Font Size

สถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย

สำนักคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้รายงานข้อมูลการศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหารที่คนไทยกินอยู่เป็นประจำวัน เมื่อปี 2552 โดยแยกออกเป็นกลุ่มของอาหาร ดังนี้

1. กลุ่มเนื้อสัตว์บก

    เนื้อไก่และหมูจากฟาร์มมีอัตราการตกค้างของยาปฏิชีวนะและสารเร่งเนื้อแดงค่อนข้างสูง กล่าวคือ เนื้อไก่และเนื้อหมูมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะร้อยละ 5.5 และเนื้อหมูมีอัตราการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงร้อยละ 6.0

    ร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปมีการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ และวัสดุกันเสียสูงเกินค่ามาตรฐาน   เนื้อหมูสดที่จำหน่ายในตลาดสดทั่วไปมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ซึ่งก่อให้เกิดโรคในคนได้ เช่นEscherichia coli, Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens และ Salmonella spp

    2. กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์

      แม้จะมีการพัฒนาด้านความปลอดภัยของนมมากขึ้น ในปัจจุบัน แต่ยังคงพบปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะและจุลินทรีย์เกินมาตรฐานอยู่เสมอ รวมทั้งคุณภาพด้านโภชนาการของนมที่มีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานสูงถึงประมาณร้อยละ 35

      3. กลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์

        กลุ่มธัญพืชจำพวกถั่วเมล็ด เช่น ถั่วลิสง กากถั่วลิสงและข้าวโพด พบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา โดยเฉพาะสารแอฟลาทอกซินสูงเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 11.36 ขณะที่ ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว พบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม เมทธิลโบรไมด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น

        4. กลุ่มสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ

          สัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม และมีการวางจำหน่ายเป็นอาหารประจำวันจำพวก กุ้งและปลา หลากหลายชนิด มีการสำรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เช่น Nitrofuran, Chloram phenicol, Oxytetracycline และ Oxolinic acid ในระดับสูงถึงร้อยละ 18.82 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ นอกจากนั้นยังมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่น Vibrio parahaemolyticus, Vibrio cholerae และ Salmonella spp ในผลิตภัณฑ์กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกแช่แข็ง และสินค้าอาหารทะเลต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ลูกชิ้นปลา เนื้อปลาแช่เย็น และแหนมปลา ยังมีการพบมีการปนเปื้อนของสารเคมีจำพวกบอแรกซ์ ซึ่งห้ามใช้ในอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก

          5. กลุ่มผักและผลไม้

            ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช จากการสำรวจตัวอย่างผักและผลไม้ในตลาดพบว่า พบสารเคมีตกค้างถึงร้อยละ 36 ในจำนวนนี้ร้อยละ 6 มีการตกค้างเกินกฎหมายกำหนด มีการพบสารห้ามใช้ในอาหารเช่น สีสังเคราะห์ สารกันรา และสารฟอกขาวในผักและผลไม่ร้อยละ 22.67 และยังมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว และแคดเมียม ในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ร้อยละ 5 เป็นต้น

            *ข้อมูลจาก : กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ 2554