4 ก.ย.2565-รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat”ระบุว่า ยังติดกันเรื่อยๆ ทุกวัน ขอให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาทนะครับ แออัด ใกล้ชิด แชร์ของกินของใช้ ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ติดกัน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก

“Long COVID คือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา อย่าหลงคำลวงว่าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เพราะความรู้ปัจจุบันทำให้เราทราบว่ามันไม่ใช่ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด…”

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/214286/

 

 
 
 

นพ.ยงชี้ โควิด-19 กำลังเข้าสู่สถานะคล้าย ไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. จะเป็นช่วงขาลง พีกอีกที่ ธ.ค.- มี.ค. แนะควรฉีดวัคซีนก่อนฤดูฝน หรือ ก่อนการระบาดใหญ่

วันที่ 4 กันยายน 2565 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึง การระบาดของโรคโควิด 19 กำลังเข้าสู่แบบเดียวกับโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล ประจำปี เช่น ไข้หวัดใหญ่

โดยระบุว่า โรคจะระบาดมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ในฤดูฝน และนักเรียนเปิดเทอม และจะเริ่มลดลง ในปลายเดือนกันยายน ขณะที่นักเรียนสอบและปิดเทอม การระบาดจะน้อยลงจนถึงกลางเดือนธันวาคม

และจะมีการระบาดขึ้นอีก พีคหนึ่ง ในฤดูหนาว ตั้งแต่ช่วงปลายธันวาคมจนถึงต้นเดือนมีนาคม แต่การระบาดในช่วงนี้จะไม่รุนแรง และจะเข้าวงจรใหม่ ในเดือนมิถุนายนปีหน้า เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่มีวงจรเป็นแบบนี้

 

ดังนั้นโรค covid-19 ของเราอยู่ในขาลง และจะลดลงตั้งแต่ปลายเดือนนี้เป็นต้นไป อย่างเห็นได้ชัด

โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะระบาดในฤดูหนาว ของประเทศที่มีฤดูหนาว เช่น ประเทศซีกโลกเหนือ เช่น ยุโรปและอเมริกา การระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงมีนาคม

ประเทศซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจก็จะเกิดขึ้นในฤดูหนาวของซีกโลกใต้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายนถึงเดือนกันยายน

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ถึงแม้ว่าทางภูมิศาสตร์จะอยู่ซีกโลกเหนือ หรือเหนือเส้นศูนย์สูตร แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีฤดูหนาว มีแต่ร้อนมาก ร้อนน้อย การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคทางเดินหายใจ จึงพบได้เกือบตลอดทั้งปี

แต่จะมี การพบสูงสุดในฤดูฝน ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับประเทศในซีกโลกใต้

จึงเป็นเหตุผลในการวางมาตรการการป้องกันโรคทางเดินหายใจ ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ถ้าจะมีการฉีด ก็ควรฉีดก่อนที่จะมีการระบาด หรือก่อนฤดูฝน

 

ในทำนองเดียวกันในอนาคตโรคโควิด 19 ถ้าจำเป็นต้องมีการให้วัคซีนประจำปี ฤดูกาลการให้วัคซีน covid-19 ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ คือการให้ก่อนฤดูฝนของทุกปี

ข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1037539

 

 
"ดื่มกาแฟ" กี่แก้วต่อวัน เสี่ยงกระทบ 4 ระบบของ ร่างกาย ร้ายแรงถึงขั้น ไตวาย
 
 

กรมอนามัย เตือน "ดื่มกาแฟ" มากไป เกิน 4 แก้วต่อวัน เสี่ยงกระทบ 4 ระบบของ ร่างกาย ร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะ ไตวาย - เสี่ยง โรคหัวใจ

