"อ.เจษฎ์" กางข้อมูล เผยข่าวดีประเทศไทย "โควิด" Omicron ขาลงชัดเจนแล้ว
 
 

"อ.เจษฎ์" กางข้อมูล เผยข่าวดีประเทศไทย "โควิด" Omicron ขาลงชัดเจนแล้ว พีคอีกระลอกปลาย เม.ย. ทำใจยอดตาย-ปอดอักเสบ สูง ก่อนลง

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ "อ.เจษฎ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  อัปเดตสถานการณ์ "โควิด" ระบุว่า "อัปเดตสถานการณ์โควิด - เป็นช่วงขาลงแล้วครับ" วันสงกรานต์ผ่านไปแล้ว เลยขอมาอัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์ "โอมิครอน" Omicron ตั้งแต่ต้นปีนี้มา อีกครั้ง ข่าวดีคือ การระบาดของโควิดเป็น "ขาลง" ชัดเจนแล้ว

"อ.เจษฎ์" ระบุว่า เมื่อดูจากกราฟของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน (รูปซ้าย เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังของผลรวมระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่ตรวจด้วยวิธี PCR และด้วยวิธี ATK จะเห็นว่า หลังจากการระบาดไม่มากของสายพันธุ์ Delta หลังฉลองปีใหม่ ก็เกิดการระบาดของ Omicron ที่พุ่งขึ้นสูงตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไปถึงจุดพีคสุดต้นเดือนมีนาคม แล้วลดลง ก่อนจะพีคขึ้นไปอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม (คาดว่าเป็นผลจากการระบาดซ้อน ของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.1 เดิม) และพีคอีกครั้งเล็ก ๆ ในช่วงต้นเดือนเมษายน 

"อ.เจษฎ์" กางข้อมูล เผยข่าวดีประเทศไทย "โควิด" Omicron ขาลงชัดเจนแล้ว

จากนั้นการระบาดก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ซึ่งเป็นช่วงกลางเดือนเมษายนแล้ว ซึ่งน่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า เรากำลังเข้าสู่ขาลงของการระบาดระลอกนี้ และก็ยังสอดคล้องกับแนวโน้มของการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ที่มักจะมาเร็วไปเร็วใน 2 เดือน (เพียงแต่ของเรามี 2 สายพันธุ์ระบาดซ้อนกัน เลยทำให้ช้าลงไปหน่อย)

อย่างไรก็ตาม ที่ทุกคนห่วงและจับตาดูกันคือ หลังจากเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่มีผู้คนเดินทาง ท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ และจัดกิจกรรมมากมาย จะนำไปสู่การระบาดอีกระลอกของโควิดหรือเปล่า (ซึ่งผมคาดว่า ช่วงปลายเดือนเมษายน เราอาจจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่น่าจะไม่พีคสูงเหมือนตอนต้น ๆ อีกแล้ว) สำหรับค่าอื่น ๆ นั้น คือ ค่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ ที่ยังสูงอยู่นั้น ก็เป็นไปตามคาดที่จะเป็นผลที่เกิดขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อ ในช่วงประมาณ 14 วัน ดังนั้น เราก็ต้องเตรียมทำใจที่จะเห็นค่าเหล่านี้สูงขึ้นอีกซักระยะ ก่อนจะเริ่มลดลง (แต่จากกราฟ ตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะชันน้อยลงบ้างแล้ว)

ปล. เน้นเหมือนเดิมว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานอย่างเป็นทางการ น่าจะน้อยกว่าค่าจริงประมาณ 3 เท่า แต่ก็ยังสามารถบอกแนวโน้มการระบาดในประเทศได้ครับ

ขอบคุณ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/511648?adz=

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ช่วยป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ตั้งเป้าฉีดครอบคลุมประชากรโดยเร็ว ร่วมกับสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เติมเต็มป้องกันติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ เพื่อเปิดประเทศปลอดภัย
 

