พิมพ์
Font Size
"โอไมครอน" กับ 9 คำตอบ ติดแล้วเป็นวัคซีนธรรมชาติจริงหรือ แล้วสูตรไหนสู้ได้
"จ่าพิชิต" ไขข้อข้องใจกับ 9 คำถาม-คำตอบ "โอไมครอน" ติดแล้วเป็นวัคซีนธรรมชาติจริงหรือ แล้ววัคซีนสูตรไหนสู้ได้ เช็คเลย

อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" โอมิครอน (Omicron) รวมทุกคำถาม-คำตอบ ไขข้อข้องใจ โดย นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หรือ "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แอดมินเพจดัง Drama-addict โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค รวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับ "โอไมครอน" ดังนี้

1. "โอไมครอน" เบากว่า "เดลตา" จริงหรือไม่
 

  • คำตอบ ตอนนี้ข้อมูลจากฝั่งแอฟริกาใต้ และยุโรป ค่อนข้างตรงกัน คือ ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการหนักน้อยกว่าเดลตาพอสมควร แต่มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าเดลตามาก

2. "โอไมครอน" แพร่หนักกว่า "เดลตา" ขนาดไหน 

  • คำตอบ ของเดลตานี่ติดง่ายพอ ๆ กับหัด คือ จากหนึ่งคน สามารถแพร่เชื้อไปได้ 6-8 คน แต่ "โอไมครอน" แพร่ง่ายกว่าเดลตา และน่าจะแทนที่เดลตาเป็นสายพันธ์หลักในเวลาอันใกล้ (โคตรๆ) ตอนนี้ยังไม่เห็นค่า R0 ของ "โอไมครอน" แต่น่าจะไล่ ๆ หรือมากกว่าเดลตา
     

3. ถ้า "โอไมครอน" เบากว่า แปลว่าติดแล้วไม่ตายใช่มั้ย

  • คำตอบ ก็ไม่แน่ เพราะแม้ว่าจะมีรายงานว่าผู้ป่วยส่วนมาก อาการค่อนข้างเบากว่า "โควิด" แต่ยังมีกลุ่มที่อาการหนัก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตด้วย แต่เท่าที่มีรายงานส่วนมากจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ โรคประจำตัวเยอะ ดังนั้น กลุ่มนี้โปรดระวัง และรีบไปฉีดวัคซีนกันให้ไว

4. ถ้าฉีดวัคซีนจะไม่ติด "โอไมครอน" ใช่หรือไม่

  • คำตอบ ไม่ อันนี้เป็นสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเดลตาแล้ว คือตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีนอะไร ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ติดโควิดได้ละ แต่มันช่วยป้องกันไม่ให้ตายจากการป่วยหนักได้ ดังนั้นตอนนี้ การฉีดวัคซีน คือเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ  แต่ปัญหาคือ หลาย ๆ ประเทศ เจอยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่ม ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสูงขึ้น และอัตราการแอดมิดในกลุ่มนี้ก็สูงด้วย บ้านเราก็มีปัญหาผู้สูงอายุยังฉีดวัคซีนกันน้อยอยู่ ถ้าไม่เร่งฉีดเพิ่ม กลุ่มนี้อาจป่วยหนักจากระลอกนี้ได้

5. แล้วฉีดวัคซีนสูตรไหนถึงจะกันมันได้

  • คำตอบ ตอนนี้ที่มีข้อมูลออกมาจะเป็นสูตรที่ฉีด mRNA วัคซีน ครบ 2 โดส แล้วบูทส์เตอร์โดส 3 จึงจะมีภูมิเพียงพอในการป้องกัน "โอไมครอน" ได้ ดังนั้น ไปฉีดบูทสเตอร์เป็น mRNA กันด่วน ๆ และไม่ว่าจะฉีดสูตรอะไรมา ไปฉีด mRNA ครับ ไม่ต้องกลัวพวกเฟคนิวส์มรณาบ้าบออะไรนั่นแล้ว