หากจะพูดถึงเครื่องดื่ม ที่สร้างความสดชื่น ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ปลุกให้คุณตื่นยามเช้า ก่อนไปลุยงาน หรือ แม้กระทั่ง ช่วงบ่าย ของวันทำงาน "กาแฟ" เป็นทางเลือกแรก ที่มนุษย์ออฟฟิศนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก ถึงขั้นเรียกได้ว่า เสพติดกาแฟกันเลยทีเดียว วันไหนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟนั้นเหมือนร่างกายขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเลย แต่หากพูดถึง กาแฟ หากดื่มให้เป็น ดื่มให้พอดี เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าหากดื่มกาแฟมากเกินไป หรือ ดื่มกาแฟแทนน้ำ จากที่เป็นคุณก็จะเป็นโทษ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คนวัยทำงานนิยมดื่มกาแฟ เพื่อให้ตื่นตัว สดชื่น ลดความง่วง เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ในช่วงเช้า หรือระหว่างวัน ทำให้มีพฤติกรรมเคยชินในการดื่มกาแฟ จึงอาจเผลอดื่มมากเกินไป นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับคาเฟอีนจากแหล่งอาหารอื่นที่ไม่ใช่กาแฟร่วมด้วย เช่น น้ำชา น้ำอัดลม โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง

ผู้ใหญ่สามารถบริโภคคาเฟอีนได้ โดยควรรับในปริมาณที่เหมาะสมจากเครื่องดื่ม และอาหารต่าง ๆ แนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับในแต่ละวัน ไม่เกิน 300 - 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟ 3 - 4 แก้ว หากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป หรือเรียกว่าการบริโภคคาเฟอีนเกินขนาด (Caffeine Overdose) จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้ 

กาแฟ

  1. ระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้มือสั่น นอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวล ปวดศรีษะ บางครั้งอาจทำให้ชักได้ 
  2. ระบบทางเดินอาหาร จะเพิ่มการหลั่งของกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้ปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ จึงควรหลีกเลี่ยงกาแฟทุกชนิด รวมทั้งเครื่องดื่ม หรืออาหารที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ 
  3. ระบบการไหลเวียนโลหิต คาเฟอีนกระตุ้นหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต อาจเพิ่มความดันโลหิตชั่วคราว โดยเฉพาะในผู้ที่ปกติไม่บริโภคคาเฟอีน กลุ่มที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่เดิม ภาวะความดันโลหิตสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ 
  4. ระบบทางเดินปัสสาวะ คาเฟอีนลดการดูดน้ำกลับ ตอนผ่านเข้าไปในไต ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น กระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อยขึ้น แคลเซียมซึ่งเป็นสารก่อนิ่วชนิดหนึ่ง จะถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อาจก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย

ทั้งนี้ ควรเลือกดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่นมและน้ำตาล เลือกสั่งแบบหวานน้อย หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ ที่ปรากฏบนซองหรือบรรจุภัณฑ์สินค้า หรือหากต้องการจำกัดไขมัน หรือน้ำตาล อาจเลือกเป็นสูตรแคลอรีต่ำ หรือสูตรไม่มีน้ำตาล จะช่วยให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า หรือเมื่อดื่มกาแฟเย็นแล้ว ควรลดอาหารหวาน มัน และของทอด ในมื้ออาหารหลักลง ซึ่งผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียม จากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเปล่าสะอาด 8 - 10 แก้วต่อวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/health/528431?adz=

 

 
"ติดโควิด" เพิ่งหาย ไขข้อข้องใจ ควร ฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น ทันที หรือไม่
 
 

"ติดโควิด" เพิ่งหาย ฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น ทันทีได้หรือไม่ "ดร.อนันต์" เปิด ผลวิจัย ไขข้อข้องใจ ภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

"ติดโควิด" เพิ่งหาย ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเลยมั้ย? คนที่เคยติดเชื้อโควิดมา เริ่มมีคำถาม เพราะหลายคนก็เริ่มสับสนว่า ตกลงหลังจากหายจากโควิดแล้ว ร่างกายจะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่หรือไม่ หรือเพิ่งหายจากโควิด ถึงกำหนดได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ควรทิ้งวัคซีนเข็มนั้นไปก่อน หรือไปรับวัคซีนได้เลย แต่ถ้าจะต้องเว้นระยะห่าง ต้องภายในกี่เดือน หลังหายจากโควิด ถึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสต์เฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana ให้ข้อมูลในเรื่องของคำถามที่ว่าติดโควิดเพิ่งหายฉีดวัคซีนได้ไหม ระบุว่า ผมได้คำถามนี้บ่อยมาก และทราบว่าถ้าตอบไปว่ายังไม่ต้อง boost คนที่ถามหลายคนก็ไป boost อยู่ดี เพราะตั้งใจจะไปฉีดอยู่แล้ว แต่บังเอิญคำตอบที่ได้ไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่อยากได้ยิน ผมรองานวิจัยที่จะสนับสนุนแนวคิดนี้มาสักพัก และวันนี้ก็ได้เห็นออกมาจริง ๆ ผลวิจัยมาจากทีมวิจัยกลุ่มใหญ่ของ NIH ของสหรัฐอเมริกา 

