Font Size

“คุ้งบางกะเจ้า”
เปลี่ยนสีดำเป็นสีเหลือง
เปลี่ยนความโศกเศร้า เป็นพลังที่มุ่งมั่น
เพื่อบอกต่อความดีงามของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อชาวโลก

เรื่องนี้ยาว แต่ถ้าคุณปล่อยผ่านไป คุณจะเสียใจที่ไม่ได้อ่านเรื่องราวที่อาจเรียกน้ำตาจากความปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด

ผมโพสต์เรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ติดต่อมาหลายวัน หลายตอน วันนี้มีน้องที่เป็นแฟนเพจของผม ที่ใช้ชื่อว่า “มาดามอันนาเบล แห่งเทือกเขามองบลังค์” ได้เล่าประสบการณ์ที่สุดแสนประทับใจลงในคอมเมนท์ ผมเลยขออนุญาตเอามาขยายความเพื่อบอกต่อชาวไทยทุกคน

............................................................................
2 เดือน หลังจากที่ในหลวงร.9 เสด็จสวรรคต เป็นช่วงเวลาที่หนูทำงานที่โรงแรม5ดาวแห่งหนึ่งย่านสาทร ที่มองจากร้านอาหารบน Rooftop ลงไป จะเห็นคุ้งบางกะเจ้าชัดเจนมาก

ในขณะหนูกำลังทำงาน มีแขกต่างชาติ 3 ท่าน มายืนข้างๆ เพื่อเกาะระเบียงชมวิว 360 องศา

แขกต่างชาติ ถามหนูว่า เธอจะติดโบว์ไว้ทุกข์ไปอีกนานเท่าไหร่
(หนูติดโบว์ดำเล็กๆไว้บนชุดยูนิฟอร์ม)
หนูตอบว่า อาจจะซักปีนึงมั้งคะ

แขกท่านก็บอกว่า ต่อให้เธอไม่ติดโบว์ ไอก็รู้ว่าโบว์ดำจะอยู่บนหน้าอกยูไปตลอดกาลแน่ๆ "เพราะมันเป็นภาพจำของคนทั้งโลก"

ดังนั้น ไอแนะนำว่า ยูควรเอาโบว์ดำ ออกไปจากใจให้ได้นะ ไม่งั้นยูจะแอบร้องไห้ไปแบบนี้ตลอด อยากให้เปลี่ยนเป็นโบว์เหลืองแทนจะได้มั้ย

"เพราะคิงของยู มีภาพสีเหลืองให้จำใช่มั้ย มันคือสีแห่งความสว่างสไว"

แขกท่านตบบ่าหนูเบาๆ เพราะหนูเริ่มมีน้ำตา(อีกแล้ว)​

ท่านชี้ไปที่บางกะเจ้า แล้วบอกว่า ตรงนี้คือพื้นที่ๆในหลวงทำให้เป็นสีเขียว เป็นโครงการราชดำริของคิงยูใช่มั้ย?

หนูสะอื้นมากกว่าเดิม เพราะ!!! หนูไม่เคยรู้เลย

ว่าบางกะเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการราชดำริ ที่ในหลวงอยากให้เป็นปอดของคนกรุงเทพ

แขกเลยบอกว่า...
" ยูเปลี่ยนความเสียใจ มาเป็นความมุ่งมั่นสิ มุ่งมั่นทำงาน และระลึกถึงในหลวง ด้วยการบอกต่อความดีของพระองค์

ขนาดชั้นเป็นชาวต่างชาติ ชั้นยังเล่าได้เลย คนไทยอย่างยูต้องเล่าได้ดีกว่าแน่นอน อย่างน้อยยูก็ควรเริ่มเล่าให้แขกชาวจีน ที่กำลังเดินมาตรงนี้ฟังได้ ลองดูเลยสิ"

หลังจากวันนั้น
ทุกครั้งที่มีแขกไปยืนมองที่นั่น และกำลังสงสัยว่า เกาะตรงนั้นมันคือป่าหรืออะไร หนูที่กำลังแบกถาดหนักๆหรือกำลังทำงานกึ่งวิ่งก็จะพยายามแว๊บมาโฉบแขก เพื่อจะคอยอธิบายเสมอ ว่ามันคืออะไร และแนะนำให้คนต่างชาติไปปั่นจักรยานเล่นที่นั่น

และหนูจะเล่าเรื่องในหลวงให้คนอื่นฟังไปแบบนี้ ตลอดไปค่ะ

............................................................................
ขนาดคนต่างชาติยังรู้เรื่องพระราชกรณียกิจที่ช่วยพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนเลย

พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังไปไกลทั่วโลก

แต่ทำไมมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเลย ใจพวกเขาชั่งบอดสนิทเสียนี้กระไร

............................................................................
เชื่อว่าคนไทยหลายคนไม่รู้จักว่า
คุ้งบางกะเจ้า คืออะไร? อยู่ที่ไหน?

ผมไปหาข้อมูลมาฝาก!

และที่คือคำตอบที่คุณคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพเองก็อาจไม่เคยรู้ว่า...

