พิมพ์
Font Size
 
5 ข้อเทียบ "ฝีดาษลิง" กับ "โควิด-19" ที่โลกกำลังหวั่นถึงการระบาด
 “ฝีดาษลิง”ที่ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกว่าจะเกิดการระบาด กับ “โควิด-19” ที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมากว่า 2 ปี   2 โรคนี้ หากเทียบใน 5 ข้อจะเป็นอย่างไร ทั้งตัวเชื้อ การติดต่อ อัตราการป่วยเสียชีวิต  วัคซีนและสถานการณ์การระบาด

    ท่ามกลางความกังวลของคนทั่วโลกว่า โรคฝีดาษลิง จะแพร่ระบาดใหญ่เหมือนโควิด-19หรือไม่  โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ฝีดาษลิง แพร่กระจายแตกต่างจากโควิด-19 และองค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุขแห่งชาติ

เทียบ 5 ข้อระหว่าง ฝีดาษลิง และโควิด-19 ดังนี้

  1.ตัวเชื้อ

ฝีดาษลิง  กรมควบคุมโรค ระบุว่า ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) 
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

    “ฝีดาษลิง โรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานกว่า 10 ปี  โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา”
 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

      โควิด-19  เป็นเชื้อที่พบและรายงานเมื่อปี 2563 โดยในช่วงปลายปี 2562 มีการรายงานพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน  ก่อนที่จะมีการถอดรหัสพันธุกรรม แล้วระบุว่า เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-Cov-2 และมีการตั้งชื่อต่อมาว่า “โรคโควิด-19”

2.การติดต่อ

    ฝีดาษลิง(monkeypox)  ศ.นพ.ยง บอกว่า แตกต่างจากเชื้อฝีดาษในคน(smallpox)ที่สามารถติดต่อทางระบบทางเดินใจหาย และ สารคัดหลั่งจากการไอ จาม แต่ฝีดาษลิง จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสบาดแผล หรือ ฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และการที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ ก็มาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก  หรือ มีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน

     การติดต่อของฝีดาษลิง ถือว่าติดต่อได้ยากเมื่อเทียบกับฝีดาษคน เพราะต้องสัมผัสกับ บาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย 
       กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

       การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

     โควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ แพร่จากคนสู่คน จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ผ่านทางละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย

3.อัตราป่วยเสียชีวิต

    ฝีดาษลิง  เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน 

อาการเริ่มแรกฝีดาษลิง

  1. จะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  2. จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย
  3. ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา

อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10  %

องค์การอนามัยโลก ระบุ อัตราเสียชีวิตฝีดาษลิง อยู่ที่ 3-6 % ในพื้นที่ที่เป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็อาจเป็นการประเมินที่สูงเกินไป ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่
    โควิด-19 มีการระบาดทั่วโลกมากว่า 2 ปี  ปัจจุบัน อัตราป่วยเสียชีวิตทั่วโลก อยู่ที่ 1.20  %

    ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,406,755 ราย หายป่วยแล้ว 4,318,565 ราย เสียชีวิตสะสม 29,715 ราย  อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 0.18 %  (ข้อมูล ณ 21 พ.ค.2565 )

4.วัคซีน

การป้องกันการติดฝีดาษลิง 

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  

2.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  

3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  

4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  

5.กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

วัคซีนฝีดาษ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น  มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้

     ทว่า  เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

    โควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันโรคมาก่อน เพิ่งมีการเริ่มวิจัย พัฒนาในปี  2563 และเริ่มนำมาใช้ในช่วงที่โควิด-19ระบาด 

ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุมัติการขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ วัคซีนโควิด19ที่อย.ไทยอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วมี 7 ตัว 4 ชนิดแพลตฟอร์ม คือ

  1. ชนิดเชื้อตาย คือ วัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
  2. ชนิดmRNA คือ วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา
  3. ชนิดไวรัล แว็กเตอร์ คือ วัคซีนแอสตราเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
  4. ชนิดโปรตีนซับยูนิต คือ วัคซีนโคโวแวกซ์