วันนี้ (1 เมษายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “เปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐาน” ใน 10 เมืองไมซ์ ว่า รัฐบาลต้องการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย สิ่งสำคัญคือประชากรในประเทศต้องปลอดภัย ได้รับวัคซีนโควิด 19 ครอบคลุมมากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งวัคซีนจะช่วยลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อป้องกันได้ร้อยละ 70 และหากยังคงมาตรการ นิวนอร์มัล ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ดูแลสุขภาพอย่างดี จะเติมเต็มทำให้ป้องกันติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่เราควบคุมการระบาดระลอกแรกจนไม่มีการแพร่เชื้อมานานกว่า 6 เดือน 

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายวัคซีนโควิดไปยังประชาชนทั่วประเทศให้เร็วที่สุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ฉีดวัคซีนโควิดได้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด แม้จะมีการติดเชื้อก็จะเป็นจำนวนน้อยที่ระบบสาธารณสุขรับได้ ส่วนการจัดงานไมซ์จะเป็นการจุดประกายให้เมืองไทยกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เนื่องจากช่วยส่งเสริมการทำงานและสร้างรายได้ ลดปัญหาการลักลอบเข้า-ออกประเทศไปทำงาน จึงลดความเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลับเข้ามาด้วย รวมถึงการจัดงานอย่างปลอดภัยมีมาตรฐานก็จะช่วยเรียกชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยว จัดสัมมนา ประชุม แสดงสินค้า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย 

 

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

“ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาก็ต้องมั่นใจว่า ประชาชนในประเทศเราสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย มีระบบสาธารณสุขดูแลเขาเมื่อเจ็บป่วยได้ ซึ่งเมื่อเราฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากเพียงพอก็ตั้งสมมติฐานว่าปลอดภัยได้”

"อนุทิน" ย้ำฉีดวัคซีนโควิด 19 ร่วมการป้องกันตนเอง ช่วยเปิดประเทศปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

นายอนุทินกล่าว นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการรับวัคซีนโควิดแล้วไม่ต้องกักตัวถือเป็นเป้าหมาย แต่ต้องมีการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันผลตอบสนองต่อวัคซีนก่อนว่าเป็นอย่างไร ฉีดครบ 2 โดสแล้วใช้เวลานานเท่าใดภูมิคุ้มกันจึงจะสูงจนปลอดภัยต่อการติดเชื้อ ถ้าปลอดภัยก็ไม่ต้องกักตัว โดยจะเริ่มในคนไทยที่มีภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาไม่ต้องกักตัว ส่วนชาวต่างชาติอาจต้องรอเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตที่จะต้องตกลงกันระหว่างประเทศ  “ส่วนการส่งวัคซีนไปฉีดที่ภูเก็ต 1 แสนโดส ส่งไปแล้ว 5 หมื่นโดส จะส่งตามไปอีก 5 หมื่นโดส และส่งไปเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 5 หมื่นโดส ถ้าผลภูมิคุ้มกันออกมาดี ก็เปิดพื้นที่ได้เร็ว และพรุ่งนี้จะนำวัคซีนไป อ.แม่สะเรียงด้วย เพื่อฉีดให้แก่ทหาร ตำรวจชายแดน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ประสบภัยตามหลักมนุษยธรรม” นายอนุทินกล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98020

 

 

โดย ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล"

มีหลายท่านสนใจเรื่องชนิดของวัคซีน COVID-19 จึงขอสรุปให้อ่านจบใน 2 นาทีนะคะ

ข้อมูล ณ วันที่ 23 ตุลาคม 2563 มีวัคซีน 48 ตัวที่เข้าทดสอบในมนุษย์แล้ว โดย
- อยู่ในระยะที่หนึ่ง 33 ตัว
- ระยะที่สอง 15 ตัว
- ระยะที่สาม 11 ตัว และในจำนวนนี้มี 6 ตัวขึ้นทะเบียนให้ใช้ในวงจำกัด

