'หมอยง' เชิญชวนคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปรับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเข็ม 4 เพื่อใช้ศึกษา โดยขอตรวจภูมิต้านทานก่อนฉีดและหลังฉีด

13 ก.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 การศึกษาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4” ระบุว่า ขณะนี้มีการระบาดของโควิด 19 อย่างมาก วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ทางศูนย์มีโครงการศึกษา ให้วัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 4 วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (วัคซีนไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ขนาดครึ่งโดส)

โดยผู้ที่จะฉีดเข็ม 4 เคยได้รับวัคซีน 3 เข็มแรกมาแล้ว ดังนี้
>> Sinovac + Sinovac + AstraZeneca
>> Sinovac + Sinovac + Pfizer
>> Sinovac + Sinovac + Moderna
>> Sinovac + AstraZeneca + AstraZeneca
>> Sinovac + AstraZeneca + Pfizer
>> Sinovac + AstraZeneca + Moderna
>> AstraZeneca + AstraZeneca + AstraZeneca

โดยในการศึกษานี้ จะขอตรวจภูมิต้านทานก่อนรับวัคซีน และหลังการฉีดวัคซีน 1 เดือน อีก 1 ครั้ง เพื่อดูการตอบสนองของภูมิต้านทานต่อโควิด-19 โครงการวิจัยนี้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัยในมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ที่สนใจจะมารับการฉีดวัคซีน มีคุณสมบัติดังนี้
- ได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็ม
- อายุ 18 ปีขึ้นไป
- สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี
- ไม่มีโรคประจำตัว
- ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน
- ยินดีให้ตรวจเลือดวัดภูมิต้านทานก่อนการฉีดวัคซีนครั้งที่ 1 และ และหลังการฉีดวัคซีน 1 เดือน อีก 1 ครั้ง
และผลของภูมิต้านทานจะแจ้งให้ทราบ
- ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 4 ) และการฉีดวัคซีนจะเริ่มในสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นต้นไป

โดยการกรอกกูเกิลฟอร์ม https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScacafzWGh75BdxFOmo6OIJLF8MoVNrrqt1MpQItyJ7RdRdrQ/viewform

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/179985/

 

3 พ.ค.2565- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan หัวข้อ โควิด 19 วัคซีน วัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 มีความจำเป็นไหม ว่าการได้รับวัคซีนครบ หมายถึงการได้รับวัคซีนเบื้องต้น 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้นเข็มที่ 3 จึงจะเรียกว่าการได้รับวัคซีนครบ จำเป็นต้องมีการให้เบื้องต้นและกระตุ้น

การกระตุ้นเพิ่มอีก 1 ครั้ง เป็นการกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่าวัคซีนเข็มที่ 4 มีความจำเป็นในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยเฉพาะบุคคลที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และหรือมีโรคประจำตัว รวมทั้งที่เราเรียกว่า 608 นั่นเอง

 
 

ในกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่นโรคไต โรคมะเร็ง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานที่ทำให้ฉีดวัคซีนแล้วการตอบสนองได้ไม่ดี กลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้เข็ม 4

ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสผู้ป่วยสูงเช่นบุคลากรทางการแพทย์ ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีน 4.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/134506/

'หมอยง' ย้ำเชิญชวนอาสาสมัครฉีดเข็ม 3 โคโวแวก หวังเป็นการศึกษาเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนไทยที่กลัวเข็ม 3 แบบ mRNA

11 พ.ค.2565 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โควิด 19 วัคซีน ชนิดโปรตีนซับยูนิต (protein subunit) โคโวแวก (Covovax) เหมือน Novavax

 
 

ข้อมูลการฉีดวัคซีน โปรตีนซับยูนิต (protein subunit) โคโวแวก (Covovax) หรือ Novavax ในการใช้เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 สำหรับสูตรที่ฉีด 2 เข็มแรกในประเทศไทย ยังมีจำกัดมาก ดังนั้นขณะนี้มีวัคซีน โคโวแวก (Covovax) เริ่มเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา ข้อมูลโดยเฉพาะการกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบกับการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแม็กซีนที่มีอยู่ในอดีต

โคโวแวก (Covovax) เป็นวัคซีนชนิด protein subunit ที่ใช้สารกระตุ้นภูมิต้านทาน Matrix M adjuvant เข้ามาเสริม เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานทั้งในระบบ T และ B เซลล์

ยังมีประชากรไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้กระตุ้นเข็ม 3 และมีความลังเลใจที่จะฉีดวัคซีน mRNA ทางศูนย์กำลังรับอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทยมาแล้ว 2 เข็ม อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อมากระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Covovax และจะขอตรวจภูมิต้านทาน ทั้งระบบ T และ B เซลล์ รวมทั้งตรวจภูมิที่จำเพาะต่อสายพันธุ์โอมิครอน

