Font Size

โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

วิเคราะห์สถานการณ์โควิดล่าสุด : ฉบับรวบรัด

1. ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ระบาดซ้ำ โดยที่การ
ระบาดซ้ำครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว แรง และกระจายเร็ว หาต้นตอลำบาก

ทำให้ภาพรวมดูรุนแรงกว่าระลอกแรก ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์การระบาดของทั่วโลกที่เจอมาก่อน

2. ระบาดซ้ำครั้งนี้ต่างจากระลอกแรก เพราะไม่ใช่แค่มีกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบครั้งแรกที่เห็นในผับบาร์หรือสนามมวย แต่รอบนี้มีมากมายหลายกลุ่ม (multiple clusters)
และแต่ละกลุ่มแพร่กระจายวงกว้าง เป็น multiple superspreading events ทำให้เปลี่ยนจากเดิมที่เห็นกลุ่มเสี่ยงชัดเจน แต่ตอนนี้คือ แพร่กระจายไปทั่ว และทำให้ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง (Everyone is at risk)

โดยเสี่ยงทั้งที่จะติดเชื้อจากการดำรงชีวิตประจำวันในสังคม (Risk to get infected) และเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นมีเชื้อไวรัสอยู่ (Risk to spread)

3. ปัญหาของระบบตรวจและรายงานการติดเชื้อที่ตอบสนองต่อการระบาดได้ไม่ดีนัก การรายงานนั้นดูจะไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ส่งผลต่อการรับรู้ ความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับการระบาดได้

4. ระบบบริการตรวจโควิดของประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการยามที่เกิดโรคระบาดซ้ำ

ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์การระบาดนั้นกระจายเร็ว และมากเกินกว่าที่ระบบการติดตามสอบสวนโรคจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการได้ประวัติ การทราบตัวบุคคลที่สัมผัสความเสี่ยงอย่างครบถ้วน และการได้ข้อมูลละเอียดให้ทันเวลา เราจึงเห็นการประกาศสู่สาธารณะให้คนประเมินตัวเองและมารายงานต่อหน่วยงานรัฐถี่ขึ้นเรื่อยๆ

สรุป :

"สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันวิกฤติมาก และมีแนวโน้มจะคุมได้ยาก"

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น :

จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ระบาดซ้ำ หากไทยเราไม่สามารถจัดการการระบาดนี้ได้ภายในกลางมกราคม (4 สัปดาห์นับจากเริ่มระบาดซ้ำ) จำนวนการติดเชื้อจะมีแนวโน้มถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถจะคุมได้อีก

และอาจพบจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรก 5 เท่า คือประมาณ 940 คนต่อวัน และใช้เวลาในการควบคุมการระบาดยาวนานกว่าเดิม 2 เท่า คือ 88 วัน หรือสามเดือน

ทั้งนี้หากเข้าสู่แนวทางการระบาดดังกล่าวข้างต้น มาตรการเดิมที่เคยใช้ได้ผลในระลอกแรก เช่น การล็อคดาวน์ หรืออื่นๆ จะได้ผลตอบสนองที่ช้าลงกว่าเดิม และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ และต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

สิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการตอนนี้ มีดังนี้ :

1. ดำเนินมาตรการเข้มข้นใน"ทุกจังหวัดที่มีรายงานเคสติดเชื้อ" ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม โดยขอความร่วมมือจากประชาชนให้

"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อบ้านเกิด"
ตั้งแต่บัดนี้จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564

2. รณรงค์ใช้นโยบาย "ใส่หน้ากาก 100%"

3. ตั้งด่านคัดกรองทุกจังหวัด และรณรงค์ให้งดการเดินทางระหว่างจังหวัดโดยไม่จำเป็น

4. ปิดกิจการเสี่ยงต่างๆ และงดการจัดงานที่มีการรวมคนจำนวนมากทั่วประเทศ

5. กิจการอาหารและเครื่องดื่ม ให้เปิดบริการแบบซื้อกลับบ้าน หรือบริการส่งถึงบ้าน ไม่ควรนั่งในร้าน

6. รณรงค์"การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างมีสติและระมัดระวัง" (Travel with caution) จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564...โดยต้องเลี่ยงการโฆษณาว่าท่องเที่ยวแล้วปลอดภัย เพราะ
#ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงกระจายตัว และยากที่จะการันตีความปลอดภัย

7. รณรงค์"เคานท์ดาวน์ปีใหม่ที่บ้าน" ในรูปแบบต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ (หมายรวมถึงสวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์)

8. ปรับระบบรายงานการติดเชื้อใหม่ให้เป็นแบบ real time เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์ของพื้นที่ตนเอง

9. งดการประชาสัมพันธ์เรื่องความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เพราะขัดต่อหลักความเป็นจริงที่เห็นจากทั่วโลกว่า

#การระบาดที่รุนแรงนั้นมักเกินขีดความสามารถของระบบที่มี ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำให้"ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ"

นอกจากนี้ยา Favipiravir ที่มีอยู่ 500,000 เม็ดนั้น พอสำหรับการรักษาคนเพียง 7,000 กว่าคนเท่านั้น
ซึ่งหากระบาดซ้ำแบบประเทศอื่นๆ จะมีโอกาสที่ไทยจะติดเชื้อราว 23,000-33,000 คน หรือมากกว่านั้นได้

วิกฤติครั้งนี้ หากเราร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสู้ ยังมีสิทธิที่จะบรรเทาผลกระทบจากการระบาดซ้ำนี้ได้ครับ
สู้ๆ นะครับ

ด้วยรักต่อทุกคน

#ใส่หน้ากากเสมอ
#ลดละเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยง
#อยู่บ้านกันนะครับ
#เชื่อในเรื่องที่ควรเชื่อ
#ทำในสิ่งที่ควรทำ
#ประเทศไทยต้องทำได้