พิมพ์
Font Size

สธ.เปิดปชช.จองรับ'วัคซีนโควิด-19'ผ่าน'หมอพร้อม'ปลายพ.ค.นี้

สธ.เผยโควิด-19ระลอก2อยู่ในระดับควบคุมได้แล้ว เจอผู้ติดเชื้อประปราย “วัคซีนซิโนแวค”ล็อตสุดท้ายอีก 1 ล้านโดสกระจายฉีดหลังสงกรานต์ บิ๊กล็อต”วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”รุ่นผลิตในไทย 5 ล้านโดสแรก แนวโน้มส่งมอบกลางพ.ค. เปิดปชช.จองรับผ่าน “หมอพร้อม"ปลายพ.ค.นี้

 คาด“ภูเก็ต”จังหวัดแรกมีภูมิคุ้มกันระดับพื้นที่ เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดประเทศบนความปลอดภัย
       เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้แล้ว ยังมีผู้ติดเชื้อประปราย ไม่ได้มีปริมาณที่สูงหรือแพร่ระบาดรุนแรง  ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการสั่งซื้อของซิโนแวค 2 ล้านโดส มีการส่งมอบเข้ามาแล้ว 2 ล็อต ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสมีการกระจายและฉีดไปแล้วตามเป้าหมาย และล็อต2 จำนวน 8 แสนโดสมีการกระจายและเริ่มฉีด 1 เม.ย.2564  และล็อตสุดท้าย จำนวน 1 ล้านโดสที่จะมาถึงในราววันที่ 10 เม.ย.2564 เมื่อผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพแล้วน่าจะกระจายฉีดได้ราววันที่ 16-17 เม.ย.2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มุ่งเปิดประเทศบนความปลอดภัยโดยเร็ว    
 เพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีน
          นพ.เกียรติภูมิ  กล่าวอีกว่า  สธ.ได้กำหนดการดำเนินการเรื่องวัคซีนโควิด-19โดยพิจารณาเป้าหมายในเรื่อง 1.เชิงพื้นที่ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักที่จำเป็ฌฯจะต้องมีวัคซีนได้ในสัดส่วน 50-60%ของประชากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดภูมคุ้มกันระดับพื้นที่ 2.เชิงระบบ  ที่จะดูแลเรื่องการฉีด ซึ่งเดิมมีการพิจารณาการฉีดในรพ.ทั้งรัฐและเอกชนเป็นหลัด หากฉีดแห่งละ 500 คนต่อวัน เฉลี่ย 1 เดือนจะฉีดได้ราว 10 ล้านโดส แต่จากการดำเนินการฉีดที่รพ.สนามในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ตลาดบางแค ก็มีความปลอดภัย หรือรถพยาบาลที่มีเครื่องมือดุแลที่เหมาะสม จะสามารถจัดสถานที่ฉีดได้  หากเพิ่มบริการฉีดที่รพ.สนามได้อีกก็จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น
           โดยขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งพร้อมสนับสนุนสถานที่ให้เข้าไปจัดระบบการฉีด  เช่น เซ็นทรัล และบิ๊กซี เป็นต้น จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งรพ.สนามสามารถฉีดวัคซีนได้1,200คนต่อวัน เพราะฉะนั้นการฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดสไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่ให้มีคนเข้ามาฉีดโดยจัดระบบไม่ให้มีความแออัด     และ3.ระบบข้อมูลทั้งการนัดหมายการฉีด และการติดตามเฝ้าระวังหลังการฉีด ซึ่งระยะแรกที่มีวัคซีนจำกัด สธ.จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน จะมีระบบนัดหมายผ่านไลน์หมอพร้อม หรือรพ.แจ้งไปให้มารับวัคซีนหรือ อสม.ตามตัว เป็นต้น
ปชช.จองคิวรับวัคซีนปลายพ.ค.
       นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ส่วนประชาชนทั่วไปจะสามารถจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีน ผ่านไลน์แอลแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมได้ในช่วงปลายพ.ค.เป็นต้น เนื่องจากวัคซีนล็อตใหญ่ที่ไทยสั่งซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดสและผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์นั้น แนวโน้มว่าจะส่งมอบล็อตแรกราว 5 ล้านโดสในช่วงกลางเดือนพ.ค. ซึ่งจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป จากนั้นจะทยอยส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดสอีก 5 เดือนและเดือนธ.ค.ส่งมอบล็อตสุดท้าย 5 ล้านโดส ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ
คาดภูเก็ตจังหวัดต้นแบบ
     นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า พยายามทำให้ 1 ต.ค.นี้เปิดประเทศให้ได้ ตามนโยบายรัฐบาล อาจจะมีบางจังหวัดที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ตามจังหวัดเป้าหมาย เช่น ภูเก็ต จะต้องฉีดประมาณ 4 แสนคนถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันพื้นที่ได้ ซึ่งใน 2 รอบที่วัคซีนซิโนแวคเข้ามารวม 1 ล้านโดส ได้จัดสรรให้ภูเก็ตไปแล้ว 2 แสนโดส และล็อตสุดท้ายของซิโนแวคที่จะเข้ามาอีก  1 ล้านโดสก็จะจัดสรรเพิ่มเติมให้ไปอีกราว 2 แสนโดส ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. และหากสามารถฉีดได้ตามเป้าหมาย ภูเก็ตก็จะเป็นต้นแบบและจังหวัดแรกๆที่ได้รับวัคซีนครอบคลุม   
 ออกใบรับรองวัคซีนแล้ว 3.5 หมื่นคน  
     นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  กล่าวว่า ในระยะที่มีวัคซีนอย่างจำกัดนั้น สธ.ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไว้แล้ว ซึ่งระบบไลน์และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมจะปรากฎให้ผู้ที่จองรับวัคซีนได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่สธ.กำหนดก่อนในระยะแรก แต่เมื่อประเทศไทยมีวัคซีนล็อตใหญ่เข้ามาและเริ่มฉีดในมิ.ย.นั้น สธ.ได้ออกแบบระบบคิวฉีดวัคซีนโดยประชาชนสามารถจองได้ผ่านช่องทาง  LINE official “หมอพร้อม” , แอปพลิเคชั่นหมอพร้อมซึ่งจะเปิดให้โหลดได้ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ และเปิดจองคิวได้ราวปลายพ.ค. และโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลได้โดยตรง
             กรณีกลุ่มคนที่มีการใช้ไลน์หรือสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สามารถจองผ่านไลน์หรือแอปฯหมอพร้อม สามารถเลือกวันและสถานที่ฉีดได้ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่กทม.มีการใช้ไลน์ในชีวิตประจำวัน 80 % เมื่อได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว รพ.จะออกให้เป็นรูปกระดาษ และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เป็น QR Code ที่มีข้อมูลเชื่อมกับระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ สามารถเช็คข้อมูลได้ และสามารถนำไปแสดงที่หน่วยงานไหนก็ได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบกลับมาที่ฐานข้อมูลของสธ. ขณะนี้มีการออกไปแล้ว 35,000 คน อย่างไรก็ตาม ในต่างจังหวัด ประชากรที่อยู่ในการดูแลของรพ.อำเภอมีการใชไลน์ประมาณ 40-50 % ดังนั้น กลุ่มที่ไม่มีระบบไลน์และสมาร์ทโฟน ก็จะใช้ระบบที่หลากหลายในการให้ประชาชนได้รับวัคซีน เช่น  รพ.โทรประสานไปยังประชาชน อสม.แจ้งข่าว หรือจัดคิวเป็นรายตำบล เป็นต้น

       “สำหรับกรณีใบรับรองด้านสุขภาพในการเดินทางระหว่างประเทศ( International Travel Health certificate) เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับประชาชนไทยก่อน ระหว่างรอมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกหรือฮูที่จะออกมาราวสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และเมื่อมีการออกมาตรฐานสากลที่จะใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศออกมาแล้ว ประเทศไทยก็มีการเตรียมระบบรองรับที่จะเชื่อมโยงกับระบบสากลไว้แล้ว”  นพ.พงศธร กล่าว

ข้อมูลจาก https://www.thaipost.net/main/detail/98020