Font Size

สถานการณ์โควิดอาจกำลังกลับมาเขย่าโลกอีกครั้ง กับการแพร่เชื้อสายพันธุ์ 'โอไมครอน' ที่เริ่มพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ระดับน่ากังวล (Variants of Concern: VOC) โดยข้อมูลทางการแพทย์ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า  ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์จึงจะระบุได้ว่าไวรัสโอไมครอนจะดื้อต่อวัคซีนโควิดที่มีการผลิตในปัจจุบันหรือไม่ จนทำให้หลายประเทศตื่นตระหนกว่า สุดท้ายแล้ววัคซีนที่มีอยู่ในทางการแพทย์ และมาตราการต่างๆ ในการป้องกันและสกัดการแพร่โควิด จะรับมือโอไมครอนได้หรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประเทศในเอเชีย-อาเซียน โดยทางการสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินเดีย และศรีลังกา ประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนเป็นครั้งแรกในประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียหวั่นไวรัสแพร่ระบาดในชุมชน หลังพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีประวัติเคยเดินทาง

มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า ถึงปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศแล้วที่รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน รวมถึงอินเดีย ซึ่งเคยเผชิญการระบาดอย่างรุนแรงของสายพันธุ์เดลตาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เผยเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีว่า พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนครั้งแรกในประเทศ เป็นชาย 2 คนในรัฐกรณาฏกะทางภาคใต้ ด้านศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) กล่าวเตือนในแถลงการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนอาจมีมากเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อในยุโรปภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่ในประเทศไทย ที่มีการเปิดประเทศมาได้เดือนเศษ และรัฐบาล-ศบค. ก็คลายล็อกดาวน์หลายอย่างแล้ว หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยลดลงจากที่เคยวิกฤตสุดๆ กว่า 20,000 คน ตอนนี้เหลืออยู่ที่ประมาณเฉลี่ยตัวเลขอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 คน โดยที่การฉีดวัคซีน ถึงขณะนี้เชื่อได้ว่าตัวเลขที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ที่รวมหมดตั้งแต่เข็มหนึ่งจนถึงเข็มสี่ ยังไงยอดทะลุเกินแน่นอน เพราะอย่างเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตัวเลขสะสมการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 94,280,248 โดส และเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ก็ทำให้ระบบการดูแลรักษาก็ไม่วิกฤตเหมือนก่อนหน้านี้ จำนวนเตียงในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น, ยา-เวชภัณฑ์ที่ใช้ก็มีสำรองมากขึ้น-วัคซีนก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า ที่จะมีจนล้นจำนวนประชากร 

ทั้งหมดคือสัญญาณที่ทำให้คนไทยมีความหวัง ในการได้กลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แม้อาจไม่เหมือนเดิม ยิ่งช่วงนี้ ที่ใกล้ถึงช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้คนไทยก็ไม่อยากตื่นตระหนกเจอข่าวร้ายสิ้นปี หากพบการติดเชื้อโอไมครอน ในประเทศไทย เพราะหากเจอคงทำให้คนในสังคมบางส่วนกังวลไม่น้อย โดยเฉพาะ "กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด" ทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและผลกระทบในการดำเนินชีวิต ที่ทำเอาหลายครอบครัวล้มทั้งยืนมาแล้ว ต่างไม่อยากกลับไปเผชิญหน้ากับฝันร้ายดังกล่าวอีกครั้ง

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศบค. จะต้องดำเนินการในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิดโอไมครอน อย่างสุดความสามารถ โดยหากพบว่าสถานการณ์อาจทำท่าไม่ดี ก็จะต้องรีบตัดสินใจโดยเด็ดขาดในการป้องกันและสกัดกั้น แม้บุคลากรทางการแพทย์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะบอกให้คนไทยทำใจไว้ว่า สุดท้าย ประเทศไทยก็จะหนีโอไมครอนไม่พ้น เพียงแต่ยืดเวลาให้ช้าที่สุด เพื่อความเตรียมพร้อม

อย่างไรก็ตาม จะดีกว่าแน่นอน หากประเทศไทยสามารถสกัดกั้นโควิดโอไมครอนไม่ให้เข้ามาได้หรือเข้ามา แต่ต้องไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง จนสุดท้าย ต้องมาออกมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศกันอีก เพราะที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจ-สาธารณสุขบอบช้ำเสียหายมาเยอะแล้ว

การรับมือกับโควิดโอไมครอน รอบนี้ จึงเป็นเดิมพันสำคัญที่พลเอกประยุทธ์และ ศบค. พลาดไม่ได้.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/dominate-the-situation-news/38770/