  
 
 

โดยทีมวิจัยได้เปรียบเทียบตัวอย่าง 3 กลุ่ม 

  • กลุ่มแรกเรียกว่า Prior-infected คือ คนที่ติดโควิดก่อนโอมิครอน หรือโอไมครอน แล้วไป boost เข็ม 3 หลังติด (คล้าย ๆ กับกลุ่มที่ถามคำถามข้างต้น) 
  • กลุ่มที่สอง เรียกว่า Un-infected คือ คนที่ไม่เคยติดโควิดมาก่อนเลย ฉีดวัคซีนปกติมา และ boost เข็ม 3 พร้อมกลุ่มแรก และ ไม่ติดโอไมครอนใด ๆ ในช่วงที่เก็บข้อมูล 
  • กลุ่มที่สาม เรียกว่า BA-1 post-infected คือ คนที่มา boost เข็ม 3 แล้วติดโอไมครอน BA-1 หลังจากนั้น ในช่วงที่เก็บข้อมูล 

โดยทีมวิจัยเก็บข้อมูลที่ 30 วัน และ 60 วัน หลัง boost เข็ม 3 ในแต่ละกลุ่ม ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร

ดร.อนันต์ ระบุว่า ข้อมูลมีมาก แต่จุดที่เป็นสาระสำคัญที่สุด อยู่ที่ระดับแอนติบอดีก่อน boost เข็ม 3 และ ที่ 60 วัน หลังจากนั้นในกลุ่มที่ 1 แตกต่างจากอีก 2 กลุ่มอย่างชัดเจน 

ทีมวิจัยระบุว่า คนที่ไปติดโควิดมาแล้วไป boost ต่อ ทั้ง ๆ ที่ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของตัวเองยังไม่พร้อมถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ส่งผลให้ วัคซีนไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้ดีเท่าที่ควร ตัวอย่างในกลุ่มที่ 1 นี้ ไม่สามารถกระตุ้นแอนติบอดีต่อไวรัสแทบทุกสายพันธุ์ ไม่จำกัดแม้แต่กลุ่มโอมิครอน แสดงให้เห็นว่า ระบบภูมิคุ้มกันต่อการตอบสนองต่อวัคซีนจะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แต่ประเด็นหลัก ๆ คือ การกระตุ้นด้วยวัคซีน ควรดูปัจจัยความพร้อมของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย เนื่องจากบริบทของแต่ละคนแตกต่างกัน

ภูมิคุ้มกันโควิด

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/covid-19-updated/528374?adz=

 
 

"หมอยง"ตอบชัดแล้ว วัคซีนโควิดเข็ม 4 จำเป็นจริงหรือไม่ คนไทยต้องรู้

 

"หมอยง"ตอบชัดแล้ว วัคซีนโควิดเข็ม 4 จำเป็นจริงหรือไม่ คนไทยต้องรู้

การฉีดวัคซีนป้องกัน covid 19 เปรียบเสมือนสร้างหน่วยป้องกัน ที่เป็นทหารด่านหน้า หรือลาดตระเวน และทหารที่ประจำการอยู่ในบ้าน ในเมือง

โดยหลักการแต่เดิมถ้าวัคซีนสามารถฝึกทหารด้านหน้า หรือลาดตระเวนได้ดี ข้าศึกหรือตัวไวรัสก็ไม่สามารถที่จะโจมตีบ้านหรือเมืองเราได้ แต่วัคซีน covid 19 หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะไวรัสโควิด- 19 สามารถเปลี่ยนรูปร่าง ปลอมปนทำให้ทหาร ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นข้าศึก จึงทำให้ไวรัสเข้าจู่โจมบ้านเมืองเราได้ การฉีดวัคซีนไม่ว่ากี่เข็ม จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้