ชนิดของวัคซีนที่กำลังพัฒนามีหลายประเภท แต่หลักๆ ที่น่าจะเข้าวิน มี 4 กลุ่ม คือ
𝟏. 𝐈𝐧𝐚𝐜𝐭𝐢𝐯𝐚𝐭𝐞𝐝 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞 เป็นชนิดที่น่าจะมาไกลที่สุด คือเข้า phase 3 และได้เริ่มใช้แล้วในวงจำกัดที่ประเทศจีน เป็นของบริษัท Sinovac, Sinopharm, Wuhan Institute วัคซีนชนิดนี้ผลิตด้วยความยุ่งยากแม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยี่ใหม่ เพราะต้องใช้ BSL3 facility เพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อ และผลิตได้ไม่เร็ว แต่เป็นชนิดของวัคซีนที่น่าจะได้ผลดีเพราะเอาไวรัสทั้งตัวมาฆ่าให้ตาย จึงไม่มีข้อต้องกังวลใจมากนัก ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนอื่นๆมาก่อน เราจึงมีประสบการณ์ในการใช้วัคซีนประเภทนี้กับโรคอื่นๆ มามากมาย คาดว่าวัคซีนตัวนี้น่าจะเข้าสู่ท้องตลาดได้เร็วที่สุด แต่น่าจะมีราคาแพงที่สุด

𝟐. 𝐀𝐝𝐞𝐧𝐨𝐯𝐢𝐫𝐮𝐬 𝐯𝐞𝐜𝐭𝐨𝐫 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞 คือเอายีนของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ใส่เข้าไปในอะดีโนไวรัส ที่เด่นๆ คือ CanSino ของประเทศจีน ซึ่งใช้อะดีโนไวรัสสายพันธุ์ Ad5 ของคน, บริษัท Astra Zeneca ประเทศอังกฤษ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Oxford ใช้ไวรัสของชิมแพนซี, และ Gamaleya ของประเทศรัสเซีย ซึ่งใช้ Ad26+Ad5 และของ Johnson&Johnson ซึ่งใช้ Ad26

วัคซีนกลุ่มนี้เรามีประสบการณ์การใช้ในวงจำกัดและน่าจะได้ผลดี ถ้าไม่เคยติดเชื้ออะดีโนไวรัสสายพันธุ์ที่นำมาเป็นตัวนำพา (vector) มาก่อน แต่มีข้อเสียคือ ตัวอะดีโนไวรัสเองเป็น live virus vector เมื่อนำมาฉีดอาจก่อเรื่องได้ จึงเป็นวัคซีนชนิดที่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนที่แท้จริง แต่มีข้อดี คือ ไม่ต้องฉีดหลายเข็มก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี นอกจากนี้ในตอนที่ทดสอบวัคซีนที่ใช้ไวรัสชิมแพนซีพบว่า มีอาสาสมัครเกิดโรค transverse myelitis แต่ไม่ทราบว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือเกิดเพราะวัคซีน ทำให้ต้องหยุดการวิจัยชั่วคราว ที่สำคัญเรายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้วัคซีนประเภทนี้ในวงกว้างเลย

𝟑. 𝐦𝐑𝐍𝐀 𝐕𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞𝐬 ที่เด่นๆ คือ ของบริษัท Moderna ได้รับการสนับสนุนโดย US NIH ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำมาพัฒนา วัคซีนของบริษัท Moderna ได้เข้าสู่การวิจัยระยะที่ 3 แล้วและให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในคนปกติ รวมทั้งในผู้สูงอายุด้วย และยังมีอีกหลายบริษัทผลิตวัคซีนแบบนี้วิ่งตามมาติดๆ เช่น BioTech + Pfizer ของประเทศเยอรมันนี

วัคซีนประเภทนี้ใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ในมนุษย์มาก่อน มีข้อดีคือ ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยมีใช้มาก่อนทำให้มีข้อกังวลใจว่า แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงจากการศึกษาระยะสั้น แต่ผลอันไม่พึงประสงค์ในระยะยาวจะมีได้หรือไม่

