"หมอยง" เผย "วัคซีนโควิด" เมื่อนำมาใช้จริงประสิทธิภาพจะต่ำกว่าข้อมูลในการศึกษาวิจัย

 

"หมอยง" ชี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 เมื่อนำมาใช้จริงประสิทธิภาพจะต่ำกว่าข้อมูลในการศึกษาวิจัย เหตุการใช้ในภาคสนามมีตัวแปรอื่นๆอีกมากมาย ย้ำทุกคนต้องเข้มงวดใส่หน้ากากฯ ล้างมือ และกำหนดระยะห่าง

 

วันนี้ 22 ม.ค. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan" ระบุว่า โควิด-19 วัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน

ประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อนำไปใช้จริง ประสิทธิภาพจะต่ำกว่าข้อมูลจากการศึกษาในการวิจัย ทั้งนี้เพราะการใช้ในภาคสนาม มีตัวแปรอื่นๆอีกมากมาย

 

เราจะเห็นได้จากประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าเราดูตามที่บริษัทบอกจะมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ในการใช้จริงจะต่ำกว่าที่เขียนไว้ในฉลากยาอย่างแน่นอน

ในทำนองเดียวกัน การศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนของไวรัสตับอักเสบ บี ที่ผมทำการศึกษาในอดีต ในการศึกษาวิจัยจะมีประสิทธิภาพสูงมาก สูงถึงร้อยละ 94-95 แต่เมื่อนำไปใช้จริงในประชากรหมู่มาก หรือให้กับทารกทุกคน ประสิทธิภาพโดยรวมจะลดลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณ 80 ต้นๆ

ทำนองเดียวกัน ประสิทธิภาพของวัคซีน Covid-19 ที่มีการศึกษากันมาก มีสูงสุดถึงร้อยละ 95 แต่เมื่อนำมาใช้จริงประสิทธิภาพจะน้อยกว่าในการศึกษาวิจัย การใช้ภาคสนามยังมีตัวแปรอื่นๆที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงได้

 

ในขณะนี้คงต้องรอดูประสิทธิภาพวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ที่ให้กับคนหมู่มากในประเทศอิสราเอล เพราะให้ไปแล้วมากกว่า 30% ของประชากร

และในทำนองเดียวกันคงต้องรอดูประสิทธิภาพ ของวัคซีนจีน Sinopharm ที่ให้ในประชากรประเทศ UAE ที่ให้ไปมากกว่าร้อยละ 20 แล้ว คงจะเห็นผล ประสิทธิภาพในชีวิตจริง และจะมีรายงานออกมาในเร็วๆนี้

ดังนั้นเราจะไม่รอความหวังจากวัคซีนอย่างเดียว ถึงแม้จะมีการให้วัคซีน มาตรการอย่างอื่นในการควบคุมโรคยังจะต้องเป็นเหมือนเดิมในปีนี้ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และ กำหนดระยะห่างของบุคคล

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/regional/456023?adz=

 

 

 

สธ.ชี้จุดเสี่ยงติดโควิด 19 ช่วงถอดหน้ากากเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน

สธ เผยโควิด 19 ระลอกใหม่อัตราเสียชีวิตลดลง 10 เท่าจากระลอกแรก ย้ำจุดเสี่ยงติดเชื้อคือช่วงรับประทานอาหาร เหตุไม่สวมหน้ากาก ทั้งกรณีบิ๊กไบค์ และดีเจมะตูม เตือนที่ทำงานควรงดรับประทานอาหารร่วมกันหลายคน แนะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับดีเจมะตูมกักตนเองและตรวจหาเชื้อ

 

วันนี้ (21 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 142 ราย การติดเชื้อระลอกใหม่สะสม 8,558 ราย พบว่า อัตราเสียชีวิตระลอกใหม่ลดลง 10 เท่า โดยระลอกแรกติดเชื้อ 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.42 ระลอกใหม่ติดเชื้อ 6,416 ราย เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 เนื่องจากเรามีความรู้ ยา และเวชภัณฑ์มากขึ้น ผู้มีโรคประจำตัวระมัดระวังตัวมากขึ้น สำหรับในกทม.แนวโน้มมีผู้ป่วยไม่มากหลักสิบรายต่อวัน ยังค้นหาเชิงรุกในชุมชนต่อเนื่อง เช่น ชุมชนย่านวัดสิงห์ ประชาชนมารับการตรวจอย่างดี ช่วยให้การควบคุมโรคทำได้ดี

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่พบการติดเชื้อใหม่ ต้องสอบสวนโรคให้ได้ไทม์ไลน์อย่างละเอียด ติดเชื้อจากที่ไหน สัมผัสกับใคร ใครเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ เพื่อดำเนินการควบคุมโรค  ล่าสุด จ.นครพนม ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 18 มกราคม 2564 มีไทม์ไลน์ค่อนข้างสมบูรณ์ พบว่ามีความเชื่อมโยงกับบ่อนพนัน ที่นำมาติดเพื่อนซึ่งเดินทางมาเยี่ยม ส่วนดีเจมะตูมได้ให้ไทม์ไลน์อย่างละเอียด จุดเสี่ยงติดเชื้อคือการรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนที่ติดเชื้อเมื่อวันที่ 9 มกราคม ดังนั้นผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงคือ ผู้สัมผัสตั้งแต่วันที่ 11 มกราคมเป็นต้นไป เนื่องจากระยะฟักตัวสั้นที่สุดคือ 2 วัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือ ผู้ที่ถูกผู้ติดเชื้อไอหรือจามใส่ หรือพูดคุยใกล้ชิด 5 นาที และอยู่ร่วมในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท 15 นาทีขึ้นไป แต่ความเสี่ยงจะลดลงหากใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ดังนั้น ผู้ที่เข้าข่ายผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวเองและตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 ของการเริ่มกักตัวและในวันที่ 5-7

ส่วนกรณี อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ที่สัมผัสกับดีเจมะตูม และมาเข้าร่วมงานลงนามร่วมพัฒนาหลักสูตรอาหารผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชง เมื่อวันที่ 20 มกราคม ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม ผลการตรวจของ อ.ยิ่งศักดิ์วันที่ 20 มกราคมเป็นลบ แสดงว่าวันดังกล่าวไม่มีเชื้อ แพร่เชื้อให้ใครไม่ได้ ผู้ที่สัมผัสกับ อ.ยิ่งศักดิ์ในวันนั้นถือว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องกักตัว ส่วนกรณีข่าวพบผู้ติดเชื้อที่วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี 300 คน เมื่อวันที่ 19 มกราคมไม่เป็นความจริง เป็นภาพการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในคนไทย 104 คน และต่างด้าว 51 คน กำลังรอผล ซึ่งทราบว่าส่วนใหญ่ไม่ติดเชื้อ

“จุดสำคัญที่พบการติดเชื้อบ่อยคือการรับประทานอาหารร่วมกัน อย่างปาร์ตี้บิ๊กไบค์ งานเลี้ยงดีเจมะตูม เป็นต้น เนื่องจากตอนรับประทานอาหารไม่ได้ใส่หน้ากาก นั่งไม่ห่างมากนัก หากสนุกสนานก็มีการพูดคุย เป็นจุดที่มีความเสี่ยง ดังนั้น สถานที่ทำงานหลายแห่งไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกันหลายคน ต้องอยู่ห่างพอสมควร และต้องฝึกพูดคุยผ่านหน้ากากถ้าไม่อยู่คนเดียว” นพ.โอภาสกล่าว

 

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/455990?adz=

 

‘SONGBIRD’ ภาพจำลองถ้า 4 ปี ‘โควิด’ ยังไม่หายไปจากโลก

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไวรัสโควิดไม่หายไปไหน แถมยังกลายพันธุ์ร้ายแรงกว่าเดิมจนโลกต้องตกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ยาวนานถึง 4 ปี รับชมภาพจำลองเหตุการณ์ได้จากหนัง “SONGBIRD โควิด 23 ไวรัสล้างโลก” ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำในสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดในแอลเอ

มีผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขหลายรายคาดการณ์เอาไว้ว่ามีแนวโน้มที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ‘โควิด-19’ จะไม่หายไปไหน แต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ที่วนเวียนกลับมาระบาดเป็นระลอก ตราบจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญสามารถคิดค้นวัคซีนที่ปลอดภัย มีผลป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพจึงทำให้ไม่เกิดการระบาดรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแบบการระบาดครั้งแรกๆ

แล้วโลกจะเป็นอย่างไรถ้า ‘โควิด-19’ กลายพันธุ์ และยังคงแพร่ระบาดในระดับรุนแรงต่อเนื่องต่อเป็นเวลาหลายปี?

ถ้าเช่นนั้นต้องมาดูภาพจำลองเหตุการณ์นี้จากภาพยนตร์เรื่อง ‘SONGBIRD โควิด 23 ไวรัสล้างโลก’ หนังไซไฟระทึกขวัญบีบหัวใจผู้ชมเรื่องล่าสุดจากการสร้างของยอดฝีมือแถวหน้าของฮอลลีวูดอย่าง ไมเคิล เบย์ ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือไว้จากหนังบล็อคบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์มหึมาอย่าง Armageddon(1998), Pearl Harbor(2001) และหนังแอ๊กชั่นแฟรนไชส์ Transformers (2007-2017) รวมถึงผู้สร้างผลงานสุดระทึกอย่าง A Quiet Place (2018) และThe Purge (2013)

ครั้งนี้ ‘ไมเคิล เบย์’ กลับมาอีกครั้งกับการอำนวยการสร้างผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่พูดถึงโลกอนาคตเมื่อเชื้อโควิดไม่หายไปไหน แต่กลายพันธุ์เป็น COVID-23 และทำให้โลกตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ล็อคดาวน์เป็นปีที่สี่แล้ว

 

161104334690

161104336651

SONGBIRD มีพล็อตเกี่ยวกับชาวอเมริกันที่ติดเชื้อโควิดว่าจะถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันปิดตายที่ชื่อคิว-โซน ในขณะที่ผู้กล้าบางคนพยายามลุกขึ้นต่อสู้การกดขี่ภายในค่ายกักกันท่ามกลางโลกที่พังพินาศ โดยตัวเอกของเรื่องคือ นิโค (รับบทโดย เคเจ อาปา) คนส่งข่าวใจเด็ดผู้มีภูมิต้านทานไวรัสร้ายแรงตัวนี้ เขาพบรักกับ ซาร่า (นำแสดงโดย โซเฟีย คาร์สัน) ทว่าการล็อคดาวน์ทำให้ทั้งสองไม่อาจสัมผัสกันทางกายได้ และเมื่อมีข่าวว่าซาร่าติดเชื้อ นิโคจึงกระเสือกกระสนข้ามฟากจากลอสแองเจลิสเพื่อตามหาสิ่งที่จะช่วยไม่ให้เธอต้องถูกคุมขังในค่ายกักกันสุดโหด

หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำท่ามกลางวิกฤติโควิด

การแพร่ระบาดของโควิดอย่างหนักในซีกโลกตะวันตกทำให้กองถ่ายในฮอลลีวู้ดต้องยกเลิกการถ่ายทำเกือบหมด แต่ SONGBIRD ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในระหว่างวิกฤตการณ์ ‘COVID-19’ แพร่ระบาดในลอสแองเจลิส แถมตัวหนังยังพูดถึงตัวโรคระบาดเองโดยตรงอีกด้วย

SONGBIRD เล่าถึงลอสแองเจลิสในอนาคตอีก 4 ปีให้หลัง เมื่อเชื้อไวรัสCOVID ได้กลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ร้ายแรงที่ชื่อว่า COVID-23 การล็อคดาวน์กลายเป็นเรื่องจำเป็น การประกาศเคอร์ฟิว การขาดแคลนอาหาร และของขาดตลาดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“มันคือสิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นหากการล็อคดาวน์ที่เราประสบมายังคงยืดเวลาต่อออกไปอีกสองถึงสามปี” อดัม เมสัน ผู้กำกับ/ผู้ร่วมเขียนบท กล่าว

161104339215

161104477535

161104479370

 

แต่ถึงกระนั้นเขาก็บอกว่าหัวใจของ SONGBIRD คือเรื่องราวความรักของคนทั้งสองที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน เป็นคู่รักอับโชคที่ต้องหาวิธีอยู่ด้วยกันในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้”

“มันมีความตื่นเต้นสมกับเป็นหนังดูแกล้มป๊อบคอร์น แต่ก็มีหัวใจของความเป็นภาพยนตร์และปล่อยให้หนังเชื่อมโยงกับคนดูได้อย่างมากมาย” อดัม กู๊ดแมน ผู้อำนวยการสร้างกล่าวเสริม

 

161104361796

 

หนังโควิดที่ไม่หดหู่ แต่มีความหวัง

ในส่วนของการให้ ไมเคิล เบย์ เข้ามาดูแลการสร้างด้วยนั้น กู๊ดแมนบอกว่า “ไมเคิลนำความโกลาหลและความตื่นเต้นมาสู่จอได้มากกว่าใคร และยังเคยกำกับหนึ่งในหนังวินาศแนวสันตะโรที่เยี่ยมยอดที่สุดด้วย แต่เราไม่ได้พยายามทำให้ผู้ชมหวาดกลัว เราสร้างภาพยนตร์ที่จะให้ผู้ชมได้เอาใจช่วยตัวเอก ชิงชังตัวร้าย และตระหนักรู้ว่าเราทุกคนล้วนตกอยู่ในสภาวะเดียวกันทั้งสิ้น”

“ไซมอนกับผมผสานทั้งสองด้านนั้นเข้ากันโดยสร้างเรื่องราวทำนองธรรมะย่อมชนะอธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจที่ดีของตัวภาพยนตร์ มันไม่ใช่เรื่องราวมืดหม่นหรือซีดเซียว SONGBIRD เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความแข็งแกร่งของจิตวิญญาณเมื่อมนุษย์ต้องเผชิญความยากลำบาก มันมีขอบเขต ความโรแมนติกลุ่มลึก และช่วงเวลาอันสำคัญและแสนอันตรายตามแบบฉบับของฮอลลีวูด”

กู๊ดแมนยังกล่าวเพิ่มอีกว่า “บางครั้งภาพยนตร์ก็พาเราหนีออกห่างโลกความจริง หรือไม่ก็ถือแว่นขยายเพื่อส่องมองโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ ในภาพยนตร์ SONGBIRD เราทำทั้งสองด้าน”

161104372696

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์รอบตัวของเมสัน และโบเยสเองก็สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขากำลังสร้าง “การเขียนบทและถ่ายทำค่อนข้างจะหนักหนา เพราะผมรู้สึกว่ากำลังเขียนเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอยู่รอบตัว ณ ขณะนั้น” เมสันอธิบายเพิ่ม “อย่างเช่นผมอาจกำลังเขียนฉากเกี่ยวกับเคอร์ฟิวที่มีเฮลิคอปเตอร์บินไปมา อดัมจะบอกผมว่า “ไม่นะ มันดูเป็นหนังไซไฟแนวโลกพินาศเกินไปหน่อย” แต่ในบ่ายวันเดียวกัน มันก็มีเฮลิคอปเตอร์หลายลำบินอยู่เหนือเขตบ้านผมและประกาศว่ากำลังจะมีเคอร์ฟิว!”

161104377183

‘โรมิโอ-จูเลียต’ ยุคโควิดระบาด

แก่นเรื่องของ SONGBIRD คือเรื่องรักของคนสองคนที่ต้องแยกตัวจากกันเป็นเวลานาน และมีความปรารถนาอันร้อนแรงที่จะอยู่ด้วยกันแต่ไม่สามารถสัมผัสกันได้

“ท่ามกลางความโกลาหลอลหม่าน ความเศร้าโศกเสียใจ และความยากลำบากจากสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดและล็อคดาวน์ก็ยังมีแสงสว่างอยู่ นั่นคือความรัก และสิ่งใดก็ตามที่คุณยินดีทำเพื่อความรักและเพื่อความหวังนั้น” เจนเน็ตต์ วอลตูร์ ผู้อำนวยการสร้างเผย

“เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นว่าโลกของเรากำลังฝ่าวิกฤติอะไรบ้างในขณะนี้ และมาในรูปแบบที่สอนใจว่าเรามีความหวังอยู่เสมอ และด้วยความรัก ไม่มีใครที่พ่ายแพ้เลย”