แต่วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ สามารถฝึกทหารในเมือง หรือในบ้านเรา ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นถึงแม้ว่าไวรัสหรือข้าศึกจะเข้าบ้านเราได้ เราก็สามารถกำจัดกวาดล้างได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายบ้านเมือง เปรียบเสมือน การติดเชื้อ เชื้อไม่ลงปอด ความรุนแรงน้อยลง ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากการเสียหายของร่างกาย ลดอัตราการเสียชีวิต

วัคซีน จึงลดความรุนแรงของโรคได้

การให้วัคซีนจึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้น หรือฝึกทหารให้แข็งแกร่ง ในการที่จะปกป้อง อันตรายที่จะเกิดขึ้น และถ้าให้มานานแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกเป็นระยะ

 

จึงไม่แปลกที่กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะที่เราเรียกว่า 608 จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 4 เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง จะได้ลดอัตราการสูญเสียต่อชีวิตลงได้

ในรายที่ร่างกายอ่อนแอมาก ให้วัคซีนก็ไม่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ ดังนั้นในบุคคลกลุ่มนี้จึงจำเป็นที่จะต้องให้ ภูมิต้านทานสำเร็จรูป ที่ใช้ในการป้องกัน เช่นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ก็สามารถให้ภูมิต้านทานสำเร็จรูป ในการป้องกันระยะยาวได้ซึ่งขณะนี้ก็มีใช้ในเมืองไทยแล้ว

"หมอยง"ตอบชัดแล้ว วัคซีนโควิดเข็ม 4 จำเป็นจริงหรือไม่ คนไทยต้องรู้

 

ข้อมูลจาก https://www.tnews.co.th/social/573384

 

2 ก.ย. 2565 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คนที่ติดตามการทำงานขององค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด จะสังเกตเห็นว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกบางเรื่องของโรคโควิด-19 ดูจะล่าช้าเกินไปสำหรับองค์กรระดับโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด องค์การอนามัยโลกกว่าจะยอมรับว่า เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สามารถแพร่กระจายทางอากาศ ติดต่อกันทางการหายใจเหมือนเชื้อไวรัสโรคหัด อีสุกอีใส และเชื้อวัณโรค ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี

ผมออกมาให้ความเห็นว่าไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศ หลังจากเห็นการระบาดอย่างเป็นกลุ่มก้อนในสนามมวยลุมพินีในเดือนมีนาคม 2563 มีคนติดเชื้อในสนามมวยวันนั้นมากกว่า 50 คน ทั้งๆที่อยู่ห่างกันหลายสิบเมตร เพราะอยู่ในสถานที่ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี คนป่วยตะโกนเสียงดัง ส่งเสียงเชียร์ ปล่อยเชื้อไวรัสออกมาในอากาศ โดยช่วงนั้นคนยังใส่หน้ากากอนามัยน้อยมาก คนติดเชื้อจากการหายใจเชื้อไวรัสที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเป็นเวลาหลายชั่วโมงไปได้ไกลหลายสิบเมตร ประเทศไทยเสียเงิน เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้น เช่นตลาด และโรงเรียนที่พบการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันเลิกทำแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ผอ.องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ เรายังพูดไม่ได้ว่า “เรากำลังเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิด”

 
 

เรื่องนี้ผมได้ออกมาแนะนำให้คนไทยเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เพราะเห็นว่าเราไม่มีทางกำจัดเชื้อไวรัสโควิดให้หมดไปจากโลกนี้ได้ เราต้องยอมรับ และอยู่ร่วมกับไวรัสโควิดอย่างมีสติ อย่าท้อแท้ อย่าวิตกกังวล กลัวโรคโควิดมากเกินไป

ปัจจุบันรัฐบาลเกือบทุกประเทศกำลังปรับลดระดับการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโรคติดต่อเฝ้าระวังตามฤดูกาลเช่นไข้หวัดใหญ่ และใช้วิธีการที่เข้มงวดน้อยลง ยืดหยุ่นมากขึ้นในการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เพื่อสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมทางการศึกษา การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข.