𝟒. 𝐏𝐫𝐨𝐭𝐞𝐢𝐧-𝐛𝐚𝐬𝐞𝐝 𝐯𝐚𝐜𝐜𝐢𝐧𝐞𝐬 ใช้เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนของเปลือกไวรัส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รู้จักกันดีอยู่แล้วเพราะมีการใช้ในวัคซีนอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบบี เป็นต้น มีการใส่ adjuvant ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผลิตได้รวดเร็ว บริษัทที่เด่นคือ Novavax ของประเทศอเมริกา ที่ตอนนี้เข้าสู่งานวิจัยระยะที่ 3 แล้ว ส่วนของที่ Sanofi จับมือกับ GSK ซึ่งเป็นสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการใช้เทคโนโลยีคล้ายคลึงกับการผลิตวัคซีนอื่นๆ ก็ยังอยู่ในการวิจัยทางคลินิกระยะที่2 และยังมีที่ผลิตในอีกมากมายกว่า 10 บริษัทในหลากหลายประเทศ

ในแง่ของประสิทธิภาพนั้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะเด่นกว่าใครในขณะนี้ แต่คาดว่าไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนภูมิคุ้มกันอาจจะอยู่ได้ไม่นานมาก และน่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเป็นระยะ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าต้องบ่อยแค่ไหน ทุกอย่างยังเป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องติดตามต่อไปเพราะเรายังไม่รู้จักไวรัสตัวนี้อย่างดีพอ

ถ้าถามว่า วัคซีนตัวไหนน่าจะออกขายก่อน ก็คิดว่า inactivated ของประเทศจีนน่าจะมาก่อน แต่ของรัสเซีย, ของ Oxford หรือของ Moderna ก็น่าจะออกขายในเวลาไล่เลี่ยกันไม่นาน

SICRES โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความพร้อมทำวิจัยทดสอบคลินิกสำหรับวัคซีนทุกประเภทนะคะ

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
𝙎𝙞𝙧𝙞𝙧𝙖𝙟 𝙄𝙣𝙨𝙩𝙞𝙩𝙪𝙩𝙚 𝙤𝙛 𝘾𝙡𝙞𝙣𝙞𝙘𝙖𝙡 𝙍𝙚𝙨𝙚𝙖𝙧𝙘𝙝 (𝙎𝙄𝘾𝙍𝙀𝙎)
#SICRES #Siriraj #COVID19 #vaccine #clinicaltrial sirirajpr

 
"อาการลองโควิด" กระทบ 6 อวัยวะภายในที่สำคัญ ดูแลอย่างไรไม่ให้โดนโจมตี
 
 

"อาการลองโควิด" ส่งผลกระทบ 6 ระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ แนะวิธีดูแล และการสังเกตความผิดปกติ ต้องทำอย่างไรเมื่อร่างกายกำลังถูกโจมตีด้วย ภาวะ Long COVID

ภาวะ Long COVID อีกหนึ่งผลข้างเคียยงที่ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมักจะประสบปัญหาหลังจากที่หายจากการติดเชื้อมาแล้ว ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ ว่า ผู้ที่หายจากการติดโควิด แล้วมักจะเจอ "อาการลองโควิด" ที่ส่งผกระทบต่อ 6 ระบบร่างกาย ได้แก่ 
1.ระบบทางเดินหายใจ 44.38% เช่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด ไอเรื้อรัง 
2.ระบบสุขภาพ 32.1% เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
3.ระบบประสาท  27.33% เช่น อ่อนแรงเฉพาะที่แบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หลงลืม
4.ระบบทั่วไป  23.41% เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
5.ระบบหัวใจและหลอดเลือด 22.86% เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น
6.ระบบผิวหนัง  22.8% เช่น ผมร่วง ผื่นแพ้  

โดย "อาการลองโควิด" ที่มักจะตามมาหลังจากติดเชื้อนั้นสร้างความกังวลต่อเราค่อนข้างมาก เนื่องจากระบบอวัยวะที่ ภาวะ Long COVID เข้าไปโจมตีเป็นส่วนสำคัญของระบบร่างกายอย่างมาก แต่หากได้รับการดูแล และมีการฟื้นฟูอวัยวะส่วนไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางจิตใจ ระบบสุขภาพจิต ระบบประสาท ระบบทั่วไป ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ร่างกายสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ 