     ข้อมูล ณ  20 พ.ค.2565 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19แล้ว 136,265,374 โดส

เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22,199 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 82,396 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 97,153 ราย
 

5.สถานการณ์ระบาด  

   ท่ามกลางการจับตาดูว่า ตอนนี้ ฝีดาษลิง อาจจะระบาดในหลายประเทศยุโรป และกำลังมีการเร่งสอบสวนโรคให้ทราบต้นตอ และการวางแนวทางป้องกันโรค

     สำหรับภูมิภาคอาเซียน เคยมีรายงานการพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง  ในปี 2562 มีรายงานในประเทศสิงคโปร์ โดยพบเป็นชายสัญชาติไนจีเรีย เดินทางเข้าสิงคโปร์วันที่ 28 เม.ย.2562 ผลการตรวจหาเชื้อวันที่ 5 พ.ค.2562 ยืนยันติดฝีดาษลิง  โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลว่า

“ก่อนที่จะเดินทางมาสิงคโปร์ ได้ไปงานเลี้ยงแต่งงานที่ไนจีเรีย และกินเนื้อสัตว์ในงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสก่อโรคนี้"  

      ประเทศไทย ปัจจุบันจัดฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ที่เรียกว่า  smallpox  เป็นโรคติดต่ออันตราย เช่นเดียวกับ โรคโควิด-19 

      โดยมีรายงานการระบาดของฝีดาษในไทย  ตั้งแต่ครั้งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ช่ววงปี พ.ศ. 2460 - 2504 มีไข้ทรพิษเกิดขึ้นทุกปี ช่วงปี พ.ศ. 2488 - 2489 เป็นช่วงเกิดสงคราม เกิดการระบาดครั้งใหญ่สุด เริ่มต้น จากเชลยพม่าที่ทหารญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟสาย มรณะข้ามม่นํ้าแคว ทําให้เชลยศึกป่วยเป็นไข้ทรพิษ และลามไปยังกลุ่มกรรมกรไทยจากภาคต่างๆ ที่มารับจ้าง ทํางานในแถบนั้น และเมื่อกลับบ้านนําโรคกลับ ไปแพร่ระบาดใหญ่ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน (เสียชีวิต 15,621 คน)

    การระบาดครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2504 - 2505 การ ระบาดที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณติดต่อ รัฐเชียงตุงของพม่า มีผู้ป่วย 34 ราย ตาย 5 ราย ปี พ.ศ. 2504 กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการ กวาดล้างไข้ทรพิษในประเทศไทย

ปี 2523 องค์การอนามัยโลก ประกาศว่าไข้ทรพิษได้ถูกกวาดล้างแล้ว จึงหยุดการปลูกฝีป้องกันโรคนับแต่นั้นมา

โควิด-19 มีการระบาดครั้งแรก โดยระบาดไปทั่วโลกในปี 2563  กระทั่งถึงปัจจุบัน และเริ่มมีแนวโน้มที่สามารถควบคุมการระบาดได้ในปลายปี 2565

ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ค.2565 ทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 500 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 6 ล้านราย  ในประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 4 ล้าน ราย และเสียชีวิต 29,715 ราย

    สำหรับประเทศไทย โควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ในช่วงกลางมิ.ย.หรือต้นก.ค.2565นี้

       “ประเทศไทย ยังไม่ต้องตื่นและกังวลกับโรคฝีดาษลิง ยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ก็ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา  การป้องกันตัวสำหรับโรคนี้ก็ไม่แตกต่างกัน สุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญและอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ”ศ.นพ.ยง กล่าว


อ้างอิง :
     1.ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     2.องค์การอนามัยโลก
     3.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
     4. https://www.pidst.or.th/userfiles/f26.pdf    สืบค้น 21 พ.ค.2565

ข้อมูลจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1005676?anf=