Font Size

'โควิด-19' พลิกโลก สร้าง NewNormal ใหม่! 'อุตสาหกรรม' ต้องเร่งปรับตัว

โควิด-19 ครั้งนี้เป็นการสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมจะเกิดการ “ปฏิวัติ” ครั้งใหญ่ ทุกประเทศจะเริ่มหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคง

สวัสดีผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ ณ เวลานี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ภาครัฐออกมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 เปิดให้ภาคธุรกิจกลุ่มต่างๆ เริ่มขยับเขยื้อนให้เศรษฐกิจหมุนเวียนกันได้บ้าง ซึ่งถือเป็นข่าวดี แต่อย่าชะล่าใจไปนะครับ การ์ดอย่าตก ต้องเข้มข้นในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง สแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะกันเหมือนเดิม จนกว่าโควิด-19 จะผ่านพ้นไป

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้เป็นการสร้าง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมจะเกิดการ “ปฏิวัติ” ครั้งใหญ่ โดยทุกประเทศจะเริ่มหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคง

เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นบทเรียนให้ประเทศที่พึ่งพาการค้า การลงทุน Supply chain วัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่างๆ จากต่างประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะส่งผลให้ระยะต่อไปจะเห็นมาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวให้ทัน

ที่สำคัญยังทำให้เกิดกระแส New normal วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการได้หันมาปรับแผนธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแรงกดดัน ทำให้มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้มากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีนำหน้า

 

ผมมองว่าเวลานี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยอุตสาหกรรมดั้งเดิมจะต้องผลักดันให้เกิดการใช้สินค้าไทย หรือ Made in Thailand อย่างเข้มข้น ต้องให้กรมบัญชีกลางเสนอระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มุ่งเน้นการใช้สินค้าไทยเป็นอันดับแรกก่อน

รวมทั้งควรสนับสนุนให้จัดตั้ง “กองทุนนวัตกรรม” (Innovation Fund) ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทย เพื่อสนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรม ให้กลายเป็น Supply chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้

ขณะเดียวกันภาคเอกชนจะความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และสถาบันการวิจัยต่างๆ ร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อลดการพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ เน้นให้เกิดการพัฒนาใช้เอง แม้ระยะแรกต้นทุนอาจสูง แต่จำเป็นต้องหาแนวทางต่างๆ มาส่งเสริมให้เกิดขึ้น

ส่วนภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยในช่วงโควิด-19 เป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นโอกาสของไทย ท่ามกลางหลายประเทศที่เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น

จึงเป็นโอกาสที่จะผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ ที่คำนึงถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นระบบทำให้เกิดการลดต้นทุน เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับภาคเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งกว่าเดิม รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  https://www.bangkokbiznews.com

เนื้อหาต้นฉบับ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884892