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/212868/

 

 
 


เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย.ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 ส.ค. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย. ให้ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ายาต้านไวรัสโควิด 19 ชนิดรับประทาน สามารถกระจายยาดังกล่าวให้กับสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิกเวชกรรมและร้านขายยาที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องโดยมีเภสัชกรประจำร้าน อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสโควิด 19 เป็นยาควบคุมพิเศษ จะมีระบบติดตามการกระจายยาเหมือนยาควบคุมพิเศษอื่นๆ เช่น ยาสเตียรอยด์
 

“ย้ำว่า ร้านยาจะขายยาต้านไวรัสโควิดให้ผู้ที่มาซื้อได้ ผ่านใบสั่งยาจากแพทย์ ขณะนี้ได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ายากระจายยาไปยัง รพ.รัฐและเอกชนแล้ว เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่วนร้านยายังเป็นช่วงเริ่มต้นอยู่ และการขายให้ร้านยาก็เป็นสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตที่จะไปทำตลาดได้” นพ.ไพศาลกล่าว

นพ.ไพศาลกล่าวว่า ยืนยันการดำเนินการของ อย.ในการอนุญาตให้นำเข้ายาและกระจายมาถึงร้านขายยา เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงยาแต่อย่างใด ทั้งนี้ การใช้ยาต้านไวรัสมีความเฉพาะสูง การจะจ่ายยาจึงต้องอาศัยดุลยพินิจของแพทย์ตามการวินิจฉัยโรค ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องได้รับยาต้านไวรัส เป็นไปตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การเข้าถึงยาในตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหา ปัจจุบันรัฐบาลจ่ายยาให้ทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขอให้เข้ารับบริการตามสิทธิสุขภาพของตนเอง
 
 

ไทยติดเชื้อในระบบ 2 พันราย ตาย 25 ราย เป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด เผยประสิทธิผลวัคซีน พบสี่เข็มป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต 100%

01 ก.ย.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,004 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,996 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,996 ราย มาจากเรือนจำ 7 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,743 ราย อยู่ระหว่างรักษา 15,990 ราย อาการหนัก 736 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 355 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 25 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 12 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,652,923 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,604,605 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 32,328 ราย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้นระลอกเล็กๆ ส่วนตัวเลขเสียชีวิตยังทรงตัว เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นระลอกเล็กๆ ทั่วประเทศ แต่ป่วยหนักและเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ทำให้อัตราครองเตียงและปริมาณการใช้ยาต่อวันลดลง

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลัก ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็มสามแล้ว 6,437,305 โดส คิดเป็น 50.7% ส่วนเด็กที่มีอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มสองแล้ว 2,425,430 โดส คิดเป็น 47.1% ทั้งนี้ สำนักงานสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนจากการใช้จริงระหว่างเดือน พ.ค.2565-ก.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 BA.5 พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็มป้องกันปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจได้ 60% และป้องกันเสียชีวิตได้ 72% ผู้ที่ฉีดสามเข็ม ป้องกันปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจได้ 83% และป้องกันเสียชีวิตได้ 93% และผู้ที่มีฉีดสี่เข็ม ป้องกันปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ 100% ขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่การฉีดวัคซีนวัคซีนสามเข็มขึ้นไปหวังผลให้ช่วยป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างน้อย 6 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนในเด็กเล็กอายุ 6 เดือน และก่อน 5 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง คาดว่าจะเข้ามาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีนี้

พญ.สุมนี กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงได้รักษาฟรีตามสิทธิที่ตัวเองมี ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม ในรูปแบบเจอ แจก จบ กรณีมีอาการหนักวิกฤติยังใช้สิทธิยูเซปที่ใดก็ได้เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่นหากตรวจเอทีเคเป็นผลบวกให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์ 1330 กลุ่มประชาชนทั่วไปให้กด 14 กลุ่ม 608 กด 18 แต่ถ้าอาการหนักให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์ 1669 กด 2 ซึ่งเป็นศูนย์เอราวัณจะรับผิดชอบนำส่งทุกที่