นิตยสาร ไทม์เอเชีย ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้า “เป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย”

............................................................................
ในช่วงปี 2525-2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับเฮลิคอปเตอร์ผ่านพื้นที่บางกระเจ้าอยู่เป็นประจำ และทรงมีพระราชดำริว่า ควรสงวนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและคงความเป็นปอดของคนเมืองไว้

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้จัดซื้อสวนรกร้างในคุ้งบางกะเจ้า 1,276 ไร่นำมาฟื้นฟู

โดยในปี 2546 ได้กันพื้นที่จำนวน 148 ไร่สร้างเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ และได้รับพระราชทานชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” ซึ่งมาจากชื่อเมืองโบราณในอดีต ปัจจุบันดูแลโดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้

จากนั้นในปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมสวนและชุมชนในคุ้งบางกะเจ้า มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“ให้ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเอาไว้ อย่าให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเกษตรและป่าผสมผสาน การซ่อมแซมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์

ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันวางแผนให้เอื้อประโยชน์เท่าที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยว และการศึกษาของเยาวชนคล้ายห้องเรียนธรรมชาติ”

คุ้งบางกระเจ้าจึงอยู่เป็นปอดของเมืองกรุงมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้

............................................................................
บางกะเจ้า หรือที่เรียกกันว่า กระเพาะหมู เป็นเกาะเทียมที่เกิดจากคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีคลองลัดโพธิ์เชื่อมแม่น้ำทางทิศตะวันตก

บางกะเจ้าตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกาะนี้ครอบคลุมพื้นที่ 16 กม² ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประชากรอาศัยไม่หนาแน่น

ในบางครั้งได้รับการขนานนามว่า "ปอดสีเขียว" ของกรุงเทพ

ปี พ.ศ. 2549 นิตยสาร ไทม์เอเชีย ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้า “เป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย” (best urban oasis)

............................................................................
คำว่า กะเจ้า มีความหมายว่า นกยาง หรือ นกกระยาง น่าจะมาจากเมื่อก่อนมีนกกระยางอาศัยอยู่บริเวณนี้จำนวนมาก

ราวปี พ.ศ. 1400 มีการตั้งเมืองพระประแดงบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านให้กับอาณาจักรละโว้

และมีการเอ่ยถึงบางผึ้งในกำสรวลสมุทรในบทที่ 71 ซึ่งเป็นวรรณคดีอยุธยายุคต้น โดยกล่าวถึงบริเวณวัดบางผึ้งเหนือ คลองลัดโพธิ์ พบหลักฐานว่ามีการสร้างวัดกองแก้ว โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2243

จนเมื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้ง ณ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อมาปี พ.ศ. 2329 องเชียงสือซึ่งเป็นหลานของกษัตริย์ญวน ที่ได้หนีภัยการเมืองเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 เห็นว่าหมดภัยทางบ้านเกิดเมืองนอน

แต่จะทูลลากลับก็เกรงพระทัย จึงหนีลงเรือหนีไปทางปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงทราบ ทรงยกกองเรือตามไปแต่ไม่ทันกัน ทรงกริ้วมาก

ทรงเห็นว่า องเชียงสือรู้ความตื้นลึกหนาบางของไทยเป็นอย่างดี จึงโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ลงสำรวจพื้นที่สร้างเมืองใหม่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าบริเวณ "ลัดโพธิ์" มีชัยภูมิที่ดี

จากนั้นได้สร้างป้อมค่ายหนึ่งป้อมชื่อ "ป้อมวิทยาคม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับสั่งให้สร้างเมืองบริเวณปากลัด แต่ยังไม่สำเร็จเพราะเกิดศึกกับพม่าก่อน

แต่มีการถมคลองลัดโพธิ์ให้แคบเพื่อป้องกันการโจมตีจากทะเล อีกทั้งอาจทำให้น้ำเค็มจากปากน้ำไหลมาถึงกรุงเทพได้เร็วขึ้น

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้โปรดให้ตั้งเมืองใหม่ชื่อ "เมืองนครเขื่อนขันธ์" โปรดให้เกณฑ์ชาวมอญจากเมืองปทุมธานี 300 คน ย้ายครัวมอญมาอยู่ที่เมืองนี้ ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนี้

ซึ่งชื่อ”เมืองนครเขื่อนขันธ์” ที่รัชกาลที่ 2 ตั้งขึ้นมานี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานให้กับโครงการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวสำหรับชาวกรุงเทพในชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์”

............................................................................
“เปลี่ยนความเสียใจ มาเป็นความมุ่งมั่นสิ”

“มุ่งมั่นทำงาน และระลึกถึงในหลวง ด้วยการบอกต่อความดีของพระองค์”

“ขนาดชั้นเป็นชาวต่างชาติ ชั้นยังเล่าได้เลย คนไทยอย่างยูต้องเล่าได้ดีกว่าแน่นอน”

............................................................................
ขนาดคนต่างชาติยังรู้เรื่องพระราชกรณียกิจที่ช่วยพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนเลย

พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังไปไกลทั่วโลก

แต่ทำไมมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเลย ใจพวกเขาชั่งบอดสนิทเสียนี้กระไร

............................................................................
ถ้าชอบบทความนี้ ช่วยกันแชร์ให้ถึงคนไทยทุกคน เพื่อช่วยกันสืบสานงานของในหลวง และช่วยกันเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายของในหลวง ร.9 ต่อชาวไทยและชาวโลกครับ

............................................................................
ที่มา : วิกิพีเดีย และ เว็บไซต์ Rabbit Finance
และขอขอบคุณเรื่องราวจากประสบการณ์สุดวิเศษของ ผู้ที่ใช้ชื่อใน Facebook ว่า “มาดามอันนาเบล แห่งเทือกเขามองบลังค์”

อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง