายเลข 19 เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามยังคงมีความขัดแย้งระหว่างข้อดีและข้อเสียของการสร้างแผนที่พันธุ์กรรมของแต่ละคนอยู่มาก เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากแผนที่พันธุ์กรรม ยังคงเป็นเพียงการคาดคะเนโอกาสที่จะเกิด แต่ไม่ใช่เป็นการยืนยันว่าจะต้องเกิด ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อาทิเช่น เด็กในครรภ์อาจถูกทำแท้ง ถ้าแม่พบว่าลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเป็นต้น ดังนั้นแพทย์ที่เกี่ยวข้องจึงไม่แนะนำให้ทำการทดสอบยีน (genetic testing) ในเด็ก นอกจากมีหลักฐานข้อมูลชัดเจนว่าจะเป็นประโยชน์ในการรักษา ดังนั้นผู้ที่คิดจะทำการทดสอบยีนของตนเองควรต้องใคร่ครวญให้ดี ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองเมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

              ปัจจุบันได้มีการดำเนินการ เชิงธุรกิจในการรับวิเคราะห์แผนที่ทางพันธุ์กรรมของผู้ที่ต้องการรู้ (direct-to-consumer (DTC) genetic testing) ในราคาเพียงประมาณ US$ 100-200 โดยส่งข้อมูลผ่านทาง internet โดยบริษัทผู้ให้บริการจะ scan DNA ของผู้ติดต่อ เปรียบเทียบกับตัวบ่งชี้ ของโรคต่างๆในแผนที่พันธุ์กรรมของมนุษย์ ดังนั้น DTC testing จึงไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์แผนที่พันธุ์กรรมทั้งหมด แต่เป็นเพียงการวิเคราะห์บางจุดเท่านั้น

              ขั้นตอนการดำเนินการส่วนใหญ่โดยผ่าน internet ซึ่งหลังมีการตกลงเรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้รับตรวจสอบจะส่งชุดเก็บตัวอย่างส่งตรวจมาให้ ผู้ต้องการตรวจสามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง และส่งกลับไปที่บริษัทผู้รับตรวจผ่านผู้ให้บริการส่งพัสดุได้โดยตรง หลังจากนั้นการติดต่อทุกอย่างจะดำเนินการโดยผ่าน internet ซึ่งสะดวกมากสำหรับผู้ที่อยากรู้พันธุ์กรรมของตนเอง อย่างไรก็ตามผู้มีความรู้จำนวนหนึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับการทำ DTC genetic testing เนื่องจากเชื่อว่าข้อมูลที่ได้สามารถหาได้จากการศึกษาประวัติครอบครัวโดยละเอียดอยู่แล้ว ดังตัวอย่างข้อมูลที่ได้จาก DTC genetic testing เช่น คุณมีดวงตาสีดำ ผมตรง บรรพบุรุษมาจากจีน มีญาติบางคนเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน 0.5 เท่าของความเสี่ยงปกติ มีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม 1.5 เท่าของความเสี่ยงปกติเป็นต้น

           ดังนั้นข้อดีข้อเสียของ DTC genetic testing จึงขึ้นอยู่กับมุมมองซึ่งถ้ามองว่าเพียงเพื่อตอบสนองต่อความอยากรู้ หรือเพียงเพื่อประกอบในการระมัดระวังตัวเองก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าคิดว่าข้อมูลที่ได้อาจสร้างความวิตกกังวลให้เกิดขึ้นเกินความจำเป็นก็ควรระมัดระวังก่อนดำเนินการให้มีการวิเคราะห์แผนที่พันธุ์กรรมของตนเอง

                โรคความดันโลหิตสูง ระยะแรกอาจไม่แสดงอาการที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียง เหนื่อยง่ายเป็นครั้งคราว ทำให้ผู้ป่วย ไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น