มาร์เซ เอ. บราวน์ผู้อำนวยการสร้างเพิ่มเติมว่า “ความรักและความใกล้ชิดก็เหมือนอาหารและน้ำ ปัจจัยสี่ที่ทุกคนต่างต้องการเพื่อความอยู่รอด ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพูดถึงความหวังและความสามารถของมนุษยชาติที่จะหาหนทางให้จนได้”

SONGBIRD ยกระดับของเรื่องรักอมตะประเภทโรมิโอและจูเลียตขึ้นมาใหม่ โดยครั้งนี้ไม่มีครอบครัวที่กินแหนงแคลงใจกัน แต่เหล่าตัวเอกอับโชคต้องต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาดท่ามกลางเหตุการณ์การกวาดต้อนผู้ติดเชื้อ

“นิโคและซาร่าคือคู่รักที่ไม่อาจอยู่ด้วยกัน และยังไม่สามารถผูกสัมพันธ์กันได้ในทุกวิถีทาง” กู๊ดแมนอธิบาย

“คนหนึ่งมีภูมิต้านทาน อีกคนกลับไม่มี ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาผู้ชมให้เอาใจช่วยให้คู่รักนี้จะสามารถพบกันได้อีกครั้ง ความท้าทายท่ามกลางเหตุการณ์ที่บ้าคลั่งและสับสนนี้ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาดูเหมือนจะลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก”

161104346257

นิโคคือหนึ่งในกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “กลุ่มมีภูมิ” ซึ่งปลอดภัยจากการติดเชื้อและจำต้องรับหน้าที่ที่ยังขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้

“งานของนิโคคือคนส่งของ” เคเจ อาปา ผู้แสดงนำในซีรีส์ยอดฮิตอย่าง Riverdale กล่าว

“เขาส่งของให้ผู้คนทั่วเมือง ในระหว่างการเดินทางของเขา เขาได้พบกับซาร่า และพวกเขาก็ตกหลุมรักกัน ผมหวังว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะให้ความหวังกับผู้คนในอนาคต อย่าเข้าใจผมผิดนะ หนังเรื่องนี้นำเสนอความน่ากลัวของไวรัสที่กลายพันธุ์ก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็พูดถึงความเอาใจใส่”

ตัว โซเฟีย คาร์สันเองก็รู้สึกประทับใจกับความลุ่มลึกและสุ่มเสี่ยงของความรักระหว่าง ซาร่าและนิโคเช่นกัน

161104344686

“การรักใครสักคนอย่างลึกซึ้งแม้จะไม่เคยได้หายใจร่วมกัน ไม่เคยสัมผัสกายและได้ยินเสียงของเขาก้องอยู่ในหู มันเหมือนกับความรักที่เป็นไปไม่ได้”เธอกล่าว

“สำหรับตัวเอกของเรา ความรักของพวกเขามีความเสี่ยงร้ายแรง เพราะมันอาจทำให้เธอต้องตายหากได้พบกัน แต่ถึงกระนั้น ความรักก็ยังเป็นทางรอดของพวกเขา เป็นสิ่งที่พวกเขายึดมั่นและต่อชีวิตของพวกเขา ความรักของ ซาร่าและ นิโคคือหัวใจของเรื่อง คติสอนใจที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดนั่นคือ ความรักเป็นสิ่งเดียวที่เรามีในโลกใบนี้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ ณ ขณะนี้และความรักจะต่อชีวิตเรา”

161104408840

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/918134?anf=

 

ติดตามชม “SONGBIRD โควิด 23 ไวรัสล้างโลก” ผลงานสุดระทึกจากผู้สร้าง “A QUIET PLACE” และ “THE PURGE” ได้ 21 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

น.พ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยวันนี้ (21 ม.ค.) ว่า ได้มีการลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ล็อตที่ผลิตในประเทศอิตาลี แล้วเมื่อวานนี้ หลังทางบริษัท ส่งเอกสารเกือบ 10,000 หน้า มาขอขึ้นทะเบียนในไทย เพื่อใช้ฉีดภาวะฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยมีการพิจารณาถึงเรื่องประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย เป็นสำคัญ

สำหรับวัคซีนดังกล่าวจะถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จำนวน 50,000 โดส

 

เทียบ 5 โรคประจำตัว อัตราความเสี่ยงทำเสียชีวิตจากโควิด-19 ระลอกแรก-ระลอกใหม่

สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด (21 ม.ค.2564) โดยประเทศไทยเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 71 คน ทั้งนี้มีการเปรียบเทียบ 5 โรคประจำตัว อัตราความเสี่ยงทำเสียชีวิตจากโควิด-19 ระลอกแรก-ระลอกใหม่
 

สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด (21 ม.ค.2564) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 142 ติดในประเทศ 125 ราย ติดจากต่างประเทศ 17 ราย ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสม 12,795 ราย หายป่วยแล้ว 9,842 ราย รักษาอยู่ 2,882 ราย และเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 71 คน

ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราความเสี่ยงของผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ที่อาจทำให้เสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด-19 โดยเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นร้อยละของระลอกแรก และระลอกใหม่ ดังนี้

 

อัตราป่วยตาย ระลอกแรก 60 ราย คิดเป็น 1.42% , ระลอกใหม่ 11 ราย คิดเป็น 0.13% มีประวัติโรคประจำตัวระลอกแรก 77.4% ระลอกใหม่ 88.9% แบ่งเป็น 

 

- โรคเบาหวาน ระลอกแรก 51.2% , ระลอกใหม่ 62.5%

 

- ความดันโลหิตสูง ระลอกแรก 53.7% , ระลอกใหม่ 62.5%

- ไขมันในเลือดสูง ระลอกแรก 22% , ระลอกใหม่ 25%

 

- โรคปอด/มะเร็งปอด ระลอกแรก 12.2% , ระลอกใหม่ 9.09%

 