สำหรับแนวทางการดูแล "อาการลองโควิด" กับระบบอวัยวะทั้ง 6 อย่าง สามารถทำได้ดังนี้  

1. ระบบทางเดินหายใจ  พบภาวะ ไอเรื้อรัง เนื่องจากการติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการไอทั้งไอแห้ง ไอมีเสมหะ บางรายไอแบบมีเลือดปนมา อาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื้อทางเดินหายใจ จึงทำให้ระบบทางเดินหายใจไวต่อสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้น  โดยเฉพาะอาการไอ แต่โดยปกติแล้วอาการดังกล่าวจะสามารถหายไปเองได้ ขึ้นอยู่กับเวลาและความเสียหายของเนื้อเยื้อทางเดินหายใจ 

วิธีดูแล "อาการไอเรื้อรัง" ทำได้ดังนี้  
-ทานยาแก้ไอ เพื่อลดอาการระคายเคืองในลำคอ
-ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ
-ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาว เพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ และลดเสมหะ
-ใช้สเปย์พ่น เพื่อลดการอักเสบและลดการระคายเคืองในลำคอ
-นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่
-ไม่อยู่ในสถานที่ ที่มีอากาศแห้งมากเกินไป เพราะอาจเกิดการระคายเคืองในลำคอได้
-หลีกเลียงบริเวณที่มีฝุ่นหรือควันเยอะ เพราะอาจทำให้อาการไอกำเริบ

2.ระบบทางเดินหายใจ หลังจากที่หายป่วยจาก โควิด พบว่า "อาการลองงโควิด" ส่วนใหญ่ที่เจอมักจะมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจประมาณ 22.86% เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการต่อสู้ของระบบภูมิคุ้มกัน อาการเบื้องต้นมักจะเจอภาวะ ใจสั่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย  มีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกแบบแปลก ๆ  หัวใจเต้นผิดจังหวะ   หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากภาวะลองโควิดที่กระทบระบบหัวใจไม่สามารถรักษาเองได้ ต้องให้แพทย์วินิจฉัย  

3.ระบบทั่วไป เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะเข้าไปทำลายระบบทางเดินหายใจและปอด ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับอ๊อกซิเจน เข้าไปได้เต็มที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  ปวดตามข้อ วิธีการดูแลอย่างด่วนที่สุด ดังนี้ 
-ฝึกหายใจ เพื่อฟื้นฟูปอดให้ร่างกายได้รับอ็อกซิเจนเข้าไปเต็มปอด 
-ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉง ไม่ง่วงซึม อ่อนล้า  อ่อนเพลีย  
-พักผ่อนระหว่างวันไม่โหมทำกิจกรรมหนัก เช่น ไม่หักโหมเดินทางไกล ไม่ตากแดดนานเกินไป 
-ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เน้นโปรตีน โพรไบโอติก อาหารที่มีกากใย เลี่ยงอาหาร Junk Food  

4.ระบบประสาท สาเหตุที่ทำให้โควิด มีผลกับระบบประสาทโดยตรง มาจากภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วยทำงานต่อสู้กับไวรัส จนเกิดการอักเสบกับระบบประสาทและสมอง การตรวจเช็คเบื้องต้น ว่าอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ว่าเป็นผลกระทบเรื้อรังจากการติดเชื้อหรือไม่ ทำได้ดังนี้ 
-ปวดศีรษะ
-มึนงงสับสน
-มีอาการสมาธิสั้น
-มีอาการซึม
-มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย หรือชาแขนขา
-หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด
สมองไม่โปร่ง

5.อาการที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง  โดย อาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นหลังจากติดโควิด เกิดจากภูมิต้านทานสร้างเม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับไวรัสภายในร่างกาย  มักจะทำให้เป็นผื่นคัน ผื่นนูนแดง ผื่นตุ่มใสๆ ผื่นแบบลมพิษ หรือบางรายอาจมีอาการผมร่วง
โดย วิธีการแยกระหว่างอาการทางผิวหนังปกติกับอาการผิวหนังปกติ โดยสังเกตุจากอาการผลข้างเคียงจาก Long covid อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดหัว อ่อนเพลีย  หากพบ "อาการลองโควิด" ที่มีผลกระทบจากผิวหนังให้ดูตัวเองด้วยการทาโลชัน ไม่เกาบริเวณที่คัน แต่ให้ลูบเบา ๆ ในจุดที่คันแทน 