เชิญผู้ที่สนใจกรอกสมัครในแบบฟอร์ม ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSflrgOWdk9Afgwm6wheHTLmrN6r6qFkEHGpDuwRITUtNeO2jQ/viewform

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/139155/

13 ก.ค.64 - เวลา 13.30น. ที่กระทรวง​สาธารณสุข​ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ​ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวถึงวัคซีนปป้องกันไวรัสโควิด-19 ว่า ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 หลังจากนั้นเราก็รณรงค์​การฉีดวัคซีนกันเรื่อยมา วันนี้เรายังฉีดวัคซีนไม่ถึง 13 ล้านโดส เนื่องจากปริมาณ​วัคซีน​มีจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารวัคซีนให้ไเ้ประโยชน์​สูงสุด โดยการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีน​ในประเทศไทยจึงมีความจำเป็น ระยะแรกวัคซีนทุกบริษัท​ผลิตมาจากต้นแบบสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาที่มีต้นกำเนิดมาจากอู่ฮั่น​ ซึ่งการผลิตออกมาได้ใช้​เวลาร่วม 1 ปี แต่ในระยะเวลา 1 ปีไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง มีการกลายพันธุ์​เพื่อหนีออกจากระบบภูมิต้านทานของเรา จึงเห็นว่าบริษัทไหนก็ตามแต่ที่ผลิตวัคซีนได้ก่อน การศึกษาในประสิทธิภาพ​วัคซีนด็จะได้สูง แต่ถ้าบริษัทไหนที่ใช้สายพันธุ์​เดิม แล้วมาศึกษาวิจัยในระยะหลังๆ ประสิทธิภาพ​วัคซีนจะเริ่มต่ำลง

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ในประเทศไทยเมื่อมีข้อจำกัดเรื่องวัคซีนที่ใช้ในขณะนี้ เราใช้วัคซีนรูปแบบเชื้อตาย กับรูปแบบไวรัสเวกเตอร์ โดยวัคซีนเชื้อตายเป็นของซิโนแวค ส่วนไวรัสเวกเตอร์ คือแอสตร้า​เซน​เน​ก้า​ ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 รูปแบบต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยไวรัสเชื้อตายจะทำมาโดยวิธีโบราณ ที่ทำมากว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งเพาะเลี้ยงไวรัสบนเซลล์เพาะเลี้ยง เช่นเดียวกับ โปลิโอ เชื้อพิษสุนัขบ้า​แล้วมาฆ่าทำลายด้วยสารเคมี หลังจากนั้นทำให้บริสุทธิ์​ แล้วจึงมาทำในรูปแบบวัคซีนโดยใส่ตัวเร่งภูมิต้านทานที่เรียกว่า เกลืออลูมิเนียม​ ส่วนไวรัสเวกเตอร์​เป็นเทคโนโลยี​ใหม่ที่ใช้ดีเอ็นเอที่มีรหัสพันธุกรรม​ แปลโค๊ด​เดียวกันกับพันธุกรรม​ส่วนของโปรตีนโคโรนาไวรัส ใส่เข้าไปในเอนเทอโรไวรัสของลิงชิมแปนซี​ โดยเหตุผลที่ใช้ลิงชิมแปนซี เพราะว่าไม่อยากใช้ Human Antino ไวรัส เนื่องจากถ้ามนุษย์เรามีภูมิต้านทานต่อ Human Antino ไวรัส เมื่อฉีดเข้าไป ภูมิต้านทานจะทำลายตัว Antino ไวรัสตัวนั้น ถ้าใช้ชิมแปนซี โอกาสที่จะถูกทำลายมีน้อย ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วไวรัสตัวดังกล่าวก็จะติดเชื้อในร่างกายเรา แต่แพร่ออกจำนวนไม่ได้ เรียกได้ว่าไวรัสถูกทำหมั้นไปแล้วเรียบร้อย