- ไตวาย  ระลอกแรก 17.1% , ระลอกใหม่ 0%

 
 

 

อิตาลีวิจัยพบ ยาขับปัสสาวะ ยับยั้งเชื้อไวรัส มีแนวโน้มพัฒนาช่วยรักษาโรคโควิด-19

 

นักวิจัยอิตาลี พบ ยาขับปัสสาวะ สามารถยับยั้งเชื้อไวรัส มีแนวโน้มพัฒนาช่วยรักษาโรคโควิด-19

 

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบารีของอิตาลี เปิดเผยผลการศึกษที่ค้นพบว่า ส่วนประกอบของ ยาขับปัสสาวะ ซึ่งถูกใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มช่วยรักษาอาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ได้

การศึกษาดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการเอ็มดีพีไอ (Multidisciplinary Digital Publishing Institute) เมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่า กรดเอธาครีนิก ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาขับปัสสาวะบางตัว สามารถใช้เป็นตัวยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

วารสารทางวิชาการเอ็มดีพีไอ ระบุว่า แม้เป็นการศึกษาขั้นต้น แต่ข้อมูลนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากลยุทธ์การรักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

อนึ่ง ยาขับปัสสาวะมักใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยการลดปริมาณโซเดียมในกระแสเลือดของผู้ป่วย

เมื่อวันพุธที่ 20 มกราคม 2564 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบารี เผยว่า ประสิทธิภาพของ ยาขับปัสสาวะ ถูกค้นพบระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยาที่มีอยู่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “นำยาเก่ามาใช้ประโยชน์ในทางใหม่” (drug repurposing)

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ระบุว่า ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำลังถูกพัฒนาอยู่ 237 ตัวทั่วโลก โดยวัคซีน 64 ตัว อยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงเยอรมนี จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

ทว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข ระบุว่า ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ยาชนิดอื่นๆ รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างเต็มรูปแบบ

ยาขับปัสสาวะ, โควิด-19, ข่าว, ข่าววันนี้, คมชัดลึก

 

(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าทีทางการแพทย์เตรียมวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลซาน ฟิลิปฏป เนรี ในกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี วันที่ 28 ธ.ค. 2020)

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/news/foreign/455935?adz=

 

20 ม.ค.2564 - นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตฯ  ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยแชร์บทความจาก https://reporter-journey.com ในเรื่อง เปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหาร AstraZeneca ว่าทำไมวัคซีนจาก Oxford ถึงห้ามขายทำกำไร-และในอาเซียน บริษัทที่เข้าเงื่อนไขการผลิตวัคซีนโดยไม่ประสงค์ต่อกำไรมีเพียงบริษัทเดียวคือ "สยามไบโอไซเอนซ์" ของประเทศไทย ซึ่งมีการแชร์บทความดังกล่าวจำนวนมาก โดยมีเนื้อหาว่า

บทความแปลจาก Reporter Journey นี้ เป็นการคัดบางส่วนจากบทความต้นฉบับของ BBC (ประเทศอังกฤษ) โดยบทความดังกล่าวที่หยิบยกมาชื่อว่า “Oxford-AstraZeneca vaccine: Bogus reports, accidental finds – the story of the jab.” ที่เล่าถึงกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันแรก ผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง ๆ การเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากจริง ๆ รวมทั้งการทดสอบวัคซีนกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเขียนไว้อย่างละเอียด 

ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในบทความนี้คือ คำพูดของทาง Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายใหญ่ของโลก ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC อังกฤษ ถึงข้อตกลงในการผลิตวัคซีนที่คิดค้นและวิจัยโดย Oxford มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในความหวังของการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

สำหรับเส้นทางการทดสอบวัคซีนของ Oxford นั้นจากเดิมที่มีการวิจัยและทดสอบกันในโรงงานของสถาบันฯ ซึ่งมีขนาดที่เล็กมากและกำลังการผลิตน้อย จึงไม่สามารถรองรับความต้องการได้ ทีมวิจัยจึงตัดสินใจที่จะจ้างการผลิตบางส่วนไปยังอิตาลี แต่เมื่อตัวอย่างวัคซีนชุดแรกพร้อมจะผลิตก็เกิดปัญหาขึ้น จากการปิดตายการเดินทางทั่วยุโรป นั่นหมายความว่าไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ใดที่จะขนส่งไปกรุงโรม ประเทศอิตาลีได้

ในที่สุดทีมวิจัยจึงต้องเช่าเหมาเครื่องบินเพื่อนำวัคซีน 500 โดสไปผลิต เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับวัคซีนนี้ทันเวลา ซึ่งนี่เป็นส่วนที่สำคัญมากของเรื่องราวการเริ่มต้นขยายปริมาณวัคซีนให้มากขึ้นในหลายเดือนให้หลังจากนั้น โดยผู้ผลิตชาวอิตาลีใช้เทคนิคที่แตกต่างกันใน Oxford เพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของวัคซีนว่า มีอนุภาคไวรัสจำนวนเท่าใดเจือปนอยู่ในแต่ละครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของ Oxford ใช้วิธีการของพวกเขาปรากฏว่า วัคซีนของอิตาลีมีความเข้มข้นขึ้น 2 เท่า!!