6. มีข่าวว่า คนที่ติด "โอไมครอน" แล้ว หลังหายจะมีภูมิสูงมากเหมือนได้รับวัคซีนจากธรรมชาติจริงหรือไม่ จะได้วิ่งแก้ผ้าไปหาผู้ติดเชื้อ

  • คำตอบ อย่าวิ่งแก้ผ้าไปหาผู้ติดเชื้อเด็ดขาด ไม่ต้องไปกระสันต์อยากติดเชื้อขนาดนั้น คือมันมีงานวิจัยว่า ในกลุ่มคนที่เคยฉีดวัคซีน และได้รับบูทสเตอร์แล้ว กลุ่มนี้ถ้าเกิดติด "โอไมครอน" หลังจากนั้น จะมีการกระตุ้นภูมิให้สูงมาก ๆ แต่ข้อมูลนี้ เฉพาะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและบูทสเตอร์แล้วเท่านั้น ดังนั้น ไปฉีดวัคซีนและบูทสเตอร์กันนะครับ

7.ชุดตรวจ ATK สามารถตรวจเจอ "โอไมครอน" ได้หรือไม่

  • คำตอบ อันนี้มีงานวิจัยจาก ศูนย์โรคไวรัสอุบัติใหม่เจนีวา เขาไปทดสอบประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ในการตรวจผู้ติดเชื้อโอไมครอน เบื้องต้นพบว่า ตรวจได้แต่ความไวของบางตัวก็ลดลง ดูเพิ่มเติมได้ในข่าวนี้

8. แล้วการที่มันติดง่ายมากแต่อาการไม่หนักมากนี่ จะส่งผลยังไงกับสถานการณ์ในบ้านเรา

  • คำตอบ อันนี้อยู่ที่แนวทางการแก้ไขสถานการณ์ ยกตัวอย่างที่แอฟริกาใต้ ที่นั่นมีเคสโอไมครอนเยอะ เขาก็ใช้วิธี ตรวจที่โรงพยาบาลอาการไม่หนัก หรือไม่มีอาการ ก็ให้กลับบ้านไปนอนดูอาการ พักผ่อน กินน้ำ กินข้าว แล้วนัดมาดูอาการ จนหาย ถ้าอาการแย่ลงก็แอดมิด ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดความแน่นของเตียงในโรงพยาบาล ลดการใช้ทรัพยากรลงได้ ช่วยให้ผู้ป่วยรายอื่น ๆ ทั้งจากโควิด และไม่ใช่โควิด เข้าถึงการรักษา แต่ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ตามแบบแอฟริกาไม่ได้ แอดมิดเต็มพรืดไปหมด สถานการณ์ก็อาจจะคล้าย ๆ ช่วงกลางปีที่แล้ว ดังนั้น ตอนนี้คือวัดกึ๋นคนบริหารงานอย่างเดียวเลยครับ ถ้าบริหารจัดการทรัพยากรทางสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เคสเขียว เคสแดง เคสเหลือง ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค ใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า และเหลือใช้กับเคสที่หนัก ๆ เราก็จะรอด ถ้ามั่วซั่วก็บรรลัยครับ

9. แล้ววิธีป้องกันแตกต่างจากเดลตามั้ย

  • คำตอบ เหมือนกันทุกประการครับ เรื่องหน้ากาก ก็ใส่ตามปกติ คือออกนอกบ้าน ให้ใส่หน้ากากอนามัยชั้นนึง ทับด้วยหน้ากากผ้าอีกชั้นนึง ใส่ให้ถูกวิธี นอกจากจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สมมุติซวยติดเชื้อขึ้นมา หน้ากาก ก็จะช่วยลดจำนวนไวรัสที่ร่างกายเราจะได้รับ จากพวกละอองฝอยน้ำลายไปเยอะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยหนักได้ระดับนึง

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี ยอดผู้ติดเชื้อน่าจะไต่ขึ้นไปสูงสุดแถว ๆ 2-3 สัปดาห์หลังปีใหม่ สถานการณ์เป็นไงต้องติดตามกันไปยาว ๆ จนกว่าจะถึงตอนนั้นครับ

ข้อมูลจาก https://www.komchadluek.net/covid-19/499787?adz=