  1. “อายุ” เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นตาม
  2. พันธุกรรม
  3. อารมณ์ และ ความเครียด
  4. “อาหาร” ผู้ที่กินเกลือมากจะส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนที่กินเกลือน้อย

                องค์การอนามัยโรคกำหนดว่าผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูงกว่าระดับแรงดันของการบีบตัวของหัวใจ (systolic) สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ แรงดันของการคลายตัวของหัวใจ (diastolic) สูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็น โรคความดันโลหิตสูง ต้องไปพบแพทย์ และต้องมีการควบคุมอย่างจริงจังเนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังอาจนำไปสู่ อาการแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้หลายอย่างเช่น

  • ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก
  • ภาวะหลอดเลือดแดงตีบที่กล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (heart failure) และหลอดเลือดสมองตีบเกิดอาการอัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต รวมทั้งหลอดเลือดแดงในไตตีบเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง

                ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายร้อยละ 60-75 เสียชีวิตจากหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือ แตกร้อยละ 20-30 และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10 เป็นต้น ข้อแนะนำใน

การควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ไม่ให้ลุกลามเรื้อรังคือ

  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้สูงเกินไป
  2. ควบคุมปริมาณโซเดียมหรือเกลือในอาหารให้ไม่เกิน 2,300 มิลลิกรรมต่อวัน  เช่น กินเกลือแกงวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา (มีโซเดียมประมาณ 2,300 มิลลิกรรม) น้ำปลาหรือซีอิ้วไม่เกินวันละ 5-6 ช้อนชา
  3. กินผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืช เป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสม
  4. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ งดบุหรี่ เป็นต้น

 bacteria

                      ถอยหลังไปประมาณ พ.ศ.2510 เป็นต้นมาวงการแพทย์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถใช้ความรู้ และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทั้งด้วยการรักษา และการป้องกันโรคด้วยยาปฏิชีวนะ และวัคซีนในการควบคุมโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสได้ แต่ปัจจุบันเหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากในระยะ 30ปี ที่แล้วมีปรากฏการณ์ที่น่าวิตกเกิดขึ้น 2 อย่างคือ

1.   แบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง และวัณโรค กำลังเป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่เชื้อสามารถพัฒนาสายพันธ์ที่ดื้อยาขึ้นหลากหลายชนิดมากขึ้นทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาลดลงมาก ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคปอดบวม อุจจาระร่วง และวัณโรค ปีละประมาณ 8 ล้านคน

2.   มีการพัฒนาของเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงแก่มนุษย์ เช่น โรคหวัดนก (Avian Influenza) โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสนิปาท์ (Nipah virus encephalitis) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (MERS-CoV) โรคเอดส์ (AIDS) โดยเฉพาะปัจจุบันโรคอีโบลา กำลังระบาดอย่างรุนแรงใน 4 ประเทศ ฝั่งตะวันตกของทวีป อาฟริกา ได้แก่ ไลบีเรีย เชียร์ราลีโอน ไนจีเรีย และกินี มีผู้ติดเชื้อกว่า 9000คน เสียชีวิตไปแล้วกว่าครึ่ง ไวรัสอีโบลา พัฒนามาจากการติดเชื้อในค้างคาว เข้ามาสู่สัตว์ใหญ่ เช่น ลิงชิมแปนซี ลิงกอริลลา กวาง และเม่น ดังนั้น เมื่อคนนำเนื้อสัตว์เหล่านี้มาปรุงเป็นอาหาร ไวรัสจึงเข้าสู่คนและพัฒนาต่อไปจนสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ และเนื่องจากไวรัสพัฒนาเร็วมากทำให้เราไม่มียา และวัคซีนที่จะใช้ในการรักษา และป้องกันโรคจึงมีการระบาดขึ้นอย่างเร็ว โรคอีโบลารุนแรงกว่าโรคเอดส์ เนื่องจากไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการทรุดหนักภายใน 5 – 7 วัน กว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในเวลาสั้นโดยไม่มีทางแก้ไขได้

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