ทั้งนี้มีการพูดคุยไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ เป็นที่ตกลงกันว่าอาสาสมัครควรได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวโดยพิจารณาว่า นี่เป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้ทดสอบ และการให้น้อยลงคงปลอดภัยมากกว่าที่จะให้โดสเข้มข้นมากเกินไป แต่หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์นักวิทยาศาสตร์ก็ตระหนักว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น อาสาสมัครไม่ได้รับผลข้างเคียงตามปกติ เช่น เจ็บแขนหรือมีไข้ อาสาสมัครประมาณ 1,300 คนได้รับวัคซีนเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะเต็ม 1 เข็ม หน่วยงานกำกับดูแลอิสระกล่าวว่าการทดลองควรดำเนินต่อไปและกลุ่ม Half-Dose สามารถอยู่ในเคสการศึกษาได้

ในตอนนั้นทีมวิจัยของ Oxford ยอมกัดฟันเมื่อมีข้อเสนอแนะว่าการให้วัคซีนในสูตรของ Oxford อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเข้มข้น แต่มันได้รับการพิสูจน์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าว่า พวกเขาคือกลุ่มดาวเด่นในแง่ของประสิทธิภาพของวัคซีน

ตั้งแต่เริ่มต้นทีมงานของ Oxford มีเป้าหมายในการสร้างวัคซีนที่สามารถช่วยโลกได้ ดังนั้นพวกเขาต้องการปริมาณหลายพันล้านโดสซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเท่านั้นที่สามารถทำได้ ทำให้ Sir Mene Pangalos รองประธานบริหารของ AstraZeneca ยักษ์ใหญ่ด้านเวชภัณฑ์ในเคมบริดจ์ แนะนำว่าบริษัทสามารถช่วยให้ความต้องการของ Oxford เป็นจริงได้

แต่ Oxford ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่า “วัคซีนควรมีราคาไม่แพง” ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีผลกำไรสำหรับบริษัทยา กล่าวคือ “บริษัทยาที่จะผลิตวัคซีนของ Oxford ห้ามกระทำการค้าที่ก่อให้เกิดผลกำไร”

 “เพราะจุดประสงค์หลักของวัคซีนสูตร Oxford ก็เพื่อช่วยคนทั่วโลก ไม่ใช่ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุน”

หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นพวกเขาบรรลุข้อตกลงเมื่อปลายเดือนเมษายนปี 2563 ว่า วัคซีนนี้จะจัดให้โดยไม่หวังผลกำไรทั่วโลก เพราะเอาเข้าจริงแล้วในช่วงเวลาของการระบาดแบบนี้ วัคซีนหรือยามักจะมีราคาแพงสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ดังนั้นเพื่อการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันจึงต้องไม่มีผลกำไรมาเกี่ยวข้อง

โดยบริษัทที่เข้าเงื่อนไขการผลิตวัคซีนโดยไม่ประสงค์ต่อกำไรคือ “สยามไบโอไซเอนซ์” ของประเทศไทย และถูกกำหนดให้เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนสูตร Oxford กระจายไปทั่วทั้งย่านนี้

ที่สำคัญที่สุด AstraZeneca ตกลงที่จะรับความเสี่ยงทางการเงินแม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลก็ตาม

ในเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมาก รัฐบาลสหราชอาณาจักรตกลงที่จะซื้อวัคซีน 100 ล้านโดสและให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนอีกเกือบ 90 ล้านปอนด์

ในช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา ระดับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสลดลงในสหราชอาณาจักร แม้ว่านี่จะเป็นข่าวดี แต่ก็ทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้นสำหรับการทดลองซึ่งต้องอาศัยอาสาสมัครที่สัมผัสกับไวรัส เพื่อที่จะทราบว่าวัคซีนจะป้องกันพวกเขาได้หรือไม่ ดังนั้นวัคซีนจึงต้องลองส่งไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ ด้วยเพื่อดูว่ามันทำงานอย่างไรในประเทศที่มีลักษณะประชากรที่แตกต่างกัน

และแล้วการทดสอบก็ได้เริ่มขึ้นในแอฟริกาใต้ และบราซิลซึ่งในไม่ช้ากลายเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ผลการวิจัยเบื้องต้นได้รับการเผยแพร่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร 1,000 คนแรกหรือไม่ ตอนนั้นทีมงานรู้สึกกดดัน
Prof Katie Ewer ผู้เป็นหัวหน้าทีมทดสอบกล่าวว่า “ฉันทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมานานพอที่จะรู้ว่าวัคซีนส่วนใหญ่ที่ผลิตกันมาจากที่ต่าง ๆ ใช้ไม่ได้ผล และมันเป็นความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดในโลกที่มีความคาดหวังสูงเช่นนี้แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลย”

ข่าวดี วัคซีนของ Oxford – AstraZeneca ดูเหมือนจะปลอดภัย และได้กระตุ้นการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกันแบบที่พวกเขาหวังไว้ มันผลิตแอนติบอดีที่ต่อต้านไวรัสและเซลล์ T ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อได้ แต่ข้อมูลยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้ทีม Oxford หวังว่าจะผลิตวัคซีนที่สามารถส่งมอบได้ในครั้งเดียวดังนั้นจึงมีวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกรอบ

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมทดสอบ 10 คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นมาก ดังนั้นอาสาสมัครทุกคนจึงได้รับเชิญให้กลับมารับวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการป้องกัน ซึ่งแม้ว่าผลลัพธ์ในช่วงแรกเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่ในขั้นตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนสามารถป้องกันโควิด -19 ได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตามในบทความยังกล่าวถึงการทดลองวัคซีนจากบริษัทอื่นว่า ในเดือนพฤศจิกายนมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนอีก 2 รายการ คือ Pfizer-BioNTech เป็นเจ้าแรก จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Moderna ได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณ 95% ทำให้ทีมงาน Oxford เริ่มมีกำลังใจ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน คณะกรรมการอิสระด้านความปลอดภัยของข้อมูลก็พร้อมที่จะเปิดเผยผลการวิจัยของ Oxford-AstraZeneca แต่ผลลัพธ์ที่ได้น่าประหลาดใจและซับซ้อนกว่าที่คาดไว้