 

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/212367/

'หมอนิธิพัฒน์' เผยตัวเลขโควิดเริ่มดีขึ้น เชื่อหาลดต่อเนื่องจะเดินหน้าประเทศเต็มที่ได้ ชี้ยุคโอไมครอนฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้อยู่ถึงเวลาเก็บเข้ากรุ หายาต้านไวรัสอื่นได้แล้ว

01 ก.ย.2565 - รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สถิติโควิดวันนี้ ร้อยละการตรวจพบเชื้อในรอบเจ็ดวันที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องเหลือ 5.79% ถึงน้อยกว่า 5% เมื่อไรจะได้อุ่นใจเดินหน้าประเทศกันเต็มสูบ

ความมั่นคงทางยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นหลักประกันหนึ่งของประเทศในยุคเปลี่ยนผ่านสำหรับโควิด ลองมาสำรวจดูว่าอาวุธที่เรามีใช้งานอยู่ ทั้งผลิตได้เองในประเทศและที่ต้องนำเข้า ยังมีประสิทธิผลดีเพียงพอหรือไม่ ในการรับมือกับโอไมครอน BA.5 ซึ่งยังเป็นขาใหญ่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้

เริ่มจากการป้องกันก่อนติดเชื้อ สำหรับคนที่แนวโน้มภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่ดีหลังฉีดวัคซีน บ้านเราได้จัดเตรียมแอนติบอดี้ออกฤทธิ์นาน ยี่ห้อ Evusheld ไว้ในปริมาณเพียงพอระดับหนึ่ง แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษชะลอการจัดซื้อยานี้ออกไป แต่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ยังไว้ใจในอาวุธสำคัญชิ้นนี้ และมีการสั่งซื้อเตรียมพร้อมไว้ใช้งานได้เพียงพอในประเทศ

 

ในบทความตามลิงค์ https://www.journalofinfection.com/action/showPdf... กล่าวถึงผลการใช้ยานี้ในโลกแห่งความเป็นจริงจากหลายภูมิภาค โดยคณะผู้นิพนธ์ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมจาก 5 การศึกษา ส่วนใหญ่ทำในช่วงที่มีการระบาดของโอไมครอนแล้ว ครอบคลุมประชากรราวเกือบหนึ่งหมื่นห้าพันคน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับยานี้ซึ่งมีอย่างละครึ่งใกล้เคียงกัน พบว่า Evusheld สามารถช่วยลดอัตราตายลงได้ราวครึ่งหนึ่ง แต่อาจมีข้อจำกัดบ้างที่ประชากรที่ทำการศึกษาได้รับวัคซีนโควิดมาแตกต่างกัน และขนาดยาที่ใช้ในแต่ละการศึกษายังมีความแตกต่างกันไปบ้าง สำหรับในบ้านเราเองกำลังติดตามผลการใช้รักษาจริงหน้างาน และถ้าเป็นได้ผมกำลังชักชวนนักวิจัยในประเทศที่สนใจด้านเภสัชวิทยา เพื่อทำการศึกษาถึงขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับคนไทย

ถัดมาเป็นยาที่ใช้เมื่อเราติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด ฟ้าทะลายโจรช่วยบรรเทาอาการได้เร็ว และอาจช่วยป้องกันโรคลุกลามได้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการสร้างแบบจำลองเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสม พบว่าถ้าจะให้ได้ผลดี วันแรกควรกินยาฟ้าทะลายโจร ในขนาดที่เพิ่มเป็นสองเท่าจากขนาดซึ่งแนะนำกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ปริมาณสารออกฤทธิ์คือ andrographolide (APE) เป็น 360 มิลลิกรัมในวันแรก คือ จากเดิมที่ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ดถ้าเป็นยาที่มี APE เม็ดละ 20 มิลลิกรัม หรือ ครั้งละ 5 เม็ดถ้าเป็นชนิดมี 12 มิลลิกรัม ก็ต้องเพิ่มเป็นครั้งละ 6 หรือ 10 เม็ดแล้วแต่ปริมาณ APE ส่วนอีกสี่วันที่เหลือจึงค่อยกินยาต่อในขนาดซึ่งแนะนำในปัจจุบัน แต่ต้องเน้นกันไว้ก่อนว่า ขนาดยาที่สูงขึ้นสองเท่าในวันแรกนี้ ยังไม่มีการศึกษาในการใช้งานจริงว่ามีความปลอดภัย โดยเฉพาะในคนที่มีโรคตับอยู่ก่อน หรือกินยาอื่นที่มีผลต่อตับร่วมด้วย https://www.worldscientific.com/doi/10.1142/S0192415X22500732?url_ver=Z39.88-2003&rfr_id=ori:rid:crossref.org&rfr_dat=cr_pub%20%200pubmed

อีกหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการกันมาก คือยาฟาวิพิราเวียร์ จากประสบการณ์ของแพทย์ไทยดูจะได้ประโยชน์ดีในยุคแรกๆ จนมาถึงช่วงกึ่งกลางของระลอกเดลตา ที่ชักพบว่าถึงแม้ให้ยานี้เร็วก็รับมือกับโรคไม่ค่อยอยู่ คณะนักวิจัยจากหลายสถาบันในบ้านเราเอง ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 93 คน ที่ติดเชื้อมาไม่เกิน 10 วันและยังไม่มีปอดอักเสบ โดย 62 คนได้รับยาอีก 31 คนไม่ได้รับ พบว่าค่ามัธยฐานของการมีอาการของโรคโดยรวมดีขึ้นต่างกันชัดเจน คือ 2 วันในกลุ่มได้รับยาและ 14 วันในกลุ่มได้รับยา โดยกลุ่มที่ได้รับยาเกิดปอดอักเสบภายหลังน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหนึ่งเท่าตัว แต่ปอดอักเสบทั้งสองกลุ่มก็ไม่รุนแรงและหายได้ดี https://www.tandfonline.com/.../22221751.2022.2117092...

ข้อสังเกตคือการศึกษานี้ทำในช่วงก่อนเดลตาระบาดเป็นส่วนใหญ่ โดยประชากรทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนโควิดมาเลย สำหรับเครื่องมือที่ใช้วัดอาการของโรคโดยรวมคือ NEWS นั้น นิยมใช้ในการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงว่าควรให้การรักษาเร่งด่วนหรือไม่ แต่การนำมาใช้ติดตามผู้ป่วยว่าอาการดีขึ้นยังไม่มีการศึกษาแพร่หลายว่าใช้งานได้ดี (NEWS ประกอบด้วยการให้คะแนนโดยดูจาก 6 องค์ประกอบ คือ อุณหภูมิ ชีพจร อัตราการหายใจ ความดันโลหิต ระดับความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว และระดับการรู้ตัว) นอกจากนี้เมื่อดูผลการกำจัดไวรัสไปจากร่างกายเร็วหรือช้า พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน

อีกการศึกษาหนึ่งจากมาเลเซียเพื่อนบ้านทางใต้ของเรา ที่คล้ายกันและทำในช่วงเวลาเดียวกัน เพียงแต่มีผู้เข้าร่วมถึง 500 คน โดยมีอาการปานกลางและฉีดวัคซีนไม่ถึง 5% จุดสนใจหลักคือการลุกลามของโรคจนเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด (hypoxemia) จุดสนใจรองคือ อัตราการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราต้องนอนไอซียู และอัตราการเสียชีวิต พบว่ากลุ่มที่ให้ยาเกิดจุดสนใจทั้งสี่คิดเป็น 18.4%, 2.4%, 5.2%, และ 2.0% ตามลำดับ เทียบกับในกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์เกิด 14.8%, 2.0%, 4.8%, และ 0% ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ข้อสรุปสำหรับผม ในยุคโอไมครอนที่คนไทยฉีดวัคซีนกันได้มากแล้ว ยาฟาวิพิราเวียร์ที่รับใช้เราในการต่อสู้กับโควิดมายาวนาน ได้เวลาเก็บเข้ากรุแห่งความทรงจำแล้ว มียาต้านไวรัสอื่นที่ได้ผลดีกว่าในราคาที่ไม่แตกต่างกัน #เตรียมพร้อมยุคหลังโควิด

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/covid-19-news/212151/