"เปรียบเสมือนว่า ถ้าเราฉีดไวรัสของชิมแปนซี เราก็เป็นไข้หวัดชิมแปนซี แน่นอนมีอาการปวดเมื่อย มีอาการไข้บ้าง แต่ไวรัสตัวนี้ไม่สามารถแพร่พันธุ์​ได้ เจริญเติบโตไม่ได้ ก่อโรครุนแรงไม่ได้ และไปแพร่สู่คนอื่นก็ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน​ก็จะสร้างโปรตีนในส่วนที่เรียกว่าคล้ายกับโคโรนาไวรัสที่เราใส่เข้าไป กระตุ้นให้ร่างกายเราสร้างภูมิ​ต้านทาน ​ไวรัสเวกเตอร์นี้จะบอกว่าเป็นวัคซีนใหม่ก็ไม่​ใช่ ในกลุ่มวัคซีนเวกเตอร์​ที่มีการใช้ในมนุษย์​มาก่อนคือวัคซีน​อีโบลา​ที่ใช้มากว่า 5 ปี จึงเห็นว่าตัวนี้ไม่ใช่ตัวแรก" ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า แต่เดิมจะเห็นได้ว่าวัคซีน​ชนิดเชื้อตาย การกระตุ้นภูมิต้านทาน​จริงๆได้น้อยกว่า การกระตุ้นภูมิต้านทาน​ของไวรัสเวกเตอร์ เพราะถึงแม้ไวรัสเวกเตอร์​จะไม่สามารถ​แพร่พันธุ์​ได้ แต่จะต้องมีการให้ติดเชื้อ​ในเซลล์​ก่อน จึงสามารถกระตุ้น​ภูมิต้านทาน​โดยก่อกำเนิดมาจากเซลล์​ของเรา สร้างโปรตีนที่เป็นแอนติเจนมากระตุ้นภูมิต้านทาน ซึ่งภูมิต้านทานที่ได้มาจากไวรัสเวกเตอร์ จึงสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากเชื้อตาย เดิมทีวัคซีนซิโนแวคต้องยอมรับว่าการกระตุ้นภูมิต้านทาน​สูงเท่าเทียม หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากคนที่หายป่วยแล้ว เพราะฉะนั้นภูมิต้านคนที่ป่วยสูงขนาดนี้ เมื่อฉีดวัคซีน​เชื้อตายเข้าไปจึงมีภูมิต้านทานสูงกว่าหรือเท่าเทียม จึงสามารถป้องกันโรคได้ แต่ตอนเริ่มต้นเมื่อใช้วัคซีน​ชนิดนี้ไป การป้องกันโรคก็จะสูง แต่อย่าลืมว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา จึงต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ทำให้สามารถหลบหลีกวัคซีนเชื้อตายที่ต่ำกว่าได้ง่ายกว่า

ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติม​ว่า ปัจจุบันนี้การศึกษาของเราทำให้รู้ว่าเมื่อให้ครบ 2 เข็มของวัคซีนเชื้อตายนี้แล้วภูมิต้านทานได้เท่ากับคนที่หายจากโรคโดยเฉพาะหายจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม แต่เมื่อมาติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ไม่ว่า อัลฟ่าหรือเดลต้า มันต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้นจึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีน ลดลงและลดลงทุกตัว ของวัคซีนที่ผลิตมาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่เนื่องจากวัคซีนบางตัวมีภูมิต้านทานที่สูงกว่า เมื่อลดลงแล้วก็ยังพอที่จะป้องกันได้ เพราฉะนั้นในทางปฏิบัติ​จึงต้องพิจารณา​ดูว่า ถ้าเราฉีดวัคซีนแอสต​ร้า​ฯ 2 เข็ม ห่างกัน 10 สัปดาห์​ เรารู้ว่าถ้าฉีดไวรัส​เวกเตอร์​ 2 เข็ม ห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์​ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นสูงไม่ดี เท่ากับที่ห่างกันเกินกว่า 6 สัปดาห์​ ยิ่งห่างนานเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งแต่เดิมคิดว่าไวรัสเวกเตอร์ หรือแอนตร้าฯเข็มเดียว ก็เพียงพอที่สามารถป้องกันไวรัสสายพัน​ธุ์อู่เดิมได้ แต่พอมาเจอไวรัสเดลต้าเข้า วัคซีนแอสตร้าฯเข็มเดียว ไม่สามารถป้องกันได้ แต่กว่าจะรอใช้เวลากว่า 10 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น จึงสามารถป้องกันได้ จึงเป็นที่มาของการหาจุดสมดุลว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน​เกิดขึ้นเร็วที่สุด ในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม​ไปมาก