ในขณะที่ Pfizer-BioNTech และ Moderna มีตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงมาก ส่วน Oxford ได้ตัวเลขผลลัพธ์
ว่าป้องกันได้โดยรวม 70%โดยมาจากผู้ได้รับ 2 โดสเต็มสามารถป้องกันไวรัสได้ 62%
ในขณะที่ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดคิดคือในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับยาครึ่งโดสครั้งแรก และเต็มโดสในเข็มที่ 2 จะมีภูมิคุ้มกันสูงสุด 90% แถมยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนสูตร Oxford 

มันเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อรับวัคซีนไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นเรื่อย ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ นอกจากนี้อาสาสมัครทั้งหมดในกลุ่มนี้อายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแรงของร่ายกายสูง

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ทีมวิจัย Oxford ได้เผยแพร่การวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองของพวกเขาในวารสารทางการแพทย์ Lancet ความโปร่งใสนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจได้ว่า แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการฉีด 1 เข็มจะน้อยกว่าของ Pfizer-BioNTech เล็กน้อย แต่ความปลอดภัย และอาการแพ้ที่รุนแรงไม่มีปรากฏเหมือนกับวัคซีนของบริษัทอื่น

อีกทั้ง Oxford-AstraZeneca ก็มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือขวดของมันสามารถเก็บและขนส่งได้ที่อุณหภูมิตู้เย็นปกติ ในขณะที่ Pfizer-BioNTech ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งมีต้นทุนตู้แช่และการขนส่งที่สูง ทำให้วัคซีนจะมีราคาสูงตามไปด้วย
-------------------------------
แหล่งข่าว
https://reporter-journey.com/2021/01/19/เปิดคำสัมภาษณ์ผู้บริหา/?fbclid=IwAR33X4S1s3d1IZ4qYGvqSYpHphpqcVMYo19AcAWoyh9inZM7hb0wV6rHga4
https://www.bbc.com/news/health-55308216

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/90396

 

 

19ม.ค.64- ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คว่า
กายก็เหนื่อย
ใจก็ล้า
ถึงสีหน้าจะเรียบเฉย แต่มือนั้นสั่น คืออาการของหมอนคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ทำงานหนักแบบไม่ได้พัก
และวันนี้ยังต้องบึ่งมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบสารพัดคำถามเรื่องวัคซีน ที่บางคนวิพากษ์วิจารณ์
 เสมือนที่ทำมาทั้งหมดนั้นหาดีมิได้เลย 
หมอนคร พยายามอธิบาย ตอบคำถามทุกข้อสงสัยอย่างใจเย็น 
"เราไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าต้องเป็นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แต่บริษัทนี้ มีความพร้อมที่สุด สอดรับกับการทำสัญญาที่แอสตราฯ จะให้เราเป็นฐานการผลิต 
ซึ่งแอสตราฯ เป็นคนเลือกเอง ว่าจะใช้ที่นี่ เพราะโรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ มีความทันสมัย และดีกว่าขององค์การเภสัชฯ ด้วยซ้ำ
 อย่างไรก็ตามรัฐต้องให้งบปรับปรุงอีก 500 ล้านบาท และ SCG 100 ล้าน เพื่อให้มีความสามารถเต็มที่ในการผลิตวัคซีนโควิด-19"
หมอนคร พยายามตอบข้อสงสัยของบางคนบอกที่ว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้งาน เพราะล็อกสเป็ก 
"ข้อเสนอที่เราตกลงกับทางผู้ผลิตวัคซีนได้คือชัยชนะ เพราะเราต้องแข่งกับอีกหลายประเทศ เพื่อให้ได้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาค ทำให้เรามีความคล่องตัวในการจัดการวัคซีน และยังพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต"
จากนั้น หมอนคร กล่าวเพิ่มเติมถึงการที่บางคนมาตั้งคำถามเรื่องผลกำไร ที่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์จะได้รับ 
"ที่ผ่านมา บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาตามพระราชปณิทานของในหลวง ร.9 เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามแนวพระราชดำริ ขาดทุน คือกำไร 
บ.ขาดทุนตัวเงิน เพื่อแลกกับสุขภาพประชาชนที่ดีขึ้น 
บ.จึงไม่คิดหาผลกำไรมาแต่ต้น 
ที่ผ่านมาเป็นส่วนสำคัญในการผลิตชุดตรวจโควิด-19 ล่าสุด ยุติการผลิตในหลายสายงาน ก็เพื่อผลิตวัคซีน
 การซื้อวัคซีน เราซื้อผ่าน บ.แอสตราเซนนิกา ในราคากลาง บ.สยามไอโอไซเอนซ์ ไม่มีสิทธิ์มากำหนดราคา 
การให้ทุนจากรัฐ 500 ล้านบาทข้างต้น ไม่ใช่การให้เปล่า แต่ทาง บ.จะต้องส่งคืนงบ ในรูปแบบของวัคซีน"
หมอนครตอบครบทุกคำถาม 
สีหน้าแววตาเรียบเฉย 
แต่กายนั้นเหนื่อย ใจนั้นล้า

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/90328

 