6.อาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจ จากข้อมูลพบว่า หลังจากที่หายจากโควิดพบว่าผู้ป่วยกว่า 32.1% มีภาวะซึมเศร้าเป็นเวลานาน โดยอาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทโดยตรงที่ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ และทางจิตใจที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วย  อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยป่วยโควิด และคนใกล้ชิดสามารถดูแลจิตใจหลังจากหายโควิดได้ ดังนี้ 
-หางานอดิเรกทำ  
-ทำกิจกรรม พูดคุบกับครอบครัว  
-หลีกเลี่ยงข่าว หรือสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดภาวะเครียด  
-หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ด้านสุขภาพจิตโดจเฉพาะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก :  เพจหายแล้ว ต้องรักปอด By Imura Long  

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/522114

 

 
"อาการลองโควิด" เปิด 3 อาการหลักที่พบบ่อย ไม่มียารักษา ต้องเยียวยาตัวเอง 

องค์การอนามัยโลกประเทศไทย เปิดข้อมูล "อาการลองโควิด" พบ 3 อาการหลักที่พบบ่อย ไม่มียารักษา ต้องเยียวยาตัวเอง

เมื่อโควิดไม่จบแค่หาย แต่ยังเจอภาวะ Long Covid ที่พบหลังจากหายจากโควิด-19 โดย World Health Organization Thailand  โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ "อาการลองโควิด" ระบุว่า หลักฐานปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าราวร้อยละ 10-20 ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 จะประสบกับกลุ่มอาการหลังโควิด19 หรือที่เรียกว่า "ลองโควิด" อันประกอบด้วย อาการเรื้อรังมากมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้กับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ามีในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า "อาการลองโควิด" มีความสัมพันธ์กับอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้า โดยทั่วไป "อาการลองโควิด" จะเริ่มขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่อเนื่องจากอาการป่วยที่มีมาแต่ต้นได้ด้วย 

"อาการลองโควิด" เกิดขึ้นและหายไปตามกาลเวลา และในบรรดาอาการที่พบกว่า 200 อาการ 3 อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ หายใจไม่อิ่ม สมองล้า และอ่อนเพลีย 3 เดือนหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด19 แบบรุนแรงเฉียบพลัน หากยังหายใจลำบาก สมองล้า หรืออ่อนเพลีย อาจจะกำลังประสบกับ "อาการลองโควิด" และควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะรู้สึกว่ารับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งต้องได้รับการรักษาที่ต่างออกไป

World Health Organization Thailand ระบุว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับอาการทั้งหมด และระยะเวลาของลองโควิด หลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ว่า "อาการลองโควิด" อาจกินเวลาอย่างน้อย 2 เดือน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนานถึง 6 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของปอด อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย ลิ่มเลือด และการเสียชีวิต ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากเริ่มมีอาการ เนื่องจากลองโควิด เป็นกลุ่มอาการที่กว้างมาก และกระทบกับหลายระบบในร่างกาย จึงไม่มียา หรือวิธีรักษาเฉพาะ หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเอง เพื่อยกระดับสุขภาวะของตนได้ เช่น ลดกิจกรรมเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า หรือหายใจไม่อิ่ม และหากมีปัญหาด้านการควบคุมสมาธิ ให้ค่อย ๆ จดจ่อกับงานทีละชิ้น ถ้าหากอาการเหล่านี้กระทบต่อชีวิตอย่างมาก หรือหนักขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้พบแพทย์ ซึ่งอาจแนะนำให้เข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ

"อาการลองโควิด" เปิด 3 อาการหลักที่พบบ่อย ไม่มียารักษา ต้องเยียวยาตัวเอง

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/514124?adz=

หมวดหมู่รอง

สาระน่ารู้

บทความวิชาการ