"เรารู้ว่าถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแ​วค​ 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงไม่พอที่จะป้องกันไวรัสที่มีการกลายพันธุ์มาถึงเดลต้าแล้ว แต่ในขณะเดียวกันแอตร้าฯเข็มเดียวก็ไม่เพียงพอป้องกันไวรัสเดลต้า กว่าจะรอ 2 เข็มก็ช้าไป จีงเป็นที่มาของการทำการศึกษาว่า ถ้าเช่นนั้นเราจึงฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อนค่อยตามด้วยไวรัสเวกเตอร์​ ซึ่งการฉีดไวรัสเชื้อตายก่อนเปรียบเสมือนทำให้ร่างกายเราติดเชื้อ แล้วไปสอนนักรบ หรือสอนหน่วยความจำของร่างกายไว้ หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์​ค่อยไปกระตุ้นด้วยวัคซีนที่เป็นไวรัสเวกเตอร์ที่มีอำนาจในการกระตุ้น​เซลล์​ของร่างกายมากกว่า ผลปรากฎ​ว่าผลกระตุ้นสูงกว่า และเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้ ถึงแม้จะกระตุ้นได้ไม่เท่า แอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ก็จะให้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลาแค่ 6 สัปดาห์"ศ.นพ.ยง ระบุ

ศ.นพ.ยง ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้คนไข้เรามากกว่า 40 คนที่เราได้ติดตามมา จะเห็นได้ว่ากลุ่มก้อนแรกถ้าเราฉีดซิ​โน​แวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะสูงเท่ากับคนไข้ที่หายแล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นสายพันธุ์​เดลต้า จึงทำให้ภูมิในขณะนี้ป้องกันไม่ได้ แต่ถ้าเราฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มแล้ววัดภูมิต้านทานอีก 1 เดือนหลังจากนั้น แสดงว่าห่างกัน 10 สัปดาห์​ แล้ววัดที่ 14 สัปดาห์​ ภูมิต้านทาน​จะสูงเพียงพอ หรือพอสมควรป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์​ได้ แต่เราต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์​จึงทำ​ให้​ภูมิสูงขนาดนั้น แต่ถ้าเรามาฉีดวัคซีน 2 เข็มที่สลับกัน โดยวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค แล้วเข็มสอง เป็นแอสตร้าฯ จะเห็นได้ว่าภูมิต้านทานขึ้นมาใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ถึงแม้จะน้อยกว่ากันนิดเดียวโดยฉีดแอสตร้า 2 เข็มภูมิต้านทานอยู่ที่ 900 แต่ถ้าฉีดสลับกันเหมือนที่กล่าวข้างต้นภูมิต้านทานอยู่ที่ 800 ซึ่งเปรียบเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 100 แต่ถ้าการติดเชื้อในธรรมชาติจะอยู่ระหว่าง 70-80 ถ้าเป็นแบบนี้ไวรัสที่กลายพันธุ์​ก็มีโอกาสป้องกันได้มีมากกว่า แล้วผลสัมฤทธิ์​ในระดับภูมิต้านของร่างกายให้สูงขึ้นใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์  เพราะฉะนั้นในสถานการณ์​ในการระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรุนแรง เรารอเวลา 12 สัปดาห์ไม่ได้ การที่ต้องการให้ภูมิสูงขึ้นเร็ว การฉีดวัคซีนสลับเข็มเรามีภูมิที่สูงใกล้เคียงกับวัคซีนที่ใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์​ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ณ เวลานี้

"แต่ในอนาคตถ้ามีวัคซีนอื่นที่ดีกว่า พัฒนาที่ดีกว่า เราค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรือไวรัสกลายพันธุ์​ไปมากกว่านี้ก็อาจจะมีวัคซีนที่จำเพาะเจาะจงกับสายพันธุ์​นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการฉีดทุกปี เพราะฉะนั้นเวลาทุกวันของเรามีค่ามากในการต่อสู้กับโรคร้าย จึงขอ​สนับสนุนให้เห็นว่าข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษามาจะเป็นประโยชน์ในการใช้จริง"ศ.นพ.ยง กล่าว

เมื่อถามว่า เชื้อกลายพันธุ์​ในขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร และมีผลต่อการฉีดวัคซีนในไทยหรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เราได้ทดสอบการ Blocking antibody จะเห็นได้ว่าการเปรียบเทียบซิโนแวค 2 เข็มกับซิโนแวคบวกกับแอตร้าฯที่สลับกันแล้ว เปอร์เซ็นต์​การขัดขวางตัวไวรัส ขึ้นไปได้ถึงสูงทีเดียว แต่ทั้งนี้ความปลอดภัยต้องมาก่อน

จากการศึกษาเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น มีการฉีดวัคซีน​สลับกันแบบนี้ในประเทศไทยมากกว่า 1,200 คนแล้ว ที่ฉีดมากที่สุดคือ รพ.จุฬาลงกรณ์​โดยที่ถูกลงบันทึกในแอพฯหมอพร้อม โดยให้บันทึกอาการข้างเคียงลงไป ปรากฏว่าไม่มีใครในจำนวนนี้มีอาการข้างเคียงรุนแรง เพราะฉะนั้นจึงยืนยันว่าการให้วัคซีนที่สลับกันมีความปลอดภัยในชีวิตจริง ส่วนการศึกษาของเราจะมีการนำออกมาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ผู้ปฏิบัติสบายใจว่า เราไม่ได้มีการฉีดสลับเป็นคนแรก

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/109562

 

24 เม.ย.64 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ดังนี้

โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย แพร่กระจายและติดต่อได้ง่าย

 

ดังที่ได้เคยเรียนมาแล้ว สายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจาย ได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็ในประเทศอังกฤษ ในเดือนธันวาคม ทำให้ระบบการแพทย์ของอังกฤษ แทบล้มเหลว

สายพันธุ์เดิม  สมมุติว่าต้องรับเชื้อ 100 ตัว จึงจะติด และเกิดโรคได้

สายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์อังกฤษ การรับเชื้ออาจจะเหลือแค่ 50 ตัว ก็สามารถติดและเกิดโรคได้

สายพันธุ์นี้เกาะติดกับเซลล์ของเราได้ดีกว่า สายพันธุ์เดิม จึงแพร่กระจายได้ง่ายอย่างที่เห็น

มาตรการที่ใช้ในการป้องกันต้องมากกว่า สายพันธุ์เดิม

การระบาดในวงจรแรก จะอยู่ในสถานบันเทิง และจะอยู่ในตัวเมืองใหญ่

การแพร่กระจาย จะออกนอกตัวเมืองใหญ่ ไปยังตัวเมืองต่างจังหวัด ในวงจรต่อๆไป

และจากต่างจังหวัดในตัวเมือง ก็จะเริ่มออกสู่อำเภอ และตำบล และจะลงสู่หมู่บ้าน

เราเห็นตัวอย่างได้จากหลายประเทศ เริ่มจากเมืองใหญ่ก่อน

การหยุดการเคลื่อนที่ของประชาชน เป็นหนึ่งในวิธี ของการหยุดการแพร่กระจาย

ช่วงสงกรานต์ เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนที่ของประชาชนมากที่สุด

การควบคุมต่อไปนี้ จะต้องใช้วิธีการที่มากขึ้น จึงจะควบคุมโรคได้

การตรวจผู้สงสัยจะต้องตรวจเชิงรุก ทุกรายที่ตรวจให้ผลบวก จะต้องเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม หรือโรงแรมที่กำหนด 

ผู้ป่วยที่มีอาการมากเท่านั้น จึงจะรับการรักษาไว้ในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลทุกแห่ง ควรเพิ่มอัตราการตรวจให้เพิ่มขึ้น และทางฝ่ายรัฐ จะต้องเป็นผู้ดูแล ผู้ที่ตรวจให้ผลบวกทั้งหมด และจัดสรร ผู้ที่มีอาการมาก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

ถ้าให้โรงพยาบาลที่ตรวจพบ เป็นผู้จัดการผู้ป่วยเอง เพราะเมื่อจัดการไม่ได้ ก็จะงดการตรวจ หรือจำกัดการตรวจ

ฝ่ายรัฐควรควบคุมค่าตรวจ ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ในมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ 

และให้ห้องปฏิบัติการ ทุกคนช่วยกันตรวจให้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากประชากรให้ได้มากที่สุด

ความสามารถในการตรวจของประเทศไทยสูงมาก แต่ขณะนี้ผู้ต้องสงสัยหาที่ตรวจได้ยาก เพราะบางโรงพยาบาลจะจำกัดจำนวนการตรวจแต่ละวัน หรืองดการตรวจ ว่าน้ำยาหมด

ตัวอย่างที่เราเห็นคือประเทศอินเดีย ที่ขณะนี้ยากเกินกว่าที่จะควบคุมโรคนี้ได้

เมื่อเกิดการระบาดมาก ก็มันจะเกิดเชื้อที่กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น 

ในอินเดียมีเชื้อกลายพันธุ์ที่เรียกว่า  Double mutations สายพันธุ์อินเดีย  ที่ทำให้ติดได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้มที่จะลดประสิทธิภาพของวัคซีน เป็นสายพันธุ์ที่จะท้าทายความสามารถของมนุษย์

ประเทศอินเดียอยู่ไม่ไกลจากเรา 

และทำนองเดียวกัน ถ้าเรามีผู้ป่วยหรือระบาดจำนวนมาก ก็จะมีการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ เราไม่อยากได้ยิน ชื่อไวรัส สายพันธุ์ประเทศไทย

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/100514

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