 
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เนื่องจากมีคนออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโดยมีความเข้าใจที่ผิดพลาดหลายประการ ในฐานะนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและวัคซีน ผมมีความจำเป็นที่ต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนและสังคมเข้าใจให้ถูกต้อง ในประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะเกิดความตื่นตระหนก ความเข้าใจผิดต่างๆ ลามไปมากกว่านี้จนเกิดความเสียหายต่อการแพทย์ การสาธารณสุข และระบาดวิทยาในการควบคุมโรค ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ในขณะนี้ตลาดของวัคซีนเป็นของผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ซื้อวัคซีนที่จะผลิตออกมามีความขาดแคลนอย่างมาก และในระยะแรกไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะบ่งบอกถึงว่าวัคซีนตัวไหนจะถึงเป้าหมาย ต้องมีการจองไว้ก่อน ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยก็อาจจะได้เปรียบมีเงินจองวัคซีนที่จะคิดค้นและพัฒนาได้มากกว่าประเทศไทย

ประการที่สอง ในการจองแต่ละครั้งต้องมีการวางมัดจำ และการวางมัดจำนี้ถ้าวัคซีนผลิตไม่สำเร็จ เงินจำนวนนี้ก็จะไม่ได้คืน แม้กระทั่งการวางมัดจำกับบริษัท Astra Zeneca ก็ไม่สามารถใช้เงินหลวงไปวางมัดจำได้ จึงจำเป็นต้องใช้เงินของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ไปวางมัดจำ เพราะในช่วงดังกล่าวไม่มีหลักค้ำประกันได้เลยว่าจะได้วัคซีนตัวไหน

ประการที่สาม การให้วัคซีนในปีนี้ ในเด็กต่ำกว่า 18 ปียังไม่สามารถที่จะให้ได้ เพราะไม่มีการศึกษา ดังนั้น เมื่อตัดกลุ่มประชากรเด็กออกไปจะเป็นประชากรผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะได้รับวัคซีน ถึงแม้ประเทศจีนผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมาก จีนเองยังไม่คิดที่จะให้ถึง 50 หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร

ประการที่สี่ เพราะการให้วัคซีนในปัจจุบันเป็นวิธีการเสริมจากการป้องกันที่มีอยู่แล้ว ในการสวมหน้ากากอนามัยล้างมือและกำหนดระยะห่าง ซึ่งถ้าเราทำได้ดีการให้วัคซีนก็ไม่ถึงกับต้องเร่งรีบมากจนเกินไป รอการศึกษาให้ได้วัคซีนที่ปลอดภัยดีกว่า

ประการที่ห้า ในปีหน้าตลาดของวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เราก็สามารถที่จะเลือกซื้อได้ในตัวที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุด ดังนั้น ผมเชื่อว่าการประเมินที่ 26 ล้านโดสแรก น่าจะมีความเหมาะสม เพราะรอเวลาที่จะเลือกวัคซีนตัวที่ดีที่สุดและราคาเหมาะสมเข้ามาเสริมในระยะสุดท้าย ดีกว่าที่จะทุ่มเงินมัดจำไปทั้งหมดแล้วในที่สุดก็ไม่สามารถจะเลือกชนิดวัคซีนได้ โดยจะเสียเงินมัดจำไปโดยเปล่าประโยชน์ วัคซีนตัวแรกที่ออกมาไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวัคซีนที่ดีที่สุด

ประการที่หก สิ่งที่ได้อีกอย่างหนึ่งในการผลิตวัคซีนในประเทศไทย คือ การส่งต่อเทคโนโลยีต่างๆ (Transfer of technology) ในด้านการผลิตเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชีววัตถุซึ่งมีความสำคัญมากในอนาคต และขณะนี้มีบริษัทใหญ่ที่ทำได้ในประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นบริษัท สยามไบโอไซน์ และไบโอเนทเอเชียที่จะเป็นบริษัทเชิดหน้าชูตาของไทย ได้เท่านั้น บริษัทอื่นยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ

ประการที่เจ็ด วัคซีนที่ออกมาใหม่เมื่อถามประชาชนว่าต้องการฉีดหรือไม่ ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกามีคนที่ต้องการฉีดไม่ถึงครึ่ง ดูรายละเอียดได้จากผลโพลนี้ https://news.gallup.com/poll/325208/americans-willing-covid-vaccine.aspx

ประการที่แปด เนื่องจากกลัวภาวะแทรกซ้อนในการพัฒนาอย่างเร่งรีบ ประเทศไทยไม่ได้มีการระบาดอย่างรุนแรงอย่างในอเมริกาเสียด้วยซ้ำ การตัดสินใจสายกลางจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าที่จะไปผูกมัดจนเกินไป

ประการที่เก้า การให้วัคซีนเป็นจำนวนล้านล้านคนจะต้องใช้เวลานาน เป็นไปไม่ได้ที่จะฉีดวันละเป็นล้าน การบริหารวัคซีนต้องรอบคอบ ตั้งแต่โลจิสติกส์จนถึงการให้การลงทะเบียนทุกอย่าง เร่งไม่ได้และไม่สามารถบังคับว่าทุกคนต้องฉีด ถ้าเราเลือกวัคซีนไม่ดีแล้วไม่มีคนฉีด ความสูญเสียจะมากมายจากเงินลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งที่ประเทศไทยเราทำอยู่ในขณะนี้มีความเหมาะสม พอเพียง พอดี บนพื้นฐานของความประมาณตน โดยใช้ความรู้ และพึ่งพาตนเองได้ ตามรอยพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

ขอฝากให้คนไทยทุกคน แสวงหาความรู้ อย่าเชื่อข่าวลือหรือข่าวที่ไม่เป็นจริง และระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพของตนให้ดี ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกู ล้างมือ รักษาระยะห่างทางกายภาพ แล้วเราจะผ่านวิกฤตมหาโรคระบาดไปด้วยกัน”